วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา

สงครามประกาศอิสระภาพของอเมริกา (The American War of Independenc หรือ American Revolutionary War) ปี 1775 - 1783
          เนื่องจากในยุคเริ่มต้น สหรัฐอเมริกาเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ดังนั้นลักษณะโครงสร้างทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในฐานะอาณานิคมกับสหราชอาณาจักรจึงมีส่วนคล้ายคลึงกัน ระบอบการปกครองแบบรัฐผสมในสหราชอาณาจักรส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง แต่สถาบันการเมืองการปกครองอย่างเดียวกันในสหรัฐอเมริกากลับก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาและผู้ว่าการอาณานิคม อำนาจของผู้ว่าการอาณานิคมตามกฎบัตรของอาณานิคมมีมากกว่าอำนาจของฝ่ายบริหารในสหราชอาณาจักรมาก แต่ในทางปฏิบัติอำนาจทางการเมืองของผู้ว่าการอาณานิคม มักถูกจำกัดโดยเงื่อนไขที่สภานิติบัญญัติของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดขึ้น อาทิเช่น อำนาจในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เป็นต้น

จากสภาพโครงสร้างทางการเมือง และปัญหาทางสังคมในขณะนั้น จะพบว่าสภาพความเป็นไปในสหรัฐอเมริกาเป็นลักษณะของสังคมที่มีเสถียรภาพทางการเมือง แต่แฝงด้วยความวุ่นวาย ฝ่ายบริหารของสหราชอาณาจักรต้องการจะใช้อำนาจตามกฎหมายของตนอย่างเต็มที่ ประกอบกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับ และเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาลักษณะของความเป็นผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็งอย่างแท้จริง ทำให้สหราชอาณาจักรสามารถใช้อำนาจในการปกครองสหรัฐอเมริกาได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

การเมืองการปกครองในสหรัฐอเมริกาในฐานะอาณานิคม
การก่อตั้งอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเริ่มต้นด้วยการที่บริษัทเอกชนในสหราชอาณาจักรเล็งหาผลกำไรโดยการก่อตั้งอาณานิคมในโลกใหม่ขึ้นในปี ค.ศ.1607 ด้วยการส่งคนที่ไม่มีงานทำในสหราชอาณาจักร มาตั้งอาณานิคมใหม่โดยเริ่มตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติค สาเหตุสำคัญที่ชาวสหราชอาณาจักรอพยพมายังทวีปอเมริกาอาจสรุปได้ดังนี้

ประการแรก 
ความรู้สึกชาตินิยม สหราชอาณาจักรเห็นว่า จำเป็นต้องขยายอำนาจออกไปยังถิ่นแดนโพ้นทะเลเพื่อเสริมสร้างอำนาจของประเทศให้เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ขึ้น
 
ประการที่สอง 
คนยากจนในสหราชอาณาจักรมีมาก และไม่มีงานทำ ทำให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเล็งเห็นผลกำไรโดยส่งคนยากจนเหล่านี้ไปยังทวีปอเมริกาเพื่อค้นหาทองคำ และทำการเกษตรซึ่งหวังว่าจะได้กำไรตอบแทนแก่บริษัทอย่างมากมาย
 
ประการสุดท้าย 
ในศตวรรษที่ 17 สหราชอาณาจักรเกิดความวุ่นวายสับสนทั้งในวงการศาสนาและทางการเมือง โดยขณะนั้นพวกโปรเทสแทนท์ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลสหราชอาณาจักรถูกกดขี่อย่างมากจนต้องอพยพไปยังทวีปอเมริกา ประกอบกับพวก พิวริแทน (Puritan) ในสหราชอาณาจักรได้ยึดอำนาจและปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในปี ค.ศ.1649 ทำให้พวกนิยมระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลบหนีมาอาศัยอยู่ที่มลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อพระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ได้กลับขึ้นครองราชย์ในสหราชอาณาจักร พวกพิวริแทนก็พากันอพยพมาอยู่ที่บริเวณทางทิศตะวันออกของนิวอิงแลนด์ (New England) ซึ่งอยู่ทางตอนบนของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

