วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 5

การรุกคืบของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในฐานะสถาปนิกทางการเมือง

ภายหลังการรัฐประหารเสร็จสิ้น คณะรัฐประหารจำเป็นต้องสนับสนุนให้ ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลรอยัลลิสต์เพื่อการสร้างการยอมรับจากสาธารณชนและนานาชาติ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ทำหนังสือมอบอำนาจของคณะรัฐประหารให้กับรัฐบาลควงเพื่อบริหารประเทศ การมอบอำนาจดังกล่าวจากคณะรัฐประหารได้สร้างความพอใจให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มาก จากนั้นควงได้ประกาศความเป็นอิสระของรัฐบาลรอยัลลิสต์จากคณะรัฐประหาร  (ศรีกรุง, 15 พฤศจิกายน 2490. )

เขาได้จัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีให้กับเชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งคล้ายๆขุนนางในระบอบเก่า และอดีตนักโทษการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ( สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500),หน้า 105 -106. เชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น ม.จ.วิวัฒน์ไชย ไชยันต์ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ส่วนขุนนางในระบอบเก่า เช่น พระยาศรีวิสารฯ (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ,พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) และสอ เสถบุตร เป็นต้น )

ด้วยเหตุที่ทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกันและมีหวาดระแวงระหว่างกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกภายใน “พันธมิตรใหม่” โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความต้องการสถาปนาระบอบการเมืองที่เพิ่มอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์และทำให้พวกเขามีอำนาจทางการเมืองอย่างยั่งยืน อีกทั้งสามารถขจัดคู่แข่งทางการเมืองของพวกเขาออกไปจากการเมือง ในขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหาร กลับมีความต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองและไม่ต้องการให้“กลุ่มรอยัลลิสต์” เข้ามาเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่พวกเขาเสี่ยงชีวิตในการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจมา

สำหรับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างคณะรัฐประหาร กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั้น ฝ่ายหลังมิได้ไว้วางใจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตแกนนำของคณะราษฎรที่เคยปราบปรามการก่อกบฎของพวกเขาอย่างรุนแรงมาก่อน โดยกรมพระยาชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำการกบฎของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้ที่เคยถูกถอดอิศริยศและถูกคุมขังจากการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และการต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป.ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการปลดปล่อยภายหลังสงคราม 

ต่อมาพระองค์ทรงก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการฯภายหลังการสวรรคต ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และมีความสนิทสนมกับราชสกุลมหิดลทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่“กลุ่มรอยัลลิสต์”ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป. ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 49. )

ดังนั้นความแตกแยกระหว่าง “พันธมิตรใหม่” เห็นได้จากรัฐบาลควง และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเพื่อจัดสรรอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์และทำให้พวกเขาให้มีอำนาจทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนต้องการกำจัดคณะรัฐประหารให้ออกไปจากการเมืองด้วยกติการการเมืองที่พวกเขาจะรังสรรค์ขึ้นต่อไป

แม้ในช่วงดังกล่าวคณะรัฐประหารจะอยู่เบื้องหลังฉากการเมืองอย่างเงียบๆราวกับเป็นผู้คุ้มครองรัฐบาลควง อภัยวงศ์ก็ตาม แต่พวกเขาได้เริ่มรับรู้ถึงการเริ่มถูกหักหลังจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะกีดกันให้พวกเขาออกไปจากการเมือง พวกเขาจึงได้ปลุกกระแสการต่อต้านรัฐบาลควงด้วยการแจกจ่ายใบปลิวไปตามสถานที่ราชการ และสาธารณะ โจมตีควงและ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ว่า มีความต้องการทำลาย จอมพล ป. ด้วยการพยายามทำให้พ้นจากอำนาจ ( สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), หน้า 124-125 )

แม้รัฐบาลควงจะถูกโจมตีแต่ด้วยความสามารถของควงในการพูดหาเสียง และความช่วยเหลือทางการเงินจากพระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ผู้มีความมั่งคั่ง ส่งผลให้การเลือกตั้งในปลายเดือนมกราคม 2491 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด คือ ประมาณ 50 คน จากจำนวน 99 คน ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”; Coast, Some Aspects of Siamese Politics, p. 44 )

จากนั้นต้นเดือนมีนาคม สหรัฐฯ และอังกฤษ ได้ให้การรับรองรัฐบาลควงที่มาจากการเลือกตั้งและติดตามด้วยประเทศอื่นๆ ให้การรับรองรัฐบาลในเวลาต่อมา ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 60.; Frank C. Darling, Thailand and the United States (Washington D.C.: Public Affaires Press, 1965), p. 63. )

