วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 8

สหรัฐฯกับความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทย

เมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในเดือนมิถุนายน 2493 ประธานาธิบดีทรูแมน ได้วางแผนปฏิบัติการลับด้วยการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารเพื่อสกัดกั้นการแผ่ของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชีย ( Harry Rositzke, The CIA’s Secret Operations Espionage, Counterespionage and Covert Action,(London: Westview Press, 1988), p. 174.)

โดยให้เจ้าหน้าที่การทหาร และซีไอเอ เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อพบ วิลลิส เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เพื่อประสานงานการสืบความเคลื่อนไหวของกองทัพโฮจิมินต์ในอินโดจีนร่วมกับกองทัพฝรั่งเศส การพบกันครั้งนี้ เบิร์ดได้แจ้งกับตัวแทนซีไอเอว่า รัฐบาลไทยพร้อมจะร่วมมือกับสหรัฐฯ แต่ขาดประสบการณ์และอุปกรณ์ แต่ผู้แทนจากสหรัฐฯ ชุดนี้ยังไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ต่อมา เบิร์ดได้จัดการให้ผู้แทนซีไอเอพบกับตัวแทนจากตำรวจ และทหารไทยเป็นการส่วนตัว เมื่อผู้แทนซีไอเอเดินทางกลับไปเจรจาการให้ความช่วยเหลือจากซีไอเอ 

ขณะนั้นไทยและสหรัฐฯ ยังไม่มีข้อตกลงทางการทหาร CIA จึงได้หลบเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยในทางอ้อม ผ่านการจัดตั้งบริษัทเอกชน ชื่อ เซ้าท์อีส เอเชีย สัพพลาย(South East Asia Supplies)หรือซีสัพพลาย ที่เมืองไมอามี่ ฟลอริดา ด้วยเงินจำนวน 35,000,000 ดอลลาร์ เพื่อให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ไทยในทางลับ ( Thomas Lobe and David Morell, “Thailand’s Border Patrol Police : Paramilitary Political Power ” in Supplemental Military Forces: Reserve , Militarias, Auxiliaries Louis A. Zurcher and Gwyn Harries Jenkins (Berverly Hills and London: SAGE,1978), p.156. )

ต่อมาในปลายปี 2493 กรมตำรวจไทย ได้เสนอให้กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้ง พอล ไลโอเนล เอ็ดวาร์ด เฮลลิแวล (Paul Lionel Edward Helliwell) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทย ณ เมืองไมอามี่ เพื่อเป็นผู้ประสานงานระหว่างซีไอเอและกรมตำรวจ  ( กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1102 - 344 - 202 - 522 - 9401 กรมอเมริกาและแปซิกฟิกใต้ กองอเมริกาเหนือ การแต่งตั้ง กงลุสใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมือง ไมอามี สหรัฐอเมริกา 2494-2522, นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 16 ธันวาคม 2493. )

พอล ไลโอเนล เอ็ดวาร์ด เฮลลิเวล อดีตโอเอสเอสในจีน เป็นคนกว้างขวาง และมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายของสหรัฐฯ เขามีล็อบบี้ยิสต์ที่ใกล้ชิดกับรองประธานาธิบดีจอนห์สัน ( Lyndon Baines Johnson) เช่น ทอมมี คอโคลัน (Tommy Corcoran) และเจมส์ โรว์ (James Rowe) ที่ปรึกษาของรองประธานาธิบดีจอนห์สัน (Scott, The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, p. 211)  

เขามีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่าง CIA และซีสัพพลาย กับองค์กรอาชญากรรมในการค้าฝิ่น สำนักงานใหญ่ของซีสัพพลายที่ไมอามี่ โดยมีเขาเป็นหัวหน้า และเขาเคยเป็นกงสุลไทยประจำไมอามี ตั้งแต่ 2494 เขามีบทบาทสำคัญในการประสานงานระหว่างสหรัฐฯ และไทย ทั้งนี้ระหว่างที่เขาเป็นกงสุลให้ไทยช่วง 2498-2499 เขาได้เป็นเลขานุการบริษัท American Banker’s Insurance Company ในรัฐฟลอริดาทำหน้าที่ส่งผ่านเงินจำนวน 30,000 ดอลลาร์ในการจัดหาบริษัทล็อบบี้ยิสต์ใน วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อค้าฝิ่น (Ibid., p. 211).

จากนั้น ต้นปี 2494 เบิร์ด ได้ตั้งบริษัทชื่อเดียวกันขึ้นในไทย โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทการค้าที่นำเข้า และส่งออกสินค้าเพื่อปกปิดภารกิจลับ ในทางเปิดเผยแล้วซีสัพพลายทำงานตามสัญญาให้กับรัฐบาลไทย แต่ภาระกิจที่แท้จริง คือทำหน้าที่รับขนส่งอาวุธของสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในไทยด้วยเครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์ให้แก่กองทัพก็กหมินตั๋งในจีนตอนใต้และให้การสนับสนุนตำรวจไทยในทางลับ ด้วยการจัดตั้ง การฝึกและสนับสนุนอาวุธให้กับตำรวจพลร่มและตำรวจตระเวนชายแดน ( Scott , The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, p. 194.; Nicholas Tarling, Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, (Singapore: Singapore University Press, 2005), p.159 . )

ทั้งนี้ ซีสัพพลาย มีภารกิจคู่ขนานในไทยมี 2 ประการ ประการแรก คือ การให้ความช่วยเหลือกองพล 93 ของก็กหมินตั๋งภายใต้การนำของนายพลหลีมี่ ที่เริ่มต้นในปี 2494 ให้ทำหน้าที่โจมตี และก่อกวนกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในแถบตอนใต้ของจีน โดยซีสัพพลายร่วมมือกับตำรวจไทยได้ส่งกำลังอาวุธและกำลังบำรุงให้กองพล 93 ผ่านบริษัทแคท แอร์ (Civil Air Transport :CAT หรือ Air America) ที่รับจ้างทำงานให้กับ CIA 

โดยมีตำรวจพลร่ม และตำรวจตระเวนชายแดนที่ซีสัพพลายให้การฝึกการรบแบบกองโจร ได้เข้าร่วมปฏิบัติภาระกิจร่วมกับกองพล 93 ในการแทรกเข้าซึมตามชายแดนของไทยกับเพื่อนบ้าน เช่น หน่วยก็กหมิ๋นตั๋งที่รัฐฉานมีกำลังพล 400 คนทำหน้าที่หาข่าวในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว และกัมพูชา ซึ่งดำเนินการด้วยเงินราชการลับของสหรัฐฯ จำนวน 300,000 บาทต่อเดือน ( พ.อ.กาญจนะ ประกาศวุฒิสาร, ทหารจีนคณะชาติ ก็กหมินตั๋ง ตกค้างทางภาคเหนือประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: สยามรัตน์พริ้นติ้ง, 2546), หน้า 39-40.; พ.ต.อ.พุฒ บูรณสมภพ, 13 ปี กับบุรุษเหล็กแห่งเอเชีย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พีวาทิน พับลิเคชั่น จำกัด, 2532), หน้า 169. )

สำหรับภาระกิจประการที่สองของซีสัพพลาย คือ การสนับสนุนตำรวจไทยนั้น เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เป็นผู้รับผิดชอบการฝึกปฏิบัติการตำรวจพลร่ม (Parachute Battalion) รุ่นแรกขึ้นที่ ค่ายเอราวัณ ลพบุรีในเดือนเมษายน 2494  ( พล.ต.ต. นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย,(กรุงเทพฯ: กองบรรณาธิการนิตยสารโล่ห์เงิน , 2530), หน้า 10.; Thomas Lobe,United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, (Monograph Series in World Affaires University of Denver,1977), p. 19 ,fn.13, P.129.; พันศักดิ์ วิญญรัตน์, “CIA ข่าวจากสกลนคร: ของฝากถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ,” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (กุมภาพันธ์ 2517): 17-18. เดือนตุลาคม 2493 มีรายงานของฝรั่งเศสว่า ฝรั่งเศสได้ส่งปฏิบัติการลับเข้าไปในภาคอีสานของไทยเพื่อติดตามกิจกรรมของพวกเวียดมินห์ (Christopher E. Goscha, Thailand and the Southeast Asian Networks of the Vietnamese Revolution, 1885-1954,[Richmond, Surrey: Curzon,1999], p. 324.; Tarling, Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, p.159.)

ต่อมา CIA ได้ส่ง ร.อ.เจมส์ แลร์ (James William Lair) และ ร.อ.เออร์เนส ชีคค์ (Ernest Jefferson Cheek) เข้ามาเป็นครูฝึกซึ่งมีฐานะเป็นข้าราชการตำรวจ ทำหน้าที่ฝึกตำรวจพลร่มตามหลักสูตรการรบแบบกองโจร มีการฝึกการใช้อาวุธพิเศษ การวางระเบิดทำลาย การก่อวินาศกรรม ยุทธวิธี และการกระโดดร่ม (หจช.(3) สร. 0201.14 / 14 กล่อง 1 จ้างชาวต่างประเทศเป็นครูฝึกหัดตำรวจพลร่ม (21 ธันวาคม 2496–18 มกราคม 2502) พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 ธันวาคม 2496.; 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536),(กรุงเทพฯ: กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, 2536), หน้า 68 . 

 เจ้าหน้าที่ที่ CIA หรือซีสัพพลายส่งเข้ามาปฏิบัติงานในไทย เช่น เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ (James William Lair) สอนการใช้อาวุธ, จอห์น แอล. ฮาร์ท (John L. Hart), ปีเตอร์ โจสท์ (Pete Joost), เออร์เนส เจฟเฟอร์สัน ชีคค์ (Ernest Jefferson Cheek), วอล์เตอร์ พี. คูซมุค (Walter P. Kuzmuk) สอนการกระโดดร่ม, นายแพทย์จอห์นสัน (Dr. Johnson),พอล (Paul) , โรว ร็อกเกอร์ (Rheu Rocker) สอนกระโดดร่ม, กรีน (Gene) , ริชาร์ด ฟาน วินสกี (Richard Van Winkee) และ ชาร์ล สทีน (Charle Steen) บุคลากรเหล่านี้ เคยทำงานกับกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ มาก่อน พวกเขามีประสบการณ์มากในปฏิบัติการกึ่งทหาร ด้านการใช้อาวุธ การข่าว การบำรุงรักษาวิทยุสื่อสาร และพาหนะ การกระโดดร่ม แต่พวกเขาไม่มีประสบการณ์ด้านงานตำรวจเลย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของซีสัพพลายมาจากสายลับ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ (พล.ต.ต นายแพทย์ นคร ศรีวาณิช, กำเนิดพลร่มไทย, หน้า 209.; Lobe ,United States National Security Policy and Aid to The Thailand Police, p. 23).

ต่อมามีการขยายโครงการฝึกตำรวจตระเวนชายแดนอย่างเร่งด่วน ในค่ายฝึกที่อำเภอจอหอ นครราชสีมาจำนวน 7,000 คนเพื่อป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ทางอีสาน และทางใต้ของไทย ( Ibid., p.20. ต่อมาได้จัดตั้งตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 5 มีนาคม 2495 เพื่อทำหน้าที่ตรวจตราและระวังรักษาชายแดน(หจช.มท. 0201.7/17 กรมตำรวจแจ้งว่าเนื่องจากกรมตำรวจได้ตั้งกองตำรวจรักษาดินแดนขึ้นใหม่จึงขอให้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 28 เมษายน 2495).

ตั้งแต่นั้นมา กรมตำรวจ และที่ปรึกษาอเมริกันที่เข้ามาในฐานะเจ้าหน้าที่ของซีสัพพลาย ได้ร่วมมือขยายค่ายฝึกในอีกหลายแห่ง เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี และเชียงใหม่ ( พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา, “บันทึกความทรงจำ,” ใน 40 ปี ตชด.(6 พฤษภาคม 2536), หน้า 39. )

นอกจากนี้ ซีสัพพลายได้ช่วยเหลือในการฝึกกองกำลังพลเรือนกึ่งทหารในการรบนอกแบบ การแทรกซึม และการให้อาวุธแก่ตำรวจตระเวนชายแดน เช่น ปืนคาร์ไบน์ มอร์ตา บาซูกา ระเบิดมือ อุปกรณ์การแพทย์ ต่อมาพัฒนาเป็น เป็นรถเกราะ รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ (Thomas Lobe and David Morell, “Thailand’s Border Patrol Police: Paramilitary Political Power,” in Supplemental Military Forces: Reserve, Militarias, Auxiliaries, Louis A. Zurcher and Gwyn Harries Jenkins (Berverly Hills and London: SAGE,1978), p. 157.)

