วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คำพิพากษาคดีลุง sms / Judgement of Uncle SMS case

ความคืบหน้าล่าสุด: ศาลอาญาพิพากษา ลุง sms มีความผิดหมิ่นสถาบันฯ จำคุก 20 ปี

ศาล เทเลคอนเฟอร์เรนซ์อ่านคำพิพากษานายอำพล ฐานส่ง SMS หมิ่นฯ 4 ครั้ง ผิดตาม ปอ.มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) และ (3) ลงโทษกรรมละ 5 ปีรวมจำคุก 20 ปี ชี้หลักฐานอิเล็กทรอนิคส์น่าเชื่อว่าส่งจากเครื่องโทรศัพท์ที่จำเลยใช้ และจากย่านที่พักของจำเลย

23 พ.ย. 54 จากเหตุน้ำท่วมทำให้เรือนจำไม่สามารถเบิกตัวนายอำพล (สงวนนามสกุล) จำเลยคดีส่ง sms หมิ่นไปยังโทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้ มาฟังคำพิพากษาหน้าบัลลังก์ได้ ศาลอาญาจึงอ่านคำพิพากษาทางไกลผ่านระบบเทเลคอนเฟอร์เรนซ์แทน ภรรยาของนายอำพล ลูกหลาน และผู้ร่วมให้กำลังใจราว 30 คนได้รับอนุญาตให้เข้าฟังคำพิพากษาด้วย


ผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ขึ้นบังลังค์เวลา 10:25 น. ที่ห้องเวรชี้ ชั้นล่างของศาลอาญา


ศาลพิพากษาว่า ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ได้จาก DTAC และ TRUE นั้นเป็นหลักฐานที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเก็บโดยระบบคอมพิวเตอร์ตาม ที่กฎหมายกำหนด หากผู้ให้บริการจัดเก็บไม่ถูกต้องลูกค้าย่อมไม่เชื่อถือ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงถือว่าหลักฐานข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้รับถือเป็นเอกสารที่ น่าเชื่อถือ


สำหรับประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้ แต่จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2000 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6  ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตามที่พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็นใน ศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 เท่านั้นจึงปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่นแต่จากการทดสอบแล้วไม่ปรากฏว่าเป็น รุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง


นอกจากนี้ เนื่องจากหมายเลขอีมี่ในคดีนี้ตรงกับหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโร ล่าที่นายอำพลใช้ และรับว่าใช้อยู่ผู้เดียว จึงยากที่จะมีผู้อื่นนำไปใช้ได้ และพบว่ามีการใช้โทรศัพท์เครื่องนี้กับซิมการ์ดสองเลขหมาย ซึ่งจากหลักฐานชี้ชัดว่า ซิมการ์ดทั้งสองหมายเลขถูกใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานในเวลาที่ซ้ำกัน จึงเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดได้นำซิมการ์ดมาสลับใช้อย่างที่เจ้าหน้าที่ ตำรวจตั้งสมมติฐานไว้ นอกจากนี้ข้อมูลการจราจรยังระบุว่าข้อความถูกส่งโดยเซลไซต์ จากย่านที่จำเลยพักอาศัยอยู่ด้วย

   
การที่จำเลยอ้างว่า โทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านค้าในห้างอิมพีเรียลสำโรง ศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กล่าวคือ แจ้งในชั้นจับกุมว่าโทรศัพท์มือถือเคยเสียและนำไปซ่อมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่แจ้งในศาลว่านำไปซ่อมเมื่อเดือนเมษายน 2553 อีกทั้งยังจำร้านที่นำโทรศัพท์ไปซ่อมไม่ได้ ทั้งที่การนำไปซ่อมต้องไปที่ร้านถึงสองครั้งคือตอนนำไปซ่อม และไปรับคืน จึงถือว่าข้อมูลส่วนนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่งSMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรตินั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง


แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่ง ข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุาการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของ ตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้ เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน


ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้นเวลา 10.43 น. รวมระยะเวลา 18 นาที พิพากษาให้จำเลยมีความผิดจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี


เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ซึ่งนั่งอยู่กับนายอำพลที่เรือนจำในห้องฟังคำพิพากษาได้กล่าว ผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ถามว่าคำพิพากษาว่าอย่างไร เพราะตลอดการฟังคำพิพากษาได้ยินเสียงไม่ชัด เจ้าหน้าที่ศาลจึงแจ้งอย่างสั้นๆ ไปว่า ลุงติดคุก 20 ปี


รายละเอียดคดี

ชื่อคดี : คดี "ลุง sms"  
โจทก์ : พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 สำนักงานอัยการสูงสุด  
จำเลย : อำพล (สงวนนามสกุล)  
ข้อหา: มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2), (3)  
หมายเลขคดี : คดีหมายเลขดำที่ อ. 311/2554  
ข้อมูลพื้นฐาน :
จำเลย ถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือ หมายเลข 081-349-3615 ส่งข้อความอันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้งไปยังโทรศัพท์มือถือหมายเลขโทรศัพท์ 081-425-5599 ของนายสมเกียรติ  ครองวัฒนสุข  ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
3 สิงหาคม 2553 จำเลย วัย 61 ปี ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

จำเลยให้การปฏิเสธ ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่ง SMS และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ส่งนั้นก็ไม่ใช่ของตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าผู้ส่งข้อความหักซิมการ์ดทิ้งไปแล้ว จึงสืบเบาะแสจากหมายเลขประจำเครื่อง (IMEI)

จำเลยเคยประกอบ อาชีพขับรถส่งของ ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรแล้วเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัดหลังการ ผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ทุกวันนี้อาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้รับจากลูกๆ อีกเล็กน้อย แต่ละวันมีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลาน 3-4 คน

หลังถูกจับกุมเมื่อ วันที่ 3 ส.ค.53 เขาถูกคุมตัวในเรือนจำนวน 63 วัน และได้ประกันตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 หลังจากนั้น ในวันที่ 18 ม.ค. 54 อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี จำเลยจึงต้องถูกควบคุมตัวอีกครั้ง ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมความผิดทางเทคโนโลยี หลังจากได้รับ SMS จากเบอร์โทรศัพท์หมายเลข 0813493615 ที่ส่งมายังเครื่องของตนในวันที่ 9, 11, 12, 22 พ.ค. 2553 รวมจำนวน 4 ข้อความ

นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เป็นเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 54 มติคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่าย การเมือง

หลังการแจ้งข้อกล่าวหา กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยียื่นขอคำสั่งศาล ให้ออกหมายจับศาลอาญา รัชดา ที่ 1659 /2553 ลงวันที่ 29 ก.ค.53 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีโทษจำคุก 3-15 ปี

