วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นิติราษฎร์

โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

ประเด็นที่ ๑
การดำรงอยู่ของมาตรา ๑๑๒

ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

เหตุผล
๑. มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

๒. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ในลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประเด็นที่ ๒
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของ
พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้อเสนอ
๑. เพิ่มเติมลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

๒. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ...

๓. แยกความผิดในลักษณะ... เป็น ๔ ฐานความผิด คือ
-ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
-ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
-ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
-ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
โดยสภาพของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบูรณภาพและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร


ประเด็นที่ ๓
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง

ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”

มาตรา ... “ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”

มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”

มาตรา ... “ผู้ใด ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”

เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ
-ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๗)
-ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๘)
-ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๐๙)
-ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๑๐)

ประเด็นที่ ๔
อัตราโทษ

ข้อเสนอ
๑. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ

๒. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๓. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๔. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณา ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๕. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหกเดือน สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผล
๑. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว

๒. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ไม่ควรลงโทษถึงขั้นจำคุก ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ลงโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้

๓. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม

๔. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน

๕. โดยเหตุที่ลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แตกต่างจากลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงสมควรแยกการกระทำความผิดทั้งสองลักษณะออกจากกันและกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน

ประเด็นที่ ๕
เหตุยกเว้นความผิด

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้

มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา ๕๐ รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

ประเด็นที่ ๖
เหตุยกเว้นโทษ

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้

มาตรา ... “ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ

ประเด็นที่ ๗
ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ

ข้อเสนอ
๑. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

๒. ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
๑. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต

๒. โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และมีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มีกองนิติการทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ จึงสมควรให้สำนักราชเลขาธิการทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หมายเหตุ
ข้อเสนอนี้นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทและ ดูหมิ่นกรณีอื่น ๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุข หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔) ความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงาน (มาตรา ๑๓๖) ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา ๑๙๘) และความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘) ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