วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 2

การกลับสู่การเมืองของไทยของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่แต่เพียงสร้างปัญหาให้กับการเมืองไทยเท่านั้น แต่นำมาซึ่งปัญหาการเมืองภายในราชสำนักด้วยเช่นกัน เนื่องจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขณะนั้นมีหลายกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มก็ให้การสนับสนุนราชสกุลที่แตกต่างกันให้ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนัก เช่น ราชสกุลจักรพงศ์ บริพัตร หรือยุคล 

ซึ่งราชสกุลข้างต้นยังคงมีอิทธิพลและได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” มากกว่าราชสกุลมหิดลที่ห่างเหินจากการเมืองในราชสำนัก ท่ามกลางการแข่งขันภายในราชสำนักของเหล่าพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต่างๆ ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ จะเสด็จนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 นั้น สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า พระองค์อาจจะทรงสละราชย์สมบัติ และมีความเป็นไปได้ที่พระองค์เจ้าจุมภฎ แห่งราชสกุลบริพัตรจะขึ้นครองราชย์แทน อีกทั้งในขณะนั้น ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ ได้แสดงความสนิทสนมกับราชตระกูลอื่นที่มีโอกาสสืบสันติวงศ์ในลำดับถัดไป เช่น การที่เขาได้เคยได้เดินทางไปพบพระองค์เจ้าจุมภฎฯ และเขาเคยไปเที่ยวกับพระองค์เจ้าภาณุพันธ์แห่งราชสกุลยุคคลด้วย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร
กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
แม้ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ทรงนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 แต่ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรและ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ก็มิได้ลบเลือนไป แต่กลับยิ่งปริร้าวมากยิ่งขึ้น สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงต้นมิถุนายน 2489 เกิดความเหินห่างกันระหว่างพระมหากษัตริย์ และปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากเกิดการปล่อยข่าวภายในราชสำนักโดยพระราชวงศ์และพรรคประชาธิปัตย์ ทูตสหรัฐฯ และอังกฤษได้บันทึกถึงบรรยากาศที่เย็นชาในช่วงเวลาดังกล่าวที่พวกเขาได้รับจากพระมหากษัตริย์ และพระราชชนนี เมื่อพวกเขากล่าวถึง ปรีดี พนมยงค์ ต่อหน้าพระพักต์ 

ในรายงานของสถานทูตฯได้วิเคราะห์ว่า พระราชวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์พยายามใช้พระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกระหว่างคณะราษฎร และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”เพื่อทำการต่อต้านรัฐบาลปรีดี ในรายงานได้แสดงความหวังว่าปัญหาความเย็นชาและความขัดแย้งระหว่างราชสำนักและรัฐบาล จะลดลงเมื่อพระองค์ทรงเสด็จเดินทางไปยังต่างประเทศ

แต่ปัญหาดังกล่าวมิได้เป็นไปตามความคาดหวังที่สถานทูตสหรัฐฯหวังไว้ แต่ความขัดแย้งกลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯทรงสวรรคตด้วยการถูกยิงด้วยพระแสงปืนอย่างมีเงื่อนงำในเช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ไม่กี่วันก่อน พระองค์จะทรงออกเดินทางกลับไปยังสวิสเซอร์แลนด์ ( ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯทรงเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดี พนมยงค์ได้เสนอให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชสืบสันตติวงศ์ โดยรัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์ แต่ด้วยเหตุที่พระองค์ยังทรงยังไม่บรรลุนิติภาวะ รัฐสภาจึงได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว คือ พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ) พระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี วณิคพันธุ์) และนายสงวน จูฑะเตมีย์ (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี(2485-2517),[พระนคร: ชุมนุมช่าง, 2517], หน้า 535, 543.)

จากการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯแทนนี้ สร้างความไม่พอให้ให้กับราชสำนัก เนื่องจากราชสำนักต้องการมีส่วนในการจัดการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯด้วยตนเอง (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 11 June 1946 ) 

ต่อมา เกิดการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลปรีดี กับราชสำนักด้วยการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯจำนวน 2 คน ในระหว่างนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเดินทางกลับมาไทยและทรงมีพระราชประสงค์เป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯด้วย (NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 August 1946”). 

