วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 1

เมื่อสงครามสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง สหรัฐฯ เป็นประเทศฝ่ายชนะสงครามที่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามน้อย ในขณะที่อังกฤษเสียหายจากสงครามอย่างหนัก อีกทั้งสหรัฐฯมีศักยภาพทางการทหาร มีเศรษฐกิจที่ดีและมีความมั่งคั่ง ส่งผลให้สหรัฐฯมีศักยภาพที่จะผงาดขึ้นมีอิทธิพลต่อโลกภายหลังสงครามอย่างไม่ยาก 

ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม 2488 ก่อนสงครามโลกจะจบสิ้นลงในเอเชียไม่นาน สหรัฐฯได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการจัดระเบียบโลกเพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผ่านข้อตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) และการจัดระเบียบการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่สหรัฐฯมีความต้องการส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของโลกภายหลังสงครามโลกคร้งที่ 2 ทำให้ในเวลาต่อมา สหรัฐฯไม่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัวซึ่งจะกลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก 

เนื่องจากขณะนั้นผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นว่าการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์และชาตินิยมสุดขั้วที่เบ่งบานในประเทศยากจนและประเทศอาณานิคมในขณะนั้นเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาข้อตกลงต่างๆและความต้องการของสหรัฐฯได้กลายเป็นระเบียบโลกที่มีผลกระทบกับส่วนต่างๆ ของโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ควรบันทึกด้วยว่าในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักวรรดินิยมอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่มีดินแดนในอาณัติอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า และมาลายู โดยอังกฤษมีอิทธิพลทางการเงินและการค้าต่อไทยในขณะนั้นอย่างมาก 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น และในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายของสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออินโดจีนนั้น เขาให้ความเห็นใจขบวนการชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมของเหล่าขบวนการกู้ชาติของ เวียดมินห์ ลาว และกัมพูชา เป็นอย่างมาก 

สหรัฐฯในขณะนั้นมีความต้องการให้ภูมิภาคอินโดจีนอยู่ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชาชาติ โดยสหรัฐฯสนับสนุนให้โอเอสเอส (The US Office Of Strategic Services: OSS)ให้ความช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติเหล่านั้นในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวได้ยุติลงพร้อมกับการอสัญกรรมของประธานาธิบดีรูสเวลท์

เมื่อ แฮรี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) รองประธานาธิบดีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี รูสเวลท์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างฉับพลันในเดือนเมษายน 2488 และต่อมาเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (12 เมษายน 2488 – 20 มกราคม 2496) นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีทรูแมนนั้นได้เปลี่ยนแปลงนโยบายจากการต่อต้านอาณานิคมไปสู่การพยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ อุปสรรคทางการค้า และการด้อยความเจริญของโลกที่ประธานาธิบดีทรูแมนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อสันติภาพ เขาได้แถลงให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลของเขาต่อสภาคองเกรสในต้นเดือนพฤษภาคม 2489 และ 2490 โดยเขามีนโยบายรักษาสันติภาพให้กับโลก 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2490 เขาได้ประกาศนโยบายว่า สหรัฐฯต้องการแสวงหา “สันติภาพและความมั่งคั่ง” ด้วยการป้องกันการปฏิวัติมิให้เกิดขึ้นในโลก ดังนั้นสหรัฐฯจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีบทบาทจัดระเบียบเศรษฐกิจของโลก ดังนั้นนโยบายต่างประเทศสำคัญของสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน คือ การผลักดันนโยบายการเปิดเสรีการค้าเพื่อขยายขอบเขตการค้าและโอกาสในการลงทุนด้วยการขจัดอุปสรรคทางการค้า

คำประกาศของประธานาธิบดีทรูแมนนั้นมีสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในเอกสารวางแผนระดับสูงของสหรัฐฯ ที่มีร่องรอยของความวิตกถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจในโลกที่จะทำให้การดำรงอยู่ของประชาชนในสหรัฐฯเกิดความวุ่นวายจากพวกคอมมิวนิสต์และพวกชาตินิยมสุดขั้วในประเทศยากจน 

