วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 3

การก่อตัวของ “พันธมิตรใหม่ ”ระหว่าง“กลุ่มรอยัลลิสต์”และ“กลุ่มจอมพล ป.”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง รัฐบาล ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา ต้องเผชิญหน้ากับศึกสองด้าน ด้านหนึ่ง คือ การกลับมาสู่การเมืองของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” และอีกด้าน คือ ความไม่พอใจของ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่ต้องการกอบกู้เกียรติภูมิกองทัพกลับคืน ผนวกกับการสวรรคตที่รัฐบาลปรีดีและกลุ่มของเขายังไม่สามารถสร้างความกระจ่างแก่สาธารณชนได้ ยิ่งทำให้รัฐบาลสูญเสียความสามารถในการนำทางการเมือง ในขณะที่การสวรรคตได้กลายเป็นเสมือนสิ่งดึงดูดให้เกิด “พันธมิตรใหม่” ที่ไม่น่าเป็นไปได้ระหว่าง “กลุ่มรอยัลลิสต์” กับ “กลุ่มจอมพล ป.” ได้ร่วม มือกันเพื่อโค่นล้มอำนาจทางการเมืองของปรีดีและกลุ่มของเขา

ทั้งนี้สถานทูตสหรัฐฯได้บันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าวว่า เมื่อ 8 กรกฎาคม 2489 เพียงหนึ่งเดือนภายหลังการสวรรคต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ไปพบกับ จอมพล ป. และชักชวนให้ “กลุ่มจอมพล ป.”ร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อขับไล่ปรีดีและกลุ่มของเขาให้ออกจากอำนาจทางการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948”.) จากนั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ฉวยโอกาสจากการสวรรคตมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลในขณะนั้นอย่างรุนแรง

หลังจากที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้เริ่มต้นปล่อยลือข่าวโจมตีรัฐบาล ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2489 ทำให้สาธารณชนได้เสื่อมความนิยมในตัวปรีดีและรัฐบาลของกลุ่มของเขาลงมาก จนกระทั่งในปลายปีนั้นเอง หนังสือพิมพ์ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ได้รายงานข่าวลือที่เกิดขึ้นขณะนั้นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะทำการรัฐประหาร โดยให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี สถานทูตสหรัฐฯเห็นว่า ข่าวลือที่ปรากฎบนหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้น สะท้อนให้เห็นว่า จอมพล ป. ยังคงได้รับความนิยมจากกองทัพและสังคม

จากนั้นหลวงวิจิตรวาทการ หนึ่งในสมาชิก “กลุ่มจอมพล ป.” ได้ร่วมสร้างกระแสความต้องการผู้นำที่เข้มแข็งให้กับสาธารณชนเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่บรรเทาลง โดยหลวงวิจิตรวาทการ เรียกร้องให้ จอมพล ป. กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่จอมพล ป. ได้กล่าวปฏิเสธการกลับสู่การเมือง (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R000200150009-8 , 17 December 1946, “Alleged Responsibility for Plot to Overthrow,”; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R000200470008-4, 18 January 1947, “Attack on Government by Pro-Phibun Element,”; NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948”. )

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2490 พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคนหนึ่งใน “กลุ่มจอมพล ป.” ได้ซื้อศรีกรุง เพื่อใช้หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับสู่การเมือง (สยามนิกร, 23 กุมภาพันธ์ 2490 )

จากนั้นข่าวการพยายามหันกลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งของ จอมพล ป.ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองผ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ต่อมาเมื่อ 11 มีนาคม ทอมสัน (Thompson) ทูตอังกฤษขณะนั้นได้เข้าพบกับ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และปรีดี พนมยงค์ เขาได้แสดงความกังวลของอังกฤษต่อกิจกรรมทางการเมืองของ จอมพล ป. และแจ้งต่อรัฐบาลไทยว่า อังกฤษไม่ต้องการให้จอมพล ป. กลับเข้าสู่การเมืองอีก ( Nik Anuar Nik Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, (Selangor Darul Ehasan: Center for Educational Technology Universiti Kebangsaan Malaysia, 1998), p.10. )

ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่ต้องการผลักดันให้ จอมพล ป. กลับสู่การเมืองสร้างความวิตกให้กับทูตอังกฤษและสหรัฐฯ โดยทูตของทั้ง 2 มหาอำนาจได้ร่วมกันทำบันทึกช่วยจำเสนอต่อรัฐบาลพล.ร.ต.ถวัลย์ว่า หาก จอมพล ป. กลับมาสู่การเมืองจะมีผลต่อความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯและอังกฤษ (Ibid., p. 12-13)

