วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มองให้เห็นถึงปัญหา คุณจะเข้าใจปัญหาเมื่อคุณเข้าใจปัญหา คุณจะเจอคำตอบทั้งหมดของปัญหา

หมายเหตุ บันทึกนี้ผมเขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งบันทึกนี้ผมเขียนก่อนที่แกนนำทั้ง 9 คน จะได้รับการปล่อยตัวและออกมาประกาศเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งก่อนเืลือกตั้งผมเองก็เป็น 1 ในคนที่คิดว่าจะโหวตโน แต่สุดท้ายด้วยความที่ตัวเลือกมีไม่มากและประกอบกับ สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาประกาศโหวตโนเหมือนกันก็เลยทำให้ผมต้องเลือกเพื่อไทย ส่วนที่ถามว่าทำไมผมถึงมีความคิดโหวตโนก็ลองอ่านดูละกันครับ คือประมาณว่าไหนๆก็มีบล้อกแล้ว ส่วนใหญ่จะนั่งหาข้อมูลจากเว็บต่างๆมาผสมกันไปด้วย แต่บันทึกนี้ผมเขียนจากความคิดที่ตกผลึกทางการเมืองไทยหลังจากเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ลองอ่านกันดูละกันครับ ^_^

เราออกมารวมตัวประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการยุบสภามาตลอดเวลาที่ผ่านมาจนเกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ หรือแม้แต่ชีวิตของเพื่อนๆ พี่น้องร่วมอุดมการณ์เรานั้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่เราตะโกนเรียกร้องตลอดหลายปีที่ผ่านมาคืออะไร ?

บางคนอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยคือประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ฯลฯ เราลองมาย้อนคิดกันดู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผมได้ศึกษาข้อมูลมามากมายไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือการสนทนากับบรรดาพี่ๆ ที่คร่ำหวอดกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 , พฤษภา 2535 , รวมถึงย้อนไปศึกษาถึงการปฎิวัติของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 และคลิปการสัมนาต่างๆ ของบรรดาอาจารย์ที่ออกมาแสดงทัศนะทางความคิดที่มีต่อ ประชาธิปไตยให้เราเห็นภาพรวม มันทำให้ผมตกผลึกทางความคิดกับคำว่าประชาธิปไตย จริงๆแล้วหมายถึงอะไร

พวกเราทุกคนอาจจะรู้กันหมดแล้วว่าอำมาตยาธิปไตยคืออะไร  มือที่มองไม่เห็นคืออะไร  ตุลาการภิวัฒน์ อำนาจนอกรัฐธรรมนูญคืออะไร แล้วอำนาจจริงๆ ยังเป็นของประชาชนอยู่จริงหรือ ? 

คุณคิดว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมขอใช้คำว่า “ถ้า” มีการเลือกตั้งก็แล้วกัน ถ้าเกิดมีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลทุกอย่างจะ จบจริงหรือ สามารถนำคนผิดที่สั่งการสังหารหมู่ประชาชนมาลงโทษ สามารถดึงความยุติธรรมกลับมาสู่สังคมได้ สามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติให้กลับมาเหมือนเดิมได้ สามารถทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงหรือ ? การเลือกตั้งคือคำตอบของทุกอย่างหมายถึงประชาธิปไตยที่เราต้องการอย่างนั้นรึป่าวครับ ??

ไม่ใช่เลยคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า เราทุกคนได้เลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าพรรคที่เราเลือกได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ทุกอย่างจะจบ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ปัญหาจริงๆอยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศไทย...

บางคนอาจจะเริ่มเข้าใจแต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจผมจะต่อยอดอธิบายออกมาให้ฟังนะครับ