3 สิงหาคม 2553 เวลา 7.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นาย นำโดย พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผบช.ก. พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รรท.ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ รอง ผกก.1 บก.ป. และ พ.ต.ท.สุทธิเวท บุญยรัตกลิน สว.กก.1 บก.ป. พร้อมด้วยสื่อมวลชน เข้าจับกุม นายอำพล ตั้งนพกุล ที่บ้านเลขที่ 52 หมู่ที่ 1 ต.คลองสวน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยจับกุมได้ที่ห้องเช่าไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ระหว่างซอยวัดด่านสำโรง 17/1 และซอยวัดด่านสำโรง 19 หมู่ที่ 4 ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโมโตโรล่า 2 เครื่อง และยี่ห้อเทเลวิซ อีก 1 เครื่อง ซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้า

จำเลยปฏิเสธข้อหา ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่งข้อความสั้นบนโทรศัพท์มือถือ ไม่เคยส่งเอสเอ็มเอสเลย เพราะส่งไม่เป็น มีโทรศัพท์ไว้สำหรับโทรออกอย่างเดียว และเขากล่าวด้วยว่าเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่ง SMS นั้นไม่ใช่เบอร์ของเขา และโทรศัพท์เครื่องที่จำเลยใช้งานอยู่นั้นเคยเป็นของลูกเขย ซึ่งให้เขาเอามาใช้อีกทีหนึ่ง

พล.ต.ท.ไถง กล่าวผ่านหนังสือพิมพ์มติชนว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหา แต่ยอมรับว่า โทรศัพท์ทั้งหมดเป็นของตนจริง แต่ได้เลิกใช้ไปนานแล้ว ทั้งนี้ผู้ต้องหาไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง จึงไม่เชื่อว่าจะทราบเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลสำคัญของประเทศและส่ง ข้อความที่ไม่เหมาะสมได้ จึงเชื่อว่าจะมีผู้สนับสนุนหรืออยู่เบื้องหลัง และยังเชื่อว่าจำเลยเป็นฮาร์ดคอร์กลุ่มคนเสื้อแดง จ.สมุทรปราการ ที่ กอ.รมน. ขึ้นบัญชีดำไว้ด้วย

จำเลยถูกจับกุมโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลา 63 วัน จากนั้นในวันที่ 29 ก.ย.53 ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

18 ม.ค. 54 อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2),(3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา

หลังมีคำสั่งฟ้อง ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้งโดยใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักทรัพย์ คำร้องของทนายความส่วนหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนีใดๆ เลย เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นเพียงชายสูงอายุธรรมดาอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกสะใภ้ และหลาน 3 คนในห้องเช่าในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ เพราะอายุมากแล้ว ผู้ร้องยังชีพด้วยเงินที่บุตรของผู้ร้องส่งให้เดือนละประมาณ 3,000 บาท และใช้สิทธิการรักษาตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ผู้ร้องยังเป็นโรคมะเร็งช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางที่ โรงพยาบาลราชวิถีอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ก่อนถูกจับกุมหากผู้ร้องมีหน้าที่รับส่งหลานๆไปยังโรงเรียน หากออกไปทำธุระนอกบ้านผู้ร้องก็ต้องกลับมาอาศัยที่บ้านเสมอ และในขณะจับกุมผู้ร้องซึ่งมีอายุ 60 ปี ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 15 นายพร้อมกับสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ผู้ร้องและบุคคลในครอบครัวผู้ร้องยังมีอาการตระหนกตกใจ และผู้ร้องก็ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือขัดขืนการจับกุมใดๆ ทั้งนี้เมื่อผู้ร้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนผู้ร้องก็มา รายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพนักงานอัยการนัดหมายมาฟ้องคดีผู้ร้องก็รีบเตรียมเอกสารและหาหลัก ประกันโดยเร็วให้ทันนัดหมายของพนักงานอัยการเพื่อไม่ให้เนิ่นช้าออกไป ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องไม่เคยมี พฤติการณ์ใดๆและไม่มีความสามารถซึ่งจะทำให้ศาลอาญาเกรงว่าผู้ร้องจะหลบหนี ได้

คำร้องของทนายความยังอ้างว่า การควบคุมตัวผู้ร้องระหว่างการพิจารณาจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิตและ ร่างกายโดยตรงของผู้ร้องและไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อการพิจารณาคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องมีปัญหาทางสุขภาพ มีโรคร้ายประจำตัว และผู้ร้องซึ่งยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดจึงมีสิทธิใน การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 39 วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 40(7)

ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาของข้อหา ตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเป็นการกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินีและองค์รัชทายาท นับเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบความรู้สึกของปวงชนชาวไทย หากให้จำเลยปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จึงยกคำร้อง
  
จำเลยถูกควบคุมตัวจนปัจจุบัน ระหว่างช่วงเวลาที่ถูกจับกุม ทนายความยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกหลายครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต
 
6 ตุลาคม 2554 หลังการสืบพยานทุกปากเสร็จเรียบร้อย ทนายความยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ด้วยหลักทรัพย์เป็นที่ดินของญาติจำเลย ที่ศาลอาญารัชดา แต่ศาลไม่ให้ประกันเนื่องจาก ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
 
ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลได้นัดหมายให้ทำการสืบพยานโจทก์ และสืบพยานจำเลย ดังนี้
 
23 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)
27 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)
28 กันยายน 2554 (สืบพยานโจทก์ ศาลอาญา ห้อง 801)
30 กันยายน 2554 (สืบพยานจำเลย ศาลอาญา ห้อง 801)
 
 
บันทึกสังเกตการณ์การสืบพยาน
 
พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง  นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผู้กล่าวโทษ
วันที่ 23 กันยายน 2554 (วันแรก)

ผู้พิพากษา ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ขึ้นบังลังค์เวลา 10.00 น. 
สม เกียรติเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 19 พ. ค. 2553 เวลาประมาณ 12.13 น. มีข้อความขนาดสั้นส่งมาที่มือถือหมายเลข 0814255599 ของตน เป็นข้อความที่มีลักษณะหยาบคาย กล่าวถึง พระราชินี พยานได้ถ่ายภาพหน้าจอมือถือเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยหมายเลขผู้ส่งขึ้นว่า +66813493615
สมเกียรติให้การต่อว่ามีข้อความจากหมายเลขโทรศัพท์ดัง กล่าวส่งมารวม 4 ครั้ง ทุกครั้งจะกล่าวถึงในหลวงและราชินีด้วยถ้อยคำหยาบคาย อาฆาตมาดร้าย ซึ่งตนได้ถ่ายภาพหน้าจอไว้ทุกครั้ง
ต่อมาได้แจ้งความ ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยมอบหลักฐานภาพถ่ายหน้าจอมือถือ ขณะที่แจ้งนั้น ยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของหมายเลขผู้ส่ง ต่อมาได้ทราบว่า ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ และทราบชื่อว่าเป็นจำเลย(กล่าวชื่อจำเลย) ทั้งนี้ ตนไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน
พยานตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่าหมายเลขโทรศัพท์ของนายสมเกียรติเปิดใช้บริการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งหมายเลขนี้ใช้ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว เป็นที่แพร่หลายค่อนข้างมาก เพราะต้องแสดงหมายเลขไว้ให้สำหรับติดต่อกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อร้องทุกข์ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหมายเลขดังกล่าวได้ พบว่าที่ผ่านมามีคนโทรเข้ามาร้องทุกข์เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะได้รับข้อความ สมเกียรติไม่เคยเห็นหมายเลข +66813493615 และไม่เคยได้รับการติดต่อจากหมายเลขนี้
ผู้พิพากษาเห็นว่า คำถามของทนายจำเลยไม่เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงไม่มีการบันทึกคำให้การดังกล่าว
ทนาย ความ จำเลยถามต่อ ได้ความว่า สมเกียรติเริ่มดำเนินการแจ้งความเมื่อมีการส่งมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง และได้ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่วันที่ 28 มิถุนายน 2553 ศาลบันทึกให้เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลา 10.15 น. รวมระยะเวลาสืบทั้งสิ้น 15 นาที มีผู้สังเกตการณ์ราว 20 คน ประกอบด้วยเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของจำเลยร่วมอยู่ด้วย 5-6 คน อายุตั้งแต่ 5-11 ปี สื่อมวลชนและผู้มาให้กำลังใจ



