วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของระบอบประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตย
สาระสำคัญ


ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบการปกครองและวิธีการดำเนินชีวิต ซึ่งยึดหลักของความเสมอภาค เสรีภาพ และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน และอำนาจอธิปไตยต้องมาจากปวงชน
คำว่า ประชาธิปไตย เป็นศัพท์ที่นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากในโลกปัจจุบัน เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศต่างๆ แม้จะมีรูปแบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็อ้างว่าประเทศของตนเป็นประชาธิปไตยกันทั้งสิ้น ในประเทศสังคมนิยมหลายประเทศ เช่น อดีตสหภาพโซเวียต และจีน ต่างก็อ้างว่าประเทศของตนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นประชาธิปไตยในอีกแง่หนึ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ กล่าวคือ ยินยอมให้ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพในขอบเขตที่จำกัด ส่วนการดำเนินการทางการเมือง ยังคงตกอยู่ในมือของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนเท่านั้น นอกจากนี้ประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย หลังจากได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ในสมัยของประธานาธิบดีซูการ์โน่ ได้ประกาศใช้ระบอบประชาธิปไตยนำวิถี จากความหลากหลายของการให้ความหมายนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในที่นี้จะขออธิบายประชาธิปไตยในความหมายของเสรีประชาธิปไตย หรือประชาธิปไตยแบบตะวันตกเท่านั้น

ความหมายของประชาธิปไตย


1.ความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งมาจากคำภาษากรีกว่า Democratia ซึ่งประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ Demos กับ kratein คำว่า Demos หมายถึง ประชาชน และ Kratein หมายถึง การปกครอง ฉะนั้นประชาธิปไตย (Demoskratia) จึงหมายถึง ประชาชนปกครอง หรือการปกครองโดยประชาชน


2.ความหมายที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค นักปรัชญาการเมืองหลายท่านที่ชี้ให้เห็นว่ารูปแบบการปกครองที่ดีก็คือ การปกครองที่เคารพสิทธิและความเสมอภาคของมนุษย์ เชื่อว่าสมาชิกของสังคมทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเพื่อพัฒนาตนเองและสังคมโดยส่วนรวม นอกจากนี้ระบบการเมืองจะต้องเปิดโอกาส หรือให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการดำเนินการใดๆ ภายใต้กฎระเบียบของสังคมด้วย ซึ่งรูปแบบการปกครองดังกล่าว ก็คือระบอบประชาธิปไตย


3.ความหมายที่เน้นการเข้ามีส่วนร่วมหรือเสียงของประชาชน ในเมื่อระบอบประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยใช้อำนาจนี่ผ่านทางองค์กรทางการเมืองต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของตนเอง บทบาทของประชาชนในทางการเมือง จึงมีความสำคัญมากในระบอบนี้ จนมีผู้กล่าวว่า ประชาธิปไตยนั้นถือว่าประชาชน คือ เสียงสวรรค์ เป็นระบอบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมดำเนินการเพื่อสร้างสรรค์สังคมของตนเอง กิจกรรมการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชน อาจเป็นทางอ้อมโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์เข้าไปทำหน้าที่แทน หรืออาจเป็นทางตรง เช่นการประท้วง การร้องเรียน ในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลรับทราบถึงปัญหา เป็นต้น


4.ความหมายที่เน้นเจตนารมณ์ของประชาชน ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น แห่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความหมายของคำว่าประชาธิปไตยไว้อย่างกระชับและคมคายว่า เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ผู้นำทางการเมืองเป็นผู้ที่ถือเสมือนเป็นตัวแทนเจตนารมณ์ของประชาชน รัฐบาลเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก หรือได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ รัฐบาลจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปได้เมื่อวาระสิ้นสุดลง ก็โดยการแสดงให้ประชาชนผู้เลือกตั้งเห็นว่า รัฐบาลสามารถสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น


5.ความหมายตามที่มาและขอบเขตอำนาจ มีผู้ให้ความหมายของประชาธิปไตยไว้ว่า อำนาจสูงสุดมาจากประชาชน ทั้งนี้โดยอ้างว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ โดยธรรมชาติ พวกเขาสามารถที่คิดและกระทำการใดๆ ได้ แต่เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นสังคม เขาจะสละสิทธิ์และอำนาจบางประการให้กับผู้ปกครอง เพื่อใช้อำนาจนั้นดำเนินการภายในกรอบที่กำหนด ฉะนั้นเราจะพบว่ารัฐบาลในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีอำนาจที่มีขอบเขต
               

จากความหมายอันหลากหลายของคำว่า ประชาธิปไตย นี้ จึงอาจสรุปความหมายหลักได้ 3 ประการ คือ
1.ความหมายในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง
2.ความหมายในเชิงรูปแบบการปกครอง
3.ความหมายในเชิงวิถีวิชีวิตของประชาชน


1. ความหมายในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง
อุดมการณ์ทางการเมือง คือ ระบบความคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นระบบความคิดทางการเมืองชนิดหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับหลักการ 3 ประการ

1.1หลักมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา รู้จักใช้เหตุผล รู้ดีรู้ชั่ว และสามารถปกครองตนเองได้ ประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบที่สมาชิกจะต้องแสดงออกซึ่งเหตุผล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับกัน เชื่อกันว่าถ้าการดำเนินการใดๆ เป็นไปตามหลักการแห่งเหตุผลแล้ว ย่อมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมอย่างไม่มีขีดจำกัด


