วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 10

ไอเซนฮาวร์กับการสร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มทหารและกลุ่มตำรวจไทย 2496-2497

นโยบายต่างประเทศของไอเซนฮาวร์ต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ดไวต์ ดี.ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) (20 มกราคม 2496-20 มกราคม 2504) เป็นช่วงเวลาที่ถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ มีนโยบายที่เข้มข้นและมุ่งตรงต่อภูมิภาค และไทยเป็นอย่างมากผ่านความช่วยเหลือทางการทหารและการดำเนินสงครามจิตวิทยาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ 

สาเหตุสำคัญของการตัดสินใจดำเนินนโยบายต่างประเทศดังกล่าวต่อภูมิภาคนั้น นับตั้งแต่การล่มสลายของจีน การเกิดสงครามเกาหลี และการดำเนินนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างรุนแรงเนื่องจาก สหรัฐฯ วิตกถึงการล่มสลายของภูมิภาคตามทฤษฎีโดมิโน ซึ่งมีผลทำให้สหรัฐฯ สูญเสียแหล่งผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกไกล ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงจำเป็นจะต้องทุ่มงบประมาณลงในภูมิภาคเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่ไหลกลับคืนมาสู่สหรัฐฯ ในเวลาต่อไป ( The Pentagon Papers, p. 6.)

และเมื่อสถานการณ์ในอินโดจีนตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดมินห์มีแนวโน้มที่จะชนะฝรั่งเศส สหรัฐฯ ประเมินว่า เวียดมินห์จะบุกเข้าไทยทางอีสานด้วยการสนับสนุนจากจีนเป็นเหตุให้สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ มีนโยบายทำให้การเมืองของไทยมีเสถียรภาพ หาไม่แล้วไทยอาจไม่สามารถต้านทานการรุกรานจากคอมมิวนิสต์ได้ (The Dwight D. Eisenhower Library, Paper as President of United States 1953-1961 (Ann Whitman file) box 4 NSC summery of discussion, National Intelligence Estimate Resistance of Thailand, Burma ,and Malaya to Communist Pressures in the event of a Communist Victory in Indochina in 1951, 15 March 1951 )

ด้วยเหตุนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดย วอลเตอร์ เบลเดล สมิธ (Walter Bendell Smith) ปลัดกระทรวงฯ ได้สั่งการให้สถานทูตสหรัฐฯ ในไทยดำเนินการตามนโยบายดังนี้ ทำให้รัฐบาลไทยและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในไทยมีความเข้มแข็ง เพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับสหรัฐฯ ในทางบวกให้กับคนไทย และเพิ่มโอกาสให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในไทยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ตาม ( NARA, RG 469 Entry 1385, U.S. Policy in Thailand, 7 August 1951.)

ทั้งนี้นับตั้งแต่ไทยได้ลงนามในข้อตกลงทางการทหารสหรัฐฯ ในปี 2493 ทำให้สหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามาจำกัดความเป็นอิสระในการตัดสินใจของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ( Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 327. )

พร้อมกันนั้นสหรัฐฯ ยังคงผลักดันโครงการข้อที่สี่ต่อไปด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเทคนิค เพื่อกระตุ้นให้ภูมิภาคนี้สามารถฟื้นฟูการค้าระหว่างกัน และเพิ่มการค้าโลกเสรี ตลอดจนให้มีการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยการเริ่มนโยบายความช่วยเหลือทางการทหารต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแผนปฏิบัติการทางการทหาร และการโฆษณาชวนเชื่อผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมให้กับผู้คนภายในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อเป็นพลังเกื้อหนุนให้ประเทศต่างๆ ที่เป็นพันธมิตรกับโลกเสรีต่อไป 

สำหรับนโยบายของสหรัฐฯ ต่อไทยนั้น สหรัฐฯเห็นว่าไทยมีความสำคัญในฐานะประเทศส่งออกข้าวและมีทรัพยากรที่จะช่วยฟื้นฟูญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ดังนั้นหากสหรัฐฯ สูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยไปจะมีผลกระทบอย่างมากทางการเมือง และเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเอเชียในภาพรวม (“1952 Policy Statement by U.S. on Goals in Southeast Asia,” in The Pentagon Papers, pp. 27-29. )

ดังนั้นสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ จึงเป็นช่วงที่ซีไอเอมีบทบาทอย่างมากในการดำเนินการสงครามจิตวิทยา การปฏิบัติการลับ การจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหาร เพื่อทำสงครามกองโจร การโฆษณาชวนเชื่อ การดำเนินการทางการเมืองทั่วโลกเพื่อป้องมิให้เกิดทฤษฎีโดมิโนตามที่สหรัฐฯ มีความวิตก ( Michael J. Hogan, Thomas G. Patterson, Explaning the History of American Foreign Relation,(Cambridge: Cambridge University Press, 1991), p. 155. )

สำหรับไทยนั้นสหรัฐฯ ได้ให้ความสนใจในไทยในฐานะเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคอันสะท้อนให้เห็นจากสหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในไทย ทั้งประจำสถานทูต การข่าว การทหารในกลางปี 2496 มีจำนวนถึง 245 คน ( Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, National Security Council Staff: Papers, 1953 -1961, Psychological Strategy Board Central Files Series Box 16, Summary of Department of State Revision of PSB-D 23, 24 July 1953.)  

อดีตตำรวจของไทยระดับสูงคนหนึ่งได้บันทึกว่า เปอร์รี่ ฟิลลิปส์ เป็นเจ้าหน้าที่ซีไอเอแต่แฝงเข้ามาในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สถานทูต ทำหน้าที่จารกรรมข่าวจากสถานทูตสหภาพโซเวียตในไทย โดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวปฏิบัติหาข่าวในไทยด้วยการดักฟังโทรศัพท์ของสถานทูตสหภาพโซเวียตในกรุงเทพฯ(พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ, 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, หน้า 226, 157-165).

