รัฐบาลจอมพล ป.กับความล้มเหลวในการเปิดไมตรีกับ “กลุ่มปรีดี”
การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนี้ เขาได้รับความชื่นชมจากมหาอำนาจตะวันตก เนื่องจากเขาได้ประกาศยอมรับและทำตามพันธสัญญาต่างๆ ที่ไทยได้เคยตกลงกับนานาชาติ ให้การสนับสนุนสหประชาชาติ และที่สำคัญรัฐบาลของเขาประกาศความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหรัฐฯ ( “Department of State Policy Statement on Indochina, 27 September 1948” in Foreign Relations of the United States 1948 Vol.6, (Washington: Government Printing Office, 1974), p. 47.; แถมสุข นุ่มนนท์, “ขบวนการต่อต้านอเมริกา สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม,” ใน รวมบทความประวัติศาสตร์ 2 (มกราคม 2524): 50. )
อย่างไรก็ตามรัฐบาลของเขายังคงต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากปรปักษ์ทางการเมืองหลายกลุ่ม เช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มปรีดี” ไม่แต่เพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพ และภายในกองทัพบก มีผลทำให้รัฐบาลของเขาในช่วง 2491 จนถึง 2494 ถูกต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ อย่างมาก
การท้าทายอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏเสนาธิการ” ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในกลางปี 2491 ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การต่อต้านรัฐบาลเกิดจากความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคยร่วมมือกันใน “ขบวนการเสรีไทย” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP79-01082A000100010020-7, 11-17 May 1948, “Intelligence Highlights”. )
ซีไอเอ ได้รายงานว่าแผนการรัฐประหารดังกล่าวว่ามี 2 วิธี คือ การใช้กำลังทหารจากกรมปืนต่อสู้อากาศยาน ภายใต้การสั่งการของ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เพื่อจับกุมนายกรัฐมนตรีและแกนนำคณะรัฐประหาร และแผนที่สอง คือ การใช้กำลังโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.ทั้งหมด หากแผนการสำเร็จจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R002100340008-7,1 December 1948, “Operational Plans of the Abortive Countercoup d’etat Group” รัฐบาลชุดใหม่ตามรายงานฉบับนี้ระบุว่า พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี ควง อภัยวงศ์ เป็นรองนายกฯ ทวี บุญยเกตุเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประภาศ วัฒนสาร เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแต่เมื่อแผนรัฐประหารล้มเหลว ควง อภัยวงศ์ ถูกจับตามองจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก )
อย่างไรก็ตาม แผนการรัฐประหารดังล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลรู้ความเคลื่อนไหวล่วงหน้าจึงทำการจับกุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อ 1 ตุลาคม 2491 ตัดหน้าแผนรัฐประหารจะเกิดขึ้น ในทางเปิดเผยนั้น นายทหารสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และพล.ต.เนตร เขมะโยธิน แต่จากรายงานจากสถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ มีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นำโดย พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นแกนนำ และมี ควง อภัยวงศ์ ,พ.ท.รวย อภัยวงศ์ และพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ เข้าร่วม และกลุ่มที่ 2 คือ “กลุ่มปรีดี” มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ,พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ,ดิเรก ชัยนาม ,หลวงอรรถกิตติ ,พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ,หลวงนฤเบศมานิต ,พล ร.ท.ทหาร ขำหิรัญ ,พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ,พ.ต.ต.จำเนียร วาสนาสมสิทธิ์ ,พ.ต.ต.หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ,พล.ต.เนตร เขมะโยธิน โดย มีปรีดี พนมยงค์ อยู่เบื้องหลัง (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Bangkok to Secretary of State, 7 October 1948.)
จากบันทึกของตำรวจนายหนึ่งเชื่อว่า “กลุ่มปรีดี” ติดต่อกับ พล.ต.หลวงสรานุชิต และ พล.ต.เนตร ผ่าน ร.ต.ต สุจิตร สุพรรณวัฒน์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายหลังพ่ายแพ้ ร.ต.ต.สุจิตร หนีกลับไปหา ปรีดี ที่จีน (โปรดดู พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่าเผ่าไม่ดี อตร., หน้า 52-53). ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของปรีดีได้บันทึกถึงเหตุการณ์นี้ว่า “...คนที่หลบหนีการจับกุม[กรณี “กบฎเสนาธิการ”] มาได้ ได้ส่งตัวแทนมาหาข้าพเจ้าเพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นล้มรัฐบาลปฏิกริยาอีกครั้งหนึ่ง [กรณี “กบฎวังหลวง” ]…” (ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 112-116. โดยพล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์นั้นมีความสนิทกับควง มานาน เมื่อ พ.ท.รวย ถูกรัฐบาล จอมพล ป.จับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯได้ออกมาคัดค้านการจับกุมดังกล่าว (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Political Survey of the First Six Months of the Phibun Regime May-October 1948,” 22 November 1948).