2.หลักสิทธิเสรีภาพ คำว่า สิทธิ หมายถึง อำนาจอันชอบธรรม เสรีภาพ หมายถึง ความมีอิสระที่จะกระทำการใดๆได้ แต่การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เสรีภาพในสังคมประชาธิปไตยมีขอบเขตจำกัดในระดับหนึ่ง สิ่งที่จะมาเป็นตัวจำกัดเสรีภาพคือ กฎหมาย ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณี
               

เสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอาจจำแนกได้ดังต่อไปนี้


2.1) เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจแสดงออกในรูปของการพูด การเขียน และการโฆษณาถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง ในสังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสังคมที่ถือว่า ประชาชนคือเสียงสวรรค์ เป็นสังคมที่ยินยอมให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองโดยเสรี การแสดงความคิดเห็นจึงถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งด้วย
                   

2.2) เสรีภาพในการรวมกลุ่ม อาจจะเป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรที่ปลูกอ้อย จัดตั้งเป็นสหกรณ์ชาวไร่อ้อย หรืออาจจะเป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีความสนใจในกิจกรรมทางสังคมอย่างหนึ่งอย่างใด ร่วมกันจัดตั้งเป็นสมาคม เป็นต้น และยังรวมไปถึงการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการใดๆอีกด้วย แต่ทั้งนี้กิจกรรมอันเกิดจากเสรีภาพในการรวมกลุ่มจะต้องอยู่ในกรอบแห่ง กฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคม
                   

2.3) เสรีภาพในการนับถือศาสนา มนุษย์แต่ละคนย่อมมีความเชื่อที่เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้างเป็นธรรม การนับถือหรือศรัทธาที่มนุษย์พึงมีต่อความเชื่อศาสนาใดๆ จึงนับได้ว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานประการหนึ่ง
                   

2.4) สิทธิและเสรีภาพอื่นๆ นอกจากสิทธิและเสรีภาพข้างต้นแล้ว อุดมการณ์ประชาธิปไตยยังให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลด้านอื่นๆ อีก เช่น สิทธิจะได้รับการคุ้มครองทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินจากรัฐ สิทธิในเคหะสถาน สิทธิและเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายที่อยู่อาศัย สิทธิและเสรีภาพในการเดินทาง สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพโดยสุจริต เสรีภาพในทางร่างกาย เป็นต้น
               

3.หลักความเสมอภาค ความเสมอภาพหรือความเท่าเทียมกัน เป็นหลักที่สำคัญของอุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกหลักการหนึ่ง ระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด เพศใด มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางสังคมอย่างไรต่างเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมกันในที่นี้ไม่ใช่ความเท่าเทียมกันในสติปัญญา ความสามารถ หรือความสูงความต่ำ แต่เป็นความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของความเป็นคน ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะอยู่รอดในสังคม ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยอาจจำแนกได้เป็น 4 ประการ ดังต่อไปนี้
                   

3.1) ความเสมอภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง จากแนวความคิดที่ว่าประชาธิปไตย เป็นเรื่องของการปกครองโดยประชาชน ถือว่าเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์ รัฐประชาธิปไตยจึงต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กฎหมายระบุไว้ และบัตรเลือกตั้งแต่ละใบจะมีเสียงเพียง 1 เสียงเท่าเทียมกัน ซึ่งตรงกับปฏิญญาสากลแห่งสิทธิมนุษยชนข้อ 21 (3) ที่ระบุว่า เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงเช่นว่านี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริง โดยอาศัยการออกเสียงทั่วไปและอย่างเสมอภาค และลงคะแนนเสียงลับ หรือการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่น ทำนองเดียงกัน
                   

3.2) ความเสมอภาคที่จะได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมาย ในรัฐประชาธิปไตยนั้นจะถือว่า กฎหมายเป็นเสมือนข้อกำหนดของสังคมที่ออกมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการควบคุม พฤติกรรมที่มีผลร้ายต่อสังคมโดยส่วนรวม นั่นคือกฎหมายจะให้ความคุ้มครองป้องกันแก่คนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน และผู้ที่ละเมิดกฎหมายก็จะได้รับโทษทัณฑ์ตามที่กำหนดหรือถ้ามีเหตุอันควร ปรานีให้มีการลดหย่อนหรือยกเว้นโทษ ก็ควรจะได้รับการพิจารณาโดยเท่าเทียมกันด้วย
                   

3.3) ความเสมอภาคที่จะแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิต ในระบอบประชาธิปไตยนั้น รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ เช่น จัดให้มีโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ให้เพียงพอสำหรับคนที่ปรารถนาแสวงหาความรู้มีโอกาสรับการศึกษาได้รับความรู้ และมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถสร้างความก้าวหน้าและความมั่นคงในชีวิตให้กับตนเอง และต้องบริหารระบบของสังคมให้เปิดโอกาสสำหรับทุกๆ คนในการที่จะได้ทำงานโดยสิทธิเท่าเทียมกัน เช่น การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคในการสอบคัดเลือกเข้าเป็นข้าราชการ เป็นต้น
                   

