วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 8

สหรัฐฯกับความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทย

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในเดือนมิถุนายน 2493 ประธานาธิบดีทรูแมน ได้วางแผนปฏิบัติการลับด้วยการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารเพื่อสกัดกั้นการแผ่ของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย ( Harry Rositzke, The CIA’s Secret Operations Espionage, Counterespionage and Covert Action,(London: Westview Press, 1988), p. 174.)

โดยให้เจ้าหน้าที่การทหาร และซีไอเอ เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อพบ วิลลิส เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เพื่อประสานงานการสืบความเคลื่อนไหวของกองทัพโฮจิมินต์ในอินโดจีนร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส การพบกันครั้งนี้ เบิร์ดได้แจ้งกับตัวแทนซีไอเอว่า รัฐบาลไทยพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ขาดประสบการณ์และอุปกรณ์ แต่ผู้แทนจากสหรัฐฯ ชุดนี้ยังไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ต่อมา เบิร์ดได้จัดการให้ผู้แทนซีไอเอพบกับตัวแทนจากตำรวจ และทหารไทยเป็นการส่วนตัว เมื่อผู้แทนซีไอเอเดินทางกลับไปเจรจาการให้ความช่วยเหลือจากซีไอเอ 

ขณะนั้นไทยและสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อตกลงทางการทหาร CIA จึงได้หลบเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยในทางอ้อม ผ่านการจัดตั้งบริษัทเอกชน ชื่อ เซ้าท์อีส เอเชีย สัพพลาย(South East Asia Supplies)หรือซีสัพพลาย ที่เมืองไมอามี่ ฟลอริดา ด้วยเงินจำนวน 35,000,000 ดอลลาร์ เพื่อให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ไทยในทางลับ ( Thomas Lobe and David Morell, “Thailand’s Border Patrol Police : Paramilitary Political Power ” in Supplemental Military Forces: Reserve , Militarias, Auxiliaries Louis A. Zurcher and Gwyn Harries Jenkins (Berverly Hills and London: SAGE,1978), p.156. )

ต่อมาในปลายปี 2493 กรมตำรวจไทย ได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง พอล ไลโอเนล เอ็ดวาร์ด เฮลลิแวล (Paul Lionel Edward Helliwell) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย ณ เมืองไมอามี่ เพื่อเป็นผู้ประสานงานระหว่างซีไอเอและกรมตำรวจ  ( กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1102 - 344 - 202 - 522 - 9401 กรมอเมริกาและแปซิกฟิกใต้ กองอเมริกาเหนือ การแต่งตั้ง กงลุสใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมือง ไมอามี สหรัฐอเมริกา 2494-2522, นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 16 ธันวาคม 2493. )

พอล ไลโอเนล เอ็ดวาร์ด เฮลลิเวล อดีตโอเอสเอสในจีน เป็นคนกว้างขวาง และมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ เขามีล็อบบี้ยิสต์ที่ใกล้ชิดกับรองประธานาธิบดีจอนห์สัน ( Lyndon Baines Johnson) เช่น ทอมมี คอโคลัน (Tommy Corcoran) และเจมส์ โรว์ (James Rowe) ที่ปรึกษาของรองประธานาธิบดีจอนห์สัน (Scott, The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, p. 211)  

เขามีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่าง CIA และซีสัพพลาย กับองค์กรอาชญากรรมในการค้าฝิ่น สำนักงานใหญ่ของซีสัพพลายที่ไมอามี่ โดยมีเขาเป็นหัวหน้า และเขาเคยเป็นกงสุลไทยประจำไมอามี ตั้งแต่ 2494 เขามีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างสหรัฐฯ และไทย ทั้งนี้ระหว่างที่เขาเป็นกงสุลให้ไทยช่วง 2498-2499 เขาได้เป็นเลขานุการบริษัท American Banker’s Insurance Company ในรัฐฟลอริดาทำหน้าที่ส่งผ่านเงินจำนวน 30,000 ดอลลาร์ในการจัดหาบริษัทล็อบบี้ยิสต์ใน วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อค้าฝิ่น (Ibid., p. 211).

