วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 7

สู่ภาวะกึ่งอาณานิคม:การมาถึงของสหรัฐฯและการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองของไทย 2493 - 2495

สัญญาณจากวอชิงตัน ดี.ซี.ถึงไทย

จากการที่สหรัฐฯ มีความต้องการสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปทั่วโลก ประธานาธิบดีทรูแมน ได้เริ่มต้นแผนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านโครงการข้อที่สี่ สหรัฐฯ มีความต้องการสนับสนุนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนา โดยให้มีโครงการโยกย้ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายทุน เกษตรกร และชาวนาสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายการลงทุนของสหรัฐฯ ออกไปทั่วโลก โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศนั้น และขยายอิทธิพลของการใช้สกุลเงินดอลลาร์ออกไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก 

โครงการของประธานาธิบดีทรูแมนเป็นการผสมผสานกิจกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวการค้า และลดอุปสรรคการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐที่จะเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังส่วนต่างๆ ของโลกให้ได้รับสะดวกมากยิ่งขึ้น ( Gilbert Rist, The History of Development: From Western Origins to Global Faith,(London: Zed Books, 1999), pp. 71-77.; Samuel P. Hayes, Jr., “The United States Point Four Program,” The Milbank Memorial Fund Quarterly 28, 3 (July 1950): 27-35, 263-272. )

สำหรับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยยอมรับระเบียบการเงินระหว่างประเทศที่มีสกุลดอลลาร์เป็นหลัก เพื่อลดอิทธิพลของอังกฤษ และสกุลเงินปอนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง และพยายามผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งทรัพยากร และเป็นตลาดรองรับสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรม 

เมื่อไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการรักษาค่าเงินบาทภายหลังสงครามโลก หลังการรัฐประหาร 2490 รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ได้ขอคำปรึกษาการแก้ปัญหาค่าเงินจากสถานทูตสหรัฐฯ และด้วยเหตุที่ สหรัฐฯ มีนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกแบบทุนนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ สถานทูตสหรัฐฯ จึงสนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนการผูกค่าเงินบาทจากเงินปอนด์ไปสู่สกุลดอลลาร์ได้สำเร็จในปี 2492 ( Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 72, 328-329, 391. )

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซีไอเอรายงานว่า สหรัฐฯ สามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยแทนที่อังกฤษได้สำเร็จ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP67-00059A000500080009-9, 17 May 1948 ,,“Review of the World Situation”. )

ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามาครอบงำระบบการเงิน การค้าของไทย และทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งทรัพยากรและเป็นตลาดรองสินค้าของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และต่อจากนั้น สหรัฐฯ ก็เริ่มเข้ามาครอบงำทางการทหารของไทยด้วยความช่วยเหลือทางการทหาร และข้อตกลงทางการทหารเพื่อทำให้ไทยกลายเป็นป้อมปราการทางการทหารของสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลทำให้ไทยมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจลดน้อยลงเรื่อยๆ 

แม้สหรัฐฯ จะมิได้ใช้รูปแบบการเข้ายึดครองดินแดนเพื่อบงการการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ เฉกเช่นที่จักรวรรดินิยมกระทำในอดีต แต่ด้วยนโยบาย และบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2491 - 2500 ซึ่งมีส่วนสำคัญในฐานะปัจจัยชี้ขาดชัยชนะของกลุ่มการเมืองของไทย ที่จะต้องดำเนินการตามความต้องการของสหรัฐฯ เท่านั้นถึงจะสามารถมีอำนาจทางการเมืองต่อไปได้ สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยได้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะที่ดูประหนึ่งกึ่งอาณานิคมภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการเมืองไทยในสมัยถัดมา

บริบทการเมืองระหว่างประเทศในช่วงเวลาต้นทศวรรษที่ 2490 สถานการณ์ในจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะคับขัน เนื่องจากกองทัพของก็กหมินตั๋งที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนนั้นได้เริ่มสูญเสียพื้นที่ในการครอบครองให้กับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ เริ่มมีความวิตกในชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และชัยชนะนี้ย่อมหมายถึงการขยายตัวของลัทธิทางการเมืองที่เป็นภัยต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามที่สหรัฐฯ ต้องการ 

