วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เนลสัน มันเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela)

เนลสัน โรลิฮฺลาฮฺลา แมนเดลา (Nelson Rolihlahla Mandela)
 
แมนเดลาเกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 ที่เมืองทรานส์คีย์ ประเทศแอฟริกาใต้

ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2542 และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง ก่อนหน้าการดำรงตำแหน่งนี้ เขาได้เป็นที่รู้จักกันทั้งในและนอกประเทศในฐานะที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวตัวยงเพื่อต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ จากที่แรกเริ่มเป็นผู้เคลื่อนไหวในทางสันติ ได้กลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกาและได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่อต้านใต้ดินโดยใช้อาวุธ เช่น การก่อวินาศกรรม

ในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้นำต่างชาติที่นิยมนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้ เช่น มากาเรท เท็ตเชอร์ และโรนัลด์ เรแกน ได้ประณามกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็นการก่อการร้าย เขาถูกจำคุกเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี 

ส่วนใหญ่แล้วเป็นการถูกคุมขังในห้องขังเล็กๆ บนเกาะร็อบเบิน การถูกคุมขังนี้ได้กลายมาเป็นกรณีตัวอย่างของความอยุติธรรมของนโยบายแยกคนต่างผิวที่ถูกกล่าวถึงไปทั่ว เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2533 นโยบายประสานไมตรีที่เนลสันได้นำมาใช้ทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งประชาธิปไตย ในขณะนี้ เนลสัน แมนเดลา มีอายุกว่า 90 ปีแล้ว เป็นที่ยกย่องอย่างสูงภายในประเทศแอฟริกาใต้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส ชาวแอฟริกันจะขนานนามสมาชิกชายอาวุโสของตระกูลแมนเดลาอย่างให้เกียรติว่า มาดิบา แต่มักเจาะจงหมายถึงเนลสัน แมนเดลาเท่านั้น  

แมนเดลา ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากกว่า 250 รางวัลตลอดช่วงเวลา 4 ทศวรรษ รางวัลที่สำคัญที่สุดคือ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี พ.ศ. 2536 

ช่วงแรกของชีวิต

แมนเดลา เป็นผู้สืบทายาทสายหนึ่งของราชวงศ์เทมบู ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแคว้นทรานส์คีย์ในจังหวัดเคปของประเทศแอฟริกาใต้ เขาเกิดที่มเวโซ (Mvezo) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ในเมืองอุมตาตา เมืองหลวงของทรานส์คีย์ ปู่ทวดของเขาคือ งูเบงคูคา (Ngubengcuka) เสียชีวิตปี พ.ศ. 2375 เป็นผู้ครองแคว้นในตำแหน่ง อิงโคซี เองคูลู (Inkosi Enkhulu) หรือ "กษัตริย์" ของชาวเทมบู โอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์มีชื่อว่า แมนเดลา เป็นปู่ของเนลสัน และเป็นที่มาของนามสกุลของเขา อยางไรก็ดี เนื่องจากเขาเป็นบุตรแห่ง อิงโคซี เพียงคนเดียวที่เกิดจากภรรยาจากตระกูล อิกซิบา (หรือบ้างเรียกว่า "ราชวงศ์ฝั่งซ้าย")

ดังนั้นผู้สืบตระกูลในสายนี้จึงไม่มีสิทธิ์สืบทอดราชบัลลังก์ของเทมบู บิดาของแมนเดลาคือ กัดลา เฮนรี มพาคันยิสวา (Gadla Henry Mphakanyiswa) มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านมเวโซ แต่ในช่วงที่ประเทศตกเป็นอาณานิคม เขาถูกยึดตำแหน่งไปและขับไล่ให้ไปอยู่ที่ควูนู 

อย่างไรก็ดี มพาคันยิสวายังคงเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของ อิงโคซี อยู่ มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือจองกินตาบา ดาลินเยโบ (Jongintaba Dalindyebo) ให้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของเทมบู 

ดาลินเยโบผู้นี้ต่อมาได้ให้การช่วยเหลือตอบแทนโดยรับตัวแมนเดลาเอาไว้ในอุปถัมภ์หลังจากที่มพาคันยิสวาเสียชีวิต บิดาของแมนเดลามีภรรยา 4 คน และมีบุตรทั้งสิ้น 13 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 9 คน แมนเดลาเป็นบุตรที่เกิดจาก โนซีคีนี แฟนนี ภรรยาคนที่สาม (ตามลำดับอันซับซ้อนของทางราชวงศ์) แฟนนีเป็นบุตรสาวของนเคดามาแห่งตระกูลมเพมวู ธอห์ซา ซึ่งเป็นราชวงศ์ฝั่งขวา เป็นที่ซึ่งแมนเดลาเจริญเติบโตขึ้นชื่อจริงของแมนเดลาคือ โรลีห์ลาห์ลา มีความหมายว่า "ดึงกิ่งก้านของต้นไม้" หรือเรียกอย่างเป็นกันเองว่า "เจ้าตัวยุ่ง" โรลีห์ลาห์ลา แมนเดลา เป็นสมาชิกราชวงศ์คนแรกที่ได้ไปโรงเรียน ครูของเขาคือนางสาวมดินกานี (Mdingane) เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า "เนลสัน"