จากนั้น ต้นปี 2494 เบิร์ด ได้ตั้งบริษัทชื่อเดียวกันขึ้นในไทย โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทการค้าที่นำเข้า และส่งออกสินค้าเพื่อปกปิดภารกิจลับ ในทางเปิดเผยแล้วซีสัพพลายทำงานตามสัญญาให้กับรัฐบาลไทย แต่ภาระกิจที่แท้จริง คือทำหน้าที่รับขนส่งอาวุธของสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในไทยด้วยเครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์ให้แก่กองทัพก็กหมินตั๋งในจีนตอนใต้และให้การสนับสนุนตำรวจไทยในทางลับ ด้วยการจัดตั้ง การฝึกและสนับสนุนอาวุธให้กับตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน ( Scott , The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, p. 194.; Nicholas Tarling, Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, (Singapore: Singapore University Press, 2005), p.159 . )

ทั้งนี้ ซีสัพพลาย มีภารกิจคู่ขนานในไทยมี 2 ประการ ประการแรก คือ การให้ความช่วยเหลือกองพล 93 ของก็กหมินตั๋งภายใต้การนำของนายพลหลีมี่ ที่เริ่มต้นในปี 2494 ให้ทำหน้าที่โจมตี และก่อกวนกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแถบตอนใต้ของจีน โดยซีสัพพลายร่วมมือกับตำรวจไทยได้ส่งกำลังอาวุธและกำลังบำรุงให้กองพล 93 ผ่านบริษัทแคท แอร์ (Civil Air Transport :CAT หรือ Air America) ที่รับจ้างทำงานให้กับ CIA 

โดยมีตำรวจพลร่ม และตำรวจตระเวนชายแดนที่ซีสัพพลายให้การฝึกการรบแบบกองโจร ได้เข้าร่วมปฏิบัติภาระกิจร่วมกับกองพล 93 ในการแทรกเข้าซึมตามชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น หน่วยก็กหมิ๋นตั๋งที่รัฐฉานมีกำลังพล 400 คนทำหน้าที่หาข่าวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และกัมพูชา ซึ่งดำเนินการด้วยเงินราชการลับของสหรัฐฯ จำนวน 300,000 บาทต่อเดือน ( พ.อ.กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร, ทหารจีนคณะชาติ ก็กหมินตั๋ง ตกค้างทางภาคเหนือประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สยามรัตน์พริ้นติ้ง, 2546), หน้า 39-40.; พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ, 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พีวาทิน พับลิเคชั่น จำกัด, 2532), หน้า 169. )

สำหรับภาระกิจประการที่สองของซีสัพพลาย คือ การสนับสนุนตำรวจไทยนั้น เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เป็นผู้รับผิดชอบการฝึกปฏิบัติการตำรวจพลร่ม (Parachute Battalion) รุ่นแรกขึ้นที่ ค่ายเอราวัณ ลพบุรีในเดือนเมษายน 2494  ( พล.ต.ต. นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย,(กรุงเทพฯ: กองบรรณาธิการนิตยสารโล่ห์เงิน , 2530), หน้า 10.; Thomas Lobe,United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, (Monograph Series in World Affaires University of Denver,1977), p. 19 ,fn.13, P.129.; พันศักดิ์ วิญญรัตน์, “CIA ข่าวจากสกลนคร: ของฝากถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (กุมภาพันธ์ 2517): 17-18. เดือนตุลาคม 2493 มีรายงานของฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสได้ส่งปฏิบัติการลับเข้าไปในภาคอีสานของไทยเพื่อติดตามกิจกรรมของพวกเวียดมินห์ (Christopher E. Goscha, Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution, 1885-1954,[Richmond, Surrey: Curzon,1999], p. 324.; Tarling, Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, p.159.)