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ ดำเนินการยับยั้งการขยายตัวของสิ่งเป็นอุปสรรคตต่อความต้องการของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ดีน จี. อัชเชอร์สัน (Dean G. Acheson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการถึงสถานทูตสหรัฐฯ ในไทยว่า สถานการณ์ในเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขาต้องการจัดให้มีการประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียที่กรุงเทพฯ หรือการประชุมที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี.เจสสัป (Phillip C. Jessup) นี้ได้เกิดขึ้นในกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป 

การประชุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อระดมความคิดเห็นในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และต่อต้านการปฏิรูปที่ดินทุกรูปแบบในภูมิภาค อัชเชอร์สัน ต้องการให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อภูมิภาคเอเชีย ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958 Acherson to American Embassy Bangkok , 4 February 1949 )

เมื่อสหรัฐฯ มีนโยบายต้องการส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สหรัฐฯ จึงต้องทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยที่คุกคามสันติภาพ และภูมิภาคต่างๆ ของโลก และด้วยโครงการข้อที่สี่ทำให้สหรัฐฯ เริ่มต้นให้ความสนใจที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของไทย 

ในเดือนมิถุนายน 2492 ทูตพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการตามแนวทางโครงการข้อที่สี่ในไทยว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยมีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีการส่งเสริมการซื้อขายวัตถุดิบในการผลิตสินค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ด้วยการช่วยเหลือแก่ไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจระดับโลกของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 159-160. )

ในช่วงต้นๆ ทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ ยังคงเห็นว่าไทยเป็นเพียงแหล่งทรัพยากร และตลาดรองรับสินค้าที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สำหรับทางด้านความมั่นคงนั้น สหรัฐฯ ยังคงมองว่าไทยยังไม่มีนโยบายต่างประเทศที่อยู่เคียงข้างกับสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ( “Basic U.S. Security Resource Assumptions, 1 June 1949,” in Foreign Relations of the United States 1949 Vol.1, (Washington DC.: Government Printing Office,1976), pp.339-340 )

จากโครงการข้อที่สี่ ทำให้สหรัฐฯ ได้มีนโยบายต่อไทยจำนวน 4 ประการ คือ 
ทำให้ไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจ 
ทำให้ไทยเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ 
ทำให้ไทยร่วมมือในต่อต้านคอมมิวนิสต์ 
ทำให้ไทยเป็นข้อต่อทางการค้าที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น

สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชลประทาน ปรับปรุงระบบการขนส่ง ผลักดันให้ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ขจัดการผูกขาดทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการเอกชนของสหรัฐฯ และทำให้ไทยร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดเงื่อนไขในความช่วยเหลือต่อไทยว่า ไทยจะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง “ตราบเท่าที่รัฐบาลไทยยังยอมรับและหลีกเลี่ยงที่จะขัดแย้งอย่างสำคัญต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ” ( “Policy Statement Prepared in the Department of State, 15 October 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6,(Washington D.C.: Government Printing Office,1976),pp. 1533-1534. )

ต่อมาไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับความช่วยเหลือในโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก เพื่อสร้างระบบชลประทาน และทางรถไฟเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจ ( กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, “ธนาคารโลกกับพัฒนาการเศรษฐกิจของไทย,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517).

เมื่อกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชัยชนะอย่างต่อเนื่องเหนือกองทัพก็กหมินตั๋ง กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. มีคำสั่งถึงสถานทูต และกงสุลสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกไกลว่า สหรัฐฯมีนโยบายเศรษฐกิจที่คาดหวังกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐฯมีแผนความช่วยเหลือที่มิใช่เป็นเพียงการช่วยเหลือเท่านั้น แต่เป็นการช่วยเหลือที่เตรียมความพร้อมให้กับสหรัฐฯ ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป ( Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 166. )

ในที่สุดเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2492 ในปลายเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีทรูแมน ได้อนุมัติให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ (National Security Council: NSC) เริ่มต้นการศึกษาการวางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีผลทำให้นโยบายป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชียของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ( The Pentagon Papers,(New York: The New York Times,1971), p. 9. )

การถูกต่อต้าน กับการก้าวเข้าหาสหรัฐฯ ของรัฐบาล จอมพล ป.

การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการรัฐประหารรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” และล้มรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทำให้รัฐบาล จอมพล ป. ต้องเผชิญหน้ากับการถูกท้าทายจากกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม มีผลทำให้ตั้งแต่ปี 2491 รัฐบาล จอมพล ป. มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาอาวุธที่ทันสมัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการทหารเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยหลายวิธีการ เช่น การจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ( เริ่มมีหลักฐานการแสวงหาอาวุธให้กับกองทัพเพื่อป้องกันการต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2491 ต่อมาต้นปี 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งนายทหารไปติดต่อ วิลลิส เบิร์ดเพื่อให้ช่วยซื้ออาวุธมูลค่า 1,000,000 เหรียญให้กองทัพไทย (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001600460010-7, 28 June 1948, “Colonel Phao Sriyanon possible trip to the United state for arms purchases”;CIA-RDP82-00457R002400490002- 4, 4 Mar 1949, “Siamese Requests for Arms through Willis H. Bird”).

และการส่งผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ 2491 แต่การขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ในช่วงแรกไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือ และรัฐบาลไทยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนในการขออาวุธ ( รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เคยส่ง พล.ต.หลวงสุรณรงค์ ,พ.ต.ม.จ.นิทัศนธร จิรประวัติ และ พล อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เดินทางไปขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ในต้นเดือนเมษายน 2491 แต่ไม่มีความคืบหน้าใด (หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, พจน์ สารสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี 21 พฤษภาคม 2492).

จวบกระทั่งสถานการณ์ในจีนเมื่อกองทัพก็กหมินตั๋งถอยร่นจากการรุกรบของกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงการสนับสนุนทางการทหารมูลค่า 75,000,000 ดอลลาร์ที่เคยให้กับกองทัพก็กหมินตั๋งไปสู่การให้การความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์แทน ด้วยเหตุนี้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงสบโอกาสที่จะได้รับอาวุธสมัยใหม่ตามที่คาดหวัง ในปลายเดือนกันยายน 2492 รัฐบาลได้รับรายงานจากสถานทูตไทยในสหรัฐฯว่า สหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ประเทศนั้นๆ จะต้องมีภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม และต้องมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ก่อน 

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรรไวทยากร) เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลทราบ ไม่นานจากนั้น จอมพล ป. ให้ความเห็นชอบที่จะขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์คุกคาม ( กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1102 - 344 -301-401-9301 ไทยขอความช่วยเหลือด้านวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐฯ 2493-2494, พจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 1 สิงหาคม 2492.;หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, เอกอัครราชทูตไทยประจำ วอชิงตัน ดีซี ถึง กระทรวงการต่างประเทศ 30 กันยายน 2492.; เอกอัครราชทูตไทยประจำ วอชิงตัน ดี.ซี. ถึง กระทรวงการต่างประเทศ 30 กันยายน 2492. โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามตอบรับความคิดนี้เมื่อ 5 ตุลาคม 2492 )

ด้วยเหตุที่ สหรัฐฯ มีนโยบายให้การสนับสนุนให้ฝรั่งเศสคงมีอำนาจเหนืออาณานิคมในอินโดจีนต่อไปได้ โดยสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในปลายปี 2492 ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลจักรพรรดิเบาได๋ที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้น จากนั้น สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านเวียดมินห์ที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ( Kahin, Intervention: How American become involved in Vietnam, p. 35.; The Pentagon Papers, p. 5. )

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน สหรัฐฯได้หยั่งท่าทีไทยผ่าน พจน์ สารสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นว่า รัฐบาลไทยจะให้สนับสนุนรัฐบาลเบาได๋ตามสหรัฐฯ หรือไม่ ( The Pentagon Papers, p. 9-10. )

ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯรับรองรัฐบาลเบาได๋แล้ว สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ จอมพล ป.และพจน์ สารสิน เพื่อโน้มน้าวให้ไทยรับรองรัฐบาลเบาได๋ตามสหรัฐฯ โดย จอมพล ป. ได้ประกาศว่ารัฐบาลไทยจะรับรองเบาได๋ แต่พจน์ สารสิน ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเขาเห็นว่ารัฐบาลเบาได๋จะพ่ายแพ้แก่โฮจิมินห์ ( “The Ambassador in Thailand (Stanton) to the Secretary of State, 8 February 1950,” Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 724. )