พยานโจทก์ปากที่สอง ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เจ้าหน้าที่สืบสวนและร่วมจับกุมจำเลย
วันที่ทำการสืบพยาน 23 กันยายน 2554 (วันแรก)

หลังสิ้นสุดการสืบนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุขแล้ว ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย ขึ้นให้การเป็นพยานโจทก์ปากที่สองเมื่อเวลา 10.30 น. มีผู้พิพากษาภัทรวรรณ ทรงกำพลเพิ่มมาเป็นองคณะร่วมกับผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ที่ขึ้นบัลลังก์อยู่ก่อนแล้ว 
ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนเป็นรองสารวัตรประจำกองบังคับการปราบปรามและเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนจับกุม ผู้กระทำความผิด โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ตนได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ให้สอบสวนคดีที่มีผู้ส่งข้อความขนาดสั้น (sms) ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามือถือของเลขานุการนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ร.ต.อ. ศักดิ์ชัยกล่าวว่าตนจำชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ไม่ได้แล้ว อัยการจึงถามว่าหมายเลขนั้นลงท้ายด้วย -3615 ใช่หรือไม่ เขาจึงตอบว่าจำได้ลางๆ ว่า ใช่
เบิกความต่อว่าตนทราบว่าข้อความนั้น เป็นข้อความหมิ่นฯ จากคำสั่งที่ได้รับมา แต่ไม่ได้เห็นข้อความ ตนทราบว่ามีการส่งข้อความมาที่เบอร์ -5599 ของนายสมเกียรติหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม
หลังได้รับคำสั่ง จึงทำการสืบสวนโดยขอข้อมูลจากบริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC) จากนั้นได้รับข้อมูลตอบกลับมาว่า หมายเลขที่ใช้ส่งข้อความนั้นระงับการใช้งานไปแล้ว ไม่มีการใช้งานในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าหมายเลขดังกล่าวใช้งานด้วยระบบเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน
นอก จาก นั้นตนยังเป็นคนตรวจสอบหาเลขอีมี่ พบว่าหมายเลขโทรศัพท์นั้นใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์ที่มีหมายเลข IMEI  358906000230110 โดยส่งsms จากบริเวณวัดด่านสำโรง ตามเอกสารข้อมูลการใช้โทรศัพท์ พบว่ามีการส่งต่อเนื่องและมีการหยุดใช้งานไปเหมือนมีการถอดซิมการ์ดออก ตนจึงได้รายงานไปที่ พ.ต.ท. ธีรเดช และ พ.ต.ท. ธีรเดช ได้ส่งเรื่องไปที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้ทำการแขวนอีมี่ ซึ่งหมายถึง การนำเลข IMEI ไปตรวจสอบดูว่า ปัจจุบันหมายเลข IMEI ดังกล่าวใช้งานกับหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขใดอีกบ้าง จึงทราบว่า หมายเลข IMEI ดังกล่าวใช้กับหมายเลขที่ลงท้ายด้วย -4627 ของระบบทรู
ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ให้การต่อว่า หลังจากนั้น พ.ต.ท. ธีรเดช จึงประสานงานไปที่บริษัททรูอีกครั้งเพื่อตรวจสอบการใช้งานของหมายเลข -4627 ทั้งหมด เมื่อได้เอกสารมา ก็วิเคราะห์ข้อมูลและพบว่า ทั้งหมายเลข -3615 และ -4627 มีพื้นที่ใช้งานใกล้เคียงกัน โดยได้พบว่าหมายเลข -4627 มีการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อชายคนหนึ่งซึ่งเป็นสามีของนางกรวรรณ บุตรสาวของจำเลย
ต่อจากนั้นตนจึงสืบหาว่าหมายเลขโทรศัพท์ -4627 ใช้ติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ใดบ้าง พบว่ามีการติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาวปิยมาศ และนางกรวรรณบุตรของจำเลยเป็นประจำ จึงเชิญนางกรวรรณมาสอบปากคำ และได้รับการยืนยันว่า หมายเลข -4627 เป็นของจำเลย บ้านของจำเลยอยู่ในซอยวัดด่านสำโรง 2 และเมื่อพบว่าเลข IMEI ตรงกับเครืองที่ใช้ส่งข้อความสั้นด้วยหมายเลข -3615 จึงเข้าใจว่าเป็นเครื่องเดียวกัน จึงไปตรวจสอบที่บ้านและพบจำเลยอยู่ที่นั่น
ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยให้การต่อว่า บ้านของจำเลยเป็นบ้านเช่า และนางกรวรรณได้ให้ปากคำว่า จำเลยพักอยู่กับนางสาวปิยมาศ บุตรสาวอีกคนหนึ่ง 
ต่อ มามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และขอหมายจับจากศาล และตนเป็นผู้ร่วมจับกุมด้วย โดยในขณะที่จับกุมนั้น ตำรวจเข้าตรวจยึดของกลางได้ 5 ชิ้น มีโทรศัพท์ยี่ห้อ Motorola ที่มีเลข IMEI ตรงกับที่ตรวจสอบ และจำเลยบอกว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้น
แจ้ง เพิ่มเติมในศาลด้วยว่า จำเลยกล่าวในชั้นจับกุมว่า ก่อนหน้านี้โทรศัพท์มือถือเสียและได้เอาไปซ่อมที่อิมพีเรียล สำโรงในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553
ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่า ระยะทางระหว่างอิมพีเรียล สำโรง กับบ้านจำเลย อยู่ห่างกันราว 4 กิโลเมตร
มี คำถามจากทนายความจำเลยอีกสี่ถึงห้าคำถามซึ่งศาลไม่อนุญาตถามเนื่องจากเห็น ว่าไม่เป็นประเด็นและไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ได้แก่ ในวันจับกุม หมายเลข -4627 ไม่ได้อยู่ในเครื่องของกลาง แต่อยู่ในเครื่องของภรรยาจำเลยใช่หรือไม่, ตามเอกสาร จ. 6 แผ่นที่ 10 ที่บอกว่ามีการส่งตรวจหมายเลข -4627 ปรากฏหรือไม่ว่าหมายเลข -4627 ส่ง sms ไปถึงโจทก์, ตามเอกสาร จ.6 ปรากฏคำว่า GSM on net เป็นไปได้หรือไม่ว่าสามารถส่ง sms ทางอินเทอร์เน็ทได้, ตามเอกสาร จ.5 ปรากฏว่าหมายเลข 3615 ใช้เฉพาะการส่ง sms แล้วได้ทำการสืบสวนหรือไม่ว่ามีการส่ง sms ไปยังหมายเลขใดบ้าง
อย่าง ไร ก็ตามในตอนท้ายศาลได้บันทึกคำให้การที่ทนายถามถึงตัวเลข IMEI ที่พบในเอกสารตรวจสอบการใช้งานโทรศัพท์ว่าตัวเลขหลักสุดท้าย หรือ หลักที่ 15 ที่ระบุในพยานเอกสารของโจทก์ไม่ตรงกัน คือ ตามเอกสารหมาย จ. 8,10,11 ปรากฏเลขท้ายอีมี่เป็น 6 ส่วนในเอกสาร จ. 5,6 ปรากฏเป็น 0 ซึ่ง ร.ต.อ. ศักดิ์ชัยไม่ทราบว่าเลขอีมี่สามารถนำมาคำนวณได้
จากนั้นอัยการถามติง เรื่องตัวเลข IMEI ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยให้การว่า ได้แจ้งผู้บังคับบัญชาแล้วว่า ตัวเลข IMEI มีตัวเลขหลักสุดท้ายไม่ตรงกัน อัยการถามอีกว่า ทางบริษัทตอบกลับมาเรื่องเลขอีมี่โดยบอกว่าให้ดูเฉพาะตัวก่อนตัวสุดท้ายใช่ หรือไม่ ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยตอบว่า ใช่
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้เวลาประมาณ 12.30 น. รวมระยะเวลาทั้งสิ้นราว 2 ชั่วโมง

