โดย นายกอบกูล จันทวโร
ผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
ผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงาน ป.ป.ส.
ประเทศสหรัฐอเมริกาประกอบด้วยมลรัฐต่าง ๆ 50 รัฐ รวมตัวเข้าเป็นประเทศเดียวกันเรียกว่า สหรัฐอเมริกา (United State of America) อย่างไรก็ตาม บรรดารัฐทั้งปวงยังคงมีความเป็นอิสระในบางเรื่อง โดยอำนาจของมลรัฐ (State) จะแตกต่างจากอำนาจของรัฐบาลกลาง (Federal Government) ซึ่งมีอำนาจส่วนใหญ่เกี่ยวกับกรณีระหว่างมลรัฐต่อมลรัฐ และกรณีระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศอื่น ๆ ดังนั้น เรื่องใดที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในมลรัฐของแต่ละมลรัฐโดยเฉพาะและไม่เกี่ยวกับมลรัฐอื่น และไม่ปรากฏจากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดว่าอยู่ในอำนาจของรัฐบาลกลาง มลรัฐนั้น ๆ ย่อมมีอำนาจเด็ดขาดและสูงสุด เพราะแต่ละมลรัฐ (State) มีรัฐบาลของตนเอง มีผู้ว่าการมลรัฐ (Governor) เป็นหัวหน้ารัฐบาล มีหน่วยราชการต่างๆ เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารกิจการต่างๆ ภายในมลรัฐ แต่ละมลรัฐมีเมืองหลวงของมลรัฐเอง มีรัฐสภาของตนเอง มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลสูงสุดของมลรัฐเอง และมีการออกกฎหมายของตนเองได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นการแปลกประหลาดที่การกระทำในเรื่องเดียวกัน บางกรณีอาจเป็นความผิดในรัฐหนึ่งและอาจไม่เป็นความผิดในอีกรัฐหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ระบบกฎหมายและระบบศาลของสหรัฐอเมริกาจึงมีความซับซ้อนและแตกต่างจากประเทศอื่นโดยทั่วไป
รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา (The Constitution of the United State of America)
การประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเอกราช เกิดขึ้นเมื่อ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319) และในปีเดียวกันนี้ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของประเทศเรียกว่า “บทบัญญัติแห่งสมาพันธ์รัฐ (Articles of Confederation) ซึ่งถือว่าเป็นรัฐูธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ และต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1789 เป็นต้นมา
หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา คือ
-เปลี่ยนชื่อรัฐธรรมนูญจาก “บทบัญญัติแห่งสมาพันธ์รัฐ” (Articles of Confederation) เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา” (The Constitution of the United State of America)
-เปลี่ยนชื่อประเทศซึ่งเดิมใช้ชื่อว่า “สมาพันธ์รัฐ” (Confederation) มาเป็น “สหรัฐ”(The United States) ซึ่งมีความหมายว่า มีการรวมตัวอย่างเหนียวแน่นเป็นหนึ่งเดียว และมีการสถาปนารัฐบาลกลางมารับผิดชอบดูแลกิจการทั่วไป
-จัดรูปรัฐและแบบสาธารณรัฐ (Republic) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
-จัดรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย และมีการแบ่งแยกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย
-จัดรูปรัฐบาลแบบประธานาธิบดี (Presidential System) มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในเวลาเดียวกัน
-จัดรูปแบบการปกครองแบบสหรัฐ โดยมีรัฐบาลของมลรัฐ (State Government) และรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลของสหรัฐ (Federal Government) โดยรัฐบาลกลางมีฐานะเหนือรัฐบาลของมลรัฐ เฉพาะในกรณีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ นอกเหนือจากนั้นแล้วอำนาจของรัฐยังคงมีอยู่เช่นเดิม