แต่สุดท้ายราชสำนักได้เสนอชื่อ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เป็นตัวแทน ส่วนคนที่ 2 คือ พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ตัวแทนของรัฐบาล (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 18 June 1946)

การสวรรคตที่เกิดขึ้นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่สำคัญอันทำให้ ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขาหมดอำนาจลงอย่างรวดเร็ว และเหตุการณ์ดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ “กลุ่มจอมพล ป.” กลับมามีโอกาสทางการเมืองอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นโอกาสที่ดียิ่งของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นหนทางในการกลับมามีอำนาจทางการเมืองของพวกเขา ยิ่งนำไปสู่ปัญหาความปั่นป่วนทางการเมืองอย่างรุนแรงในการเมืองไทยนานกว่าทศวรรษต่อไป

หลังการสวรรคตไม่นานรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ ได้แถลงข่าวดังกล่าวต่อสาธารณชนว่า พระมหากษัตริย์ทรงสวรรคตจากอุบัติเหตุ จากนั้นรัฐบาลได้สั่งให้คณะแพทย์และตำรวจเข้าชันสูจน์พลิกศพ แต่ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้ทรงเป็นพระประยูรญาติชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงมีความสนิทสนมกับราชสกุลมหิดล และต่อมาทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์นั้น พระองค์ทรงไม่อนุญาตให้คณะแพทย์และตำรวจของรัฐบาลเข้าทำหน้าที่ ( A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 550. )

จากนั้น ปรีดี ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม รัฐสภายังคงเลือกเขากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 11 มิถุนายน 2489 การกลับมาสู่อำนาจของปรีดีครั้งนี้ทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันของพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ระหว่างพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมมือในการปล่อยข่าวลือโจมตีว่า ปรีดีปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ ( Ibid., หน้า 550,558. ) การปล่อยข่าวดังกล่าวยิ่งทำให้สาธารณชนที่ไม่มีโอกาสรับรู้ข้อเท็จจริงนั้นมีความสงสัยในรัฐบาลปรีดีมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาเดียวกัน สถานทูตอังกฤษได้รายงานว่า พระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”  ใช้สถานทูตสหรัฐฯ และอังกฤษ เป็นเป้าหมายของการปล่อยข่าวลือโจมตีรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ ภายหลังการสวรรคตได้เพียง 2 วัน ทูตอังกฤษได้รายงานเมื่อ 11 มิถุนายน 2489 ว่าพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ ได้มาพบทูตอังกฤษอย่างรีบเร่งด้วยรถยนต์ทหารอังกฤษเพื่อแจ้งแก่เขาว่า พระองค์ทรงเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ทรงถูกลอบปลงพระชนม์ ทรงอ้างว่าทรงเห็นพระบรมศพด้วยพระองค์เอง แต่รัฐบาลปรีดีกลับประกาศว่าการสวรรคตเป็นอุบัติเหตุ ทรงแสดงความกังวลว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะไม่ได้ทรงราชย์ เนื่องจากทรงเชื่อว่ามีนักการเมืองที่ครองอำนาจอยู่จะสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น จึงทรงเรียกร้องให้กองทัพทหารอังกฤษประจำการอยู่ในประเทศไทยต่อไป ( กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 331. )

แต่สถานทูตอังกฤษไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับเรื่องลึกลับซับซ้อนภายในราชสำนักไทย และทูตอังกฤษได้เตือนพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯว่า ไม่ทรงควรปล่อยให้อารมณ์ครอบงำจิตใจ ทูตอังกฤษเห็นว่า พระองค์ทรงมาจากฝ่ายที่ต้องการดำเนินการรุนแรง ( Ibid., หน้า 332. ทั้งนี้ “พระองค์เจ้าไทย” ที่เอกสารอังกฤษรายงานนั้น ปรีดี พนมยงค์เห็นว่า หมายถึง พระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ(ปรีดี พนมยงค์, ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์,[กรุงเทพฯ: คณะ อนุกรรมการศึกษาวิจัยและประมวลผลงานของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์, 2544], หน้า 158-168).