ในขณะที่ยังมีความเห็นไม่ลงรอยบนหน้าหนังสือพิมพ์ต่อกรณีในการกลับมาสู่การเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น มหาชนและสัจจา ที่มีเข็มมุ่งโน้มเอียงไปทางสังคมนิยมลงบทความโจมตีการพยายามกลับมาสู่การเมืองของ จอมพล ป. ( มหาชน, 10 มีนาคม 2490.; สัจจา, 17 มีนาคม 2490 )

ในขณะที่ศรีกรุงซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มจอมพล ป.” ให้การสนับสนุนการกลับมาของ จอมพล ป. ( ศรีกรุง, 15 มีนาคม 2490 )

ต่อมาเมื่อ 17 มีนาคม 2490 จอมพล ป. ให้การสัมภาษณ์ขนาดยาวกับศรีกรุงว่า เขาอาจจะกลับมาสู่การเมืองเพื่อกอบกู้ชื่อเสียง ( NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948,”; สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนทางการเมืองของการรัฐประหาร พ.ศ.2490,” หน้า 18.) โดยเกียรติศักดิ์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ให้การสนับสนุนการกลับมาของ จอมพล ป.และพรรคธรรมาธิปัตย์ซึ่งมีนโยบายอนุรักษ์นิยมทางการเมือง ( เกียรติศักดิ์, 22 มีนาคม 2490.)

ทั้งนี้การกลับสู่การเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้น เขาได้จัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ (Conservative Party) ขึ้นในเดือนมีนาคม 2490 โดยมีนโยบายอนุรักษ์นิยมเช่น การประกาศนโยบาย“เทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์และเชิดชูพระบุญญาบารมี” ให้การสนับสนุนก็กหมินตั๋ง ต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเรียกร้องให้สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ จอมพล ป.ในช่วงสงครามเสียใหม่ โดยมีพระองค์เจ้าวรรณไวทยากรให้การสนับสนุนด้านการต่างประเทศ โดย จอมพล ป. เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนแกนนำ คือ ขุนนิรันดรชัย ,พล.ท.ประยูร ภมรมนตรี และสมาชิกกลุ่มทหารในคณะราษฎร ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกพฤฒิสภาจำนวน 30-40 คน (หลักการและนโยบายของชุมนุมธรรมา ธิปัตย์, [พระนคร: โรงพิมพ์สหการพานิช], 2490.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 April 1947”).

นอกจากนี้ แนวหน้าได้รายงานข่าวว่า การกลับสู่การเมืองของ จอมพล ป.จะประสบความสำเร็จหากร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ตลอดเดือนมีนาคมนั้นเอง หนังสือพิมพ์หลายฉบับเริ่มรายงานข่าวความเคลื่อนไหวของนักการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” เข้าพบ จอมพล ป. อย่างลับๆอย่างต่อเนื่อง ( สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2089 ถึง 2507,(พระนคร: โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์, 2507),หน้า 377. )

ปลายเดือนมีนาคม 2490 ทูตอังกฤษได้รายงานกลับไปยังลอนดอนว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามกลับสู่การเมืองอีกครั้ง โดยมีนักการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ควง อภัยวงศ์ หัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ และทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเข้าพบเสมอ โดยควงได้แสดงท่าทีสนับสนุน จอมพล ป.อย่างชัดเจน ทูตอังกฤษได้แสดงความกังวลถึงการกลับมาของ จอมพล ป. ว่าจะปกครองแบบเผด็จการและละเมิดสหประชาชาติ และเห็นว่า จอมพล ป. ควรยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ( กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 330-331 )

เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แสดงความต้องการกลับสู่การเมือง ทำให้พรรคสหชีพซึ่งเป็น “กลุ่มปรีดี” ได้แสดงการต่อต้านการกลับมาของ จอมพล ป. เมื่อ 7 เมษายน 2490 ที่ท้องสนามหลวง โดยร่วมมือกับนักศึกษาฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองหลายคนเข้าร่วมอภิปรายโจมตี จอมพล ป. ด้วยประเด็นการนำไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลทำให้ญี่ปุ่นยึดครองไทย ทำให้คนไทยเสียเสรีภาพ และถูกทหารญี่ปุ่นฆ่าตายจำนวนมาก