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีขึ้นพร้อมๆ กับการก่อตั้งประเทศ และใช้มาอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขบ้างก็ทำเท่าที่จำเป็น จึงทำให้รัฐูรรมนูญของสหรัฐอเมริกาอายุยืนยาวนานกว่า 200 ปี ทั้งนี้ มีเหตุผลที่สำคัญ 4 ประการ คือ
1.ต้องการให้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
2.ต้องการให้เป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3.ต้องการให้เป็นแม่บทของกฎหมายทั้งปวง
4.ต้องการให้มีอายุยืนยาวและมีความมั่นคง ถาวร
นอกจากนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยากต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน และต้องอาศัยความพร้อมเพรียงของหลายมลรัฐ จึงทำให้รัฐธรรมนูญมีเสถียรภาพและประชาชนยอมรับนับถือและพึงพอใจในรัฐธรรมนูญของตน จนทำให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีและประชาชนหวงแหน ผูกพันต่อรัฐธรรมนูญมาก
โครงสร้างระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาตามรัฐธรรมนูญ |
ระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกา
ระบบกฎหมายของอเมริกาเป็นระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ซึ่งมีรากฐานและแนวคิดมาจากอังกฤษ โดยได้นำส่วนที่ดีมาใช้ แต่ยังคงความเป็นเอกภาพทางศาลไว้ โดยถือหลักว่าระบบตุลาการจะต้องปลอดจากอำนาจทางการเมือง สภาคองเกรสหรือฝ่ายบริหาร
กฎหมายคอมมอน ลอว์ (Common Law) ซึ่งมาจากคำในภาษาฝรั่งเศสโบราณว่า Comune ley หมายถึงกฎหมายที่ใช้เป็นหลักสามัญร่วมกันทั่วพระราชอาณาจักร (law Common to all English) คำสำคัญในที่นี้คือคำว่า “Common” (สามัญร่วมกัน) เพราะเป็นการสร้างความเป็นเอกภาพทางกฎหมายในอังกฤษ โดยเน้นความยุติธรรมเฉพาะคดีมากกว่าที่จะสร้างกฎเกณฑ์สำหรับใช้ในอนาคต คำพิพากษาของศาลในคดีหนึ่งจะเป็นบรรทัดฐานมัดศาลในคดีต่อไปในอนาคต โดยนำเอาหลักเกณฑ์ที่เกิดขึ้นในคดีก่อนที่เคยเกิดขึ้นแล้วมาใช้ และเน้นให้ความสำคัญในเรื่องวิธีพิจารณามากกว่าเนื้อหาในทางสารบัญญัติ เพราะเชื่อว่าความยุติธรรมส่วนใหญ่อยู่ที่ระบบวิธีการพิจารณาพิพากษาคดี จึงทำให้เกิดระบบคณะลูกขุนหรือจูรี่ (Jury) ซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีการใช้ระบบหมาย (writ) เข้ามาให้ความสะดวกแก่การดำเนินคดี กฎหมายและวิธีพิจารณาเหล่านี้บางทีก็เรียกกฎหมายจารีตประเพณีหรือกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
คอมมอนลอว์ ในความหมายอย่างแคบก็คือ กฎหมายที่ศาลสร้างขึ้นมาจากคำพิพากษา (Judge made law) แต่ในปัจจุบันมีความหมายกว้างขึ้นคือ หมายถึงกฎหมายทั้งหลายในระบบกฎหมายอังกฤษ ซึ่งรวมถึงการรวมเอาหลักกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า “เอคควิตี้” (Equity) และ กฎหมายลายลักษณ์อักษร” (Statutory Law) เข้าไปด้วย ประเทศที่ใช้กฎหมายสกุลคอมมอนลอว์ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพแอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ เป็นต้น
กฎหมายอาญาของสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับกฎหมายไทย คือ
1.กฎหมายอาญาภาคสารบัญญัติ (Sutstantive Criminal Law) เป็นกฎหมายซึ่งครอบคลุมบทบัญญัติว่าการกระทำใดเป็นการกระทำความผิดและมีบทลงโทษสถานใด
2.กฎหมายอาญาภาควิธีสบัญญัติ (Procedural Criminal Law) เป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีอาญา การจัดระเบียบบริหารงานยุติธรรมทางอาญา การอภัยโทษ การลดโทษ ฯลฯ
กฎหมายอาญาในระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกามีทั้งส่วนที่เป็นกฎหมาย Common Law และส่วนที่เป็ นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้แก่ตัวบทกฎหมายของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐอเมริกา และกฎหมายของมลรัฐต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มว่ากฎหมายอาญาสารบัญญัติส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ในมลรัฐต่างๆ เกิดจากหลักคอมมอนลอว์ แต่ก็มีแนวโน้มว่าเริ่มนิยมใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรมากขึ้น โดยคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการ คือ
1.ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
2.ต้องกำหนดความผิดและโทษไว้แน่นอนไม่เคลือบคลุม (void-for-vagueness)
3.ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง (Expost factor Law)
การจำแนกประเภทกฎหมายและลำดับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา |
ระบบศาลของสหรัฐอเมริกา
ในประเทศสหรัฐอเมริกามีศาลอยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ ศาลสหพันธ์รัฐบาลกลาง (The Federal Court) และศาลมลรัฐ (The State Court) ศาลสูงสุดของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ ศาลสูงสุดรัฐบาลกลาง (The U.S.Supreme Court) อย่างไรก็ตามในแต่ละมลรัฐอาจมีศาลสูงมลรัฐของตนเองแยกออกไปจากศาลสูงรัฐบาลกลางก็ได้
ศาลรัฐบาลกลาง (The U.S.Ferderal Courts) มีเขตอำนาจศาลพิจารณาคดีเกี่ยวพันกับกฎหมายของรัฐบาลกลาง และในกรณีที่คู่ความเป็นพลเมืองต่างมลรัฐกัน ศาลรัฐบาลกลางจะมีเขตอำนาจในการไต่สวนและพิจารณาพิพากษา
ศาลมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาแต่ละศาลมลรัฐก็มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเฉพาะพลเมืองในมลรัฐนั้น
ในคดีอาญาการตัดสินชี้ขาดคดี คณะลูกขุน (The Jury) ต้องเป็นไปโดยเอกฉันท์ (Unanimous) ในคดีอาญา บุคคลผู้ชนะในคดีจะได้รับการตัดสินปล่อยตัวให้พ้นผิด (ยกฟ้อง) และจะไม่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกันอีก หลักการนี้เรียกว่าการดำเนินฟ้องคดีซ้ำซ้อนในข้อหาเดียวกัน (Double Jeopardy)
การพิจารณาคดีอาญา (Criminal Procedure) ของสหรัฐอเมริกา ใช้ลูกขุน ๑๒ คน คำตัดสินของลูกขุน (Juror’s Decision) จะต้องลงคะแนนเป็นเอกฉันท์ทั้ง ๑๒ คน ถ้ามีคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วย ก็จะชี้ขาดไม่ได้ ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้พิพากษาที่เป็นประธานในการไต่สวน (Chairman of the Trial) ก็จะสั่งให้คณะลูกขุนกลับไปทบทวนใหม่จนกว่าจะได้ข้อยุติเป็นเอกฉันท์ จึงจะมีการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นใหม่ เพื่อให้ได้ข้อยุติอย่างแท้จริง
แผนภูมิแสดงระบบศาลของสหรัฐอเมริกา |
ระบบคณะลูกขุนในอเมริกา
คณะลูกขุน (The Jury) ในระบบกฎหมายอเมริกัน มีการนำแบบอย่างมาจากอังกฤษ โดยให้มีบทบาทคุ้มครองในการตัดสินคดีมีความยุติธรรม ระบบลูกขุนนำมาใช้เพื่อจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะรัฐบาลและเพื่อเป็นหลักประกันถึงความไม่ลำเอียงและทำให้เกิดความยุติธรรมในการพิจารณาตัดสินคดี
หลักเรื่องการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในระบบลูกขุน(Jury System) เปรียบเทียบกับการวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยศาลตามกฎหมายไทย
ระบบการค้นหาข้อเท็จจริงโดยให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดนั้น สามารถที่จะจำแนกออกได้ 2 ระบบ คือ
1.1 ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)
1.2 ระบบกล่าวหา (Accusatorial หรือ Adversary system)
โดยระบบการค้นหาข้อเท็จจริงในแต่ละระบบ มีข้อควรพิจารณาดังนี้