เอกสารดังกล่าวเห็นว่าพวกชาตินิยมสุดขั้วนั้นมีความมุ่งหมายให้มีการปรับปรุงมาตรฐานชีวิตของมวลชนอย่างทันทีและทำการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ ดังนั้นนสายตาของผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯขณะนั้นเห็นว่า พวกชาตินิยมสุดขั้วและลัทธิคอมมิวนิสต์ คือภัยคุกคามต่อระเบียบโลกของสหรัฐฯ  จากนั้นต้นทศวรรษที่ 2490 โวหารการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯได้เริ่มขยายตัวทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยต่อสันติภาพของโลก

ในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่สงครามจะจบสิ้นลงในภูมิภาคเอเชีย สหรัฐฯได้เริ่มมองเห็นความสำคัญของไทย โดยในต้นปี 2488 เจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เริ่มรายงานความเห็นที่เกี่ยวกับไทยว่า ไทยจะมีความสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยสามารถเป็นตลาดสินค้า และผู้ขายวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี เช่น ยางและดีบุกให้กับสหรัฐฯโดยตรง แทนที่สหรัฐฯจะต้องซื้อวัตถุดิบผ่านตลาดผูกขาดในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ อีกทั้งการค้าระหว่างสหรัฐฯกับไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเอกราชจะทำให้สหรัฐฯไม่ถูกมองว่าเป็นจักวรรดินิยม


ต่อมาปลายปี 2488 สหรัฐฯได้เริ่มก่อตัวนโยบายต่างประเทศต่อไทย โดยสหรัฐฯยอมรับอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของไทย แต่สหรัฐฯมีความต้องการให้ไทยเปิดประตูให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในไทย สหรัฐฯต้องการให้ไทยผลิตข้าวป้อนให้กับตลาดโลก และต้องการสนับสนุนให้ไทยมีการปรับปรุงเศรษฐกิจและดำเนินการค้าระหว่างประเทศบนกรอบพหุภาคี กล่าวโดยสรุป นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อไทยนั้น สหรัฐฯมีความต้องการให้ไทยมีฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเป็นตลาดรองรับสินค้า ตลอดจนสหรัฐฯต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือไทย

ภายหลังสงครามสิ้นสุด ความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลทรูแมนได้ส่ง ชาร์ล ดับบลิว. โยสต์ (Charles W. Yost) อัคราชทูต และเคนเนท พี. แลนดอน (Kenneth P. Landon) เจ้าหน้าที่มาเปิดสถานกงสุลสหรัฐฯ ขึ้นในไทยในเดือนสิงหาคม 2488 

ในช่วงเวลาหลังสงคราม อดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสหลายคนที่เคยร่วมงานกับขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามยังคงปฏิบัติงานอยู่ในไทย เช่น เจมส์ ทอมสัน (James Thomson) อเล็กซานเดอร์ แมคโดนัล (Alexander MacDonald) วิลลิส เบิร์ด (Willis Bird) วิลเลี่ยม ปาล์มเมอร์ (William Palmer) และ โฮวาร์ด ปาล์มเมอร์ (Howard Palmer) เป็นต้น ต่อมาเอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน (Edwin F. Stanton) ถูกส่งมารับตำแหน่งอัคราชทูตและเอกอัคราชทูตในเวลาต่อมา

หมายเหตุ 
เจมส์ ทอมสัน อดีตโอเอสเอสเคยช่วยงานสถานกงสุลสหรัฐฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลงในตำแหน่ง general attaché ต่อมาเขาได้เปิดธุรกิจผ้าไหมขึ้นในไทย เคนแนท พี. แลนดอน-อดีตมิสชันนารี ช่วยให้เขามีความใกล้ชิดกับพวกเชื้อพระวงศ์ (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 47.).

อเล็กซานเดอร์ แมคโดนัล อดีตโอเอสเอส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ร่วมทุนกับอดีตเสรีไทยตั้งหนังสือพิมพ์ บางกอก โพสต์ (Bangkok Post) โดยความคิดในการตั้งหนังสือพิมพ์มาจากการสนทนากับ ปรีดี พนมยงค์ โดยเขาให้สนับสนุนปรีดี และเขาเป็นแกนนำของกลุ่มชาวอเมริกันที่สนิทสนมกับอดีตเสรีไทย เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามจะกลับมาสู่การเมือง บางกอก โพสต์ ได้โจมตีจอมพล ป. เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2490 แล้ว กระแสการวิจารณ์ จอมพล ป.ก็ได้ลดลง(Ibid.,pp. 47-49.)และโปรดดูประวัติการจัดตั้งบางกอก โพสต์ในประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต(อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ), (กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ่ง, 2542).