ต่อมา CIA ได้ส่ง ร.อ.เจมส์ แลร์ (James William Lair) และ ร.อ.เออร์เนส ชีคค์ (Ernest Jefferson Cheek) เข้ามาเป็นครูฝึกซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่ฝึกตำรวจพลร่มตามหลักสูตรการรบแบบกองโจร มีการฝึกการใช้อาวุธพิเศษ การวางระเบิดทำลาย การก่อวินาศกรรม ยุทธวิธี และการกระโดดร่ม (หจช.(3) สร. 0201.14 / 14 กล่อง 1 จ้างชาวต่างประเทศเป็นครูฝึกหัดตำรวจพลร่ม (21 ธันวาคม 2496–18 มกราคม 2502) พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 ธันวาคม 2496.; 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536),(กรุงเทพฯ: กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, 2536), หน้า 68 . 

 เจ้าหน้าที่ที่ CIA หรือซีสัพพลายส่งเข้ามาปฏิบัติงานในไทย เช่น เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ (James William Lair) สอนการใช้อาวุธ, จอห์น แอล. ฮาร์ท (John L. Hart), ปีเตอร์ โจสท์ (Pete Joost), เออร์เนส เจฟเฟอร์สัน ชีคค์ (Ernest Jefferson Cheek), วอล์เตอร์ พี. คูซมุค (Walter P. Kuzmuk) สอนการกระโดดร่ม, นายแพทย์จอห์นสัน (Dr. Johnson),พอล (Paul) , โรว ร็อกเกอร์ (Rheu Rocker) สอนกระโดดร่ม, กรีน (Gene) , ริชาร์ด ฟาน วินสกี (Richard Van Winkee) และ ชาร์ล สทีน (Charle Steen) บุคลากรเหล่านี้ เคยทำงานกับกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ มาก่อน พวกเขามีประสบการณ์มากในปฏิบัติการกึ่งทหาร ด้านการใช้อาวุธ การข่าว การบำรุงรักษาวิทยุสื่อสาร และพาหนะ การกระโดดร่ม แต่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ด้านงานตำรวจเลย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของซีสัพพลายมาจากสายลับ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ (พล.ต.ต นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย, หน้า 209.; Lobe ,United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 23).

ต่อมามีการขยายโครงการฝึกตำรวจตระเวนชายแดนอย่างเร่งด่วน ในค่ายฝึกที่อำเภอจอหอ นครราชสีมาจำนวน 7,000 คนเพื่อป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ทางอีสาน และทางใต้ของไทย ( Ibid., p.20. ต่อมาได้จัดตั้งตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 5 มีนาคม 2495 เพื่อทำหน้าที่ตรวจตราและระวังรักษาชายแดน(หจช.มท. 0201.7/17 กรมตำรวจแจ้งว่าเนื่องจากกรมตำรวจได้ตั้งกองตำรวจรักษาดินแดนขึ้นใหม่จึงขอให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 28 เมษายน 2495).

ตั้งแต่นั้นมา กรมตำรวจ และที่ปรึกษาอเมริกันที่เข้ามาในฐานะเจ้าหน้าที่ของซีสัพพลาย ได้ร่วมมือขยายค่ายฝึกในอีกหลายแห่ง เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี และเชียงใหม่ ( พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา, “บันทึกความทรงจำ,” ใน 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536), หน้า 39. )

นอกจากนี้ ซีสัพพลายได้ช่วยเหลือในการฝึกกองกำลังพลเรือนกึ่งทหารในการรบนอกแบบ การแทรกซึม และการให้อาวุธแก่ตำรวจตระเวนชายแดน เช่น ปืนคาร์ไบน์ มอร์ตา บาซูกา ระเบิดมือ อุปกรณ์การแพทย์ ต่อมาพัฒนาเป็น เป็นรถเกราะ รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ (Thomas Lobe and David Morell, “Thailand’s Border Patrol Police: Paramilitary Political Power,” in Supplemental Military Forces: Reserve, Militarias, Auxiliaries, Louis A. Zurcher and Gwyn Harries Jenkins (Berverly Hills and London: SAGE,1978), p. 157.)

