วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประวัติการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย

การเลือกตั้งครั้งที่ 1 วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทย และเป็น "การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" ตราบจนปัจจุบัน โดยเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476

ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังที่เหตุการณ์กบฎบวรเดช ยุติลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้วจำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในขณะนั้นประเทศไทย (ยังคงใช้ชื่อว่า สยาม) แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน

ระบบการเลือกตั้ง

ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ 
ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสมาชิก
ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการ 

สมาชิกทั้งสองประเภทมีจำนวนเท่ากันและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีเท่ากัน การเลือกตั้งจึงเลือกเฉพาะสมาชิกประเภทที่หนึ่งเท่านั้น

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง

พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า


โดยที่ทรงเห็นเป็นการสมควรดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาไว้ดังนี้


มาตรา 1 ตั้งแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกานี้เป็นต้นไป ให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2476


มาตรา 2 บุคคลใดปรารถนาจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลของตำบลใด ให้ไปลงชื่อของตนที่กรมการอำเภอที่ตำบลนั้นขึ้นอยู่ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2476


มาตรา 3 ให้กรมการอำเภอกำหนดวันเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476


มาตรา 4 บุคคลใดปรารถนารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรให้ไปยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ.ศาลากลางจังหวัดก่อนเดือนตุลาคม พ.ศ.2476


มาตรา 5 ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรต้องมีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้


มาตรา 6 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในระหว่างเดือนพฤศจิกายน กับ ธันวาคม พ.ศ.2476 


มาตรา 7 ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้


ประกาศมา ณ. วันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรี


ที่มา เล่ม 50 หน้า 356 ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476


ในขณะนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ทั้งหมด 4,278,231 คน มีผู้ออกไปใช้สิทธิทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.5 โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71


การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 78 คน รวมกับสมาชิกประเภทที่สองเป็น 156 คน

หลังการเลือกตั้งได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหล พลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นสมัยที่ 2) และถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุที่รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบด้วยความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยางแต่สภาฯไม่เห็นชอบด้วยกับความตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง


พันเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)