วิลลิส เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เคยปฏิบัติงานในจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับนายพลวี เดอร์แมร์ เขาจบการศึกษาด้านการเงินจากวาร์ตัน (Wharton School of Finance) เข้ามาไทยทันทีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาทำธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้า เช่น ยาฆ่าแมลง เครื่องแก้ว วัสดุก่อสร้าง กระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องจักร ต่อมาเขาทำธุรกิจส่งออกดีบุกและยาง (ต่อมาเขาทำธุรกิจค้าอาวุธ) ในช่วงแรกๆ ภายหลังสงครามโลกนั้น เขาให้การสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ จากนั้น เขาได้ให้การสนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาทำงานให้กับซีไอเอและมีความสนิทสนมกับ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในปี 2502 เขาได้ตั้งบริษัทยูนิเวอร์แซลก่อสร้าง (Universal Construction Company) เพื่อรับงานก่อสร้างตามโครงการของยูเซด (USAID) เพื่อการสร้างถนนในลาวและไทย รวมทั้งได้ตั้งบริษัทเบิร์ดแอร์ (Bird Air) รับจ้างขนอาวุธของสหรัฐฯให้กับลาวและกัมพูชา (Ibid.,p. 49-51.) ต่อมาแต่งงานกับน้องสาวของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา อดีตโอเอสเอส (พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อตร.เผ่าไม่ดี,[กรุงเทพฯ: บริษัท วงการ จำกัด, 2526],หน้า 74-75.) เขามีน้องชายชื่อวิลเลี่ยม เอช. เบิร์ด (William H. Bird) อดีตโอเอสเอส เป็นผู้แทนของ บริษัทแคท แอร์ (Civil Air Transport:CAT หรือ Air America) รับจ้างขนอาวุธของซีไอเอให้กับกองพล 93 ของก็กหมินตั๋งในจีนตอนใต้ (Peter Dale Scott, The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, [New York: The Bobbs-Merrill, 1972], p. 208.)

วิลเลี่ยม ปาล์มเมอร์ อดีตโอเอส เคยปฏิบัติงานในไทย เขาจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เคยร่วมงานกับวิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) เขาเคยเป็นกงสุลไทยในสหรัฐฯระหว่างปี 2488 - 2493 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 51-52).

โฮวาร์ด ปาล์มเมอร์ อดีตโอเอสเอส น้องชายของวิลเลี่ยม เขามีความสนิทสนมกับอดีตเสรีไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนต์ โดยเป็นตัวแทนให้กับบริษัท อาร์.เค.โอ.ฟิลม์ (R.K.O Film) ในการนำภาพยนต์เข้ามาเผยแพร่วิถีชีวิตแบบอเมริกัน(Ibid., pp. 51-52.).

สหรัฐฯ ได้แต่งตั้ง เอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน มาเป็นอัคราชทูต ต่อมา เขาดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำไทยคนแรก เขาทำการถวายสาส์นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2490 และดำรงตำแหน่งจนถึงมิถุนายน 2496 เขามีภูมิหลังเป็นมิสชันนารีมาก่อน เคยทำงานในจีน 20 ปี เขามีลักษณะการทำงานทางทูตแบบเก่า ไม่สันทัดเรื่องไทยมากนัก เขาไม่ชอบรัฐบาลทหารและไม่นิยมจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขามีความสนใจปัญหาในจีน เมื่อจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเห็นว่า สหรัฐฯควรให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เขาเห็นว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯจะสร้างมิตรภาพให้กับไทย ซึ่งสหรัฐฯจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว (กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 0402-344-202-511-0004 ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายจอร์จ ฮัตเชสัน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำประเทศไทย, Yost to Direk Chaiyanam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 26 มีนาคม 2489.; Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 25-29.).