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือของ CIA ที่ให้กับตำรวจนั้นเป็นความลับมาก แม้แต่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ก็ไม่รู้เรื่องความช่วยเหลือดังกล่าว ต่อมา เมื่อเขารู้เรื่องราวดังกล่าว แต่เขาก็ไม่มีอำนาจแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ได้ ความช่วยเหลือในทางลับนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเขามาก (Tarling , Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, p. 158. )

สำหรับความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐฯ แก่กองทัพไทยนั้น เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือ บุกเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 2493 นั้น กระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหมสหรัฐฯ ได้ตกลงกันในต้นเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันที่จะส่งคณะกรรมาธิการร่วม ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหม (United States Military Survey Team ) เดินทางมาสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดยมีจอห์น เอฟ. เมลบี (John F. Melby) ผู้ช่วยพิเศษของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการตะวันออกไกล และ พล.ร.อ.เกรฟ บี. เออร์สกิน (Graves B. Erskine) ผู้บังคับการกองพลนาวิกโยธินที่ 1 ค่ายเพลเดลตัน แคลิฟอร์เนีย เพื่อสำรวจสถานะทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม โดยสหรัฐฯมีแผนการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่กองทัพบกไทยด้วยอาวุธสำหรับ 9 กองพล และสำหรับกองทัพเรือ และกองทัพอากาศเป็นอาวุธ และการฝึกการทหาร (Library of Congress, Declassified CK3100360771, Memorandum For President, 10 July 1950.; กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1105-344-301-401-9301 ไทยขอความช่วยเหลือด้านวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐฯเพื่อร่วมรบในสงครามเกาหลี 2493-2494, วรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 26 กรกฎาคม 2493 )

จากนั้น รัฐบาล จอมพล ป.ได้ตอบสนองท่าทีของสหรัฐฯ ด้วยการตัดสินใจเสนอที่จะส่งทหารไทย 4,000 คนเข้าร่วมสงครามเกาหลี ( เดลิเมล์, 21 กรกฎาคม 2493 ) ท่าที่ดังกล่าวของรัฐบาลจอมพล ป.สร้างความประทับใจให้ประธานาธิบดีทรูแมน เป็นอันมาก ( Harry S. Truman, Years of Trial and Hope, 1946-1952 Vol 2., (New York: A Signet Book, 1965), p. 423. )

เมื่อคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเข้ามาสำรวจฐานทัพอากาศดอนเมือง กรมอู่ทหารเรือ และกรมทหารปืนใหญ่ ฯลฯ ในช่วง 21 สิงหาคม – 28 สิงหาคม 2493 คณะกรรมาธิการฯ ประเมินว่ากองทัพไทย เหมาะสมที่จะเข้าร่วมสงครามเกาหลี ( หจช.กต. 73.7.1/87 กล่อง 6 คณะสำรวจอเมริกันเดินทางมาประเทศไทย (2493), Stanton to Minister of Foreign Affaire, 9 August 1950.; หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี 26 กันยายน 2493. )

ต่อมาสหรัฐฯ ได้ส่งคณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางการทหารแห่งสหรัฐฯ หรือแมค (United States Military Assistance Advisory Group: MAAG) เดินทางมาถึงไทยในเดือนตุลาคม เพื่อเตรียมการทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทย และสหรัฐฯ ซึ่งต่อมา สหรัฐฯ และไทยได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเมื่อ 17 ตุลาคมปีเดียวกัน ( จันทรา บูรณฤกษ์ และปิยะนาถ บุนนาค, “เรื่อง ผลกระทบทางการเมืองจากความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐอเมริกา(พ.ศ.2463-2506)” รายงานวิจัยทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521, หน้า 152. )

ต่อมาแมค ( MAAG) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกาหรือจัสแมค (Joint United States Military Advisory Group: JUSMAG) ในเดือนกันยายน 2497

สาระสำคัญในข้อตกลง คือ สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร โดยอาวุธยุทธโธปกรณ์ทั้งหมดจะโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากสหรัฐฯ ( หจช.สร. 0201.96 / 8 กล่อง 2 ข้อตกลงเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศไทยของสหรัฐฯ (6 กันยายน 2493-28 กันยายน 2498).