ต้นเดือนพฤษภาคม 2496 สถานการณ์การสู้รบระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศส มีแนวโน้มที่ฝรั่งเศสจะปราชัย สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ และหัวหน้าหน่วยแมก (MAAG) ได้เรียกร้องให้สหรัฐฯ สนับสนุนทางการทหารแก่ไทยเพิ่มขึ้น ต่อมา จอห์น เอฟ. ดัลเลส (John F. Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ได้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีกลาโหมให้เพิ่มสนับสนุนทางการทหารแก่ไทย เขาให้เหตุผลสนับสนุนว่า ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อต้านการขยายตัวคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยกำลังถูกคุกคามจากพวกคอมมิวนิสต์ตามพรมแดนในภาคอีสาน ( “Dulles to Wilson-The Secretary of Defense, 5 May 1953,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 666. )

ด้วยสถานการณ์ที่เลวร้ายต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่ต้องการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ทำให้ ไอเซนฮาวร์ อนุมัติแผนการสนับสนุนอย่างเร่งด่วนทางการทหารแก่ไทย ด้วยการส่งเสนาธิการทหารสนับสนุนการฝึกการใช้อาวุธ และเร่งให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ไทย ( The Dwight D. Eisenhower Library, Paper as President of United States 1953-1961 (Ann Whitman file) box 4 NSC summery of discussion, Minutes of the 143 rd Meeting of the National Security Council, 6 May 1953 )

จากนั้น ดัลเลส ได้แจ้งต่อ พจน์ สารสิน ทูตไทยประจำสหรัฐฯว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือในหลายรูปแบบแก่ไทย เช่น อาวุธ การส่งนายทหารระดับสูงเข้ามาให้ความช่วยเหลือ การส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตุการณ์ชายแดนไทยถึงความเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์ที่ชายแดน และสหรัฐฯ จะส่งอาวุธ กระสุน ให้แก่ไทยอย่างเร่งด่วนที่สุด ( “Memorandum of Conversation by the officer in charge of Thai and Malayan Affaires (Landon), May 6 , 1953,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 672. )

รายงานการข่าวระดับสูงของสหรัฐฯ ขณะนั้นประเมินสถานการณ์ว่า หากเวียดมินห์บุกเข้าลาวจะทำให้ความสามารถในการต้านทานของไทยสิ้นสุดลง เนื่องจากกองทัพบกไทยแม้จะมีกำลังพลประมาณ 50,000 คน แต่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ต่ำกว่ามาตรฐานของสหรัฐฯ ส่วนตำรวจมีกำลังพล 38,000 คน แต่มีภาระกิจหน้าที่กว้างขวาง ตั้งแต่การรักษาความสงบภายใน และการรักษาชายแดน แต่ขาดแคลนอาวุธหนัก ไม่มีหน่วยฝึกเฉพาะ ขาดแคลนพาหนะ กล่าวสรุป สหรัฐฯ เห็นว่า กองทัพและตำรวจของไทยไม่สามารถปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่จะแทรกซึมเข้ามาได้ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79T01146A001200150001-3, 19 May 1953, “NIE-96: Thailand’s Ability to withstand Communist Pressure or attacks”. )

ดังนั้นด้วยเหตุการณ์ที่แปรผันอย่างรวดเร็วในอินโดจีนทำให้ประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ได้อนุมัติแผนการของกระทรวงกลาโหมที่มีการคาดการณ์ตามทฤษฎีโดมิโนว่า การสูญเสียประเทศใดๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะนำไปสู่การสูญเสียทั้งภูมิภาค และย่อมมีผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเสถียรภาพ และความมั่นคงของยุโรปด้วย ( The Pentagon Papers, p. 7. )

ต่อมาประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ มอบหมายให้ ซี. ดี. แจคสัน (C.D. Jackson) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีเตรียมการเสนอแผนการใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( Dwight D. Eisenhower, Paper as President of United States 1953-1961 (Ann Whitman file) box 4 NSC summery of discussion, Minutes of the 143 rd Meeting of the National Security Council, 6 May 1953.)

เขาได้สอบถาม โรเบิร์ต คัตเลอร์ (Robert Cutler) ผู้ช่วยพิเศษของเขาถึงบุคคลที่เหมาะสมในการดำเนินงานแผนสงครามจิตวิทยาระหว่างไทยและสหรัฐฯ คัทเลอร์ได้เสนอ ชื่อ วิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) เป็นทูตสหรัฐฯประจำคนใหม่แทนสแตนตัน เนื่องจากโดโนแวนมีประสบการณ์ และมีความคุ้นเคยบุคคลสำคัญต่างๆ ในไทยมากกว่า เขาจึงมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการประสานแผนการที่มีความหลากหลายระหว่างสหรัฐฯและไทยให้สำเร็จได้  ( The Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, Office of the Special Assistant for National Security Affaire: Record 1952-1961 NSC series, Briefing Notes Subseries box 16 file: Southeast Asia (1953-1961), Memorandum for General Smith-Chairman of Operations Coordinating Board from Robert Cutler-Special Assistant to the President, 10 September 1953.; Memorandum by Robert Cutler , Special Assistant to The President for National Security Affaires to The Chairman of The Operations Coordination Board (Smith), 10 ,August 1953,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp.686-687.; Brown, The Last Hero: Wild Bill Donovan, p. 824. )

วิลเลี่ยม เจ.โดโนแวน (2426-2502) เป็นทูตสหรัฐฯประจำไทยระหว่าง สิงหาคม 2496 - สิงหาคม 2497 เขาเป็นคนนิวยอร์ค จบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เคยเป็นอัยการ ต่อมาเดินทางมาตะวันออกไกลในปี 2463 เคยเป็นที่ปรึกษาเอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำญี่ปุ่น เคยเข้าไปลืบราชการลับในรัสเซียหลังการปฏิวัติ ประธานาธิบดีรูสเวลท์ได้ส่งไปยุโรปสืบราชการลับจากนาซี และทำหน้าที่สืบราชการลับตั้งแต่ปี 2483 (Brown, The Last Hero: Wild Bill Donovan. (New York: Vintage Books,1982), p. 824. )