พยานโจทก์ปากที่สาม  นายชุมพล พูลเกษม ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัทดีแทค
วันที่สืบพยาน 27 กันยายน 2554
ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาอนุกูล นาคเรืองศรี และผู้พิพากษาภัทรวรรณ ทรงกำพล ขึ้นบัลลังก์เวลา 10.00 น.
ชุม พลเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของบริษัทโทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.)ได้ร้องขอมายังตนเพื่อดูการใช้งานโทรศัพท์ใน ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ของหมายเลขที่ลงท้ายด้วย -3615 ตนจึงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในบริษัทมาตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงมีการพิมพ์ข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์แล้วทำเป็นเอกสารหนังสือ ส่งไปยังผู้ร้องขอดังกล่าว
ชุมพลกล่าวว่า ได้ตรวจสอบดูแล้วพบว่าหมายเลขดังกล่าวมีการติดต่อทาง sms กับหมายเลข -5599 ในวันที่ 9,11,12,15 และ 22 พฤษภาคม 2553 แต่ไม่ทราบว่าข้อความเป็นอย่างไร
ต่อ มาในเดือนกรกฎาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอตรวจสอบหมายเลขอีมี่ (IMEI) ที่ใช้ร่วมกับหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหมายเลข 358906000230110 จากนั้นตนจึงได้รับการติดต่อมาให้การในคดีนี้
ชุมพลให้การต่อว่า หมายเลข -3615 ใช้ระบบเติมเงินของดีแทค
จาก นั้นทนายจำเลยถามค้าน ชุมพลให้การว่า ครั้งแรกที่ส่งหนังสือถึงตำรวจได้ส่งเฉพาะรายการการใช้โทรศัพท์เท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งหมายเลขอีมี่ แต่มีหนังสือขอทราบหมายเลขอีมี่มาในภายหลังจึงได้ส่งข้อมูลกลับไป เมื่อทนายถามถึงความรู้เกี่ยวกับเลขอีมี่ต่อกรณี หากมีการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์จากต่างประเทศมาใช้ซ้ำที่เมืองไทยจะกระทำการ เปลี่ยนแปลงเลขอีมี่ได้ ชุมพลให้การว่า ตนไม่ทราบ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเลขอีมี่นั้น ศาลไม่บันทึกลงในสำนวนการพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี
การสืบพยานปากนี้ สิ้นสุดเวลา 10.50 น.


พยานโจทก์ปากที่สี่ นายธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ธุรการบริษัทดีแทค ผู้ตรวจสอบการใช้งานหมายเลข -3615
วันที่ทำการสืบพยาน 27 กันยายน 2554
หลัง การสืบพยานปากนายชุมพลเสร็จสิ้น นายธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ธุรการบริษัทดีแทค วัย 36 ปี ขึ้นให้ปากคำเวลา 10.55 น. โดยผู้พิพากษาทั้งสามคน คือ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์ อนุกูล นาคเรืองศรี และภัทรวรรณ ทรงกำพล นั่งบนบัลลังก์ครบองค์คณะ

ธรรมนูญเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการของบริษัทดีแทค ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยตนได้รับหนังสือจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) ให้ตรวจข้อมูลการใช้งานในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ของหมายเลข -3615 จากนั้นตนได้ร่างหนังสือเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลการใช้งานของหมายเลขดังกล่าว ให้นายชุมพล พูลเกษม ลงลายเซ็นต์ด้วย
ธรรมนูญกล่าวว่า ไม่มีการตรวจสอบหมายเลขอีมี่ในครั้งแรกที่ได้รับหนังสือจากปอท. แต่ครั้งต่อมาเมื่อมีหนังสือมาอีกจึงมีการตรวจสอบ
ธรรมนูญให้การว่า ตัวเลขหลักสุดท้ายของอีมี่ไม่มีความสำคัญ เพราะทางบริษัทดีแทคจะใส่เลข 0 ไว้อยู่แล้ว
จาก นั้นทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่า ธรรมนูญรับมอบหมายงานจากนายชุมพล พูลเกษม และเลขอีมี่มีความสำคัญคือเป็นเลขที่ระบุว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นมาจากบริษัท ไหน รุ่นอะไร ซึ่งเกี่ยวกับเลขอีมี่นี้ ศาลไม่ทำการบันทึกเพราะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่เป็นประโยชน์ นอกจากนั้นแล้วธรรมนูญยังให้การว่าเลขอีมี่ไม่สามารถทำการแก้ไขได้
เมื่อ ทนายจำเลยถามเกี่ยวกับเลข เช็ค ดิจิท (Check digit) ซึ่งเป็นเลขหลักสุดท้ายที่รับรองผลการคำนวณตามสูตรคำนวณเฉพาะของเลขอีมี่ 14 หลักแรก ธรรมนูญให้การว่า ไม่รู้จักเลขเช็ค ดิจิท ดังกล่าว
11.45 น. สิ้นสุดการสืบนายธรรมนูญ อิ่มทั่ว

