“กลุ่มรอยัลลิสต์” กับ “กบฏแมนฮัตตัน” : แผนซ้อนแผนในการโค่นล้มรัฐบาล
กล่าวได้ว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2490 อำนาจทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ตั้งอยู่ท่ามกลาง “กลุ่มรอยัลลิสสต์” และ “กลุ่มปรีดี” เกิดลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองเหล่านี้ที่ในบางครั้งก็ มีความร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับอีกกลุ่มหนึ่ง ในกลางปี 2493 ซีไอเอรายงานข่าวว่า “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้เตรียมการรัฐประหาร โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ ข้าราชการจำนวนหนึ่งที่เคยให้การสนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ และกองทัพเรือที่สนับสนุน “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต้องการทำการรัฐประหารตัดหน้า “กลุ่มปรีดี” ( Bangkok Post, 18 December 1950.; NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950, ” 26 December 1950. )
อย่างไรก็ตามสิ่งจำเป็นที่จะเป็นเครื่องชี้ขาดในความสำเร็จในการรัฐประหารขับไล่รัฐบาล จอมพล ป. แต่เป็นสิ่งที่ทั้งสองกลุ่มขาดอย่างมากคือ กำลังที่จะใช้ยึดอำนาจ ทำให้เวลาต่อมาทั้งสองกลุ่มได้ร่วมมือกันวางแผนการรัฐประหารล้มรัฐบาล ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R006100010001-6, 17 October 1950, “Coup plans by Thai Navy Group”. )
ปลายปี 2493 การต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังคงดำเนินการไปอย่างแหลมคม มีกระแสข่าวว่าจะเกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล (NARA, RG 468 Mission to Thailand 1950-1954, Entry 1385 Box 7, “Brief Political Survey of Thailand,” 20 November 1950. )
ในรายงานฉบับนี้ รายงานว่า ฝ่ายค้านขณะนั้น มี 2 กลุ่ม คือ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส.จำนวน 30-35 คน มีนโยบายสนับสนุนผลประโยชน์ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และเจ้าที่ดินต่อต้านคอมมิวนิสต์ และนิยมตะวันตก แต่พรรคฯ ไม่เข้าใจสถานการณ์ของโลก พรรคฯ รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น พระยาศรีวิสารฯ ผู้มีบทบาทอย่างมากในการร่างรัฐธรรมนูญ 2492 สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคฯ มาจากพระราชวงศ์ที่มีบทบาทอย่างสูงในวุฒิสภา
ส่วน“กลุ่ม ปรีดี”เป็นกลุ่มที่กระจัดกระจายจนไม่มีประสิทธิภาพในสภาผู้แทนฯ พวกเขาให้การสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ และต่อต้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม พวกเขามีความคิดเสรีนิยม หรือเรียกว่า ความคิดก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และปฏิรูปสังคมซึ่งได้รับผลจากแนวคิดในเค้าโครงเศรษฐกิจของปรีดี สมาชิกส่วนใหญ่จบมาจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยเป็นเสรีไทยมาก่อน ต่อมาได้เคยให้การช่วยเหลือพวกเวียดมินห์อย่างใกล้ชิด กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคนาวิกโยธิน มีสมาชิกที่เป็น ส.ส.จำนวน 12-15 คนในสภาผู้แทนฯ, ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP78-01617A006100020023-4, 4 December 1950, “ Reported plan for coup”. )
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาล ตั้งแต่ปลายปี 2493 ถึงต้น 2494 เช่น ธรรมาธิปัตย์ และ บางกอก ทริบูน (Bangkok Tribune) ได้ลงข่าวประนามบทบาททางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภาอย่างหนัก แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนทางการเมืองแบบกลางๆ ก็มีความเห็นใจรัฐบาลที่ถูก “กลุ่มรอยัลลิสต์” โจมตีอย่างไม่มีเหตุผล ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายได้ประนามสมาชิกวุฒิสภาว่าเป็นเครื่องมือที่ ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตยของชนชั้นปกครอง
ดังนั้นการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 หรือรัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ที่ให้อำนาจแก่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งสมาชิก วุฒิสภาทั้งหมด การแต่งตั้งองคมนตรีให้เป็นพระราชอำนาจโดยแท้ และการแทรกแซงทางการเมืองจากผู้สำเร็จราชการฯ ได้สร้างปัญหาให้กับการบริหารงานของรัฐบาลเป็นอันมาก รัฐบาลจึงมีความต้องการยุติอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา และบทบาททางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์”จ ำนวนมากที่อยู่ในกลไกทางการเมืองนั้นทำการขัดขวางแผนการลดอำนาจของพวกเขา ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “ Political Report for December 1950 and January 1951,” 21 February 1951. )
ในขณะที่ “กลุ่มปรีดี ”กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีแผนการร่วมกันในการรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นสมาชิกสภาผู้แทนฯ จำนวนหนึ่งที่นำโดย เตียง ศิริขันธ์ แกนนำคัญสำคัญใน “กลุ่มปรีดี” ไม่เห็นด้วยกับแผนการดังกล่าวของ ปรีดี พนมยงค์ เนื่องจาก เตียงและพวกเขา มีความเห็นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่สถานการณ์ทางการเมืองที่แย่ยิ่งกว่าที่เป็น อยู่ ดังนั้นพวกเขาจึงพยายามหาหนทางสร้างความปรองดองระหว่าง จอมพล ป. และปรีดี เพื่อประโยชน์ของประเทศมากกว่าแผนการใช้กำลัง (NA, FO 371/84352, Far Eastern Department to U.K. High Commissioner in Canada, Australia, New Zealand, India, Pakistan, Ceylon, 14 December 1950)
การพยายามสร้างความปรองดองระหว่างกันโดยรัฐบาลดำเนินการผ่าน พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ โดยเขาได้ให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่นักการเมืองกลุ่มของเตียง ( พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ได้ให้การสนับสนุนจารุบุตร เรืองสุวรรณ นักการเมืองกลุ่มของเตียง ศิริขันธ์ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนฯ (NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for December 1950 and January 1951,” 21 February 1951). สถานทูตอังกฤษรายงานว่า เตียงกำลังหาหนทางให้เกิดการเจรจาคืนดีกันระหว่างจอมพล ป.พิบูลสงครามและปรีดี พนมยงค์(NA, CO 537/7115, Whittington to Foreign Office, 27 February 1951.; NA, FO 371/92954, Whittington to Foreign Office, 28 February 1951).
อย่างไรก็ตาม การเจรจาระหว่างทั้งสองกลุ่มไม่สำเร็จ เนื่องจาก ปรีดียังคงดำเนินแผนการดังกล่าวต่อไป สถานทูตอังกฤษ และซีไอเอ รายงานว่า ปรีดีได้ลักลอบเดินทางกลับมาไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2494 เพื่อเตรียมแผนการรัฐประหาร โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เจมส์ ทอมสัน เพื่อนสนิทของเตียง และอเล็กซานเดอร์ แมคโดนัล อดีตโอเอสเอส และบรรณาธิการบางกอกโพสต์ ( NA, CO 537/7115, Whittington to Foreign Office, 26 February 1951. ทูตอังกฤษได้รายงานว่า ร.อ.เดนิส (S.H. Denis)-อดีตทูตทหารเรืออังกฤษ-ได้พบสนทนากับปรีดี พนมยงค์ในกรุงเทพฯ ปรีดีได้กล่าวกับเดนนิสว่า เขามีความหวังว่าจะกลับมาสู่การเมืองในเร็วๆนี้ ต่อมา ทูตอังกฤษได้แจ้งข่าวลับมาเรื่องการมาถึงไทยของปรีดีให้ทูตสหรัฐฯทราบเช่น กัน(NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000100040001-7, 5 March 1951, “Pridi-Phibul Negotiations”).
โดยปรีดีพยายามโน้มน้าวให้ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ อดีตผู้บังคับการพรรคนาวิกโยธินที่เคยให้การสนับสนุนปรีดีในการก่อ “กบฎวังหลวง” ให้เข้าร่วมแผนการรัฐประหารอีกครั้ง ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146 A0001000 80001-3, 9 March 1950 , “Coup Attempt Possibly in Progress”.)