ในขณะเดียวกัน โยสต์ อุปทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ส่งภรรยา และหลานของเขามายังสถานทูตฯ พร้อมกล่าวหาว่า ปรีดี มีความเกี่ยวข้องกับการสวรรคต แต่เขาไม่เชื่อข่าวดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State,“Footnotes on the King’s Death,” 14 June 1946.; “A Memorandum on a certain aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 550. )

นอกจากนี้ โยสต์ ได้รายงานสถานการณ์การเมืองในราชสำนักภายหลังการสวรรคตต่ออีกว่า เกิดการเห่อเหิมของกลุ่มพระราชวงศ์หลายตระกูล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่นำโดยราชสกุลสวัสดิวัตน์ ที่มีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ เป็นแกนนำที่ให้การสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ให้ขึ้นมีอำนาจเหนือราชสำนักแทน ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 11 June 1946 . )

สแตนตัน ทูตสหรัฐฯเห็นว่า การสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ เป็นประหนึ่งเงาดำทมึนที่บดบังทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดการข่าวลือที่สกปรกที่เชื่อมโยงคดีไปสู่ ปรีดี พนมยงค์และพวก มีความเกี่ยวข้องกับการสวรรคต

ต่อมา สแตนตันได้เข้าพบ ปรีดี นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้บันทึกการพบครั้งนั้นว่า ปรีดี อยู่ในอารมย์โกรธเนื่องจากถูกกล่าวหาจาก พระราชวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และพระราชชนนีให้ต่อต้านเขา 

ปรีดี แจ้งต่อไปอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพระราชชนนีนั้นอยู่ในระดับแย่ และเขามีความวิตกว่า ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่นี้จะเกิดกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วย เนื่องจากเขากำลังถูกใส่ร้ายดุจเดียวกับเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกฐ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State,“Death of the King of Siam,” 13 June 1946.ข้อความที่สแตนตัน ทูตสหรัฐฯรายงานการสนทนากับปรีดี พนมยงค์ไม่กี่วันหลังการสวรรคตมีว่า “…he (ปรีดี พนมยงค์ ) was violently angry at the accusation of foul play leveled againt himself and most bitter at the manner in which he alleged that the Royal Family and the Opposition, particularly Seni Pramoj, had prejudiced the King and especially the Princess Morther againt him… his relations with the Princess Mother were hopelessly bad and he feared greatly that his relations with the new King would be poisoned in the same manner as had his relations with King Ananda .” )

หลังจากข่าวลือเกี่ยวกับการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ถูกลอบปลงพระชนม์ได้แพร่สะพัดไปในสังคมก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน ปรีดี พนมยงค์ อย่างรุนแรง นักหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยชาวอเมริกันและอดีตโอเอสเอสคนหนึ่งได้บันทึกถึงบทบาทของหนังสือพิมพ์ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองขณะนั้นว่า หนังสือพิมพ์ไทยจำนวน 35 ฉบับขณะนั้น มีเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่รายงานข่าวอย่างเที่ยงตรง นอกนั้นได้รับการอุดหนุนจากกลุ่มการ เมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อกันทั้งสิ้น เช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์” รัฐบาล และกลุ่มทหาร การรายงานข่าวขณะนั้นดุเดือดและมุ่งทำลายล้างศัตรูทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมใดๆ ( Alexander Macdonald, Bangkok Editor,(New Yor: The Macmillan Company,1950), p.57. )

และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเมืองจากการสวรรคตที่รัฐบาล ปรีดี ยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับสาธารณชน ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่แหลมคม ยิ่งทำให้หนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองต่างๆ เคลื่อนไหวสร้างข่าวที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลมากยิ่งขึ้น เพียงไม่กี่วันภายหลังการสวรรคต เริ่มเกิดข่าวลือในสังคมว่า พระมหากษัตริย์ถูกปลงพระชนม์ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 18 June 1946.; Macdonald, Bangkok Editor, p. 57-58.; ประจวบ อัมพะเศวต, พลิกแผ่นดินประวัติการเมืองไทย 24 มิถุนายน 2475-14 ตุลาคม 2516,(กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2543),หน้า 234. ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์อิทธิธรรม ของชื้น โรจนวิภาต เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่โจมตีรัฐบาลกรณีสวรรรคต )