พยานโจทก์ปากที่ห้า นายจักรพันธ์ จุมพลภักดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานราชการ บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น
วันที่ทำการสืบพยาน 27 กันยายน 2554

ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ เล็งเห็นว่าควรให้มีการสืบพยานโจทก์ต่อไปให้เสร็จสิ้นทั้งหมดสี่ปากภายในภาค เช้า เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและเพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของจำเลยด้วย


11.50 น. จักรพันธ์วัย 47 ปี ขึ้นเบิกความต่อศาล ได้ความว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานราชการที่บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น หรือ truemove ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยตนได้รับมอบหมายจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อมูลการใช้งานของหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงท้ายด้วย -4627 เมื่อตรวจแล้วพบว่าหมายเลขดังกล่าวเปิดใช้งานเมื่อ 7 มีนาคม 2551 แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ใช้


สิ่งที่ต้องตรวจสอบนั้นได้แก่ รายการการโทรเข้า-ออก เวลาโทร สถานที่ใช้งาน หมายเลขอีมี่ และสถานีที่ใช้ พบว่าหมายเลขอีมี่ เป็น 3589060002311x โดยเลขตัวหลังนี้บางครั้งพบว่าเป็น 0 บางครั้งพบว่าเป็น 2 ซึ่งสาเหตุนั้นเป็นเพราะในระบบฐานข้อมูลและการแสดงผลจะปรากฏเลขท้ายแสดงค่า ออกมาไม่ตรงกัน นอกจากนั้นจักรพันธ์ยังกล่าวว่า การแก้ไขเลขอีมี่สำหรับโทรศัพท์นำเข้าเพื่อให้มีเลขอีมี่กลางที่ใช้กับทุก เครื่องในระบบนั้นเป็นระบบเก่า ไม่มีการใช้แล้วในปัจจุบัน เพราะโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ผลิตมาจะใช้ได้ทั่วโลก
ทนายจำเลยถามค้าน จักรพันธ์ให้การว่า เลขอีมี่สามารถทำการแก้ไขได้จากช่างซ่อมมือถือทั่วไป
จากนั้นอัยการถามติง จักรพันธ์ยืนยันว่าการตรวจสอบเลขอีมี่จะดูแค่ 14 หลักแรกเท่านั้น
สิ้นสุดการสืบนายจักรพันธ์ จุมพลภักดีเวลา 12.30 น.

พยาน โจทก์ปากที่หก พ.ต.อ. ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
วันที่ทำการสืบพยาน 27 กันยายน 2554

พ.ต.อ. ศิริพงษ์เบิกความต่อศาลว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีนี้ เคยได้รับการอบรมหลักสูตรอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ และขณะเกิดเหตุนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การ กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และตนเป็นผู้ทำหนังสือสอบถามข้อมูลของหมายเลข -4627 ไปยังบริษัททรูด้วย


ในเดือนพฤษภาคม 2553 ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการให้สืบสวนกรณีที่มีคนส่งsms หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปที่หมายเลข -5599 ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เมื่อตรวจสอบพบว่าหมายเลขของผู้ส่งใช้งานเฉพาะการส่งข้อความเท่านั้น จึงสันนิษฐานว่า ผู้ส่งซื้อซิมการ์ดมาสำหรับใช้ส่ง sms โดยเฉพาะ


พ.ต.อ. ศิริพงษ์ให้การเกี่ยวกับเลขอีมี่ว่า หลักท้ายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในการตรวจสอบจะดูเฉพาะ 14 หลักแรก และเลขหลักท้ายไม่มีความหมาย ส่วนแต่ละหลักใน 14 หลักแรกของหมายเลขอีมี่นั้นมีความหมาย ดังนี้

6 หลักแรก หมายถึง รหัสประเทศ
2 หลักถัดมา หมายถึง บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์
6 หลักถัดไป หมายถึง ลำดับของเครื่องยี่ห้อนั้น

พ.ต.อ. ศิริพงษ์เบิกความต่อว่า เลขอีมี่ซ้ำกันไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยช่าง ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วจะไปเปลี่ยนที่ฐานข้อมูลด้วย
ต่อ มาทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ให้การว่า ตนทราบว่ามีโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่ โดยใช้เพื่อตรวจดูว่า มีเลขอีมี่ใดอยู่ในสารบบหรือไม่ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวไม่สามารถใช้ตรวจแบบละเอียดได้ นอกจากนั้นยังยืนยันว่า เลขหลักท้ายทางบริษัทต้องใส่เป็น 0 อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยร้องขอให้ศาลอนุญาตให้เปิดโปรแกรมดังกล่าวเพื่อให้พยานทำการ พิสูจน์ โดยการตรวจสอบหมายเลขอีมี่โทรศัพท์ตามฟ้องผ่านเว็บไซต์ www.numberingplan.com จากนั้นมีการทดลองใช้โปรแกรมโดย พ.ต.อ. ศิริพงษ์ พบว่าหมายเลขอีมี่ที่ลงท้ายด้วย 6 ซึ่งเป็นหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์มือถือเครื่องที่จำเลยใช้ พบว่าสามารถตรวจสอบพบข้อมูลที่ถูกต้องได้ ส่วนหมายเลขอีมี่ที่ลงท้ายด้วย 0 ตามที่ปรากฏในพยานเอกสารของโจทก์ รวมทั้งเมื่อทดลองกับเลขตัวอื่นๆ พบว่าเว็บไซต์แสดงข้อมูลว่าหมายเลขดังกล่าวไม่มีอยู่ ซึ่งพ.ต.อ. ศิริพงษ์กล่าวยืนยันว่า ตอนที่ทำการแขวนหมายเลขอีมี่เพื่อทำการตรวจสอบนั้น ใช้เพียง 14 หลักแรกเท่านั้น
นอกจากนี้ พ.ต.อ. ศิริพงษ์ให้การว่า ตนไม่ทราบสูตรการคำนวณเฉพาะที่นำตัวเลขอีมี่ 14 หลักแรกมาคำนวนหาตัวเลขอีมี่หลักสุดท้าย ทนายความได้นำสืบสูตรคำนวนดังกล่าวและได้ลองนำหมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกตามพยานเอกสารของโจทก์มาคำนวนดูพบว่าตัวเลขหลักสุดท้ายต้องเป็นเลข 6 ไม่ใช่เลข 0 และระหว่างนั้นผู้พิพากษาได้ลองนำสูตรคำนวนดังกล่าวไปทดลองกับโทรศัพท์ มือถือของตนเองด้วย
สิ้นสุดการสืบพยานเวลา 13.45 น.