ทั้งนี้ในปลายเดือนเมษายน 2494 พล ท.กาจ กาจสงคราม ผู้เป็นคู่แข่งขันในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและตำแหน่งทางการเมืองกับจอมพล ผิน ชุณหะวัณ และ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หรือค่ายราชครู เขาได้ลักลอบกลับมาไทยเพื่อรวบรวมกำลังทหารบกที่ภักดีเพื่อก่อการรัฐประหาร ด้วยเหตุที่ “กลุ่มปรีดี” ไม่มีกำลังที่เพียงพอจึงได้มาเจรจาขอร่วมมือกับเขาแต่การตกลงไม่ประสบความ สำเร็จ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000200010001-9, 28 April 1951, “General Kach’s Return Rumored”. )
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ความพยายามในการก่อการรัฐประหารของ “กลุ่มปรีดี” “กลุ่มรอยัลลิสต์” และค่ายของพล ท.กาจ กาจสงคราม แม้ทั้งหมดจะมีเป้าหมายร่วมกันคือ โค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร แต่ปัญหาหลัก คือ พวกเขาไม่มีกำลังมากเพียงพอในการรัฐประหาร ดังนั้น กองทัพเรือในฐานคู่แข่งขันของคณะรัฐประหาร หรือกองทัพบกจึงเป็นตัวแปรสำคัญในความสำเร็จดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายในกองทัพเรือนั้นก็มีความแตกแยกในความนิยมที่มีต่อ ปรีดี พนมยงค์
กล่าวคือ พรรค นาวิกโยธินนำโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ให้การสนับ สนุน“กลุ่มปรีดี” แต่พรรคนาวินนำโดย พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือไม่นิยมทั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปรีดี และ พล ท.กาจ กาจสงคราม แต่เขาต้องการให้กองทัพเรือขึ้นมามีอำนาจแทนคณะรัฐประหาร หรือทหารบกซึ่งเป็นคู่แข่งขัน ด้วยเหตุนี้กองทัพเรือจึงโน้มเอียงไปในการสนับสนุน “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า
การจับกุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในพิธีมอบเรือขุดสันดอน ชื่อแมนฮัตตัน เมื่อ 29 มิถุนายน 2494 โดยนายทหารเรือกลุ่มหนึ่งซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “กบฎแมนฮัตตัน” นั้น โดยทั่วไปมักรับรู้กันว่าเป็นความพยายามก่อรัฐประหารโดยนายทหารเรือสองคน คือ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกานนท์ และ น.ต.มนัส จารุภาจนนำไปสู่ความบอบซ้ำของกองทัพเรือ แต่จากหลักฐานในรายงานของสถานทูตสหรัฐฯในช่วงดังกล่าวนั้น การพยายามรัฐประหารครั้งนี้เป็นการพยายามก่อการที่มีความสลับซับซ้อนมากจน ถูกเรียกว่าเป็น “แผนสมคบคิดที่ลึกลับซับซ้อน” (Machiavellian Conspiracy) ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, R. H. Bushner to Secretary of State, “Current Thai Political Potting,” 26 April 1951.)
ทั้งนี้รายชื่อว่า ที่คณะรัฐมนตรีที่ถูกประกาศในวันนั้นมีหลายกลุ่ม ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การพยายามรัฐประหารนี้มีความร่วมมือของหลายกลุ่ม เช่น “กลุ่มปรีดี” มี พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ เป็นรองนายกฯ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศ พล.ท.สินาดโยธารักษ์ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ส่วนนายกรัฐมนตรี คือ พระสารสาสน์ประพันธ์ ซึ่งอดีตข้าราชการอาวุโส ที่ไม่สังกัดกลุ่มใด (“ไทยน้อย”, กบฎ 29 มิถุนายน,[พระนคร: โอเดียนสโตร์, 2494], หน้า 54-55).
จากรายงานหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ทั้งสถานทูตสหรัฐฯ และซีไอเอ ตลอดจนบันทึกการสนทนากับบุคคลสำคัญของไทย สรุปได้ว่า “กบฎแมนฮัตตัน” เป็นแผนการร่วมกันเพื่อโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. ระหว่าง “กลุ่มปรีดี” “กลุ่มรอยัลลิสต์” ค่ายของพล ท.กาจ และกองทัพเรือ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ แต่ละกลุ่มก็มีความขัดแย้ง และหวาดระแวงระหว่างกัน ดังนั้น แต่ละกลุ่มจึงมีแผนที่จะรัฐประหารตลบหลังซึ่งกันและกัน และเมื่อไม่มีกลุ่มใดมีกำลังเพียงพอในปฏิบัติการยึดอำนาจ ทำให้กองทัพเรือกลายเป็นตัวแปรสำคัญ ด้วยเหตุที่ ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้น ไม่พอใจความเป็นอิสระของพรรคนาวิกโยธินที่ให้การสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ อีกทั้ง เขาต้องการให้กองทัพเรือมีอำนาจแทนคณะรัฐประหารเขาจึงให้การสนับสนุน “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้มีอำนาจทางการเมืองแทน
เขาได้นำแผนการ ที่ทุกกลุ่มมาขอความช่วยเหลือจากกองทัพเรือแจ้งให้ ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำคนหนึ่งใน “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทราบ ต่อมา ควง ได้นำแผนการทั้งหมดทูลต่อพระองค์เจ้าธานีฯ ผู้สำเร็จราชการฯ ผู้ที่ไม่ทรงโปรด จอมพล ป. และ ปรีดี พนมยงค์ ให้ทรงทราบถึงแผนการต่างๆ จากนั้น แผนซ้อนแผนของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ก็ถูกเตรียมการขึ้น
ทั้ง นี้ตามแผนซ้อนแผนของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั้น สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า กองทัพเรือจะแสดงท่าทีให้ความช่วยเหลือแก่ทุกกลุ่ม แต่ไม่ให้แต่ละกลุ่มรู้ความเคลื่อนไหวซึ่งกันและกัน โดยขั้นแรกกำหนดให้ค่ายของ พล ท.กาจ กาจสงคราม เข้าจับกุมตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ,จอมพลผิน ชุณหะวัณและพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่เรือแมนฮัตตัน จากนั้นจะให้ “กลุ่มปรีดี” ยึดอำนาจซ้อนกลุ่มของ พล ท.กาจ และสุดท้าย “กลุ่มรอยัลลิสต์” และกองทัพเรือฝ่ายพรรคนาวินจะยึดอำนาจตลบหลัง “กลุ่มปรีดี” อีกทีหนึ่ง ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, Memorandum of Conversation Nai Tula Bunnag and Hannah, “Current Thai Political Potting,” 26 April 1951. )
ตุลย์ บุนนาค เป็นบุคคลที่ให้ข่าวนี้ เขาเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและเลขานุการของควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรรคประชาธิปัตย์ ; ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R008000720001-7, 6 July 1951, “Seizure of Premier Phibul by the Thai Navy”.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation General Phao, Major Thana Posaynon and N.B. Hannah, ”Recent Attempted Coup d’etat,” 16 July 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Luang Sukhum Naipradit, Nai Charoon Suepsaeng and N.B. Hannah, ”Recent Attempted Coup,” 7 August 1951. )
แต่ปรากฏว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงนั้น กลุ่มที่ลงมือจับกุมตัว จอมพล ป.ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากกลุ่มที่ลงมือกลับกลายเป็นทหารเรือของ “กลุ่มปรีดี”
สาเหตุ ที่นายทหารเรือกลุ่มที่ลงมือนั้นถูกพิจารณาเป็น “กลุ่มปรีดี” เนื่องจาก สุภัทร สุคนธาภิรมย์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อดีตเสรีไทย ผู้มีความใกล้ชิด ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้หนึ่งอยู่เบื้องหลัง “กบฎแมนฮัตตัน” เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ น.ต.มนัส จารุภา หนึ่งในทหารเรือผู้ลงมือจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม (Somsak, “The Communist Movement in Thailand,” p.340.;วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, กบฎสันติภาพ,หน้า 229.)