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือของ CIA ที่ให้กับตำรวจนั้นเป็นความลับมาก แม้แต่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ก็ไม่รู้เรื่องความช่วยเหลือดังกล่าว ต่อมา เมื่อเขารู้เรื่องราวดังกล่าว แต่เขาก็ไม่มีอำนาจแทรกแซงกิจกรรมต่างๆ ได้ ความช่วยเหลือในทางลับนี้สร้างความไม่พอใจให้กับเขามาก (Tarling , Britain, Southeast Asia and the Impact of Korean War, p. 158. )

สำหรับความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐฯ แก่กองทัพไทยนั้น เมื่อกองทัพเกาหลีเหนือ บุกเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน 2493 นั้น กระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหมสหรัฐฯ ได้ตกลงกันในต้นเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันที่จะส่งคณะกรรมาธิการร่วม ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหม (United States Military Survey Team ) เดินทางมาสำรวจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โดยมีจอห์น เอฟ. เมลบี (John F. Melby) ผู้ช่วยพิเศษของผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการตะวันออกไกล และ พล.ร.อ.เกรฟ บี. เออร์สกิน (Graves B. Erskine) ผู้บังคับการกองพลนาวิกโยธินที่ 1 ค่ายเพลเดลตัน แคลิฟอร์เนีย เพื่อสำรวจสถานะทางทหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะถูกคอมมิวนิสต์คุกคาม โดยสหรัฐฯมีแผนการให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่กองทัพบกไทยด้วยอาวุธสำหรับ 9 กองพล และสำหรับกองทัพเรือ และกองทัพอากาศเป็นอาวุธ และการฝึกการทหาร (Library of Congress, Declassified CK3100360771, Memorandum For President, 10 July 1950.; กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1105-344-301-401-9301 ไทยขอความช่วยเหลือด้านวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐฯเพื่อร่วมรบในสงครามเกาหลี 2493-2494, วรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 26 กรกฎาคม 2493 )

จากนั้น รัฐบาล จอมพล ป.ได้ตอบสนองท่าทีของสหรัฐฯ ด้วยการตัดสินใจเสนอที่จะส่งทหารไทย 4,000 คนเข้าร่วมสงครามเกาหลี ( เดลิเมล์, 21 กรกฎาคม 2493 ) ท่าที่ดังกล่าวของรัฐบาลจอมพล ป.สร้างความประทับใจให้ประธานาธิบดีทรูแมน เป็นอันมาก ( Harry S. Truman, Years of Trial and Hope, 1946-1952 Vol 2., (New York: A Signet Book, 1965), p. 423. )

เมื่อคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางเข้ามาสำรวจฐานทัพอากาศดอนเมือง กรมอู่ทหารเรือ และกรมทหารปืนใหญ่ ฯลฯ ในช่วง 21 สิงหาคม – 28 สิงหาคม 2493 คณะกรรมาธิการฯ ประเมินว่ากองทัพไทย เหมาะสมที่จะเข้าร่วมสงครามเกาหลี ( หจช.กต. 73.7.1/87 กล่อง 6 คณะสำรวจอเมริกันเดินทางมาประเทศไทย (2493), Stanton to Minister of Foreign Affaire, 9 August 1950.; หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, นายเขมชาติ บุณยรัตพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี 26 กันยายน 2493. )

ต่อมาสหรัฐฯ ได้ส่งคณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางการทหารแห่งสหรัฐฯ หรือแมค (United States Military Assistance Advisory Group: MAAG) เดินทางมาถึงไทยในเดือนตุลาคม เพื่อเตรียมการทำข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการทหารระหว่างไทย และสหรัฐฯ ซึ่งต่อมา สหรัฐฯ และไทยได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวเมื่อ 17 ตุลาคมปีเดียวกัน ( จันทรา บูรณฤกษ์ และปิยะนาถ บุนนาค, “เรื่อง ผลกระทบทางการเมืองจากความสัมพันธ์ไทย - สหรัฐอเมริกา(พ.ศ.2463-2506)” รายงานวิจัยทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521, หน้า 152. )

ต่อมาแมค ( MAAG) ได้เปลี่ยนชื่อเป็น คณะที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือทางการทหารของสหรัฐอเมริกาหรือจัสแมค (Joint United States Military Advisory Group: JUSMAG) ในเดือนกันยายน 2497

สาระสำคัญในข้อตกลง คือ สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร โดยอาวุธยุทธโธปกรณ์ทั้งหมดจะโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากสหรัฐฯ ( หจช.สร. 0201.96 / 8 กล่อง 2 ข้อตกลงเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศไทยของสหรัฐฯ (6 กันยายน 2493-28 กันยายน 2498).

ข้อตกลงทางการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯฉบับนี้มีความสำคัญมากในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ไทยได้ตกเข้าสู่ระเบียบโลกของสหรัฐฯ

ในช่วงเวลานั้น สหรัฐฯ เห็นว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้ให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ การไม่รับรองจีนแดง และการกระตือรือร้นในการส่งทหารเข้าสงครามเกาหลีนั้น สหรัฐฯ ถือว่ารัฐบาลได้แสดงการผูกพันตนเข้ากับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ และเป็นการแสดงความมิตรกับสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ดังนั้น สหรัฐฯ ต้องการสร้างความแนบแน่นระหว่างกันเพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกไกลให้ดำรงอยู่ต่อไป 

แต่การเมืองไทยที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.กลับไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับการพยายามรัฐประหารบ่อยครั้ง เป็นเหตุให้รัฐบาลไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายตามสหรัฐฯ ดังนั้น สหรัฐฯ ต้องการที่จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองและมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ( “Policy Statement Prepared in the Department of State, 15 October 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6,pp.1529-1530. )

ทั้งนี้ ไทมส์ (Time) ซึ่งเป็นนิตยสารชั้นนำวิเคราะห์ว่า รัฐบาลของ จอมพล ป. ได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เพื่อหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ( หจช.กต. 80 / 29 กล่อง 3 บทความเกี่ยวกับประเทศไทยในหนังสือพิมพ์, Times, 17 October 1950. )

ดังที่ได้เห็นมาแล้วว่า รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งอยู่ท่ามกลางการท้าทายอำนาจจากกลุ่มการเมืองต่างๆ และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในจีน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีนโยบายขยายการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปกป้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ทำให้รัฐบาล จอมพล ป.เห็นหนทางที่จะได้รับการสนับสนุนอาวุธแบบใหม่จากสหรัฐฯ เพื่อปรับปรุงสมรรถนะทางการทหารอันจะทำให้รัฐบาลสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้ 

แต่ในชั้นแรกนั้น สหรัฐฯ ยังคงไม่ตอบสนองต่อคำขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากไทย และเมื่อสหรัฐฯต้องการให้ไทยรับรองรัฐบาลเบาได๋ รัฐบาลได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนทางการทหารของไทย อีกทั้งเมื่อรัฐบาลตัดสินใจส่งทหารไปสงครามเกาหลียิ่งสร้างความมั่นใจให้กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ เห็นว่า ตราบเท่าที่รัฐบาล จอมพลป. ยังคงสนับสนุนสหรัฐฯ ตราบนั้น สหรัฐฯยังสามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้ ( “Stanton to The Secretary of States, 19 March 1951,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, pp. 1599-1601.; Coast, Some Aspects of Siamese Politics, p. 51.)

ความขัดแย้งในคณะรัฐประหารท่ามกลางการรุกของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

โครงสร้างอำนาจในคณะรัฐประหารช่วง 2490 - 2493 ตั้งอยู่บนฐานของอำนาจของ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ในฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารบก และผู้นำของค่ายราชครู และค่ายของพล ท.กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีนายทหารบกจำนวนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนเขา โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความขัดแย้งระหว่างจอมพลผิน และพล ท.กาจได้เพิ่มขึ้น เนื่องจาก พล ท.กาจมีความต้องการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแทนจอมพลผิน 

เขาได้เริ่มขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และทางเศรษฐกิจเพื่อท้าทายค่ายราชครูทำให้ จอมพล ป.ต้องเล่นบทประสานความขัดแย้งระหว่างจอมพลผิน และพล ท.กาจ เสมอ ( “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 42-45, 60. )

ต่อมา พล ท.กาจ ได้พยายามโจมตี จอมพลผิน ด้วยการเขียนหนังสือชุด “สารคดีใต้ตุ่ม” เพื่อกล่าวหาว่าจอมพลผินฉ้อราษฎรบังหลวงทำให้จอมพลผินไม่พอใจในการเปิดโปงจาก พล ท.กาจ ( พล.ท.กาจ  กาจสงคราม, สารคดี เรื่อง สถานะการณ์ของผู้ลืมตัว,(พระนคร: โรงพิมพ์รัฐภักดี, 2492); “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ, (พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 54.; เสียงไทย, 1 พฤศจิกายน 2492 )

ปลายเดือนสิงหาคม 2492 จอมพล ป .ต้องการให้ พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี “กลุ่มปรีดี” เข้าร่วมคณะรัฐมนตรี โดยหวังว่าจะทำให้สหรัฐฯ มีความพึงพอใจในการที่จะให้ความช่วยเหลือทางการทหาร และนำนักการเมือง “กลุ่มปรีดี” กลับมาสู่การเมืองเพื่อบั่นทอนอำนาจการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกขัดขวางโดย พล ท.กาจ และเขมชาติ บุณยรัตนพันธ์ เนื่องจาก กลุ่มของเขาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่ต้องการให้ พล ร.ต.ถวัลย์ กลับมาฟื้นฟูพรรคสหชีพ และแนวรัฐธรรมนูญขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์อีก ซึ่งเหตุเหล่านี้จึงได้กลายเป็นชนวนความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารหรือในกองทัพบกระหว่าง จอมพล ป. ,จอมพลผิน และ พล ท.กาจ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R003300290006-5, 22 September 1949, “Communist Strategy and Tactics in Thailand”. )

ไม่แต่เพียงความแตกแยกในกองทัพบกเท่านั้น แต่การที่คณะรัฐประหารกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งภายหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้กองทัพเรือ ซึ่งได้เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” ให้ขึ้นมามีอำนาจแทนกองทัพบกตกจากอำนาจลงไปอีก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเรือเป็นอย่างยิ่ง และพวกเขามีความต้องการที่จะท้าทายอำนาจของกองทัพบก นอกจากนี้ ในห้วงเวลาดังกล่าว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพบก ซึ่งเป็นฐานกำลังที่ให้การสนับสนุนรัฐบาล มิพักที่จะต้องรวมถึงการต่อต้านจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ภายในระบบราชการด้วย โดย ม.จ.ปรีดีเทพพงศ์ เทวกุล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามขับไล่ นายวรการ บัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เป็นคนสนิทของ จอมพล ป.ออกไป ด้วยทรงเห็นว่า นายวรการ บัญชาไม่มีความสามารถในด้านการต่างประเทศเท่าพระองค์ (NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R002800780003-7, 20 July 1949 , “Opposition to M.C. Pridithepong Devakul ”.)

