วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

รวม พรบ. และ พรก.นิรโทษกรรม ในประเทศไทย ตั้งแต่ 2475 ถึง ปัจจุบัน

1. พรก.นิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน 2475

ตราพระบรมราชโองการ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมใรคราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเหล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า

การที่คณะราษฎรคณะหนึ่งซึ่งมีความปรารถนาอันแรงกล้าในอันที่จะแก้ไขขจัดความเสื่อมโทรมบางประการของรัฐบาลสบาม และชาติไทยให้หายไป แล้วจะพากันจรรโลงสยามรัฐและชาติไทยให้เจริญรุ่งเ้รืองวัฒนาถาวรเท่าเทียมกับชาติและประเทศอื่นต่อไป จึงพากันยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ด้วยความมุ่งหมายจะให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินขึ้นเป็นข้อใหญ่ แล้วร้องขอไปยังเราเพื่อให้เราดำรงคงเป็นกษัตริย์แห่งสยามรัฐต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินนั้น 

ทั้งนี้แม้ว่าการจะได้เป็นไปโดยขัดกับความพอพระทัยพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ และขัดใจสมาชิกในรัฐบาลบางคนก็ดี ไม่ว่าจะรุ่งเรื่องแล้วเท่าไรๆ ก็ไม่อาจจะก้าวล่วงการนี้เสียได้ ถึงกระนั้นก็พึ่งปรากฎ เป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของโลกที่การได้เป็นไปโดยราบรื่นปกติ มิได้รุนแรง

และแม้ว่าจะได้อัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบางคนมาประทับและไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมก็เพียงเพื่อประกันภัยของคณะ และเพื่อให้การดำเนินลุล่วงไปได้เท่านั้น หาได้กระทำการประทุษร้ายหรือหยาบคายอย่างใดๆ และไม่มุ่งหมายจะกระทำเช่นนั้นด้วย ได้แต่บำรุงรับไว้ด้วยดี สมควรแก่พระเกียรติยศทุกประการ

อันที่จริงการปกครองด้วยวิธีมีพระธรรมนูญการปกครองนี้เราก็ได้ดำริิอยู่ก่อนแล้ว ที่ราษฎรคณะนี้กระทำมาเป็นการถูกต้องตามนิยมของเราด้วย และด้วยเจตนาดีต่อประเทศชาติ อาณาประชาชนแท้ๆ จะหาการกระทำหรือแต่เพียงเจตนาชั่วร้ายแม้แต่น้อยก็มิได้

เหตุนี้จึงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดนี้ไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้ ให้เรียกว่า "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช 2475"

มาตรา 2 ให้ใช้พระราชกำหนดนี้ตั้งแต่ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัวได้ทรงลงพระบรมนามาภิไธยเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้นไม่ว่าของบุคคลใดๆ ในคณะราษฎรนี้ หากว่าจะเป็นการละเมิดกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย

ประกาศ ณ. วันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 

ประชาธิปก ปร.


2.พรบ. นิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2476

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิด สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2476"

มาตรา 2 ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2476/-/389/25 มิถุนายน 2476]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นเหล่านั้น ไม่ว่าของบุคคลใดๆ คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนนี้ หากว่าจักเป็นการละเมิดบทกฎหมายใดๆ ก็ดี ห้ามมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายเลย ประกาศมา ณ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี

3. พรบ.อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ.2488

พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ.2488

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและ จลาจล พุทธศักราช 2488"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2488/42/479/7 สิงหาคม 2488]

มาตรา 3 ให้อนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พุทธศักราช 2488

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี

4. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ.2489

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของ ญี่ปุ่น พุทธศักราช 2489"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2489/25/237/30 เมษายน 2489]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับการกระทำอันเป็นการต่อ ต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น หรือการดำเนินงานเพื่อการนั้นให้ผู้กระทำเป็นอันพ้นจากความผิดทั้งสิ้น

มาตรา 4 ถ้าผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 ต้องคุมขังอยู่ในเรือนจำ ให้ผู้นั้นยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการดังกล่าวใน มาตรา 7 เพื่อให้พิจารณาปล่อยตัวไป