เมื่ออายุ​ได้ 5 ขวบ ​เนลสัน​ก็​เริ่ม​ทำงานช่วยครอบครัวด้วย​การต้อนฝูงสัตว์​ไปกินหญ้า​ในท้องทุ่ง อาหารหลักของ​เขาคือ ข้าว​โพด ถั่ว ฟักทอง ​และปลา ผ้าที่นุ่งอยู่ทุก​เมื่อ​เชื่อวันคือ ผ้าห่มที่คลุม​ไหล่​แล้วขมวดปม​ไว้ที่​เอว ​เด็กชายชาว​เอ็ม​เว​โซจะชอบ​เล่นกีฬาประลองกำลัง​โดย​ใช้​ไม้มาฟัน​แทนดาบ ​ไม่​ก็​ไถลลื่นลงมาตาม​ไหล่​เขา ​โดย​ใช้​ใบของว่านหางจระ​เข้รองก้น ส่วนงานอดิ​เรกที่นิยม​ทำมากที่สุด​ก็คือ ​การปั้นวัวปั้นควาย​โดย​ใช้ดิน​เหนียวที่ควักมาจากลานบ้าน​เป็นวัสดุ นั่นคือวิถีชีวิตพื้นบ้านที่​เนลสันซึมซับมาตั้ง​แต่อ้อน​แต่ออก

เมื่อเนลสันอายุได้ 9 ปี พ่อของเขาเสียชีวิตด้วยวัณโรค และทางราชสำนักของจองกินตาบาได้รับเขาไว้ในอุปถัมภ์เนลสันได้เข้าโรงเรียน ศาสนาของนิกายเวซเลียนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพระราชวัง ตามประเพณีของชาวเทมบู 

เขาต้องผ่านพิธีศักดิ์สิทธิ์เมื่ออายุ 16 ปี จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อที่ Clarkebury Boarding Instituteและสำเร็จอนุปริญญาในเวลาเพียง 2 ปีขณะที่หลักสูตรปกติต้องใช้เวลา 3 ปี เนลสันเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาส่วนพระองค์แทนตำแหน่งของบิดา ปี พ.ศ. 2480 เนลสันย้ายไปเมืองเฮลด์ทาวน์และเข้าเรียนในวิทยาลัยเวซเลียนที่ฟอร์ตโบฟอร์ต อันเป็นที่ซึ่งราชวงศ์เทมบูส่วนมากพำนักอยู่ เมื่ออายุได้ 19 ปี เขาเริ่มสนใจการชกมวยและการวิ่งแข่งที่โรงเรียน หลังจากจบการศึกษา เนลสันเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฟอร์ตแฮร์ ที่ซึ่งเขาได้พบกับโอลิเวอร์ แทมโบ

แทมโบกับเนลสันได้เป็นเพื่อนร่วมงานและเพื่อนสนิทกันไปตลอดชีวิต เนลสันยังได้เป็นเพื่อนสนิทกับญาติคนหนึ่งชื่อ ไคเซอร์ (Kaiser "K.D.") มาตันซิมา ซึ่งเป็นทายาทของราชวงศ์เทมบูฝั่งขวา และอยู่ในฐานะผู้สืบทอดแคว้นทรานส์คีย์ ด้วยตำแหน่งนี้ทำให้เขาเข้าไปเกี่ยวพันกับนโยบาย Bantustan ( นโยบายแยกคนต่างผิวในแอฟริกาใต้ )

นโยบายแยกคนต่างผิวในแอฟริกาใต้ (Apartheid) เป็นระบบการแบ่งแยกกลุ่มคนต่างเชื้อชาติในประเทศแอฟริกาใต้ออกจากกัน บังคับใช้โดยรัฐบาลของพรรค National Party ในประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างปี พ.ศ.2491 - 2537

การแบ่งแยกคนต่างเชื้อชาติในประเทศแอฟริกาใต้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม แต่การกำหนดเป็นนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันนี้ได้เป็นนโยบายของรัฐหลังจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2491 โดยการแบ่งแยกพลเมืองในประเทศออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่ พวกผิวดำ ผิวขาว ผิวสี และพวกอินเดีย ที่อยู่อาศัยของประชาชนจะต้องจัดแบ่งแยกกันและถูกบังคับให้โยกย้าย ชนผิวดำถูกกีดกันออกจากสถานะความเป็นพลเมือง ราวหนึ่งในสิบแยกตัวออกไปปกครองตนเอง เรียกว่าพวก Bantustan ในจำนวนนี้มีการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ 4 แห่ง การแบ่งแยกของรัฐบาลรวมไปถึงการกำหนดการศึกษา การรักษาพยาบาล บริการสาธารณะต่างๆ โดยที่คนผิวดำจะได้รับบริการที่ด้อยกว่าคนผิวขาว

การแบ่งแยกผิวนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง กลายเป็นการลุกฮือ ประท้วง และต่อต้านติดต่อกันจำนวนมาก ซึ่งถูกรัฐบาลสั่งปราบปรามและจำคุกบรรดาผู้นำขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกผิวนี้เป็นจำนวนมาก ยิ่งการต่อต้านแผ่กระจายวงกว้างออกไปและรุนแรงขึ้นเพียงใด ฝ่ายปกครองก็ยิ่งตอบโต้ด้วยการกดดันและใช้กำลังรุนแรงมากขึ้นปานนั้น