ท่ามกลางศึกภายนอกหลายด้านของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มาจากการท้าทายรัฐบาลของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มปรีดี” (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 box 7251, Hannah to Secretary of State,“View of a Pridi Supporter on Political event in Thailand-Summary of Paper on Thai Political Development written by a Supporter of Pridi Phanomyong,” 30 December 1949 )

ซีไอเอยังคงรายงานว่า จอมพล ป. ยังคงเลือกที่จะร่วมมือกับ “กลุ่มปรีดี” ผู้เป็นมิตรเก่าของเขามากกว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” เขาได้ประกาศทางวิทยุในเดือนธันวาคม 2492 ด้วยน้ำเสียงที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะขอคืนดีกับ ปรีดี พนมยงค์ โดยสาเหตุอาจมาจาก เขาตระหนักถึงพลังทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในรัฐบาล รัฐสภา และในสังคม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ที่ให้อำนาจทางการเมืองแก่พระมหากษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบแก่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มากกว่ากลุ่มการเมืองอื่น ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-0108A000100020022-4, 12 December 1949 , “Phibul paves way for Pridi reconciliation ”. )

ในขณะที่ศึกภายในคณะรัฐประหารนั้นยังคงคุกรุ่นต่อไป โดย พล ท.กาจ กาจสงคราม ประกาศเป็นปรปักษ์กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ,จอมพลผิน ชุณหะวัณ และพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อย่างชัดเจน จากนั้นเขาได้ร่วมมือกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์เสนอญัตติอภิปรายเพื่อล้มรัฐบาล ( นครสาร, 1 พฤศจิกายน 2492.; NA, FO 371/76277, Thompson to Foreign Office, 6 December 1949. )

ต่อมาสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ ได้เคลื่อนไหวขัดขวางการบริหารของรัฐบาลด้วยการยับยั้งร่างพระราชบัญัติบงบประมาณปี 2493 ทำให้สมาชิกคณะรัฐประหาร และอดีตคณะราษฎรบางคน เช่น พล ต.อ.เผ่าและพล ท.มังกร พรหมโยธี ไปเจรจากับ เตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทยและแกนนำสำคัญคนหนึ่งใน “กลุ่มปรีดี” เพื่อขอการสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. เตียงตัดสินใจให้สมาชิกสภาผู้แทนฯ ในกลุ่มของเขามีมติยืนยันการประกาศใช้งบประมาณเพื่อล้มล้างมติของสมาชิกวุฒิสภาได้สำเร็จ เนื่องจากเขาไม่ต้องการให้ พล ท.กาจ ขึ้นมามีอำนาจ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memoramdum of Conversation James Thompson and R.H. Bushner, 12 August 1949.; Hannah to Secretary of State, 14 December 1949. )

สำหรับความขัดแย้งระหว่างกองทัพนั้น กลางธันวาคม 2492 ซีไอเอรายงานข่าวว่า กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มีแผนการรัฐประหาร แต่แผนการรั่วไหลเสียก่อน โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม รับทราบทำให้รัฐบาลประกาศปลด พล.อ.ท.เทวฤทธิ์ พันลึก จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศ 

สำหรับสาเหตุของการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ มาจากปัญหาการคอรัปชั่นของ จอมพลผิน ชุณหะวัณและจอมพล สฤษดิ์ ในการจัดซื้ออาวุธให้กองทัพหลายกรณี เช่น รถถังเบรนกิ้น ที่อื้อฉาวทำให้นายทหารในกองทัพบกจำนวนหนึ่งไม่พอใจ การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ ซีไอเอเห็นว่ามีความแตกแยกในกองทัพบก และระหว่างกองทัพด้วยเช่นกัน ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R004000600004-1, 27 December 1949, “Current Political Crisis in Thailand”.

ในรายงานฉบับนี้รายงานว่า พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส มีความเกี่ยวข้องกับการพยายามรัฐประหารครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แจ้งกับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันภายในกองทัพบกในการจัดซื้อรถถังเบรนกิ้น จำนวน 250 คันและเขามีธุรกิจการค้าฝิ่นจากรัฐฉานส่งไปขายยังฮ่องกง (NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, Memorandum of Conversation P. Phibunsonggram and Stanton, “ Corruption in Army and Government service,” 16 June 1950.; NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin, ”Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950.; FO 371/92952 Whittington to Foreign Office (Morrison), 16 April 1951). 

สถานทูตอังกฤษในไทยได้รายงานว่า รถถังเบรนกิ้นเป็นยุทโธปกรณ์ตกรุ่นจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริษัทสายฟ้าแลบซึ่งเป็นบริษัทของจอมพลผิน ชุณหะวัณและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นนายหน้าสั่งมาจากศรีลังกา จำนวน 250 คัน แต่รถถังเหล่านี้ใช้การไม่ได้ถึง 210 คัน

เมื่อรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม รอดพ้นจากการพยายามรัฐประหารที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกองทัพลงได้ก็ตาม แต่ปัญหาที่เขาต้องดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือปัญหาความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารซึ่งเป็นฐานอำนาจที่ค้ำจุนรัฐบาลของเขานั้น ทำให้ จอมพล ป.ตัดสินใจเลือกที่จะสนับสนุนจอมพลผิน ชุณหะวัณ มากกว่า พล ท.กาจ กาจสงคราม ดังนั้น เขาสั่งการให้ พล ท.กาจยุติการให้สัมภาษณ์ เขียน และตีพิมพ์ “สารคดีใต้ตุ่ม” ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรัฐประหารแต่พล ท.กาจ ปฏิเสธ ( พิมพ์ไทย, 10 มกราคม 2492.; “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 74-75. )

เขายังคงเคลื่อนไหวเพื่อท้าทายอำนาจของ จอมพลผิน ต่อไป จากนั้นกลางดึกของ 26 มกราคม 2493 จอมพลผิน และ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้รายงานแผนการรัฐประหารของ พล ท.กาจ ต่อจอมพล ป. ในวันรุ่งขึ้น พล ท.กาจ ถูกจับกุมฐานกบฎ โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล ต.อ.เผ่า ร่วมมือกันจับกุมเขา จากนั้น จอมพล ป.ได้สั่งปลด พล ท.กาจ จากรองผู้บัญชาการทหารบก และให้เขาเดินทางออกนอกประเทศ ความพ่ายแพ้ของ พล ท.กาจ ทำให้ความแตกแยกภายในคณะรัฐประหารลดลง ( NARA, RG 319 Entry 57, Sgd. Cowen Military Attache Bangkok to CSGID Washington D.C., 28 January 1950.; “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12/2493 (วิสามัญ) ชุดที่1 10 กุมภาพันธ์ 2493,” ใน รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญ พ.ศ.2493 เล่ม 1,(พระนคร: โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2497), หน้า 1624-1627.; “ฟรีเพรสส์”, เนรเทศหลวงกาจ,(พระนคร: สหกิจ, 2493), หน้า 78-82. )

ภายใต้ระบอบการเมืองที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกแบบผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หันมาสร้างความแข็งแกร่งของรัฐบาลของเขาในทางการเมืองผ่านสภาผู้แทนฯ ด้วยการพยายามจัดตั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลชื่อพรรคประชาธิปไตยเพื่อต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ ( เกียรติศักดิ์, 12 มกราคม 2493.; สายกลาง, 14 มกราคม 2493. )

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภานำโดย พระยาอรรถการียนิพนธ์ หลวงประกอบนิติสาร และพระยาศรีธรรมราช วิจารณ์รัฐบาลว่า จอมพล ป.ควรลาออกจากตำแน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลแทน และให้คณะรัฐประหารต้องออกไปจากการเมือง ( หลักเมือง, 17 มกราคม 2493. )

ความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวทำให้ ประเทือง ธรรมสาลี สมาชิกสภาผู้แทนฯ จังหวัดศรีษะเกษ ได้วิจารณ์บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาว่า “ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชน ไม่มีประโยชน์และการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 นี้ไม่เป็นประชาธิปไตย”(เสียงไทย, 19 มกราคม 2493)

หนังสือพิมพ์ไทยขณะนั้นได้รายงานว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในหลายทางเพื่อโค่นล้มรัฐบาลนั้น ทำให้ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้สั่งการให้ตำรวจสันติบาลสะกดรอยความเคลื่อนไหวของ กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ และนักการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” อย่างใกล้ชิด ( ประชาธิปไตย, 20 มกราคม 2493. )

แม้สถาบันกษัตริย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” จะประสบความพ่ายแพ้ในการรักษาอำนาจให้กับรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลตัวแทนของพวกตนที่ถูกบังคับลงด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารก็ตาม แต่พวกเขายังคงประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็นสถาปนิกทางการเมืองในการออกแบบระบอบการเมืองที่ทำให้พวกตนได้เปรียบภายใต้รัฐธรรมนูญ 2492 ต่อไป ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้สำเร็จราชการฯ สมาชิกวุฒิสภากับ รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาใหม่ 

สถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ทรงพยายามรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของพวกตนในรัฐสภาเอาไว้อย่างต่อเนื่อง โดยทรงได้ตั้งบุคคลที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” กลับเข้ามาเพื่อขัดขวางการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยมิได้ปรึกษาหารือกับรัฐบาลทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อีกทั้ง ที่ผ่านมา ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทรงขยายบทบาททางการเมือง ด้วยการเข้าประทับในการประชุมคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.เสมอๆ ด้วย 

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. เป็นอย่างมาก ต่อมาเขาจึงตอบโต้กลับด้วยการเรียกร้องว่า หากผู้สำเร็จราชการฯ ยังทรงแทรกแซงทางการเมืองผ่านรัฐสภา และรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ก็มีความต้องการที่จะเข้าร่วมประชุมคณะองคมนตรีด้วยเช่นกัน ( Bangkok Post, 18 December 1950.; NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950, ” 26 December 1950. )

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 7

สู่ภาวะกึ่งอาณานิคม:การมาถึงของสหรัฐฯและการปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองของไทย 2493 - 2495

สัญญาณจากวอชิงตัน ดี.ซี.ถึงไทย

จากการที่สหรัฐฯ มีความต้องการสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปทั่วโลก ประธานาธิบดีทรูแมน ได้เริ่มต้นแผนกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกผ่านโครงการข้อที่สี่ สหรัฐฯ มีความต้องการสนับสนุนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนา โดยให้มีโครงการโยกย้ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายทุน เกษตรกร และชาวนาสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อขยายการลงทุนของสหรัฐฯ ออกไปทั่วโลก โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนา ให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศนั้น และขยายอิทธิพลของการใช้สกุลเงินดอลลาร์ออกไปยังส่วนต่างๆ ทั่วโลก 

โครงการของประธานาธิบดีทรูแมนเป็นการผสมผสานกิจกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการขยายตัวการค้า และลดอุปสรรคการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐที่จะเคลื่อนย้ายการลงทุนไปยังส่วนต่างๆ ของโลกให้ได้รับสะดวกมากยิ่งขึ้น ( Gilbert Rist, The History of Development: From Western Origins to Global Faith,(London: Zed Books, 1999), pp. 71-77.; Samuel P. Hayes, Jr., “The United States Point Four Program,” The Milbank Memorial Fund Quarterly 28, 3 (July 1950): 27-35, 263-272. )

สำหรับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยยอมรับระเบียบการเงินระหว่างประเทศที่มีสกุลดอลลาร์เป็นหลัก เพื่อลดอิทธิพลของอังกฤษ และสกุลเงินปอนด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลง และพยายามผลักดันให้ไทยกลายเป็นแหล่งทรัพยากร และเป็นตลาดรองรับสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรม 

เมื่อไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการรักษาค่าเงินบาทภายหลังสงครามโลก หลังการรัฐประหาร 2490 รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ได้ขอคำปรึกษาการแก้ปัญหาค่าเงินจากสถานทูตสหรัฐฯ และด้วยเหตุที่ สหรัฐฯ มีนโยบายส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกแบบทุนนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ สถานทูตสหรัฐฯ จึงสนับสนุนให้ไทยเปลี่ยนการผูกค่าเงินบาทจากเงินปอนด์ไปสู่สกุลดอลลาร์ได้สำเร็จในปี 2492 ( Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 72, 328-329, 391. )

จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ซีไอเอรายงานว่า สหรัฐฯ สามารถเข้ามามีอิทธิพลต่อไทยแทนที่อังกฤษได้สำเร็จ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP67-00059A000500080009-9, 17 May 1948 ,,“Review of the World Situation”. )

ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ ได้เริ่มเข้ามาครอบงำระบบการเงิน การค้าของไทย และทำให้ไทยกลายเป็นแหล่งทรัพยากรและเป็นตลาดรองสินค้าของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และต่อจากนั้น สหรัฐฯ ก็เริ่มเข้ามาครอบงำทางการทหารของไทยด้วยความช่วยเหลือทางการทหาร และข้อตกลงทางการทหารเพื่อทำให้ไทยกลายเป็นป้อมปราการทางการทหารของสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลทำให้ไทยมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจลดน้อยลงเรื่อยๆ 