พวกพิวริแทนต้องอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา เพราะหนีการบีบคั้นของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเรื่องการนับถือศาสนาที่มีนิกายต่างกัน แต่พวกพิวริแทนก็มิได้คิดที่จะจัดตั้งสังคมที่เปิดโอกาสให้ประชาชนยอมรับนับถือศาสนาทุกศาสนา ตามความประสงค์ของตนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับต้องการจะจัดตั้งศาสนาของตนเองขึ้นอย่างมั่นคง จนกลายเป็นสังคมที่มีลักษณะของจิตใจที่คับแคบและในที่สุดได้นำไปสู่การปกครองที่เรียกว่า เทวาธิปไตย (Theocracy) คือการปกครองโดยผู้นำทางศาสนา
 
สำหรับอาณานิคมทางตอนใต้นั้นพวกที่มาตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่คือ พวก แองกลิกัน (Anglican) ที่เดินทางมาเพื่อแสวงหาความมั่งคั่ง และการผจญภัยในดินแดนใหม่ อาณานิคมทางตอนใต้นี้พวกขุนนางประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสังคมในรูปแบบสหราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีฟาร์มขนาดใหญ่ โดยมีทาสชาวอัฟริกันผิวดำเป็นแรงงานที่สำคัญ 

ส่วนอาณานิคมทางตอนกลาง ได้แก่ มลรัฐเพนซิลวาเนีย (Pennsylvania) และมลรัฐแมรี่แลนด์ (Maryland) ซึ่งมีการปกครองค่อนข้างอิสระเสรี เพราะเป็นสังคมที่มีจิตใจกว้างขวางในเรื่องการยอมรับศาสนาอื่นๆ ให้ดำเนินกิจกรรมร่วมอยู่ในสังคมของตนได้ ซึ่งแตกต่างจากมลรัฐ นิวอิงแลนด์ (New England) และมลรัฐทางตอนใต้ที่ไม่ยอมรับศาสนาอื่นใดให้ดำเนินกิจกรรมในสังคมของตน มลรัฐเพนซิลวาเนียและมลรัฐแมรี่ แลนด์ เป็นที่ตั้งหลักแหล่งของพวกเควกเกอร์ (Quaker) และ แคธอลิค (Catholic) มลรัฐที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเมืองคือ มลรัฐ เพนซิลวาเนีย และมลรัฐ โรด ไอร์แลนด์ (Rhode Island) ซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นก่อนมลรัฐอื่นในดินแดนอาณานิคมแห่งนี้

แนวความคิดของพวก พิวริแทน ในมลรัฐ นิว อิงแลนด์ ได้ฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวอเมริกันที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน แนวความคิดทางการเมืองของพวก พิวริแทน เป็นผลมาจากหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ
1) ระบบสังคมของชาวสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 17
2) หลักคำสอนทางศาสนาของ จอห์น คาลวิน (John Calvin)
3) สภาแวดล้อมของมลรัฐนิวอิงแลนด์

ระบบสังคมของสหราชอาณาจักรในศตวรรษที่ 17 มีลักษณะแบ่งเป็นชนชั้นวรรณะ ที่มีที่ดินขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร และมีศาสนาที่มั่นคง แม้พวกพิวริแทนในนิวอิงแลนด์จะประสบความสำเร็จในเรื่องการศาสนาและสังคมในชนชั้นสูง แต่สภาพแวดล้อมใน นิวอิง-แลนด์ ก็ไม่เอื้อต่อการจัดตั้งเขตเกษตรกรรมขนาดใหญ่เพราะปัญหาด้านแรงงานที่หายากและพื้นดินไม่อุดมสมบูรณ์ การปกครองในอาณานิคมทาง นิว-อิงแลนด์ มีลักษณะเป็น เทวาธิปไตย คือ อำนาจในการปกครอง จะตกอยู่ที่ขุนนาง และผู้นำทางศาสนา

ผู้ที่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และมีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการได้ ต้องมีคุณสมบัติทางศาสนาเป็นสำคัญ  ผู้ที่เป็นสมาชิกของสังฆมณฑลเท่านั้นจึงจะได้รับการยอมรับว่าเป็น “เสรีชน” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย 