ทำไมผมถึงบอกว่าปัญหาจริงๆไม่ได้อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้เสียงข้างมาก หรือพรรคการเมืองไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลผมจะแยกประเด็นให้ดูนะครับ
  1. ประเทศไทยหลังจากการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์เป็น ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร์ ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยได้จัดให้มีการเลือกตั้งมาตลอดจนถึงปัจจุบันก็เป็น เวลา 79 ปี และการเลือกตั้งในประเทศไทยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 25 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีทั้งหมดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน 27 คน ลองคิดกันเล่นๆนะครับ 78 ปีถ้านายกรัฐมนตรีทุกคนอยู่ครบวาระ 4 ปี ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบันนะครับ ประเทศเราจะมีการเลือกตั้งแค่ 19 ครั้ง จะมีนายกรัฐมนตรีแค่ 19 คน ซึ่งคนล่าสุดก็กำลังจะหมดสมัย ผมยกให้ในกรณีประกาศยุบสภาผมว่าเต็มที่เราจะมีนายกไม่เกิน 23 คน
  2. ประเทศไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เรามีรัฐธรรมนูญที่เขียนแล้วฉีก ฉีกแล้วเขียนขึ้นมาประกาศใช้ใหม่รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบันรวมทั้งหมด 18 ฉบับ
  3. หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายนั่นคือ การปฎิวัติ 1 ครั้งที่นำโดยคณะราษฎร์ 2475 รัฐประหาร 8 ครั้ง และกฎบ 12 ครั้ง หมายเหตุ หากทำการรัฐประหารในครั้งนั้นไม่สำเร็จจะเรียกว่ากฎบ ประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจะมีสักกี่ประเทศครับที่เกิดเหตุการณ์รัฐ ประหารบ่อยขนาดนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยประเทศที่พวกเราบอกชาวโลกว่าเราเป็นประชาธิปไตย ???
  4. เกิดการสูญเสียทั้งเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนมากมายใน การลุกฮือออกมาต่อต้านการปกครองกึ่งเผด็จการจากผู้ที่กระทำการรัฐประหารยึด อำนาจในแต่ละยุคแต่ละสมัยเรามีวีรชนที่ต้องสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มากี่รุ่นแล้วครับ ไม่ว่าจะ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาคม 2535 , เมษายน 2552 และล่าสุด 10 เมษายน 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา บางคนหายสาบสูญ บางคนโดนเผาซะจนไม่สามารถระบุตัวได้ว่าเป็นใคร นี่หรือครับที่เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
หลังจากที่ยกตัวอย่างง่ายๆให้ดูกันถึงตรงนี้คุณยังคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ปัญหาทุกอย่างจะจบเราจะได้ความเท่าเทียม ความยุติธรรม เสมอภาคกลับมาเหมือนเดิมมั้ยครับ ? ให้เราเลือกตั้งอีก 10 ชาติ เราก็ไม่มีทางพ้นวังวนนี้หรอกครับเพราะปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ระบบ ถ้าเราไม่แก้ที่ระบบ การเลือกตั้งก็เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจการบริหาร และเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่า

ไม่ต่างอะไรจากการเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีอำนาจเป็นเดิมพันเลยสักนิด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งประเทศไทยเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนผมเกิดด้วยซ้ำ ประชาชนต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจนเป็นเรื่องปกติในสังคมของคนไทย เรามักจะได้ยินคำนี้จากปากแม่ค้ากันบ่อยๆ “นักการเมืองหรอ ไม่เคยเห็นหัวหรอก จะเห็นก็ตอนมีการเลือกตั้งนั่นแหละ คนพวกนี้จะเที่ยวมาเดินยกมือไหว้ คนนู้น คนนี้ ทั่วตลาดไปหมดแต่หลังจากได้รับเลือกหรอ ไม่เคยเห็นหัวหรอก” นี่คือคนไทยหรือคนระดับรากหญ้ามองจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับการเมืองไทย

ที่นี้มาวิเคราะห์ประเด็นความเป็นไปได้กันต่อแล้วมานั่งคิดกันว่าเราเลือกที่จะ อยู่ในความฝันหรือเลือกที่จะลืมตามองความเป็นจริง ว่าปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่กับ การเลือกตั้ง รัฐประหาร นองเลือด แล้วก็เลือกตั้ง แบบนี้ไม่จบไม่สิ้นสักที

ประเด็นแรกความเป็นไปได้ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเองยังไม่มีหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไป ประกอบกับปัญหาภายในพรรคเองที่ต่างคนก็ต่างแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยที่จะใช้หาเสียงล่ะ ถึงตรงนี้ผมยังไม่เห็นอะไรที่โดนใจหรือเป็นรูปธรรมเลย มีแต่นามธรรม และส่วนใหญ่คนในพรรคเพื่อไทยเองก็นักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่อยู่กับระบบนี้มามากกว่า 10 ปี แล้วคุณคิดว่าค่านิยมของนักการเมืองโดยส่วนใหญ่เค้าเห็นหัวประชาชนจริงๆ หรือครับ ถึงมีผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่นักการเมืองส่วนใหญ่