แม้สหรัฐฯ จะมิได้ใช้รูปแบบการเข้ายึดครองดินแดนเพื่อบงการการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ เฉกเช่นที่จักรวรรดินิยมกระทำในอดีต แต่ด้วยนโยบาย และบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2491 - 2500 ซึ่งมีส่วนสำคัญในฐานะปัจจัยชี้ขาดชัยชนะของกลุ่มการเมืองของไทย ที่จะต้องดำเนินการตามความต้องการของสหรัฐฯ เท่านั้นถึงจะสามารถมีอำนาจทางการเมืองต่อไปได้ สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยได้เคลื่อนเข้าสู่ภาวะที่ดูประหนึ่งกึ่งอาณานิคมภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐฯ ที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นในการเมืองไทยในสมัยถัดมา

บริบทการเมืองระหว่างประเทศในช่วงเวลาต้นทศวรรษที่ 2490 สถานการณ์ในจีนเริ่มเข้าสู่ภาวะคับขัน เนื่องจากกองทัพของก็กหมินตั๋งที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนนั้นได้เริ่มสูญเสียพื้นที่ในการครอบครองให้กับกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สหรัฐฯ เริ่มมีความวิตกในชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และชัยชนะนี้ย่อมหมายถึงการขยายตัวของลัทธิทางการเมืองที่เป็นภัยต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตามที่สหรัฐฯ ต้องการ 

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ ดำเนินการยับยั้งการขยายตัวของสิ่งเป็นอุปสรรคตต่อความต้องการของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ดีน จี. อัชเชอร์สัน (Dean G. Acheson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการถึงสถานทูตสหรัฐฯ ในไทยว่า สถานการณ์ในเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เขาต้องการจัดให้มีการประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ประจำภูมิภาคเอเชียที่กรุงเทพฯ หรือการประชุมที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี.เจสสัป (Phillip C. Jessup) นี้ได้เกิดขึ้นในกลางเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดไป 

การประชุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อระดมความคิดเห็นในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ และต่อต้านการปฏิรูปที่ดินทุกรูปแบบในภูมิภาค อัชเชอร์สัน ต้องการให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อภูมิภาคเอเชีย ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958 Acherson to American Embassy Bangkok , 4 February 1949 )

เมื่อสหรัฐฯ มีนโยบายต้องการส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม สหรัฐฯ จึงต้องทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยที่คุกคามสันติภาพ และภูมิภาคต่างๆ ของโลก และด้วยโครงการข้อที่สี่ทำให้สหรัฐฯ เริ่มต้นให้ความสนใจที่จะปรับปรุงเศรษฐกิจของไทย 

ในเดือนมิถุนายน 2492 ทูตพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ได้กล่าวถึงแนวทางการดำเนินการตามแนวทางโครงการข้อที่สี่ในไทยว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยมีความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีการส่งเสริมการซื้อขายวัตถุดิบในการผลิตสินค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ด้วยการช่วยเหลือแก่ไทยนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจระดับโลกของสหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 159-160. )

ในช่วงต้นๆ ทศวรรษ 2490 สหรัฐฯ ยังคงเห็นว่าไทยเป็นเพียงแหล่งทรัพยากร และตลาดรองรับสินค้าที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่สำหรับทางด้านความมั่นคงนั้น สหรัฐฯ ยังคงมองว่าไทยยังไม่มีนโยบายต่างประเทศที่อยู่เคียงข้างกับสหรัฐฯ อย่างชัดเจน ( “Basic U.S. Security Resource Assumptions, 1 June 1949,” in Foreign Relations of the United States 1949 Vol.1, (Washington DC.: Government Printing Office,1976), pp.339-340 )

จากโครงการข้อที่สี่ ทำให้สหรัฐฯ ได้มีนโยบายต่อไทยจำนวน 4 ประการ คือ 
ทำให้ไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจ 
ทำให้ไทยเป็นมิตรที่ซื่อสัตย์ 
ทำให้ไทยร่วมมือในต่อต้านคอมมิวนิสต์ 
ทำให้ไทยเป็นข้อต่อทางการค้าที่สำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่น

สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชลประทาน ปรับปรุงระบบการขนส่ง ผลักดันให้ไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ขจัดการผูกขาดทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการเอกชนของสหรัฐฯ และทำให้ไทยร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้กำหนดเงื่อนไขในความช่วยเหลือต่อไทยว่า ไทยจะได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง “ตราบเท่าที่รัฐบาลไทยยังยอมรับและหลีกเลี่ยงที่จะขัดแย้งอย่างสำคัญต่อประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ” ( “Policy Statement Prepared in the Department of State, 15 October 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6,(Washington D.C.: Government Printing Office,1976),pp. 1533-1534. )

ต่อมาไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับความช่วยเหลือในโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก เพื่อสร้างระบบชลประทาน และทางรถไฟเพื่อปรับปรุงเศรษฐกิจ ( กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, “ธนาคารโลกกับพัฒนาการเศรษฐกิจของไทย,” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517).

เมื่อกองทัพของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีชัยชนะอย่างต่อเนื่องเหนือกองทัพก็กหมินตั๋ง กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. มีคำสั่งถึงสถานทูต และกงสุลสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกไกลว่า สหรัฐฯมีนโยบายเศรษฐกิจที่คาดหวังกับเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสหรัฐฯมีแผนความช่วยเหลือที่มิใช่เป็นเพียงการช่วยเหลือเท่านั้น แต่เป็นการช่วยเหลือที่เตรียมความพร้อมให้กับสหรัฐฯ ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป ( Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 166. )

ในที่สุดเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนสถาปนาขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2492 ในปลายเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีทรูแมน ได้อนุมัติให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ สหรัฐฯ (National Security Council: NSC) เริ่มต้นการศึกษาการวางนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีผลทำให้นโยบายป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชียของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ( The Pentagon Papers,(New York: The New York Times,1971), p. 9. )

การถูกต่อต้าน กับการก้าวเข้าหาสหรัฐฯ ของรัฐบาล จอมพล ป.

การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยการรัฐประหารรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” และล้มรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทำให้รัฐบาล จอมพล ป. ต้องเผชิญหน้ากับการถูกท้าทายจากกลุ่มการเมืองหลายกลุ่ม มีผลทำให้ตั้งแต่ปี 2491 รัฐบาล จอมพล ป. มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาอาวุธที่ทันสมัยเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการทหารเพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยหลายวิธีการ เช่น การจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศ ( เริ่มมีหลักฐานการแสวงหาอาวุธให้กับกองทัพเพื่อป้องกันการต่อต้านรัฐบาลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2491 ต่อมาต้นปี 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งนายทหารไปติดต่อ วิลลิส เบิร์ดเพื่อให้ช่วยซื้ออาวุธมูลค่า 1,000,000 เหรียญให้กองทัพไทย (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R001600460010-7, 28 June 1948, “Colonel Phao Sriyanon possible trip to the United state for arms purchases”;CIA-RDP82-00457R002400490002- 4, 4 Mar 1949, “Siamese Requests for Arms through Willis H. Bird”).

และการส่งผู้แทนรัฐบาลเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ตั้งแต่ 2491 แต่การขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ในช่วงแรกไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากสหรัฐฯ ยังไม่เห็นความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือ และรัฐบาลไทยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนในการขออาวุธ ( รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้เคยส่ง พล.ต.หลวงสุรณรงค์ ,พ.ต.ม.จ.นิทัศนธร จิรประวัติ และ พล อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เดินทางไปขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ในต้นเดือนเมษายน 2491 แต่ไม่มีความคืบหน้าใด (หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, พจน์ สารสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี 21 พฤษภาคม 2492).

จวบกระทั่งสถานการณ์ในจีนเมื่อกองทัพก็กหมินตั๋งถอยร่นจากการรุกรบของกองทัพพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงการสนับสนุนทางการทหารมูลค่า 75,000,000 ดอลลาร์ที่เคยให้กับกองทัพก็กหมินตั๋งไปสู่การให้การความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์แทน ด้วยเหตุนี้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงสบโอกาสที่จะได้รับอาวุธสมัยใหม่ตามที่คาดหวัง ในปลายเดือนกันยายน 2492 รัฐบาลได้รับรายงานจากสถานทูตไทยในสหรัฐฯว่า สหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่ประเทศนั้นๆ จะต้องมีภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม และต้องมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐฯ ก่อน 

กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (พระองค์เจ้าวรรรไวทยากร) เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาลทราบ ไม่นานจากนั้น จอมพล ป. ให้ความเห็นชอบที่จะขอความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์คุกคาม ( กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 1102 - 344 -301-401-9301 ไทยขอความช่วยเหลือด้านวุธยุทธภัณฑ์จากสหรัฐฯ 2493-2494, พจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 1 สิงหาคม 2492.;หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, เอกอัครราชทูตไทยประจำ วอชิงตัน ดีซี ถึง กระทรวงการต่างประเทศ 30 กันยายน 2492.; เอกอัครราชทูตไทยประจำ วอชิงตัน ดี.ซี. ถึง กระทรวงการต่างประเทศ 30 กันยายน 2492. โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามตอบรับความคิดนี้เมื่อ 5 ตุลาคม 2492 )

ด้วยเหตุที่ สหรัฐฯ มีนโยบายให้การสนับสนุนให้ฝรั่งเศสคงมีอำนาจเหนืออาณานิคมในอินโดจีนต่อไปได้ โดยสหรัฐฯ ส่งสัญญาณในปลายปี 2492 ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลจักรพรรดิเบาได๋ที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้น จากนั้น สหรัฐฯ ได้ให้การสนับสนุนทางการทหารแก่ฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านเวียดมินห์ที่สหรัฐฯ เห็นว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น ( Kahin, Intervention: How American become involved in Vietnam, p. 35.; The Pentagon Papers, p. 5. )

เดือนตุลาคมปีเดียวกัน สหรัฐฯได้หยั่งท่าทีไทยผ่าน พจน์ สารสิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้นว่า รัฐบาลไทยจะให้สนับสนุนรัฐบาลเบาได๋ตามสหรัฐฯ หรือไม่ ( The Pentagon Papers, p. 9-10. )

ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯรับรองรัฐบาลเบาได๋แล้ว สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้เข้าพบ จอมพล ป.และพจน์ สารสิน เพื่อโน้มน้าวให้ไทยรับรองรัฐบาลเบาได๋ตามสหรัฐฯ โดย จอมพล ป. ได้ประกาศว่ารัฐบาลไทยจะรับรองเบาได๋ แต่พจน์ สารสิน ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเขาเห็นว่ารัฐบาลเบาได๋จะพ่ายแพ้แก่โฮจิมินห์ ( “The Ambassador in Thailand (Stanton) to the Secretary of State, 8 February 1950,” Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 724. )

ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อประธานาธิบดีทรูแมน ดำเนินนโยบายตามโครงการข้อที่สี่ และการเริ่มต้นการสกัดกั้นการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ที่ขัดขวางการขยายตัวของทุนนิยม จากนั้นเขาได้ส่งคณะทูตที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของเขาเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มมาสำรวจสภาพทั่วไปของภูมิภาคเอเชีย และจัดประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ ระหว่าง 13-15 กุมภาพันธ์ 2493 ( หจช.กต. 73.1.1 / 77 กล่อง 5 การประชุมหัวหน้าคณะทูตอเมริกัน ในตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ (2492-2493) วรรณไวทยากร เอกอัครราชทูต ประจำวอชิงตัน ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2492.;ในต้นเดือนมกราคม 2493 พล.ร.ท. รัสเซลล์ เอส. เบอร์กีย์ ผู้บัญชาการกองเรือพิเศษที่ 7 แห่งคาบสมุทรแปซิกฟิกได้เดินทางมาไทยเพื่อสำรวจปากน้ำเจ้าพระยา และได้แจ้งกับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ว่าปากแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเกินไปสำหรับเรือเดินสมุทร สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค ในการขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำ จากนั้น เขาได้เดินทางไปพบ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ที่ฮ่องกง (ไทยประเทศ, 11 มกราคม 2493.; ประชาธิปไตย, 14 มกราคม 2493). และโปรดดูรายชื่อ คณะทูตจำนวน 14 คน ในเอเชียตะวันออก ออสเตรียเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ใน หจช.กต.73.1.1 / 77 กล่อง 5 การประชุมหัวหน้าคณะทูตอเมริกันในตะวันออกไกลที่กรุงเทพฯ(2492-2493).