ชัยชนะในการเลือกตั้งในต้นปี 2491 ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เป็นเสมือนการประกาศอิสระจากการครอบงำของคณะรัฐประหาร พวกเขามีความมั่นใจในการควบคุมการเมือง และกลไกทางการเมืองผ่านสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐบาลแทนคณะรัฐประหารมากขึ้น 

จากนั้นโครงการคืนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับสู่สถาบันกษัตริย์ก็ได้เริ่มต้นขึ้น รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ได้ออกกฎหมายคืนทรัพย์สิน  และให้ความเป็นอิสระ แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์อีกครั้ง หลังจากที่หน่วยงานดังกล่าวเคยถูกคณะราษฎรโอนมาเป็นของรัฐบาลหลังการปฏิวัติ 2475 ( พอพันธ์ อุยยานนท์, “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.; สมศักดิ์ เจียม ธีรสกุล, “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ อะไร” ฟ้าเดียวกัน 4, 1 (2549): 67-93 )

จากนั้นพวกเขาได้เปิดการรุกทางการเมืองด้วยการเริ่มต้นออกแบบระบอบการเมืองตามสิ่งที่พวกเขาต้องการอีกครั้ง เพื่อสถาปนาระบอบการเมืองที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองและทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความได้เปรียบในทางการเมืองกว่ากลุ่มการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดคณะรัฐประหารที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่จะสร้างอุปสรรคให้กับพวกเขาในการครองอำนาจทางการเมืองอย่างถาวรให้ออกไปจากระบอบการเมืองที่พวกเขาใฝฝันผ่านการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนู  (โปรดดูรายชื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ใน คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475-2495, หยุด แสงอุทัย (พระนคร: โรงพิมพ์ชูสิน, 2495), หน้า 224-232.; แถมสุข นุ่มนนท์, “50 ปี พรรคประชาธิปัตย์กับการเมืองไทย,” 2539, หน้า 51-52. คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยาอรรถการียนิพนธ์ หลวงประกอบนิติสาร ม.ร.ว.เสนีย์ นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ และเพียร ราชธรรมนิเทศ โดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าและนักกฎหมายที่เป็น“กลุ่มรอยัลลิสต์”) ขึ้นเพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันจะสร้างกติกาทางการเมืองที่สถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้เปรียบขึ้น

สาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งต่อมา คือรัฐธรรมนูญบับ 2492 หรือรัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์เป็นการออกแบบที่พยายามสถาปนาการเมืองที่ให้อำนาจแก่สถาบันกษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์มาก เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นนั้นจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการประกาศชื่อระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้นว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 

จากนั้นพวกเขาให้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัยในทางการเมือง เช่น การกำหนดให้มีคณะองคมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาที่มีมาจากพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรี องคมนตรี ตลอดจนทรงมีพระราชอำนาจในการทรงเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ได้อย่างอิสระ โดยมีเพียงประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ การให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจอำนาจทางการทหารด้วยการกำหนดให้ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง ตลอดจนให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เป็นต้น 

ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับการพยายามจำกัดอำนาจของคณะรัฐประหารออกไปจากการเมืองด้วยการ ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้ง ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีมิได้ ซึ่งส่งผลให้คณะรัฐประหารถูกกีดกันออกไปจากการเมือง ( มุกดา เอนกลาภากิจ, “รัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง: ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542) 

ในสายตาของทูตต่างประเทศอย่างสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้บันทึกความเห็นของเขาต่อผลการรังสรรค์ระบอบการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ฟื้นฟูอำนาจ ให้กับพระมหากษัตริย์ และร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวประสบความสำเร็จในการอำพรางอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ที่เคยเห็นอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ให้แทรกลงอย่างลึกซึ้งยากแก่การสังเกตุพบ เขาเห็นว่าแนวความคิดในการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์ในการควบคุมการเมืองไทยนั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเคยมีพระราชดำริทางการเมืองถึงการปกครองในอุดมคติที่ทรงมีพระราชประสงค์ไว้เมื่อก่อนการปฏิวัติ 2475 ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 January 1948”.)

ท่ามกลางการรุกคืบทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการยึดอำนาจการเมืองจากคณะรัฐประหาร สแตนตัน ทูตสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตถึงเป้าหมายทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ว่า พวกเขามีแผนการทางการเมืองที่ไปไกลเกินกว่าจะให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารดังเดิมแล้ว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”. )

ไม่แต่เพียง “กลุ่มรอยัลลิสต์” จะเข้าครอบงำการออกแบบระบอบการเมืองที่อำนวยให้สถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้เป็นตัวแสดงทางการเมืองสำคัญแต่เพียงกลุ่มเดียว ด้วยการกีดกันคณะรัฐประหารออกจากการเมืองเท่านั้น แต่พวกเขายังมุ่งสร้างระบอบการเมืองที่ไม่ประนีประนอมกับความคิดอื่นๆในสังคมไทย เช่น เสรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมนิยม ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่ให้สนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในภูมิภาค ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสานไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”อย่างมาก 

สแตนตัน ทูตสหรัฐฯเห็นว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” สนใจแต่เพียงประโยชน์จากการยึดกุมอำนาจทางการเมืองภายใต้กติกาที่เขาออกแบบขึ้นให้มากที่สุด เพื่อทำให้พวกเขามีอำนาจได้อย่างมั่นคง ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาชื่อพรรคกษัตริย์นิยมตามแนวคิดของพวกตนขึ้น เพื่อเข้าชิงชัยทางการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้พวกเขาสามารถครองเสียงในสภาผู้แทนฯให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251,” Summary of Political events in Siam January 1948”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 11 February 1949. ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2491 ในนามของพรรคกษัตริย์นิยม คือ ร.ท. สัมพันธ์ ขันธะชวนะ ส.ส.นครราชสีมา (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), หน้า 435).

แผนการใหญ่ทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

สถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กลับขึ้นมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ และทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีส่วนสำคัญในการออกแบบระบอบการเมืองที่อำนวยประโยชน์ให้พวกเขากลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองหลัก และการสนับสนุนความมั่งคงทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์และพวกตน แต่ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มิได้มุ่งให้การสนับสนุนราชสกุลมหิดลเพียงราชสกุลเดียว 

เนื่องจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขณะนั้นมิได้มีความเป็นเอกภาพ ทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สำคัญที่นำโดย ควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลนั้นมีความมั่นใจในอำนาจต่อรอง และมีความอิสระในการตัดสินใจที่จะเลือกสนับสนุนราชสกุลใดให้มีอำนาจในราชสำนักก็ได้ เนื่องจากขณะนั้นผลการสืบสวนกรณีสวรรคตมีแนวโน้มที่จะสามารถตั้งสมมติฐานผู้ต้องสงสัยที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสวรรคตฯได้แล้ว ทำให้ ควง ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีความต้องการเปิดเผยผลการสอบสวนนี้ออกสู่สาธารณชนซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักอย่างใหญ่หลวง

ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” มีอิทธิพลและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการเมืองของราชสำนักในขณะนั้น สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า ควง อภัยวงศ์ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีแผนการแตกหักกับคณะรัฐประหาร โดยพวกเขามีแผนการสนับสนุนให้พระองค์เจ้าจุมภฏฯจากราชสกุลบริพัตรขึ้นครองราชย์แทนราชสกุลมหิดล เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการบรมราชาภิเษกผู้ใดให้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ และพวกเขามีความต้องการฟื้นฟูอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ก่อนการปฏิวัติ 2475 ให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อสร้างอำนาจนำทางการเมืองที่ยั่งยืนให้แก่พวกเขา เพื่อทำให้กลุ่มของเขากลายเป็นแกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งมวลพร้อมกับเป็นผู้นำของประเทศ 

ด้วยแผนการหมุนกลับระบอบการเมืองของ ควง ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารคัดค้านแผนทางการเมืองดังกล่าวอย่างหนักทำให้ จอมพล ป.ต้องหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับ“กลุ่มปรีดี” เพื่อร่วมกันขับไล่ ควงและยุติแผนการของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต่อมา แมคโดนัล อดีตโอ.เอส.เอส.และมีความคุ้นเคยกับ ปรีดี พนมยงค์ ได้แจ้งข่าวต่อ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯว่า จอมพล ป.ได้ส่งผู้แทนมาแจ้งกับเขาว่า จอมพล ป.มีความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ และพล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์กับกลุ่มของเขาเพื่อกันควงที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกไปจากการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก จอมพล ป.ต้องการคัดค้านแผนการของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ 