3.4) ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า รัฐประชาธิปไตยจะต้องทำให้สมาชิกทุกคนมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูง กล่าวคือ มีรายได้สูง และมีความเป็นอยู่ที่หรูหรากันทุกคน แต่จะต้องพยายามกระจายรายได้ นำเอาทรัพยากรทางสังคมมาใช้ประโยชน์ ลดช่องว่างระหว่างชนชั้นให้น้อยลงโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือกลุ่มที่ด้อยโอกาสกว่าให้เติบใหญ่และแข็งแรงพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การที่รัฐสนับสนุนโครงการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมอาชีพในชนบท โครงการจัดตั้งสหกรณ์ผู้ผลิต สหกรณ์ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ใดๆ โครงการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เพื่อยกระดับความกินดี อยู่ดี เป็นต้น

2. ความหมายในเชิงรูปแบบการปกครอง
แนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นรูปแบบการปกครองมาจากความเชื่อที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ การปกครองตนเองของประชาชนดำเนินการโดยผ่านผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตนตามระเบียบวิธีที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เราจึงอาจสรุปหลักการที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังต่อไปนี้


1.หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หมายความว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดของรัฐ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินปัญหาและกำหนดความเป็นไปของพวกเขาเอง แต่มิได้หมายความว่าประชาชนทั้งประเทศจะต้องมานั่งถกเสียงหาทางแก้ปัญหา

2.หลักอำนาจอธิปไตยโดยปวงชน หมายถึง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง รูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนจึงมีอยู่หลายทางด้วยกันที่สำคัญ คือ การเลือกตัวแทนของตนขึ้นไปทำหน้าที่ในรัฐสภา นอกจากนี้ประชาชนอาจทำได้โดยการช่วยรณรงค์หาเสียงให้ผู้สมัครที่ตนนิยมอยู่หรือเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อหาทางผลักดันให้นโยบายของพรรคนำมาใช้ปฏิบัติ เป็นต้น


3.หลักอำนาจอธิปไตยเพื่อประชาชน สังคมประชาธิปไตยนั้น ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศและรัฐบาล จะต้องไม่กระทำไปเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนในกลุ่มตนเท่านั้น ผู้ปกครองที่มาจากประชาชนในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเป็นผู้ที่กระทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ด้วยให้สมกับความไว้วางใจของประชาชนที่เลือกตนเข้ามารับหน้าที่ ไม่เช่นนั้นเมื่อครบวาระอาจจะไม่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนในสมัยต่อไปก็ได้


4.หลักเหตุผล ประชาธิปไตยประกอบด้วยหลักเหตุผล ทั้งนี้เนื่องจากคนแต่ละคนต่างก็มีแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป ถ้าคนปราศจากเหตุผลแล้ว สังคมก็อาจยุ่งเหยิงไม่ได้ข้อยุติที่ดีและถูกต้อง ดังนั้นในระบอบประชาธิปไตยนั้นทุกคนจะต้องร่วมกันคิด โดยต่างก็เสนอความคิดเห็นแล้วอาจมีการเปิดอภิปราย มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ต่างคนต่างรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วยใจเป็นธรรม ข้อเสนอหรือความคิดเห็นของใครที่มีเหตุผลดีกว่าก็จะได้รับเลือกให้เป็นวิธีการแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไป

5.หลักเสียงข้างมาก วิธีการหนึ่งที่จะรู้ได้ว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักการเพื่อปวงชน คือ หลักเสียงข้างมาก นั่นคือหลังจากที่ผู้แทนราษฎรได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์โดยการอภิปรายกันพอแล้ว ก็จะมีการออกเสียงลงคะแนนกัน ข้อเสนอที่ได้รับเสียงข้างมากจากที่ประชุมก็จะได้รับเลือกให้นำไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะถือได้ว่าเป็นข้อเสนอที่มีเหตุผลของคนส่วนใหญ่

6.หลักความยินยอม ประชาธิปไตยจะต้องมีพื้นฐานมาจากความยินยอมอีกด้วย เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน และปวงชนได้เลือกตั้งตัวแทนของตนเพื่อใช้อำนาจ ดังกล่าว จึงถือได้ว่าผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้ามาใช้อำนาจเหล่านี้ได้รับความยินยอมจากปวงชน แต่จะมีอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญ และยังถูกจำกัดช่วงเวลาที่ได้รับความยินยอม คืออาจอยู่ในวาระช่วงระยะเวลาหนึ่ง (วาระครบ 4 ปี เป็นต้น) เมื่อครบวาระหรือมีการยุบสภาก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ หากผู้แทนราษฎรผู้ใดได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชนจะได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ต่อไป

7.หลักประนีประนอม ในหลายกรณี หลังจากที่ผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันแล้ว และเล็งเห็นว่าข้อเสนอต่างๆ ที่ผู้แทนแต่ละคนเสนอไปนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก หรือมีข้อขัดแย้งกันไม่มากนักที่ประชุมก็อาจใช้การประนีประนอมกัน โดยยึดหลักผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นเกณฑ์ ไม่จำเป็นต้องมีการลงคะแนนเสียงข้างมากก็ได้

8.หลักความเสมอภาค ประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์ต่างก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แม้แต่รัฐธรรมนูญไทยก็ยอมรับในหลักการนี้โดยเขียนไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดอภิสิทธิ์แต่อย่างใดเลย ฉะนั้นกฎหมายในสังคมประชาธิปไตย จึงบังคับใช้กับบุคคลทุกคนโดยเสมอหน้ากันหมด