เมื่อเจสสัป เดินทางมาถึงไทยเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ เขาแจ้งแก่ จอมพล ป.พิบูลสงครามว่า สหรัฐฯ ได้ให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋แล้ว และสหรัฐฯต้องการให้ไทยรับรองตามสหรัฐฯ แต่จอมพล ป. ได้ยื่นข้อแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ ว่ารัฐบาลของเขาต้องการความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯ ให้กับกองทัพ และตำรวจของไทย เพื่อใช้ในการป้องกันการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ( “The Ambassador in Thailand (Stanton) to the Secretary of State, 17 February 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p. 739.; NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State, 27 February 1950.; Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 238. )

ประเด็นหลักในการประชุมคณะทูตสหรัฐฯ ที่นำโดย ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ครั้งสำคัญนี้ คือ ปัญหาจีนคอมมิวนิสต์ และขบวนการชาตินิยมที่ต่อต้านอาณานิคม พวกเขาเห็นว่าขบวนการชาตินิยมในอินโดจีนได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ ( Ibid., p. 234-235. )

และเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการใช้สงครามจิตวิทยาในภูมิภาค ความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ จะให้กับประเทศในภูมิภาค จะต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ในระยะยาว ส่วนปัญหาเฉพาะหน้านั้นให้สหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ จะต้องรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและสร้างแบบแผนการค้ากับภูมิภาคตะวันออกไกลขึ้นใหม่ ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State 13 February 1950.; NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State, 15 February 1950. )

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ ควรให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจผ่านองค์การระหว่างประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้เห็นวัตถุประสงค์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Stanton to Secretary of State 15 February 1950. ความเห็นของคณะทูตส่วนใหญ่ที่เสนอให้สหรัฐฯ อำพรางตนเองอยู่เบื้องหลังองค์การระหว่างประเทศนั้น มีผลทำให้คณะทูตบางส่วนเห็นว่าแผนดังกล่าวคือการที่สหรัฐฯ พยายามเป็น“จักรวรรดินิยม” )

สแตนตัน ทูตสหรัฐประจำไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุม บันทึกว่า การประชุมคณะทูตครั้งนี้ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายระยะยาว ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ (Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 235 )

ทันทีที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอข้อแลกเปลี่ยนในการได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธจากสหรัฐฯแลกกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป ได้ยอมรับข้อแลกเปลี่ยนจากไทย จากนั้น รัฐบาลจอมพล ป.ได้จัดมีการประชุมคณะรัฐมนตรีขึ้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2493 ซึ่งมีผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพเข้าประชุมร่วมด้วย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นพ้องกับการรับรองรัฐบาลเบาได๋ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไทยเข้าร่วมต่อต้านคอมมิวนิสต์กับสหรัฐฯ ( แนวหน้า, 15 กุมภาพันธ์ 2493. ผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพที่เข้าร่วม คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ,พล.ร.อ.สินธุ กมลนาวิน และพล.อ.ท.ขุนรณนภากาศ )

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรียังคงไม่ประกาศมติดังกล่าว ในขณะเดียวกัน มีข่าวรั่วไหลออกมาสู่สาธารณะว่ารัฐบาล จอมพล ป.จะให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋ เสียงไทย ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนไปในทางต่อต้านสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ว่า “กอดเบาได๋ เพื่อเงินก้อนใหญ่” (เสียงไทย, 23 กุมภาพันธ์ 2493. )

แม้ต่อมา รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธก็ตาม ( ธรรมาธิปัตย์, 24 กุมภาพันธ์ 2493 ) แต่สุดท้ายแล้ว รัฐบาลได้ประกาศรับรองรัฐบาลเบาได๋อย่างเป็นทางการเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ( Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, p. 238.; J. Alexander Caldwell, American Economic Aid to Thailand,(London: Lexington Books, 1974),p.4.กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทยระหว่างปีพุทธศักราช 2483-2495, หน้า 410. ต่อมา พจน์ สารสินได้ขอลาออกในวันที่ 1 มีนาคม 2493 )

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ต้นเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีทรูแมน ได้อนุมัติความช่วยเหลือทางการทหารในรูปอาวุธให้กับกองทัพไทยมูลค่า 10,000,000 ดอลลาร์ในทางลับทันที ( NARA, RG 84 box 6 Top Secret General Records 1947-1958, Webb to American Embassy Bangkok, 7 March 1950. )

อัชเชอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้บอกเหตุผลแก่ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ประจำไทยว่า สาเหตุที่สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ไทยนั้นเพื่อเป็นการจูงใจไทยให้มีความมั่นใจที่จะตอบสนองต่อนโยบายสหรัฐฯต่อไป ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4190, Acheson to Bangkok, 12 April 1950. )

ทั้งนี้ ความช่วยเหลือทางอาวุธแก่ไทยนี้ สหรัฐฯต้องการให้เป็นความลับ ( หจช.(3) สร. 0201.13.1/2 ขออาวุธจากอเมริกา หรือเรื่องอเมริกาให้อาวุธแก่ไทย, นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึง นายกรัฐมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2493. ) 

แต่ปรากฎว่า หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับได้นำข่าวดังกล่าวไปตีพิมพ์ ต่อมารัฐบาลขอร้องให้หนังสือพิมพ์อย่าลงข่าวดังกล่าว  ( หจช.(2)สร. 0201.96 / 3 กล่อง 1 การแพร่ข่าวเกี่ยวกับอเมริกันช่วยเหลือแก่ไทย (21 เมษายน – 9 พฤษภาคม 2493) เช่น เกียรติศักดิ์ ฉบับ 22 เมษายน 2493 พาดข่าวว่า “กองทัพไทยจะฟื้นด้วยอาวุธ 10 ล้านดอลลาร์” เสียงไทย ฉบับ 26 เมษา มีบทความเรื่อง “การช่วยเหลือของโจร” และหลักไชย ฉบับ 23 เมษายน พาดหัวข่าวว่า “ไทยจะเป็นฐานทัพช่วยเบาได๋ ” เป็นต้น )

หลังการจัดประชุมคณะทูตของ ฟิลลิปส์ ซี. เจสสัป เพื่อกำหนดนโยบายทางการเมือง และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ ได้ส่งคณะกรรมการพิเศษทางเศรษฐกิจที่มี นายอาร์. อัลแลน กริฟฟิน (R. Allen Griffin) นักธุรกิจด้านสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ และวิทยุในแคลิฟอร์เนียผู้มั่งคั่งเป็นหัวหน้าเดินทางมาสำรวจสภาพเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเขามาสำรวจไทยในช่วง 4 - 12 เมษายน 2493 ( “The Ambassador in Thailand(Stanton)to the Secretary of State, 12 April 1950,” in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, p.79.; Stanton, Brief Authority: Excursion of a Common Man in an Uncommon World, pp. 249-250. )

เขาได้เสนอให้สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ไทยโดยมีเป้าหมายทางการทหาร และการเมือง ด้วยการทำให้ไทยกลายเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ในการต่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนที่จะแผ่ลงมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐฯ จะต้องทำให้ไทยคงการต่อต้านคอมมิวนิสต์เอาไว้เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯ แนบแน่นยิ่งขึ้น ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4190, Lacy to Rusk, “Thailand Military Aid Program,” 25 July 1950 )

นิวยอร์ค ไทมส์ (New York Times) หนังสือพิมพ์ชั้นนำในสหรัฐฯ ได้รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ให้การยกย่องข้อเสนอของกริฟฟินเป็นอย่างมาก ( New York Times, 15 September 1950. )

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 6

รัฐบาลจอมพล ป.กับความล้มเหลวในการเปิดไมตรีกับ “กลุ่มปรีดี” 

การกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนี้ เขาได้รับความชื่นชมจากมหาอำนาจตะวันตก เนื่องจากเขาได้ประกาศยอมรับและทำตามพันธสัญญาต่างๆ ที่ไทยได้เคยตกลงกับนานาชาติ ให้การสนับสนุนสหประชาชาติ และที่สำคัญรัฐบาลของเขาประกาศความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหรัฐฯ ( “Department of State Policy Statement on Indochina, 27 September 1948” in Foreign Relations of the United States 1948 Vol.6, (Washington: Government Printing Office, 1974), p. 47.; แถมสุข นุ่มนนท์, “ขบวนการต่อต้านอเมริกา สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม,” ใน รวมบทความประวัติศาสตร์ 2 (มกราคม 2524): 50. )

อย่างไรก็ตามรัฐบาลของเขายังคงต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากปรปักษ์ทางการเมืองหลายกลุ่ม เช่น “กลุ่มรอยัลลิสต์” และ “กลุ่มปรีดี” ไม่แต่เพียงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งระหว่างกองทัพ และภายในกองทัพบก มีผลทำให้รัฐบาลของเขาในช่วง 2491 จนถึง 2494 ถูกต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ อย่างมาก

การท้าทายอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งแรก ซึ่งต่อมาเรียกว่า “กบฏเสนาธิการ” ได้เริ่มก่อตัวขึ้นในกลางปี 2491 ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การต่อต้านรัฐบาลเกิดจากความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคยร่วมมือกันใน “ขบวนการเสรีไทย” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP79-01082A000100010020-7, 11-17 May 1948, “Intelligence Highlights”. )

ซีไอเอ ได้รายงานว่าแผนการรัฐประหารดังกล่าวว่ามี 2 วิธี คือ การใช้กำลังทหารจากกรมปืนต่อสู้อากาศยาน ภายใต้การสั่งการของ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เพื่อจับกุมนายกรัฐมนตรีและแกนนำคณะรัฐประหาร และแผนที่สอง คือ การใช้กำลังโดยตรงต่อคณะรัฐมนตรีของจอมพล ป.ทั้งหมด หากแผนการสำเร็จจะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R002100340008-7,1 December 1948, “Operational Plans of the Abortive Countercoup d’etat Group” รัฐบาลชุดใหม่ตามรายงานฉบับนี้ระบุว่า พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี ควง อภัยวงศ์ เป็นรองนายกฯ ทวี บุญยเกตุเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ดิเรก ชัยนาม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และประภาศ วัฒนสาร เป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยแต่เมื่อแผนรัฐประหารล้มเหลว ควง อภัยวงศ์ ถูกจับตามองจากรัฐบาลเป็นอย่างมาก )

อย่างไรก็ตาม แผนการรัฐประหารดังล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลรู้ความเคลื่อนไหวล่วงหน้าจึงทำการจับกุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อ 1 ตุลาคม 2491 ตัดหน้าแผนรัฐประหารจะเกิดขึ้น ในทางเปิดเผยนั้น นายทหารสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และพล.ต.เนตร เขมะโยธิน แต่จากรายงานจากสถานทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ มีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นำโดย พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นแกนนำ และมี ควง อภัยวงศ์ ,พ.ท.รวย อภัยวงศ์ และพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ เข้าร่วม และกลุ่มที่ 2 คือ “กลุ่มปรีดี” มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ,พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ,ดิเรก ชัยนาม ,หลวงอรรถกิตติ ,พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ,หลวงนฤเบศมานิต ,พล ร.ท.ทหาร ขำหิรัญ ,พ.ต.อ. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ,พ.ต.ต.จำเนียร วาสนาสมสิทธิ์ ,พ.ต.ต.หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท ,พล.ต.เนตร เขมะโยธิน โดย มีปรีดี พนมยงค์ อยู่เบื้องหลัง (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Bangkok to Secretary of State, 7 October 1948.) 

จากบันทึกของตำรวจนายหนึ่งเชื่อว่า “กลุ่มปรีดี” ติดต่อกับ พล.ต.หลวงสรานุชิต และ พล.ต.เนตร ผ่าน ร.ต.ต สุจิตร สุพรรณวัฒน์ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ภายหลังพ่ายแพ้ ร.ต.ต.สุจิตร หนีกลับไปหา ปรีดี ที่จีน (โปรดดู พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่าเผ่าไม่ดี อตร., หน้า 52-53). ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของปรีดีได้บันทึกถึงเหตุการณ์นี้ว่า “...คนที่หลบหนีการจับกุม[กรณี “กบฎเสนาธิการ”] มาได้ ได้ส่งตัวแทนมาหาข้าพเจ้าเพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นล้มรัฐบาลปฏิกริยาอีกครั้งหนึ่ง [กรณี “กบฎวังหลวง” ]…” (ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, หน้า 112-116. โดยพล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์นั้นมีความสนิทกับควง มานาน เมื่อ พ.ท.รวย ถูกรัฐบาล จอมพล ป.จับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯได้ออกมาคัดค้านการจับกุมดังกล่าว (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Political Survey of the First Six Months of the Phibun Regime May-October 1948,” 22 November 1948).

