วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 4

การรัฐประหาร 2490 : จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งภายในการเมืองไทย

การรัฐประหาร 2490 : ความสำเร็จของความร่วมมือของคณะรัฐประหารกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์”
นับตั้งแต่เมื่อเกิดการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ กระแสความรู้สึกของสาธารณชนมีความเห็นอกเห็นใจสถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้เพิ่งกลับสู่ฉากการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ไม่นานนั้นได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตัวแสดงทางการเมืองเดิมที่เคยมีอำนาจในช่วงแห่งการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ประสบความล้มเหลวในการกลับสู่อำนาจทางการเมืองภายหลังการพ่ายแพ้หลายครั้งในช่วงหลังปฏิวัติ 2475 สามารถกลับมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองอีกครั้งภายหลังสงครามโลกได้อีกครั้ง 

พวกเขาได้ประโยชน์อย่างมากจากกระแสความเห็นอกเห็นใจที่เกิดขึ้นทำให้อิทธิพลทางการเมืองของพวกเขาได้แปรเปลี่ยนไปในทางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้พวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นในการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองคืนจากคณะราษฎรด้วยการท้าทายอำนาจ ปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลของ“กลุ่มปรีดี”

ความไม่สามารถของรัฐบาลของ “กลุ่มปรีดี” ในสร้างความกระจ่างในเรื่องการสวรรคตให้กับสาธารณชน ผนวกกับการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้นเปิดโอกาสให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ใช้ประเด็นสวรรคตเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้พวกเขามีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น 

อีกทั้งความไม่พอใจของ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่คุกรุ่นจากการสูญเสียอำนาจและเกียรติภูมิภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งอันนำไปสู่การก่อตัวของ “พันธมิตรใหม่” ที่ไม่น่าเชื่อมาร่วมมือกันโค่นล้มอำนาจของ “กลุ่มปรีดี” ออกไปด้วยการรัฐประหารได้สำเร็จ แต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นการปิดฉากการเมืองที่อยู่ในมือของคณะราษฎร และได้กลายเป็นการเปิดฉากการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะรัฐประหาร กับ”กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกันภายใน “พันธมิตรใหม่” ต่อไป

คณะรัฐประหาร เป็นกลุ่มทหารที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามประกอบขึ้นจากทหารบกเป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ 

ส่วนหนึ่งมาจากคณะราษฎร เช่น จอมพล ป. ,พล ท.กาจ กาจสงคราม ,พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท พ.อ.น้อม เกตุนุติ ,ร.อ.ขุนปรีชารณเสฏฐ์ แต่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหารที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร เช่น จอมพลผิน ชุณหะวัณ ,พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พล ท.สวัสดิ์ ส. สวัสดิ์เกียรติ ,จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร ,จอมพลประภาศ จารุเสถียร ,พล ต.อ.ไสว ไสวแสนยากร ,พล ท.บัญญัต เทพหัสดินฯ ,พล ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ,พล ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นต้น 

ส่วนใหญ่นายทหารในคณะรัฐประหารมิได้ผูกพันธ์กับหลักการของการปฏิวัติ 2475 และการปฏิเสธอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เว้นแต่นายทหารบางคนที่มีความใกล้ชิดกับแกนนำสำคัญในคณะราษฎร เช่น พล ต.อ.เผ่า ผู้เคยเป็นนายทหารติดตาม จอมพล ป. เขาได้รู้เห็นและเคยร่วมต่อต้านอำนาจของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” มาก่อน

ดังนั้นการรัฐประหาร 2490 ถือได้ว่าเป็นจุดผลิกผันทางการเมืองที่สำคัญ ที่ทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในกลุ่มภายในของคณะราษฎรสิ้นสุดลง แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นกลุ่มผู้ถือครองอำนาจใหม่ คือคณะรัฐประหารและสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งนี้ แม้การรัฐประหาร 2490 คณะรัฐประหารจะเป็นกลุ่มบุคคลผู้ดำเนินการยึดอำนาจด้วยกำลัง แต่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน ( Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 210 . )