พยานโจทก์ปากที่เจ็ด พ.ต.ท. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ พนักงานสืบสวนในคดี

วันที่ทำการสืบพยาน วันที่ 28 กันยายน 2554

ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ และองค์คณะอีกสองท่านคือ ผู้พิพากษาอนุกูล นาคเรืองศรี และผู้พิพากษาภัทรวรรณ ทรงกำพล ขึ้นบังลังค์เมื่อเวลา 9.50 น.
พ.ต.ท. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ วัย 38 ปี เบิกความว่า ตนรับราชการอยู่ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เป็นรองผู้กำกับการ ทำหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด และเป็นผู้ร่วมสืบสวนจับกุมในคดีนี้ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาว่าให้สืบสวนดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
โดย ทราบข้อมูลว่ามีข้อความจากหมายเลข -3615 ส่งข้อความหมิ่นฯ ไปที่หมายเลข -5599 ซึ่งเป็นของเลขานุการนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงวันที่ 9-22 พ.ค. 2553 จึงทำการสืบสวนร่วมกับ พ.ต.อ. ศิริพงษ์ ติมุลา และ ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เมื่อได้ตรวจสอบหมายเลขจึงพบว่าหมายเลขผู้ส่งได้ปิดการใช้งานไปแล้ว จึงตรวจสอบจากหมายเลขอีมี่ โดยได้ส่งไปทำการแขวนอีมี่ พบว่าเลข IMEI 35890600023110 นั้นได้ใช้กับหมายเลขโทรศัพท์ -4627 ซึ่งเป็นระบบเติมเงิน
พ.ต.ท. ธีรเดช ให้การอีกว่า การตรวจสอบหมายเลขอีมี่จะดูแค่ 14 หลักเท่านั้น เลขตัวหลังมีค่าฟรี คือไม่มีความหมายอะไร
หลัง จากนั้นจึงอยากทราบว่าใครเป็นผู้ใช้งานหมายเลขดังกล่าวจึงได้ขอรายงานการใช้ โทรศัพท์ของหมายเลข -4627 จากบริษัททรู พบว่ามีการติดต่อกับหมายเลข -5928 อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสืบทราบภายหลังว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของนางกรวรรณ โชติพิชิตชัย จึงขอความร่วมมือกับนางกรวรรณโดยบอกว่า ต้องการสืบสวนเกี่ยวกับคดีอาญา และหมายเลข -4627 นี้เกี่ยวข้องกับคดีด้วย จากนั้นจึงนัดสอบปากคำนางกรวรรณที่กองกำกับการ 1 เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2553
สอบ ปากคำได้ความว่าหมายเลข -4627 เป็นของจำเลย ทั้งนี้ ในการสืบสวนมีการซักถามถึงประวัติส่วนตัวของนางกรวรรณด้วย เช่น มีพี่น้องทั้งหมดกี่คน
พ.ต.ท. ธีรเดช ให้การว่าหมายเลข -3615 กับ -4627 มีการใช้งานสลับกัน เมื่อสืบพบว่าที่อยู่อาศัยของจำเลยอยู่ใกล้กับเซลล์ไซต์ที่ใช้ส่งข้อความ จึงจัดทำรายงานการสืบสวน และมอบให้เจ้าพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขอ หมายจับจากศาลและรายงานผู้บังคับบัญชาว่าจะวางแผนการจับกุม ได้ออกหมายค้นและเข้าจับกุมตัวเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึง จำเลยอยู่ในบ้านซึ่งเป็นห้องเช่าเล็กๆ กับภรรยาและเด็กๆ
มีการจับกุมโดยแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำบันทึกรายงานการจับกุม ซึ่งจำเลยให้การว่า โทรศัพท์มือถือ Motorola สีขาว ซึ่งเป็นของกลางหมายเลขหนึ่งนั้น จำเลยใช้งานนานแล้วและใช้คนเดียว
ตอบ คำถามทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท. ธีรเดช ให้การว่า ไม่ได้มีแนวทางพิเศษเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงที่มีความรุนแรงทางการเมือง นอกจากนั้นแล้วยังให้การว่า มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการสอบสวน 15 ปี
  
นอกจากนี้ พ.ต.ท. ธีรเดช ยังให้การว่า พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา เป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งสิ้น อันได้แก่ ข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ที่ได้จากบริษัทดีแทคและบริษัททรู ซึ่งเอกสารเหล่านั้นถูกมอบให้แก่ตน จากนั้นเมื่อตนได้ตรวจเอกสารแล้วจึงส่งให้ ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เจ้าหน้าที่สืบสวน
ให้การต่อว่า ในการตรวจสอบว่าการส่งข้อความสั้นนั้นส่งมาจากพื้นที่ใดไม่ได้ตรวจจากเฉพาะ เสาเซลล์ไซต์เท่านั้น แต่ตรวจจากเลข CI ที่ปรากฏในเอกสารรายงานการใช้โทรศัพท์ว่า CI 23672 ซึ่งเป็นเลขที่ระบุให้ทราบว่า มีการส่งข้อความจากบริเวณไหน โดยเลขซีไอดังกล่าวกินพื้นที่ซอยวัดด่านสำโรงตั้งแต่ซอย 14-36
ส่วน พื้นที่การใช้งานของระบบทรูนั้น ตรวจจากเครื่องตรวจคล้ายมือถือ โดย ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัยจากชุดสืบสวนเป็นผู้ตรวจ ไม่ได้อิงข้อมูลเรื่องเสาเซลล์ไซต์
เสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ในเวลา 10.55 น. รวมเวลา 1 ชั่วโมง 5 นาที
 
พยานโจทก์ปากที่แปด พ.ต.ท. ณรงค์ แม้นเหมือน พนักงานสอบสวนในคดี
วันที่ทำการสืบพยาน วันที่ 28 กันยายน 2554

หลังการสืบปาก พ.ต.ท. ธีรเดช ธรรมสุธีร์สิ้นสุดลง การสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายคือ พ.ต.ท. ณรงค์ แม้นเหมือน เริ่มขึ้นในเวลา 11.00 น.