จากนั้นรัฐบาลได้นำกำลังทหารไปเฝ้าที่หน้าสถานทูตอังกฤษ และสหรัฐฯ เพื่อป้องกันกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหลบหนีเข้าไปในสถานทูต ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Bangkok to Secretary of State , 7 October 1948. )

สถานทูตสหรัฐฯเห็นได้ว่า เสถียรภาพทางการเมืองของ จอมพล ป.ในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ห่างไกลจากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State,“Political Survey of the Frist Six Months of the Phibun Regime May-October 1948,” 22 November 1948. )

ท่ามกลางความขัดแย้งหลายด้านที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องเผชิญทั้งจาก “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ จอมพล ป. เลือกที่จะมีไมตรีกับ ปรีดี พนมยงค์ อดีตมิตรเก่าเมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 เพื่อร่วมมือในการต่อต้านการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 จอมพล ป. ได้แถลงข้อความผ่านวิทยุที่สื่อถึง “กลุ่มปรีดี” ว่า ปรีดี คือสมาชิกแรกเริ่มของคณะราษฎร และเป็นเพื่อนเขา เขาต้องการให้ปรีดีกลับมาร่วมงานกับรัฐบาลเพื่อให้การเมืองมีความเป็นเอกภาพ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State , 8 February 1949. )

ท่ามกลางช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมกลไกลทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญได้ “กลุ่มปรีดี” ยังคงท้าทายอำนาจรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อไป ประกอบกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สามารถยึดกุมกลไกลทางการเมืองที่สำคัญเอาไว้ได้ อีกทั้งพวกเขากำลังสร้างระบอบการเมืองที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันกษัตริย์ และพวกเขา ให้ได้เปรียบทางการเมืองอย่างถาวรเหนือกลุ่มต่างๆ แม้กระทั่งคณะรัฐประหารผ่านการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่กำจัดคณะรัฐประหารให้ออกไปจากการเมือง ทำให้ จอมพล ป. มีความต้องการร่วมมือกับ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เพื่อต่อสู้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ความร่วมมือระหว่างกันไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปรีดีและกลุ่มมีแผนการตรงกันข้ามกับความต้องการของจอมพล ป. ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01082A000100020022-4, 9–15 February 1949, “Intelligence Highlights No.39”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 9 February 1949. สถานทูตสหรัฐฯและซีไอเอรายงานตรงกันว่า แกนนำคนหนึ่งของ “กลุ่มปรีดี” แจ้งว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามได้ส่งผู้แทนไปพบกับแกนนำของกลุ่มเพื่อขอให้พวกเขากลับมาร่วมมือกับ จอมพล ป. โดยพวกเขาตีความว่า การส่งสัญญาณของ จอมพล ป.ผ่านวิทยุในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 คือ ความพยายามสื่อกับพวกเขาถึงความตั้งใจของจอมพล ป.ที่มีต่อปรีดี พนมยงค์และกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอจาก จอมพล ป.ไม่สามารถตกลงกันได้เป็นมติของ “กลุ่มปรีดี” ได้ )

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2492 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้รายงานว่า ปรีดี ได้เดินทางกลับเข้ามาในไทยเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหาร 2490 แต่มิได้มุ่งมาเพื่อเจรจากับ จอมพล ป. แต่เขามาเพื่อทวงอำนาจคืนจาก จอมพล ป. ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Reed to Butterworth, “Siam Politics,” 9 February 1949. )

ไม่กี่วันจากนั้น เมื่อรัฐบาลได้ล่วงรู้ความเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของปรีดีและกลุ่ม ทำให้ จอมพล ป. ออกแถลงการณ์ทางวิทยุเพื่อเตือนความเคลื่อนไหวดังกล่าว จอมพลป. พิบูลสงครามได้แถลงผ่านวิทยุเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2492 ในหัวข้อ “ประเทศจะมีจลาจลหรือไม่” โดยแถลงการณ์ดังกล่าวได้เปรียบเทียบไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเหตุการจราจล และประเทศไทยก็กำลังจะมีขึ้น และเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2492 เรื่อง “สถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับการจลาจลในประเทศอย่างไร” เนื้อหากล่าวถึงอันตรายของคอมมิวนิสต์ที่เข้าแทรกซึม (สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2089 ถึง 2507, หน้า 447).

เมื่อการเจรจาระหว่างกันไม่เป็นผล และมีแนวโน้มจะเกิดความรุนแรงขึ้น รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ขออนุมัติต่อ กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่ผู้สำเร็จราชการฯ และพระราชวงศ์ทรงไม่เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องการให้ จอมพล ป. มีอำนาจเด็ดขาดจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน ( NA, FO 371/76281, Thompson to Foreign Office, 21 February 1949.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01082A000100020021-5, 16-23 February 1949, “National emergency declaration believed cover for domestic unrest ”. )

อย่างไรก็ตามในที่สุดรัฐบาลสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้สำเร็จ และนำไปสู่การจับกุม “กลุ่มปรีดี” ได้บางส่วน ( NA, FO 371/76281, Thompson to Foreign Office, 25 February 1949.; NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457r002600450006-2, 25 April 1949, “ Additional Information Concerning the 26 February 1949”. พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ได้เข้าจับกุม “กลุ่มปรีดี” เช่น พ.อ.ทวน วิชัยขัทคะและนายทหารระดับกลางอีก 2-3 คน เนื่องจากเคลื่อนไหวเตรียมการรัฐประหาร )

แต่กระนั้น ปรีดี พนมยงค์ ยังคงเดินหน้าแผนการกลับสู่อำนาจต่อไป ด้วยการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็กหมินตั๋ง เนื่องจากจีนไม่พอใจรัฐบาล จอมพล ป. และต้องการสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาล (NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01090A000500010009-7, 7-13 September 1948, “The Chinese National Government regards Siam with increasing disfavor”. )

สำหรับเงินทุนในการดำนินการนั้นในเอกสารดังกล่าวรายงานว่า ปรีดี พนมยงค์ ได้ยืมเงินจาก เค. ซี. เย่ห์ (K. C. Yeh) ผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองของกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาลก็กหมินตั๋ง จำนวน 50,000เหรียญสหรัฐฯ และจากสงวน ตุลารักษ์ ที่ฝากไว้ที่ National City Bank of New York จำนวน 40,000 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อเรือจากฮ่องกง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุน เนื่องจากต้องการมีอิทธิพลเหนือไทย โดยปรีดีมีแผนการที่จะกลับกรุงเทพฯด้วยการก่อการรัฐประหาร (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 box 7251, Reed to Butterworth, “Political Intervention of Pridi Banomyong,” 30 September 1948)

ไม่แต่เพียงความไม่พอใจของรัฐบาลก็กหมินตั๋ง ต่อการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป.เท่านั้น แต่ยังได้สร้างความไม่พอใจให้กับชุมชนชาวอเมริกัน ผู้เคยเป็นโอเอสเอส.ที่เคยร่วมงานกับเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิลลิส เบิร์ด (NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin, ”Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950 .; Anusorn Chinvanno, Thailand’s Policies toward Chaina, 1949-1954, (Oxford: St. Antony’s College, 1992), p. 51. )

ในขณะที่ในระดับนโยบายนั้น สหรัฐฯ นอกจากจะไม่ให้การสนับสนุนการโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป.แล้ว แต่สหรัฐฯ กลับมีความต้องการสนับสนุนให้รัฐบาล จอมพล ป. มีความเข้มแข็ง ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP79-01090A000500010009-7, 7-13 September 1948, “The Chinese National Government regards Siam with increasing disfavor”. )

เมื่อ ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา เดินทางจากจีนมาไทยเพื่อปฏิบัติการทวงอำนาจคืนในเหตุการณ์ที่เรียกกันต่อมาว่า “กบฎวังหลวง” ด้วยการโดยสารเรือปราบเรือดำน้ำ (Submarine Chaser) ชื่อ เอส.เอส. บลูบิร์ด (S.S. Bluebird) ซึ่งมีกับตันเรือ ชื่อ จอร์ช นิลลิส (George Nellis) และนายเรือทั้งหมดเป็นชาวอเมริกัน เรือดังกล่าวได้แล่นออกจากฮ่องกง มารับปรีดีและคณะจำนวน 8-9 คนที่กวางตุ้ง ประเทศจีน พร้อมลำเลียงอาวุธหลายชนิด เช่น ปืนบาร์ซูกา ปืนสะเต็น ปืนการ์บิน ลูกระเบิดมือ และกระสุนจำนวน 40 หีบที่ได้รับการสนับสนุนจากโอเอสเอสในจีน จากนั้นเรือก็มุ่งตรงมายังสัตหีบ ( NARA, CIA Records search Tool (CREST),CIA-RDP82-00457R002700370010-5, 4 May 1949, “Participation of Former United States Navy Ship in the Attempted 26 February Coup”; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, หน้า 173-174.;ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต (อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ) (กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ่ง, 2542),หน้า 162-163.; พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อตร.เผ่าไม่ดี,หน้า 53).จากเอกสารซีไอเอ ให้ข้อมูลว่า ภายหลังความพ่ายแพ้ กัปตัน นิลลิส ได้หลบซ่อนที่บ้านของ ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ จากนั้น เขาได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับไปสู่ฮ่องกง และกลับสู่สหรัฐฯ ส่วนเรือ เอส.เอส.บลูเบิร์ด นั้นได้เข้าสู่น่านน้ำไทยเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2492 เพื่อส่ง ปรีดี พนมยงค์ และลำเลียงอาวุธขึ้นฝั่งเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ จากนั้นออกจากฝั่งไทยเมื่อ 2 มีนาคม มุ่งหน้าสู่ไซ่ง่อน อินโดจีน ภายหลังเรือดังกล่าวถูกขายให้กองเรือลาดตระเวนของฝรั่งเศสต่อไป )

สำหรับการเตรียมแผนเคลื่อนไหวในประเทศนั้น ปรีดี พนมยงค์ ติดต่อกับกลุ่มผ่าน วิจิตร ลุลิตานนท์ อย่างต่อเนื่อง และมีการประชุมวางแผนกันภายในกลุ่ม เขาได้ให้ ทวี ตะเวทิกุล ทาบทามขอความสนับสนุนจาก พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งนี้แผนการใช้กำลังในการกลับคืนสู่อำนาจของปรีดีนี้ ทวี ไม่เห็นด้วยและพยายามโน้มน้าวให้ปรีดีล้มเลิกแผนดังกล่าวเพื่อให้เขาสามารถกลับมาไทยต่อไปได้ แต่เขาคงยืนยันดำเนินแผนการชิงอำนาจคืนต่อไป ( ประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต(อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ), หน้า 150,161-162.; อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, หน้า 180. )

แม้เป็นที่รับรู้กันว่ากำลังหลักของการพยายามรัฐประหารดังกล่าว คือ ทหารเรือจากหน่วยนาวิกโยธิน ชลบุรี ของ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ และเหล่าเสรีไทย ประกอบด้วยทหารบก ตำรวจ และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ( สุเพ็ญ ศิริคูณ, “กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492),” (วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2518), หน้า 54-55 )

แต่จากหลักฐานในการสนทนาระหว่าง ปรีดี และ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ ได้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับหลักฐานของซีไอเอว่า การพยายามรัฐประหารครั้งนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากก็กหมินตั๋งและอดีตโอเอสเอส ( โปรดดู การบอกเล่าของความช่วยเหลือของปรีดี พนมยงค์ถึง ความช่วยเหลือจากก็กหมินตั๋งและอดีตโอเอสเอสใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516 , หน้า 175, 181. )

ไม่กี่วันจากนั้น คณะรัฐประหารตัดสินใจปราบปรามแกนนำของ “กลุ่มปรีดี” ด้วยการสังหารอดีตรัฐมนตรี 4 คนที่บริเวณบางเขนอย่างเหี้ยมโหด รวมทั้ง การสังหาร ทวี ตะเวทิกุล และพ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ( ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ บรรณาธิการ, ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน + 1,(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 2544). 