ในปี ค.ศ.1650 มีประชาชนที่เป็นเพศชายเพียง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่ได้รับสถานภาพเป็นเสรีชน พวกพระที่เป็นผู้นำทางศาสนามีบทบาทอย่างมากในกิจการสาธารณะและกิจกรรมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม วิถีประชาธิปไตยก็ได้เกิดขึ้นในสมัยแรกๆ ของพวกพิวริแทน กล่าวคือ การปกครองในวงการสงฆ์จะเป็นแบบประชาธิปไตย โดยที่แต่ละสังฆมณฑลจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐขนาดเล็กมีการเลือกตั้งเจ้าคณะและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสงฆ์ในสังฆมณฑลโดยอิสระ

ทฤษฎี สัญญาประชาคม (Social Contract) ได้ถูกนำมาเป็นแนวทางของระบอบประชาธิปไตยในอาณานิคมโดย โรเจอร์ วิลเลียมส์ (Roger Williams) ได้ยอมรับแนวความคิดนี้และใช้สนับสนุนข้อคิดของตนในการแยกรัฐ และศาสนาออกจากกัน หลักการสำคัญคือการให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา และอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน มลรัฐ โรดไอร์แลนด์ (Rhode Island) เป็นมลรัฐที่มีการปกครองที่ก้าวหน้าในหลายลักษณะ ได้แก่ การจัดให้มี การลงประชามติ (Referendum) การมีสภานิติบัญญัติเพียงสภาเดียว และการมีรัฐธรรมนูญที่มีความยืดหยุ่นสูง รวมทั้งการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในมลรัฐ คอนเนคติกัต (Connecticut) ได้กล่าวเป็นตัวอย่างแก่มลรัฐอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามในเวลาต่อมา

สถาบันการเมืองและสถาบันทางสังคมของชาวอาณานิคม
อาณานิคมของสหราชอาณาจักรแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ขึ้นอยู่กับพระมหากษัตริย์ กลุ่มที่ขึ้นอยู่กับบรรดาขุนนาง และกลุ่มที่ปกครองตนเอง โดยหลักการอำนาจในการปกครองจะมาจากการอนุญาตของพระมหากษัตริย์ แต่ละอาณานิคมจะมีการบริหารคล้ายคลึงกันคือ

1) ข้าหลวงหรือผู้ว่าการอาณานิคมได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ยกเว้นมลรัฐโรดไอร์แลนด์และมลรัฐคอนเนคติกัตที่ประชาชนเลือกผู้บริหารเอง
 
2) ผู้บริหารได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าการอาณานิคม ยกเว้นมลรัฐโรดไอร์แลนด์ มลรัฐคอนเนคติกัต และมลรัฐแมสซาจูเซทที่ประชาชนเลือกผู้บริหารเอง
 
3) ทุกอาณานิคมจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติโดยตรงจากประชาชน
 
4) ผู้พิพากษาได้รับการต่างตั้งจากพระมหากษัตริย์ ยกเว้นมลรัฐโรดไอร์แลนด์ และมลรัฐคอนเนคติกัตที่ผู้พิพากษารับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติ

การแบ่งอำนาจทางการเมืองของอาณานิคม 
การแบ่งอำนาจทางการเมืองของอาณานิคม ถูกกำหนดจากสหราชอาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ อาทิเช่น กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นต้น อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้ชาวอาณานิคมมีการพัฒนาทางการเมืองของตนขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) ปี ค.ศ.1619 มลรัฐเวอร์จิเนียได้จัดตั้งสภาผู้แทนราษฎรขึ้นเรียกว่า “Hose of Burgesses” ซึ่งเป็นสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งเป็นแห่งแรก

2) ปี ค.ศ.1620 พวกพิลกริม (Pilgrim) ที่เดินทางมายังทวีปอเมริกาได้ลงนามใน สัญญา เมย์ ฟลาวเวอร์ คอมแพคท์ (May Flower Compact) โดยให้สัตย์ปฎิญาณว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้รับเสียงข้างมากเพื่อความสงบสุขและความก้าวหน้าของอาณานิคม
 