ส่วนใน รายของพี่ ตู่ จตุพร ผมมองว่าพี่ตู่เองก็เป็นคนที่เด็ดขาด แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่าพี่ตู่เองก็เป็น ส.ส. ในที่นี้ผมหมายถึงพี่ตู่ก็ยังอยู่ในระบบอำนาจการปกครองแบบนี้ แล้วถามว่าพี่ตู่เองเสียงดังพอ มีพาวเวอร์พอแค่ไหน ที่จะคอนโทรลคนในพรรคเพื่อไทยให้ไปในทิศทางเดียวกับขบวนการประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่กระบวนการแย่งอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง

ประเด็นที่สอง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและปฎิรูประบบการปกครองใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย จริงๆไม่ว่าจะอำนาจตุลาการ หรือการไต่สวน ทำไมประเทศที่เจริญแล้วเค้าถึงใช้ระบบไต่ส่วนแบบลูกขุน ไม่เหมือนประเทศเราที่ยังใช้ระบบกล่าวหาล่ะครับ ถ้าคุณเป็นประชาชนที่นามสกุลไม่ดัง หรืออยู่ในชุมชนที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรมเช่นที่เราชอบเรียกกันว่า สลัม หรือชุมขนแออัดและอยู่ใกล้กับแหล่งอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะการพนัน ยาเสพติด คุณจะเข้าใจเลยว่าระบบกล่าวหาโดยไม่ไต่ส่วนให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเต็มที่ในการดำเนินคดีไม่ว่าจะผิดจริง หรือโดนยัดข้อหา วลีเด็ดที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบใช้ก็คือ “มึงคิดว่าศาลจะเชื่อใคร ระหว่างมึงกับกู” นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “แพะ” และมันจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมนี้ รวมถึงระบบการคานอำนาจกันที่เหมือนงูกินหางสามารถตรวจสอบและเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ถ้าเค้าทำผิดจริง ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ปัญหานี้คุณคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วพรรค เพื่อไทยได้คะแนนเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาลคุณคิดว่าพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาลใหม่กล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดปลีกย่อยนี้หรือครับ ? ผมยกตัวอย่างง่ายๆให้ลองคิดกัน เอาแค่ในหมวดเทวดา ( ในที่นี้ผมหมายถึงรัฐธรรมนูญในหมวดองคมนตรีละกัน ) คุณคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าแก้ไขหมวดนี้หรือครับ ข้อสังเกตง่ายๆ คุณจำสมัยที่ นาย สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีได้มั้ยครับ ? ถ้าจำกันได้นโยบายหลักตอนที่ นาย สมัคร ใช้หาเสียงก่อนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ถ้าพรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยก็พยามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง

แต่...คุณ จำได้มั้ยครับว่ามีพวกไหนออกมาต่อต้าน ? ก็พวกที่ตอนโหวตรับร่างบอกว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ พอจะแก้กันจริงๆ พวกที่เคยสนับสนุนรัฐธรมนูญฉบับปี 2550 หันมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ จนนายก สมัคร ต้องชะลอการแก้รัฐธรรมนูญโดยบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ประเด็นที่ผมพูดคุณลองนั่งนึกดีๆ สมัยที่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช พยามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เค้าเลือกที่จะแก้เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น !!! นี่ยังไม่พูดถึงในหมวดขององคมนตรี หรืออำมาตย์เลยนะครับ

คุณคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยหน้าจะกล้าแตะหรือแก้ไขหมวดนี้ รึป่าวครับ ? เพราะทันทีที่คิดจะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดนี้คนที่พยามแก้จะโดนข้อหาที่ใช้มา โดยตลอดจากฝ่ายอำมาตย์เพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตยนั่นคือข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน” และหมวดนี้ไม่ใช่หรือครับที่เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมากับการเมืองไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยถึงไม่เคยพ้นวงจรนี้  “เลือกตั้ง รัฐประหาร นองเลือด เลือกตั้ง” อยู่อย่างนี้มาตลอด