กระแสข่าวการตั้ง โดโนแวน มาเป็นทูตสหรัฐฯ คนใหม่ประจำไทยได้สร้างความวิตกให้กับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มากเนื่องจากรัฐบาล จอมพล ป. เห็นว่า โดโนแวน เคยให้การสนับสนุน “กลุ่มปรีดี” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้รัฐบาลไทยระแวงว่า โดโนแวน จะสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ ให้กลับมามีอำนาจทางการเมืองไทยอีก ด้วยเหตุนี้ โดโนแวน จึงแสดงออกต่อรัฐบาลว่า เขาไม่สนใจความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และเขาไม่ใช่พวกปรีดี และได้แสดงให้รัฐบาลรู้ว่า ความเคลื่อนไหวของอดีตโอเอสเอสพยายามโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. นั้นไม่ใช่สิ่งที่เขาให้การสนับสนุนเลย ( Dwight D. Eisenhower Library, John Foster Dulles Paper 1951-1959, Personnel Series Box 1, Robertson to Secretary of State, Possible designation of General William Donovan as Ambassador to Thailand, 2 June 1953. )

ต่อมา สมิธ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียก พจน์ สารสิน ทูตไทยประจำสหรัฐฯ มาพบเพื่อยั่งท่าทีไทยต่อการที่สหรัฐจะแต่งตั้ง โดโนแวน อีกครั้งหนึ่ง พจน์ได้โทรเลขด่วนกลับกรุงเทพฯ ไม่กี่วันหลังจากนั้น รัฐบาลไทยได้ตอบรับทูตสหรัฐฯ คนใหม่ ( กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 0402 - 344 - 202 - 511 - 0005 ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายวิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พจน์ สารสิน ถึง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ 28 มิถุนายน 2496 และ วรรณไวทยากร ถึง เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน 2 มิถุนายน 2493 ถวายสาส์น 4 กันยายน 2496 , “Memorandum of Conversation by the officer in charge of Thailand and Malayan Affaires (Landon), 29 July 1953,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp.679-680. )

ภารกิจสำคัญที่ประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ มอบหมายให้ วิลเลี่ยม โดโนแวน ปฏิบัติการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะต่อในไทย คือการสร้าง“ป้อมปราการ” (Bastion of resistance) ของการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคขึ้นในไทย โดยให้เขาดำเนินงานร่วมกับหลายหน่วยงานของสหรัฐฯ ดังนั้นเขาจะต้องทำงานประสานงานหลายหน่วยงานทางลับในปฏิบัติการทางสงครามจิตวิทยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นไปได้ที่จะให้สหรัฐฯ เข้ามาปฏิบัติการหลายรูปแบบในไทยและให้ใช้ประโยชน์จากคนไทยให้มากที่สุด เพื่อรองรับภารกิจอื่นๆ ของสหรัฐฯในภูมิภาคที่จะมีต่อไป ( The Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, Office of the Special Assistant for National Security Affaire : Record 1952-1961 NSC series, Briefing Notes Subseries box 16 file: Southeast Asia (1953-1961), Memorandum for General Cutler from W.B. Smith, 11 September 1953.; Anthony Cave Brown, The Last Hero: Wild Bill Donovan, p. 824. )

เขาเห็นว่า ภารกิจใหม่ของเขาในไทย คือ “เอกอัครราชทูตนักรบ” (Warrior-Ambassador) ( Ibid., pp. 822-823 )

“เอกอัครราชทูตนักรบ”กับการสร้าง “ป้อมปราการ” ทางการทหารในไทย

สาเหตุสำคัญที่สหรัฐฯ เลือกไทยเพื่อสร้างป้อมปราการในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไม่แต่เพียงภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ซีไอเอได้เคยรายงานมุมมองของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯต่อไทยว่า ที่ผ่านมาไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศตามสหรัฐฯ โดยไทยได้ยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารจากสหรัฐฯ และไทยไม่พยายามเข้าไปมีอิทธิพลเหนือประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไปจนกระทั่งถูกมองจากประเทศอื่นๆ ว่าไทยเป็นรัฐบริวารของสหรัฐฯ ดังนั้น ไทยจึงมีความเหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ จะดำเนินการสร้างป้อมปราการต่อต้านคอมมิวนิสต์ให้เกิดขึ้น ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP80R01443R000100300007-2, 13 August 1953, “NSC briefing Thailand”. )

ต่อมาต้นเดือนสิงหาคม 2496 สภาความมั่นคงสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ใช้แผนสงครามจิตวิทยาในประเทศไทย (U.S. Psychological Strategy based on Thailand) โดยโดโนแวนเป็นผู้ริเริ่มที่สำคัญในการเสนอแผนสงครามจิตวิทยาต่อไทย (“Memorandum of Conversation at the 161 st Meeting of the National Security , 9 August 1953,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 685.; Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, National Security Council Staff: Papers, 1948-1961, Operations Coordinating Board Central File Service Box 2, Memorandum for James S. Lay, Jr.-Executive Secretary National Security Council, Special Report on Thailand, 12 July 1954. )

แผนสงครามจิตวิทยานี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 1954 จำนวน 1,500,000 ดอลาร์ ( The Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, Office of the Special Assistant for National Security Affaire: Record, 1952-1961 NSC series, Briefing Notes Subseries box 16 file: Southeast Asia (1953-1961), U.S. Psychological Strategy based on Thailand, 8 September 1953. )

โดยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สำนักข่าวสารอเมริกัน (USIA) และซีไอเอ ( The Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, Office of the Special Assistant for National Security Affaire: Record, 1952-1961 NSC series, Briefing Notes Subseries box 16 file: Southeast Asia (1953-1961), Memorandum for General Smith-Chairman of Operations Coordinating Board from Robert Cutler-Special Assistant to the President, 10 September 1953. )

ภาระกิจสำคัญของแผนสงครามจิตวิทยาในไทย คือสหรัฐฯมีความต้องการทำให้กองทัพ และประชาชนไทยให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ด้วยการลดทอนโอกาสที่ไทยจะถูกคุกคามจากคอมมิวนิสต์ การให้ความช่วยเหลือทางการทหาร และขยายปฏิบัติการกองกำลังกึ่งทหาร (Para-military)เพื่อทำให้ไทยกลายเป็น “ป้อมปราการ” ทางการทหาร 

การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระยาวที่มุ่งเน้นไปยังภาคอีสานเพื่อลดทอนการต่อต้านสหรัฐฯ การใช้โครงการจิตวิทยาทำให้คนไทยมีความผูกพันธ์เป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ความร่วมมือและสนับสนุนในสิ่งที่สหรัฐฯต้องการ อีกทั้งการขยายกิจกรรมของสหรัฐฯ ในไทยผ่านแผนสงครามจิตวิทยา และการกระตุ้นให้ไทยขยายโครงการสงครามกองโจร และกองกำลังกึ่งทหารตลอดจนการทำให้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาตลอดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อขยายอิทธิพลของสหรัฐฯต่อไป ( “U.S. Psychological Strategy Based on Thailand”(PSB-D23), 14 ,August 1953,” in Foreign Relations of the United States 1952-1954 Vol.12,(Washington : Government Printing Office,1987), pp. 688-691. )

ในรายงานของ พล.ต.วิลเลี่ยม เอ็น. กิลโมร์ (Maj. Gen William N. Gillmore) หัวหน้าแมคได้ประเมินว่า ความสามารถในการรักษาความมั่นคงภายใน และภายนอกของไทยมีไม่เพียงพอ ดังนั้นสหรัฐฯจะต้องให้ความช่วยเหลือทางอาวุธ และที่ปรึกษาทางการทหารแก่รัฐบาลไทยซึ่งยังผูกพันธ์กับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ 

โดยทั่วไปแล้วคนไทยนิยมและนับถือคนอเมริกัน สังคมไทยไม่มีปัญหาความยากจน และความรู้สึกต่อต้านอาณานิคม ส่วนนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีความนิยมสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ไทยสามารถที่จะเป็นแหล่งทรัพยากร และฐานปฏิบัติการจิตวิทยาที่ตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ( “Gillmore-The Chief of the Joint Military Mission to Thailand to The Joint Chief Staff, 30 September 1953,” in Foreign Relations of the United States 1952-1954 Vol.12, pp. 695-697. )

ต่อมา โดโนแวน ทูตสหรัฐฯ ประเมินว่ารัฐบาลไทยมีทัศนคติที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ และยอมรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะจากสหรัฐฯ รัฐบาลไทยยังคงต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและอาวุธจากสหรัฐฯ ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 box 4187, Donovan to Secretary of State, 17 October 1953. )

ส่วนรายงานของคณะกรรมาธิการพิเศษของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯประเมินว่า ไทยยังคงมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แม้ไทยจะมิได้เป็นประชาธิปไตย แต่ไทยมีองค์ประกอบที่เข้มแข็งจากการมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทำให้ไทยมีความเหมาะสมที่สหรัฐฯ จะใช้เป็นพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพได้ ในขณะที่ประเทศในแถบนี้ส่วนใหญ่มีนโยบายต่างประเทศเป็นกลาง สำหรับท่าทีของไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับประเทศที่มีความเข้มแข็งทางการทหารมากกว่า ในรายงานเสนอให้สหรัฐเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยให้มากขึ้น และย้ำว่าการให้ความช่วยเหลือจะให้กับประเทศที่อยู่ฝ่ายสหรัฐฯ มากกว่าให้ประเทศที่เป็นกลาง ( Special Study Mission to Southeast Asia and The Pacific report by Walter H. Judd, Minnesota; Margerite Stitt Church, Illinois; E. Ross Adair, Indiana; Clement J. Zablocki, Wisconsin, 29 January 1954, printed for the used of the Committee on Foreign Affaire,( WashingtonD.C.: United States Government Printing Office, 1954), pp. 56-59.)

การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ครั้งหนึ่งในปี 2497 เห็นว่า หากสหรัฐฯ สูญเสียเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผลกระทบต่อหลายประเทศในโลกเสรี เนื่องจากภูมิภาคดังกล่าวเป็นแหล่งทรัพยากร ธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ยาง ดีบุก ข้าว การผลิตน้ำมัน และสินค้ายุทธปัจจัย รวมทั้งศักยภาพของการเป็นตลาดให้กับสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศในโลกเสรี 

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ คือ การปกป้องและโน้มน้าวให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกับประเทศโลกเสรี สำหรับนโยบายของสหรัฐฯต่อไทย คือ การทำให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ และทำให้ไทยยังคงผูกพันธ์กับสหรัฐฯ ต่อไป ด้วยการควบคุมทิศทางการทหาร เศรษฐกิจ ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการสนับสนุนโครงการโฆษณาชวนเชื่อ และกิจกรรมทางวัฒนธรรมรวมทั้งปฏิบัติการลับต่อไป ( NARA, RG 84 box 2, Top Secret General Record 1947-1958, Statement of Policy by the National Security Council on United States objectives and courses of action with respect to Southeast Asia ,1954 )

ด้วยเหตุที่การตัดสินใจด้านการทหารของสหรัฐฯ ขณะนั้น ตั้งอยู่บนข้อมูลและคำแนะนำจากชุมชนของสายลับของสหรัฐฯ ( The Pentagon Papers, p.6 . )

ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ โดโนแวน ดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐฯ ประจำไทย เขาดำเนินการตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ เป็นอย่างดี โดยการเรียกร้องให้สหรัฐฯให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ไทยให้มากขึ้นควบคู่ไปกับการผลักดันให้ซีไอเอมีการขยายกลไกในไทยอย่างกว้างขวาง โดยเขาได้เริ่มจากการประสานกับอดีตโอเอสเอสกลุ่มเล็กๆ และทำการขยายเครือข่ายปฏิบัติการของซีไอเอออกไป จากนั้นเขาได้ใช้วิธีสมัยใหม่ทางการเมือง และการทหารในการปราบปราบการก่อกบฏ และการต่อต้านคอมมิวนิสต์ภายในและตามชายแดนของไทย ( iIbid., p. 825 )

ในช่วงที่เขาปฏิบัติหน้าที่ทูตสหรัฐฯ เขาได้ริเริ่มงานหลายประการ เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านการทหาร การใช้สื่อสารมวลชนสมัยใหม่ทำสงครามจิตวิทยา การให้การสนับสนุนอาวุธสมัยใหม่ เครื่องบินไอพ่น และเรือเร็วให้กับกองทัพและตำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกอบรมให้กับตำรวจ และการจัดตั้งการข่าวทางการทหารขึ้นในประเทศไทย (Ibid., p. 825. )