ซีไอเอรายงานว่า ผู้ลงมือสังหาร 4 รัฐมนตรี คือ พ.ต.ลั่นทม จิตรวิมล โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการเป็นผู้สั่งการให้ พ.ต.ลั่นทม ลงมือสังหาร(NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R002600450004-4, 25 April 1949, “Added Information Concerning the Murder of the Ex-Minister”).

แม้สหรัฐฯจะมีนโยบายสนับสนุนรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตาม แต่ความช่วยเหลือของอดีตโอเอสเอส ที่ให้แก่ปรีดี พนมยงค์และกลุ่มของเขา ในการต่อต้านรัฐบาล ทำให้ จอมพล ป.เกิดความไม่ไว้วางใจสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว สหรัฐฯ ได้ส่งทูตทหารเดินทางเข้ามาประจำการในไทยจำนวนมากขึ้น ยิ่งสร้างความกังวลให้กับ จอมพล ป. มากยิ่งขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนปรีดีและหันหลังให้กับรัฐบาลของเขา ( NA, CO 54462/3, Thompson to Foreign Office, 29 November 1949.; NA, FO 371/84348, Thompson to Mr. Bevin,” Siam: Annual Review for 1949,” 10 May 1950. )

“กลุ่มรอยัลลิสต์” กับการสถาปนารัฐธรรมนูญที่ปฏิเสธกองทัพ

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นอย่างมาก สแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้รายงานว่า จอมพล ป.ได้เคยถกเถียงกับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ดำเนินการร่างและเรียกร้องให้พระองค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ มีความระมัดระวังในการได้รับคำปรึกษา และการให้ข้อแนะนำต่อองคมนตรี ตลอดจนการมีบทบาทในทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ 

ในขณะนี้เขาเริ่มเห็นแผนทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการร่างรัฐธรรมนูญ เขาจึงมีความต้องการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง หรืออย่างน้อยขอให้รัฐสภาทำการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ ”กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้ร่างขึ้น ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 725, Stanton to Secretary of State, 9 February 1949. )

ในระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างโดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาที่ดารดาษไปด้วย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งในวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังคงยืนยันกับทูตสหรัฐฯว่า เขานิยมรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มากกว่าเพราะมีความเป็นประชาธิปไตย มากกว่าฉบับของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เขาเห็นว่าสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการลดอำนาจของประชาชน แต่กลับไปขยายอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เขาเห็นว่าเป็นทิศทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องและมีข้อความที่ซ่อนเร้นบางประการอยู่ภายในรัฐธรรมนูญ เขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Memorandum of Conversation Phibun and Stanton, 1 March 1949. )

ในที่สุด รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวหรือ รัฐธรรมนูญ 2492 ที่เพิ่มอำนาจให้พระมหากษัตริย์ในทางการเมืองแต่กีดกันคณะรัฐประหารออกไปจากการเมืองได้ถูกประกาศใช้สำเร็จ ( ราชกิจจานุเบกษา 66, 17 (23 มีนาคม 2492).

แม้ในระหว่างการพิจารณา จะมีการคัดค้านจากนายทหารจำนวนหนึ่งในคณะรัฐประหาร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอีสานที่นำโดย เลียง ไชยกาล ,ฟอง สิทธิธรรม ,ชื่น ระวิวรรณ และสมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสานอื่นๆ ก็ตาม 

ในการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณารับรัฐธรรมนูญ 2492 นี้ ชื่น ระวีวรรณ และเลียง ไชยกาล ได้อภิปรายวิจารณ์รัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์มีอำนาจในทางการเมืองว่า “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันแท้จริง แต่มีลัทธิการปกครองแปลกประหลาดแทรกซ่อนอยู่ ลัทธินี้ คือ ลัทธินิยมกษัตริย์” และ“ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนไว้โดยปรารถนาจะเหนี่ยวรั้งพระมหากษัตริย์ เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากเกินไป โดยการถวายอำนาจมากกว่าเดิม ยังงี้ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันเป็นรัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์อย่างชัดๆทีเดียว(ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาคม,( กรุงเทพฯ: มูลนิธิ 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา, 2548), หน้า 21. )

แต่ก็ไม่อาจต้านทานเสียงให้การสนับสนุนรัฐธรรมนูญจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่ท่วมท้นในรัฐสภาได้ ไม่แต่เพียงเท่านั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังได้รุกคืบทางการเมืองด้วยการเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวทางแบบกษัตริย์นิยมเพิ่มเติมขึ้นอีก จากเดิมที่มีมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์และพรรคกษัตริย์นิยม ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 11 February 1949.)

ซีไอเอ รายงานว่า เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาของรัฐสภา “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความมั่นใจมากขึ้นในการคุมกลไกลทางการเมือง ทำให้พวกเขาเริ่มใช้อำนาจที่เหนือกว่าคณะรัฐประหาร ด้วยการเสนอแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลผสมรอยัลลิสต์ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และคณะรัฐประหาร โดยพวกเขามีแผนผลักดันให้ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ แกนนำสำคัญใน “กลุ่มรอยัลลิสต์” เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป. และลดตำแหน่ง จอมพล ป.ลงเป็นเพียงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีอื่นๆ จะตกเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมด ( NARA, CIA Records search Tool (CREST) ,CIA-RDP82-00457R002500140001-2, 15 March 1949, “Faction involved in political maneuvering in connection with the draft constitution and the amnesty bill”. อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวประกาศใช้สำเร็จเมื่อ 23 มีนาคม 2492 )

ความสำเร็จในการสถาปนาระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวที่เพิ่มอำนาจทางการเมืองให้สถาบันกษัตริย์สร้างความพอใจให้กับพระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”เป็นอันมาก ( กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, เจ็ดรอบอายุกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร, (พระนคร: พระจันทร์, 2512 ), หน้า 118. พระองค์ทรงเรียกขานการเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า “วันใหม่ของชาติ” )

ดังนั้นนับแต่หลังการรัฐประหาร 2490 “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความได้เปรียบทางการเมืองเหนือคณะรัฐประหาร เนื่องจากพวกเขาสามารถเข้าคุมกลไกทางการเมือง และการออกแบบระบอบการเมืองผ่านรัฐธรรมนูญ 2492 ทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขัน และมีอำนาจที่ยั่งยืน การรุกคืบของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร และนายกรัฐมนตรีแสวงหาความร่วมมือกับ “กลุ่มปรีดี” เพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง “กลุ่มปรีดี” ได้ก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวเพื่อต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่แต่เพียงทำให้กลุ่มของเขาบอบช้ำจากการต่อสู้ และเสียแกนนำที่สำคัญไปหลายคนเท่านั้น แต่ยังทำลายโอกาสในการพยายามสร้างความร่วมมือระหว่าง รัฐบาลจอมพล ป.กับ “กลุ่มปรีดี” เพื่อยุติแผนการขยายอำนาจของ “กลุ่มรอยัลิสต์” ประสบความล้มเหลว แต่กลับเปิดทางให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เดินแผนการทางการเมืองของตนเองต่อไปได้

ขอบคุณที่มาและเชิงอรรถ จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500) โดย นายณัฐพล ใจจริง

การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนที่ 5

การรุกคืบของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในฐานะสถาปนิกทางการเมือง

ภายหลังการรัฐประหารเสร็จสิ้น คณะรัฐประหารจำเป็นต้องสนับสนุนให้ ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลรอยัลลิสต์เพื่อการสร้างการยอมรับจากสาธารณชนและนานาชาติ โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารได้ทำหนังสือมอบอำนาจของคณะรัฐประหารให้กับรัฐบาลควงเพื่อบริหารประเทศ การมอบอำนาจดังกล่าวจากคณะรัฐประหารได้สร้างความพอใจให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มาก จากนั้นควงได้ประกาศความเป็นอิสระของรัฐบาลรอยัลลิสต์จากคณะรัฐประหาร  (ศรีกรุง, 15 พฤศจิกายน 2490. )

เขาได้จัดสรรตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีให้กับเชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งคล้ายๆขุนนางในระบอบเก่า และอดีตนักโทษการเมือง “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ( สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500),หน้า 105 -106. เชื้อพระวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น ม.จ.วิวัฒน์ไชย ไชยันต์ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ,ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ส่วนขุนนางในระบอบเก่า เช่น พระยาศรีวิสารฯ (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) รวมทั้งอดีตนักโทษการเมือง เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ,พระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) และสอ เสถบุตร เป็นต้น )

ด้วยเหตุที่ทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกันและมีหวาดระแวงระหว่างกันจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกภายใน “พันธมิตรใหม่” โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความต้องการสถาปนาระบอบการเมืองที่เพิ่มอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์และทำให้พวกเขามีอำนาจทางการเมืองอย่างยั่งยืน อีกทั้งสามารถขจัดคู่แข่งทางการเมืองของพวกเขาออกไปจากการเมือง ในขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหาร กลับมีความต้องการกลับสู่อำนาจทางการเมืองและไม่ต้องการให้“กลุ่มรอยัลลิสต์” เข้ามาเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่พวกเขาเสี่ยงชีวิตในการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจมา

สำหรับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างคณะรัฐประหาร กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” นั้น ฝ่ายหลังมิได้ไว้วางใจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตแกนนำของคณะราษฎรที่เคยปราบปรามการก่อกบฎของพวกเขาอย่างรุนแรงมาก่อน โดยกรมพระยาชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำการกบฎของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้ที่เคยถูกถอดอิศริยศและถูกคุมขังจากการต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และการต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป.ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการปลดปล่อยภายหลังสงคราม 

ต่อมาพระองค์ทรงก้าวขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการฯภายหลังการสวรรคต ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และมีความสนิทสนมกับราชสกุลมหิดลทรงได้แจ้งกับทูตอังกฤษเป็นส่วนตัวเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2490 ว่า ทรงไม่เคยไว้วางใจ จอมพล ป. และปรีดี พนมยงค์เลย ทรงเห็นว่า ขณะนั้นรัฐบาลควง อภัยวงศ์ที่“กลุ่มรอยัลลิสต์”ให้การสนับสนุนนั้นถูกคณะรัฐประหารครอบงำ ทรงมีความคิดต้องการกำจัดจอมพล ป. ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 49. )

ดังนั้นความแตกแยกระหว่าง “พันธมิตรใหม่” เห็นได้จากรัฐบาลควง และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเพื่อจัดสรรอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์และทำให้พวกเขาให้มีอำนาจทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง ตลอดจนต้องการกำจัดคณะรัฐประหารให้ออกไปจากการเมืองด้วยกติการการเมืองที่พวกเขาจะรังสรรค์ขึ้นต่อไป

แม้ในช่วงดังกล่าวคณะรัฐประหารจะอยู่เบื้องหลังฉากการเมืองอย่างเงียบๆราวกับเป็นผู้คุ้มครองรัฐบาลควง อภัยวงศ์ก็ตาม แต่พวกเขาได้เริ่มรับรู้ถึงการเริ่มถูกหักหลังจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะกีดกันให้พวกเขาออกไปจากการเมือง พวกเขาจึงได้ปลุกกระแสการต่อต้านรัฐบาลควงด้วยการแจกจ่ายใบปลิวไปตามสถานที่ราชการ และสาธารณะ โจมตีควงและ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ว่า มีความต้องการทำลาย จอมพล ป. ด้วยการพยายามทำให้พ้นจากอำนาจ ( สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), หน้า 124-125 )

แม้รัฐบาลควงจะถูกโจมตีแต่ด้วยความสามารถของควงในการพูดหาเสียง และความช่วยเหลือทางการเงินจากพระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ผู้มีความมั่งคั่ง ส่งผลให้การเลือกตั้งในปลายเดือนมกราคม 2491 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด คือ ประมาณ 50 คน จากจำนวน 99 คน ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”; Coast, Some Aspects of Siamese Politics, p. 44 )

จากนั้นต้นเดือนมีนาคม สหรัฐฯ และอังกฤษ ได้ให้การรับรองรัฐบาลควงที่มาจากการเลือกตั้งและติดตามด้วยประเทศอื่นๆ ให้การรับรองรัฐบาลในเวลาต่อมา ( Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 60.; Frank C. Darling, Thailand and the United States (Washington D.C.: Public Affaires Press, 1965), p. 63. )