การปราบปรามการต่อต้านการเหยียดผิวเริ่มอ่อนแรงลงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดี เฟรเดอริก วิลเลม เดอ เคลิร์ก จึงได้เริ่มการเจรจาเพื่อยุติปัญหาการเหยียดผิว ต่อมาได้มีการเลือกตั้งแบบหลากชนชาติภายใต้ระบบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 ซึ่งผู้ชนะการเลือกตั้งคือพรรค African National Congress โดยการนำของ เนลสัน แมนเดลา

การที่เขาให้การสนับสนุนนโยบายนี้ทำให้เขากับเนลสันมีความคิดเห็นทางการเมืองขัดแย้งกันเมื่อเนลสันเรียนจบชั้นปีที่หนึ่ง เขาได้เข้าร่วมในสภาผู้แทนนักศึกษา (Students' Representative Council หรือ SRC) เดินขบวนต่อต้านนโยบายของมหาวิทยาลัย จนถูกไล่ออกและไม่ให้กลับมาอีก นอกจากจะยอมรับนโยบายของทางมหาวิทยาลัย 

เนลจึงหันไปศึกษาปริญญาตรีด้านกฎหมายหลักสูตรทางไกลกับมหาวิทยาลัยลอนดอน หลังจากออกจากฟอร์ตแฮร์ไม่นาน กษัตริย์จองกินตาบาก็ประกาศจัดการแต่งงานให้กับเนลสันและจัสติส (ราชโอรสและรัชทายาทผู้สืบทอดบัลลังก์) เด็กหนุ่มทั้งสองไม่พอใจกับเรื่องนี้มาก จึงหนีออกไปยังเมืองโยฮันเนสเบิร์กเมื่อไปถึงที่นั่น เนลสันได้เริ่มทำงานเป็นยามเฝ้าเหมืองแต่ต่อมาไม่นานก็ถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างทราบมาว่าเขาเป็นสมาชิกราชวงศ์ที่หนีมา 

หลังจากนั้นมันเดลาได้เข้าทำงานเป็นเสมียนตรวจเอกสารในสำนักงานทนายความแห่งหนึ่งในโยฮันเนสเบิร์กที่มีชื่อว่า Witkin, Sidelsky and Edelman โดยอาศัยเส้นสายของเพื่อนและพี่เลี้ยง คือ วอลเตอร์ ซิซูลู ขณะกำลังทำงานที่นี่ เนลสันสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแห่งแอฟริกาใต้โดยการเรียนทางไกล จากนั้นเขาศึกษาต่อทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิตวอเตอร์สรันด์ ซึ่งเป็นที่ที่เขาได้พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์มากมายที่ต่อมาได้ร่วมขบวนการต่อต้านการเหยียดผิว เช่น โจ สโลโว, แฮร์รี่ ชวาร์ซ และ รูธ เฟิสต์ ระหว่างเวลานี้ เนลสัน อาศัยอยู่ที่เมืองอเล็กซานดรา ทางตอนเหนือของโยฮันเนสเบิร์ก

กิจกรรมทางการเมือง

หลังจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2491 ชัยชนะได้ตกเป็นของพรรคชาตินิยม (National Party) ซึ่งสนับสนุนนโยบายการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง เนลสันเริ่มต้นเข้าร่วมมีบทบาททางการเมือง เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในโครงการรณรงค์ต่อต้านของสมัชชาแห่งชาติแอฟริกัน (เอเอ็นซี) ในปี พ.ศ. 2495 และเข้าร่วมสมัชชาประชาชนในปี พ.ศ. 2498 ซึ่งมีหลักการพื้นฐานในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว

ระหว่างเวลานี้ เนลสัน กับเพื่อนนักกฎหมายคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ได้เปิดสำนักกฎหมาย Mandela and Tambo ขึ้น โดยให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ชนผิวดำผู้ด้อยโอกาสโดยไม่คิดราคาหรือด้วยราคาต่ำ 

ผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดของเนลสันอย่างมากคือ มหาตมา คานธี ในเวลาต่อมาได้กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ เนลสันเริ่มต้นจากการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลโดยวิธีไม่ใช้ความรุนแรง แต่เขากับเพื่อนร่วมขบวนการกว่า 150 คนถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ในข้อหากบฎ การไต่สวนคดีกบฎคราวนี้กินเวลายาวนานมากตั้งแต่ พ.ศ. 2499-2504 และสิ้นสุดลงโดยที่จำเลยทั้งหมดไม่มีความผิด

ในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2495 - 2502ได้เกิดการก่อตั้งขบวนการคนผิวดำกลุ่มใหม่ขึ้นเรียกว่า "กลุ่มนิยมแอฟริกัน" (Africanist) ขึ้นมาขัดขวางขบวนการเอเอ็นซีเดิม โดยเรียกร้องให้ทำการตอบโต้รัฐบาลของพรรคชาตินิยมอย่างรุนแรงขึ้น

ผู้นำเอเอ็นซีในยุคนั้นภายใต้การนำของ อัลเบิร์ต ลูธูลี โอลิเวอร์ แทมโบ และ วอลเตอร์ ซิซูลู รู้สึกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกันนั้นรุกหน้าเร็วเกินไป ทั้งยังบังอาจท้าทายอำนาจของพวกเขาด้วยทางกลุ่มผู้นำของเอเอ็นซีได้รับการ สนับสนุนจากพันธมิตรหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มชนผิวขาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มคนผิวสี(ลูกผสม) และพรรคการเมืองในอินเดีย 