มาตรา 5 บุคคลที่ได้พ้นโทษไปก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ ถ้าโทษนั้นเป็นโทษในความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ให้มี สิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการดังกล่าวในมาตรา 7 พิจารณามีคำสั่งแสดงว่าเป็นผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ได้

มาตรา 6 เมื่อบุคคลที่คณะกรรมการได้มีคำสั่งแสดงว่าเป็นผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามความ ใน มาตรา 5 หรือ ที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ปล่อยตัวตามความในมาตรา 7 ได้ร้องขอก็ให้คณะกรรมการออกหนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรม ตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 7 ให้มีกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีศาลอาญา อธิบดีกรมอัยการ และเจ้ากรมพระธรรมนูญเป็นกรรมการ มีหน้าที่ดังกล่าวในมาตรา 4 ในมาตรา 5 และในมาตรา 6

ในการพิจารณาคำร้องขอของบุคคลผู้ต้องคุมขังตามความในมาตรา 4 เมื่อคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมตามความในพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้คณะกรรมการมีคำสั่งไปยังผู้บัญชาการเรือนจำให้ปล่อยตัวไปโดยมิชักช้า

มาตรา 8 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลให้มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือ สิ่งใดๆที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐาน และสั่งให้บุคคลสาบานหรือปฏิญานก่อนให้ถ้อยคำได้

มาตรา 9 ในการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ให้ถือว่ากรรมการตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเจ้าพนักงานตามความหมายของกฎหมายลักษณะอาญา

มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุตติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี

5. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ.2490

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2490/62/741/23 ธันวาคม 2490]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้ เนื่องในการกระทำรัฐประหารเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธ ศักราช 2489 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หากเป็นการผิดกฎหมายใดๆ ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และการใดๆ ที่ได้กระทำตลอดจนบรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการ กระทำรัฐประหารที่กล่าวแล้วให้ถือว่าเป็นอันชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี

6. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2494/81/25พ/31 ธันวาคม 2494]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้เนื่องในการกระทำเพื่อเลิกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยพุทธศักราช 2492 และนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศพุทธ ศักราช 2482 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 กลับมาใช้นั้น หากเป็นการผิดกฎหมายใดๆก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และการใดๆ ที่ได้กระทำตลอดจน บรรดาประกาศและคำสั่งใดๆ ที่ได้ออกสืบเนื่องในการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายทุก ประการ

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

7. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2500/81/1พ/26 กันบยายน 2500]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้ถูกใช้ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งนี้ไม่ว่ากระทำอย่างไร และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และบรรดาประกาศหรือคำสั่งไม่ว่าจะเป็นในรูปใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายและใช้บังคับได้โดยถูกต้องทุกประการ

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือโดยที่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 ได้กระทำไปโดยปรารถนาที่จะขจัดความเสื่อมโทรมในการบริหารราชการและการใช้ อำนาจอันไม่เป็นธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนและหวาดกลัวแก่ประชาชนโดยทั่วไป และได้กระทำโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนอย่างใด จึงเป็นการสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่บุคคลผู้กระทำการยึดอำนาจในครั้ง นี้

8. พรบ. นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2500 เป็นต้นไป
[รก.2500/11/283/29 มกราคม 2500]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 หากเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญาฐานกบฏภายในราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร ฐานก่อการจลาจล หรือตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าวแล้ว ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง

ความในมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้กระทำความผิดฐานกบฏ ฐานก่อการจลาจล หรือความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ตัวมาเพื่อดำเนินคดีก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2499

มาตรา 4 บรรดาการกระทำของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกบฏ การก่อจลาจล หรือการกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นซึ่งเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิด ดังกล่าว หรือการพยายาม หรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว หากเป็นความผิดตามกฎหมายใดๆ ก็ให้การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำ พิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 5 ความผิดตามกฎหมายใดจะถือว่าเป็นความผิดทำนองเดียวกันกับความผิดฐานกบฏภายใน ราชอาณาจักร ฐานกบฏภายนอกราชอาณาจักร หรือฐานก่อการจลาจลตาม มาตรา 3 หรือ มาตรา 4 ให้เป็นไปตามค วินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