ขณะนั้นกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว ( สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก, 2550), หน้า 96-100. )

ดังนั้นแม้ว่าตลอดคืนของวันยึดอำนาจนั้น จะปราศจากการต่อต้านของรัฐบาลชุดเก่า และการรัฐประหารสำเร็จได้อย่างง่ายดายจากการให้การรับรองของผู้สำเร็จราชการฯแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่คณะรัฐประหารยังคงต้องการต่อไป คือการได้รับการยอมรับจากสาธารณชน กองทัพและต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ นายทหารใน คณะรัฐประหารจึงไปเชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำของคณะรัฐประหาร ( อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 17 มีนาคม 2507,(พระนคร : โรงพิมพ์สำนักนายกรัฐมนตรี, 2507),หน้า 47. )

ในช่วงเช้าวันรุ่งขึ้น 9 พฤศจิกายน “กลุ่มรอยัลลิสต์” นำโดยควง อภัยวงศ์ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เข้าแสดงความยินดีกับคณะรัฐประหาร จากนั้นพวกเขาได้รับมอบหมายจากคณะรัฐประหารให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้น ต่อมาในช่วงบ่าย บ้านของ ควง อภัยวงศ์ เนืองแน่นไปด้วยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ,พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ,โชติ คุ้มพันธุ์ ,เลื่อน พงษ์โสภณ และขุนคงฤทธิศึกษากร เป็นต้น พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ทรงให้สัมภาษณ์ว่า ทรงไม่เคยหัวเราะอย่างที่ต้องการมานานแล้ว และขณะนี้พระองค์ทรงสามารถแย้มพระสรวลได้แล้ว (Bangkok Post, 10 November 1947.; นครสาร, 10 พฤศจิกายน 2490.; ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ชีวลิขิต, หน้า 101. )

ส่วน หลุย คีรีวัตร อดีตนักโทษการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” คนหนึ่ง ได้กล่าวสนับสนุนการขึ้นมามีอำนาจของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ว่า “ไม่มีใครดีกว่านายควงแล้ว” ( เสรีภาพ, 15 พฤศจิกายน 2490. )

แม้บทบาทในการยึดอำนาจด้วยการใช้กำลังจะเป็นหน้าที่ของคณะรัฐประหาร แต่งานร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ตกเป็นหน้าที่ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เนื่องจากพวกเขาต้องการแน่ใจรูปแบบการเมืองที่พวกเขาต้องการ

ข้อมูลที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เข้าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2490 ทูตสหรัฐฯ ได้รับการบอกเล่าจาก จอมพลผิน ชุณหะวัณ ,พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และพล อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แกนนำในคณะรัฐประหาร โดย  

“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีรายชื่อต่อไปนี้ 
ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี
และม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ 
พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ อธิบดีศาลฎีกา 
พระยารักตประจิตธรรมจำรัส อดีตกรรมการศาลฎีกา 
พ.อ.สุวรรณ์ เพ็ญจันทร์ เจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก 
พระยาอรรถการียนิพนธ์ 
ร.อ.ประเสริฐ สุดบรรทัด 
เลื่อน พงษ์โสภณ สมาชิกสภาผู้แทนฯจากพรรคประชาธิปัตย์ 
และเขมชาติ บุญยรัตพันธ์
(NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 November 1947”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 25 November 1947, สยามนิกร, 11 พฤศจิกายน 2490.; ยวด เลิศฤทธิ์, “ระลึกถึงมือกฎหมายคณะรัฐประหาร 2490,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายเขม ชาติ บุญยรัตพันธุ์ ณ เมรุ วัดธาตุทอง วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2538 (กรุงเทพฯ: 2538); Kobkua Suwanathat-Pian , King, Country and Constitution: Thailand’s Political Development 1932 – 2000,(New York: Routledge Curzon, 2003), p. 223. )

ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้แก่สถาบันกษัตริย์มากขึ้น ( ข่าวโฆษณาการ 10, 11 (พฤศจิกายน 2490): 1063.; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลโทกาจ กาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 20 เมษายน 2510(กรุงเทพฯ: กรมการทหารสื่อสาร, 2510).

ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการฟื้นฟูอำนาจสถาบันกษัตริย์นั้นทำให้หนังสือพิมพ์ขณะนั้น เช่น สัจจา ได้วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญได้เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้สถาบันกษัตริย์มากกว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกล้มไป ( สัจจา, 10 พฤศจิกายน 2490. )

สถานทูตอังกฤษได้รายงานผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้ว่า คือ ***เซ็นเซอร์*** ( Nicholas Tarling, “Britain and the Coup 1947 in Siam,” Paper presented to International Association of Historians of Asia, Chulalongkorn University, Bangkok 20-24 May 1996, p. 3. )

พล ท.กาจ กาจสงคราม ให้คำสัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ต่อมาว่าเขาได้เคยส่งโทรเลขลับรายงานแผนรัฐประหารให้***เซ็นเซอร์***ทราบล่วงหน้า 2 เดือนก่อนลงมือรัฐประหาร ( เอกราช, 10 พฤศจิกายน 1947.)

ในขณะที่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยวิจารณ์ว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นและสาระในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 เป็นการหมุนเวลาถอยหลัง ( Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p.209-210. )

ราว 1 สัปดาห์หลังการรัฐประหาร จอมพลผิน ชุณหะวัณ แกนนำคนสำคัญในคณะรัฐประหารได้กล่าวอ้างว่า เขาได้ทำรัฐประหารตัดหน้าเสรีไทย “กลุ่มปรีดี” ที่มีแผนการจะประกาศว่า ใครคือบุคคลที่สังหารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกฐ และจะทำการสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 16 November 1947. )

สำหรับท่าทีของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และอังกฤษ มีท่าทีไม่รับรองรัฐบาลใหม่ สองวันหลังการรัฐประหาร ทูตสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้เข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยสแตนตัน ทูตสหรัฐฯได้ปฏิเสธการรับรองรัฐใหม่หลังการรัฐประหาร ( ไทยใหม่, 16 พฤศจิกายน 2490. ต่อมา วิลลิส เบิร์ด อดีตโอเอสเอสที่อยู่ในไทยขณะนั้น ได้รายงานการรัฐประหารครั้งนี้ กลับไปยังวิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน(William J. Donovan) อดีตหัวหน้าหน่วยโอเอสเอส(O.S.S.)ว่า กลุ่มทหารสมัยสงครามโลกได้ทำการรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ(Richard J. Aldrich, “Legacies of Secret Service : Renegade SOE and the Karen Struggle in Burma, 1948-1950,” in The Clandestine Cold War in Asia, 1945-1965: Western Intelligence, Propaganda and Special Operation, eds. Richard J. Aldrich, Gary D. Rawnsley and Ming-Yeh T. Rawnsley [London: Frank Class , 2000], p. 132.)

ส่วนทูตอังกฤษให้ความเห็นว่า อังกฤษยังไม่ควรรับรองรัฐบาลใหม่ที่ตั้งขึ้น และการรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ( กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 335. )

ในบทบรรณาธิการของนิวยอร์คไทมส์ (New York Times) ฉบับ12 พฤศจิกายน 2490 ได้วิจารณ์การรัฐประหารในไทยโดยพาดข้อความว่า “Setback in Siam” ซึ่งเป็นการหมุนเวลาทางการเมืองย้อนหลังและรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดพระมหากษัตริย์มีอำนาจทางการเมืองเป็นการเดินออกจากเส้นทางของระบอบประชาธิปไตย ( Bangkok Post, 13 November 1947 )

ด้วยเหตุที่คณะรัฐประหารต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการรับรองรัฐใหม่หลังการรัฐประหาร จากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ อังกฤษ และจีน สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นโอกาสอีกครั้งของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่สามารถก้าวขึ้นมีอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จ คณะรัฐประหารจำเป็นต้องผลักดันให้ ควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สร้างความพอใจให้กับ พระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มาก ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 23-24.; สัจจา, 17 พฤศจิกายน 2490. )