ซึ่งเป็นการพยายามสร้างภาพพจน์ให้เหนือกว่ากลุ่มนิยมแอฟริกันในปี พ.ศ. 2498 กลุ่มเอเอ็นซีถูกฉีกหน้าในที่ประชุม Freedom Charter Kliptown Conference โดยได้รับเพียงเสียงโหวตเดียวจากที่ประชุมกลุ่มพันธมิตร ด้วยในจำนวนเลขาธิการกลุ่มพันธมิตรทั้งห้ากลุ่มนั้นมีถึง 4 คนที่มีสัมพันธ์อย่างลับๆ กับพรรคเกิดใหม่ คือ พรรคคอมมิวนิสต์แอฟริกาใต้ (South African Communist Party; SACP) ซึ่งเป็นมิตรแข็งแรงอยู่กับทางฝ่ายมอสโก 

เมื่อถึงปี พ.ศ. 2502 ขบวนการเอเอ็นซีสูญเสียการสนับสนุนทางยุทโธปกรณ์ ขณะที่กลุ่มนิยมแอฟริกันภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากกานาและการสนับสนุนทางการเมืองอย่างเด่นชัดจากชนเผ่าบาโซโธซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ที่ทรานส์วาลล์ได้แยกตัวออกไปเป็นกลุ่มแพนแอฟริกันนิสต์คองเกรส (Pan Africanist Congress; PAC) ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต โซบูเคว และ โพตลาโค เลบัลโล

กิจกรรมต่อต้านการเหยียดผิว

ในปี พ.ศ. 2504 แมนเดลาได้ร่วมริเริ่มและเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซี เรียกชื่อว่า Umkhonto we Sizwe (หมายถึง หอกแห่งชาติ บ้างเรียกย่อว่า MK) เขาจัดการให้มีการลอบวางระเบิดสถานที่สำคัญทางราชการและทางทหารหลายแห่งและใช้แผนการรบแบบกองโจรถ้าการลอบวางระเบิดล้มเหลว เพื่อให้ยุติการแบ่งแยกสีผิว เขายังจัดการระดมทุนให้กองกำลัง MK และทำการฝึกฝนทางทหารให้กลุ่มควบคู่กันไป สมาชิกเอเอ็นซีคนหนึ่งคือ โวลฟี คาเดช เล่าถึงโครงการรณรงค์วางระเบิดที่นำโดยเนลสันว่า

"ตอนที่รู้ว่าเราจะเริ่มลงมือในวันที่ 16 ธันวาคม 2504 โดยจะระเบิดสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งแยกผิว เช่น สถานีโดยสาร ศาลปกครองท้องถิ่น และอะไรจำพวกนั้น... ที่ทำการไปรษณีย์ และ.. ที่ทำการรัฐบาล แต่เราต้องทำอย่างระวังเพื่อไม่ให้มีใครได้รับบาดเจ็บ ต้องไม่มีใครเสียชีวิต" 

แมนเดลาพูดถึงโวลฟีว่า "ความรู้เรื่องการสู้รบและประสบการณ์ต่อสู้มือเปล่าของเขาจะช่วยฉันได้อย่างมาก" 

แมนเดลาพูดถึงการยกระดับการต่อต้านไปสู่การใช้กำลังอาวุธนี้เป็นมาตรการสุดท้ายเนื่องจากรัฐบาลได้เพิ่มความรุนแรงในการปราบปรามมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาซึ่งทำให้เขาคิดว่าการประท้วงคัดค้านการเหยียดผิวแบบสันติไม่สามารถและไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ 

ต่อมาราวปี พ.ศ. 2523 - 2532 หน่วย MK ทำสงครามกองโจรกับนโยบายแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรงจนมีพลเรือนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก มันเดลายอมรับกับเอเอ็นซีในภายหลังว่า ในการทำสงครามต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกลับกลายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เขาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนในการที่คนในพรรคบางคนพยายามเอาเนื้อความที่ยืนยันความจริงข้อนี้ออกไปเสียจากรายงานของกรรมาธิการสืบสวนข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (Truth and Reconciliation Commission) 

ตราบถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 มันเดลาและสมาชิกพรรคเอเอ็นซีเป็นบุคคลต้องห้ามในการเดินทางเข้าสหรัฐ อเมริกา - เว้นแต่เพียงสำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติที่แมนฮัตตัน - เนื่องมาจากการเป็นผู้ก่อการร้ายในการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้

การไต่สวนริโวเนีย

วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2505 มันเดลาถูกจับหลังจากหลบหนีอยู่นาน 17 เดือน และถูกจำคุกที่เรือนจำโยฮันเนสเบิร์กฟอร์ต เนื่องจากหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลแก่ตำรวจความมั่นคงถึงถิ่นที่อยู่และการปลอมแปลงตัวของเขา 

สามวันต่อมาจึงมีการประกาศข้อกล่าวหาแก่เขาต่อหน้าศาลว่าเป็นผู้นำขบวนการประท้วงของคนงานในปี พ.ศ. 2504 และทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวาย วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 มันเดลาถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 