สัญญา เมย์ ฟลาวเวอร์ คอมแพคท์ (May Flower Compact)
3) ปี ค.ศ.1693 มลรัฐคอนเนคติกัต โดยการนำของ โธมัส ฮุคเกอร์ (Thomas Hooker) ได้เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อใช้ในการปกครองอาณานิคมของตนซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของมลรัฐ

            ก่อนปี ค.ศ.1763 การเมืองการปกครองในอาณานิคม ดำเนินไปค่อนข้างราบรื่นมิได้ถูกบีบบังคับทางการเมืองมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารของอาณานิคมเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายที่ทางสหราชอาณาจักรกำหนดบังคับใช้กับชาวอาณานิคมทุกอาณานิคม แต่หลังจากปี ค.ศ. 1763 สงครามระหว่างสหราชอาณาจักร กับฝรั่งเศส และอินเดียนแดง สิ้นสุดลง ผลของสงครามทำให้ฝรั่งเศสต้องเสียดินแดนทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือให้กับสหราชอาณาจักร และรัฐบาลสหราชอาณาจักรเริ่มที่จะควบคุมอำนาจในการปกครองให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องภาระหนี้สินซึ่งรัฐบาลสหราชอาณาจักรพยายามจะหารายได้มาจุนเจือ โดยจะเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมแต่ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวาง

โดยทั่วไปแล้วจะเห็นได้จากทั้งความคิด และการกระทำของชาวอาณานิคมที่พยายามตอบโต้กับมาตรการบังคับของสหราชอาณาจักร โดยมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนและต่อเนื่องเป็นช่วงๆ โดยในแต่ละช่วงจะมีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงการประกาศอิสรภาพ สำหรับชาวอาณานิคมนั้นการที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะถืออำนาจในการจัดเก็บภาษีเพื่อประโยชน์ของตนเป็นการขัดกับ กฎบัตร (Charter) ในการจัดตั้งอาณานิคมที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาณานิคมไว้ และเป็นการละเมิดสิทธิของชาวอาณานิคม ในฐานะที่เป็นราษฎรของสหราชอาณาจักรที่ปกครองตนเองด้วยเพราะชาวอาณานิคมมิได้มีผู้แทนของตนในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร

ในบรรดาแนวความคิดสำคัญๆ ที่มีลักษณะเฉพาะของความเป็นอเมริกันอย่างเด่นชัดในช่วงนี้ ได้แก่ แนวความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้มิได้มีความหมายมากไปกว่าขนบธรรมเนียม ประเพณี และแนวทางปฏิบัติที่ได้สืบทอดต่อกันมา กล่าวคือในการจัดระเบียบสถาบันทางการเมือง ได้กำหนดให้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นแนวความคิดที่ว่ารัฐธรรมนูญคือ “กฎเกณฑ์เบื้องต้นที่ควบคุมอำนาจสูงสุดของรัฐ และเป็นสิ่งที่แม้แต่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้”

แนวความคิดสำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งพัฒนามาจากประสบการณ์ของชาวอาณานิคม ได้แก่ แนวความคิดเรื่อง อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแนวความคิดเรื่อง การมีตัวแทน (Representation) โดยสืบเนื่องมาจากข้อโต้แย้งในเรื่องอำนาจของรัฐบาลสหราชอาณาจักร กล่าวคือ ในขณะที่ฝ่ายอาณานิคมถือว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากตน เพราะมิได้เป็นผู้แทนของตนอยู่ในรัฐสภาสหราชอาณาจักรด้วยนั้น ทางสหราชอาณาจักรโต้แย้งว่าผู้แทนในรัฐสภาของสหราชอาณาจักรทำหน้าที่แทนชาวอาณานิคมอยู่แล้วในตัว โดยไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นการทำหน้าที่แทนชาวอาณานิคม (Virtual Representation