รายงานของสถานทูตสหรัฐฯ บันทึกต่อไปว่า ควง ต้องการจะเปิดเผยถึงบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสวรรคต สแตนตันเห็นว่า การเปิดเผยดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักอย่างสำคัญ ต่อมา แลนดอน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผู้คุ้นเคยกับการเมืองไทยเห็นว่า แม้จอมพล ป.และปรีดีจะเป็นคู่ปรปักษ์ทางการเมืองกันภายในคณะราษฎร แต่ทั้งคู่แสดงการคัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แลนดอนวิเคราะห์ว่า ทั้งจอมพล ป.และปรีดีไม่มีปัญหากับพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เพราะขณะนั้นพระองค์ทรงพระเยาว์และไม่มีฐานอำนาจการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 5 February 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Landon to Butterworth, 20 February 1948. )

ท่ามกลางการดำเนินการแผนการใหญ่ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2491 มีสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งได้มาปรึกษา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงความกังวลการขยายอิทธิพลทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ทำให้คณะราษฎรต้องการให้ จอมพล ป. กับปรีดี พนมยงค์ ร่วมมือกันต่อต้านแผนทางการเมืองดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 9 February 1948. )

ต่อมามีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะราษฎร กับคณะรัฐประหารหลายครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอันเกิดจากการรัฐประหาร 2490 และผนึกกำลังเพื่อต่อต้านแผนการใหญ่ของควงและ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นใหม่ ซึ่งพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แกนนำคนหนึ่งของคณะรัฐประหาร และนายทหารผู้ใกล้ชิดกับ จอมพล ป.และคณะราษฎรเห็นว่า แผนการดังกล่าวเป็นการชิงอำนาจทางการเมืองไปจากคณะรัฐประหารและทำลายคุณูปการทางการเมืองต่างๆทั้งหมดที่คณะราษฎรได้สร้างมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 ให้มลายลง (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 February 1948”.มีการประชุม คณะราษฎรและคณะรัฐประหารที่บ้านของ ร.ท.ขุนนิรันดรชัย หลายครั้ง สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม เช่น พล ท. พระประศาสน์ พิทยุทธ์ ,พล ท. มังกร พรหมโยธี ,พล ท. ประยูร ภมรมนตรี และหลวงนฤเบศมานิตย์ ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ได้มีความพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 2490 และยืนยันหลักการของการปฏิวัติ 2475 ต่อไป โดยผู้แทนของคณะรัฐประหาร คือ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ,พล ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ และนายทหารระดับกลางอีก 6 คน โดย พล ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ สมาชิก คณะราษฎรคนหนึ่งที่เข้าประชุมได้บันทึกการประชุมที่นำโดยพล ท.มังกร พรหมโยธี ,พล ต.อ.เผ่า และ พล ต.ท.ละม้าย ว่า “แลเสียงที่คุณเผ่า คุณละม้ายว่า นายควงไปไม่รอด เดินกับพวกเจ้า 100% ” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์],หน้า 159)

คณะรัฐประหารต้องการให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างขึ้นจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และสั่งการให้มีการสอดส่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( หจช.สร. 0201.18/5 สำนักงานโฆษณาการคัดและตัดข่าวหนังสือพิมพ์ (เมษายน – กันยายน 2492).;เกียรติศักดิ์, 20 กุมภาพันธ์ 2492. )

แม้ว่าคณะราษฎรและคณะรัฐประหารจะพยายามกดดัน ควง อภัยวงศ์และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกไปจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับปรีดี พนมยงค์ และ พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ควงมีความมั่นใจการสนับสนุนทางการเมืองจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีมากกว่าแรงกดดันดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 17 February 1948 . )

ต่อมาเมื่อควงได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2491 ท่ามกลางแรงกดดันจากคณะราษฎรและคณะรัฐประหารก็ตาม แต่เขายังคงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ผ่านจากอภิรัฐมนตรี (หรือองคมนตรีในเวลาต่อมา) และจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในวุฒิสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งหมดกับสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาผู้แทนฯ ทำให้เขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลของเขาได้สำเร็จ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-29 February 1948”.)

ในขณะเดียวกันท่าทีของกรมพระยาชัยนาทฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ยังคงทรงไม่พอพระทัยต่อจอมพล ป. และทรงไม่เห็นด้วยกับความคิดของ จอมพล ป.ในการฟื้นฟูคณะราษฎรที่เคยโค่นล้มอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาท้าทายพวกเขาอีกครั้ง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 10 March 1948.)