สองปีต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 คณะลูกขุนจึงได้ข้อสรุปโดยประเมินจากความสัมพันธ์ของเขากับขบวนการเอเอ็นซี ขณะที่มันเดลาติดคุกทางตำรวจก็สามารถจับกุมผู้นำคนสำคัญๆ ของเอเอ็นซีได้อีกที่ฟาร์มลิลลี่ส์ลิฟ ริโวเนีย ทางตอนเหนือของโยฮันเนสเบิร์ก  

11 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 มันเดลาถูกกล่าวหาอีกครั้งในการไต่สวนริโวเนียโดยหัวหน้าอัยการ ดร. เพอร์ซี ยูทาร์ ด้วยความผิดอุกฉกรรจ์ฐานการก่อการร้าย (ซึ่งมันเดลายอมสารภาพ) และอาชญากรรมอื่นๆ อันเปรียบได้กับการเป็นกบฎ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้อย่างง่ายดาย ข้อกล่าวหาที่สองนี้ยังรวมถึงการที่ฝ่ายจำเลยพยายามชักนำการรุกรานจากภายนอก มาสู่แอฟริกาใต้ ซึ่งมันเดลาปฏิเสธ 

มันเดลาได้ขึ้นให้การในคอกจำเลยเมื่อตอนเปิดการไต่สวนในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2507 ที่ศาลพรีโทเรียสุพรีม เขาได้ตีแผ่เหตุผลที่กลุ่มเอเอ็นซีจำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรุนแรง คำให้การของเขาเผยว่ากลุ่มเอเอ็นซีได้พยายามใช้สันติวิธีเพื่อต่อต้านการ แบ่งแยกสีผิวมาเป็นเวลานานหลายปีจนกระทั่งถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ชาร์เพวิลล์

จากเหตุการณ์นี้ร่วมกับการลงคะแนนเพื่อจัดตั้งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ การประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศและการสั่งแบนกลุ่มเอเอ็นซี ทำให้พวกเขาเหลือทางเลือกแต่เพียงการต่อต้านด้วยการลอบวางระเบิด 

เพราะการเลือกทำวิธีอื่นใดนอกไปจากนี้จะเป็นเสมือนการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข มันเดลายังคงอธิบายต่อไปอีกว่าพวกเขาได้ก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธ Umkhonto we Sizwe ขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2504 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายจะชี้ให้เห็นความล้มเหลวของนโยบายของพรรคชาตินิยม หลังจากที่เศรษฐกิจในประเทศต้องถูกขู่เข็ญด้วยความไม่เต็มใจของนักลงทุนต่างชาติในการต้องเสี่ยงลงทุนในประเทศ 

เขาปิดการให้การด้วยถ้อยคำต่อไปนี้ “ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ได้อุทิศตัวเองแก่การต่อสู้เพื่อประชาชนแอฟริกัน ข้าพเจ้าต่อต้านผู้ปกครองผิวขาว และก็ต่อต้านผู้ปกครองผิวดำ ข้าพเจ้ายินดีต่อประชาธิปไตยอันเป็นอุดมคติและสังคมอันเสรี ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าสามารถอยู่ด้วยกันอย่างสันติและด้วยความเสมอภาค นี่คืออุดมคติอันข้าพเจ้าหวังจะมีชีวิตอยู่ให้ถึง แต่หากจำเป็น ข้าพเจ้าก็พร้อมจะตายเพื่ออุดมคตินี้” 

จำเลยในการไต่สวนคราวนี้รวมไปถึง แบรม ฟิสเชอร์, เวอร์นอน เบอร์รังกี, แฮร์รี่ ชวาร์ซ, โจเอล จอฟฟี, อาร์เทอร์ ชาสคัลสัน และ จอร์จ บิโซสฮาโรลด์ แฮนสัน ได้เข้ามาเป็นทนายแก้ต่างให้ในภายหลังเพื่อขอลดหย่อนโทษ 

ทุกคนถูกตัดสินว่ามีความผิด ยกเว้นเพียง รัสตี้ เบิร์นสไตน์ พวกเขารอดจากโทษประหารชีวิตไปได้แต่ก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตตั้งแต่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ข้อกล่าวหาในคดีนี้ยังรวมไปถึงการวางแผนโดยใช้อาวุธ และอีกสี่คดีเกี่ยวกับการลอบวางระเบิด ซึ่งมันเดลาให้การยอมรับ และการสมคบคิดกับต่างชาติเพื่อรุกรานแอฟริกาใต้ ซึ่งมันเดลาให้การปฏิเสธ

การถูกคุมขัง

เนลสัน มันเดลา ถูกจำคุกที่เกาะร็อบเบินเป็นเวลา 18 ปี จากจำนวนการติดคุกทั้งสิ้น 27 ปี ขณะอยู่ในคุก ชื่อเสียงของเขาก็เพิ่มพูนมากขึ้นและกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะ ผู้นำชนผิวดำคนสำคัญที่สุดในแอฟริกาใต้ 

ห้องขังของเนลสัน มันเดลา บนเกาะร็อบเบิน
ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้นเขาต้องทำงานบนเกาะโดยการขุดเหมืองหินปูนกฎภายในคุกนี้มีง่าย ๆ นักโทษจะแบ่งเป็นกลุ่มๆ ตามเชื้อชาติ โดยที่นักโทษผิวดำจะได้รับปันส่วนอาหารในสัดส่วนน้อยที่สุด 