สแตนตันได้บันทึกว่า เจ้าหน้าที่ของสถานทูตสหรัฐฯในไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 5 คน แต่ในปี 2489 ที่เขามารับตำแหน่งผู้แทนสหรัฐฯ ประจำไทยนั้น สถานทูตฯมีเจ้าหน้าที่ 12 คน ต่อมาปี 2496 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เขาปฏิบัติหน้าที่นั้น เขามีเจ้าหน้าที่สังกัดสถานทูตฯภายใต้ความดูแลถึงเกือบ 200 คน

การเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ควรบันทึกด้วยว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพเข้าไทยนั้นหรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารหรือ “กลุ่มจอมพล ป.” ในขณะที่กลุ่มพลเรือนหรือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งมีปรีดี พนมยงค์ คู่แข่งขันทางการเมืองคนสำคัญของจอมพล ป. เป็นผู้นำได้ถูกกันออกจากอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. 

เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาล ต่อมาช่วงปลายสงครามโลกนั้น ปรีดีและกลุ่มของเขาให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร จากนั้น “กลุ่มปรีดี” จึงได้แยกตัวออกรัฐบาลจอมพล ป. มาดำเนินการต่อต้านรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่น และต่อมาเขาและกลุ่มได้สร้างพันธมิตรเชื่อมต่อกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่อยู่ในประเทศและพวกที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศเกิดเป็น“ขบวนการเสรีไทย”จนสามารถทำให้รัฐบาลหมดอำนาจลงได้สำเร็จส่งผลให้ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่เคยมีอำนาจในช่วงสงครามโลกถูกลดบทบาทหายไปในช่วงปลายสงครามโลกนั้นเอง

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในกลางเดือนสิงหาคม 2488 จนถึงการรัฐประหาร 2490 นั้น ไทยมีรัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศขณะนั้นถึง 8 คณะ ดังนี้ 

ควง อภัยวงศ์ (1 สิงหาคม 2487 - 17 กรกฎาคม 2488 ) 
ทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม - 16 กันยายน 2488) 
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (17 กันยายน 2488 – 24 มกราคม 2489) 
ควง อภัยวงศ์ (31 มกราคม - 18 มีนาคม 2489) 
ปรีดี พนมยงค์ (24 มีนาคม - 8 มิถุนายน 2489, 11 มิถุนายน - 29 สิงหาคม 2489) 
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (23 สิงหาคม 2489 – 30 พฤษภาคม 2490, 30 พฤษภาคม–8 พฤศจิกายน 2490) 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเมืองในช่วงภายหลังสงครามโลกจนถึงการรัฐประหารนั้นเป็นเวลาไม่ถึง 2 ปีครึ่ง แต่มีความผันผวนอย่างมากจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปถึง 8 ชุด

ไม่นานหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สัมพันธมิตรเมื่อ 14 สิงหาคม 2488 ไทยได้มีการประกาศสันติภาพ (16 สิงหาคม 2488) ซึ่งมีสาระสำคัญที่ทำให้คำประกาศสงครามระหว่างไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ 

ในขณะนั้นไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอังกฤษ ซึ่งมีลอร์ด หลุย เม้าท์แบตแต้นท์ (Louis Mountbatten) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมารัฐบาล ทวี บุญยเกตุ ได้ส่งผู้แทนเดินทางไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกา เพื่อยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน แต่อังกฤษมีความประสงค์ที่จะลงโทษไทย เนื่องจากไทยเคยประกาศสงครามกับอังกฤษ และทำให้อังกฤษได้รับเสียหายด้วยข้อตกลงสมบูรณ์แบบ (Formal Agreement) ที่มีข้อบังคับจำนวน 21 ข้อ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมด้านกิจการทหาร การจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และการควบคุมการค้าข้าว ดีบุก และยางพารา ข้อตกลงของอังกฤษเหล่านี้ทำให้ไทยตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามและเสียเปรียบอังกฤษเป็นอย่างมาก ความวิตกที่อังกฤษจะลงโทษไทยทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตทูตไทยประจำสหรัฐฯ ในระหว่างการเดินทางกลับมาไทยเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เขาได้เสนอให้ข้าวให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 1,500,000 ตันเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับอังกฤษเพิ่มเติมขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯในฐานะแกนนำในฝ่ายสัมพันธมิตรมีความต้องการที่จะเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนอังกฤษ จึงได้ให้ความช่วยเหลือไทยให้พ้นจากฐานะของผู้แพ้สงคราม โดยสหรัฐฯเห็นว่าไทยมีฐานะเพียงรัฐที่ศัตรูยึดครอง(an enemy-occupied state)เท่านั้น และไทยมิได้เป็นศัตรูกับสหรัฐฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น สหรัฐฯจึงไม่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากไทย นอกจากนี้สหรัฐฯยังได้เข้ามาแทรกแซงความตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษซึ่งทำให้ข้อตกลงสมบูรณ์แบบที่อังกฤษเสนอแก่ไทยถูกลดทอนความแข็งกร้าวลง เนื่องจากสหรัฐฯไม่ต้องการให้อังกฤษกลับเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจต่อไทยอีกครั้ง ในช่วงปลายสงครามโลกนั้นเอง สหรัฐฯได้เริ่มเห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะแหล่งทรัพยากรอันมีความอุดมสมบูรณ์ที่จะสามารถฟื้นฟูความอดอยากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกภายหลังสงครามได้

ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทยหลายชุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ความขาดแคลนสินค้า และเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเรื่องการส่งข้าวจำนวนมหาศาลให้อังกฤษในราคาที่ตายตัวและทันเวลา ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าราคาที่ต้องส่งมอบให้อังกฤษ ยิ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการกักตุนข้าวและลักลอบส่งออกนอกประเทศโดยผิดกฎหมาย อันก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าวภายในประเทศ และการเกิดตลาดมืดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาโจรผู้ร้ายมีความชุกชุมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ปัญหาต่างๆเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนให้แก่ไทยภายหลังสงครามโลกเป็นอย่างยิ่ง

ความร่วมมือและแตกสลายของพันธมิตรช่วงสงครามระหว่าง“กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

เมื่อความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในนาม “ขบวนการเสรีไทย” บรรลุเป้าหมายในการกดดันให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวลงจากอำนาจและต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นสำเร็จ ต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง การเป็นพันธมิตรระหว่างกันก็แตกสลายลงด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยพระราชวงศ์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และได้เคยถูกคณะราษฎรเนรเทศออกไปไปนอกประเทศ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”บางส่วนที่ถูกจองจำไว้ในเรือนจำให้ได้รับอิสรภาพให้กลับมาเป็นผู้นำในการเมืองไทยอีกครั้ง 

ในรายงานของนาย ทหารไทยผู้หนึ่งเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ เขาได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษมีแผนการทวงทรัพย์สินของของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่รัฐบาลยึดไปกลับคืนโดยแกนนำของกลุ่มดังกล่าว คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตสมเด็จพระราชินีของพระปกเกล้าฯ และกลุ่มพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชสกุลสวัสดิวัตน์ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945 ในรายงานเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวขอการสนับสนุนจากอังกฤษ และโปรดดู การฟ้องร้องคดีระหว่างรัฐบาลและพระปกเกล้าฯใน สุพจน์ แจ้งเร็ว, “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน, 2545): 63-80. )

ในรายงานจากนายทหารไทยถึงกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯฉบับดังกล่าวได้รายงานอีกว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษ มีเป้าหมายในการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เกิดขึ้นใหม่ พวกเขาได้เคยเคลื่อนไหวเจรจาขอการสนับสนุนจากอังกฤษและสหรัฐฯ ผ่านลอร์ด หลุยส์ เม้าท์แบตแตนและน.อ.มิลตัน ไมล์ แห่งโอเอสเอส เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศให้สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทยอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์”ในอังกฤษมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์จากสายสมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า หรือราชสกุลมหิดล กลับมาสู่สายของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี หรือราชสกุลจักรพงษ์ ด้วยการกดดันให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงสละราชย์สมบัติ และผลักดันให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ขึ้นครองราชย์แทน

อย่างไรก็ตาม การกดดันรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ลงจากอำนาจในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับ “กลุ่มจอมพล ป.” โดยเฉพาะอย่างกลุ่มทหารเป็นอันมาก 

เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนหลังสงครามที่ “กลุ่มปรีดี” ให้การสนับสนุนได้ทอดทิ้งกองทัพไทยไว้ในสมรภูมิที่เชียงตุง ทำให้กองทัพต้องหาหนทางเดินทางกลับกรุงเทพฯเอง โดยมิได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลไม่เคารพเกียรติภูมิของกองทัพ อีกทั้งรัฐบาลได้ปลดทหารประจำการลงจำนวนมากและมีการประนามว่ารัฐบาล จอมพล ป.และกองทัพ เป็นผู้นำพาไทยเข้าร่วมสงครามโลกจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เสรีไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือครองอาวุธทัดเทียมกองทัพ ในขณะที่ภาพลักษณ์ของกองทัพถูกเหยียดหยามจากเสรีไทยและนักการเมืองที่เคยเป็นเสรีไทย