จากนั้นรัฐบาลได้นำกำลังทหารไปเฝ้าที่หน้าสถานทูตอังกฤษ และสหรัฐฯ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลบหนีเข้าไปในสถานทูต ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Bangkok to Secretary of State , 7 October 1948. )
สถานทูตสหรัฐฯเห็นได้ว่า เสถียรภาพทางการเมืองของ จอมพล ป.ในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ห่างไกลจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State,“Political Survey of the Frist Six Months of the Phibun Regime May-October 1948,” 22 November 1948. )
ท่ามกลางความขัดแย้งหลายด้านที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญทั้งจาก “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ จอมพล ป. เลือกที่จะมีไมตรีกับ ปรีดี พนมยงค์ อดีตมิตรเก่าเมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 เพื่อร่วมมือในการต่อต้านการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป. ได้แถลงข้อความผ่านวิทยุที่สื่อถึง “กลุ่มปรีดี” ว่า ปรีดี คือสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎร และเป็นเพื่อนเขา เขาต้องการให้ปรีดีกลับมาร่วมงานกับรัฐบาลเพื่อให้การเมืองมีความเป็นเอกภาพ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State , 8 February 1949. )
ท่ามกลางช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมกลไกลทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญได้ “กลุ่มปรีดี” ยังคงท้าทายอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อไป ประกอบกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สามารถยึดกุมกลไกลทางการเมืองที่สำคัญเอาไว้ได้ อีกทั้งพวกเขากำลังสร้างระบอบการเมืองที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันกษัตริย์ และพวกเขา ให้ได้เปรียบทางการเมืองอย่างถาวรเหนือกลุ่มต่างๆ แม้กระทั่งคณะรัฐประหารผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำจัดคณะรัฐประหารให้ออกไปจากการเมือง ทำให้ จอมพล ป. มีความต้องการร่วมมือกับ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เพื่อต่อสู้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ความร่วมมือระหว่างกันไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปรีดีและกลุ่มมีแผนการตรงกันข้ามกับความต้องการของจอมพล ป. ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01082A000100020022-4, 9–15 February 1949, “Intelligence Highlights No.39”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 9 February 1949. สถานทูตสหรัฐฯและซีไอเอรายงานตรงกันว่า แกนนำคนหนึ่งของ “กลุ่มปรีดี” แจ้งว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งผู้แทนไปพบกับแกนนำของกลุ่มเพื่อขอให้พวกเขากลับมาร่วมมือกับ จอมพล ป. โดยพวกเขาตีความว่า การส่งสัญญาณของ จอมพล ป.ผ่านวิทยุในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 คือ ความพยายามสื่อกับพวกเขาถึงความตั้งใจของจอมพล ป.ที่มีต่อปรีดี พนมยงค์และกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจาก จอมพล ป.ไม่สามารถตกลงกันได้เป็นมติของ “กลุ่มปรีดี” ได้ )
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รายงานว่า ปรีดี ได้เดินทางกลับเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2490 แต่มิได้มุ่งมาเพื่อเจรจากับ จอมพล ป. แต่เขามาเพื่อทวงอำนาจคืนจาก จอมพล ป. ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Reed to Butterworth, “Siam Politics,” 9 February 1949. )
ไม่กี่วันจากนั้น เมื่อรัฐบาลได้ล่วงรู้ความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของปรีดีและกลุ่ม ทำให้ จอมพล ป. ออกแถลงการณ์ทางวิทยุเพื่อเตือนความเคลื่อนไหวดังกล่าว จอมพลป. พิบูลสงครามได้แถลงผ่านวิทยุเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2492 ในหัวข้อ “ประเทศจะมีจลาจลหรือไม่” โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้เปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเหตุการจราจล และประเทศไทยก็กำลังจะมีขึ้น และเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2492 เรื่อง “สถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับการจลาจลในประเทศอย่างไร” เนื้อหากล่าวถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์ที่เข้าแทรกซึม (สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2089 ถึง 2507, หน้า 447).