จากนั้นคณะรัฐประหารได้ส่งผู้แทนหลายคนไปชี้แจงความจำเป็นในการรัฐประหารกับสถานทูตมหาอำนาจต่างๆเช่น พ.อ.หลวงสุรณรงค์ และคณะ ไปพยายามโน้มน้าวสถานทูตสหรัฐฯ ควงไปทำความเข้าใจกับสถานทูตอังกฤษ ส่วน ม.จ. ภาคีไนย จักรพันธุ์ และม.จ.นิทัศน์ จิรประวัติ ไปชี้แจงแก่สถานทูตจีน (ประชาธิปไตย, 10 พฤศจิกายน 2490.; ประชากร, 11 พฤศจิกายน 2490.; Mahmud, The November 1947 Coup: Britain , Pibul Songgram and the Coup, p. 23 . )

แต่มหาอำนาจต่างๆ ยังคงไม่ให้การรับรองรัฐบาลใหม่จนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ ( Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 211. )

ความล้มเหลวในการต่อต้านรัฐประหาร และการสิ้นสุดความช่วยเหลือ“กลุ่มปรีดี” ของสหรัฐฯ

การชิงรัฐประหารตัดหน้า ก่อนการเริ่มแผนการปราบปรามกลุ่มต่อต้านโดยรัฐบาล พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทำให้ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา ตั้งตัวไม่ติดและแตกกระจัดกระจายอย่างฉับพลัน ปรีดีในฐานะหัวหน้ากลุ่มต้องหลบหนีการรัฐประหารจากรุงเทพฯ ไปยังหน่วยนาวิกโยธินของกองทัพเรือที่สัตหีบเพื่อตั้งหลักรวบรวมกำลังเพื่อเตรียมการต่อต้านการรัฐประหาร ไม่กี่วันหลังการรัฐประหาร ปรีดีและพล ร.ต.ถวัลย์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งถูกโค่นล้มอำนาจลง พวกเขามีความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและแผนการใช้กำลังจากนาวิกโยธินที่สัตหีบ จำนวน 3,700 คน และเรือรบจำนวน 5 ลำเข้าต่อต้านการรัฐประหาร ( พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, “เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามกรรมคือกฎธรรมชาติ,” ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516,(กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2516), หน้า 159.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 18 December 1947. )

ในเวลาต่อมา เมื่อกลุ่มของเขาเริ่มรวมตัวกันได้ เตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสหชีพรวมตัวจัดตั้ง “คณะพลเมืองใหม่” เพื่อต่อต้านรัฐประหาร และทำการแจกใบปลิวต่อต้าน ในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรี ประนามการรัฐประหารว่า “คณะทหารผู้ทำการรัฐประหารทั้งหลาย…การกระทำของท่านผู้อ้างว่าเป็นผู้รักชาติ และกระทำการเพื่อประเทศชาติ และปกป้องระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การกระทำของกรมขุนชัยนาทไม่ถูกต้องเพราะไม่ปฏิบัติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ” และได้กล่าวประนามจอมพลผิน ชุณหะวัณว่า ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ( หจช.สบ. 9.2.3/8 ข่าวรัฐประหาร 2490 แฟ้มเอก วีสกุล.; เสรีภาพ, 15 พฤศจิกายน 2490 )

หนังสือพิมพ์ขณะนั้นได้รายงานว่า “กลุ่มปรีดี” อดีตเสรีไทยนำโดย เตียง ศิริขันธ์ ,จำลอง ดาวเรืองทอง,อินทร์ ภูริพัฒน์ ได้รวมกำลังคนในภาคอีสานเตรียมประกาศภาคอีสานให้เป็นอิสระ ( ประชากร, 12 พฤศจิกายน 2490.; เสรีภาพ, 12 พฤศจิกายน 2490.; เสรีภาพ, 25 พฤศจิกายน 2490.; ร.ต.อ.เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, หน้า 73 )

การเกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของ “กลุ่มปรีดี” ในอีสานนั้นสร้างความวิตกให้กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในขณะนั้น ทำให้รัฐบาลควง อภัยวงศ์ และคณะรัฐประหารรัฐบาล ได้ออกพระราชกำหนดคุ้มครองความสงบสุข 2490 ที่มอบอำนาจให้คณะรัฐประหารใช้อำนาจทางทหารปราบปรามผู้ที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อรัฐบาล ด้วยอำนาจที่รัฐบาลมอบให้ทำให้ทหารสามารถตรวจค้นและได้จับ“กลุ่มปรีดี”ไปถึง 41 คน ( ราชกิจจานุเบกษา (แผนกกฤษฎีกา) 64, 56 (ฉบับพิเศษ 22 พฤศจิกายน 2490).; เสรีภาพ, 4 ธันวาคม 2490.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 December 1947”; “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 15-31 December 1947”. )

ส่วนคณะรัฐประหารต้องจัดทำใบปลิวโปรยที่จังหวัดต่างๆ ในอีสานทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อระงับต่อต้านรัฐบาล ( ชาติไทย, 20 พฤศจิกายน 2490. )

สำหรับความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มปรีดี” นอกประเทศไทยนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ผู้แทนไทยประจำสหประชาชาติขณะนั้น พระองค์ได้ทรงขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากทรงไม่สามารถร่วมงานกับรัฐบาลใหม่ได้และทรงประกาศว่ารัฐบาลชุดเก่ายังคงดำรงอยู่ ( Bangkok Post, 11 November 1947.; ประชากร, 12 พฤศจิกายน 2490.; ประชากร, 25 พฤศจิกายน 2490. )

ปลายเดือนพฤศจิกายน สงวน ตุลารักษ์ เอกอัคราชทูตไทยประจำนานกิง กล่าววิจารณ์การรัฐประหารในไทยอย่างรุนแรง และประกาศไม่ยอมรับคำสั่งจากคณะรัฐประหาร โดยเขายืนยันว่ารัฐบาลเก่ายังดำรงอยู่ในไทย และเขาได้ติดต่อกับ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งหลบหนีออกจากไทยแล้ว ( หจช.สบ. 9.2.3/8 ข่าวรัฐประหาร 2490 แฟ้มเอก วีสกุล. )

ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เรียกร้องให้นานาชาติเข้าใจความจำเป็นในการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล (ประชากร, 25 พฤศจิกายน 2490. )

ปรีดี พนมยงค์ ได้ตัดสินใจเดินทางออกจากไทยเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2490 เพื่อเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น และการต่อต้านการรัฐประหารตามแผนการ ด้วยความช่วยเหลือจาก ร.อ.เดนิส (Dennis) ทูตทหารเรืออังฤษ และ น.ท.กาเดส (Gardes) แห่งรัฐนาวีสหรัฐฯ ผู้เป็นมิตรเก่าในช่วงสงครามโลกได้ช่วยนำเขาออกนอกประเทศโดยเรือบรรทุกน้ำมันของสหรัฐฯเพื่อขึ้นฝั่งที่มาลายา ( Richard J. Aldrich, “Legacies of Secret Service : Renegade SOE and the Karen Struggle in Burma, 1948-1950,” in The Clandestine Cold War in Asia, 1945-1965: Western Intelligence, Propaganda and Special Operation, eds. Richard J. Aldrich, Gary D. Rawnsley and Ming-Yeh T. Rawnsley (London : Frank Class, 2000), p. 132. )

จากนั้น ทอมสัน ทูตอังกฤษได้แจ้งให้ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทราบว่า อังกฤษได้ช่วยปรีดีออกนอกประเทศสำเร็จ โดยควงได้ตอบกลับว่าทูตอังกฤษว่า เขามีความยินดีที่ปรีดีออกนอกประเทศแล้ว ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 28. )

ในปลายเดือนเดียวกันนั้น ทูตอังกฤษแสดงความไม่เห็นด้วยกับแผนการต่อต้านการรัฐประหารของปรีดี จึงได้แนะนำให้เขากล่าวกับกลุ่มของเขาให้ยุติการต่อต้านผ่านวิทยุในสิงคโปร์