แม้ในเวลาต่อมารัฐบาล ปรีดี จะได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีสวรรคตขึ้นเพื่อดำเนินการสร้างความกระจ่างแก่สาธารณชน ( สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนทางการเมืองของการรัฐประหาร พ.ศ.2490,” หน้า 39-40. คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวมีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ประกอบด้วยตัวแทนมาจาก 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้พิพากษาและอัยการ ศาลอุธรณ์ ศาลอาญา และกรมอัยการ กลุ่มผู้แทนรัฐสภาจากประธานพฤฒิสภาและสภาผู้แทนฯ กลุ่มพระราชวงศ์ เช่น พระองค์เจ้าจุมภฎฯ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ และพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ และกลุ่มสุดท้ายมาจากตัวแทนของ 3 เหล่าทัพ โดยคณะกรรมการชุดนี้ถูกตั้งขึ้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2489 )

แต่ก็ดำเนินการสอบสวนไปด้วยความยากลำบาก ต่อมารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความกระจ่างถึงสาเหตุการสวรรคตให้สาธารณชนได้ ยิ่งทำให้สาธารณชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยมากยิ่งขึ้น แม้ ปรีดี จะสามารถรักษาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปท่ามกลางวิกฤติการณ์หลังการสวรรคตได้ก็ตาม แต่ประชาชนทั่วไปยังคงเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ถูกลอบปลงพระชนม์ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP78-01617A005800020009-4, 4 July 1946, “Political crisis subside”. )

อย่างไรก็ตาม พระราชวงศ์หลายคนเช่น พระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ พระองค์เจ้าจุมภฎฯ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการสืบสวนกรณีสวรรคตนี้ ต่างทรงมีเป้าหมายทางการเมืองร่วมกัน คือ ความไม่พอใจคณะราษฎร ดังรายงานของซีไอเอได้รายงานว่า พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ทรงเป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสขึ้นครองราชย์เป็นลำดับที่ 3 ต่อจากพระองค์เจ้าจุมภฎฯ-ทรงไม่พอพระทัยปรีดี พนมยงค์ เพราะปรีดีไม่ได้ให้การสนับสนุนการค้าส่วนพระองค์ ทรงกล่าวว่าทรงมีพระประสงค์ต้องการเล่นการเมือง ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R000100410004-5, 13 November 1946, “Internal Politics”. )

จากนั้นพระองค์ทรงให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และทรงใช้หนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง โดยทรงว่าจ้างให้บรรณาธิการ ใช้หนังสือพิมพ์ทำลายล้างนักการเมืองของคณะราษฎร เนื่องจากทรงไม่พอพระทัยที่คณะราษฎรโค่นล้มระบอบเก่าด้วยการโจมตีว่าคณะราษฎรเป็นศัตรูของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” อีกทั้ง ทรงได้เขียนบทความหลายชิ้นด้วยตนเอง โดยใช้นามปากกาว่า“จันทวาทิตย์” ( Macdonald, Bangkok Editor, p. 58. )

ทรงเคยกล่าวกับนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความภูมิใจที่ได้โจมตีรัฐบาลปรีดีและกลุ่มของเขา ( Ibid., p. 59. ต่อมา พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯทรงจัดตั้ง บริษัท สหอุปกรณ์การพิมพ์ ขึ้นและทรงเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น เกียรติศักดิ์ และประชาธิปไตย อีกทั้งทรงมีนักหนังสือพิมพ์ภายใต้การอุปถัมภ์ เช่น เช่น ร.ท. สัมพันธ์ ขันธะชวนะ (“สำเนียง‘ตาหมอหลอ’ ขันธชวนะ,” ในชีวิตการต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์ที่น่าสนใจ, ราเชนทร์ วัฒนปรีชากุล [กรุงเทพฯ: ศูนย์รวมข่าวเอกลักษณ์, ไม่ปรากฎปีพิมพ์],หน้า 260-262). 