ทั้งนี้ น.ต.มนัส เป็นนายทหารเรือคนสนิทของ พล ร.ต.ผัน นาวาวิจิตร ผู้ให้การสนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย, หน้า 36,206) โปรดดูรายละเอียดเหตุการณ์ดังกล่าวโดยละเอียดใน “ไทยน้อย”, กบฎ 29 มิถุนายน; สุดา กาเดอร์, “กบฎแมนฮัตตัน,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2516).
ท่ามกลางความสับสนในวันนั้น รัฐบาลที่ปราศจากผู้นำได้ส่งผู้แทนไปหาพระองค์เจ้าธานีฯ ผู้สำเร็จราชการฯ ถึง 3 ครั้งเพื่อขอให้ทรงสนับสนุนรัฐบาล แต่ทรงปฏิเสธ เนื่องจากขณะนั้น ทรงไม่แน่ใจว่ากลุ่มที่ลงมือเป็นไปตามแผนที่พวกตนตกลงกันไว้หรือไม่ สถานทูตสหรัฐฯตั้งข้อสังเกตว่า แทนที่พระองค์จะติดต่อกับรัฐบาล แต่ปรากฎว่าทรงติดต่อกับ ควง อภัยวงศ์ ผู้นำฝ่ายค้าน เพื่อสอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยควงได้บอกกับพระองค์ว่า เขา “กำลังรอบางสิ่งบางอย่างอยู่” ( a waiting one) ต่อมา ควงได้ทูลต่อพระองค์ว่า “มันไม่ใช่” (this is not it) จากนั้น ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ประกาศสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลทันที ด้วยการทรงลงพระนามประกาศกฎอัยการศึกตามคำขอของรัฐบาล ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, Memorandum of Conversation Nai Khuang and Hannah, “ Attempted Coup d’etat 29-31 June 1951,” 9 July 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bushner to Secretary of State, ” Attempted Coup d’etat of 22-30 June and its Aftermath,” 19 September 1951. )
หลังความล้มเหลวของแผนการรัฐประหารของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ควงได้กล่าวอย่างหัวเสีย และกล่าวประนามการเคลื่อนไหวของนายทหารเรือสองคนนั้นว่า “โง่เขลาและปัญญาอ่อน” เป็นการลงมือรัฐประหารอย่างไร้หลักการ ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, Memorandum of Conversation Nai Khuang and Hannah, “Attempted Coup d’etat 29-31 June 1951,” 9 July 1951. )
ควรบันทึกด้วยว่า การปราบปรามการพยายามก่อการรัฐประหารครั้ง นี้ กำลังของเจ้าหน้าที่ ที่เข้าปฏิบัติการปราบราม “กบฎแมนฮัตตัน” มาจากกองทัพผสมกับตำรวจ โดยพลร่ม และตำรวจตระเวนชายแดนมีบทบาทอย่างมากในการเข้าปราบปราม ทั้งนี้ตำรวจชุดดังกล่าวได้รับการฝึกจากซีไอเอ และได้ใช้อาวุธที่ได้รับการสนับสนุนจากจากซีไอเอผ่าน วิลลิส เบิรด์ เช่น ปืนบาซูก้า ปืนคาร์บิน จำนวน 500 กระบอก และกระสุนจำนวนมากทำให้รัฐบาลสามารถปราบความพยายามรัฐประหารครั้งนี้ลงได้ อย่างง่ายดาย ( “Turner The Charge in Thailand to Mr. Robertson P. Joyce Policy Planning Staff, 7 November 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 1634.; พล.ต.ต. อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อตร.เผ่าไม่ดี, หน้า 73-74, 92. )
สถานทูตอังกฤษรายงานว่าหน่วยงานของสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการปราบการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ ( NA, FO 628/79, Minutes, 1 July 1951. )
ภายหลังความสำเร็จในการปราบปราม จอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้แสดงความประทับใจต่อความช่วยเหลือทางอาวุธอย่างมากจากสหรัฐฯ เขาเห็นว่า ความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการปราบปรามดังกล่าวลงได้สำเร็จ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 5625, Memorandum of Conversation Phin, E.O’Connor and R.H. Bushner, 24 July 1951. )
ผลที่ตามมาหลังเหตุการณ์ คือ บทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ ในการชิงอำนาจคืนครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้ที่จะกลับสู่การเมืองด้วยกำลัง ครั้งสุดท้ายของเขา อีกทั้งกองทัพเรือในฐานะคู่แข่งกับคณะรัฐประหารได้ถูกลดความเข้มแข็งลงอย่าง รวดเร็ว อาวุธของกองทัพเรือที่ทันสมัยได้ถูกกองทัพบก และตำรวจยึดไป ในขณะที่แม้รัฐบาลจะปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองลงได้ แต่ปัญหาใหม่ที่ได้เกิดขึ้นภายในคณะรัฐประหารก็มีความเด่นชัดมากขึ้น คือ การแข่งขันทางการเมืองระหว่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มากยิ่งขึ้น สถานทูตอังกฤษรายงานว่า ความเข้มแข็งของทั้งสองคนทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องประสบปัญหาการรักษาอำนาจของเขาด้วยเช่นกัน ( NA, FO 371/92956, Whittington to Foreign Office, ”Siam: Political Summary,” 13 July 1951. )
ต้นเดือนกรกฎาคม 2494 หนังสือพิมพ์ในไทยได้รายงานข่าวอย่างต่อเนื่องหลายวันว่า สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่รัฐบาลในการปราบ ”กบฎแมนฮัตตัน” เกิดกระแสวิพากวิจารณ์ในสังคมว่า “อาวุธอเมริกันฆ่าเรา” ( New York Times, 5 July 1951. )
ท่ามกลางข่าวในทางลบต่อสหรัฐฯ ที่แพร่สะพัด เทอร์เนอร์ อุปทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้แสดงความกังวลต่อข่าวดังกล่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ไทย ( “Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 2 July 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p.1616. )
ในวันเดียวกันนั้น กองทัพบกได้ปฎิเสธการใช้อาวุธที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในปราบปราม “กบฎแมนฮัตตัน” ( “ไทยน้อย”, กบฎ 29 มิถุนายน, หน้า 168-169 )
ต่อมาสถานทูตสหรัฐฯ ได้รับโทรศัพท์ต่อว่าการให้การสนับสนุนทางการทหารแก่กองทัพ และตำรวจไทยจากสตรีไทยคนหนึ่งด้วยเสียงสะอื้นว่า “ทำไมอเมริกาจึงให้อาวุธทำให้คนไทยต้องต่อสู้กัน” ( NARA, RG 84 General Records, Thailand 1945-1953, Entry UD 3267 Box 93, R.H. Bushner to Political Section, ”Thai Reaction to Coup d’etat,” 11 July 1951. สตรีไทยคนดังกล่าวได้โทรศัพท์มาต่อว่าสถานทูต ชื่อนางสาว สุวรรณ มาลิก เป็นครูที่สอนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ )
หลัง “กบฎแมนฮัตตัน” แม้ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯผู้ช่วยทูตทหาร และแมค (MAAG) ได้เสนอให้สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยก็ตาม ( “Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 12 July 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp. 1620-1621. )
แต่รัฐบาลที่วอชิงตัน ดี.ซี.ยังคงยืนยันความช่วยเหลือทางการทหาร และเศรษฐกิจแก่ไทยต่อไป โดยได้ให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ต้องการให้ไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อที่จะทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่มี ความเข้มแข็งในการรักษาเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ( “Analysis and Appreciation of Foreign Military and Economic Assistance Programs for Thailand, 17 July 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp.1623-1625. )
ดังนั้นกล่าวได้ว่า ภายหลัง ”กบฎแมนฮันตัน” เมื่อปรีดี พนมยงค์ ประสบความพ่ายแพ้ และหมดโอกาสในการกลับสู่อำนาจทางการเมือง แต่สำหรับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั้น แม้พวกเขาจะถูกจับตามมองจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างมากก็ตาม แต่โอกาสทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญบับ 2492 ยังคงอยู่ข้างพวกเขา และพวกเขายังรอเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่จะทรงนิวัตรพระนครในเร็ววัน ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนั้น เป็นช่วงเวลาที่ตัวละครทางการเมืองทั้งระหว่างรัฐบาลกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” รอเวลาชิงชัยกันทางการเมืองระหว่างกันและกันอีกครั้ง
การรัฐประหาร 2494 กับการยุติบทบาททางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”
ความพยายามใช้กำลังเข้าเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ประสบความล้มเหลวไปในเหตุการณ์ “กบฎแมนฮัตตัน” มิได้ทำให้พวกเขายุติบทบาททางการเมือง แต่พวกเขายังคงพยายามรักษาฐานอำนาจในกลไกทางการเมืองที่พวกเขาสามารถควบคุม ได้ต่อไป เพื่อโจมตีรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัฐบาลอีกครั้ง
สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ และพระองค์เจ้าธานีฯ องคมนตรีในขณะนั้น สั่งการใช้สมาชิกวุฒิสภาเข้าขัดขวางการทำงานของรัฐบาล (NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for December 1950 and January 1951,” 21 February 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah,” 29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )
การขัดขวางการทำงานของรัฐบาลโดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น บทบาท ของวุฒิสภาที่ยับยั้งร่างกฎหมายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง 31 ฉบับจาก 57 ฉบับ และได้ยับยั้งกฎหมายที่สภาผู้แทนฯเสนอ 10 จาก 16 ฉบับ รวมทั้งการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึง 67 กระทู้ (สุชิน ตันติกุล, “ผลสะท้อนทางการเมืองของการรัฐประหาร พ.ศ.2490,” หน้า 150-153).