มาตรา 6 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ ผู้พิพากษาศาลแห่งท้องที่หนึ่งนาย อัยการแห่งท้องที่หนึ่งนาย เป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมซึ่งถูกศาลพิพากษา ลงโทษคดีถึงที่สุดแล้วและยังมิได้พ้นโทษไป หรือคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และส่งรายชื่อต่อศาลหรืออัยการแห่งท้องที่เพื่อศาล หรืออัยการแห่งท้องที่นั้นออกหมายสั่งปล่อยหรือถอนฟ้อง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นต้นไป

ในกรณีที่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมถูกลงโทษหรือถูกฟ้องความผิดฐาน อื่นซึ่งไม่ได้รับนิรโทษกรรมรวมอยู่ในคดีเดียวกันกับความผิดที่ได้รับนิรโทษ กรรมด้วยให้ศาลหรืออัยการออกหมายสั่งปล่อยหรือถอนฟ้องเฉพาะความผิด ที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วแต่กรณี

ในกรณีที่อัยการขอถอนฟ้องตามความในมาตรานี้ ให้ศาลสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ถ้าการตั้งกรรมการบางนายดังกล่าวในวรรคแรกจะ ไม่สะดวกในการปฏิบัติ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตามที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนได้

มาตรา 7 ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ที่ถูกพิพากษาลงโทษโดยศาลทหารหรือผู้ถูกฟ้องในศาลทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็น สมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมซึ่งถูกศาลทหารพิพากษาลงโทษคดี ถึงที่สุดแล้ว และยังมิได้พ้นโทษไป หรือคดียังอยู่ในระหว่างการ พิจารณาของศาลทหารและส่งรายชื่อต่อทหาร หรืออัยการทหารเจ้าหน้าที่ เพื่อศาลทหาร หรืออัยการทหารเจ้าหน้าที่สั่งปล่อยหรือถอนฟ้องแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ให้ปล่อยตัวไปตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้ บังคับเป็นต้นไป ให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของ มาตรา 6 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 8 ผู้ซึ่งจะได้รับนิรโทษกรรมผู้ใดยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ระงับการสอบสวนฟ้องร้องผู้นั้นตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็น ต้นไป
ในกรณีที่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมต้องหาว่ากระทำความผิดฐานอื่นซึ่งไม่ได้รับ นิรโทษกรรมรวมอยู่ในคดีเดียว กันกับความผิดที่ได้รับนิรโทษกรรมด้วย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระงับการสอบสวนฟ้องร้องเฉพาะความผิดที่ได้รับ นิรโทษกรรม

มาตรา 9 บุคคลผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ใดถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน หรือ ถูกถอดจากยศหรือบรรดาศักดิ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอันได้รับนิรโทษกรรมนั้น ถ้าประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศหรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์ไปยังสำนักคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการขอพระราช ทานคืนให้ต่อไป

มาตรา 10 บุคคลที่ได้ระบุไว้ใน มาตรา 9 ถ้าเป็นบุคคลที่เคยได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญมาแล้ว ก็ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามเดิม ถ้าบุคคลดังกล่าวเคยเป็นข้าราชการมาก่อน และยังไม่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ ก็ให้ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญเพราะเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญที่ใช้อยู่ใน ขณะที่ออกจากราชการนั้น

การให้เบี้ยหวัดบำเหน็จหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ผูกพันรัฐบาลที่ จะต้องจ่ายเงินเพิ่มหรือให้สิทธิใดๆ เท่าเทียมกับข้าราชการที่ออกจากราชการโดยมิได้กระทำผิดหรือถูกลงโทษ ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยหวัด บำเหน็จหรือบำนาญ ตามพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าคำวินิจฉัยของกระทรวง การคลังเป็นเด็ดขาด

