วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฟื้นฟูประเทศ ภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในอเมริกา

มีการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหารในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับมลรัฐทางภาคใต้ โดยประธานาธิบดีลินคอร์นมีความคิดเห็นว่าการแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกาของมลรัฐทางภาคใต้นั้น เป็นเพียงการกระทำของคนกลุ่มน้อยที่คิดกบฏต่อสหรัฐอเมริกาเท่านั้น การฟื้นฟูประเทศจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารเพราะมลรัฐทางภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาและชาวมลรัฐทางภาคใต้ก็เป็นชาวอเมริกันเหมือนกัน ฉะนั้นจึงไม่ควรมีการลงโทษที่รุนแรง 

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีลินคอร์นยังมีความเห็นที่จะรับรองรัฐบาลของมลรัฐทางภาคใต้ หากพลเมืองของแต่ละมลรัฐในภาคใต้จำนวนร้อยละ 10 ทำการสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐบาลกลางและจัดให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลมลรัฐ รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาสูงให้เรียบร้อย ปรากฏว่ามลรัฐหลุยส์เซียน่า มลรัฐอาร์คันซอ และมลรัฐเทนเนสซี่ได้ปฏิบัติตามความเห็นของประธานาธิบดีลินคอร์นและได้จัดตั้งรัฐบาลมลรัฐเสร็จสิ้นก่อนสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตามหลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงเพียง 5 วัน ประธานาธิบดีลินคอร์นถูกลอบสังหารในวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1865 จึงทำให้แผนการฟื้นฟูประเทศของประธานาธิบดีลินคอร์นต้องยุติลงด้วยเช่นกัน

รองประธานาธิบดี แอนด์ดรู จอห์นสัน (Andrew Johnson) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีแทนประธานาธิบดีลินคอร์นและได้พยายามดำเนินการสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีลินคอร์น 

แอนด์ดรู จอห์นสัน (Andrew Johnson)
แต่สภาคองเกรสซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพรรครีพับลิกันพยายามดึงแผนการฟื้นฟูมลรัฐทางภาคใต้เข้ามาเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และบรรดาสมาชิกคองเกรสมีมติว่าจะต้องมีการลงโทษมลรัฐทางภาคใต้ 

อีกประการหนึ่ง สมาชิกของพรรครีพับลิกันหวั่นเกรงว่าหากปล่อยให้มลรัฐทางภาคใต้กลับเข้ามารวมในสหรัฐอเมริกา และมีสิทธิในสภาคองเกรสเช่นเดิมแล้วพรรคอาจจะสูญเสียอำนาจไปจึงใช้ความพยายามขัดขวางแผนการฟื้นฟูของประธานาธิบดี ลินคอร์น ประกอบกับมลรัฐทางภาคใต้มิได้มีความจริงใจในการเข้าร่วมแผนการฟื้นฟูประเทศ 

กล่าวคือการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ.1865 ชาวมลรัฐทางภาคใต้ ได้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกสภาสูงซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำในการแบ่งแยกดินแดนทั้งสิ้น อาทิเช่น อดีตผู้ำนำทางทหารของสมาพันธรัฐ 4 คน อดีตรัฐมนตรีของสมาพันธรัฐ 6 คน อดีตสมาชิกรัฐสภาของสมาพันธรัฐ 58 คน และอดีตรองประธานาธิบดีของสมาพันธรัฐ เป็นต้น 

ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่สมาชิกสภาคองเกรสเป็นอย่างมาก และปฏิเสธที่จะยอมรับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกสภาสูง ของมลรัฐทางภาคใต้ในการเข้ามาทำหน้าที่ในสภาคองเกรส นอกจากนี้ภายหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง รัฐบาลของมลรัฐทางภาคใต้ยังจำกัดสิทธิของชาวอัฟริกันผิวดำที่เป็นอดีตทาสของตนมิให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่าเพราะชาวอัฟริกันผิวดำส่วนใหญ่ไม่มีการศึกษา และแทบจะไม่มีความรู้ทางการเมืองแม้แต่น้อย แต่พรรครีพับลิกันก็พยายามจะส่งเสริมให้ชาวอัฟริกันผิวดำเหล่านั้นมีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ และในขณะเดียวกันก็พยายามหาเหตุผลเพื่อกีดกันชาวผิวขาวในมลรัฐทางภาคใต้มิให้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้เช่นกัน

เนื่องจากสมาชิกของพรรครีพับลิกัน มีจำนวนมากเกินกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกสภาสูง จึงทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหารเป็นอย่างมากในเรื่องการบัญญัติกฎหมายซึ่งสามารถกระทำได้ตามความต้องการ เมื่อประธานาธิบดีใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถที่จะยืนยันโดยใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ในการบัญญัติกฎหมายได้โดยปราศจากการขัดขวาง ประกอบกับในช่วงเวลานั้นศาลฎีกาซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการก็มีความเกรงกลัวในอิทธิพลของสภาคองเกรสที่เรียกได้ว่าเกือบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้นจึงทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจมากที่สุดในช่วงเวลาหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง

ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ใช้สิทธิยับยั้ง (Veto) กฎหมายฟื้นฟูที่จะให้มีการลงโทษมลรัฐทางภาคใต้ของสภาคองเกรสหลายฉบับ แต่ก็ถูกสภาคองเกรสยืนยันด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 เพื่อผ่านกฎหมายที่ประธานาธิบดีจอห์นสันใช้สิทธิยับยั้งทุกฉบับเช่นกัน เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิดขึ้นระหว่างประธานาธิบดีและสมาชิกสภาคองเกรส เป็นผลทำให้สมาขิกสภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนเสียงเพื่อยื่นมติฟ้องร้องถอดถอน (Impeachment) ประธานาธิบดีจอห์นสันออกจากตำแหน่งต่อสมาชิกสภาสูงในปี ค.ศ. 1867 ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่มีการยื่นมติเพื่อฟ้องร้องถอดถอนประธานาธิบดีจากสภาผู้แทนราษฏร 

ซึ่งมูลเหตุในการฟ้องร้องถอดถอนครั้งนี้ สืบเนื่องจากประธานาธิบดีจอห์นสันได้ปลดรัฐมนตรีกลาโหมออกจากตำแหน่งโดยมิได้ขออนุญาตจากสมาชิกสภาสูงตามกฎหมาย “Tenune of Office Act 1867” (ภายหลังได้ถูกยกเลิกไป) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามมิให้ประธานาธิบดีปลดข้าราชการออกจากตำแหน่งโดยมิได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภาสูง การกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติครั้งนี้ถือได้ว่า เป็นการลุแก่อำนาจและผิดหลักการ เป็นการใช้อารมณ์ตัดสินปัญหามากกว่าการใช้เหตุผล 

แต่อย่างไรก็ตามผลการตัดสินของสมาชิกสภาสูงที่ต้องการคะแนนเสียง 2 ใน 3 เพื่อถอดถอนประธานาธิบดี จอห์นสัน ออกจากตำแหน่งนั้นขาดไปเพียงหนึ่งเสียงเท่านั้น ทำให้ประธานาธิบดี จอห์นสันสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้จนหมดวาระ อย่างไรก็ตาม แผนการฟื้นฟูของสภาคองเกรสซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพรรครีพับลิกันก็ดำเนินต่อไปโดยที่ประธานาธิบดีจอห์นสันไม่สามารถยับยั้งได้

การฟื้นฟูมลรัฐทางภาคใต้ของสภาคองเกรส
ในการฟื้นฟูมลรัฐทางภาคใต้ภายหลังสงครามกลางเมืองนั้น สภาคองเกรสได้เสนอบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

(1) ให้นิยามคำว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” คือ ผู้ที่เกิดในดินแดนสหรัฐอเมริกา และผู้ที่แปลงสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน และห้ามมิให้มลรัฐขัดขวาง หรือกลั่นแกล้ง เบียดบังสิทธินี้จากประชาชน โดยการเลือกที่รักมักที่ชั่ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงชาวอัฟริกันผิวดำ

(2) หากมลรัฐใดห้ามชาวอัฟริกันผิวดำลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ก็จะนับจำนวนชาวอัฟริกันผิวดำออกจากจำนวนประชากรของมลรัฐนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของมลรัฐนั้นลงไปด้วย

(3) ห้ามบรรดาผู้นำของสมาพันธรัฐภาคใต้ทั้งหลาย สมัครเข้ารับการเลือกตั้งทั้งในระดับมลรัฐและในระดับชาติ จนกว่าจะได้รับการอภัยโทษจากสภาคองเกรส

(4) ห้ามมิให้สภาคองเกรสชดใช้หนี้สินของสมาพันธรัฐภาคใต้ หรือชดใช้ค่าไถ่ตัวทาสโดยเด็ดขาด

ปรากฏว่ามลรัฐทางภาคใต้ทุกมลรัฐ ยกเว้นมลรัฐเทนเนสซี่ ปฏิเสธที่จะยอมรับบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 นี้ ดังนั้นสภาคองเกรสจึงยกเลิกรัฐบาลของมลรัฐเหล่านั้นที่มีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อครั้งประธานาธิบดีลินคอร์น และประธานาธิบดีจอห์นสัน และประกาศใช้กฎหมายฟื้นฟูใหม่ ( The Reconstruction Act of 1867 ) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

แบ่งมลรัฐทางภาคใต้ทุกมลรัฐ ยกเว้นมลรัฐเทนเนสซี่ ออกเป็นมลรัฐละ 5 ภาค โดยแต่ละภาคมีนายพลแห่งกองทัพสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ปกครอง และใช้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกาเป็นเครื่องมือสนับสนุน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีสิทธิที่จะสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐนั้นเป็นทั้งคนผิวขาว และชาวอัฟริกันผิวดำ ยกเว้นบุคคลที่เคยทำงานให้แก่สมาพันธรัฐภาคใต้ จะถูกจำกัดสิทธิเหล่านี้

รัฐธรรมนูญของแต่ละมลรัฐทางภาคใต้ เมื่อร่างเสร็จแล้ว ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเสียก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหล่านี้จำต้องรับรองสิทธิของชาวอัฟริกันผิวดำให้เท่าเทียมกับชาวผิวขาวทุกประการ