แต่สาหรับชาวอาณานิคมแล้ว การที่ผลประโยชน์ของผู้ทำหน้าที่ที่เป็นตัวแทน มิได้เป็นสิ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาวอาณานิคมยอมรับได้ คือระบบการแทนตนซึ่งทดแทนการบัญญัติกฎหมายของประชาชนโดยตรง แนวความคิดเรื่องการแทนตนของชาวอาณานิคมซึ่งอาจเปรียบได้กับระบบการมอบหมายให้บุคคลไปรักษาผลประโยชน์แทนตน (Attorney Ship) หมายถึง ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชนให้รอดพ้นการคุกคามของรัฐบาลสหราชอาณาจักร

แนวคิดที่สำคัญประการสุดท้ายคือ แนวความคิดเรื่อง สาธารณรัฐ (Republic) โดยสมัยนั้นถือว่าการปกครองแบบใดก็ตามที่มิใช่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมิได้มีกษัตริย์เป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้วถือว่าเป็นสาธารณทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นสาธารณรัฐจึงมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การมีเจ้าผู้ครองนคร ซึ่งอาจยังไม่มีฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ เป็นผู้ปกครอง ไปจนถึงการมีคณะ หรือกลุ่มบุคคล เป็นผู้ปกครอง หรือรัฐที่คนจำนวนมากมีส่วนในการตัดสินใจกับปัญหาของรัฐ ผู้นิยมการปกครองแบบสาธารณรัฐจึงไม่จำเป็นจะต้องหมายความว่าต้องการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองเสมอไป ทั้งนี้เพราะ สาธารณรัฐ กับระบอบประชาธิปไตย มีความหมายแตกต่างกัน

             
              ประเด็นข้อขัดแย้งสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติจนถึงขั้นการประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักร คือ การจัดเก็บภาษีจากชาวอาณานิคมทีไม่มีผู้แทนของตนอยู่ในรัฐสภาสหราชอาณาจักร (Taxation without Representation) ทำให้ฝ่ายอาณานิคมไม่เห็นด้วยจากการกระทำของสหราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าไม่มีผู้แทนของตนอยู่ในรัฐสภา ดังนั้น สหราชอาณาจักรจึงไม่ควรมีสิทธิเรียกเก็บภาษีจากชาวอาณานิคม 

ความขัดแย้งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การประทะกันระหว่างกองทหารของสหราชอาณาจักรกับชาวอาณานิคมที่เมือง บอสตัน ในปี ค.ศ. 1770 (Boston Massacre


หลังเหตุการณ์สงบลงชั่วคราว สหราชอาณาจักรได้บัญญัติกฎหมายซึ่งชาวอาณานิคมเรียกว่า “พระราชบัญญัติกดขี่” (The Intolereble Acts ) เพื่อลงโทษชาวบอสตันที่กระทำการแข็งข้อ ชาวอาณานิคมตอบโต้ด้วยการเรียกประชุมสภาคอนติเนนตัล สมัยที่ 1 (The First Continental Congess) ในปี ค.ศ. 1774 

การประชุมสภาคอนติเนนตัล สมัยที่ 1
อาณานิคมทุกแห่งยกเว้น มลรัฐจอร์เจีย (Geogia) ส่งตัวแทนของตนไปร่วมประชุมเพื่อรวมตัวกันต่อสู้สหราชอาณาจักรภายใต้การบังคับบัญชาของ นายพล โธมัส เกรซ (Thomas gress) ได้ปะทะกับชาวอาณานิคมที่เล็กซิงตัน (Lexington) และคองคอร์ด (Concord) ซึ่งเป็นการจุดชนวนสำคัญของการประกาศสงครามเพื่ออิสรภาพในเวลาต่อมา

          สงครามระหว่างสหราชอาณาจักร กับอาณานิคม จึงเริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1775 และในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 ผู้แทนของรัฐอาณานิคมทั้งหมดได้ลงนามร่วมกันในคำประกาศอิสรภาพ (Declaration of independence) ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากฉบับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา การสู้รบในสงครามปฏิวัติครั้งนั้นยืดเยื้อเป็นเวลาถึง 6 ปี และสิ้นสุดด้วยชัยชนะของฝ่าย อาณานิคม การเจรจาสงบศึกเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ.1782 และยุติลงโดยสหราชอาณาจักรรับรองเอกราช และอธิปไตยของรัฐอาณานิคมในการทำสนธิสัญญาสันติภาพในปี ค.ศ.1783