เมื่อการเจรจาระหว่างกันไม่เป็นผล และมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ขออนุมัติต่อ กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ผู้สำเร็จราชการฯ และพระราชวงศ์ทรงไม่เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการให้ จอมพล ป. มีอำนาจเด็ดขาดจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ( NA, FO 371/76281, Thompson to Foreign Office, 21 February 1949.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01082A000100020021-5, 16-23 February 1949, “National emergency declaration believed cover for domestic unrest ”. )
อย่างไรก็ตามในที่สุดรัฐบาลสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้สำเร็จ และนำไปสู่การจับกุม “กลุ่มปรีดี” ได้บางส่วน ( NA, FO 371/76281, Thompson to Foreign Office, 25 February 1949.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457r002600450006-2, 25 April 1949, “ Additional Information Concerning the 26 February 1949”. พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ได้เข้าจับกุม “กลุ่มปรีดี” เช่น พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะและนายทหารระดับกลางอีก 2-3 คน เนื่องจากเคลื่อนไหวเตรียมการรัฐประหาร )
แต่กระนั้น ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเดินหน้าแผนการกลับสู่อำนาจต่อไป ด้วยการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็กหมินตั๋ง เนื่องจากจีนไม่พอใจรัฐบาล จอมพล ป. และต้องการสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาล (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01090A000500010009-7, 7-13 September 1948, “The Chinese National Government regards Siam with increasing disfavor”. )
สำหรับเงินทุนในการดำนินการนั้นในเอกสารดังกล่าวรายงานว่า ปรีดี พนมยงค์ ได้ยืมเงินจาก เค. ซี. เย่ห์ (K. C. Yeh) ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาลก็กหมินตั๋ง จำนวน 50,000เหรียญสหรัฐฯ และจากสงวน ตุลารักษ์ ที่ฝากไว้ที่ National City Bank of New York จำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อเรือจากฮ่องกง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เนื่องจากต้องการมีอิทธิพลเหนือไทย โดยปรีดีมีแผนการที่จะกลับกรุงเทพฯด้วยการก่อการรัฐประหาร (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 box 7251, Reed to Butterworth, “Political Intervention of Pridi Banomyong,” 30 September 1948)
ไม่แต่เพียงความไม่พอใจของรัฐบาลก็กหมินตั๋ง ต่อการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป.เท่านั้น แต่ยังได้สร้างความไม่พอใจให้กับชุมชนชาวอเมริกัน ผู้เคยเป็นโอเอสเอส.ที่เคยร่วมงานกับเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิลลิส เบิร์ด (NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin, ”Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950 .; Anusorn Chinvanno, Thailand’s Policies toward Chaina, 1949-1954, (Oxford: St. Antony’s College, 1992), p. 51. )
ในขณะที่ในระดับนโยบายนั้น สหรัฐฯ นอกจากจะไม่ให้การสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.แล้ว แต่สหรัฐฯ กลับมีความต้องการสนับสนุนให้รัฐบาล จอมพล ป. มีความเข้มแข็ง ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01090A000500010009-7, 7-13 September 1948, “The Chinese National Government regards Siam with increasing disfavor”. )
เมื่อ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เดินทางจากจีนมาไทยเพื่อปฏิบัติการทวงอำนาจคืนในเหตุการณ์ที่เรียกกันต่อมาว่า “กบฎวังหลวง” ด้วยการโดยสารเรือปราบเรือดำน้ำ (Submarine Chaser) ชื่อ เอส.เอส. บลูบิร์ด (S.S. Bluebird) ซึ่งมีกับตันเรือ ชื่อ จอร์ช นิลลิส (George Nellis) และนายเรือทั้งหมดเป็นชาวอเมริกัน เรือดังกล่าวได้แล่นออกจากฮ่องกง มารับปรีดีและคณะจำนวน 8-9 คนที่กวางตุ้ง ประเทศจีน พร้อมลำเลียงอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนบาร์ซูกา ปืนสะเต็น ปืนการ์บิน ลูกระเบิดมือ และกระสุนจำนวน 40 หีบที่ได้รับการสนับสนุนจากโอเอสเอสในจีน จากนั้นเรือก็มุ่งตรงมายังสัตหีบ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R002700370010-5, 4 May 1949, “Participation of Former United States Navy Ship in the Attempted 26 February Coup”; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, หน้า 173-174.;ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต (อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ) (กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ่ง, 2542),หน้า 162-163.; พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อตร.เผ่าไม่ดี,หน้า 53).จากเอกสารซีไอเอ ให้ข้อมูลว่า ภายหลังความพ่ายแพ้ กัปตัน นิลลิส ได้หลบซ่อนที่บ้านของ ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ จากนั้น เขาได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับไปสู่ฮ่องกง และกลับสู่สหรัฐฯ ส่วนเรือ เอส.เอส.บลูเบิร์ด นั้นได้เข้าสู่น่านน้ำไทยเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2492 เพื่อส่ง ปรีดี พนมยงค์ และลำเลียงอาวุธขึ้นฝั่งเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ จากนั้นออกจากฝั่งไทยเมื่อ 2 มีนาคม มุ่งหน้าสู่ไซ่ง่อน อินโดจีน ภายหลังเรือดังกล่าวถูกขายให้กองเรือลาดตระเวนของฝรั่งเศสต่อไป )