ต่อ มาสถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า ภายหลังที่รัฐบาลปราบ “กบฎแมนฮัตตัน” ลง “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ สมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาได้โจมตีรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจที่ความพยายามก่อการรัฐประหารของพวกเขาล้มเหลว ( “Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 24 August 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 1632. )
พวกเขาได้อภิปรายวิจารณ์รัฐบาลที่ปราบปรามการพยายามรัฐประหาร ดังกล่าว และโจมตีความผิดพลาดในการปฏิวัติ 2475 ที่ผ่านมาอย่างรุนแรง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการโจมตีจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และได้กล่าวตอบโต้ว่า วุฒิสภามุ่ง “ด่า” รัฐบาลแต่ฝ่ายเดียว และหากสมาชิกวุฒิสภาเห็นว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับการปกครองของไทยก็ให้ สมาชิกวุฒิสภาดำเนินการถวายอำนาจการปกครองคืนพระมหากษัตริย์ไป ( “รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 3 / 2494 วันที่ 27ตุลาคม 2494,” ในรายงานการประชุมวุฒิสภา สมัยสามัญ ชุดที่ 2 พ.ศ.2494,(พระนคร: โรงพิมพ์อำพลวิทยา, 2495), หน้า 412-415. วุฒิสภาได้วิจารณ์การปฏิวัติ 2475 ว่า เป็นการกบฎอันเป็นเหตุให้ให้คุณภาพของสมาชิกสภาผูแทนฯ มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากประชาชนไม่มีคุณภาพ ไม่มีการศึกษาจึงเลือกสมาชิกสภาผู้แทนฯที่ไม่ดี )
ทั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2494 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 หรือรัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์คงมีความคุกกรุ่นอยู่ภายในตลอดเวลา แม้รัฐบาลจะสามารถปราบปราม “กบฏแมนฮัตตัน” พร้อมกับการปิดโอกาสทางการเมืองของ ปรีดี พนมยงค์ และจำกัดอำนาจของกองทัพเรือลงแล้วก็ตาม แต่“กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังคงอยู่ และพวกเขามีโอกาสในการท้าทายอำนาจรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา
สถาน ทูตสหรัฐฯ รายงานว่า ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญ 2492 เป็นผลงานของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่พวกเขาได้ออกแบบระบอบการเมืองขึ้นมาเพื่อยึดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ด้วยการสร้างกติกาการเมืองที่ทำให้สถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้เปรียบทางการเมืองเหนือกลุ่มการเมืองอื่นๆ อย่างมาก ( NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950, ” 26 December 1950. )
ดังนั้นบทบาทของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้จึงเป็นเสมือนหอกข้างแคร่ของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่งในกลางเดือนสิงหาคม 2494 ได้มีการหารือถึงปัญหาทางการเมืองดังกล่าว ที่ประชุมเห็นว่าควรรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพื่อเขียนรัฐ ธรรมนูญใหม่ ( เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์, “เสวต เปี่ยมพงศ์สานต์,”ใน บันทึก 25 นักการเมือง วิเคราะห์การเลือกตั้งในไทย, “ใหม่ รักหมู่” และธวัชชัย พิจิตร, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ นพรัตน์, 2522), หน้า 597. )
สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า รัฐบาล จอมพล ป.ต้องการสร้างความเข้าใจถึงปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นให้กับพระมหากษัตริย์ ทรงทราบจึงส่ง พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ไปเจรจากับพระองค์ที่โลซาน สวิสเซอร์แลนด์ในเดือนสิงหาคม 2494 เพื่ออธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ และบทบาทของ ”กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้พระองค์ทรงทราบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R008300700010-6, 16 August 1951, “Departure of Lt. Gen. Phao Sriyanon for Europe and England ”.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )
ต่อมาหนังสือพิมพ์เอกสารฝ่ายไทย และสถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานที่สรุปได้ว่า ในเดือนตุลาคม รัฐบาลได้ส่ง พล ต.อ.เผ่าและกลุ่มตำรวจของเขาได้เดินทางกลับไปเข้าเฝ้าพระองค์อีกครั้งเพื่อ รับทราบพระบรมราชวินิจฉัย แต่ปรากฏว่าพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของรัฐบาลที่เห็นว่า ปัญหาการเมืองเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และจากบทบาทของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่พระองค์ได้ทรงกล่าววิจารณ์คณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรี โดยทรงมีแผนการทางการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ภายหลังทรงเสด็จนิวัต พระนครในปลายปี 2494 แล้ว โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้พระองค์เจ้าธานีฯ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ หรือ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ ,สินาด โยธารักษ์ ผู้เป็นแกนนำสำคัญของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน จอมพล ป. ( ชาวไทย, 20 ตุลาคม 2494.; พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ, ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, หน้า 150-151.)
กลุ่ม ตำรวจที่เดินทางไปกับ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในเดือนตุลาคม 2494 มี พ.ต.ท.เยื้อน ประภาวัตร์ ,พ.ต.ต.พุฒ บูรณสมภพ ,พ.ต.ต.อรรณพ พุกประยูร ,พ.ต.ต.วิชิต รัตนภานุ ,พ.ต.ต.ธนา โปษยานนท์ และพ.ต.ต.พจน์ เภกะนันท์.; ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )
รายงานฉบับนี้ รายงานว่า สังข์ พัธโนทัย บุคคลใกล้ชิด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แจ้งกับฮันนาห์ว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังในการแนะนำให้พระมหากษัตริย์กลับมาต่อต้านรัฐบาล คือ ม.จ.นักขัตรมงคล กิตติยากร ฮันนาห์ได้บันทึกในรายงานว่า ข้อมูลจากสังข์นี้ เขาได้ตรวจสอบกับแหล่งข่าวอื่นๆ ของเขาแล้วพบว่ามีความแม่นยำ
ใน ช่วงเดือนพฤศจิกายน สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่คึกคักมาก พวกเขาหวังจะใช้การเสด็จนิวัตรพระนครของพระมหากษัตริย์เป็นพลังสนับสนุน บทบาททางการเมืองของพวกเขา ( “Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 29 November 1951,“ in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 1638.; PRO, FO 371/92957, Murray to Foreign Office, ”Coup d’etat in Siam,”3 December 1951.; Scott to Foreign Office, 4 December 1951. )
ปลายเดือนพฤศจิกายน 2494 สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานกระแสข่าวการพยายามรัฐประหารโดยฝ่ายรัฐบาลก่อนพระองค์เสด็จนิวัต พระนคร เพื่อป้องกันมิให้ กลุ่มรอยัลลิสต์ ร่วมมือกับพระองค์ต่อต้านการยุติการใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 หรือรัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ โดยเป้าหมายของการรัฐประหารครั้งนี้ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะลดอำนาจพระมหากษัตริย์และวุฒิสภาลง โดย จอมพล ป. มีความคิดในการนำรัฐธรรมนูญ 2475 กลับมาใช้ใหม่ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R009400250011-3, 27 November 1951, “ Possible Coup d’etat”.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951.)