ประวัติของ สำเนียง ขันธชวนะหรือ ‘ตาหมอหลอ’ เขาจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 4 เคยเป็นครูประชาบาลที่จังหวัดราชบุรี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้เข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ เคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการเกียรติศักดิ์ เขามีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเขียนข่าวคดีสวรรคต ในช่วงปี 2490 เกียรติศักดิ์มียอดจำหน่ายดีมากจากข่าวคดีสวรรคต ต่อมาหนังสือพิมพ์มีปัญหาทางการเงินในช่วง 2498 เขาจึงไปร่วมงานกับหนังสือพิมพ์ข่าวด่วนจนถึงปี 2500 เขาย้ายไปทำงานกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่สยามรัฐ) และไสว พรหมมิ(อนุสรณ์ในงานณาปนกิจศพ นายไสว พรหมมิ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม 1 กุมภาพันธ์ 2526,(สระบุรี: โรงพิมพ์ปากเพรียว, 2526),หน้า 51.

ประวัติของไสว พรหมมิ (2459 - 2525) เคยทำงานที่ เกียรติศักดิ์และประชาธิปไตย ใช้นามปากกาว่า ‘อานนท์’ เป็นคอลัมนิสต์ที่เขียน “การเมืองนอกเวที” เคยเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างหนักในกรณีซื้อรถถังเบรนกิ้น ในระหว่างที่เขาร่วมงานกับเกียรติศักดิ์นั้น หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวถูกปิดเนื่องจากไปโจมตีกรณีสวรรคต จากนั้นพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯได้ทรงซื้อกิจการประชาธิปไตย เพื่อให้เขาเขียนข่าวโจมตี ปรีดี พนมยงค์ ในกรณีสวรรคตและการสถาปนามหาชนรัฐต่อไป 

นับแต่การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ รัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ สูญเสียความเชื่อมั่นและได้รับความไม่พอใจจากสาธารณชน ข้าราชการ และทหาร อีกทั้งถูกโจมตีจากหนังสือพิมพ์อย่างหนัก ทำให้รัฐบาลเกิดความวิตกถึงปัญหาความมั่นคงทางการเมือง ทำให้รัฐบาลแต่งตั้ง พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อดีตอธิบดีกรมตำรวจและเสรีไทยให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกในกลางเดือนมิถุนายน 2489 เพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการรัฐประหาร ในปลายเดือนเดียวกันรัฐบาลได้จับกุมนักการเมือง และนักหนังสือพิมพ์ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ได้ปล่อยข่าวลือโจมตีรัฐบาลได้หลายคน ( NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 31 July-15 August 1946”.; สุวิมล รุ่งเจริญ,“บทบาทของนักหนังสือพิมพ์ในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ.2490-2501,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526),หน้า 30.; เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า,(พระนคร: รวมสาส์น, 2501), หน้า 478-486. เช่น เลียง ไชยกาล ส.ส. โชติ คุ้มพันธุ์ ส.ส. ทองนันท์ วงศ์สังข์ ส.ส. สกลนคร ประยูร อภัยวงศ์ ส.ส. พิบูลสงคราม แดง วงศ์สุวรรณ ผู้สมัครส.ส. สงขลา ประชาธิปัตย์ ส่วนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ดำริห์ ปัทมะศิริ-บรรณาธิการประชาธิปไตย ยอดธรรม บุญบันดาล-บรรณาธิการเสรี สมัย เรืองไกร-บรรณาธิการสหภาพ และร.ท.สัมพันธ์ ขันธะชวนะ บรรณาธิการเกียรติศักดิ์(NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP78-01617A005800020001-2, 1 April 1946- 29 June 1946, “Premier move to restrain Army”)

สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เมื่อรัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อ 1 กรกฎาคม และมีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์นั้น ไม่ได้ช่วยให้ความปั่นป่วนทางการเมืองที่ถูกปลุกเร้าจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” คลี่คลายลงไปได้เลย แต่กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง เนื่องจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อก่อวินาศกรรมทางการเมืองต่อรัฐบาล ปรีดี โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวม ต่อมา ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ประกาศว่า เขาจะถูกจับเร็วๆนี้ และแจ้งว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการติดต่อจากกองทัพให้ต่อต้านรัฐบาล ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 3 July )