เมื่อ ควง อภัยวงศ์ สมาชิกที่เป็นกลุ่มพลเรือนในคณะราษฎรได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมความผิดในปี 2488 ให้กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ผู้เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ตามข้อตกลงต่างตอบแทนที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน แกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษได้ทรงร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2  

ส่งผลให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับคณะราษฎร์สามารถเดินทางกลับยังประเทศและเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองได้อีกครั้ง ซีไอเอรายงานว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ทำให้ความขัดแย้งในการควบคุมการเมืองไทยระหว่างคณะราษฎรกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกนับแต่การปฏิวัติ 2475 นั้นได้กลับมาปะทุอีกครั้งภายหลังสงครามโลก 

ด้วยเหตุที่การปลดปล่อยนักโทษ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กระทำในสภาพการเมืองแบบเปิดกว้างและพวกเขายังคงมีความเจ็บแค้นคณะราษฎรอย่างลึกซึ้ง ทำให้การปลดปล่อยดังกล่าวแทนที่จะกลายเป็นการปลดปล่อยพลังของความร่วมมือแต่กลับกลายเป็นพลังของการต่อต้าน และพวกเขาได้ร่วมกันบ่อนทำลาย“กลุ่มปรีดี”ลงในที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องการกำจัดคณะราษฎรทั้งหมด 

ทั้งนี้ในรายงานของอดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสคนหนึ่งได้รายงานว่า ในช่วงสงครามไม่มี “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้ใดที่จะกล้าต่อกรทางการเมืองกับ จอมพล ป.ในขณะที่พวกเขาได้แต่เรียกร้องให้ ปรีดี พนมยงค์ ช่วย เหลือพวกเขาเท่านั้น แต่ในช่วงหลังสงครามนั้น พวกเขารวมตัวกันมีอำนาจมากพอที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองของ ปรีดี ผู้ที่เคยช่วยปลดปล่อยพวกเขาแล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเป็นพันธมิตรระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงความร่วมมือชั่วคราวที่ทั้งสองต่างได้รับประโยชน์ ทั้งนี้การหมดอำนาจลงของ”กลุ่มจอมพล ป.” ทำให้ “กลุ่มปรีดี” สามารถกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ส่วน“กลุ่มรอยัลลิสต์” ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือมากกว่า 

เนื่องจากไม่ใช่แค่พวกเขาสามารถทำลายอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ“กลุ่มจอมพล ป.” ซึ่งเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งในคณะราษฎร์และได้เคยมีบทบาทในการปราบปรามการต่อต้านของพวกเขาอย่างรุนแรงลงได้เท่านั้น แต่พวกเขายังได้รับเกียรติยศ บรรดาศักดิ์ต่างๆที่เคยถูกถอดลงจากการทำความผิดฐานก่อการกบฎในอดีตกลับคืนเท่านั้น แต่พวกเขารับสิทธิในการต่อสู้ทางการเมืองกลับคืนมา พร้อมกับการได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลนิรโทษกรรมและปลดปล่อยสมาชิกของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยพลาดพลั้งถูกจับกุมตกเป็นนักโทษการเมืองให้กลับมาเป็นกำลังหนุนให้กับกลุ่มของตนในการต่อสู้กับคณะราษฎรภายหลังสงครามโลกอีกด้วย ดังนั้นการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มรอยัลลิสต์” กับคณะราษฎรครั้งนี้ คณะราษฎรเหลือแต่เพียง “กลุ่มปรีดี” เท่านั้น

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มการเมืองสำคัญ 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนในคณะราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนฯ จากภาคอีสาน อดีตเสรีไทย และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งประกอบด้วย พระราชวงศ์ บุคคลผู้จงรักภักดี อดีตนักโทษการเมือง และอดีตเสรีไทย 

ทั้งสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มแรกให้ความสำคัญกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎรจนถึงมีความคิดที่โน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม และพวกเขาสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

ส่วนกลุ่มหลังนั้นมีกลุ่มย่อยภายในหลายกลุ่มและขาดเอกภาพทางความคิดและการนำ เนื่องจากพวกเขามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน นับตั้งแต่การสนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์ การต่อต้านคณะราษฎร การทวงทรัพย์สินกลับคืน การฟื้นฟูเกียรติยศและเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์ และการต้องกลับมาสู่การต่อสู้ทางการเมือง 