ข้อตกลงทางการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯฉบับนี้มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ไทยได้ตกเข้าสู่ระเบียบโลกของสหรัฐฯ

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐฯ เห็นว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้ให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ การไม่รับรองจีนแดง และการกระตือรือร้นในการส่งทหารเข้าสงครามเกาหลีนั้น สหรัฐฯ ถือว่ารัฐบาลได้แสดงการผูกพันตนเข้ากับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเป็นการแสดงความมิตรกับสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ดังนั้น สหรัฐฯ ต้องการสร้างความแนบแน่นระหว่างกันเพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกไกลให้ดำรงอยู่ต่อไป 

แต่การเมืองไทยที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.กลับไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับการพยายามรัฐประหารบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายตามสหรัฐฯ ดังนั้น สหรัฐฯ ต้องการที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ( “Policy Statement Prepared in the Department of State, 15 October 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6,pp.1529-1530. )

ทั้งนี้ ไทมส์ (Time) ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำวิเคราะห์ว่า รัฐบาลของ จอมพล ป. ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เพื่อหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ( หจช.กต. 80 / 29 กล่อง 3 บทความเกี่ยวกับประเทศไทยในหนังสือพิมพ์, Times, 17 October 1950. )

ดังที่ได้เห็นมาแล้วว่า รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่ท่ามกลางการท้าทายอำนาจจากกลุ่มการเมืองต่างๆ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในจีน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีนโยบายขยายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปกป้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้รัฐบาล จอมพล ป.เห็นหนทางที่จะได้รับการสนับสนุนอาวุธแบบใหม่จากสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงสมรรถนะทางการทหารอันจะทำให้รัฐบาลสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้ 

แต่ในชั้นแรกนั้น สหรัฐฯ ยังคงไม่ตอบสนองต่อคำขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากไทย และเมื่อสหรัฐฯต้องการให้ไทยรับรองรัฐบาลเบาได๋ รัฐบาลได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทางการทหารของไทย อีกทั้งเมื่อรัฐบาลตัดสินใจส่งทหารไปสงครามเกาหลียิ่งสร้างความมั่นใจให้กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ เห็นว่า ตราบเท่าที่รัฐบาล จอมพลป. ยังคงสนับสนุนสหรัฐฯ ตราบนั้น สหรัฐฯยังสามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้ ( “Stanton to The Secretary of States, 19 March 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp. 1599-1601.; Coast, Some Aspects of Siamese Politics, p. 51.)

ความขัดแย้งในคณะรัฐประหารท่ามกลางการรุกของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

โครงสร้างอำนาจในคณะรัฐประหารช่วง 2490 - 2493 ตั้งอยู่บนฐานของอำนาจของ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ในฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำของค่ายราชครู และค่ายของพล ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีนายทหารบกจำนวนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนเขา โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความขัดแย้งระหว่างจอมพลผิน และพล ท.กาจได้เพิ่มขึ้น เนื่องจาก พล ท.กาจมีความต้องการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนจอมพลผิน 

เขาได้เริ่มขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และทางเศรษฐกิจเพื่อท้าทายค่ายราชครูทำให้ จอมพล ป.ต้องเล่นบทประสานความขัดแย้งระหว่างจอมพลผิน และพล ท.กาจ เสมอ ( “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 42-45, 60. )