ต่อมารัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ ได้จับสมาชิกแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์หลายคน เช่น ควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และเลียง ไชยกาล กับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” อีก 2 คน เนื่องจากร่วมกันขยายข่าวที่เป็นเท็จ ปรีดี ได้แจ้งกับ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯในขณะนั้นว่า หากข่าวลือเกี่ยวกับการสวรรคตไม่จบลงเร็วๆนี้จะเกิดปัญหายุ่งยากทางการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 6 July 1946. )

สแตนตันยังคงรายงานต่อไปว่าการสนทนาครั้งนี้ ปรีดี อยู่ในอารมณ์โกรธ และบอกกับเขาว่า ข่าวลือเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์ ”ที่ต้องการปล่อยข่าวลือหวังสร้างความเคลือบแคลงใจต่อตัวเขาให้กับสาธารณชน โดยขณะนั้นรัฐบาล ปรีดี ได้ตอบโต้ด้วยการใช้วิธีการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์เพื่อต่อต้านการปล่อยข่าวลือดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, 8 July 1946 . )

หลังการสวรรคตของพระมหากษัตริย์เพียงหนึ่งเดือน สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า เกิดความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่นำโดยพระองค์เจ้าจุมภฎฯ ผู้ทรงเป็นหนึ่งในกรรมการสืบสวนการสวรรคตและทรงมีสิทธิในการขึ้นครองราชลำดับที่ 2 ต่อจากราชสกุลมหิดลนั้น ได้ทรงให้การสนับสนุนการแจกอาวุธปืนคาไบน์และกระสุนเพื่อเตรียมการรัฐประหารล้มรัฐบาลปรีดี พนมยงค์ ที่ยังไม่ยอมให้ความกระจ่างถึงสาเหตุการสวรรคตเพื่อผลักดันให้พระองค์เจ้าจุมภฎฯขึ้นครองราชย์แทนราชสกุลมหิดล อีกทั้งพระองค์ทรงต้องการหมุนระบอบการเมืองของไทยให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง โดยทรงมีแผนเปิดโอกาสให้อังกฤษกลับมามีอิทธิพลต่อไทยอีกครั้ง 

สำหรับ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีให้สนับสนุนการเตรียมรัฐประหารของพระองค์เจ้าจุมภฏอย่างลับๆ อย่างไรก็ตามแผนการรัฐประหารของพระองค์เจ้าจุมภฎและพรรคประชาธิปัตย์ถูกระงับไป เนื่องจากรัฐบาลล่วงรู้ความเคลื่อนไหว และเตรียมการต่อต้านการรัฐประหารดังกล่าวแล้ว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 30 July 1946 . )

เมื่อการรณรงค์เลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ 2489 เริ่มต้นขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งต้องการชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยทุกวิธีการได้ใช้ประโยชน์จากการสวรรคตเป็นประเด็นในการโจมตีทางการเมือง โดย ควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมมือกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กล่าวหาว่า คณะราษฎรมีแต่ความผิดพลาด และปล่อยข่าวโจมตีว่า ปรีดี พนมยงค์ อยู่เบื้องหลังการสวรรคตผ่านการกระซิบและการเขียนข้อความสนเท่ห์แจกจ่ายไปตามหน่วยราชการและบุคคล ( “A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 549.,สุชิน ตันติกุล , “ผลสะท้อนทางการเมืองของการรัฐประหาร พ.ศ.2490,”หน้า 41. )

อย่างไรก็ตามรัฐบาล ปรีดี ได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยที่สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชี้แจงว่าข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องจากพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้แผนการสกปรกในการโจมตีรัฐบาล รัฐบาลจึงมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ คือ ศัตรูทางการเมือง ( “A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 561-562. และโปรดดู “คำสั่งกระทรวง มหาดไทย,” 29 กรกฎาคม 2489 ใน เบื้องหลังการเมืองยุคทมิฬ, ณรงค์ ไตรวัฒน์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อุดมศึกษา, 2517), หน้า 53-58. )