ใน เอกสาร รายงานว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมการรัฐประหาร อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ในกลางเดือนพฤศจิกายน ก่อนการรัฐประหารล้มรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 จอมพลสฤษดิ์ได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นประธานกองสลากคนใหม่ (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000500260001-9, 16 November 1951, “Sarit’s position enhanced”).
แต่คณะรัฐประหารยังไม่ พ้องด้วยถึงทิศทางในอนาคต จวบกระทั่งช่วงบ่ายของ 29 พฤศจิกายน ทั้งหมดจึงเห็นพ้องกับความคิดของ จอมพล ป. จากนั้น การรัฐประหารก็ เริ่มต้นขึ้นในเย็นวันนั้นเอง ด้วยการที่จอมพลผิน ชุณหะวัณ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า คณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวไปเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าธานีฯ ผู้สำเร็จราชการฯ ในเวลา 18.00 ขอให้ทรงลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 และยุบรัฐสภา แต่พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงกริ้วมากที่คณะรัฐประหารต้องการล้มรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และทรงตรัสถามจอมพลผิน ชุณหะวัณ ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีทราบการดำเนินการนี้หรือไม่ จอมพลผิน มิได้ตอบคำถามพระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ แต่ต่อมา จอมพล ป. ,จอมพลผิน และพล ท.บัญญัติ เทพหัสดินฯ ได้เดินทางกลับมาเพื่อแสดงความพร้อมเพรียงของความเห็นชอบของรัฐบาลต่อหน้า พระพักตร์ และทาบทามให้พระองค์ทรงยอมรับการเป็นผู้สำเร็จราชการฯต่อไป แต่ทรงปฏิเสธ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )
จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ได้บันทึกความทรงจำถึงสาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้ว่า เกิดจากปัญหาของการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่กีดดันทหารออกจากการเมือง แต่กลับให้อำนาจมากกับพระมหากษัตริย์ ทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม บริหารงานได้ยากลำบาก จนทำให้ “เกือบตั้งตัวไม่ติด” คณะรัฐประหารเห็นว่า หากปล่อยให้การเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไป รัฐบาลจะไม่สามารถทำงานได้จึงทำการรัฐประหาร ( จอมพล ผิน ชุนหะวัณ, ชีวิตกับเหตุการณ์,[พระนคร: โรงพิมพ์ประเสริฐศิริ, 2513],หน้า 95).
ความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาล จอมพล ป.
การรัฐประหารที่เกิดเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2494 มีผลให้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 หรือ รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ถูกยกเลิก และมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ขึ้นใหม่แทนนั้น มีผลให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชุดเดิมและรัฐสภาที่ถูก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ครอบงำได้สิ้นสุดลง โดยคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวในฐานะองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดได้ประกาศไม่ เปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศ และอ้างสาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการต่อต้านคอมมิวนิสต์
แต่ในรายงานของสถานทูตสหรัฐฯ และอังกฤษวิเคราะห์ว่า เบื้องหลังที่แท้จริงของการรัฐประหารครั้งนี้ คือ การต่อต้าน “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ การรัฐประหารครั้งนี้จึงเป็นการชิงไหวชิงพริบตัดหน้าแผนการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะเข้มแข็งมากขึ้นจากการกลับมาของพระมหากษัตริย์ ( “Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 29 November 1951,“ in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 1638.; NA, FO 371/92957, Murray to Foreign Office, ”Coup d’etat in Siam,”3 December 1951.; Scott to Foreign Office, 4 December 1951. )
สำหรับ ความเห็นของประชาชนต่อสาระในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2475 ที่ถูกประกาศใช้ใหม่หลังการรัฐประหารนั้น เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คน ที่มีความเห็นไปในทางฝ่ายซ้าย ให้การสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวว่า ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2492 มาก แต่นายทหารที่มีความสัมพันธ์กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์กลับเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกล้มไปนั้นดีกว่า (NARA, RG 84 General Records, Thailand 1945-1953, Entry UD 3267 Box 93, R.H. Bushner to Political Section, ”Public Opinion regarding 29 November Coup,” 11 December 1951.; NA, FO 371/92957, Wallinger to Foreign Office, ”Coup d’etat in Siam,” 5 December 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Turner to Secretary of State, 30 November 1951.; NARA, RG 84 General Records, Thailand 1945-1953, Entry UD 3267 Box 99, Colonel D.W. Stonecliffe to Secretary of Defense, “Thailand-Military significance 29 November 1951 Coup d’etat,” 4 January 1952.; NA, FO 371/92957, Foreign Office to Bangkok, 4 December 1951.; Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 270.)
สังข์ พัธโนทัย คนใกล้ชิดจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นว่าเหตุผลส่วนหนึ่งของรัฐประหารครั้งนี้ จอมพล ป. ต้องการเยียวยาความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎร และคณะรัฐประหาร (NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November 1951 Coup d’etat,” 11 December 1951).
เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้น สถานทูตอังกฤษรายงานว่า พระองค์เจ้าธานีฯ ผู้สำเร็จราชการฯ พยายามติดต่อแจ้งข่าวการรัฐประหารให้พระมหากษัตริย์ทรงทราบ โดยพระองค์เจ้าธานีฯ ได้ทรงแจ้งต่อสถานทูตสหรัฐฯว่า พระมหากษัตริย์ทรงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ 2475 และทรงแจ้งว่า พระมหากษัตริย์อาจจะสละราชย์สมบัติ โดยพระองค์เจ้าธานีฯ จะได้ทรงให้คำปรึกษาทางการเมืองแก่พระองค์ที่จะมีต่อไปภายหลังที่ทรงเสด็จนิ วัตพระนครแล้ว ( NA, FO 371/92957, Whittington to Foreign Office, 30 November 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Turner to Secretary of State, 30 November 1951 .)