พร้อมมีการเขียนรูป จอมพล ป.ในชุดทหารยืนอยู่บนกองหัวกะโหลก ทั้งนี้การต่อต้านดังกล่าวได้อยู่ในสายตาของ จอมพล ป. โดยเขาได้นั่งรถยนต์สังเกตการณ์รอบสนามหลวง อย่างไรก็ตามกระแสต่อต้านครั้งนี้มีตำรวจถือปืนรักษาการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด แต่การต่อต้าน จอมพล ป. ก็หาได้รับความเห็นพ้อง เนื่องจาก ในระหว่างการปราศัยเกิดเหตุวิวาทระหว่างผู้สนับสนุนและคัดค้านการกลับมาของจอมพล ป.ด้วยเช่นกัน ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948,”; นครสาร, 7 เมษายน 2490.; กิตติศักดิ์ ศรีอำไพ, ประชาธิปไตยสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (กรุงเทพฯ: กิตติศักดิ์ ศรีอำไพ, 2529),หน้า 38-39. กรุงเทพวารศัพท์, 9 เมษายน 2490. กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านการกลับมาของจอมพลป. พิบูลสงครามนี้มาจากสมาชิกพรรคสหชีพ เช่น พร มะลิทอง ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่เข้าร่วมมี อันดับ รองเดช เสนาะ พานิชเจริญ และรวม วงศ์พันธ์ เป็นต้น )

การล่มสลายทางการเมืองของ“กลุ่มปรีดี”

การเคลื่อนไหวเพื่อหยั่งกระแสทางการเมืองในช่วงเดือนเมษายนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้น เขามีความมั่นใจในการได้รับการตอบรับจากสาธารณชน “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์มากขึ้น สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า 16 เมษายน 2490 มีข่าวว่า ควง อภัยวงศ์และจอมพล ป. ร่วมมือกัน ( NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948”. )

ในกลางเดือนเมษายน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เห็นว่า การกลับมาสู่การเมืองของ จอมพล ป. ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและคุ้มกันจาก ควง และพรรคประชาธิปัตย์ และวิเคราะห์ต่อไปว่า มีความเป็นไปได้ที่ จอมพล ป. จะมอบหมายให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองที่มีความนิยม สหรัฐฯ โดยความร่วมมือดังกล่าวจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับ จอมพล ป. ในการกลับสู่การเมืองและเป็นโอกาสทองของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะได้เป็นรัฐบาล ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p.17 )

ดังนั้นการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่สำคัญหลังสงครามในช่วง 2490 จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างกลุ่มการเมืองสำคัญ 3 กลุ่ม คือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งมีพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเพิ่งก้าวเข้ามามีอำนาจทางการเมือง กับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนักโทษการเมืองและ “กลุ่มจอมพล ป.” ซึ่งมีนายทหารนอกประจำการระดับสูงหลายคนที่เคยมีอำนาจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ( “A Memorandum on a certain aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ , หน้า 542 ) โดยสองกลุ่มหลังได้ร่วมมือเป็น “พันธมิตรใหม่” ขึ้นเพื่อโค่นล้ม ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขาให้ออกไปจากการเมือง

ควรบันทึกด้วยว่า การสวรรคตทำให้สาธารณชนมีความเห็นอกเห็นใจในความสูญเสียของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มาก และช่วงเวลาดังกล่าวได้กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สามารถใช้เงื่อนไขดังกล่าวกลับมามีอำนาจทางการเมืองได้ แต่ปัญหาสำคัญสำหรับพวกเขา คือ ไม่มีกำลังในการยึดอำนาจ ในขณะที่ “กลุ่มจอมพล ป.” มีความต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองเช่นกัน แต่พวกเขาปราศจากข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมต่อสาธารณชนทำให้ทั้งสองกลุ่มมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันเป็นพันมิตรเพื่อกลับคืนสู่การเมือง

ด้วยเหตุนี้ แกนนำ “กลุ่มจอมพล ป.” ซึ่งมี จอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล ท.กาจ กาจสงคราม นายทหารนอกราชการ ได้เริ่มความเคลื่อนไหวทางลับเพื่อก่อการรัฐประหารขึ้น พวกเขาได้ติดต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้รับรู้ถึงการพยายามรัฐประหารและได้ประสานงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมา ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้สัมภาษณ์สนับสนุน จอมพล ป.ให้กลับมามีอำนาจอีกครั้ง (บุณฑริกา บูรณะบุตร, “บทบาททางการเมืองของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์(พ.ศ.2475-2490),”หน้า 183. เลื่อน พงษ์โสภณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ประสานงานร่วมกับ “กลุ่มจอมพล ป.” ต่อมาเมื่อควง อภัยวงศ์ประกาศให้การสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงครามและทำการฟ้องร้องให้การเลือกตั้ง ปี 2489 เป็นโมฆะ เขาจึงถูกจรูญ สืบแสง ผู้เป็น“กลุ่มปรีดี” ตบใบหน้าที่บริเวณสภาผู้แทนราษฎร (สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2089 ถึง 2507, หน้า 379.; เกียรติศักดิ์, 13 พฤษภาคม 2490).