แต่นักโทษการเมืองจะถูกแยกออกจากนักโทษอาชญากรรมทั่วไปและถือเป็นชั้นต่ำที่สุดยิ่งกว่านักโทษทั้งหมดซึ่งเรียกว่า "นักโทษกลุ่ม D" มันเดลาได้อธิบายว่า ทุกๆ 6 เดือน เขาจะได้รับอนุญาตให้มีคนมาเยี่ยมได้หนึ่งคน และจดหมายหนึ่งฉบับเท่านั้น และเมื่อได้รับจดหมาย การส่งนั้นก็มักจะล่าช้าไปเป็นเวลานานมาก และยังถูกเซ็นเซอร์เสียจนแทบอ่านไม่ได้ ขณะอยู่ในคุก มันเดลาได้เรียนต่อกับมหาวิทยาลัยลอนดอนผ่านหลักสูตรทางไกล และได้รับปริญญาตรีสาขากฎหมาย ในภายหลังเขาได้รับเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยลอนดอนใน การคัดเลือกปี พ.ศ. 2524 แต่ก็แพ้ให้แก่เจ้าฟ้าหญิงแอนน์

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประธานาธิบดี พี.ดับเบิลยู. โบทา ได้เสนอเงื่อนไขในการปล่อยตัวมันเดลาให้เป็นอิสระ โดยให้ยกเลิกการต่อสู้โดยใช้อาวุธ โคตซีกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ล้วนคัดค้านโบทาเรื่องนี้ โดยกล่าวว่ามันเดลาไม่มีวันจะยินยอมให้ขบวนการของเขาปลดอาวุธเพื่อแลกกับ อิสรภาพส่วนตัว มันเดลาปฏิเสธข้อเสนอนี้อย่างไม่ไยดี และยังออกแถลงการณ์ผ่านบุตรสาวของเขา ซินด์ซี โดยกล่าวว่า "ฉันจะได้อิสรภาพแบบใดกันขณะที่องค์กรแห่งผองชนยังถูกย่ำยี? มีแต่เสรีชนเท่านั้นที่จะเจรจาได้ นักโทษไม่อาจทำสัญญาใดๆ ได้"  

การพบปะครั้งแรกระหว่างมันเดลา กับรัฐบาลพรรคชาตินิยมเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เมื่อโคบี โคตซี พบกับมันเดลาที่โรงพยาบาลโฟล์คสในเคปทาวน์

ขณะที่มันเดลาต้องไปรับการผ่าตัดต่อมลูกหมากที่นั่น ตลอดเวลาสี่ปีต่อมาก็มีการพบปะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายกันอีกหลายครั้ง เป็นพื้นฐานของการติดต่อและเจรจาต่อรองในลำดับถัดๆ ไป แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอย่างจริงจังมากนัก 

ตลอดช่วงเวลาที่มันเดลาติดอยู่ในคุก มีแรงกดดันทั้งในท้องถิ่นและจากนานาชาติต่อรัฐบาลแอฟริกาใต้เพื่อให้ปล่อยตัวเขา ภายใต้คำขวัญที่ว่า Free Nelson Mandela! เมื่อถึงปี พ.ศ. 2532 ประเทศแอฟริกาใต้ก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อประธานาธิบดีโบทาป่วยหนักและถูกแทนที่ด้วย เฟรเดอริค วิลเลม เดอ เคลิร์ก เดอ เคลิร์ก ได้ประกาศปล่อยตัวมันเดลาเป็นอิสระในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533

การปล่อยตัว

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ประธานาธิบดี เอฟ. ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์กยกเลิกประกาศแบนขบวนการเอเอ็นซีและองค์กรต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวกลุ่มอื่นๆ และประกาศว่ามันเดลาจะได้รับการปล่อยตัวจากคุกในไม่ช้า 

มันเดลาได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำวิกเตอร์ เวอร์สเตอร์ ที่พาอาร์ล (Paarl) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ซึ่งเหตุการณ์นั้นมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ในวันที่ได้รับการปล่อยตัว มันเดลาได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ เขาประกาศเจตนารมณ์ในการแสวงหาสันติภาพและการประนีประนอมกับชนผิวขาวกลุ่มน้อยในประเทศ แต่ก็ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่ากองกำลังติดอาวุธของเอเอ็นซีจะยังคงอยู่ เขายังกล่าวอีกว่าเป้าหมายหลักของเขาคือการนำสันติภาพมาสู่ชนผิวดำพื้นเมืองซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ และให้สิทธิ์แก่คนเหล่านี้ในการออกเสียงทั้งในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

การเจรจาต่อรอง

หลังจากที่มันเดลาได้รับการปล่อยตัวจากคุก เขาได้กลับมาเป็นผู้นำพรรคเอเอ็นซีระหว่างปี พ.ศ. 2533-2537 และนำพรรคเข้าสู่การเจรจาร่วมหลายพรรค ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งหลายชนชาติเป็นครั้งแรกของประเทศ ปี พ.ศ. 2534 พรรคเอเอ็นซีได้จัดการประชุมระดับชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในแอฟริกาใต้หลังจากได้รับประกาศยกเลิกการแบนแล้ว และเลือกให้มันเดลาขึ้นเป็นประธานขององค์กร เพื่อนและสหายเก่าของเขาคือ โอลิเวอร์ แทมโบ ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการภายใต้การลี้ภัยมาตลอดเวลาที่มันเดลาอยู่ในคุกก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นท่านประธานแห่งชาติ (National Chairperson)