ในสายตาของทูตอังกฤษได้ประเมินอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อไทยในช่วงเวลานั้นว่า สหรัฐฯมีอิทธิพลต่อไทยทางเศรษฐกิจ และการทหารมากขึ้น เห็นได้จากการที่สหรัฐฯส่งบุคคลสำคัญเดินทางมาไทยหลายคน เช่น รองประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ,วุฒิสมาชิก วิลเลี่ยม โนวแลนด์ (William F. Knownland) รวมทั้งการส่ง โดโนแวน มาเป็นทูตประจำไทยนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯมีความต้องการมีอิทธิพลโดยตรงต่อไทย โดยสหรัฐฯต้องการเปลี่ยนให้ไทยเป็น“ป้อมปราการ”ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค ทูตอังกฤษสรุปว่า การดำเนินการต่างๆ ของสหรัฐฯในไทยเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของวอชิงตัน ดี.ซี. ( NA, FO 371/112261, Wallinger to Foreign Office, Annual Report on Thailand for 1953, 18 January 1954. )

เพนตากอนกับการสถาปนาอำนาจให้กลุ่มทหาร

ประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ได้ส่งสัญญาณสองช่วงในต้นปี 2497 ให้ฝรั่งเศสทราบว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะช่วยเหลือฝรั่งเศสด้วยการเข้าแทรกแซงอินโดจีนด้วยกำลัง แม้ว่าขณะนั้นกองทัพฝรั่งเศสจะอ่อนกำลังลงในอินโดจีนแล้วก็ตาม การส่งสัญญาณจากสหรัฐฯ ให้กับฝรั่งเศสช่วงแรกเริ่มต้นในเดือนมีนาคมซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่เดียนเบียนฟูจะแตก เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสแพ้เพื่อให้ฝรั่งเศสสามารถรักษาสถานภาพของการเป็นหนึ่งในสามมหาอำนาจต่อไป ( Kahin, Intervention: How American become involved in Vietnam, p. 3.; The Pentagon Papers, p. 5-7. )

ต่อมาสหรัฐฯส่งสัญญาอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสหรัฐฯไม่เห็นด้วยกับการเปิดการเจรจาสงบศึกของฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ แต่ฝรั่งเศสขณะนั้นไม่สามารถต้านทานการโจมตีของกองทัพเวียดมินห์ได้อีกต่อไป จึงนำไปสู่การเจรจาสงบศึก ณ กรุงเจนีวาที่เกิดขึ้นในปลายเดือนเมษายน แต่สุดท้ายแล้ว ฝรั่งเศสจำต้องลงนามยุติการรบกับเวียดมินห์จนไปสู่การแบ่งเวียดนามออกเป็น 2 ส่วน คือ เวียดนามเหนือ และเวียดนามใต้ที่เส้นขนานที่ 17 จากเหตุการณ์นี้ทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ได้สร้างแนวคิดทฤษฎีโดมิโนส่งผลให้สหรัฐฯ มีนโยบายจะเข้ามามีบทบาทต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (David L. Anderson, Trapped by Success: The Eisenhower Administration and Vietnam, 1953-1961,(New York: Columbia University Press, 1991), p. 73 )

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์มีความคิดว่าหากสหรัฐฯสูญเสียอินโดจีนจะนำไปสู่การสูญเสียเสียไทย พม่า มาเลซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดในเวลาต่อไป ( Dwight D. Eisenhower, Mandate For Change, 1953-1956,(New York: Doubleday & Company, 1963), p. 333 )

ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงได้ให้ความช่วยเหลือทางการทหารเพิ่มให้แก่กลุ่มทหารไทย ตั้งแต่ปี 2495, 2496 และ 2497 มีมูลค่า 12,000,000 ดอลลาร์ 55,800,000 ดอลลาร์ และ 38,900,000 ดอลลาร์ตามลำดับ ( Surachart Bamrungsuk, United States Foreign Policy and Thailand Military Rule 1947– 1977, p. 57. )

อีกทั้งกลุ่มทหารยอมรับให้จัสแมค (JUSMAG) มีฐานะที่ปรึกษาทางการทหาร และสามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในหน่วยงานต่างๆของกองทัพไทย จากนั้นกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และกลุ่มทหารไทยร่วมกันก่อตั้งกองบินยุทธศาสตร์สำหรับชายแดนไทยขึ้น ( พล.อ. จิระ วิชิตสงคราม, “การช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกา,” กลาโหม 1, 1 (มกราคม 2497): 76.; หจช.บก.สูงสุด 7 / 5 กล่อง 4 รวมเรื่องเกี่ยวกับยศทหาร เช่น กฎหมาย ข้อบังคับการแต่งตัว ข่าวเกี่ยวกับการแต่งตั้งทหาร ฯลฯ (5 กุมภาพันธ์ 2495 – 5 เมษายน 2500), บันทึกย่อรายงานการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 3 เมื่อ 27 เมษายน 2497.; Brown, The Last Hero: Wild Bill Donovan, p. 826. )

ในต้นเดือนเมษายน 2497 พล.ร.อ.เออร์สกิน ผู้ช่วยปลัดกระทรวงกลาโหมฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ สหรัฐฯ เรียกร้องให้ซีไอเอขยายบทบาทที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการลับในไทยให้มากขึ้น เนื่องจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เห็นว่า ที่ผ่านมาบทบาทของซีไอเอจำกัดบทบาทเพียงปฏิบัติการสงครามกองโจรต่อต้านคอมมิวนิสต์เท่านั้น ( NARA, RG 84 box 1, Top Secret General Records 1947-1958, Memorandum G.B. Erskine to Donovan, 6 April 1954. )

ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการทำให้เกิดเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยผูกพันธ์กับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาค และเป็นมิตรกับโลกเสรีต่อไป โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทางการทหาร เศรษฐกิจ เทคนิคอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และปฏิบัติการลับของไทยในประเทศเพื่อนบ้านต่อไป (Dwight D. Eisenhower Library, White House Office, National Security Council Staff: Papers 1948-1961, Operations Coordinating Board Central File Service Box 2 , Memorandum for James S. Lay, Jr.-Executive Secretary National Security Council, Special Report on Thailand, 12 July 1954. )

อย่างไรก็ตามรายงานสำหรับประธานาธิบดี ไอเซนฮาวร์ ขณะนั้น ได้ประเมินความสามารถทางการทหารของไทยขณะนั้นยังคงอยู่ในระดับศูนย์ แม้ว่าสหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่กลุ่มทหารที่ผ่านมาหลายปีก็ตาม แต่กลุ่มทหารสร้างแต่เรื่องอื้อฉาว ( Library of Congress, CK3100297663, October 1954, Thailand: An American Dilemma. )

ซีไอเอกับการสถาปนาอำนาจให้กลุ่มตำรวจ

สาเหตุที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มตำรวจเพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติการลับ และการรักษาชายแดนที่ประชิดกับอินโดจีน เนื่องจากสนธิสัญญาระหว่างไทย-ฝรั่งเศสที่ทั้งสองฝ่ายลงนามตั้งแต่ปี 2436 นั้นได้ห้ามทั้งสองประเทศมีกำลังทหารตามชายแดนในรัศมี 25 กิโลเมตร ดังนั้นกองทัพจึงไม่สามารถทำหน้าที่รักษาดินแดนในบริเวณดังกล่าวได้ ด้วยเหตุนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เห็นว่า กลุ่มตำรวจของ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการลับ และเปิดที่รับภารกิจใหม่ในการจารกรรมและการรบแบบกองโจรมากกว่าทหารที่ถนัดการรบในแบบ จึงมอบหมายให้ซีไอเอปรับปรุงกำลังตำรวจด้วยการผลักดันให้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น เช่น ตำรวจพลร่มเพื่อให้ตำรวจมีกำลังที่เปี่ยมด้วยสมรรถนะทั้งการรุกและการรับ มีความสามารถแทรกซึมไปจารกรรมแนวหลังของข้าศึกได้ รวมทั้งการสนับสนุนจัดตั้งตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อดูแลชายแดนของไทยแทนทหาร ( Lobe and Morell, “Thailand’s Border Patrol Police: Paramilitary Political Power,” in Supplemental Military Forces: Reserve, Militarias, Auxiliaries, eds. Louis A. Zurcher and Gwyn Harries Jenkins(Berverly Hills and London: SAGE, 1978), p.158.; Lobe, United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 20-23.; พล.ต.ต นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย,หน้า 3.; พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา, “บันทึกความทรงจำ,” ใน 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536), หน้า 39.; ต่อมา เมื่อกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.)ย้ายไปหัวหินในปี 2496 ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับตชด.ได้เริ่มขึ้น (Lobe, United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 24).

ด้วยเหตุที่ปฏิบัติการของซีไอเอในไทย และภูมิภาคเป็นการหาข่าวเพื่อช่วยการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ ส่งผลให้หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ ที่อยู่ในไทยทั้งในสถานทูตฯ และหน่วยงานนอกสถานทูตฯ ในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีมากมายจนกระทั่ง “เกลื่อนไปหมด” ( พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ, ชัยชนะและความพ่ายแพ้ของบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, (กรุงเทพฯ: ไม่ปรากฎปีพิมพ์), หน้า 207. )

ทั้งนี้ปฏิบัติการของซีไอเอมีทั้งการหาข่าว การส่งอาวุธ การใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการลับ การสนับสนุนกลุ่มการเมืองต่างๆ การโฆษณาชวนเชื่อ ภารกิจเหล่านี้เป็นความลับมาก ( ประดาบ พิบูลสงคราม, “ซี.ไอ.เอ กับประเทศไทย,” สราญรมย์ 24 ( 2517): 334. )

ในปี 2495 ซีไอเอได้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 76 คน แฝงเข้ามาเป็นพนักงานของซีสัพพลายเพื่อฝึกการรบให้ตำรวจและมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการลับอีกกว่า 200 คนนำโดยจอห์น ฮาร์ท (John Hart) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ซีไอเอซึ่งมีความสนิทสนมกับ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เขาจึงให้การสนับสนุนกลุ่มตำรวจอย่างเต็มที่

จอห์น ฮาร์ท เคยร่วมงานกับโดโนแวน ทูตสหรัฐฯ เมื่อครั้งที่โดโนแวนเป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐฯ หรือโอเอสเอสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาในช่วง 2495 หน่วยงานของซีสัพพลายได้ขยายตัว รวมทั้งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์กับเขา นอกจากนี้ ทั้งคู่มีผลประโยชน์ร่วมทางการเงิน และธุรกิจนอกกฎหมาย เช่น การค้าประเวณีในกรุงเทพฯ (Lobe, United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 24.; E. Thadeus Flood, The United States and the Military Coup in Thailand : A Background Study,[California: Indochina Resource Center, 1976], p. 1).

ด้วยเหตุที่สหรัฐฯ มีแผนกำหนดให้ตำรวจพลร่มรับผิดชอบปฏิบัติการลับ และสงครามนอกแบบ โดโนแวน ทูตสหรัฐฯ จึงแนะนำให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง ชื่อว่า “คณะกรรมการนเรศวร” เป็นเสมือนผู้ว่าจ้างซีสัพพลายให้ทำงานตามโครงการที่ซีไอเอให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มตำรวจเพื่อเป็นการอำพรางบทบาทของซีไอเอ ดังนั้น การฝึกและความช่วยเหลือของซีไอเอจึงเป็นความลับ อาวุธที่ซีไอเอส่งมาให้แก่กลุ่มตำรวจมีปืนคาร์ไบน์ ปืนมอร์ต้า ปืนต่อต้านรถถัง ระเบิดมือ อุปกรณ์เสนารักษ์ ร่มชูชีพ อุปกรณ์ตั้งค่ายที่พัก ตลอดจนปืนใหญ่ รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ ( พล.ต.ต นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย, หน้า 2, 8, 76-77. ) 