1.1 ระบบไต่สวน (Inquisitorial System)
ระบบไต่สวน เป็นระบบที่ใช้อยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศในกลุ่ม Civil law โดยระบบนี้มีที่มาจากการชำระความของผู้มีอำนาจเด็ดขาดซึ่งจะทำการไต่สวนคดีความเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ได้ ระบบนี้ถือว่าหน้าที่หาข้อเท็จจริงเป็นของศาล ศาลมีบทบาทสำคัญในการที่จะสืบพยานหรืองดสืบพยานใดก็ได้ แม้คู่ความมีสิทธินำเสนอพยานหลักฐานต่อศาล ศาลก็มีอำนาจสั่งให้สืบพยานเพิ่มเติมอีกได้ วิธีปฏิบัติในการถามพยานก็จะให้ศาลเป็นผู้ซักถามก่อนแล้วคู่ความค่อยซักถามภายหลัง ในระบบไต่สวนกฎหมายลักษณะพยานจะไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญนัก และไม่มีบทตัดพยานหรือกฎที่ห้ามนำเสนอพยานหลักฐานประเภทหนึ่งประเภทใด (exclusionary rule) ส่วนใหญ่ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประเภท เว้นแต่พยานหลักฐานนั้นไม่เกี่ยวข้องกับคดี อย่างไรก็ตามศาลมีอำนาจอย่างกว้างขวางที่จะใช้ดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่เสนอมาโดยคู่ความและดุลยพินิจนี้มักถูกโต้แย้งไม่ได้ (unreviewable) นอกจากการรับฟังพยานหลักฐานโดยกว้างขวางแล้วศาลยังมีดุลยพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างเต็มที่
สรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่าระบบไต่สวนศาลมีหน้าที่ในการค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อที่จะรับฟังเป็นข้อยุติ คู่ความมีหน้าที่นำเสนอพยานหลักฐานต่อศาลเป็นการช่วยเหลือศาลให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง
1.2 ระบบกล่าวหา (Accusatorial หรือ Adversary system)
ระบบกล่าวหาในอังกฤษเรียก Accusatorial และในสหรัฐอเมริกาเรียก Adversary เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นในประเทศกลุ่มกฎหมายคอมมอนลอว์ คือ อังกฤษ แล้วต่อมาพัฒนาไปยังสหรัฐอเมริกา ระบบนี้ถือหลักว่าศาลหรือผู้พิพากษาหรือลูกขุนเปรียบเสมือนกรรมการของการต่อสู้คดีที่จะต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด การพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ เป็นหน้าที่ของคู่ความซึ่งจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ศาลสั่ง ถ้าคู่ความใดไม่พิสูจน์ข้อเท็จจริงใดซึ่งตนมีหน้าที่ก็ย่อมแพ้ในประเด็นข้อนั้น ระบบกล่าวหาจึงมีกฎเกณฑ์ในเรื่องการนำสืบพยานหลักฐานที่ละเอียดและเคร่งครัด เริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบ วิธีการนำเสนอพยานหลักฐานประเภทต่างๆ และเนื่องจากในระบบกล่าวหามีการนำลูกขุนมาเป็นผู้พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริง จึงได้มีกฎเกณฑ์ต่างๆ มากมายที่เคร่งครัดมากในการนำเสนอพยานหลักฐานและการรับฟังพยานหลักฐาน เช่นมีบทตัดพยานที่ได้มาโดยไม่ชอบ
2. การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในระบบลูกขุน (Jury System)
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในระบบลูกขุนเป็นการพิจารณาคดีในระบบกล่าวหา ซึ่งใช้ในกลุ่มประเทศคอมมอนลอว์ โดยให้มีลูกขุน (Jury) เป็นผู้พิจารณาข้อเท็จจริงโดยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษา (Judge) จะทำหน้าที่วางหลักกฎหมายและชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย รวมทั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด
ในการพิจารณาคดีระบบกล่าวหาที่ใช้อยู่ในอเมริกา ผู้พิพากษาจะเปิดโอกาสให้คู่ความต่อสู้คดีกันอย่างเต็มที่ คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างมีหน้าที่หรือภาระการพิสูจน์ คือต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้ลูกขุนเชื่อตามที่ตนกล่าวอ้าง เมื่อคู่ความแถลงเปิดคดีแล้วก็จะนำสืบพยานหลักฐานไปตามหน้าที่นำสืบหรือตามที่ฝ่ายตนมีภาระการพิสูจน์ คือต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้ลูกขุนเชื่อตามที่ตนกล่าวอ้าง ศาลทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คู่ความฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง หากพยานหลักฐานใดไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลก็จะไม่อนุญาตให้นำพยานหลักฐานดังกล่าว เข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลเพื่อป้องกันมิให้ลูกขุนที่มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีได้รับรู้ ข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้ลูกขุนวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดพลาดไป ลำดับในการพิจารณาคดี เมื่อได้มีการเลือกคณะลูกขุนได้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว ลูกขุนจะเข้านั่งประจำที่ซึ่งจัดไว้ จากนั้นการพิจารณาคดีจะเริ่มโดยผู้พิพากษา 1 คน ทำหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดี เพื่อให้การสืบพยานของทั้งสองฝ่ายเป็นไปตามกฎหมาย และมีหน้าที่วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในเรื่องการอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐาน ประเภทใดหรือไม่ได้รับอนุญาต จึงถือกันว่าผู้พิพากษาเป็นผู้มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนลูกขุนเป็นผู้มีคำสั่งหรือวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ในระหว่างการพิจารณาคดีต้องไม่มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีผลให้ลูกขุนเกิดอคติขึ้นมาได้ การพิจารณาจะเริ่มจากการแถลงการณ์เปิดคดีโดยคู่ความการนำสืบพยานของฝ่ายโจทก์ การนำสืบพยานของฝ่ายจำเลย การแถลงการณ์ปิดคดีของคู่ความ
หน้าที่ของลูกขุนระหว่างสืบพยาน คือฟังคำเบิกความของพยาน แต่ลูกขุนไม่มีหน้าที่บันทึกหรือจดย่อ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานหรือซักถามพยานผิดหลักเกณฑ์ เมื่อมีปัญหาขึ้นมาโดยคู่ความคัดค้าน ศาลก็จะมีคำสั่งในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานนั้นๆ โดยต้องส่งคำสั่งให้ลูกขุนได้ยินด้วย กรณีเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการเสนอพยานหลักฐานต้องห้าม การคัดค้านก็จะต้องไม่ให้ลูกขุนได้ยินเพื่อป้องกันไม่ให้พยานหลักฐานที่ไม่ชอบเข้าสู่การรับรู้ของลูกขุน การคัดค้านในบางเรื่องก็ควรทำลับหลังลูกขุน
เมื่อมีการนำเสนอพยานเอกสารหรือวัตถุพยาน ศาลจะสั่งให้ส่งให้ลูกขุนดู วัตถุพยานบางประเภทศาลอาจไม่อนุญาตให้อ้างอิงเป็นพยานเพราะอาจเกิดอคติต่อลูกขุนได้ง่าย ซึ่งในจุดนี้แตกต่างจากศาลไทยอย่างเห็นได้ชัดเพราะการพิจารณาคดีในศาลไทยนั้นข้อ เท็จจริงทุกอย่างจะถูกนำเสนอต่อศาล แต่หากเป็นระบบลูกขุนแล้วศาลจะทำหน้าที่พิจารณาไตร่ตรองในชั้นแรกก่อนว่ามี ข้อเท็จจริงใดที่ลูกขุนไม่ควรรับรู้เพราะอาจก่อให้เกิดอคติกับลูกขุนในการพิจาณาวินิจฉัยได้ ในขั้นตอนนี้เรียกว่า Admission of Evidence
สำหรับในกรณีที่มีการรับสารภาพเกิดขึ้นนอกศาล หากเป็นระบบลูกขุนแล้วศาลจะเป็นผู้ตรวจสอบจากการโต้เถียงกันของคู่ความก่อนที่จะวินิจฉัยว่าควรรับฟังคำรับสารภาพดังกล่าวหรือไม่ โดยลูกขุนจะไม่ได้รับรู้ถึงคำรับสารภาพดังกล่าวแต่อย่างใด แต่หากเป็นศาลไทยแล้วศาลไทยจะรับฟังคำรับสารภาพนั้นก่อนแล้วค่อยพิจารณาในภายหลังว่าจะรับฟังคำรับสารภาพนั้นหรือไม่อย่างไรในภายหลัง เป็นที่ยอมรับกันว่าศาลมีอำนาจเรียกพยานมาสืบและมีอำนาจซักถามพยานบุคคลระหว่างที่พยานนั้นเบิกความ ตลอดถึงการเรียกพยานบุคคลมาสืบ แต่มีหลักอยู่ว่า คำถามศาลไม่ควรก่อให้เกิดอคติแก่กับลูกขุน ซึ่งอาจทำให้ดุลยพินิจของลูกขุนเปลี่ยนไปได้ ดังนั้นถ้าเมื่อใดคำถามของศาลมีผลต่อการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของลูกขุนอาจทำให้การพิจารณาคดีนั้นไม่ชอบขึ้นมาได้