สำหรับท่าทีของฝ่ายรัฐประหารคือ หากพระมหากษัตริย์ไม่รับรองรัฐธรรมนูญใหม่และสละราชย์นั้น ไทยก็อาจจะเป็นสาธารณรัฐ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November 1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )
สถานทูตอังกฤษรายงานว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงเสด็จนิวัตพระนครเมื่อ 2 ธันวาคม 2494 ด้วยเรือพระที่นั่ง พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงมิได้ขึ้นไปเข้าเฝ้าเพื่อรับเสด็จ แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในฐานะนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และรักษาการผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ซึ่งไปรอเข้าเฝ้าแทน แต่พระองค์ทรงไม่มีพระราชปฏิสันถารด้วย
ต่อมา จอมพล ป.ได้ไปเข้าเฝ้าพระองค์เป็นเวลาสั้นๆ เพื่อขอให้ทรงรับรองรัฐบาลใหม่ แต่พระองค์ไม่ทรงตอบรับข้อเสนอจากรัฐบาล ในวันรุ่งขึ้น พระองค์เจ้าธานีฯ ได้เข้าเฝ้าให้คำปรึกษาเป็นการส่วนพระองค์อีก จากนั้น พระองค์เจ้าธานีฯ ได้ทรงแจ้งแก่สถานทูตสหรัฐฯ และอังกฤษว่า พระมหากษัตริย์กำลังทรงหาหน ทางที่จะคว่ำบาตรการรัฐประหารครั้งนี้ด้วยการทรงไม่ลงพระปรมาธิไภยประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ที่จำกัดอำนาจทางการเมืองของพระองค์ อย่างไรก็ตาม พระองค์เจ้าธานีฯ ทรงเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการประนีประนอมรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเข้า หากัน ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4190, Turner to Secretary of State, 3 December 1951.; NA, FO 371/92957, Whittington to Foreign Office, 5 December 1951. )
สถานทูตสหรัฐฯ ซีไอเอ และสถานทูตอังกฤษ ได้รายงานสถานการณ์ช่วงเวลาดังกล่าวว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ถึง 2 ครั้งเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธ รับรองรัฐบาลใหม่และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ทรงปฏิเสธ ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่ถูกล้มไปกลับมาใช้ใหม่ แต่จอมพล ป. ไม่เห็นด้วย เมื่อการเจรจาไม่สำเร็จ พระองค์ทรงใช้การสละราชย์เป็นเงื่อนไขเพื่อต่อรองกับ จอมพล ป. อันนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในเวลาต่อมา ( NA, FO 371/92957, Whittington to Foreign Office, 7 December 1951.; NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal File 1950-1954 Box 4188, Tunner to Secretary of State, 8 December 1951.; NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP79T01146A000600190001-6, 18 December 1951, “King reported prepared to abdicated”. )
ในช่วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลมีแผนเตรียมรับมือการต่อต้านจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” โดย พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้ส่งตำรวจไปควบคุม และติดตามความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่บ้านพักของพวกเขา เช่น พระองค์เจ้าธานีฯ ,ควง อภัยวงศ์ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ( NA, FO 371/92957, Wallinger to Foreign Office, ”Coup d’etat in Siam,” 5 December 1951. )
ในรายงานของซีไอเอรายงานว่า เพียงหนึ่งเดือนหลังการรัฐประหาร มีข้าราชการระดับสูง “กลุ่มรอยัลลิสต์” หลายคนเตรียมแผนก่อการรัฐประหารซ้อนขึ้นโดยอาจร่วมมือกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000700010001-4, 2 January 1952, “Split in ruling clique presages early Coup”).
ต่อมาพระมหากษัตริย์ได้ยินยอมทรงประกาศรับรองรัฐบาลใหม่ และรัฐธรรมนูญ 2475 ให้ใช้ชั่วคราวในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่หรือรัฐธรรมนูญ 2475 แก้ไข 2495 ที่รัฐบาล จอมพล ป.ได้มีส่วนสำคัญในการร่างนั้นยินยอมตามสนองพระราชประสงค์แต่บางประการเท่า นั้น เช่นการให้ทรงมีอำนาจในกิจการส่วนพระองค์ เช่น การแต่งตั้งองคมนตรีเท่านั้น แต่รัฐบาลไม่อนุญาตให้ทรงมีอำนาจในการการแต่งตั้งวุฒิสภา ซึ่งจะสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับรัฐบาลดังที่ผ่านมาอีก
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อ 8 มีนาคม 2495 ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ที่ลงพระปรมาภิไธยโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และไม่เคยถูกยกเลิก ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรเป็นสำคัญ
ในคำปรารภมีข้อความว่า “สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญสนองพระเดชพระคุณสำเร็จลงด้วย ดี จึ่งนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคำปรึกษาแนะนำด้วยความยินยอม พร้อมที่จะตราเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๙๕ ได้ และทรงพระราชวิจารณ์ถี่ถ้วนทั่วกระบวนความแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรพระราชทาน พระบรมราชานุมัติ” (โปรดดู [Online]เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวใน เวปไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา www.krisdika.go.th [11 มกราคม 2553])
ดังนั้นจากรายงานทางการทูตหลายชิ้นชี้ว่าพระองค์ทรงไม่พอพระราชหฤทัยรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่อย่างมากนั้นอาจมาจากสาเหตุที่ทรงไม่สามารถใช้การลงพระปรมาภิไธย เป็นเรื่องมือในการควบคุมทิศทางในการร่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ได้
ด้วย เหตุที่สาระที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495 นั้น สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า ก่อนการประกาศใช้และงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพียงหนึ่งวัน ราชสำนักได้แจ้งกับรัฐบาลว่า พระองค์ไม่เห็นด้วยกับฤกษ์ยามในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และทรงมีพระราชประสงค์ไม่เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองตามหมายกำหนดการ สถานทูตสหรัฐฯ เห็นว่า ทรงต้องการใช้การประวิงเวลาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อการต่อรองใหม่ แต่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารได้ตัดสินใจยืนยันการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 8 มีนาคมต่อไป
ทั้งนี้ในเวลาบ่ายของ 7 มีนาคม เมื่อรัฐบาลทราบถึงการไม่เสด็จเข้าร่วมงาน รัฐบาลได้ส่งผู้แทนเดินทางไปวังไกลกังวล หัวหิน เพื่อทูลเชิญพระองค์ทรงมาร่วมงานประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามหมายกำหนดการของ พระองค์ที่รัฐบาลกำหนดซึ่งพระองค์ก็ทรงยินยอมทำตาม ( NARA , RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185 , Memorandum of Conversation ; Nai Sang Pathanotai, N.B. Hannah , 8 March 1951.)
คณะผู้แทนดัง กล่าวมี พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ,จอมพลเรือยุทธศาสตร์โกศล ฟื้น ผู้บัญชาการทหารอากาศ น.อ.ทวี จุลทรัพย์; (NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bangkok to Secretary of State, ”Monthly Political Report for March 1952,” 21 April 1952 )
สถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า การที่พระองค์ทรงปฏิเสธการเข้าร่วมงานตามหมายกำหนดการนั้นประสบความล้มเหลว ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bangkok to Secretary of State,”Monthly Political Report for March 1952,” 21 April 1952. )
ในสายตาของพระองค์เจ้าธานีฯ ประธานองคมนตรี ทรงเห็นว่า เหตุการณ์นี้เป็นการประลองกำลังระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล แม้ต่อมาจะทรงผ่อนตามความต้องการของรัฐบาลก็ตาม แต่พระองค์เจ้าธานีฯทรงเห็นว่าการโอนอ่อนผ่อนตามของพระมหากษัตริย์เป็นสิ่ง ที่ถูกต้อง เนื่องจากเวลาที่สมควรในการแตกหักกับคณะรัฐประหารยังไม่มาถึง ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”King, Constitution, Phibun and Coup Group,” 7 March 1951.; NA, FO 371/101166, Whittington to Foreign Office, 10 March 1952. )
แม้ขณะนั้น สหรัฐฯ จะไม่มีปฏิกริยาอันใดต่อการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในปลายปี 2494 แต่ภายหลังการรัฐประหาร รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พยายามให้ความสำคัญกับนโยบายการต่อต้านคอมมิวนิสต์มากขึ้นเพื่อสร้างความ ไว้วางใจจากสหรัฐฯ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000600200001-4, 19 December 1951, “1947 coup group gains complete dominance of government”; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bangkok to Secretary of State,” Monthly Political Report for March 1952,” 21 April 1952. )