จากนั้นแผนการสั่นคลอนความชอบธรรมของรัฐบาล พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็เริ่มต้น ด้วยการที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายทั่วไปเป็นเวลา 9 วัน ระหว่าง 19-27 พฤษภาคม 2490 โดยมีการถ่ายทอดวิทยุกระจายเสียงให้สาธารณชนรับฟังทำให้ความนิยมที่มีต่อรัฐบาล พล ร.ต.ถวัลย์ เสื่อมมากยิ่งขึ้น แม้รัฐบาลขณะนั้นจะสามารถได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภาก็ตาม แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถหยุดยั้งความไม่ไว้วางใจจากสาธารณชนได้ ( สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนทางการเมืองของการรัฐประหาร พ.ศ.2490”, หน้า 18. ทั้งนี้ ประเด็นการเปิดอภิปรายโจมตีรัฐบาลพล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ คือ 1.รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้มีโจรผู้ร้ายเพิ่มมากขึ้น
2. รัฐบาลไม่สามารถรักษานโยบายการเงินของชาติได้
3.รัฐบาลดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจผิดพลาด
4.รัฐบาลไม่อาจสร้างความน่าเชื่อถือจากนานาชาติได้
5.รัฐบาลแทรกแซงข้าราชการประจำ
6.รัฐบาลไม่สามารถรักษาฐานะของข้าราชการให้อยู่ในระดับที่สมควรได้
7.รัฐบาลไม่ปรับปรุงการศึกษาของชาติ
8.รัฐบาลไม่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงกรณีสวรรคตได้(สรุปข้ออภิปรายของพรรคประชาธิปัตย์ในญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34,[พระนคร: โรงพิมพ์ยิ้มศรี, 2490]).

ทั้งนี้ปลายเดือนพฤษภาคม 2490 ในรายงานของคณะกรรมการประสานงานการสงครามของกองทัพเรือสหรัฐฯ (The State-War-Navy Coordinating Committee: SWNCC) ได้รายงานสภาพการเมืองไทยขณะนั้นว่า รัฐบาลของ “กลุ่มปรีดี” ยังไม่มีความมั่นคง เนื่องจากไม่แต่เพียงรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลังสงครามเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยกระหว่าง “กลุ่มจอมพลป.” กับ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งกลุ่มแรกมีอำนาจมากกว่าและมีความพยายามจะฟื้นฟูอำนาจทหารให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง ( NARA, RG 59 Record of Division of Research 2 Far East 1946-1952, Lot 58 d 245 Box 2, “SWNCC Second Phase Study on Siam,” 29 May 1947. )

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่าความรู้สึกของสาธารณชนภายหลังการสวรรคตนั้นได้กลายเป็นการเปิดทางโล่งให้กับการกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” พวกเขาไม่แต่เพียงร่วมมือกันในการปล่อยข่าวโจมตี “กลุ่มปรีดี” เท่านั้น แต่พวกเขายังได้ใช้พรรคประชาธิปัตย์เพื่อต่อสู้ในทางการเมืองกับพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลด้วย อีกทั้งพระราชวงศ์ชั้นสูง อย่างพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ทรงต้องการสนับสนุนการตั้งพรรคแนวกษัตริย์นิยมเพิ่มขึ้นอีก ( ชาติไทย, 17 กรกฎาคม 2490. พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯทรงประกาศว่า สาเหตุที่ทรงตั้งพรรคการเมืองเพื่อต้องการเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ “น้ำตาเช็ดหัวเข่า” และรำลึกถึงคุณราชวงศ์จักรี )

นอกจากนี้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังมีแผนที่ต้องการทำลายคณะราษฎรลง โดยพวกเขาส่งบุคคลแต่งกายคล้ายตำรวจไปติดตามทหารเรือเพื่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างกัน ( ปรีดี พนมยงค์,“คำนิยม” ใน พุทธปรัชญาประยุกต์, ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์ (กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2517), หน้า (5)-(6). )

เมื่อความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มจอมพล ป.” มีความแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา ต้องการสนับสนุนให้ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์ที่รัฐบาลตกเป็นรองทางการเมืองและทำการต่อต้านการรัฐประหารที่อาจจะเกิดขึ้นด้วยการเตรียมใช้มาตรการต่อต้านที่ตรงไปยัง “กลุ่มจอมพล ป.” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 August 1947,”; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R000800350009-0, 12 August 1947, “Prospective Changes in Government ,”; กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 333. )