หลังจากสืบพยานเสร็จก็จะมีการแถลงปิดคดี เมื่อคู่ความแถลงปิดคดีแล้ว จะมาถึงขั้นตอนสำคัญคือ การสั่งข้อกฎหมายแก่ลูกขุน (instruction to the jury) โดยผู้พิพากษาจะอธิบาย (instruction ) หลักกฎหมายและองค์ประกอบความผิด รวมทั้งหลักกฎหมายในเรื่องหน้าที่นำสืบและภาระการพิสูจน์ให้ลูกขุนฟัง โดยต้องเน้นเสมอว่าข้อสงสัยที่จะปล่อยจำเลยนั้นต้องเป็นข้อสงสัยที่มีเหตุผล หากลูกขุนไม่เข้าใจข้อกฎหมายก็มีสิทธิซักถาม เมื่อไม่มีคำถามใดๆ แล้ว ลูกขุนจะเข้าไปในห้องประชุมลูกขุน การพิจารณาของลูกขุนเป็นการประชุมลับ เริ่มต้นจะเลือกประธานลูกขุน แล้วมีการพูดจากัน สิ่งที่ลูกขุนพูดเป็นเอกสิทธิ์ แม้แต่ผู้พิพากษาก็ก้าวล่วงไม่ได้ ในศาลรัฐบาลกลางจะลงโทษจำเลยได้เมื่อลูกขุนมีมติเป็นเอกฉันท์และเมื่อ พิจารณาเสร็จแล้วให้แจ้งให้ผู้พิพากษาทราบ ผู้พิพากษาจะนั่งพิจารณาแล้วถามลูกขุนว่าพิจารณาว่าอย่างไรหากประธานลูกขุน ตอบว่าจำเลยมีความผิดศาลก็จะพิพากษากำหนดโทษ คำวินิจฉัยของลูกขุนเป็นการวินิจฉัยในคดีไม่ต้องแสดงเหตุผล และคำวินิจฉัยของลูกขุนถือเป็นที่สิ้นสุด คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพราะถือว่าเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง เนี่องจากการพิจารณาข้อเท็จจริงในศาลชั้นต้นที่ใช้ระบบลูกขุน ช่วยกันค้นหาความจริงเป็นการช่วยกลั่นกรองทำให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความรอบคอบแล้ว ศาลสูงสหรัฐจึงไม่ก้าวล่วงดุลยพินิจของลูกขุน แต่คู่ความอาจอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย
จะเห็นได้ว่าลูกขุนต้องปรับข้อเท็จจริงที่ฟังยุติจากพยานหลักฐานเข้ากับหลักกฎหมาย ที่ผู้พิพากษาอธิบาย (instruction) ลูกขุนจึงไม่ใช่แต่เพียงตัดสินปัญหาข้อเท็จจริง แล้วให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ปรับข้อกฎหมายแต่ประการใด แต่ลูกขุนเป็นผู้วินิจฉัยความผิดตามกฎหมายที่ถูกฟ้องนั้น
กฎหมายคอมมอนลอว์ได้ให้อำนาจศาลอย่างกว้างขวางในการที่จะพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับพยานหลักฐานชิ้นหนึ่งชิ้นใด โดยชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับกับข้อเสียที่เกิดขึ้น เนื่องจากพยานหลักฐานบางประเภทอาจทำให้ลูกขุนซึ่งเป็นสามัญชนเกิดความสับสน หรืออคติได้ง่าย ในระบบคอมมอนลอว์ เชื่อว่าการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานที่ดีที่สุดคือ หลักสามัญสำนึกของบุคคลธรรมดาทั่วๆไป กฎหมายคอมมอนลอว์เชื่อว่าบคุลลธรรมดาที่มีสติปัญญาปกติย่อมวินิจฉัยปัญหาข้อ เท็จจริงต่างๆ ได้เหมือนกัน จึงมีระบบการพิจารณาคดีโดยลูกขุน
3. การวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามกฎหมายไทย
ในศาลไทยนั้นการดำเนินคดีโดยหลักแล้วเป็นระบบกล่าวหาเช่นเดียวกับอเมริกาเพียงแต่ไม่มีการใช้ระบบลูกขุน ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา สิ่งสำคัญอันเป็นหลักในคดีได้แก่ คำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลย ทำให้เกิดประเด็นในคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยสิ่งต่างๆ ที่ทั้งโจทก์และจำเลยบรรยายมาในคำคู่ความบางเรื่องศาลอาจวินิจฉัยได้เลย โดยอาศัยความรู้ทางกฎหมายของศาล ไม่ต้องมีการพิสูจน์อะไรอีก ประเด็นประเภทนี้เรียกว่า “ปัญหาข้อกฎหมาย” ไม่เกี่ยวข้องกับพยานหลักฐาน แต่บางเรื่องศาลไม่อาจวินิจฉัยได้เพราะไม่ทราบว่าจะเชื่อคู่ความฝ่ายไหนดี ความรู้ทางกฎหมายของศาลไม่อาจช่วยวินิจฉัยได้ เว้นแต่คู่ความจะนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเชื่อตามข้อกล่าว อ้างของตน ประเด็นแห่งคดีประเภทนี้เรียกว่า “ปัญหาข้อเท็จจริง”
การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงคือ การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เป็นการที่ศาลนำพยานหลักฐานทุกประเภทที่คู่ความ นำมาสืบไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ มาพิเคราะห์ว่าพยานหลักฐานนั้นคูความนำสืบเชื่อได้ตามข้ออ้างข้อเถียงใน ประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ พยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งเพื่อที่จะวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใดต้องเป็น พยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามกฎหมาย หากพยานหลักฐานใดที่เข้ามาสู่สำนวนความโดยในชั้นพิจารณาได้มีการนำสืบหรือ อ้างส่งแล้วแต่กฎหมายห้ามรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนั้น การชั่งนำหนักพยานหลักฐานจึงหมายถึงการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในประเด็น ที่พิพาทโดยอาศัยพยานหลักฐาน โดยศาลเป็นผู้ทำหน้าที่วินิจฉัย
สำหรับในประเทศไทย หลักในเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะคำพิพากษาของศาลไทยมุ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงปรัชญาในการวินิจฉัยความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานแต่ชิ้น
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีจึงสามารถแยกพิจารณาได้ 2 กรณี คือ
3.1 การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีแพ่ง
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนั้น ศาลจะพิจารณาประเด็นข้อพิพาทเป็นรายประเด็นไป แล้วพิจารณาว่าในแต่ละประเด็นนั้นฝ่ายโจทก์หรือจำเลยต้องเป็นผู้นำพยานเข้าสืบ เมื่อสืบแล้วฝ่ายใดน่าเชื่อถือกว่ากัน ก็จะวินิจฉัยให้ฝ่ายนั้นชนะในประเด็นนั้น คดีแพ่งจึงเป็นเรื่องการวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อ ถือกว่ากัน ตรงกับคอมมอนลอว์ที่ว่า preponderance of evidence ใน การวินิจฉัยข้อเท็จจริงของศาลไทย ศาลจะปฏิเสธไม่วินิจฉัยคดีโดยจะอ้างว่าพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอไม่ได้ พยานหลักฐานมีเท่าใด หรือไม่มีเลยเนื่องจากในคดีนั้นคู่ความต่างสืบพยานรับฟังไม่ได้คือ มีกฎหมายห้ามรับฟัง ศาลต้องวินิจฉัยคดีโดยพิจารณาจากหน้าที่นำสืบ คู่ความฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบแต่ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนย่อมต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี
ในการพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความ ศาลต้องพิจารณาว่าพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคลพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุ พยาน เหล่านั้นรับฟังได้หรือไม่ ถ้ารับฟังได้แล้วพยานหลักฐานเหล่านั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ การวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานรับฟังได้หรือไม่ ศาลต้องวินิจฉัยไปตามกฎหมายลักษณะพยาน หากพยานหลักฐานใดที่กฎหมายห้ามรับฟัง ศาลต้องไม่นำพยานหลักฐานนั้นพิจารณาเลย เมื่อพิจารณาแล้วเหลือพยานหลักฐานที่กฎหมายให้รับฟังได้เท่าใด ศาลจึงนำมาพิจารณาอีกทีว่าจะเชื่อถือพยานชิ้นใดเพียงใด ในขั้นตอนนี้เรียกว่าการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หรือการวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งขั้นตอนนี้กฎหมายให้อำนาจศาลในการใช้ ดุลยพินิจได้เต็มที่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา104