สำหรับแผนการของ ปรีดี พนมยงค์ ในการจัดตั้งรัฐบาลผลัดถิ่นนั้น เขาคาดหวังความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ พันธมิตรเก่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ปรากฏว่า สหรัฐฯ ไม่รับการตอบรับความคาดหวังของเขา โดยในเดือนธันวาคม 2490 ปรีดี ประสานงานให้ อรรถกิตติ์ พนมยงค์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นน้องชายของปรีดีขณะนั้นอยู่ในต่างประเทศเข้าพบ วิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) อดีตหัวหน้าโอเอสเอสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อขอให้สหรัฐฯสนับสนุนอาวุธให้ปรีดีกลับสู่อำนาจอีกครั้ง 

ปรีดีมีแผนตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นทางตอนเหนือของไทย แต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่สนับสนุนปรีดีให้กลับสู่อำนาจอีกตามคำขอ สหรัฐฯได้แต่แสดงความเสียใจกับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น และมีความต้องการส่งเสริมให้ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองต่อไป (NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Howard Palmer and Kenneth P. Landon, 21 December 1947.; Neher, “Prelude to Alliance : The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p.55-56. )

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายจากเดิมที่สหรัฐฯ เคยให้ความช่วยเหลือแก่เขาและกลุ่มในช่วงสงครามโลก ไปสู่ความนิ่งเฉยกับการรัฐประหารในไทย นี้อาจเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลของ “กลุ่มปรีดี” ดำเนินนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯด้วยการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อกันยายนปีเดียวกัน

ไม่แต่เพียงการรับรู้และท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อ ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขาได้เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากปรีดีประสบความความล้มเหลวที่จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้เขากลับสู่อำนาจอีกครั้ง ต่อมา ในปลายเดือนพฤษภาคม 2491 เขามีแผนการเดินทางจากสิงคโปร์ไปยังสหรัฐฯ ในระหว่างการเดินทาง เขาได้แสดงวีซ่าขอเข้าสหรัฐฯ ที่สถานกงสุลสหรัฐฯประจำเซี่ยงไฮ้ และที่นั่นเขาได้พบกับ นอร์แมน เอช. ฮันนาห์ (Norman H. Hannah) เจ้าหน้าที่ซีไอเอปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรองกงสุลสหรัฐฯ ฮันนาห์ได้ปฏิเสธการอนุญาตให้เขาเดินทางเข้าสหรัฐฯด้วยการกระชากหนังสือเดินทางไปจากมือเจ้าหน้าที่กงสุลและขีดฆ่าวีซ่าของเขามิให้เขาเดินทางเข้าสหรัฐฯได้อีก ( ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 108-109. ปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกว่า ในเวลาต่อมาเขาได้ทราบว่า นอร์มัน ฮันนาห์ ทำงานให้กับซีไอเอ และในเวลาต่อมา ฮันนาห์ได้ย้ายจากสถานกงสุลสหรัฐฯประจำฮ่องกง ไปประจำที่สถานเอกอัครราชทูตกรุงเทพฯ โดยฮันนาห์มีบทบาทสนับสนุนให้ตำรวจจับภริยาและบุตรชายของเขาในกรณี “กบฎสันติภาพ”เมื่อปี 2495 )

จะเห็นได้ว่า ท่าทีของสหรัฐฯที่มีต่อปรีดีและกลุ่มของเขานั้นมิได้เป็นไปในลักษณะเห็นอกเห็นใจเหมือนดังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีก แม้ปรีดีและกลุ่มของเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากอดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอส หรือมิตรเก่าชาวอเมริกันที่เคยร่วมมือกันในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติงานตามนโยบายใหม่ของสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีทรูแมนนั้นกลับมีปฏิกริยาต่อปรีดีและกลุ่มของเขาที่แข็งกร้าวและไม่เป็นมิตรอีก 

ดังนั้นจากสิ่งที่ปรีดีและกลุ่มของเขาได้รับการตอบสนองของสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่า ภายใต้บริบทใหม่ในช่วงแรกเริ่มของสงครามเย็นนั้นสหรัฐฯมิได้เลือกปรีดีและกลุ่มของเขาเป็นพันธมิตรเฉกเช่นในช่วงสงคราม โลกครั้งที่ 2 อีกต่อไป