คณะกรรมการนเรศวร มีสมาชิกในคณะรัฐประหารหลายคนเข้าร่วม เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ,จอมพลถนอม กิตติขจร ,พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ,จอมพลอากาศฟื้น ,รณนภากาศ ฤทธาคนี ,พล ร.ต.หลวงชำนาญอรรถยุทธ์ สำหรับวิชาที่ซีไอเอฝึกให้ตำรวจ เช่น ความรู้เกี่ยวกับอาวุธ การใช้อาวุธ การรบนอกแบบ การหาข่าว การกระโดดร่ม แผนที่ การปฐมพยาบาล อาวุธที่ใช้ประจำกายและประจำหน่วยพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน เช่น ปืน M3-A คาร์ไบน์ บราวนิ่ง ปืนน้ำหนักเบา บาซูก้า มอร์ต้า ระเบิดมือ และวัตุระเบิดอื่นๆ ( .; Lobe , United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 23 )

ต่อมาสหรัฐฯได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ตรวจค่ายปฏิบัติการค่ายนเรศวรที่ฝึกตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดนหลายคน เช่น อัลแลน เวลช์ ดัลเลส (Allen Welsh Dulles) ผู้อำนวยการซีไอเอ แมกซ์ บิชอป (Max Bishop) ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยคนถัดมา และ พล.ร.อ.เออร์สกิน ผู้แทนประธานาธิบดี ฝ่ายกิจการทหาร เป็นต้น ( พล.ต.ต นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย, หน้า 225-226. อัลแลน ดัลเลส ผู้อำนวยการซีไอเอได้กล่าวชมค่ายนเรศวรว่า “…ผลงานที่ข้าพเจ้าได้เห็นนี้เป็นความชำนาญที่ยากจะหาเสมอเหมือน และยังเป็นการดำเนินกิจการที่นับว่าเป็นเอก ข้าพเจ้าภูมิใจที่มีส่วนร่วมในกิจการนี้ …”ส่วนบุคคลสำคัญอื่นๆที่มาเยี่ยมชม เช่น วอลเตอร์ พี. คูสมูล ( Walter P. Kusmule) ผู้จัดการบริษัทซีสัพพลายสาขาซีไอเอ อัลเฟรด ซี. อีลเมอร์ จูเนียร์( Alfred C. Ulmer Jr.) เจ้าหน้าที่ซีไอเอ พ.อ.แฮร์รี แลมเบิร์ต(Harry Lambert)หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารประจำ ฮาวาย พ.อ.อีเดน เอฟ.สวิฟท์(Eben F. Swift)กองทหารพลร่มที่ 3 พ.อ.โรเบิร์ต เอช. ซิมเมนน์(Robert H. Zimmemn)ที่ปรึกษาทางการทหารประจำไทย; หจช.(3) สร. 0201.21.3/101 กล่อง 5 นายอลัน ดัลเลส ผู้อำนวยการองค์การซีไอเอ (8-11 กันยายน 2499).

ดังนั้นความช่วยเหลือของซีไอเอมีผลทำให้กลุ่มตำรวจของ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ( Flood, The United States and the Military Coup in Thailand: A Background Study, p. 1. )

ทั้งนี้กำลังพลของตำรวจของ พล ต.อ.เผ่าในปี 2496 นั้นประกอบ ด้วย ตำรวจพลร่มจำนวน 300 คน และตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 4,500 คน ซึ่งกองกำลังตำรวจที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนนี้ติดอาวุธประจำกาย และประจำหน่วยที่ทันสมัย มีวิทยุสนาม ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีความสามารถในการปราบปรามความไม่สงบ การหาข่าว ทำการปฏิบัติการต่อสู้ และลาดตระเวนตลอดแนวชายแดนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ( “Lansdale Memo for Taylor on Unconventional Warfare, July 1961,” in The Pentagon Papers, p.133-134.; Lobe and Morell, “Thailand’s Border Patrol Police: Paramilitary Political Power,” Supplemental Military Forces: Reserve, Militarias, Auxiliaries, p. 157. )

ต่อมาในช่วง 2498 - 2499 พล.ต.อ.เผ่า มีกำลังตำรวจทั้งหมดทั่วไประเทศถึง 48,000 คนแบ่งเป็นตำรวจในกรุงเทพฯ จำนวน 10,000 คน การที่ตำรวจของ พล ต.อ.เผ่ามีอาวุธประจำกาย และอาวุธหนักรวมทั้งรถถังที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ( Flood, The United States and the Military Coup in Thailand: A Background Study, p. 1.)

ตรงข้ามกับกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้น เขามีทหารเพียง 45,000 คน และมีอาวุธที่ล้าสมัยกว่า เนื่องจากที่ผ่านมาที่ปรึกษาการทหารจากสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้อาวุธแก่กลุ่มทหารอย่างที่กลุ่มตำรวจได้รับ ( Alfred W. McCoy, The Politics of Heroin in Southeast Asia,(New York: Harper Colophon Books, 1973), p.138. ) 

ตำรวจนายหนึ่งได้บันทึกความก้าวหน้าของตำรวจไทยขณะนั้นว่า “…กำลังตำรวจของเราเป็นหน่วยแรกและหน่วยเดียวในขณะนั้นที่มีเครื่องแต่งกาย มีเครื่องใช้ประจำกายดีเท่ากำลังพลสหรัฐและมีเครื่องใช้ประจำหน่วยก็เหมาะสมกับภูมิประเทศและเหตุการณ์ ตลอดจนอาวุธยุทธภัณฑ์ที่สมบูรณ์ทันสมัยกว่าหน่วยอื่นๆในสมัยนั้น..” (พล.ต.ต.ทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุทธยา, “บันทึกความทรงจำ,” ใน 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536), [กรุงเทพฯ: กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน,2536], หน้า 75).