อีกทั้ง ภายใน“กลุ่มรอยัลลิสต์”เองนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการช่วงชิงความเป็นผู้นำกลุ่มระหว่าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ผู้ทรงสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ กับ สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สนับสนุนราชสกุลมหิดล จนกระทั่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรได้รับการสนับสนุนจาก พระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” จำนวนหนึ่งให้ทรงเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

หลังการปลดปล่อยนักโทษการเมืองได้ไม่นาน ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นแกนนำในการรวบรวมอดีตนักโทษการเมืองที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ม.ร.ว นิมิตรมงคล นวรัตน์ ,ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ สอ เสถบุตร มาร่วมจัดตั้งพรรคก้าวหน้าในปลายปี 2488 เพื่อการเคลื่อนไหวต่อ ต้านคณะราษฎรในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ โดยม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แกนนำคนหนึ่งของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ประกาศตัวตนในบทความเรื่อง “ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์” ที่เรียกร้องการเพิ่มอำนาจการเมืองให้พระมหากษัตริย์และรื้อฟื้นเกียรติยศของราชวงศ์กลับคืน

ทั้งนี้สมาชิกของพรรคก้าวหน้าเป็นพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” โดยพรรคการเมืองนี้มีนโยบายสำคัญ คือต่อต้านคณะราษฎร ในการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” นั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์”ได้ใช้แผนการสกปรกเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยการสร้างความเสื่อมเสียให้กับผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเช่น 

แผนการต่อสู้ทางเมืองของโชติ คุ้มพันธ์ จากพรรคก้าวหน้า กับทองเปลว ชลภูมิ จากพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2488 พรรคก้าวหน้าใช้แผนสร้างความเสื่อมเสียให้กับ ทองเปลว ด้วยการให้สมาชิกพรรคฯ นำสีไปขีดเขียนตามที่สาธารณะ วัด เรียกร้องให้ประชาชนเลือกทองเปลวเลอะเทอะไปทั่วที่สาธารณะ อีกทั้งได้ให้พวกเขาไปตะโกนให้ประชาชนเลือกหมายเลขคู่แข่งที่ก่อความรำราญอันทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรังเกลียดทองเปลวอย่างมาก และหันมาเลือกโชติซึ่งเป็นคู่แข่งขันแทน นอกจากนี้ ในเช้าตรู่วันเลือกตั้ง พรรคก้าวหน้าได้ใช้ให้สมาชิกพรรคฯ ไปตบประตูและตะโกนเรียกให้ประชาชนตามบ้านเลือก ทองเปลว พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความโกรธให้กับประชาชนมาก ประชาชนจึงลงคะแนนให้กับ โชติ พรรคตรงกันข้ามแทน (“นายประชาธิปัตย์”, กลวิธีหาเสียงเลือกตั้ง [พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, 2511],หน้า 124.; ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ศิลปการเลือกตั้ง [พระนคร: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2517],หน้า 124-128.; ปรีดี พนมยงค์, “คำนิยม” ใน ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์, พุทธปรัชญาประยุกต์ [กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2517],หน้า (6)-(7).)

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นล้วนได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากปรีดีมีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้การสนับสนุนเขามาก ทำให้เขามีอิทธิพลที่สามารถให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่ยากนัก 

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ปรีดี ได้ตัดสินใจยุบ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เป็นฐานให้การสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของเขาส่งผลให้อำนาจของเขาถูกท้าทายจาก ควง อภัยวงศ์ อันมีเหตุมาจากการที่เขาไม่สนับสนุนให้ ควง กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากเขาเห็นว่า ควง มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจสูง ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของเขา แต่สุดท้ายแล้ว ควงได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ควงแยกตัวออกจากคณะราษฎรไปแสวงหาการสนับสนุนทางการเมืองจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และควงสามารถจัดตั้งรัฐบาลของเขาที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มปรีดี” ได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2489 โดยควงได้รับความช่วยเหลือจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” หลายคนเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พระยาศรีวิสารวาจา อดีตข้าราชการในระบอบเก่าที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมอย่างมาก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาอัศวราชทรงศิริ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ ปรีดี ตัดสินใจยุบเลิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังที่มีส่วนในการปกป้องรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” ลงในขณะที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์”กลับมีพลังทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เขาตระหนักว่า กลุ่มการเมืองของตนปราศจากฐานสนับสนุนอำนาจ เวลาต่อมา ปรีดี และ“กลุ่มปรีดี” ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น 2 พรรคที่สำคัญ คือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันสมาชิกคณะราษฎรทั้งส่วนพลเรือนและทหารที่ยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