สำหรับการเตรียมแผนเคลื่อนไหวในประเทศนั้น ปรีดี พนมยงค์ ติดต่อกับกลุ่มผ่าน วิจิตร ลุลิตานนท์ อย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมวางแผนกันภายในกลุ่ม เขาได้ให้ ทวี ตะเวทิกุล ทาบทามขอความสนับสนุนจาก พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งนี้แผนการใช้กำลังในการกลับคืนสู่อำนาจของปรีดีนี้ ทวี ไม่เห็นด้วยและพยายามโน้มน้าวให้ปรีดีล้มเลิกแผนดังกล่าวเพื่อให้เขาสามารถกลับมาไทยต่อไปได้ แต่เขาคงยืนยันดำเนินแผนการชิงอำนาจคืนต่อไป ( ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต(อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ), หน้า 150,161-162.; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, หน้า 180. )
แม้เป็นที่รับรู้กันว่ากำลังหลักของการพยายามรัฐประหารดังกล่าว คือ ทหารเรือจากหน่วยนาวิกโยธิน ชลบุรี ของ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ และเหล่าเสรีไทย ประกอบด้วยทหารบก ตำรวจ และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ( สุเพ็ญ ศิริคูณ, “กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2518), หน้า 54-55 )
แต่จากหลักฐานในการสนทนาระหว่าง ปรีดี และ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ได้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับหลักฐานของซีไอเอว่า การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากก็กหมินตั๋งและอดีตโอเอสเอส ( โปรดดู การบอกเล่าของความช่วยเหลือของปรีดี พนมยงค์ถึง ความช่วยเหลือจากก็กหมินตั๋งและอดีตโอเอสเอสใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516 , หน้า 175, 181. )
ไม่กี่วันจากนั้น คณะรัฐประหารตัดสินใจปราบปรามแกนนำของ “กลุ่มปรีดี” ด้วยการสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คนที่บริเวณบางเขนอย่างเหี้ยมโหด รวมทั้ง การสังหาร ทวี ตะเวทิกุล และพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ( ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1,(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2544).
ซีไอเอรายงานว่า ผู้ลงมือสังหาร 4 รัฐมนตรี คือ พ.ต.ลั่นทม จิตรวิมล โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการเป็นผู้สั่งการให้ พ.ต.ลั่นทม ลงมือสังหาร(NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R002600450004-4, 25 April 1949, “Added Information Concerning the Murder of the Ex-Minister”).
แม้สหรัฐฯจะมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตาม แต่ความช่วยเหลือของอดีตโอเอสเอส ที่ให้แก่ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา ในการต่อต้านรัฐบาล ทำให้ จอมพล ป.เกิดความไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ส่งทูตทหารเดินทางเข้ามาประจำการในไทยจำนวนมากขึ้น ยิ่งสร้างความกังวลให้กับ จอมพล ป. มากยิ่งขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนปรีดีและหันหลังให้กับรัฐบาลของเขา ( NA, CO 54462/3, Thompson to Foreign Office, 29 November 1949.; NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin,” Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950. )
“กลุ่มรอยัลลิสต์” กับการสถาปนารัฐธรรมนูญที่ปฏิเสธกองทัพ
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอย่างมาก สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า จอมพล ป.ได้เคยถกเถียงกับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ดำเนินการร่างและเรียกร้องให้พระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ มีความระมัดระวังในการได้รับคำปรึกษา และการให้ข้อแนะนำต่อองคมนตรี ตลอดจนการมีบทบาทในทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์
ในขณะนี้เขาเริ่มเห็นแผนทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการร่างรัฐธรรมนูญ เขาจึงมีความต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง หรืออย่างน้อยขอให้รัฐสภาทำการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ”กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ร่างขึ้น ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 725, Stanton to Secretary of State, 9 February 1949. )
ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาที่ดารดาษไปด้วย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงยืนยันกับทูตสหรัฐฯว่า เขานิยมรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มากกว่าเพราะมีความเป็นประชาธิปไตย มากกว่าฉบับของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เขาเห็นว่าสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการลดอำนาจของประชาชน แต่กลับไปขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เขาเห็นว่าเป็นทิศทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องและมีข้อความที่ซ่อนเร้นบางประการอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ เขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Memorandum of Conversation Phibun and Stanton, 1 March 1949. )
ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวหรือ รัฐธรรมนูญ 2492 ที่เพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในทางการเมืองแต่กีดกันคณะรัฐประหารออกไปจากการเมืองได้ถูกประกาศใช้สำเร็จ ( ราชกิจจานุเบกษา 66, 17 (23 มีนาคม 2492).