เมื่อโอกาสการรัฐประหารใกล้เข้ามา รัฐบาลได้รับรายงานความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคยเป็นอดีตนักโทษการเมืองที่เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ได้มาร่วมมือกับ “กลุ่มจอมพล ป.” ( ร.ต.อ.เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, หน้า 511-512 )

โดยรัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจออกหาข่าวการโค่นล้มรัฐบาลจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น การติดตามโชติ คุ้มพันธุ์ อดีตนักโทษการเมืองและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ( นครสาร, 11 สิงหาคม 2490 )

ในเดือนตุลาคม 2490 หนึ่งเดือนก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นนั้น การต่อสู้ทางการเมืองและการเมืองภายในราชสำนักยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น ซีไอเอได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์กับม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มิได้มีความต้องการร่วมมือในการฟื้นฟูประเทศร่วมกับรัฐบาล แต่พวกเขาต้องการเพียงแก้แค้นคณะราษฎร โดยพวกเขาเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และปรีดี พนมยงค์ คือ ศัตรูคนสำคัญของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ต้องทำลายดุจเดียวกันเฉก เช่นที่พวกเขาได้เคยทำกับ จอมพล ป.ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว แต่ขณะนี้พวกเขากำลังต้องการทำลายล้างปรีดี ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001000520003-4, 30 October 1947, “The Political Situation”. )

ในขณะเดียวกัน สถานทูตสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้รายงานว่า ผลการสอบสวนคดีสวรรคตมีความคืบหน้ามากขึ้นจนมีแนวโน้มที่จะสามารถระบุผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีสวรรคตได้ แต่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ยังไม่ดำเนินการใดๆ เพราะหากรัฐบาลประกาศผลการสอบสวนออกไปจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในสถาบันกษัตริย์ จะทำให้พระองค์เจ้าจุมภฎฯหรือพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯเป็นผู้มีสิทธิขึ้นครองราชย์สมบัติต่อไป ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Thamrong Nawasawat and Edwind F. Stanton, 31 March 1948.; Landon to Butterworth, “Assasination of King Ananda,” 22 April 1948.และโปรดดูการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวอย่างพิศดารใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล,“ข้อมูลใหม่ กรณีสวรรคต:หลวงธำรงระบุชัดผลการสอบสวน ใคร คือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง,””บันทึกของเคนเน็ธ แลนดอน เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและข่าวลือเรื่องแผนการใหญ่ของพี่น้องปราโมช,” “ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของ‘ปรีดี’ ที่เพิ่งเผยแพร่,” ฟ้าเดียวกัน 7,3 (กรกฎาคม- กันยายน 2552): 60-93. )

ทั้งนี้กลุ่มของพระองค์เจ้าจุมภฏฯ เพิ่มความคึกคักมากขึ้นในช่วงเวลาที่ผลการสอบสวนการสวรรคตมีความคืบหน้า ส่วนกลุ่มของ ม.จ.โสภณภราไดย สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงต้องการตั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุน “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขึ้น  ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-0045R001000270005-0, 22 October 1947, “Activities of Royalist Groups )

ต่อมาตำรวจได้จับกุมบุคคลที่ปล่อยข่าวโจมตีรัฐบาล โดยสถานทูตสหรัฐฯและหนังสือพิมพ์ไทยขณะนั้นรายงานว่า พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ พระราชวงศ์หลายคน และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretry of State, 10 October 1947.; ศรีกรุง, 3 ตุลาคม 2490. บุคคลที่ถูกจับ คือ พ.อ.พระยาวิชิตฯ ภรรยา และนางละหม่อม ในฐานหมิ่นประมาทและไขข่าวเท็จที่โจมตีรัฐบาลพล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์และปรีดี พนมยงค์ว่าอยู่เบื้อง หลังการสวรรคต )

ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่าง ควง อภัยวงศ์ กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้เคยกล่าวเตือนควงในฐานะเพื่อนที่เคยร่วมปฏิวัติ 2475 ว่าให้ควงระวังพี่น้องตระกูลปราโมช ที่จะยุยงให้เขามีความทะเยอทะยานและใช้เขาเป็นเครื่องมือทางการเมืองทำลายเจตนารมณ์ของการปฏิวัติ 2475 เพื่อบรรลุเป้าหมายของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001000520003-4 , 30 October 1947, “The Political Situation”. ) 

ควรบันทึกด้วยว่าซีไอเอวิเคราะห์ว่า ควง ผู้ได้เคยพ่ายแพ้ทางการเมืองให้กับ ปรีดี นั้นเขาได้พบโอกาสที่จะใช้การสวรรคตและความร่วมมือกับ “กลุ่มจอมพล ป.” เป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนความพ่ายแพ้มาสู่ชัยชนะได้ ( NARA, CIA Records Search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001000270007-8, 21 October 1947, “Possible Political Developments”.) 