9.หลักเสรีภาพ สังคมประชาธิปไตย นอกจากจะให้ความสำคัญกับหลักความเสมอภาคแล้ว ยังให้ความสำคัญกับหลักเสรีภาพด้วย กล่าวคือ รัฐในระบอบประชาธิปไตยจะต้องส่งเสริมเสรีภาพต่างๆของปวงชน เช่น เสรีภาพในการพูด การเขียน การอบรมศึกษา การรวมตัวกันเป็นสมาคม เป็นต้น แต่ทั้งนี้เสรีภาพเหล่านี้จะถูกจำกัดโดยกฎหมายนั้นคือ ประชาชนต้องไม่ใช้เสรีภาพนี้เพื่อทำลายหรือรบกวนเสรีภาพของผู้อื่น

10.หลักนิติธรรม หมายถึงการยึดถือกฎหมายเป็นเกณฑ์กติกา และหลักประกันความเสมอภาคให้ประชาชนได้รับการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และการรักษาผลประโยชน์ ส่วนรวม เพื่อความถูกต้อง สงบเรียบร้อยและชอบธรรม โดยรัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายแก่คนทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิ เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้มีอิทธิพล ยศฐาบรรดาศักดิ์ เงินทอง หรืออภิสิทธิ์อื่นๆ

11.หลักการปกครองตนเอง เมื่อสังคมประชาธิปไตยให้ความสำคัญกับหลักความเสมอภาคและหลักเหตุผล เชื่อว่ามนุษย์สามารถปรับปรุงตัวเองให้ก้าวหน้า รวมทั้งแก้ไขปัญหาของตนเองได้ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง ทั้งนี้เพราะพวกเข้ารู้ดีกว่าคนอื่นๆ ว่าตนเองต้องการอะไร หรือสิ่งใดที่เป็นผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้อาจจะอยู่ในแง่รูปธรรม เช่น สวัสดิการทางสังคมต่างๆ หรืออาจจะอยู่ในแง่ของนามธรรม เช่น เสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคมก็ได้

3. ความหมายในเชิงวิถีวิชีวิตของประชาชน
วิถีชีวิตของประชาชน หมายถึง วิธีการในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีความเชื่ออยู่ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะไร้เสถียรภาพ ถ้าบุคคลหรือสมาชิกของสังคมขาดแบบแผนของความเชื่อ ทัศนคติและค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย   วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยอาจจำแนกได้ดังต่อไปนี้

3.1 ใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหาหรือข้อขัดแย้งระหว่างกัน ในทางปฏิบัติแม้ว่ามนุษย์จะไม่ได้ใช้เหตุผลตลอดเวลา แต่ก็ควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ เพราะการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น โดยการใช้เหตุผล จะนำมาซึ่งข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับกันโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความแตกแยกขึ้นในสังคม

3.2 รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอย่างมีสติสัมปชัญญะ ปราศจากอคติ และมีความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตน

3.3 มีน้ำใจประชาธิปไตย กล่าวคือ มีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ไม่นิยมการยอมตามความคิดเห็นของผู้อื่น นอกจากจะถูกลบล้างด้วยเหตุผลที่น่าเชื่อถือกว่า ยอมรับเสียงข้างมาก เคารพในศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีจิตใจกว้างขวาง พร้อมที่จะยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ

3.4 สนใจกิจการบ้านเมืองและเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยถือว่าเป็นหน้าที่ เคารพกฎเกณฑ์หรือกติกาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด

3.5 รู้จักประนีประนอมมากกว่าที่จะดึงดันเอาชนะกันโดยอาศัยการขู่เข็ญ บังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับในเงื่อนไขของฝ่ายตนแต่ฝ่ายเดียว

3.6 มองโลกในแง่ดี สมาชิกของสังคมประชาธิปไตยจะต้องมีศรัทธาและความหวังต่อชีวิตเสมอกกระบวนการในระบอบประชาธิปไตยนั้นอาจต้องใช้เวลา ความอดทนอดกลั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง

3.7 มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เมื่อสมาชิกของสังคมประชาธิปไตยเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ และประเทศเป็นของทุกคนแล้ว ทุกคนจะเกิดความรัก ความภักดีต่อชาติบ้านเมือง ต่างพยายามที่จะประพฤติตนให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย และศีลธรรมอันดีงาม และต่างก็จะพยายามทำตนเป็นพลเมืองดี ช่วยกันบำรุงรักษาสาธารณสมบัติ ช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากในรูปของสังคมสงเคราะห์ เข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมืองให้สะอาดร่มเย็น เป็นต้น

รูปแบบของการปกครองระบอบประชาธิปไตย 
ในประเทศประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้มีรูปแบบการปกครองเหมือนๆ กันทั้งหมด นักวิชาการได้พยายามเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่อาจใช้แบ่งรูปแบบการปกครองของประเทศประชาธิปไตยมากมายด้วยกัน สรุปได้เป็น 2 หลักเกณฑ์ ดังนี้


1.หลักประมุขของประเทศ แบ่งรูปแบบประชาธิปไตยได้ 2 ลักษณะคือ
 

1.1) มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พระมหากษัตริย์จะทรงใช้อำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของปวงชน โดยใช้องค์กรแยกกันเป็น 3 ทางคือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยผ่านทางรัฐสภา อำนาจบริหารโดยผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการโดยผ่านทางศาล ส่วนองค์พระมหากษัตริย์จะทรงเป็นกลางในทางการเมือง เช่น ไทย อังกฤษ เป็นต้น

1.2) มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่เป็นประมุขของรัฐเพียงหน้าที่เดียว เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ฯลฯ และบางประเทศประธานาธิบดีทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหารด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย ฯลฯ