แม้ในระหว่างการพิจารณา จะมีการคัดค้านจากนายทหารจำนวนหนึ่งในคณะรัฐประหาร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอีสานที่นำโดย เลียง ไชยกาล ,ฟอง สิทธิธรรม ,ชื่น ระวิวรรณ และสมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสานอื่นๆ ก็ตาม
ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับรัฐธรรมนูญ 2492 นี้ ชื่น ระวีวรรณ และเลียง ไชยกาล ได้อภิปรายวิจารณ์รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์มีอำนาจในทางการเมืองว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกประหลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ คือ ลัทธินิยมกษัตริย์” และ“ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้โดยปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์ เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายอำนาจมากกว่าเดิม ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆทีเดียว” (ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม,( กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา, 2548), หน้า 21. )
แต่ก็ไม่อาจต้านทานเสียงให้การสนับสนุนรัฐธรรมนูญจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ท่วมท้นในรัฐสภาได้ ไม่แต่เพียงเท่านั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังได้รุกคืบทางการเมืองด้วยการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบกษัตริย์นิยมเพิ่มเติมขึ้นอีก จากเดิมที่มีมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคกษัตริย์นิยม ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 11 February 1949.)
ซีไอเอ รายงานว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของรัฐสภา “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความมั่นใจมากขึ้นในการคุมกลไกลทางการเมือง ทำให้พวกเขาเริ่มใช้อำนาจที่เหนือกว่าคณะรัฐประหาร ด้วยการเสนอแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลผสมรอยัลลิสต์ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และคณะรัฐประหาร โดยพวกเขามีแผนผลักดันให้ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แกนนำสำคัญใน “กลุ่มรอยัลลิสต์” เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. และลดตำแหน่ง จอมพล ป.ลงเป็นเพียงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นๆ จะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ( NARA, CIA Records search Tool (CREST) ,CIA-RDP82-00457R002500140001-2, 15 March 1949, “Faction involved in political maneuvering in connection with the draft constitution and the amnesty bill”. อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้สำเร็จเมื่อ 23 มีนาคม 2492 )
ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้สถาบันกษัตริย์สร้างความพอใจให้กับพระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”เป็นอันมาก ( กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, (พระนคร: พระจันทร์, 2512 ), หน้า 118. พระองค์ทรงเรียกขานการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า “วันใหม่ของชาติ” )
ดังนั้นนับแต่หลังการรัฐประหาร 2490 “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความได้เปรียบทางการเมืองเหนือคณะรัฐประหาร เนื่องจากพวกเขาสามารถเข้าคุมกลไกทางการเมือง และการออกแบบระบอบการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2492 ทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขัน และมีอำนาจที่ยั่งยืน การรุกคืบของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีแสวงหาความร่วมมือกับ “กลุ่มปรีดี” เพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง “กลุ่มปรีดี” ได้ก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวเพื่อต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่แต่เพียงทำให้กลุ่มของเขาบอบช้ำจากการต่อสู้ และเสียแกนนำที่สำคัญไปหลายคนเท่านั้น แต่ยังทำลายโอกาสในการพยายามสร้างความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลจอมพล ป.กับ “กลุ่มปรีดี” เพื่อยุติแผนการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลิสต์” ประสบความล้มเหลว แต่กลับเปิดทางให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เดินแผนการทางการเมืองของตนเองต่อไปได้
ขอบคุณที่มาและเชิงอรรถ จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500) โดย นายณัฐพล ใจจริง