มาตรา 11 สิทธิในการรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญตาม มาตรา 10 ให้เกิดตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้เบิกจ่ายย้อนนับแต่วันที่กล่าวแล้วนี้ได้แต่ต้องยื่นคำร้องขอรับเบี้ย หวัด บำเหน็จ หรือบำนาญภายในกำหนด หนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 12 ให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมา ครบ 25 ศตวรรษ ทางราชการจะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ การให้อภัยทานถือว่าเป็นกุศลอย่างหนึ่ง นอกจากรัฐบาลจะได้ดำเนินการเพื่อให้มีการให้อภัยโทษแก่นักโทษทั้งหลายทั่ว ราชอาณาจักรโดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเป็นการให้อภัยทานในโอกาสนี้แล้ว รัฐบาลเห็นว่าความผิดฐานกบฏจลาจลนั้น เป็นความผิดที่มุ่งร้ายต่อรัฐบาลหรือเกี่ยวกับการปกครองของรัฐบาล จึงน่าจะให้อภัยแก่ผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นการระงับเวรด้วยการไม่จองเวรตามพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย ให้นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐาน กบฏหรือจลาจล เฉพาะผู้ที่ได้ตัวมาดำเนินคดีหรือผู้กระทำผิดอันเกี่ยวเนื่องจากการกระทำ ป้องกัน ระงับหรือปราบ ปรามกบฏหรือจลาจล หรือการพยายามหรือการตระเตรียมกระทำการดังกล่าว และให้ได้รับสิทธิบางประการที่สูญ เสียไป เพื่อให้ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในครั้งนี้ได้ระลึกถึงพระรัตนตรัย และปฏิบัติตนอยู่ในหลักพระธรรมซึ่งจะเป็น ผลดีแก่ตนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม ในการนี้จำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ขึ้นใช้บังคับต่อไป

9. พรบ. นิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2502

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2502"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2502/114/640/15 ธันวาคม 2502]

มาตรา 3 [ให้ยกเลิกความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ ] พ.ศ. 2499 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

มาตรา 9 บุคคลผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าผู้ใดถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์คืน หรือถูกถอดจากยศหรือบรรดาศักดิ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอันได้รับนิรโทษกรรมนั้น ประสงค์จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศหรือบรรดาศักดิ์คืนตามที่ ได้รับอยู่เดิม ก็ให้ผู้นั้นแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502 เพื่อดำเนินการขอพระราชทานคืนให้ต่อไป

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ส. ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือเนื่องจากพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ.2499 มิได้กำหนดเวลาสิ้นสุดการยื่นความประสงค์ขอรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ยศ หรือบรรดาศักดิ์คืน สำหรับผู้ได้รับนิรโทษกรรมไว้ทำให้ยุ่งยากแก่การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ใน การขอพระราชทานคืนให้ จึงสมควรกำหนดเวลาสิ้นสุดการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ยศ หรือบรรดาศักดิ์เสียภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2502

10. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501- พ.ศ.2502

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 - พ.ศ. 2502

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2502/41/1พ/3 เมษายน 2502]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 ก็ดี ในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันก็ดี การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะปฏิวัติอันได้กระทำไปเพื่อความสงบ สุขของประชาชน ซึ่งรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ว่าจะกระทำอย่างไร ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และบรรดาประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติไม่ว่าจะเป็นรูปใด และไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้ มีผลบังคับในทางบริหารราชการหรือในทางนิติบัญญัติให้ถือว่าเป็นประกาศหรือคำ สั่งที่ชอบและใช้บังคับได้สืบไป

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ถ.กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือโดยที่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะให้ประเทศไทยได้มีรัฐธรรมนูญการปกครองราช อาณาจักรที่เหมาะสม และยังให้การปกครองเป็นไปในระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์และเรียบร้อยยิ่งขึ้น กับทั้งปรารถนาที่จะกำจัดการกระทำอันเป็นกลวิธีของคอมมิวนิสต์เพื่อยึดครอง ประเทศไทยซึ่งเป็นภัยอันร้ายยิ่ง และเพื่อปฏิวัติกิจการที่ไม่เหมาะสมเสียใหม่ให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชน ชาวไทยและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงเป็นการสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติในครั้งนี้

11. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 - พ.ศ. 2515"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2515/198/234/26 ธันวาคม 2515]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้ บังคับ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการปฏิวัติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 ก็ดี ในกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันก็ดี การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือของผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะปฏิวัติอัน ได้กระทำไปเพื่อความมั่นคงของประเทศและราชบัลลังก์ และเพื่อความสงบสุขของประชาชนซึ่งรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการ บริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ว่ากระทำอย่างใด ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่ กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้นหากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดอำนาจปกครองประเทศและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะปฏิวัติได้กระทำเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 นั้น คณะปฏิวัติได้ กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และ ประชาชน และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจิตใจของประชาชนเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทยและความเจริญ รุ่งเรืองของประเทศทั้งได้กระทำไปโดยมิ ได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตนหรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติในครั้งนี้

12. พรบ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2516"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2516/145/1พ/16 พฤศจิกายน 2516]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมพ.ศ.2516 และได้กระทำในระหว่าง วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2516 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ได้มีการกระทำที่เป็นความผิดและเป็นอันตรายต่อชีวิต และร่างกายของบุคคล และความเสียหายแก่ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน และความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐบาลนั้น เมื่อได้กระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนการกระทำของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน มิได้รับการคุ้มครองดังกล่าว แต่เมื่อได้คำนึงถึงว่าการกระทำนั้นได้กระทำไปโดยปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์เป็นประมุขให้รวดเร็วยิ่งขึ้น สมควรให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่ง เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

13. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครอง ประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2519/156/42พ/24 ธันวาคม 2519]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมพ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์ และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน หรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้น รวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดย สิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดอำนาจการปกครองประเทศ และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศ ชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน และกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมแก่สภาพของประเทศ พื้นฐานทางเศรษฐกิจ และจิตใจของประชาชนเพื่อให้บังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศใน ครั้งนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

14. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของ รัฐภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2520/121/1พ/3 สิงหาคม 2520]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรซึ่งได้ กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 และบรรดาการกระทำอันเป็นความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน หรือเนื่องจากการกระทำอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรใน ระหว่างวันดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมถึงการกระทำอันเป็นความผิดต่อชีวิตให้ถือว่าการกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และให้ผู้กระทำความผิดซึ่งถูกลงโทษในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดต่อเจ้าพนักงานและความผิดฐานบุกรุก ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ที่ 2/2520 ลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2520 และตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 4/2520 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2520 ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับโทษตามคำสั่งดังกล่าวอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้ บังคับหรือไม่ก็ตาม พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงในวันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ
ความในวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงการริบของกลางที่ได้กระทำไปแล้วตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 4/2520 ลงวันที่ 10 พฤษภาคมพ.ศ. 2520

มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระชนมพรรษาเจริญวัฒนามา ครบ 50 พรรษาบริบูรณ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2520 ซึ่งนับเป็น อภิลักขิตสมัยที่สำคัญ และประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรความสามัคคีของ ชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักร และความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดดังกล่าว ซึ่งได้กระทำระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2520 เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมกันทำ คุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

15. พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวัน ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 ภูมิพล อดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2520

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2520/121/5พ/3 ธันวาคม 2520]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร และเพื่อความผาสุกของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิวัติ หรือหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิวัติ หรือหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิวัติหรือหัวหน้า คณะปฏิวัติ อันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้น รวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทาง นิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะปฏิวัติได้กระทำเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ 2520 นั้น คณะปฏิวัติได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะให้การบริหารประเทศเป็นไปโดยมี ประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ทันท่วงที เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย และฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งภายในและภาย นอกราชอาณาจักร และบังเกิดความผาสุกแก่ประชาชนชาวไทย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินใน ครั้งนี้จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

16. พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 - พ.ศ. 2521

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 - พ.ศ. 2521"

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
[รก.2521/97/1พ/16 กันยายน 2521]

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำ ที่ 253 ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ ( ใช้กฎ 6 ต.ค. 19 ) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา

บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี

*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้น ก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษา และการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความ เยาว์วัย และการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีใน ระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิด ทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่ และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควร และกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์ และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

17. พรก.นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524


มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524"


มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

[รก.2524/69/1พ/5 พฤษภาคม 2524]


มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิด และความรับผิด และถ้าผู้กระทำดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในระหว่างการสอบสวน ให้ปล่อยตัวไปในวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ


[ มาตรา 3 วรรคสอง ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อ ความไม่สงบฯ พ.ศ.2524]


มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชกำหนดนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมใน อันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ใดจะอ้างพระราชกำหนดนี้เพื่อให้ตนพ้นจากการถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกดำเนินการเพื่อลงโทษทางวินัยอันเนื่องมาจากการกระทำที่ได้รับนิรโทษ กรรมตามมาตรา 3 มิได้


มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกำหนดนี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ป. ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี



*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ ตามที่ได้มีผู้ก่อความไม่สงบขึ้น เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินในระหว่างวันที่ 31 มีนาคม จนถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 โดยใช้กำลังอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง อันเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ในการดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้ความระวังมิให้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของราษฎร และทรัพย์สินของทางราชการและ เกิดความไม่สงบ วางอาวุธและกลับคืนสู่หน่วยที่ตั้งตามปกติของตนภายในระยะเวลาที่กำหนด แล้วรัฐบาลจะไม่เอาความผิดซึ่งปรากฏว่าผู้ก่อความไม่สงบได้เชื่อฟังและ ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลด้วยดี มิได้มีการต่อต้าน หรือขัดขืน หรือใช้กำลังอาวุธให้ต้องเสียเลือดเนื้อแต่ประการใด ทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันรวดเร็ว

เมื่อเหตุการณ์สงบลงแล้วรัฐบาลได้ดำเนินการสอบสวนเพื่อทราบถึงพฤติการณ์แห่ง การกระทำของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยประกาศให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไปรายงานตัวต่อกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้ชี้แจงถึงการกระทำของตน ในขณะเดียวกันเนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางกฎหมาย การดำเนินการสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด จึงต้องกระทำไปตามกระบวนการแห่งกฎหมายควบคู่ไปด้วย

บัด นี้จากผลแห่งการสอบสวนเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ก่อความไม่สงบส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามประกาศของรัฐบาลโดยครบถ้วน เป็นการสมควรที่จะนิรโทษกรรมการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบเหล่านั้นให้ตามที่ รัฐบาลได้ประกาศไว้ และเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศที่มีศัตรูของประเทศชาติและ ประชาชน อยู่รอบด้านทั้งภายนอกและภายในราชอาณาจักร ความสามัคคีของชนในชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น และรีบด่วนที่จะต้องสร้างสรรให้มีขึ้นให้จงได้ การดำเนินการทางคดีต่อไปมีแต่จะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนยิ่งขึ้น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะทำให้กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศในที่สุด ฉะนั้นเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประเทศและกรณีเป็นเรื่องฉุก เฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ที่ไม่อาจปล่อยให้เนิ่นช้าได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้



บทเฉพาะกาล

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524


*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ตือ ตามที่ได้มีการตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจ การปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2524 โดยยกเว้นบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของรัฐบาล และรัฐสภาได้อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวไปแล้วนั้น เพื่อให้เกิดความสามัคคีของชนในชาติยิ่งขึ้น และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของรัฐสภาที่ได้เสนอแนะไว้ในคราว พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว เป็นการสมควรนิรโทษกรรมแก่การกระทำของบุคคลที่มิได้รับผลจากพระราชกำหนดดัง กล่าวให้เสร็จสิ้นไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