ไม่แต่เพียงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น แต่ภายในพรรคประชาธิปัตย์เกิดความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่าง ไถง สุวรรณทัต กับพระยาศรีวิสารวาจา ซึ่งทั้งคู่ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเดียวกัน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจให้ ไถง ถอนตัวจากการแข่งขัน แต่ไถงปฏิเสธ ไม่นานจากนั้น เขาถูกขว้างระเบิดในระหว่างการหาเสียงทำให้เขาเสียขาข้างหนึ่งไป 

จากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้รถหาเสียงโฆษณากล่าวหาว่า ปรีดี อยู่เบื้อง หลังการระเบิดใส่ ไถง ด้วยเหตุที่เหตุดังกล่าวเกิดก่อนลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งเพียง 2 วัน แต่บางคนเห็นว่า คนที่ได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ คือ พรรคประชาธิปัตย์ นั่นเอง แม้ว่า ผลการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2489 ปรากฎว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลพ่ายแพ้ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในเขตกรุงเทพฯแต่รัฐบาลยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนในเขตชนบท ( “A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 563-564. )

กระนั้นก็ดี “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ล้มเลิกความพยายามในการทำลาย ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขา ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ส่งคนลักลอบบุกรุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อโจมตีรัฐบาลปรีดีด้วยข้อกล่าวหาว่า รัฐบาลบกพร่องที่ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยให้พระมหากษัตริย์จนกระทั่งพระองค์ทรงถูกปลงประชนม์ได้ ( Ibid., ผลการสอบสวนในทางลับนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯทรงได้บันทึกว่า บุคคลที่บุกรุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวังมีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” โดยบุคคลดังกล่าวนั้นเคยทำ งานกับควง อภัยวงศ์ ส่วนน้องสาวของเขาทำงานกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังนั้นการสร้างเหตุการณ์บุกรุกดังกล่าว ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำให้สาธารณชนเข้าใจว่ารัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ นั้นชั่วช้า )

ตำรวจสันติบาลนายหนึ่งบันทึกว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ใช้กรณีสวรรคตโจมตีรัฐบาล โดยเริ่มจากประเด็นรัฐบาลถวายการอารักขาไม่เพียงพอ ต่อมากลายเป็นการโจมตี ปรีดี ว่าเป็นผู้บงการให้เกิดการสวรรรคต เป็นพวกสาธารณรัฐ และเป็นคอมมิวนิสต์ ( เฉียบ ชัยสงค์ ) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, หน้า 451-452.; Coast , Some Aspects of Siamese Politics, p. 35. )

แม้ ปรีดี จะถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากการสวรรคต แต่ปรากฎว่าเขามิได้เสนอคำอธิบายใดๆ ในการปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆที่เกิดขึ้น แต่เขากลับตัดสินใจลาออกเมื่อ 21 สิงหาคม ด้วยเหตุผลที่เป็นทางการ คือ เขามีปัญหาสุขภาพและต้องการพักผ่อน แต่สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า สาเหตุที่แท้จริง คือ เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างปรีดีกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่และเหล่าพระราชวงศ์ เนื่องจาก ปรีดีได้ทราบว่า เกิดความร่วมมืออย่างลับๆภายในราชสำนักกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทำลายล้างเขา ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 August 1946”.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R000100410004-5, 13 November 1946, “Internal Politics”.ในรายงานฉบับนี้รายงานว่า ก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช-พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะเสด็จจากไทยไปในกลางสิงหาคม 2489 นั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯ ทรงเป็นพระราชวงศ์เพียงไม่กี่พระองค์ที่ทรงเห็นใจปรีดี พนมยงค์ทรงได้เริ่มสืบหาปริศนาของสาเหตุของการสวรรคต ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001000520003-4, 30 October 1947, “The Political Situation”; “A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 564.)

แม้ ปรีดี จะลาออกโดยมี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ที่ปรีดีไว้วางใจและได้สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าแผนการของ ”กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มุ่งทำลายล้างอำนาจทางการเมืองของปรีดีและกลุ่มของเขาจะยุติลงได้

ที่มาและเชิงอรรถจากวิทยานิพลเรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500)

นายณัฐพล ใจจริง