จอมพล ป.กับการล้มแผนทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

เมื่อการกดดันของคณะราษฎร และคณะรัฐประหาร ที่มีต่อความเคลื่อนไหวและแผนการทางการของ ควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ไม่ได้ผล เนื่องจากควงมีความได้เปรียบเหนือกว่าในฐานะผู้ที่จะกำหนดอนาคตของสถาบันกษัตริย์ให้ไปในทิศทางใด ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มราชสกุลและพระราชวงศ์ที่ต้องการมีอำนาจในราชสำนักใหม่หรือคงยังมีอำนาจต่อไป ควงและ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ยังคงเดินหน้าออกแบบระบอบการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ และทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง ตลอดจนการกำจัดคู่แข่งให้ออกไปจากการเมือง

ในที่สุดเมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ ควง อภัยวงศ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล 

ทำให้ทรงบริพาทย์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของ จอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State , 7 April 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 8 April 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948. )

การกลับเข้ามีอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างความไม่พอใจให้กับสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” อย่างมาก แต่กลับไม่ได้รับการต่อต้านจากประเทศมหาอำนาจอย่างรุนแรงเหมือนการรัฐประหาร 2490 อีก เนื่องจากประเทศต่างๆ มีความวิตกกับผลประโยชน์ที่ประเทศของตนอาจได้รับการกระทบกระเทือนหากไม่ให้การรับรองรัฐบาล จอมพล ป. 

สำหรับอังกฤษมีความกังวลเรื่องการส่งข้าวตามข้อตกลงสมบูรณ์แบบกับไทยว่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนฝรั่งเศสกังวลเรื่องดินแดนในอินโดจีนที่ไทยคืนให้กับฝรั่งเศสจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างกันขึ้นอีก ส่วนสหรัฐฯวิตกว่าหากไม่รับรองรัฐบาลใหม่จะทำให้สหภาพโซเวียตเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับไทย 

ดังนั้นสหรัฐฯ เห็นว่าการไม่รับรองรัฐบาล จอมพล ป.จะสร้างปัญหาที่ไม่จำเป็นตามมามากกว่า ไม่กี่วันต่อมา เมื่อรัฐบาล จอมพล ป.ได้รับการลงมติรับรองจากรัฐสภา และมีการประกาศการดำเนินการตามพันธสัญญานานาชาติดังเดิม การประกาศดังกล่าวทำให้มหาอำนาจต่างๆ ล้วนรับรองรัฐบาลจอมพล ป.ทันที (Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 67-68.)

ควรบันทึกด้วยว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงสงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในอดีตสหรัฐฯ เคยต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป.มาเป็นการให้การรับรองรัฐบาลของเขา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างก็กหมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแนวโน้มที่ฝ่ายแรกกำลังเสียเปรียบ ทำให้สหรัฐฯมีความต้องการมีอิทธิพลต่อไทยเพื่อทำให้ไทยร่วมมือกับสหรัฐฯในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชีย มีผลทำให้ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯที่เคยแสดงการต่อต้าน จอมพล ป. ได้เปลี่ยนท่าทีที่เคยแข็งกร้าวมาเป็นการกล่าวชื่นชม จอมพล ป.ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของนโยบายใหม่ของสหรัฐฯว่า จอมพล ป.มีความเป็นผู้นำและให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ( Kullada Kesboonchoo Mead, “A revisionist history of Thai-U.S. relation,” Asian Review 16 (2003), p. 52.)

แม้รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ จะพ้นจากอำนาจไป แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังคงทำงานต่อไป เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ล้มเลิกรัฐสภา และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สนับสนุนการจัดตั้ง เนื่องจาก จอมพล ป.อาจจะเชื่อมั่นว่า เขาจะสามารถควบคุมสมาชิกสภาผู้แทนฯได้ และอาจมีความวิตกว่า หากล้มเลิกรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลของเขาต้องกลับไปเผชิญหน้ากับการไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติอีก 

ต่อมาบางกอกโพสต์ ( Bangkok Post) ได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีอิทธิพลในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวโน้มของสาระในรัฐธรรมนูญนั้นจะสกัดกั้นการมีอำนาจทางการเมืองของคณะรัฐประหาร ( Bangkok Post, 10 April 1948. )

แม้ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เสนอให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนให้ยึดถือรัฐธรรมนูญ 2475 เป็นแบบในการร่างก็ตาม แต่การดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังดำเนินไปในทิศทางที่เพิ่มอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต่อไป

ขอบคุณที่มาและเชิงอรรถ จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500) โดย นายณัฐพล ใจจริง