ต่อมา พล ท.กาจ ได้พยายามโจมตี จอมพลผิน ด้วยการเขียนหนังสือชุด “สารคดีใต้ตุ่ม” เพื่อกล่าวหาว่าจอมพลผินฉ้อราษฎรบังหลวงทำให้จอมพลผินไม่พอใจในการเปิดโปงจาก พล ท.กาจ ( พล.ท.กาจ  กาจสงคราม, สารคดี เรื่อง สถานะการณ์ของผู้ลืมตัว,(พระนคร: โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2492); “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ, (พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 54.; เสียงไทย, 1 พฤศจิกายน 2492 )

ปลายเดือนสิงหาคม 2492 จอมพล ป .ต้องการให้ พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี “กลุ่มปรีดี” เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี โดยหวังว่าจะทำให้สหรัฐฯ มีความพึงพอใจในการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร และนำนักการเมือง “กลุ่มปรีดี” กลับมาสู่การเมืองเพื่อบั่นทอนอำนาจการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกขัดขวางโดย พล ท.กาจ และเขมชาติ บุณยรัตนพันธ์ เนื่องจาก กลุ่มของเขาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต้องการให้ พล ร.ต.ถวัลย์ กลับมาฟื้นฟูพรรคสหชีพ และแนวรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์อีก ซึ่งเหตุเหล่านี้จึงได้กลายเป็นชนวนความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารหรือในกองทัพบกระหว่าง จอมพล ป. ,จอมพลผิน และ พล ท.กาจ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R003300290006-5, 22 September 1949, “Communist Strategy and Tactics in Thailand”. )

ไม่แต่เพียงความแตกแยกในกองทัพบกเท่านั้น แต่การที่คณะรัฐประหารกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้กองทัพเรือ ซึ่งได้เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” ให้ขึ้นมามีอำนาจแทนกองทัพบกตกจากอำนาจลงไปอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง และพวกเขามีความต้องการที่จะท้าทายอำนาจของกองทัพบก นอกจากนี้ ในห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพบก ซึ่งเป็นฐานกำลังที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล มิพักที่จะต้องรวมถึงการต่อต้านจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ภายในระบบราชการด้วย โดย ม.จ.ปรีดีเทพพงศ์ เทวกุล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามขับไล่ นายวรการ บัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นคนสนิทของ จอมพล ป.ออกไป ด้วยทรงเห็นว่า นายวรการ บัญชาไม่มีความสามารถในด้านการต่างประเทศเท่าพระองค์ (NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R002800780003-7, 20 July 1949 , “Opposition to M.C. Pridithepong Devakul ”.)

ท่ามกลางศึกภายนอกหลายด้านของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการท้าทายรัฐบาลของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มปรีดี” (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 box 7251, Hannah to Secretary of State,“View of a Pridi Supporter on Political event in Thailand-Summary of Paper on Thai Political Development written by a Supporter of Pridi Phanomyong,” 30 December 1949 )

ซีไอเอยังคงรายงานว่า จอมพล ป. ยังคงเลือกที่จะร่วมมือกับ “กลุ่มปรีดี” ผู้เป็นมิตรเก่าของเขามากกว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” เขาได้ประกาศทางวิทยุในเดือนธันวาคม 2492 ด้วยน้ำเสียงที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะขอคืนดีกับ ปรีดี พนมยงค์ โดยสาเหตุอาจมาจาก เขาตระหนักถึงพลังทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในรัฐบาล รัฐสภา และในสังคม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่ให้อำนาจทางการเมืองแก่พระมหากษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบแก่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มากกว่ากลุ่มการเมืองอื่น ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-0108A000100020022-4, 12 December 1949 , “Phibul paves way for Pridi reconciliation ”. )

ในขณะที่ศึกภายในคณะรัฐประหารนั้นยังคงคุกรุ่นต่อไป โดย พล ท.กาจ กาจสงคราม ประกาศเป็นปรปักษ์กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ,จอมพลผิน ชุณหะวัณ และพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อย่างชัดเจน จากนั้นเขาได้ร่วมมือกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติอภิปรายเพื่อล้มรัฐบาล ( นครสาร, 1 พฤศจิกายน 2492.; NA, FO 371/76277, Thompson to Foreign Office, 6 December 1949. )