2.หลักการรวมและการแยกอำนาจ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ

2.1) แบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ได้แก่ การมีเฉพาะผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวหรืออาจมี 2 สภาก็ได้ มีทั้งสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตัวแทนหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนมากสมาชิกได้มาจากการแต่งตั้ง แต่สมาชิกวุฒิสภาในบางประเทศก็มาจากการเลือกตั้ง ชื่อสภาอาจเรียกต่างกันได้ เช่น ในอังกฤษเรียกสภาผู้แทนราษฎรว่า สภาล่างและวุฒิสภาว่า สภาสูงหรือสภาขุนนาง แต่โดยหลักการสภาทั้งสองต้องประชุมร่วมกันรวมกันเป็น รัฐสภา ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนายบริหาร คือมีอำนาจในการออกกฎหมายเพื่อใช้ปกครองประเทศ และมีอำนาจบริหารในการให้ความเห็นชอบหรือจัดตั้งรัฐบาล และควบคุมการบริหารของรัฐบาลด้วย คือ รัฐบาลบริหารด้วยความไว้วางใจของรัฐสภา ในทางปฏิบัติถือกันเป็นหลักเกณฑ์ว่า สมาชิกสภากลุ่มหรือพรรคการเองที่มีเสียงข้างมากสนับสนุนจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง แต่รัฐบาลจะต้องอยู่ในความควบคุมของสมาชิกรัฐสภา ลักษณะดังกล่าวนี้ รัฐสภาและรัฐบาลต่างทำหน้าที่ของตน แต่รัฐสภาควบคุมรัฐบาลด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และอาจลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อให้รัฐบาลลาออกได้ ส่วนรัฐบาลก็อาจยุบสภาได้ ทำให้เกิดความสมดุลแห่งอำนาจ

2.2) แบบประธานาธิบดี ระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีมีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบรัฐสภา การมีรัฐสภาเหมือนกัน แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันคือ การมีประธานาธิบดีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร โดยประธานาธิบดีมีสิทธิและหน้าที่ในการจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อบริหารประเทศและรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนอำนาจนิติบัญญัตินั้นก็ยังคงตกอยู่ที่รัฐสภา การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดีนี้ ทั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างก็ได้รับเลือกจากประชาชน ทั้งสองฝ่าย จึงต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อระชาชน ส่วนอำนาจตุลาการยังคงเป็นอิสระ ฉะนั้นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ต่างก็เป็นอิสระและแยกกัน สถาบันผู้ใช้อำนาจทั้งสามจะเป็นตัวที่คอยยับยั้งและถ่วงดุลกันและกัน ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้อำนาจเกินขอบเขต เช่น การปกครองของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

2.3) แบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ระบอบประชาธิปไตยแบบนี้ประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับนายรัฐมนตรี ในด้านการบริหารนั้นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามประกาศใช้กฎหมาย และคณะรัฐมนตรีก็ยังคงเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร แต่ต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา ส่วนรัฐสภาเองก็ยังคงทำหน้าที่สำคัญ คือ ออกกฎหมายและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ประธานาธิบดีในระบอบประชาธิปไตย แบบนี้เป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศและการเมืองโดยทั่วๆ ไปทั้งยังทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ ระหว่างรัฐสภากับคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังมีอำนาจยุบสภาได้ด้วย จึงมีอำนาจมาก เช่น อินเดีย ฝรั่งเศส

ประเภทของประบอบประชาธิปไตย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.ประชาธิปไตยโดยทางตรง เป็นรูปแบบการปกครองที่ให้ประชาชนทั้งประเทศ เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองโดยตรง ด้วยการประชุมร่วมกัน พิจารณา ตัดสินปัญหาร่วมกันในที่ประชุมโดยตรง และจะเป็นผู้เลือกตั้งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานของรัฐโดยตรง เราจะเห็นว่าประชาธิปไตยประเภทนี้จะใช้ได้ในเชิงปฏิบัติจริงๆ ก็แต่เฉพาะในสังคมเล็กๆ หรือประเทศเล็กๆ ที่มีสมาชิกจำนวนน้อย ซึ่งแต่ละคนมีโอกาสอภิปราย วิพากษ์วิจารณ์ และพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างละเอียดและมีเหตุผล แต่ถ้านำเอาประชาธิปไตยประเภทนี้มาใช้กับสังคมขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมากแล้วจะเป็นอุปสรรค เนื่องจากความไม่พร้อมเพรียงกัน และการที่จะหาสถานที่ประชุมขนาดใหญ่ เพื่อจะให้ประชาชนทั้งประเทศมาประชุมในที่เดียวกันย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง

2.ประชาธิปไตยโดยทางอ้อม เป็นประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากประเทศต่างๆ ของโลกได้ขยายตัวออกไปมาก ประชาชนพลเมืองเพิ่มขึ้นปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมามาก ฉะนั้นโอกาสที่ประชาชนทั้งประเทศจะมานั่งปรึกษาหารือกัน เพื่อแก้ปัญหากันแบบประชาธิปไตยโดยทางตรงย่อมเป็นไปไม่ได้ เพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้แทนที่ประชาชนทุกคนจะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาตัดสินปัญหาใด ก็จะให้ประชาชนได้มีโอกาสเลือกตัวแทนหรือที่รู้จักในนาม สมาชิกรัฐสภา เข้าไปสู่ที่ประชุมแทน ส่วนลักษณะและวิธีการเลือกสมาชิกรัฐสภาของประชาชนในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป

หัวใจและกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย
เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยนั้นถือว่าเป็นการปกครองของประชาชน บทบาททางการเมืองของประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงเป็นหัวใจของระบบนี้ ดังนั้นการเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชน จึงถือเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ เช่น การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การพูดคุยเรื่องการเมือง การช่วยพรรคการเมืองในการรณรงค์หาเสียง การเข้าร่วมประชุมทางการเมืองการเป็นผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้ง หรือแม้แต่การเดินขบวนประท้วง หรือสนับสนุนการดำเนินการของรัฐที่ยังผลให้ตนเองได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ 
ลักษณะหรือรูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในประเทศประชาธิปไตย อาจแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ คือ

1.การเข้ามีส่วนร่วมในกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลประโยชน์ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการ มีผลประโยชน์ในลักษณะใดๆ เหมือนๆ กันรวมตัวกันโดยมีการจัดองค์การอย่างเป็นระบบ กลุ่มผลประโยชน์นี้จะทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของกลุ่ม โดยการเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่ม เช่น กรรมการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น และใช้สหภาพแรงงานเป็นฐานในการเรียกร้องให้รัฐบาลประกันค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่กำหนด
ตัวอย่างของกลุ่มผลประโยชน์โดยทั่วไปมักรวมตัวกันเป็นองค์กรต่างๆ เช่น สโมสร สมาคม ชมรม กลุ่มอาชีพ ฯลฯ ทั่งนี้ยอมแตกต่างไปในแต่ละประเทศ ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบการเมือง การปกครอง สภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจ แต่ละกลุ่มผลประโยชน์ของทุกสังคมมักมีความคล้ายคลึงกันในเรื่องต่อไปนี้
1.ความพยายามที่จะมีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.ความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงหน่วยงานที่กำหนดนโยบายของรัฐ
3.การใช้โอกาส และวิธีการเท่าที่จะดำเนินการได้เพื่อทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น การเรียกร้อง
การบริการและสวัสดิการ การคัดค้านนโยบายบางอย่าง การเข้าไปแทรกแซงในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ที่มีความสำคัญทางการเมือง คือ ความสามารถในการรวบรวมประชาชนให้เป็นปึกแผ่นได้ และเป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลได้คำนึงถึงประโยชน์อันเป็นพลังที่ทำให้เกิดความสำนึกทางการเมือง และเสริมสร้างพัฒนาการทางการเมืองให้มีความก้าวหน้ามั่นคงในประเทศประชาธิปไตยนั้น รัฐจะให้เสรีภาพกับประชาชนในการจัดตั้งกลุ่ม สมาคม ประเทศประชาธิปไตยที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมยิ่งเจริญก้าวหน้ามาก กลุ่มองค์กร หรือสมาคมที่เกิดจากการรวมตัวกันของประชาชนก็จะมากตามไปด้วย แต่ละกลุ่มต่างก็มีผลประโยชน์ที่เป็นตัวของตนเอง และต่างก็จะพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่ม รัฐบาลในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารจึงจำเป็นต้องรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชน และจำเป็นต้องปรับปรุงกลไกทางการบริหารให้มีประสิทธิภาพพร้อมที่จะสนองตอบต่อข้อเรียกร้องได้อย่างเหมาะสม

2.การเข้ามีส่วนร่วมในพรรคการเมือง พรรคการเมืองคือ กลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์และนโยบายทางการเมืองสอดคล้องกัน รวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมือง นำเอานโยบายไปปฏิบัติหรือเพื่อที่จะจัดตั้งรัฐบาล การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยการสมัครเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองใดๆ ที่เชื่อว่ามีแนวนโยบายตรงกับความต้องการของตนมากที่สุด การช่วยพรรคการเมืองในการรณรงค์หาเสียงหรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งโดยสังกัดพรรคการเมืองใดๆ นั้นถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นยิ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบ การปกครองของประชาชนและโดยประชาชน ถ้าพรรคการเมืองที่สังกัดไม่ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ สมาชิกก็อาจถอนตัวไปให้การสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นที่ประชาชนไม่ศรัทธา พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่อาจดำรงอยู่ได้

3.การเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง การเลือกตั้ง หมายถึง กระบวนการที่ประชาชนเลือกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของประชาชน เมื่อยอมรับกันว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน รูปธรรมของแนวคิดนี้อาจเห็นได้จากการที่ประชาชนใช้สิทธิของตนเลือกตัวแทนหรือการผ่านทางกระบวนการเลือกตั้ง สิทธิในการเลือกตั้งจึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลแต่ละคน จะพึงได้รับในระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง ก็หาได้หมายความว่าประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตย การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญ 6 ประการ คือ

3.1) หลักการเลือกตั้งโดยอิสระ จะต้องให้บุคคลผู้ใช้สิทธิมีโอกาสใช้ดุลยพินิจเลือกผู้สมัครใดๆอย่างเต็มที่ ไม่มีการกระทำในลักษณะของการข่มขู่บังคับ จ้างวานหรือใช้อิทธิพลบีบคั้นให้บุคคลไปใช้สิทธิเลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

3.2) หลักการเลือกตั้งโดยลับ หมายความว่าผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเท่านั้นที่จะรู้ว่าลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด หลักการนี้จะช่วยสนับสนุนหลักการแรก เป็นการเปิดโอกาสไม่ให้มีการข่มขู่บังคับในการเลือกตั้ง เพราะจะไม่มีใครทราบนอกจากผู้ไปใช้สิทธิเอง แม้จะมีการข่มขู่บังคับเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไร้ผลทางการเมือง เพราะจะไม่อาจหาหลักฐานใดๆ มาพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่ถูกข่มขู่ได้ลงคะแนนเสียงไปตามนั้นหรือไม่