ทั้งนี้ซีไอเอได้รายงานในปลายเดือนตุลาคม 2490 ก่อนการรัฐประหารไม่นานว่า สถานการณ์การต่อสู้ในการเมืองไทยระหว่าง คณะราษฎร และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคยหยั่งรากลึกยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่า ปรีดีจะมีเพื่อนใน “กลุ่มรอยัลลิสต์” อยู่บ้าง เนื่องจากเขาเคยช่วยเหลือพระราชวงศ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้รอดพ้นจากการปราบปรามจาก “กลุ่มจอมพล ป.” แต่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ส่วนใหญ่ ไม่เคยจดจำความช่วยเหลือจากปรีดีเลย  ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R001000520003-4 , 30 October 1947, “The Political Situation”. )

ช่วงเวลาดังกล่าวซีไอเอรายงานว่า สถานการณ์ก่อนการรัฐประหารนั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการบิดเบือนทุกอย่างที่ ปรีดี พนมยงค์ ได้กระทำหรือกล่าวต่อสาธารณชน ดังนั้นสิ่งเดียวที่ปรีดีและกลุ่มของเขา จะสามารถรักษาอำนาจได้คือ การถอยไปอยู่เบื้องหลังทางการเมืองและผลักดันให้เกิดการแตกหักกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ด้วยการตัดสินใจสนับสนุนให้ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ผู้ที่กล้าจับกุมเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงอย่างกรมพระยาชัยนาทนเรนทร เมื่อครั้งที่ทรงเป็นแกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ในปี 2481 ( Ibid.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001000680005-5, 5 November 1947, “The Political Situation-View of Nai Tieng Sirikhan”. )

ในช่วงแห่งความคืบหน้าในการสอบสวนการสวรรคต สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า นักการเมือง “กลุ่มปรีดี” ที่มีความคิดไปในทางสาธารณรัฐได้มาประชุมร่วมกันในปลายเดือนตุลาคม เพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคสาธารณรัฐขึ้น ( NARA, RG 59 Central Dicimal file 1945-1949 Box 7251, “Forthnigty Summary of Political Events of Siam for the period 1-15 April 1948”. ในรายงานของสถานทูตสหรัฐฯฉบับดังกล่าวบันทึกความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “กลุ่มปรีดี”ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2490 ว่า ทองเปลว ชลภูมิได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เมื่อ 29 ตุลาคม 2490 โดยกล่าวถึงการพยายามตั้งพรรคสาธารณรัฐว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ )

ในช่วงตอนปลายของการมีอำนาจทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เป็นช่วงที่พวกเขาไม่มีความมั่นคงทางการเมือง เนื่องจากพวกเขาตกอยู่ภายใต้การท้าทายอำนาจจาก “กลุ่มจอมพล ป.” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ต่างต้องการกลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง

และด้วยเหตุการณ์การสวรรคตอย่างปริศนาที่รัฐบาลปรีดีและกลุ่มของเขายังไม่ยอมสร้างความกระจ่างให้กับสาธารณชน ทำให้ทั้งสองกลุ่มข้างต้นได้ใช้โอกาสดังกล่าวร่วมมือกันโจมตีและโค่นล้มอำนาจทางการเมืองของปรีดี และกลุ่มของเขาลงในเวลาต่อมาอย่างไม่ยากนัก แม้ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2490 ก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่กี่วัน พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้กลายเป็นบุคคลที่ปรีดีและกลุ่มของเขาให้การสนับสนุนให้เป็นผู้นำใหม่เพื่อกอบกู้สถานการณ์ที่พวกเขาตกเป็นรองทางการเมืองให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มจอมพล ป. ”  ( “จดหมายของพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถึง นายสุชิน ตันติกุล วันที่ 1 มีนาคม 2514,” ใน “ผลสะท้อนทางการเมืองของรัฐประหาร พ.ศ.2490,”สุชิน ตันติกุล, หน้า 171.; ร.ต.อ.เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันท์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, หน้า 561 )

อีกทั้งรัฐบาลในขณะนั้นเตรียมแผนการแตกหักกับ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่เตรียมการรัฐประหารขับไล่รัฐบาล (วิชัย ประสังสิต, ปฏิวัติ รัฐประหาร และกบฏจลาจลในสมัยประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (พระนคร: โรงพิมพ์บริษัทรัฐภักดี จำกัด, 2492), หน้า 192.; Coast, Some Aspects of Siamese Politics, p. 39.)