ต่อมาสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ได้เคลื่อนไหวขัดขวางการบริหารของรัฐบาลด้วยการยับยั้งร่างพระราชบัญัติบงบประมาณปี 2493 ทำให้สมาชิกคณะรัฐประหาร และอดีตคณะราษฎรบางคน เช่น พล ต.อ.เผ่าและพล ท.มังกร พรหมโยธี ไปเจรจากับ เตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทยและแกนนำสำคัญคนหนึ่งใน “กลุ่มปรีดี” เพื่อขอการสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. เตียงตัดสินใจให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ในกลุ่มของเขามีมติยืนยันการประกาศใช้งบประมาณเพื่อล้มล้างมติของสมาชิกวุฒิสภาได้สำเร็จ เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ พล ท.กาจ ขึ้นมามีอำนาจ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memoramdum of Conversation James Thompson and R.H. Bushner, 12 August 1949.; Hannah to Secretary of State, 14 December 1949. )

สำหรับความขัดแย้งระหว่างกองทัพนั้น กลางธันวาคม 2492 ซีไอเอรายงานข่าวว่า กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มีแผนการรัฐประหาร แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับทราบทำให้รัฐบาลประกาศปลด พล.อ.ท.เทวฤทธิ์ พันลึก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ 

สำหรับสาเหตุของการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ มาจากปัญหาการคอรัปชั่นของ จอมพลผิน ชุณหะวัณและจอมพล สฤษดิ์ ในการจัดซื้ออาวุธให้กองทัพหลายกรณี เช่น รถถังเบรนกิ้น ที่อื้อฉาวทำให้นายทหารในกองทัพบกจำนวนหนึ่งไม่พอใจ การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ ซีไอเอเห็นว่ามีความแตกแยกในกองทัพบก และระหว่างกองทัพด้วยเช่นกัน ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R004000600004-1, 27 December 1949, “Current Political Crisis in Thailand”.

ในรายงานฉบับนี้รายงานว่า พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส มีความเกี่ยวข้องกับการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แจ้งกับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันภายในกองทัพบกในการจัดซื้อรถถังเบรนกิ้น จำนวน 250 คันและเขามีธุรกิจการค้าฝิ่นจากรัฐฉานส่งไปขายยังฮ่องกง (NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, Memorandum of Conversation P. Phibunsonggram and Stanton, “ Corruption in Army and Government service,” 16 June 1950.; NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin, ”Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950.; FO 371/92952 Whittington to Foreign Office (Morrison), 16 April 1951). 

สถานทูตอังกฤษในไทยได้รายงานว่า รถถังเบรนกิ้นเป็นยุทโธปกรณ์ตกรุ่นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริษัทสายฟ้าแลบซึ่งเป็นบริษัทของจอมพลผิน ชุณหะวัณและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายหน้าสั่งมาจากศรีลังกา จำนวน 250 คัน แต่รถถังเหล่านี้ใช้การไม่ได้ถึง 210 คัน

เมื่อรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม รอดพ้นจากการพยายามรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองทัพลงได้ก็ตาม แต่ปัญหาที่เขาต้องดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือปัญหาความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารซึ่งเป็นฐานอำนาจที่ค้ำจุนรัฐบาลของเขานั้น ทำให้ จอมพล ป.ตัดสินใจเลือกที่จะสนับสนุนจอมพลผิน ชุณหะวัณ มากกว่า พล ท.กาจ กาจสงคราม ดังนั้น เขาสั่งการให้ พล ท.กาจยุติการให้สัมภาษณ์ เขียน และตีพิมพ์ “สารคดีใต้ตุ่ม” ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรัฐประหารแต่พล ท.กาจ ปฏิเสธ ( พิมพ์ไทย, 10 มกราคม 2492.; “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 74-75. )