[รก.2524/92/1พ/12 มิถุนายน 2524]


18. พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครอง แผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531"


มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

[รก.2531/156/1พ/27 กันยายน 2531]


มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิด และความรับผิด และถ้าผู้กระทำดังกล่าวถูกควบคุมตัวอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีให้ปล่อยตัวไป โดยเร็ว


มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้ตนพ้นจากการถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกดำเนินการเพื่อลงโทษทางวินัยอันเนื่องมาจากการกระทำที่ได้รับนิรโทษ กรรมตามมาตรา 3 มิได้


มาตรา 5 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี


*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในมหามงคลสมัยที่ ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ปรากฏในประวัติ ศาสตร์ในวันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2531 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบาย และเจตจำนงค์ที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่าง วันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณ และให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

19. พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของ รัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็น คอมมิวนิสต์ พ.ศ.2532"


มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

[รก.2532/142/4พ/30 สิงหาคม 2532]


มาตรา 3 บรรดาการกระทำของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2531 หากการกระทำนั้นเป็นความผิดดังต่อไปนี้

(1) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา

(2) ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

(3) ความผิดฐานอื่นที่เป็นกรรมเดียวกับความผิดตาม (1) หรือ (2) ทั้งนี้ เฉพาะที่มิใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง


มาตรา 4 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม ในอันที่จะเรียกร้องสิทธิ หรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และผู้ใดจะอ้างพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้ตนพ้นจากการถูกลงโทษทางวินัย หรือถูกดำเนินการเพื่อลงโทษทางวินัย อันเนื่องจากการกระทำที่ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 มิได้


มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ ส่วนราชการที่จะเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้ได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3


มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี



*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในมหามงคลสมัยที่ ทรงปกครองแผ่นดินยาวนานกว่าพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ปรากฏในประวัติ ศาสตร์ ในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายและเจตจำนงที่จะผนึกกำลังสร้างสรรค์ความสามัคคีของ ชนในชาติ สมควรนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราช อาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งนอกจากการนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ ก่อความไม่สงบ เพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2531 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแผ่พระมหากรุณาธิคุณและให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นได้ร่วมทำคุณ ประโยชน์และช่วยจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้


20. พรบ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534"


มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

[รก.2534/79/1พ/3 พฤษภาคม 2534]


มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะรักษาความสงบเรียบ ร้อยแห่งชาติ หรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ อันได้กระทำไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น รวมถึงการลงโทษ และการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้น หรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง


มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี


*หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 นั้น คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้กระทำไปด้วยความปรารถนาที่จะแก้ไข สถานการณ์ ซึ่งเป็นภยันตรายต่อประเทศชาติ สถาบันพระมหากษัตริย์ และประชาชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความเป็นธรรมในการปกครองประเทศ ความสามัคคีของชนในชาติ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความผาสุกของประชาชนชาวไทย และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ทั้งได้กระทำไปโดยมิได้ปรารถนาแสวงหาประโยชน์ส่วนตน หรือบำเหน็จตอบแทนแต่ประการใด จึงเป็นการสมควรที่จะให้มีนิรโทษกรรมแก่บรรดาบุคคลซึ่งได้กระทำการเพื่อ วัตถุประสงค์ดังกล่าวนั้นจึงสมควรให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึด และควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในครั้งนี้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

21. พรก. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฯระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พ.ค.2535 ถึงวันที่ 21 พ.ค.2535

มาตรา 1 พระราชกำหนดนี้เรียกว่า "พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวัน ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึง วันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535"

มาตรา 2 พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผอดโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก สุจินดา คราประยูร

ปล.คือหามาได้เท่านี้รู้สึกว่าจะขาดไป 1 เป็น พรก.นิรโทษกรรมปี 2523 ขออภัยด้วยนะครับเพราะทั้งหมดจริงๆมันต้องมี 22 ฉบับตั้งแต่อดีต