แต่ดูเหมือนว่า การชิงไหวชิงพริบในการช่วงชิงอำนาจระหว่างกันนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถรัฐประหารโค่นล้มอำนาจของปรีดีและกลุ่มของเขา ลงได้สำเร็จในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 อย่างง่ายดาย

นอกจากนี้ ควรบันทึกด้วยว่าในด้านการเมืองระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ภายหลังที่สหรัฐฯ ได้เคยช่วยเหลือ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เพื่อการต่อต้าน “กลุ่มจอมพล ป.” และญี่ปุ่น อีกทั้ง สหรัฐฯได้ช่วยเหลือมิให้ไทยตกเป็นผู้แพ้สงครามก็ตาม แต่ความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯและไทยที่เคยสนับสนุนขบวนการชาตินิยมปลดแอกเอกราชในอินโดจีนในช่วงปลายสงครามโลกได้แปรเปลี่ยนไป เมื่อสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรูแมนให้การสนับสนุนให้ฝรั่งเศสได้กลับมาครองอินโดจีนอีกครั้ง ( Kahin, Intervention: How American become involved in Vietnam, p. 4. )

ส่งผลให้ไทยจำต้องคืนดินแดนบางส่วนในอินโดจีนที่ได้มาในช่วงสงครามโลกกลับคืนสู่ฝรั่งเศส แม้รัฐบาลไทยหลังสงครามโลกไม่มีความต้องการคืนดินแดนดังกล่าว จึงนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ต่อมาแม้มีการจัดตั้งคณะกรรมเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างกัน แต่รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเห็นถึงการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์ในข้อพิพาทดังกล่าว ( ปรีดี พนมยงค์ได้เดินทางไปร่วมเจรจากับฝรั่งเศส ที่วอชิงตัน ดี.ซี.ในสหรัฐฯ ต่อมาเขาได้โทรเลขถึงคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2490 เขารายงานผลการเจรจาข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศสว่า “อิทธิพลในทางการเมืองยังครอบงำอยู่ เรื่องจึงไม่สำเร็จ เป็นธรรมดาที่ประเทศใหญ่ เขาจะต้องเอาใจเพื่อนประเทศใหญ่ด้วยกันไว้ก่อน เสียสละชาติเล็กไป”(สิริ เปรมจิตต์, ชีวิตและงานของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, [กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2521], หน้า 613)

ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของสหรัฐฯ ที่มีต่อ ปรีดี พนมยงค์และรัฐบาลของพวกเขา ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ปรีดีได้เคยให้การสนับสนุนทางอาวุธของเสรีไทยที่ได้รับมาจากสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกให้กับกองทัพเวียดมินห์อย่างลับๆ เพื่อสนับสนุนการปลดแอกจากฝรั่งเศส และเมื่อเกิดข้อพิพาทดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสขึ้น ทำให้ปรีดีเห็นด้วยกับแนวคิดในการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามข้อเสนอของเวียดมินห์ 

โดยรัฐบาล“กลุ่มปรีดี”รับอาสาเป็นแกนนำในการจัดตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นในไทย เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับมหาอำนาจในภูมิภาคโดยมีไทยเป็นแกนนำ อีกทั้งไทยต้องการใช้องค์กรดังกล่าวในต่อรองกับฝรั่งเศสเรื่องข้อพิพาทดินแดนอีกทางหนึ่งด้วย ( โปรดดู ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เทียนวรรณ, 2529), หน้า 88-89.; ร.ต.อ.เฉียบ (ชัยสงค์) อัมพุนันทน์, มหาวิทยาลัยของข้าพเจ้า, หน้า 562.; “นายเมือง เดิมชื่อเถื่อน”(ถวิล อุดล), กบฎแบ่งแยกอิสานในคดีเตียง ศิริขันธ์,(พระนคร: ประเสริฐอักษร , 2491), หน้า 19-23.; Charles F. Keyes, Isan: Regionalism in Northeastern Thailand, data paper no.65, Southeast Asia Program Department of Asian Studies, Cornell University (Itahaca, New York : Cornell University ,1967), p. 31.; E. Bruce Reynolds, “Thailand and The Southeast Asia League” paper presented at the International Conference on Thai Studies in Bangkok, 22-24 August 1984, pp.1-18.; Kobkua Suwannathat - Pain, Politics and National Interests: Negotiations for The Settlement of The Franco-Siamese Territorial Dispute 1945-1947,(Tokyo: Sophia University , 1994).