เขายังคงเคลื่อนไหวเพื่อท้าทายอำนาจของ จอมพลผิน ต่อไป จากนั้นกลางดึกของ 26 มกราคม 2493 จอมพลผิน และ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้รายงานแผนการรัฐประหารของ พล ท.กาจ ต่อจอมพล ป. ในวันรุ่งขึ้น พล ท.กาจ ถูกจับกุมฐานกบฎ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล ต.อ.เผ่า ร่วมมือกันจับกุมเขา จากนั้น จอมพล ป.ได้สั่งปลด พล ท.กาจ จากรองผู้บัญชาการทหารบก และให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ ความพ่ายแพ้ของ พล ท.กาจ ทำให้ความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารลดลง ( NARA, RG 319 Entry 57, Sgd. Cowen Military Attache Bangkok to CSGID Washington D.C., 28 January 1950.; “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2493 (วิสามัญ) ชุดที่1 10 กุมภาพันธ์ 2493,” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ พ.ศ.2493 เล่ม 1,(พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2497), หน้า 1624-1627.; “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 78-82. )

ภายใต้ระบอบการเมืองที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หันมาสร้างความแข็งแกร่งของรัฐบาลของเขาในทางการเมืองผ่านสภาผู้แทนฯ ด้วยการพยายามจัดตั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลชื่อพรรคประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ( เกียรติศักดิ์, 12 มกราคม 2493.; สายกลาง, 14 มกราคม 2493. )

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภานำโดย พระยาอรรถการียนิพนธ์ หลวงประกอบนิติสาร และพระยาศรีธรรมราช วิจารณ์รัฐบาลว่า จอมพล ป.ควรลาออกจากตำแน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแทน และให้คณะรัฐประหารต้องออกไปจากการเมือง ( หลักเมือง, 17 มกราคม 2493. )

ความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวทำให้ ประเทือง ธรรมสาลี สมาชิกสภาผู้แทนฯ จังหวัดศรีษะเกษ ได้วิจารณ์บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาว่า “ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน ไม่มีประโยชน์และการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 นี้ไม่เป็นประชาธิปไตย”(เสียงไทย, 19 มกราคม 2493)

หนังสือพิมพ์ไทยขณะนั้นได้รายงานว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในหลายทางเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนั้น ทำให้ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้สั่งการให้ตำรวจสันติบาลสะกดรอยความเคลื่อนไหวของ กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ และนักการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” อย่างใกล้ชิด ( ประชาธิปไตย, 20 มกราคม 2493. )

แม้สถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” จะประสบความพ่ายแพ้ในการรักษาอำนาจให้กับรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลตัวแทนของพวกตนที่ถูกบังคับลงด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารก็ตาม แต่พวกเขายังคงประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นสถาปนิกทางการเมืองในการออกแบบระบอบการเมืองที่ทำให้พวกตนได้เปรียบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 ต่อไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้สำเร็จราชการฯ สมาชิกวุฒิสภากับ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาใหม่ 

สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ทรงพยายามรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของพวกตนในรัฐสภาเอาไว้อย่างต่อเนื่อง โดยทรงได้ตั้งบุคคลที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” กลับเข้ามาเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยมิได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้ง ที่ผ่านมา ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทรงขยายบทบาททางการเมือง ด้วยการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.เสมอๆ ด้วย 

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. เป็นอย่างมาก ต่อมาเขาจึงตอบโต้กลับด้วยการเรียกร้องว่า หากผู้สำเร็จราชการฯ ยังทรงแทรกแซงทางการเมืองผ่านรัฐสภา และรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ก็มีความต้องการที่จะเข้าร่วมประชุมคณะองคมนตรีด้วยเช่นกัน ( Bangkok Post, 18 December 1950.; NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950, ” 26 December 1950. )