เฟรเดริก เดอ เคลิร์ก กับเนลสัน มันเดลา
ในการประชุมประจำปี World Economic Forum พ.ศ. 2535
บทบาทการเป็นผู้นำของมันเดลาในการเจรจาร่วมกันกับประธานาธิบดี เอฟ.ดับเบิลยู. เดอ เคลิร์ก เป็นที่ประจักษ์อย่างโดดเด่น และทำให้ทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันในปี พ.ศ. 2536 อย่างไรก็ดี สัมพันธภาพระหว่างคนทั้งสองในบางคราวก็ค่อนข้างตึงเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแลกหมัดครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2534 ซึ่งเขาเอ่ยถึงเดอ เคลิร์ก อย่างดุเดือดว่าเป็นหัวโจกของ "รัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่มีความน่าเชื่อถือ และนอกกฎหมาย" 

การเจรจาแตกหักนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่บัวปาตง

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 มันเดลานำพรรคเอเอ็นซีออกจากการเจรจาและกล่าวหารัฐบาลของเดอ เคลิร์ก ว่าสมรู้ร่วมคิดกับการสังหารหมู่ครั้งนี้แต่การเจรจาก็ได้หวนมาดำเนินสืบต่อหลังจากการสังหารหมู่ที่บิโชในเดือนกันยายน พ.ศ. 2535 เมื่อเหตุการณ์ส่อให้เห็นว่ามีแต่เพียงการเจรจากันเท่านั้นจะหลีกเลี่ยงการประจันหน้าที่รุนแรงลงไปได้ หลังจากการลอบสังหารผู้นำพรรคเอเอ็นซี คริส ฮานิในเดือนเมษายน พ.ศ. 2536 ก็มีภัยชนิดใหม่เกิดขึ้นที่อาจนำประเทศไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง

มันเดลาได้กล่าวอ้อนวอนขอให้ ประเทศอยู่ในความสงบ ในสุนทรพจน์คราวนั้นเรียกกันว่าเป็นสุนทรพจน์ "ของประธานาธิบดี" แม้ว่าเวลานั้นเขาจะยังไม่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ “คืนนี้ข้าพเจ้าขอกล่าวแก่ชาวแอฟริกาใต้ทุกๆ คน ทั้งผิวดำหรือผิวขาว จากส่วนลึกแห่งจิตใจของข้าพเจ้าโดยแท้ ชายผิวขาวคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยอคติ และความเกลียดชังได้มาถึงประเทศของเราและทำสิ่งที่เลวร้ายเหลือทนต่อประเทศของเรา ทำให้เรากำลังอยู่บนขอบอันหมิ่นเหม่ของหายนะ หญิงผิวขาวคนหนึ่งผู้มีกำเนิดเป็นชาวแอฟริกัน ได้เสี่ยงชีวิตของเธอเพื่อให้เราได้ตระหนักถึงการลอบสังหารนี้ และนำมาซึ่งความยุติธรรม ฆาตกรเลือดเย็นผู้สังหารคริส ฮานิ ได้ส่งคลื่นแห่งความอกสั่นขวัญหายแผ่ออกไปทั่วทั้งประเทศและทั่วโลก

... บัดนี้เป็นเวลาที่ชาวแอฟริกันทุกคนจะต้องยืนขึ้นอย่างพร้อมเพรียง เพื่อต่อต้านผู้ที่หมายจะทำลายในสิ่งที่ คริส ฮานิ ได้สละชีวิตอุทิศให้ นั่นคือเสรีภาพของพวกเราทุกคน มีการจลาจลย่อมๆ เกิดขึ้นหลายครั้งหลังการลอบสังหาร ผู้มีส่วนร่วมในการเจรจาทุกฝ่ายถูกกระตุ้นให้ต้องรีบลงมือปฏิบัติเสียทีไม่นานก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะมีการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 หนึ่งปีหลังจากการลอบสังหารคริส ฮานิ พอดี

การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

การเลือกตั้งแบบหลากชนชาติครั้งแรกในแอฟริกาใต้โดยที่พลเมืองทุกคนมีสิทธิเสียงเท่ากัน เกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2537 พรรคเอเอ็นซีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 62% และมันเดลาในฐานะผู้นำพรรคเอเอ็นซีได้เข้าพิธีรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2537เป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของประเทศ โดยมี เดอ เคลิร์ก จากพรรคชาตินิยม และทาโบ มเบคี เป็นรองประธานาธิบดีทั้งสองคนในการตั้งรัฐบาลผสมแห่งชาติ

เขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่างๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ 

8 กฎเหล็กสู่การเป็นผู้นำในอุดมคติของ “เนลสัน แมนเดลา”ซึ่งสั่งสมมาตลอด 9 ทศวรรษ และยิ่งถูกเคี่ยวกรำจนเข้มข้นก็ในช่วงที่เข้าไปนอนในคุกนาน 27 ปี ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เพราะต่อสู้เรื่องการเหยียดผิว
 
กฎข้อ 1 : กล้าหาญ ใช่จะไม่กลัว
ในมุมมองของ แมนเดลา เชื่อว่าคนเป็นผู้นำต้องแสร้งทำเป็นไม่รู้จักความกลัว เพราะถ้าผู้นำแสดงความกลัวออกมา คนอื่นๆที่เหลือก็จะพลอยขวัญเสียไปด้วย แต่ถ้าผู้นำสงบนิ่งแม้ยามมีภัยไม่ทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูมคนรอบข้างก็จะกล้าหาญขึ้นอย่างอัศจรรย์
 