ดังนั้น ในคดีแพ่งศาลจะวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายเปรียบเทียบกัน ถ้าในประเด็นพิพาทประเด็นหนึ่ง ถ้าคู่ความฝ่ายใดมีพยานหลักฐานที่รับฟังได้มานำสืบและอีกฝ่ายไม่สามารถถาม ค้านทำลายน้ำหนักได้ และไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ปกติ ศาลต้องตัดสินให้คู่ความฝ่ายที่มีพยานมาสืบเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ถ้าคดีนั้นคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างสืบพยานที่รับฟังไม่ได้ หรือเป็นเรื่องนอกประเด็นทำให้ศาลไม่อาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงได้ ศาลต้องวินิจฉัยโดยพิจารณาจากภาระการพิสูจน์ โดยคู่ความฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นใดต้องแพ้ในประเด็นนั้น การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริง เป็นดุลยพินิจของศาล
3.2 การชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานหรือการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีอาญา มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้แน่นอน และประเด็นในคดีอาญามีแต่เฉพาะที่ว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งมีหลักอยู่ใน ป.วิ.อ. มาตรา 227 ดัง นั้นในคดีอาญา จึงมีข้อพิจารณาในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ซึ่งเป็นหลักสากล ในคดีอาญาโจทก์จึงมีภาระที่ต้องนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้แจ้งชัด จนศาลแน่ใจปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทำผิดจริง ศาลจึงจะลงโทษจำเลยได้ สำหรับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานหากโจทก์ไม่สามารถนำตัวพยานมาเบิกความในศาล ได้ เพราะเหตุจำเป็นศาลฏีกาวางหลักตลอดมาว่า คำให้การดังกล่าวโดยลำพังไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยได้ เมื่อเรื่องการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเป็นเรื่องของการวินิจฉัยโดยสามัญ สำนึก แต่เมื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคำพิพากษาจึงต้องแสดงรายละเอียดและเหตุผลในการ วินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงวางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงหรือการชั่ง น้ำหนักพยานหลักฐานในคดีอาญาขึ้นมาประการหนึ่งเรียกว่า พยานประกอบ คือ หมายถึงพยานที่นำมาประกอบพยานที่มีน้ำหนักน้อย ลำพังแต่พยานประเภทนั้นประเภทเดียวไม่มีน้ำหนักให้พอรับฟังลงโทษจำเลยได้ แต่ถ้ามีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ ก็รับฟังลงโทษได้ เช่น พยานบอกเล่า เป็นต้น
3.3 สรุป
ปัญหาข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐาน กฎหมายลักษณะพยานของไทย จึงเป็นเรื่องของการ วางกฎเกณฑ์ว่าด้วย การนำเสนอ การรับฟังพยานหลักฐาน ข้อที่พึงระลึกคือ พยานหลักฐานในการใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี ต้องเป็นพยานหลักฐานที่ได้มีการนำเสนอไว้ในการพิจารณาคดี กล่าวคือ ศาลไม่รับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน การนำเสนอพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ กฎหมายวางไว้ กล่าวโดยสรุปคือ ศาลไทยรับฟังพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ศาล จะรับฟังนั้นต้องมีการนำเสนอโดยชอบด้วยกฎหมาย