สถานทูตอังกฤษ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ภายหลังที่รัฐบาล จอมพล ป. สามารถปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ทั้ง “กลุ่มปรีดี” “กลุ่มรอยัลลิสต์” และกองทัพเรือลงได้ก็ตาม แต่การปราบปรามดังกล่าวกลับทำให้เขาต้องพึงพิงอำนาจจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ที่ควบคุมการสั่งการกองทัพ และตำรวจมากยิ่งขึ้น ( Tarling, Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, p. 206 )
การแข่งขันและสร้างพันธมิตรทางการเมืองของกลุ่มตำรวจ และกลุ่มทหาร
อาจกล่าว ได้ว่าแม้การรัฐประหาร 2494 จะเป็นการทำลายฐานอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ท้าทายอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มลงก็ตาม แต่ความขัดแย้งภายในกลุ่มระหว่างค่ายราชครูที่มี จอมพลผิน ชุณหะวัณ และพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นแกนนำ และค่ายสี่เสาเทเวศน์ที่มี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำมีความเข้มข้นขึ้น ซีไอเอรายงานว่า จอมพลสฤษดิ์ ได้พยายามแสวงหาการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A000700010001-4 , 2 January 1952, “Split in ruling clique presages early Coup”; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T00975A000500340001-8, 23 January 1952, “Reports of Political unrest in Thailand continue”. )
ในขณะที่ พล ต.อ.เผ่า ในฐานะทายาททางการเมืองคนสำคัญได้พยายามขยายฐานอำนาจทางการเมืองของเขาออกไป ด้วยการพยายามเป็นมิตร และแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับ “กลุ่มปรีดี” ผ่านเตียง ศิริขันธ์ โดย พล ต.อ.เผ่า ให้การสนับสนุนกลุ่มของเตียงในการเลือกตั้งในปี 2495 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานกลุ่มของเตียงมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น จากนั้น รัฐบาลสนับสนุนให้ เตียง เข้าไปมีบทบาทในการจัดสรรงบประมาณให้กับภาคอีสาน อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างเตียง และพล ต.อ.เผ่านั้นยังคงวางอยู่บนความไม่วางใจกันและกัน ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Tiang Sirikhan and Robert Anderson, ”Internal Political Situation ,” 31 March 1952. )
ในรายงานฉบับนี้ให้ข้อมูลว่า สมาชิกสภาผู้แทนฯ ในกลุ่มของ เตียง ศิริขันธ์ ได้รับการเลือกตั้งถึง 25 คนมากเป็น 2 เท่านับแต่การรัฐประหาร 2490 เนื่องจาก พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ โดยเตียงได้แจ้งว่าแม้ พล ต.อ.เผ่า จะรู้ดีเสมอว่า เขาสนับสนุน ปรีดี พนมยงค์ แต่ พล ต.อ.เผ่า จำต้องเป็นพันธมิตรกับเขาเพื่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่จะสนับสนุนรัฐบาลให้มีความมั่นคง โดยเตียงให้เหตุผลถึงการที่เขาร่วมงานกับรัฐบาล เพราะเขารู้ดีว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้จนกว่าดุลอำนาจจะเปลี่ยนไป
หลัง การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495 แล้ว ทำให้คณะรัฐมนตรีชุดเก่าต้องพ้นจากตำแหน่ง นำไปสู่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง จอมพลผิน ชุณหะวัณ ในฐานะแกนนำของค่ายราชครูได้รับการผลักดันจาก พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กลับให้การสนับสนุน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แกนนำคนสำคัญของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขึ้นเป็นายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าแข่งขัน สะท้อนให้เห็นว่าดุลอำนาจภายคณะรัฐประหารยังมิได้ตกเป็นของค่ายราชครูเสีย ทั้งหมด ทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมิอาจตกเป็นของ จอมพลผิน ได้ เนื่องจาก แกนนำบางคน เช่น จอมพลสฤษดิ์ และ พล ท.บัญญัติ เทพหัสดินทร์ฯ ไม่ต้องการให้ค่ายราชครูมีอำนาจทางการเมืองมากกว่านี้ สุดท้ายแล้ว ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงตกกลับไปสู่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกครั้ง ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T00975A000600110001-2, 7 March 1952, “Political showdown in Thailand reportedly imminent ”; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bangkok to Secretary of State, ”Monthly Political Report for March 1952,” 21 April 1952. )
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. หลังการรัฐประหาร 2494 นั้น เขามีอำนาจทางการเมืองลดลง โดยอำนาจของเขาวางอยู่บนความสามารถในการถ่วงดุลอำนาจภายในคณะรัฐประหาร
ช่วงเวลาดังกล่าว พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ไม่แต่เพียงพยายามผลักดันให้ตนเองก้าวขึ้นไปมีบทบาททางการเมืองภายในอย่าง โดดเด่นด้วยการเป็นมิตรกับ “กลุ่มปรีดี” ผ่านเตียง ศิริขันธ์ เท่านั้น แต่เขายังได้พยายามเข้าไปมีอิทธิพลในกองทัพอีกครั้ง หลังจากที่เขาได้หันมาทำหน้าที่ตำรวจเป็นเวลานาน (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A001200230001-4, 10 September 1952, “General Phao reportedly negotiating with former Thai army leaders”. )
พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์พยายามเจรจากับอดีตนายทหารที่เกี่ยวข้องกับ “กบฎเสนาธิการ” โดยเขาสัญญาว่าจะผลักดันให้อดีตนายทหารกลับเข้าสู่ราชการอีกครั้ง แต่นายทหารหนึ่งในนั้นปฏิเสธ ส่วนอีกคนหนึ่งต้องการกลับเข้ารับราชการเมื่อได้รับการนิรโทษกรรม
อีก ทั้งเขายังได้พยายามขยายเครือข่ายอำนาจทางการเมืองออกไปนอกประเทศ ด้วยการติดต่อกับกลุ่มฝ่ายซ้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การอนุญาตให้ ซัน หงอก ทัน ผู้นำฝ่ายซ้ายในกัมพูชาเข้ามาในไทย และร่วมมือกับอารีย์ ลีวีระ บุคคลที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้การขยายเครือข่ายไปยังกลุ่มการเมืองต่างๆ ของเขาเป็นการสร้างฐานอำนาจที่มั่นคงที่ยากแก่การโค่นล้มในอนาคต ( NA, FO 371/101168, Chancery to Foreign Office, 21 July 1952 )
ไม่แต่เพียง พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เท่านั้นที่พยายามเป็นมิตรกับเตียง ศิริขันธ์ แต่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็มีความพยายามเช่นเดียวกัน นอกจากที่จอมพลสฤษดิ์จะพยายามสร้างพันธมิตรกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แล้วเขายังพยายามผูกมิตรกับสมาชิกสภาผู้แทนภาคอีสานกลุ่มของเตียงด้วยการ ประกาศแก้ไขปัญหาของภาคอีสาน และเรียกร้องให้เตียงช่วยเหลือเขาในทางการเมือง จนนำไปสู่การประชุมระหว่างจอมพลสฤษดิ์ และเตียง 2 ครั้ง อย่างไรก็ตามในทางเปิดเผยนั้น เตียง ปฏิเสธความช่วยเหลือจอมพลสฤษดิ์ เนื่องจากเขาร่วมมือกับ พล ต.อ.เผ่า แล้ว แต่ในทางลับนั้นเขาได้ส่งพวกของเขาไปช่วย จอมพลสฤษดิ์ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Tiang Sirikhan and Robert Anderson, ” Internal Political Situation,” 9 October 1952.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Bangkok to Secretary of State, ”Monthly Political Report for August-September 1952 ,” 27 October 1952. )
ในที่สุดพันธมิตรทางการเมืองระหว่างเตียง และพล ต.อ.เผ่า ก็หักสะบั้นลง โดยเตียงหันมาสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์ เพื่อในการท้าทายอำนาจค่ายราชครูอย่างเต็มที่ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Tiang Sirikhan and Robert Anderson, ”Internal Political Situation,” 9 October 1952. )
การปราบปรามขบวนการต่อต้านสหรัฐฯ และรัฐบาล จอมพล ป.
ตั้งแต่สงครามเกาหลีเริ่มต้นขึ้น และรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งทหารเข้าร่วมในสงครามดังกล่าวนั้น ปัญญาชนฝ่ายซ้ายหลายกลุ่มได้เคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเกาหลี สหรัฐฯ และรัฐบาลภายใต้ชื่อว่า “ขบวนการสันติภาพ” และ “ขบวนการกู้ชาติ” ( โปรดดู ความเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์และกลุ่มฝ่ายซ้ายในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่ม เติมใน Somsak , “The Communist Movement in Thailand”. )
แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับมิได้ถูกปราบปรามจากรัฐบาล จอมพล ป. ทำให้ สหรัฐฯ เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจต่อความมุ่งมั่นในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของไทย เนื่องจาก สหรัฐฯ ได้รับรายงานเสมอๆ ว่า พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีการติดต่อลับๆกับ “กลุ่มปรีดี” ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A001300150001-2, 13 August 1952, “Phao denies Thai police knew of departure of Peiping delegates”.)