กฎข้อ 2 : บัญชาการแถวหน้า แต่ไม่ทิ้งกองหนุน
บทเรียนบทนี้ได้มาระหว่างที่อยู่ในคุกช่วงหลังเมื่อถูกจับแยกขังจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์เป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี ทุกคนในคุกต่างประท้วงแต่เจ้าตัวกลับมองข้ามช็อตขอร้องให้ใจเย็นๆ เพราะเชื่อว่าการถูกขังเดี่ยวอาจทำให้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้ และแล้วก็เป็นจริง เพราะระหว่างนั้น เขามีเวลาคิดๆๆ จนริเริ่มแผนการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลผิวขาวได้สำเร็จเป็นครั้งแรกขณะเดียวกันก็ไม่ลืมหาแนวร่วมจากเพื่อนๆในคุกด้วย
 
กฎข้อ 3 : บัญชาการแถวหลัง ให้เครดิตลูกน้อง
ในวัยเด็ก “แมนเดลา” ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากหัวหน้าเผ่าเทมบู ซึ่งเป็นพ่อบุญธรรมที่เลี้ยงดูและให้การศึกษาเขามาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ หลังจากสูญเสียพ่อแท้ๆ เขายังจำติดตาว่าเวลาจัดประชุมใหญ่ในเผ่า
พ่อบุญธรรมจะปล่อยให้สมาชิกเริ่มพูดจนครบทุกคนก่อนจากนั้น หัวหน้าเผ่าจึงแสดงทัศนะ บทเรียนจากพ่อบุญธรรมทำให้เขาตระหนักว่าคนเป็นผู้นำไม่มีหน้าที่สั่งลูกน้องว่าต้องทำอะไรแต่มีหน้าที่หามติเอกฉันท์ในหมู่คณะ หัวหน้ายังมีบทบาทนำในการโน้มน้าวให้ลูกน้องทำในสิ่งที่ต้องการ แต่ต้องใช้ศิลปะทำให้พวกเขาเชื่อว่าเป็นไอเดียของตัวเอง!!
 
กฎข้อ 4 : รู้จักศัตรู รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง
ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1960 “แมนเดลา” พยายามเรียนรู้ภาษาราชการของแอฟริกาใต้ ซึ่งคนผิวขาวในแอฟริกาใต้ใช้เป็นเครื่องมือเหยียดผิว แต่กลับโดนเพื่อนฝูงล้อ จนเขาเพิ่งเฉลยว่าการจะเข้าใจถึงความคิดของศัตรูได้นั้นต้องเข้าใจภาษาของศัตรูก่อนจะได้รู้ถึงจุดอ่อนและจุดแข็งเขาลงมือศึกษากีฬารักบี้
ซึ่งเป็นกีฬาโปรดของคนขาวในแอฟริกาใต้ด้วยซ้ำเพราะอยากเข้าใจแท็กติกการทำทีมเพื่อนำมาปรับใช้ในการเจรจา
 
กฎข้อ 5 : อย่าปล่อยคู่ต่อสู้ให้ห่างตัว
แขกประจำที่ “แมนเดลา” เชิญมาสังสรรค์ที่บ้านมีทั้งเพื่อนสนิทและคู่ต่อสู้ตัวฉกาจ เขาถือคติว่า การสวมกอดคู่ต่อสู้ คือกุญแจสำคัญในการควบคุมศัตรูให้อยู่หมัด ถ้าปล่อยไว้ตามลำพัง อาจเป็นอันตรายร้ายแรงกว่าการหลอกล่อให้ศัตรูอยู่ในอาณัติ
 
กฎข้อ 6 : ยิ้มเข้าไว้แล้วดีเอง
สมัยหนุ่มๆ “แมนเดลา” มีเสน่ห์ตรงรูปร่างหน้าตา และยังมีดีกรีเป็นถึงลูกชายหัวหน้าเผ่า ทำให้ป๊อปปูลาร์ได้ไม่ยาก แต่เมื่ออายุมากขึ้นๆ เขายอมรับว่าเสน่ห์แท้จริงมาจากรอยยิ้มจริงใจ ทุกวันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน เขาจึงส่งยิ้มไว้ก่อนเพื่อแสดงความเป็นมิตรส่วนชีวิตจริงอันขมขื่นขอเก็บไว้จดจำคนเดียว
 
กฎข้อ 7 : ถ้าไอเดียไม่เวิร์ก ก็ล้มเลิกซะ
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนเป็นผู้นำจะยอมรับว่าไอเดียของตัวเองไม่เวิร์ก!! แต่สำหรับผู้นำเช่น “แมนเดลา” ยืนยันว่าคนเป็นผู้นำที่ดีต้องกล้ายอมรับความจริงและล้มเลิกความคิดห่วยๆซะ
 
กฎข้อ 8 : โลกนี้ไม่ได้มีแต่ขาวกับดำ
ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเรื่องของสีผิวหรือการเหยียดผิว แต่ “แมนเดลา”ยังเหมารวมถึงทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ไม่มีใครดีร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือชั่วช้าจนยากแก่การอภัย