ถ้าใครเคยอ่านบทความของพี่ อริณ ( รุงโรจน์  ) คงจะจำกันได้ดีเกี่ยวกับบทความที่พี่ อริณ เขียนอยู่เรื่องนึงนั่นคือ “องคมนตรีเป็นสถาบันไปแล้วหรือ ?” หรือบทความ “รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี”

ประเด็นต่อมาอันนี้ผมยกให้เป็นประเด็นหลักเลยละกันสำหรับคนที่ยังตีความคำว่า ประชาธิปไตยยังไม่แตก ถ้าคุณตามข่าวพรรคการเมืองหรือเสื้อแดงมาตลอด คุณมันจะได้ยินบ่อยๆ อยู่ประโยคนึงนั่นคือ “เราจะนำทักษิณกลับบ้าน”

ผมขอตั้งคำถามแบบนี้ ถามว่าถ้า ทักษิณ ชินวัตร กลับมาแล้วอะไรในประเทศจะเปลี่ยนแปลง ?

ที่ผมตั้งคำถามนี้ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบทักษิณ ตัวผมเองในฐานะคนเสื้อแดงก็นับถือ เคารพ และชื่นชมผลงานการบริหารประเทศของ ทักษิณ ที่ทำได้ดีมาก ไม่ได้ต่างจากคนเสื้อแดงหลายๆคน ทำให้เราได้รู้จักว่าประชาธิปไตยที่กินได้คืออะไร และทักษิณ คือเหยื่อของระบบการเมืองแบบนี้ที่มองเห็นชัดที่สุด ทำให้ผมและเสื้อแดงอีกหลายๆคนรู้ว่า อำมาตยาธิปไตยคืออะไร มือที่มองไม่เห็นคืออะไร และกระชากหน้ากากของผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้ออกมาจากเงามืดให้เราได้รู้กัน เพราะทักษิณโดนระบบนี้เล่นงานจนอ่วม ต้องไปอาศัยอยู่ต่างแดน ต้องจากครอบครัว

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เปลี่ยนไปมากไม่ใช่ 4 ปีก่อนหน้านี้ หรือไม่ใช่ 8 ปีที่แล้ว ถ้าคุณสังเกตดีๆ คุณจะเห็นว่าตัวทักษิณเองก็เริ่มถอยตัวเองจากแกนนำหลักที่ คอยปลุกกระแสดึงมวลชนคนเสื้อแดงที่รักในตัวทักษิณ เห็นความไม่ยุติธรรมของระบบที่เกิดขึ้นออกมาร่วมประท้วง ทักษิณได้ถอยหลังออกมาให้มวลชนนำตนเองสามารถนำตนเองได้ โดยที่ตัวทักษิณเองก็บอกว่าเค้าไม่ใช่แกนนำอีกต่อไป เค้ามาในฐานะเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกับเรา เพราะทักษิณก็เข้าใจว่ามวลชนคนเสื้อแดงบางส่วนได้ก้าวข้ามทักษิณไปแล้ว

เดี๋ยวนี้คำว่า ม็อบรับจ้าง หรือขี้ข้าทักษิณ ได้หายไปจากขบวนการคนเสื้อแดงเรียบร้อย จะมีก็แค่สลิ่ม หรือ พวกเด็กน้อยวัยทีนเอจเป็นบางกลุ่มที่ยังเรียกแบบนี้อยู่เพราะเค้าคงคิดไปไกลมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งและตัวผมเองได้ ก้าวข้ามทักษิณมาแล้ว เพราะเรารู้ว่าปัญหาจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่ทักษิณได้กลับบ้านหรือไม่ได้กลับ ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ระบอบการปกครองในประเทศไทยที่ฝังรากลึกมานานมาก ต่อให้ทักษิณได้กลับบ้านถ้าระบบยังไม่เปลี่ยน คุณคิดหรือว่าทักษิณจะได้อยู่ในประเทศนี้อย่างสบายๆ เพราะฝ่ายอำมาตย์เองก็กุมอำนาจไว้หมด ไม่ว่าจะการเมือง การปกครอง หรือแม้แต่ทางทหาร ตราบใดที่ระบบนี้ยังแข็งแกร่ง ให้ทักษิณได้กลับบ้านจริงเค้าก็ต้องตกเป็นเป้าสังหารของฝ่ายอำมาตย์ หรืออีกทางเลือกนั่นก็คือ เค้าต้องเลือกที่จะเล่นไปตามระบบ ระบบที่อำมาตย์วางไว้ ระบบที่ประชาธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน หรือ เรียกง่ายๆว่าประชาธิปไตยแบบ ทุย ทุย ที่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่เดียวคือกาบัตรเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็นั่งมองตาปริ๊บๆดูนักการเมืองโกงกัน