พ.ต.ท.ณรงค์ วัย 51 ปี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ได้เข้ามาแจ้งความเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2553 ซึ่งแจ้งมาเป็นเอกสารภาพถ่ายหน้าจอมือถือ
เบิกความต่อว่า จากนั้นผู้บังคับการได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนสอบสวน โดยมอบหมายให้ตนเป็นผู้สืบหาพยานหลักฐาน จึงได้รวบรวมหลักฐานและสืบพยานบุคคลร่วมด้วยซึ่งได้แก่ พ.ต.ท. ธีรเดช  ธรรมสุธีร์ ได้ความจาก พ.ต.ท. ธีรเดชว่า ได้ใช้หมายเลขผู้ส่งตรวจหาหมายเลขอีมี่จากบริษัทดีแทค พบว่าเป็นหมายเลข 358906000230110 และสอบถามจากบริษัททรูว่า หมายเลขอีมี่ดังกล่าวใช้งานกับซิมการ์ดหมายเลขใด พบว่าเป็นหมายเลข 0858384627
พ.ต.ท. ณรงค์ให้การว่า ตนได้สืบถาม ร.ต.อ. ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย พบว่าให้การสอดคล้องกับ พ.ต.ท. ธีรเดช  ธรรมสุธีร์
จึงได้ทำหนังสือไปยังบริษัททรูและบริษัทดีแทคเพื่อขอหลักฐานประกอบ และได้รับเอกสารส่งกลับมา
จาก นั้น พ.ต.ท. ณรงค์กล่าวถึงการทำงานของ พ.ต.ท. ธีรเดช ว่าได้สืบว่าหมายเลข -4627 ติดต่อกับใครบ้าง และพบว่ามีการติดต่อกับหมายเลข -5928 ของนางกรวรรณ พ.ต.ท. ธีรเดช จึงติดต่อนางกรวรรณนัดให้มาพบเพื่อให้ปากคำประกอบสำนวน
นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือในการตรวจความหมายของถ้อยคำในข้อความว่าหมิ่นหรือไม่ จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสองคน
พ.ต.ท. ณรงค์ ให้การว่า มีการแจ้งจับกุมจำเลยสองข้อหา คือมาตรา 112 กฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา แต่จำเลยให้การว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์จริง มีการสอบสวนจำเลยถึงสามครั้งจากนั้นตนจึงสั่งฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานมัดตัวจำเลยว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้กระทำความผิดเอง
ต่อมาทนายจำเลยทนายถามค้าน ได้ความว่า พ.ต.ท. ณรงค์ จำไม่ได้ว่าเครื่องที่ยึดได้เป็นของกลางในขณะจับกุมจำเลยนั้นมีแป้นพิมพ์ ภาษาไทยหรือไม่
ทนายความจำเลยถามว่า ระหว่างการจับกุมปรากฎว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีทัศนคติ ต่อต้านสถาบันฯหรือไม่ พ.ต.ท. ณรงค์ ตอบว่าไม่ปรากฏ แต่ศาลไม่ได้บันทึกลงในสำนวนเพราะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่ชี้ขาดในคดี
สิ้นสุดการสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในเวลาประมาณ 12.00 น.

สืบพยานจำเลย
พยานจำเลยปากที่หนึ่ง นางสาว พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจำเลย

วันที่ทำการสืบพยาน วันที่ 30 กันยายน 2554

ผู้พิพากษา ครบองค์คณะ ประกอบด้วย ผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาอนุกูล นาคเรืองศรี และผู้พิพากษาภัทรวรรณ ทรงกำพล ขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 9.45 น.

มี การเปลี่ยนตัวอัยการ โดยอัยการที่อาวุโสที่สุดซึ่งเป็นผู้ถามคำถามพยานโจทก์ในวันก่อนๆ ไม่ได้มาในวันนี้ แต่มีอัยการที่ดูอาวุโสน้อยกว่า 3 ท่านมา ซึ่งทั้งสามท่านมาร่วมในการสืบพยานโจทก์บางนัด โดยอัยการที่อาวุโสที่สุดในสามคนนั่งร่วมด้วยโดยไม่ได้เป็นผู้ถามคำถามตอน ซักค้านพยานจำเลย

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญเบิกความว่า ในฐานะทนายความที่ทำคดีนี้ตนได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพยานหลักฐานทาง คอมพิวเตอร์เรื่องการส่งข้อความสั้น และได้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมจากสถาบันเทคโนโลยี และอาจารย์ที่เปิดร้านสอนวิชาซ่อมโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญคนใดมาเบิกความเป็นพยานโดยตรงในศาล

จาก การศึกษาข้อมูล พูนสุขได้ทราบว่าหมายเลขอีมี่ประจำเครื่องโทรศัพท์นั้นสามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย โดยมีอุปกรณ์ Flshbox มีโปรแกรมเฉพาะที่มีขายและมีสอนกันตามโรงเรียสอนซ่อมโทรศัพท์มือถือทั่วไป สำหรับช่างที่มีความรู้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง หนึ่งชั่วโมง แต่ต้องแก้ไขให้สัมพันธ์กับหมายเลขที่มีอยู่จริงในระบบ ถ้าหากมีหมายเลขเฉพาะเจาะจงที่ต้องการอยู่แล้วก็สามารถทำได้เลย

พูนสุขยังได้นำส่งพยานเอกสารต่อศาลสองฉบับ ฉบับแรกเป็นเอกสารจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย ที่อธิบายถึงความหมายของหมายเลขอีมี่ อธิบายว่าหมายเลขอีมี่ 10% ไม่มีลักษณะเฉพาะ และความหมายของหมายเลขอีมี่หลักสุดท้าย พร้อมคำแปลภาษาไทย ฉบับที่สองเป็นเอกสารวิชาการที่สอนวิธีการแก้ไขหมายเลขอีมี่ แสดงถึงความหมายของหมายเลขอีมี่หลักสุดท้าย พร้อมสูตรการคำนวนหาหมายเลขอีมี่หลักสุดท้ายด้วย 

พูนสุขยัง อธิบายต่อถึงเว็บไซต์ numberingplan ที่ใช้ตรวจสอบหมายเลขอีมี่ ซึ่งพยานโจทก์ปากที่หก คือ พ.ต.อ. ศิริพงษ์ ติมุลา ได้เบิกความถึงและทดลองเปิดในห้องพิจารณาว่า เว็บไซต์นี่เป็นฐานข้อมูลสามารถวิเคราะห์ได้ว่าหมายเลขอีมี่ที่ถูกต้องคือ อะไร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าหมายเลขอีมี่แต่ละชุดมีจำนวนกี่เครื่อง และถ้าหากหมายเลขหลักสุดท้ายผิดไปจากความจริงก็จะไม่ปรากฏรายละเอียดในฐาน ข้อมูลให้

ต่อมาอัยการถามค้าน ได้ความว่า บุคคลที่พูนสุขอ้างถึงนั้น คนหนึ่งเป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมในสถาบันการศึกษา อีกคนหนึ่งมีประสบการณ์สอนวิชาการซ่อมโทรศัพท์มือถือและการแก้ไขหมายเลขอี มี่มาหลายปี จากนั้นอัยการถามถึงเว็บไซต์วิกิพีเดียว่า ใครก็สามารถเข้าไปเขียนได้ ฉะนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือ พูนสุขให้การว่าวิกิพีเดียใครเขียนก็ได้ แต่ข้อมูลในวิกิพีเดียนี้ยังมีเอกสารทางวิชาการรับรองไว้ด้วย ตรงนี้เชื่อถือได้

เมื่ออัยการถามต่อว่า ในทางปฏิบัติแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขอีมี่เพื่ออะไร พูนสุขได้ให้การว่า เมื่อก่อนเวลานำเข้าโทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศซึ่งจะมีหมายเลขอีมี่จาก ต่างประเทศทำให้ใช้ในประเทศไทยไม่ได้ ทำให้เจ้าของโทรศัพท์มือถือต้องนำไปเปลี่ยนแปลงเลขอีมี่ ให้เป็นหมายเลขอีมี่กลางก่อน ซึ่งเป็นหมายเลขอีมี่ที่มีโทรศัพท์หลายเครื่องใช้ร่วมกัน และกรณีที่ผู้มีเจตนาจะกระทำความผิดทางอาญาอาจปลอมแปลงหมายเลขอีมี่เพื่อไม่ ให้สืบรู้ถึงตัวผู้กระทำความผิดได้

อย่างไรก็ตาม เรื่องการแก้ไขเลขอีมี่นี้ ศาลไม่ได้ทำการบันทึก เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ

สิ้นสุดการสืบพยานปากนี้ เวลา 10.10 น.