ฮัน นาห์ เลขานุการโทประจำสถานทูตสหรัฐฯ ( นอร์แมน ฮันนาห์ ทำงานให้กับซีไอเอ มีบทบาทในการสนับสนุนให้ตำรวจจับภริยา และบุตรชายของเขาในกรณี “กบฎสันติภาพ” ในปี 2495 (ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 108-109).
พูนศุข พนมยงค์ ภริยาของปรีดี ได้บันทึกว่า ในระหว่างที่เธอจับกุมถูกคุมขังที่สันติบาลเธอได้เคยเห็น พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ต้อนรับชาวอเมริกัน 2 คน ในยามดึก คนแรกเป็นชาวอเมริกันที่เคยเป็นอดีตโอเอสเอสที่เข้ามาไทยหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 คนที่สองคือ ฮันนาห์ เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯที่ทำหน้าที่การข่าว ซึ่งเคยเป็นกงสุลสหรัฐฯผู้เคยขีดฆ่าวีซ่าปรีดีที่เซี่ยงไฮ้ (พูนศุข พนมยงค์, 101 ปรีดี-90 พูนศุข, [กรุงเทพฯ: ลลิตา สุดา สุปรีดา ดุษฎี วาณี พนมยงค์, 2545], หน้า 125).
ได้พบ พล ต.อ.เผ่าในเดือนสิงหาคม 2495 เพื่อสอบถามถึงท่าทีของรัฐบาลไทยในการต่อต้าน “ขบวนการสันติภาพ” และ “ขบวนการกู้ชาติ ”ที่มีคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง เขาได้แจ้งกับ พล ต.อ.เผ่าว่า “ หากมีการคุกคามใดๆหรือการลุกฮือใดๆในไทย ตำรวจไทยจะทำอย่างไรกับภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้น” อีกทั้ง “ผู้มีอำนาจในวอชิงตัน ดี.ซี. คาดหวังว่าตำรวจจะสามารถรักษาเสถียร ภาพทางการเมืองภายในของไทยได้ “ พล ต.อ.เผ่า ได้ตอบเขาว่า ขบวนการสันติภาพเป็นเพียง“เสือกระดาษ” การรักษาเสถียรภาพการเมืองภายในของไทยเกิดขึ้นจาก “เพื่อนอเมริกันและไทยที่จะร่วมมือกันในการป้องกันภัยคุมคามนี้ ”
พล ต.อ.เผ่าได้กล่าวย้ำกับเขาว่า ขอให้รักษาการสนทนาลับสุดยอดนี้ไว้ นอกจากนี้ พล ต.อ.เผ่าได้บอกต่อไปว่า สิ่งสำคัญสำหรับนโยบายของ พล ต.อ.เผ่า คือ ความจริงใจระหว่างเขากับฮันนาห์ และสหรัฐฯ พล ต.อ.เผ่า ขอให้การสนทนานี้เป็นความลับสุดยอด ฮันนาห์ตอบเขาว่า ความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันนี้จะต่อเนื่องและขยายตัวต่อไป (NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4186, Memorandum of Conversation General Phao and Hannah, “Current Politics,” 16 August 1952. )
จากการที่ สหรัฐฯได้เริ่มสงสัยความเคลื่อนไหวของ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ติดต่อกับเตียง ศิริขันธ์ และสุรีย์ ทองวาณิชย์ ซึ่งเป็น “กลุ่มปรีดี” ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เริ่มเกิดความสงสัยต่อท่าทีของรัฐบาลไทยที่กำลังจะเปลี่ยนฝ่ายจากตะวันตกไป ตะวันออกอันจะมีผลต่อความช่วยเหลือทางการทหารที่สหรัฐฯ จะให้แก่ไทย ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2495 จอมพล ป. พิบูลสงครามสั่งให้ทูตทหารที่วอชิงตัน ดี.ซี.ไปชี้แจงให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไทย ( NA, FO 371/101168, Wallinger to Foreign Office, 27 November 1952.; Wallinger to Foreign Office, 28 November 1952.)
ในที่สุดต้นเดือนพฤศจิกายนนั้นเอง รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องแสดงความชัดเจนในการดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ ให้ประจักษ์แก่สหรัฐฯ นำไปสู่การแตกหักกับ “ขบวนการสันติภาพ” และ “ขบวนการกู้ชาติ” ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (Somsak, “The Communist Movement in Thailand,” pp. 335-340. )
ความ เคลื่อนไหวของทั้งสองขบวนการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มุ่งโจมตีสหรัฐฯ และรัฐบาล มีการออกใบปลิวที่โจมตีสหรัฐฯ เป็น “จักรรดินิยม” “นักบุญที่มือถือสากปากถือศีล โจมตีรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า “ทำตัวเป็นสมุนรับใช้จักรวรรดินิยมอเมริกา” “ทำตัวไปอยู่ใต้เบื้องบาทาของจักรวรรดินิยม” ต้อง การใช้ไทยเป็นฐานทัพในเอชีย และต้องการ “สูบ” ทรัพยากรธรรมชาติ และใช้ไทยเป็นฐานทำ “ทำสงครามประสาท” ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใบปลิวเหล่านี้ สถานทูตสหรัฐฯได้ส่งกลับไปยังวอชิงตัน ดี.ซี.(NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4189, “แถลงการณ์ขบวนการกู้ชาติ ฉบับที่ 7,” 24 มิถุนายน 2495).
จากนั้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน พล ต.อ.เผ่า ได้เสนอพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์เข้าสู่สภาและผ่าน 3 วาระรวดในวันเดียวอย่างไม่เคยมีมาก่อน
สแตน ตัน ทูตสหรัฐฯ เห็นว่า การจับกุมนายทหาร และปัญญาชน นักหนังสือพิมพ์ไทยฝ่ายซ้ายจำนวนมาก และการออกกฎหมายนี้เป็นการแสดงความจริงใจเป็นครั้งแรกของรัฐบาล จอมพล ป.ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ หลังจากที่รัฐบาลเข้าร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์กับสหรัฐฯ มานานหลายปี ( “Stanton to The Secretary of States, 14 November 1952,” in Foreign Relations of the United States 1952-1954 Vol.12,(Washington D.C.: Government Printing Office, 1987), p.657.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T00975A000900470001-0, 6 December 1952, “Thai Premier concerned over Communist activities”; หจช.บก.สูงสุด 1 / 668 กล่อง 24 เรื่อง พระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 (13-21 พฤศจิกายน 2495).
เช้า ฉบับ 13 พฤศจิกายน ลงการให้สัมภาณ์ของพล ต.อ.เผ่าว่า การจับกุมครั้งนี้ได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ และอังกฤษในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ต่อมาสแตนตัน ทูตสหรัฐฯได้นำคำให้สัมภาษณ์ของ พล ต.อ.เผ่าที่กล่าวว่า สหรัฐฯ อยู่เบื้องหลังการจับกุม “ขบวนการสันติภาพ” แจ้งให้จอมพล ป. ทราบ แต่จอมพล ป. ไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว เขากล่าวว่า คำให้สัมภาษณ์ของ พล ต.อ.เผ่า “ไม่เป็นการดี” ( “Stanton to The Secretary of States, 14 November 1952,” in Foreign Relations of the United States 1952-1954 Vol.12, p.656.; NA, FO 371/101168, Whittington to Foreign Office, 13 November 1952. )
ในขณะที่วิทยุปักกิ่งได้กล่าวโจมตีการจับกุม “ขบวนการสันติภาพ”ว่า การจับกุมครั้งนี้ได้รับคำสั่งจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ( หจช.(2) สร. 0201.89 / 10 การสนับสนุนสันติภาพของคอมมิวนิสต์( 23 พฤศจิกายน 2493 - 13 มีนาคม 2496) นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 29 พฤศจิกายน 2495. )
ภายหลังการจับกุมขบวนการต่อต้านสหรัฐฯ และรัฐบาลครั้งใหญ่แล้ว ในต้นปี 2496 สแตนตัน ทูตสหรัฐฯได้เรียกร้องให้ สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อไป เขารายงานว่า จอมพล ป. ไม่แต่เพียงมีท่าทางที่เป็นมิตร และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังสามารถถ่วงดุลอำนาจระหว่างกลุ่มทหารได้