ต่อมา 2497 สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือด้วยการมอบอุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ในการสืบราชการลับเพื่อหาข่าวให้แก่กลุ่มตำรวจเพิ่มเติมตลอดจนการสนับสนุนการตั้งกรมประมวลราชการแผ่นดินซึ่งเป็นหน่วยงานทำหน้าที่ข่าวกรองเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการหาข่าวนี้ ยิ่งทำให้กลุ่มตำรวจมีศักยภาพเหนือกว่ากลุ่มทหารมีส่วนทำให้กลุ่มทหารเริ่มหวาดระแวงกลุ่มตำรวจมากยิ่งขึ้น ( Lobe, United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 23.; พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ , 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, หน้า 171.; พล.ต.ท.ชัยยงค์ ปฏิพิมพาคม, อธิบดีตำรวจสมัยหนึ่ง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, 2522), หน้า 79 )

ความช่วยเหลือจากสหรัฐฯกับการแข่งขันระหว่างกลุ่มตำรวจและกลุ่มทหาร

ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ มีส่วนทำให้การแข่งขันระหว่างกลุ่มตำรวจที่นำโดย พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์และกลุ่มทหารที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น กรณีการจัดตั้งหน่วยพลร่ม (Parachute Battalion) ในเบื้องแรก จอมพลสฤษดิ์ ให้ความสนับสนุนเป็นอย่างดี เนื่องจากเขาหวังว่าหน่วยดังกล่าวจะกลายเป็นฐานกำลังของกลุ่มทหารต่อไป แต่ปรากฎว่าต่อมาหน่วยพลร่มได้กลายเป็นฐานกำลังให้กับกลุ่มตำรวจแทน อีกทั้งการสรรหาบุคลากรในการฝึกที่เคยมาจากหลายหน่วยงานเช่น กองทัพบก กองทัพเรือ และตำรวจได้เปลี่ยนแปลงไป

ต่อมาหลัง 2496 กองทัพถูกกันออกจากการฝึกตามหลักสูตรพลร่มทั้งหมดได้สร้างความไม่พอใจให้กับจอมพลสฤษดิ์ และกลุ่มทหารเป็นอย่างมาก ( NARA, RG 469 Entry Thailand subject files 1950-1957 box 7, Charles N. Spinks to Secretary of State , 6 October 1952.; Conversation with General Sarit Thanarat.; Memorandum of Conversation with General Sarit , General Thanom and Colonel Gerald W. David-MAAG, 4 October 1952.; พันศักดิ์ วิญญรัตน์, CIA ข่าวจากสกลนคร: ของฝากถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (กุมภาพันธ์ 2517): 17-18. )

ทั้งนี้ไม่แต่เพียงความจำเป็นที่มาจากข้อสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศสเท่านั้นที่ทำให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มตำรวจอย่างมากเท่านั้น แต่สาเหตุอีกประการมาจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พล ต.อ.เผ่า จอมพลสฤษดิ์ และเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯด้วย โดย โดโนแวน ทูตสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองกันระหว่างกลุ่มทหารและกลุ่มตำรวจ เนื่องจากในระหว่างที่เขาเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำไทย เขาให้ความสนิทสนมกับกลุ่มตำรวจของ พล ต.อ.เผ่า มากกว่ากลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ 

ดังนั้น โดโนแวน ทูตสหรัฐฯ และฮาร์ท หัวหน้าเจ้าหน้าที่ซีไอเอกับบรรดาเจ้าหน้าที่ของซีไอเอในไทยจึงให้สนับสนุนกลุ่มตำรวจมากกว่า ทำให้กลุ่มตำรวจของ พล ต.อ.เผ่า สามารถมีกองกำลังที่เข้มแข็งทัดเทียมกับกลุ่มทหาร ( Flood, The United States and the Military Coup in Thailand: A Background Study, p. 2, 129.; Lobe, United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, pp. 23-24 )

อย่างไรก็ตามการที่ ซีไอเอ เล่นบทสำคัญในปฏิบัติการลับ และทุ่มความช่วยเหลือให้กับกลุ่มตำรวจ ทั้งอาวุธเบา และอาวุธหนักนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน กระทรวงกลาโหมได้เริ่มท้าทายบทบาทของซีไอเอที่มีอิทธิพลเหนือไทย ด้วยความช่วยเหลือให้กับกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์อย่างมากในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน ( Flood, The United States and the Military Coup in Thailand: A Background Study, p. 1. )

แม้ว่าอดีตที่ปรึกษาประธานาธิบ ดีไอเซนฮาวร์ คนหนึ่งเคยแนะนำ โดโนแวน ทูตสหรัฐฯว่า อย่าให้ความ สำคัญเฉพาะแต่กลุ่มตำรวจของ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ด้วย แม้ในเวลาต่อมา โดโนแวน จะพยายามกระจายความช่วยเหลือทางการทหาร และสมานไมตรีกับกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็ตาม แต่การแข่งขันทางการเมืองระหว่างกลุ่มตำรวจของ พลต.อ.เผ่า และกลุ่มทหารของจอมพลสฤษดิ์ก็บาดหมางเกินกว่าที่โดโนแวนจะช่วยเยียวยาความขัดแย้งได้ และมีความเป็นไปได้ว่ายิ่งซีไอเอช่วยเหลือกลุ่มตำรวจมากเท่าใด กลุ่มทหารยิ่งใกล้ชิดจัสแมกมากขึ้นเท่านั้น ( พันศักดิ์ วิญญารัตน์, “CIA ข่าวจากสกลนคร: ของฝากถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ,”: 19.; ) 

ต่อมาจัสแมค (JUSMAG) ได้แนะนำให้กองทัพไทยจัดตั้งหน่วยงานเพื่อต่อต้านข่าวกรอง (Counterintelligence Agency) และทำสงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) ด้วยการตั้งชื่อชื่อว่าโรงเรียนรักษาความปลอดภัยเพื่ออำพรางปฏิบัติการให้กับทั้ง 3 เหล่าทัพ และโรงเรียนเสนาธิการ โรงเรียนดังกล่าวมีเป้าหมายการจัดตั้งเพื่อป้องกัน และรักษาความลับทางการทหารให้พ้นจากการจารกรรม และต่อต้านการก่อวินาศกรรม (หจช.บก.สูงสุด 7 / 6 กล่อง 4 รวมเรื่องเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ การให้ข่าวและการสื่อสารต่างๆ (19 ตุลาคม 2497 – 18 เมษายน 2500) รายงานการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 6 / 2499 13 มิถุนายน 2499).