ต่อมาผู้แทนจากขบวนการกู้ชาติในภูมิภาคหลายประเทศได้มาประชุมในไทย และได้ทำบันทึกเสนอขอจัดตั้งองค์กรให้แก่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯประจำไทยขณะนั้น โดยพวกเขาหวังส่งบันทึกการจัดตั้งองค์กรผ่านสหรัฐฯ ไปยังสหประชาชาติ แต่สหรัฐฯไม่เห็นด้วยในการจัดตั้งองค์กรดังกล่าว โดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ สั่งการให้ทูตสหรัฐฯ คนดังกล่าวส่งบันทึกขอจัดตั้งองค์กรคืนกลับไปยังเหล่าขบวนการชาตินิยม เนื่องจากสหรัฐฯไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสหพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP78-01617A005900030003-8, 10 January 1947, “Request for U.N. intervention reture to Indochinese nationalists”; กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 404.; NARA, CIA Records search Tool (CREST) , CIA-RDP82-00457R000600330001-2, 27 May 1947, “ Notes on Current Situation”. )

กระนั้นก็ดี รัฐบาลของ “กลุ่มปรีดี” ยังคงดำเนินการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทยต่อไปจนสามารถจัดตั้งได้สำเร็จเมื่อเดือนกันยายน 2490 ท่ามกลางความไม่พอในของสหรัฐฯก็ตาม ต่อมาต้นเดือนพฤศจิกายน 2490 ก่อนการรัฐประหารไม่กี่วัน จากรายงานของซีไอเอได้รายงานทัศนะของ “กลุ่มปรีดี” ที่มีต่อขบวนการชาตินิยมเพื่อปลดแอกเอกราชจากฝรั่งเศสกลับไปยังวอชิงตัน ดี.ซี.ว่า “กลุ่มปรีดี” แสดงความคาดหวังว่า โฮจิมินห์จะนำการปลดแอกในอินโดจีนได้สำเร็จ ในรายงานบันทึกต่อไปด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจที่ “กลุ่มปรีดี” เห็นโฮจิมินห์เป็นพวกรักชาติบ้านเมือง และได้วิจารณ์ว่า “กลุ่มปรีดี” เป็นพวกไร้สำนึกที่มองไม่เห็นว่าโฮจิมินห์ คือ คอมมิวนิสต์ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R001000650008-5, 4 November 1947, “Free Thai view on Ho Chi Minh”.บุคคลในรายงาน คือ สุจิต หิรัญพฤกษ์ เลขานุการของ อรรถกิตติ์ พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นน้องชายปรีดี พนมยงค์ ต่อมาปรีดีได้บันทึกความทรงจำว่า เขาเชื่อว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการจัดตั้งสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับการล่มสลายของอำนาจทางการเมืองเขา เนื่องจาก “นักล่าอาณานิคมทั้งรุ่นเก่าและใหม่ได้กล่าวหาข้าพเจ้าว่าเป็นผู้นำเหล่ากบฎในการต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมและเป็นศูนย์กลางของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้”(ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 90 ).

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไม่แต่เพียง ปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มของเขาจะต้องเผชิญหน้ากับปรปักษ์ทางการเมืองภายในจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มจอมพล ป.” เท่านั้น แต่การที่พวกเขาดำเนินนโยบายที่ขัดขวางความต้องการของสหรัฐฯ ทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับศึกหลายด้าน ทั้งนี้ในช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นของสงครามเย็นนั้น ในสายตาของสหรัฐฯเห็นว่าปรีดีและกลุ่มของเขานั้นมีนโยบายบริหารประเทศโน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม 

อีกทั้งการดำเนินนโยบายต่างประเทศของปรีดีและรัฐบาลของพวกเขา ไม่สอดคล้องคล้องกับความต้องการของสหรัฐฯอีกแล้ว ดังจะเห็นได้จากความนิ่งเฉยของสหรัฐฯ เมื่อ ปรีดี อดีตพันธมิตรผู้เคยร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการต่อต้าน “กลุ่มจอมพล ป.” และญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกรัฐประหารโค่นล้มให้พ้นออกไปจากอำนาจทางการเมืองไทย และตามด้วยการที่สหรัฐฯ ปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือเขาและกลุ่มของเขา ให้กลับคืนสู่อำนาจอีก อีกทั้งเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปสหรัฐฯ ให้ความสนใจปัญหาคอมมิวนิสต์มากขึ้น ทำให้ปรีดีต้องเผชิญหน้ากับความแข็งแกร่งของ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนในเวลาต่อมา ( Coast, Some Aspects of Siamese Politics, pp. 49-50 )