การที่สหรัฐอเมริกาจะยอมรับมลรัฐทางภาคใต้เหล่านี้กลับเข้ามาเป็นมลรัฐที่มีผู้แทนในสภาคองเกรสได้ต่อเมื่อมลรัฐนั้นๆ ยอมรับรองบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญข้อที่ 14 เสียก่อน

การใช้กำลังทางทหารของสหรัฐอเมริกา ในการยึดครองมลรัฐทางภาคใต้ ทำให้การแก้ไขปัญหาเพื่อการฟื้นฟูประเทศต้องล่าช้าออกไปอีกท่ามกลางการต่อสู้ และความไม่พอใจเป็นอย่างมากของมลรัฐทางภาคใต้ การที่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาห้ามบรรดาผู้นำของมลรัฐทางภาคใต้เข้าสมัครรับเลือกตั้ง 

โดยในขณะเดียวกัน สภาคองเกรสให้สิทธิต่อชาวอัฟริกันผิวดำผู้ซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากความเป็นทาสในการสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง และการใช้สิทธิในการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทำให้ชาวอัฟริกันผิวดำเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยการถูกชักจูงให้ไปลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นชาวมลรัฐทางภาคเหนือที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในภาคใต้ที่เรียกว่า “คาร์เพ็ทแบ็กเกอร์” (Carpetbaggers) ซึ่งร่วมมือกับชาวมลรัฐทางภาคใต้บางกลุ่มในการใช้คะแนนเสียงของชาวอัฟริกันผิวดำที่ไม่มีการศึกษาและไม่มีความรู้ทางการเมืองเหล่านั้นเป็นเสียงสนับสนุนเลือกพวกตนเข้าไปเป็นรัฐบาลในมลรัฐทางภาคใต้ 

ภาพแสดงการลงคะแนนเสียงของชาวนิโกรที่เป็นเครื่องมือของ “คาร์เพ็ทแบ็กเกอร์” (Carpetbaggers)
เมื่อบุคคลเหล่านี้สามารถเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ทำการคอร์รัปชั่น และรัฐบาลของพวกคาร์เพ็ทแบ็กเกอร์ได้ขึ้นภาษีในอัตราที่สูง โดยมิได้คำนึงถึงสภาพที่เกือบล้มละลายของบรรดามลรัฐทางภาคใต้แม้แต่น้อย

ชาวผิวขาวในมลรัฐทางภาคใต้ได้พยายามต่อต้าน โดยการก่อตั้งสมาคมแบบลับขึ้นมาหลายสมาคม บรรดาสมาคมลับเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลมลรัฐ และต่อต้านชาวอัฟริกันผิวดำที่ลงคะแนนเสียงให้แก่พวกคาร์เพ็ทแบ็กเกอร์ 

ดังนั้นจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนที่สุดก็คือ การกำจัดชาวอัฟริกันผิวดำออกจากการเมืองด้วยการใช้วิธีข่มขู่ หรือฆ่าชาวอัฟริกันผิวดำ เพื่อมิให้ชาวอัฟริกันผิวดำออกไปลงคะแนนเสียงอีกต่อไป 

ในปี ค.ศ.1868 นายพลแกร๊นท์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี และส่งกองกำลังทหารไปเพิ่มเติมในมลรัฐทางภาคใต้เพื่อคุ้มครองพวกคาร์เพ็ทแบ็กเกอร์ และชาวอัฟริกันผิวดำ แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนในมลรัฐทางภาคเหนือ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบทหาร ในการเข้าควบคุมมลรัฐทางภาคใต้ของรัฐบาลกลางมาก 

จนกระทั่งในปี ค.ศ.1872 สภาคองเกรสได้บัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาอดีตผู้นำของสมาพันธรัฐภาคใต้ และเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้สามารถสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง และมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งเสริมความสามัคคีของชนในชาติ คือ การที่กลุ่มสมาชิกพรรครีพับลิกันหัวก้าวหน้า ได้ช่วยกันเรียกร้องในการให้อภัยโทษแก่บรรดาผู้นำของมลรัฐทางภาคใต้ รวมทั้งการเรียกร้องให้ชาวมลรัฐทางภาคใต้ให้ได้กลับมามีสิทธิที่จะสมัครรับเลือกตั้ง และสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาได้มีการฉลองครบรอบหนึ่งร้อยปีในการประกาศอิสรภาพของประเทศ ทำให้ประชาชนทั้งในมลรัฐทางภาคเหนือ และมลรัฐทางภาคใต้ ได้ระลึกถึงเหตุการณ์ณ์เมื่อครั้งร่วมกันทำสงครามประกาศอิสรภาพ จากสหราชอาณาจักรและระลึกถึง จอร์จ วอชิงตัน โธมัส เจฟเฟอร์สัน เจมส์ เมดิสัน และเจมส์ มอนโร ล้วนเป็นประธานาธิบดีที่เป็นชาวมลรัฐทางภาคใต้ทั้งสิ้น ซึ่งการมีประวัติศาสตร์ร่วมกันเช่นนี้เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นในประเทศอีกครั้ง