พยานจำเลยปากที่สอง นายอำพล(สงวนนามสกุล) จำเลยในคดี

วันที่ทำการสืบพยาน วันที่ 30 กันยายน 2554

ศาลนั่งบนบัลลังก์ครบองค์คณะ ประกอบด้วยผู้พิพากษาชนาธิป เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาอนุกูล นาคเรืองศรี และผู้พิพากษาภัทรวรรณ ทรงกำพล ถัดจากเบิกความนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความฝั่งจำเลย นายอำพล จำเลยขึ้นเบิกความด้วยท่าทีนอบน้อม เริ่มเมื่อเวลา 10.15 น.

โดยนางสาวพูนสุข ช่วยอ่านคำสาบานให้จำเลยกล่าวตาม เนื่องจากจำเลยสายตาไม่ดี อ่านด้วยตัวเองไม่ได้

อำพล เบิกความว่า ตนมีอาชีพเลี้ยงหลาน หลังจากที่หยุดทำงานขับรถส่งของได้นับสิบปีแล้ว จึงทำหน้าที่รับส่งหลานไปโรงเรียน อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก กับภรรยาและหลานๆ โดยบ้านเช่าตั้งอยู่ที่ซอยวัดด่านสำโรง ซอย 17

เบิกความต่อไปว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ นอกจากนั้นแล้วยังไม่เคยรู้จักหมายเลขโทรศัพท์ -5599 ของนายสมเกียรติ และ หมายเลขโทรศัพท์ -3615 ของผู้ส่ง จากนั้นเล่าถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ในวันที่จับกุบนั้นมีการยื่นหมายจับมา แล้วตนได้มอบโทรศัพท์ 2 เครื่องแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการหยิบยื่นให้โดยไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาตนมักจะไปส่งหลานไปโรงเรียนเป็นประจำ โดยทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ้าง พกติดตัวบ้าง บางครั้งเมื่ออยู่ที่บ้านก็ไม่ได้พกโทรศัพท์ติดตัว ซึ่งที่บ้านมีคนเข้าออกอยู่จำนวนหนึ่ง

เมื่อเห็นข้อความที่ถูก ฟ้องแล้วรู้สึกเสียใจมาก อำพลกล่าวทั้งน้ำตาว่าตนรักในหลวงและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเคยไปร่วมลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และได้เข้าไปเคารพพระศพสมเด็จพระพี่นางฯด้วย
ตอบคำถามอัยการถามค้าน อำพลให้การว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่ตนใช้นั้นมีอยู่หมายเลขเดียว คือ -4627 โดยใช้คู่กับโทรศัพท์ Motorola สีขาว

ใน ช่วงท้ายของการเบิกความ อำพลร้องไห้ไปในระหว่างการเบิกความด้วย เมื่ออัยการพยายามนำเอกสารในคดีมาให้ดูและรับรอง จึงถูกทนายความทักท้วงว่าอำพลสายตาไม่ดีอ่านเอกสารไม่ได้ อัยการจึงแถลงหมดคำถาม ไม่ติดใจที่จะถามคำถามอันเกี่ยวเนื่องกับเอกสารต่อไป

สิ้นสุดการสืบนายอำพล เวลา 10.30 น. ใช้เวลาเพียง 15 นาที

พยานจำเลยปากที่สาม พยานปากสุดท้าย เด็กหญิง เอ (นามสมมติ) หลานสาวของจำเลย

วันที่ทำการสืบพยาน วันที่ 30 กันยายน 2554

ศาล ครบองค์คณะ เริ่มสืบพยานเด็กในเวลา 10.35 น. โดยใช้ห้องพิจารณาคดี 801 เหมือนเดิม มีนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ช่วยถามคำถามและดูแลอยู่ข้างเด็กหญิงด้วย

เด็ก หญิงเอ วัย 11 ปี เบิกความว่า ตนเป็นหลานสาวของจำเลย อาศัยอยู่ในบ้านเช่าร่วมกับจำเลย โดยคนในครอบครัวประกอบด้วย ตน จำเลย ย่า(ภรรยาจำเลย) และน้องอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน

เด็กหญิงเอยืนยัน ว่าจำเลยมักทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ่อยครั้งขณะไปส่งตนและน้องๆ ที่โรงเรียน นอกจากนั้นยังให้การว่า จำเลยเคยพาตนไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราชในช่วงปิดเทอมปี 2552

ตอบคำถามอัยการถามค้าน ได้ความว่า ที่บ้านนอกจากสมาชิกในบ้านแล้วไม่มีคนอื่นเข้าออก ตนไม่เคยเห็นจำเลยส่งข้อความหาใคร นอกจากนั้นแล้ว เวลาที่จำเลยใช้โทรศัพท์โทรหาผู้อื่น จำเลยจะเปิดสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ก่อนเสมอ

เสร็จสิ้นการสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายในเวลา 10.45 น. ใช้เวลาเพียง 10 นาที

ความเคลื่อนไหว
21 ตุลาคม 2554 ทนายความจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลที่ศาลอาญารัชดา ตามความประสงค์ของจำเลยที่จะขอยื่นคำแถลงดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาคดี ก่อนที่จะถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 นี้ โดยอ้างเหตุว่า พยานหลักฐานและคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเองหลายประการ มีพิรุธ น่าสงสัย และมีน้ำหนักน้อย อาจกระทบกระเทือนถึงการที่จำเลยอาจต้องโทษทั้งที่มิได้กระทำความผิด
 
ซึ่งเหตุที่ต้องยื่นคำแถลง มีดังนี้
 
1. การ ใช้หมายเลขเครื่อง(อีมี่) ในการเชื่อมโยงว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นการเชื่อมโยงที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเลขอีมี่สามารถปลอมแปลงได้ และสามารถซ้ำกันได้ 
 
2. การ สืบสวนสอบสวนของเจ้าพนักงานมุ่งไปที่ตัวจำเลยโดยตรง โดยไม่ได้เชื่อมโยงกับหมายเลขอีมี่ และคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดแย้งกับพยานเอกสารฝ่ายโจทก์
 
3. โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานเอกสารใดที่จะชี้ได้ว่า จำเลยเป็นผู้กดพิมพ์ข้อความ และส่งข้อความดังกล่าว
 
โดยศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ที่ศาลอาญารัชดา ห้อง 801