ในขณะที่ผม นั่งเขียนบทความอยู่นี้ก็ได้เห็นข่าวดีของประชาชนชาวอียิปต์ที่ฉลองกันทั่ว ประเทศหลังจากประธานาธิบดี ฮอสนี่ มูบารัค ที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี ในประเทศอียิปต์ประกาศลาออกจากตำแหน่งและออกนอกประเทศไปแล้วขอแสดงความยินดี ด้วยครับ แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของอียิปต์เราก็คอยตามดูกันต่อไป

การปกครองในประเทศไทยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างจากวงจรอุบาทว์ที่เปรียบเหมือน ต้นไม้ต้นใหญ่ที่แตกกิ่งก้่านออกมาจนใหญ่โต การเลือกตั้งก็เหมือนเป็นการตัดแค่กิ่งไม้ออกเราอาจจะได้ประชาธิปไตยชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่หลังจากนั้นไม่นานกิ่งที่โดนตัดก็จะแตกออกมาทำลายระบบประชาธิปไตย ถ้าจะทำลายต้องถอนรากถอนโคนอย่างเดียว

คนในพรรคเพื่อไทยบางคน คนเสื้อแดงบางกลุ่ม หรือแม้แต่อาจารย์ ธิดา เองที่บอกว่า สู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ทุกวันนี้ไม่ใช่หรือครับระบอบนี้ ในประวัติศาสตร์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เรามีรัฐประหาร 8 ครั้ง กฎบ 12 ครั้ง มีเลือกตั้ง 25 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาทั้งหมด 27 คน มีรัฐธรรมนูญใช้มาทั้ั้งหมด 18 ฉบับ รวมถึงฉบับชั่วคราว นี่ไม่ใช่หรือครับระบอบนี้ เหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองไม่ว่าจะ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 , พฤษภา 35 ,เมษา 52,10 เมษา - 19 พฤษภา 53 ไม่ใช่ระบอบนี้หรือครับ ??? คุณจะสู้เพื่ออะไรครับเพราะตราบใดที่ระบอบนี้ยังคงอยู่เราก็จะมีวีรชนเพิ่มขึ้นตามแต่ละสมัย

พรรคเพื่อไทยเองถ้าก้าวข้ามมากไปกว่านี้ไม่ ได้ก็ถอยลงมาคอยสนับสนุนจะดีกว่ามั้ยครับ ? เพราะพวกคุณก็ต้องเล่นตามระบบ ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนจะเป็นคนวางระบบด้วยตัวเอง ดังคำที่ว่า โดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่คำว่าประชาธิปไตยแบบ ทุย ทุย ที่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่แค่เลือกตั้ง ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็น แสดงความคิด หลังจากเลือกตั้งเสร็จประชาชนก็ก้มหน้าก้มตา ทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบกันต่อไป ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดูนักการเมืองที่เลือกเข้าไปเป็นผู้แทน คอรัปชั่น เอาภาษีไปโกงกินกัน ไม่เคยเห็นถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเหมือน ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย แต่เราหนีความจริงไม่ได้หรอกครับ อีกไม่นานแน่รับรองประเทศไทยจะต้องจะต้องเกิดเหตุการณ์สงครามเซคิงาฮาร่าในเมืองไทยสงครามที่มีอำนาจเป็นเดิมพันเมื่อถึงเวลานั้น คุณเลือกที่จะอยู่ในทางสายกลางของประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชน หรือจะยอมตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่กระหายอำนาจโดยใช้มวลชนเป็นเครื่องต่อรอง ตัวคุณต้องเลือกคำตอบให้ตัวเอง...

ด้วยความนับถือ