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อประธานาธิบดีทรูแมน ดำเนินนโยบายตามโครงการข้อที่สี่ และการเริ่มต้นการสกัดกั้นการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ที่ขัดขวางการขยายตัวของทุนนิยม จากนั้นเขาได้ส่งคณะทูตที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของเขาเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มมาสำรวจสภาพทั่วไปของภูมิภาคเอเชีย และจัดประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 13-15 กุมภาพันธ์ 2493 ( หจช.กต. 73.1.1 / 77 กล่อง 5 การประชุมหัวหน้าคณะทูตอเมริกัน ในตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ (2492-2493) วรรณไวทยากร เอกอัครราชทูต ประจำวอชิงตัน ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2492.;ในต้นเดือนมกราคม 2493 พล.ร.ท. รัสเซลล์ เอส. เบอร์กีย์ ผู้บัญชาการกองเรือพิเศษที่ 7 แห่งคาบสมุทรแปซิกฟิกได้เดินทางมาไทยเพื่อสำรวจปากน้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าปากแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเกินไปสำหรับเรือเดินสมุทร สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำ จากนั้น เขาได้เดินทางไปพบ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ที่ฮ่องกง (ไทยประเทศ, 11 มกราคม 2493.; ประชาธิปไตย, 14 มกราคม 2493). และโปรดดูรายชื่อ คณะทูตจำนวน 14 คน ในเอเชียตะวันออก ออสเตรียเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ใน หจช.กต.73.1.1 / 77 กล่อง 5 การประชุมหัวหน้าคณะทูตอเมริกันในตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ(2492-2493).

เมื่อเจสสัป เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ เขาแจ้งแก่ จอมพล ป.พิบูลสงครามว่า สหรัฐฯ ได้ให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋แล้ว และสหรัฐฯต้องการให้ไทยรับรองตามสหรัฐฯ แต่จอมพล ป. ได้ยื่นข้อแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลของเขาต้องการความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ให้กับกองทัพ และตำรวจของไทย เพื่อใช้ในการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ( “The Ambassador in Thailand (Stanton) to the Secretary of State, 17 February 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 739.; NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State, 27 February 1950.; Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 238. )

ประเด็นหลักในการประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ครั้งสำคัญนี้ คือ ปัญหาจีนคอมมิวนิสต์ และขบวนการชาตินิยมที่ต่อต้านอาณานิคม พวกเขาเห็นว่าขบวนการชาตินิยมในอินโดจีนได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ ( Ibid., p. 234-235. )

และเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการใช้สงครามจิตวิทยาในภูมิภาค ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ จะให้กับประเทศในภูมิภาค จะต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ในระยะยาว ส่วนปัญหาเฉพาะหน้านั้นให้สหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและสร้างแบบแผนการค้ากับภูมิภาคตะวันออกไกลขึ้นใหม่ ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State 13 February 1950.; NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State, 15 February 1950. )

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ ควรให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจผ่านองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้เห็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State 15 February 1950. ความเห็นของคณะทูตส่วนใหญ่ที่เสนอให้สหรัฐฯ อำพรางตนเองอยู่เบื้องหลังองค์การระหว่างประเทศนั้น มีผลทำให้คณะทูตบางส่วนเห็นว่าแผนดังกล่าวคือการที่สหรัฐฯ พยายามเป็น“จักรวรรดินิยม” )

สแตนตัน ทูตสหรัฐประจำไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุม บันทึกว่า การประชุมคณะทูตครั้งนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายระยะยาว ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ (Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 235 )

ทันทีที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนในการได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯแลกกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ได้ยอมรับข้อแลกเปลี่ยนจากไทย จากนั้น รัฐบาลจอมพล ป.ได้จัดมีการประชุมคณะรัฐมนตรีขึ้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2493 ซึ่งมีผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพเข้าประชุมร่วมด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นพ้องกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเข้าร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์กับสหรัฐฯ ( แนวหน้า, 15 กุมภาพันธ์ 2493. ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพที่เข้าร่วม คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ,พล.ร.อ.สินธุ กมลนาวิน และพล.อ.ท.ขุนรณนภากาศ )