3.3) หลักการเลือกตั้งอย่างแท้จริง การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง เมื่อมีผู้สมัครมากก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีตัวเลือกที่หลากหลาย ผู้สมัครต่างก็มีแนวคิด มีนโยบาย ตลอดจนแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นของตนเอง ประชาชนก็จะมีโอกาสเลือกผู้แทนที่ตรงกับเจตนารมณ์ของตนมากที่สุดเข้าไปเป็นปากเสียงแทนตนเองได้ นอกจากนี้การเลือกตั้งที่แท้จริงยังต้องคำนึงถึงความบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะต้องไม่มีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆด้วย

3.4) หลักการเลือกตั้งในระยะเวลาที่กำหนด หมายถึง วาระการดำรงตำแหน่งของผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งไปทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนนั้นจะต้องแน่นอน เช่น 4 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจได้ตรวจสอบและประเมินการทำงานของผู้แทนของตนว่า มีผลงานมากน้อยเพียงไร สนองตอบต่อเจตนารมณ์ของพวกเขาได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้แทนกระตือรือร้น ที่จะปฏิบัติหน้าที่ โดยรับผิดชอบต่อประชาชนเจ้าของประเทศอย่างเต็มความสามารถ

3.5) หลักความเสมอภาค หมายความว่า คะแนนเสียงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งนั้นทุกคนจะมีค่าเท่ากับหนึ่ง หรือหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันหมดไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือมีตำแหน่งระดับใด จะไม่มีใครที่มีอภิสิทธิ์เหนือบุคคลอื่นๆ

3.6) หลักการให้สิทธิทั่วถ้วน หมายความว่า การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องไม่มีการจำกัดเพศ ไม่ว่าเพศชายหรือหญิงต่างมีความเท่าเทียมกันในสิทธิทางการเมือง และรัฐประชาธิปไตยจะต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิสามารถไปใช้สิทธิของตนเองได้ เช่น จัดให้มีหน่วยเลือกตั้งอย่างทั่วถึงทุกเขต มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้และเข้าใจถึงวัน เวลา หลักเกณฑ์ และวิธีการในการเลือกตั้ง ในประเทศประชาธิปไตยบางประเทศยินยอมให้มีการลงคะแนนเสียงทางไปรษณีย์ได้ด้วย

4.การเข้ามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
ในประเทศประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน รัฐบาลถือเป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน การบริหารงานของรัฐบาล จึงส่งผลโดยตรงต่อประชาชน การกระทำการบางอย่างของข้าราชการในฐานะที่เป็นผู้นำเอานโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือแม้แต่นโยบายเองอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิตตามปกติของบุคคลบางคนบางกลุ่มคน เหล่านี้ในฐานะเจ้าของประเทศต่างมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้

ปัจจัยที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย
ระบอบประชาธิปไตยไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง จึงจำเป็นต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่จะเป็นตัวคอยให้การสนับสนุนหรือช่วยให้ระบอบนี้ดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ

1.ระดับการศึกษาของประชาชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย คือ ในเมื่อคนในสังคมได้รับการศึกษาดี มีเหตุผล มักจะติดตามข่าวสารทางการเมือง มีความสนใจทางการเมืองและมีความรู้ความเข้าใจว่าตนเองเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม นโยบายใดๆ ที่สังคมออกมาก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อเขาโดยตรง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาดีมักจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

2.การพัฒนาเศรษฐกิจ จะพบว่าประเทศที่พัฒนานั้นจะมีระดับของความเสมอภาคทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศด้อยพัฒนาทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นผลให้สังคมมีสวัสดิการต่างๆที่ดีเช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ฯลฯ นอกจากเศรษฐกิจที่ดีมั่นคง จะช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยความสมัครใจ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการถูก ชักจูง ขู่เข็ญใดๆ และยังมีผลให้ระบอบประชาธิปไตย ดำเนินไปด้วยดี และมีเสถียรภาพด้วย

3.บุคลิกภาพแบบประชาธิปไตย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยยั่งยืนอยู่ได้ ลักษณะของบุคลิกภาพเหล่านี้คือความสนใจที่จะมีต่อกิจการบ้านเมือง เมื่อสนใจแล้วก็มีความกระตือรือร้นที่จะติดตามความเป็นไป มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล ไร้อคติ และที่สำคัญได้แก่ การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยถือเสมือนว่าเป็นหน้าที่ที่ตนจะต้องทำ หรือที่ตนจะต้องรับผิดชอบในฐานะสมาชิกผู้หนึ่งของสังคม

4.เสถียรภาพของสถาบันทางการเมือง มีส่วนช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้ามั่นคงด้วย นั่นคือ เมื่อสถาบันหรือองค์กรทางการเมืองเป็นที่ยอมรับของประชาชน ประชาชนก็จะมีความศรัทธา และจะเข้าไปเป็นสมาชิก หรือเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น เมื่อพรรคการเมืองมั่นคงสามารถแสดงออกซึ่งเจตนาของสมาชิกได้อย่างแจ่มชัด นโยบายที่ออกมาก็ได้รับการเชื่อถือและนำมาปฏิบัติ ประชาชนจะมีความศรัทธาพรรคการเมืองนั้น และเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งก็เท่ากับเป็นการเกื้อกูลให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นด้วย