หลัก 6 ประการสามารถประมวลได้ดังนี้

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถจะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ส่วนพรรคสหชีพ เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสาน และอดีตเสรีไทย ยึดถือนโยบายสังคมนิยมและต่อต้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อใช้พรรคการเมืองทั้งสองพรรคต่อสู้ทางการเมืองกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคลื่อนไหวรวมตัวกันทางการเมืองอย่างเข้มข้นภายหลังสงครามโลก

ในขณะเดียวกัน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2489 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่าง ควง อภัยวงศ์กับ พระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์อันแนบแน่นมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้กลุ่มดัง กล่าวประกอบด้วย พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ,เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
,ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช ,สมบูรณ์ ศิริธร ,เทียม ชัยนันท์ ,เลียง ไชยกาล และใหญ่ ศวิตชาติ เป็นต้น ในเวลาต่อมา พวกเขาได้จัดประชุมทางการเมืองเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นที่บ้านของพระพินิจชนคดีเพื่อร่วมมือกันต่อต้านคณะราษฎร โดยได้รับเงินทุนก้อนแรกในจัดตั้งพรรคการเมืองจากพระพินิจชนคดี

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง โดยปราศจากนโยบายพรรคฯที่มีความชัดเจน เนื่องจากสมาชิกในพรรคฯ มีความต้องการที่หลากหลาย เช่น สมาชิกบางส่วนมีความต้องการกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ บางส่วนต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ บ้างก็ต้องการมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่บางส่วนก็ไม่ต้องการ จอมพล ป. อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ คือเพื่อค้านเท่านั้น

จากรายงานของอดีตโอเอสเอสคนหนึ่งรายงานว่ารัฐบาล ควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และมีความพยายามทำลายฐานทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ที่มาจากอดีตเสรีไทย และนักการเมืองฝ่ายซ้าย จากนั้น “กลุ่มปรีดี” นำโดยพรรคสหชีพและ สงวน ตุลารักษ์ ได้เริ่มดำเนินการตอบโต้รัฐบาลควง โดยได้สนับสนุนให้กรรมกรจีนและคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลควงเพื่อเป็นการโต้ตอบ ไม่นานจากนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การที่รัฐบาลควงพ่ายแพ้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ ทำให้ควงต้องลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงสองเดือนนี้สร้างความไม่พอใจให้ควงเป็นอย่างมาก

จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวมามีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนถัดมา ด้วยเหตุความพ่ายแพ้ในสภาผู้แทนฯ ได้สร้างความไม่พอใจ ของควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”มาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในต้นเดือนเมษายน 2489 โดยผลงานทางการเมืองในช่วงแรกเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์ คือการตอบโต้รัฐบาลปรีดีทันที

โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหารัฐบาลปรีดีและเหล่าเสรีไทยว่า ร่วมกันยักยอกเงินจากงบสันติภาพของเสรีไทย แต่ผลการสอบสวนโดยคณะกรรมธิการของสภาผู้แทนฯ ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลปรีดีเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ในเวลาต่อมา ผนวกกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ถูกประกาศใช้นำไปสู่การเลือกตั้งนั้นยิ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านพรรคการเมืองที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงแรกเริ่มของการก่อตัวนั้น พวกเขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อในการหาเสียงการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2489 ว่า การเสด็จนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 และการเสด็จเยาวราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อช่วงชิงผลงานจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์นอกจากนี้ พวกเขายังได้พยายามอ้างว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนพรรคฯของตน 

แต่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลปรีดียังคงได้รับชัยชนะ จากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มรณรงค์ต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมๆกับการโจมตี ปรีดี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และการเริ่มต้นแผนการโกงการเลือกพฤติสภา ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯทรงบันทึกว่าควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี  ( A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 547-549 )

ขอบคุณข้อมูลตัดมาจากบางส่วนของวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) โดย ณัฐพลจริงใจ