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรียังคงไม่ประกาศมติดังกล่าว ในขณะเดียวกัน มีข่าวรั่วไหลออกมาสู่สาธารณะว่ารัฐบาล จอมพล ป.จะให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ เสียงไทย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนไปในทางต่อต้านสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ว่า “กอดเบาได๋ เพื่อเงินก้อนใหญ่” (เสียงไทย, 23 กุมภาพันธ์ 2493. )

แม้ต่อมา รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธก็ตาม ( ธรรมาธิปัตย์, 24 กุมภาพันธ์ 2493 ) แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลได้ประกาศรับรองรัฐบาลเบาได๋อย่างเป็นทางการเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ( Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 238.; J. Alexander Caldwell, American Economic Aid to Thailand,(London: Lexington Books, 1974),p.4.กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 410. ต่อมา พจน์ สารสินได้ขอลาออกในวันที่ 1 มีนาคม 2493 )

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ต้นเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีทรูแมน ได้อนุมัติความช่วยเหลือทางการทหารในรูปอาวุธให้กับกองทัพไทยมูลค่า 10,000,000 ดอลลาร์ในทางลับทันที ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Webb to American Embassy Bangkok, 7 March 1950. )

อัชเชอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บอกเหตุผลแก่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยว่า สาเหตุที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ไทยนั้นเพื่อเป็นการจูงใจไทยให้มีความมั่นใจที่จะตอบสนองต่อนโยบายสหรัฐฯต่อไป ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4190, Acheson to Bangkok, 12 April 1950. )

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ไทยนี้ สหรัฐฯต้องการให้เป็นความลับ ( หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2493. ) 

แต่ปรากฎว่า หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับได้นำข่าวดังกล่าวไปตีพิมพ์ ต่อมารัฐบาลขอร้องให้หนังสือพิมพ์อย่าลงข่าวดังกล่าว  ( หจช.(2)สร. 0201.96 / 3 กล่อง 1 การแพร่ข่าวเกี่ยวกับอเมริกันช่วยเหลือแก่ไทย (21 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2493) เช่น เกียรติศักดิ์ ฉบับ 22 เมษายน 2493 พาดข่าวว่า “กองทัพไทยจะฟื้นด้วยอาวุธ 10 ล้านดอลลาร์” เสียงไทย ฉบับ 26 เมษา มีบทความเรื่อง “การช่วยเหลือของโจร” และหลักไชย ฉบับ 23 เมษายน พาดหัวข่าวว่า “ไทยจะเป็นฐานทัพช่วยเบาได๋ ” เป็นต้น )

หลังการจัดประชุมคณะทูตของ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป เพื่อกำหนดนโยบายทางการเมือง และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ ได้ส่งคณะกรรมการพิเศษทางเศรษฐกิจที่มี นายอาร์. อัลแลน กริฟฟิน (R. Allen Griffin) นักธุรกิจด้านสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ และวิทยุในแคลิฟอร์เนียผู้มั่งคั่งเป็นหัวหน้าเดินทางมาสำรวจสภาพเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขามาสำรวจไทยในช่วง 4 - 12 เมษายน 2493 ( “The Ambassador in Thailand(Stanton)to the Secretary of State, 12 April 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p.79.; Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, pp. 249-250. )

เขาได้เสนอให้สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยโดยมีเป้าหมายทางการทหาร และการเมือง ด้วยการทำให้ไทยกลายเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนที่จะแผ่ลงมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐฯ จะต้องทำให้ไทยคงการต่อต้านคอมมิวนิสต์เอาไว้เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯ แนบแน่นยิ่งขึ้น ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4190, Lacy to Rusk, “Thailand Military Aid Program,” 25 July 1950 )

นิวยอร์ค ไทมส์ (New York Times) หนังสือพิมพ์ชั้นนำในสหรัฐฯ ได้รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ให้การยกย่องข้อเสนอของกริฟฟินเป็นอย่างมาก ( New York Times, 15 September 1950. )