5.พัฒนาการทางการปกครองและการบริหาร ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย คือการปกครองและการบริหารต้องมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน นโยบายของรัฐบาลตรงตามเจตนารมณ์และมีผลดีต่อประชาชน คือ ประชาชนได้มีโอกาส ได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการดำเนินงานอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจศรัทธาและยึดมั่นการเมืองระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น เจ้าของมีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้นไปด้วย

คุณค่าของประชาธิปไตย
1.คุณค่าต่อบุคคล ระบอบนี้ให้คุณค่าแก่บุคคล โดยมองว่าบุคคลมีเสรีภาพและเท่าเทียมในศักดิ์ศรีและความเป็นคน การที่คนจะมีเสรีภาพได้อย่างแท้จริง หมายความว่า คนจะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อื่น เพราะประชาธิปไตยเป็นรูปแบบของการปกครองที่ยึดถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และประชาชนเป็นผู้ปกครองเอง การที่ประชาชนจะปกครองตนเองได้จะต้องมีเสรีภาพอย่างแท้จริง
ประชาธิปไตยยอมรับในคุณค่าของบุคคล โดยให้เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพในการพูด เขียน และวิพากษ์วิจารณ์ด้วย เสรีภาพในทางการเมือง ได้แก่ เสรีภาพในการเลือกผู้แทนเพื่อที่จะไปทำหน้าที่หรือแสดงเจตนารมณ์แทนปวงชน และมีความเท่าเทียมกัน คือ ประชาชนแต่ละคนต่างมีคะแนนเสียง 1 เสียงไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก ส่วนเสรีภาพในการพูด เช่น วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นสิ่งควบคู่กับเสรีภาพทางการเมือง คือ ถ้ารัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกตั้ง แต่ไม่ให้ประชาชนพูด เขียนหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยเสรีแล้ว ประชาชนก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงออกให้รัฐบาลหรือรัฐสภาได้ทราบความต้องการของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาธิปไตยจะไร้ความหมาย เสรีภาพในการพูด การเขียนและการวิพากษ์วิจารณ์นี้หมายรวมถึง การที่รัฐเปิดช่องทางให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นในด้านต่างๆต่อนโยบาย ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐอีกด้วย เป็นตัวควบคุมหรือตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานได้ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ มากกว่าที่จะการะทำเพื่อผลประโยชน์คนบางคนบางกลุ่ม
2.คุณค่าต่อสังคม สังคมประชาธิปไตยนั้นเป็นสังคมที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ประชาชนเป็นผู้มีเหตุผล รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความเต็มใจที่จะประนีประนอม ผ่อนปรนให้กันและกัน มีน้ำเป็นนักกีฬา และพร้อมที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ สังคมที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย จึงได้ชื่อว่าเป็นสังคมที่มีคุณค่า เป็นสังคมที่มีน่าอยู่อาศัย

ข้อดีและข้อเสียของประชาธิปไตย

ข้อดี

1.ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค ประชาชนทุกคนมีสิทธิแห่งความเป็นคนเหมือนกันไม่ว่ายากดีมีจน เช่น สิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน ทุกคนมีเสรีภาพในการกระทำใดๆได้ หากเสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการพูด การเขียน การวิพากษ์วิจารณ์ และทุกคนมีความเสมอภาค หรือเท่าเทียมกันที่จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย มีความเสมอภาคในการประกอบอาชีพ เป็นต้น

2.ประชาชนปกครองตนเอง ประชาชนสามารถเลือกตัวแทนไปใช้อำนาจนิติบัญญัติในการออกกฎหมายมาใช้ปกครองตนเอง และเป็นรัฐบาลเพื่อใช้อำนาจบริหาร ซึ่งสามารถสนองตอบความต้องการของประชาชนส่วนรวมได้ดี เพราะผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของปวงชนย่อมรู้ความต้องการของประชาชนได้ดี

3.ประเทศมีความเจริญมั่นคง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองทำให้ประชาชนมีความพร้อมเพรียงในการปฏิบัติตามกฎ และระเบียบที่ตนกำหนดขึ้นมายอมรับในคณะผู้บริหารที่ตนเลือกขึ้นมาและประชาชนไม่มีความรู้ต่อต้าน ทำให้ประเทศมีความสงบสุขเจริญก้าวหน้าและมั่นคง

ข้อเสีย

1.ดำเนินการยาก ระบอบประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่ดี แต่การที่จัดสรรผลประโยชน์ตรงกับความต้องการประชาชนทุกคนย่อมทำไม่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นการยากที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติตามสิทธิ เสรีภาพทุกประการ ทั้งนี้เพราะวิสัยของมนุษย์ย่อมมีความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมจึงมีการกระทบกระทั่งและละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นได้

2.เสียค่าใช้จ่ายสูง การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตน การเลือกตั้งในแต่ละระดับต่างต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทั่งงบประมาณดำเนินงานชองทางราชการและค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง

3.มีความล่าช้าในการตัดสินใจ การตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ โดยผ่านขั้นตอนการอภิปราย แสดงเหตุผลและมติที่มีเหตุผลเป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ จึงต้องดำเนินตามขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้า เช่น การตรากฎหมาย ต้องดำเนินการตามลำดับขั้นตอนของวาระ อาจใช้เวลาเป็นสัปดาห์เป็นเดือน หรือบางฉบับต้องใช้เวลาเป็นปี จึงจะตราออกมาเป็นกฎหมายได้