ชัยชนะในการเลือกตั้งในต้นปี 2491 ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับความช่วยเหลือจากพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” เป็นเสมือนการประกาศอิสระจากการครอบงำของคณะรัฐประหาร พวกเขามีความมั่นใจในการควบคุมการเมือง และกลไกทางการเมืองผ่านสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐบาลแทนคณะรัฐประหารมากขึ้น 

จากนั้นโครงการคืนอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลับสู่สถาบันกษัตริย์ก็ได้เริ่มต้นขึ้น รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ได้ออกกฎหมายคืนทรัพย์สิน  และให้ความเป็นอิสระ แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นแหล่งผลประโยชน์สำคัญกลับคืนสู่สถาบันกษัตริย์อีกครั้ง หลังจากที่หน่วยงานดังกล่าวเคยถูกคณะราษฎรโอนมาเป็นของรัฐบาลหลังการปฏิวัติ 2475 ( พอพันธ์ อุยยานนท์, “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.; สมศักดิ์ เจียม ธีรสกุล, “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ อะไร” ฟ้าเดียวกัน 4, 1 (2549): 67-93 )

จากนั้นพวกเขาได้เปิดการรุกทางการเมืองด้วยการเริ่มต้นออกแบบระบอบการเมืองตามสิ่งที่พวกเขาต้องการอีกครั้ง เพื่อสถาปนาระบอบการเมืองที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมืองและทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีความได้เปรียบในทางการเมืองกว่ากลุ่มการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดคณะรัฐประหารที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองที่จะสร้างอุปสรรคให้กับพวกเขาในการครองอำนาจทางการเมืองอย่างถาวรให้ออกไปจากระบอบการเมืองที่พวกเขาใฝฝันผ่านการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนู  (โปรดดูรายชื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ ใน คำอธิบายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2475-2495, หยุด แสงอุทัย (พระนคร: โรงพิมพ์ชูสิน, 2495), หน้า 224-232.; แถมสุข นุ่มนนท์, “50 ปี พรรคประชาธิปัตย์กับการเมืองไทย,” 2539, หน้า 51-52. คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกอบด้วยสมาชิก 9 คน คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาศรีวิสารวาจา พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยาอรรถการียนิพนธ์ หลวงประกอบนิติสาร ม.ร.ว.เสนีย์ นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ และเพียร ราชธรรมนิเทศ โดยคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าและนักกฎหมายที่เป็น“กลุ่มรอยัลลิสต์”) ขึ้นเพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันจะสร้างกติกาทางการเมืองที่สถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ได้เปรียบขึ้น

สาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งต่อมา คือรัฐธรรมนูญบับ 2492 หรือรัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์เป็นการออกแบบที่พยายามสถาปนาการเมืองที่ให้อำนาจแก่สถาบันกษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์มาก เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญที่พวกเขารังสรรค์ขึ้นนั้นจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการประกาศชื่อระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้นว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” 

จากนั้นพวกเขาให้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัยในทางการเมือง เช่น การกำหนดให้มีคณะองคมนตรี และสมาชิกวุฒิสภาที่มีมาจากพระราชอำนาจที่พระมหากษัตริย์จะทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรี องคมนตรี ตลอดจนทรงมีพระราชอำนาจในการทรงเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ได้อย่างอิสระ โดยมีเพียงประธานองคมนตรีเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ การให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจอำนาจทางการทหารด้วยการกำหนดให้ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง ตลอดจนให้พระองค์ทรงมีพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เป็นต้น 

ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับการพยายามจำกัดอำนาจของคณะรัฐประหารออกไปจากการเมืองด้วยการ ห้ามข้าราชการประจำเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้ง ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีมิได้ ซึ่งส่งผลให้คณะรัฐประหารถูกกีดกันออกไปจากการเมือง ( มุกดา เอนกลาภากิจ, “รัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง: ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542) 

ในสายตาของทูตต่างประเทศอย่างสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ได้บันทึกความเห็นของเขาต่อผลการรังสรรค์ระบอบการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ฟื้นฟูอำนาจ ให้กับพระมหากษัตริย์ และร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวประสบความสำเร็จในการอำพรางอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ที่เคยเห็นอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ให้แทรกลงอย่างลึกซึ้งยากแก่การสังเกตุพบ เขาเห็นว่าแนวความคิดในการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์ในการควบคุมการเมืองไทยนั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเคยมีพระราชดำริทางการเมืองถึงการปกครองในอุดมคติที่ทรงมีพระราชประสงค์ไว้เมื่อก่อนการปฏิวัติ 2475 ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 January 1948”.)

ท่ามกลางการรุกคืบทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในการยึดอำนาจการเมืองจากคณะรัฐประหาร สแตนตัน ทูตสหรัฐฯได้ตั้งข้อสังเกตถึงเป้าหมายทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ว่า พวกเขามีแผนการทางการเมืองที่ไปไกลเกินกว่าจะให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารดังเดิมแล้ว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”. )

ไม่แต่เพียง “กลุ่มรอยัลลิสต์” จะเข้าครอบงำการออกแบบระบอบการเมืองที่อำนวยให้สถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้เป็นตัวแสดงทางการเมืองสำคัญแต่เพียงกลุ่มเดียว ด้วยการกีดกันคณะรัฐประหารออกจากการเมืองเท่านั้น แต่พวกเขายังมุ่งสร้างระบอบการเมืองที่ไม่ประนีประนอมกับความคิดอื่นๆในสังคมไทย เช่น เสรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมนิยม ด้วยเหตุที่พวกเขาไม่ให้สนใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในภูมิภาค ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสานไม่พอใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”อย่างมาก 

สแตนตัน ทูตสหรัฐฯเห็นว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” สนใจแต่เพียงประโยชน์จากการยึดกุมอำนาจทางการเมืองภายใต้กติกาที่เขาออกแบบขึ้นให้มากที่สุด เพื่อทำให้พวกเขามีอำนาจได้อย่างมั่นคง ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมืองของพวกเขาชื่อพรรคกษัตริย์นิยมตามแนวคิดของพวกตนขึ้น เพื่อเข้าชิงชัยทางการเมืองร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เพื่อให้พวกเขาสามารถครองเสียงในสภาผู้แทนฯให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251,” Summary of Political events in Siam January 1948”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 11 February 1949. ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2491 ในนามของพรรคกษัตริย์นิยม คือ ร.ท. สัมพันธ์ ขันธะชวนะ ส.ส.นครราชสีมา (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย: ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2491-2500), หน้า 435).

แผนการใหญ่ทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

สถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหาร 2490 ทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กลับขึ้นมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ และทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มีส่วนสำคัญในการออกแบบระบอบการเมืองที่อำนวยประโยชน์ให้พวกเขากลายเป็นตัวแสดงทางการเมืองหลัก และการสนับสนุนความมั่งคงทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์และพวกตน แต่ความเคลื่อนไหวของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” มิได้มุ่งให้การสนับสนุนราชสกุลมหิดลเพียงราชสกุลเดียว 

เนื่องจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ขณะนั้นมิได้มีความเป็นเอกภาพ ทำให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สำคัญที่นำโดย ควง อภัยวงศ์ และพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลนั้นมีความมั่นใจในอำนาจต่อรอง และมีความอิสระในการตัดสินใจที่จะเลือกสนับสนุนราชสกุลใดให้มีอำนาจในราชสำนักก็ได้ เนื่องจากขณะนั้นผลการสืบสวนกรณีสวรรคตมีแนวโน้มที่จะสามารถตั้งสมมติฐานผู้ต้องสงสัยที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสวรรคตฯได้แล้ว ทำให้ ควง ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีความต้องการเปิดเผยผลการสอบสวนนี้ออกสู่สาธารณชนซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักอย่างใหญ่หลวง

ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” มีอิทธิพลและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการเมืองของราชสำนักในขณะนั้น สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานว่า ควง อภัยวงศ์ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีแผนการแตกหักกับคณะรัฐประหาร โดยพวกเขามีแผนการสนับสนุนให้พระองค์เจ้าจุมภฏฯจากราชสกุลบริพัตรขึ้นครองราชย์แทนราชสกุลมหิดล เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการบรมราชาภิเษกผู้ใดให้เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ และพวกเขามีความต้องการฟื้นฟูอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ก่อนการปฏิวัติ 2475 ให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อสร้างอำนาจนำทางการเมืองที่ยั่งยืนให้แก่พวกเขา เพื่อทำให้กลุ่มของเขากลายเป็นแกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งมวลพร้อมกับเป็นผู้นำของประเทศ 

ด้วยแผนการหมุนกลับระบอบการเมืองของ ควง ทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารคัดค้านแผนทางการเมืองดังกล่าวอย่างหนักทำให้ จอมพล ป.ต้องหันกลับไปเป็นพันธมิตรกับ“กลุ่มปรีดี” เพื่อร่วมกันขับไล่ ควงและยุติแผนการของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต่อมา แมคโดนัล อดีตโอ.เอส.เอส.และมีความคุ้นเคยกับ ปรีดี พนมยงค์ ได้แจ้งข่าวต่อ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯว่า จอมพล ป.ได้ส่งผู้แทนมาแจ้งกับเขาว่า จอมพล ป.มีความคิดที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ และพล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์กับกลุ่มของเขาเพื่อกันควงที่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกไปจากการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจาก จอมพล ป.ต้องการคัดค้านแผนการของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะสถาปนาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ 

รายงานของสถานทูตสหรัฐฯ บันทึกต่อไปว่า ควง ต้องการจะเปิดเผยถึงบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสวรรคต สแตนตันเห็นว่า การเปิดเผยดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราชสำนักอย่างสำคัญ ต่อมา แลนดอน เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ผู้คุ้นเคยกับการเมืองไทยเห็นว่า แม้จอมพล ป.และปรีดีจะเป็นคู่ปรปักษ์ทางการเมืองกันภายในคณะราษฎร แต่ทั้งคู่แสดงการคัดค้านการรื้อฟื้นอำนาจของพระมหากษัตริย์ แลนดอนวิเคราะห์ว่า ทั้งจอมพล ป.และปรีดีไม่มีปัญหากับพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เพราะขณะนั้นพระองค์ทรงพระเยาว์และไม่มีฐานอำนาจการเมือง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 January 1948”; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 5 February 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Landon to Butterworth, 20 February 1948. )

ท่ามกลางการดำเนินการแผนการใหญ่ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2491 มีสมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งได้มาปรึกษา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงความกังวลการขยายอิทธิพลทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ทำให้คณะราษฎรต้องการให้ จอมพล ป. กับปรีดี พนมยงค์ ร่วมมือกันต่อต้านแผนทางการเมืองดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 9 February 1948. )

ต่อมามีการจัดประชุมร่วมกันระหว่างคณะราษฎร กับคณะรัฐประหารหลายครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งอันเกิดจากการรัฐประหาร 2490 และผนึกกำลังเพื่อต่อต้านแผนการใหญ่ของควงและ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่จะการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นใหม่ ซึ่งพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แกนนำคนหนึ่งของคณะรัฐประหาร และนายทหารผู้ใกล้ชิดกับ จอมพล ป.และคณะราษฎรเห็นว่า แผนการดังกล่าวเป็นการชิงอำนาจทางการเมืองไปจากคณะรัฐประหารและทำลายคุณูปการทางการเมืองต่างๆทั้งหมดที่คณะราษฎรได้สร้างมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติ 2475 ให้มลายลง (NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 1-15 February 1948”.มีการประชุม คณะราษฎรและคณะรัฐประหารที่บ้านของ ร.ท.ขุนนิรันดรชัย หลายครั้ง สมาชิกที่เข้าร่วมประชุม เช่น พล ท. พระประศาสน์ พิทยุทธ์ ,พล ท. มังกร พรหมโยธี ,พล ท. ประยูร ภมรมนตรี และหลวงนฤเบศมานิตย์ ในการประชุมครั้งหนึ่งเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ได้มีความพยายามไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร 2490 และยืนยันหลักการของการปฏิวัติ 2475 ต่อไป โดยผู้แทนของคณะรัฐประหาร คือ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ,พล ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ และนายทหารระดับกลางอีก 6 คน โดย พล ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ สมาชิก คณะราษฎรคนหนึ่งที่เข้าประชุมได้บันทึกการประชุมที่นำโดยพล ท.มังกร พรหมโยธี ,พล ต.อ.เผ่า และ พล ต.ท.ละม้าย ว่า “แลเสียงที่คุณเผ่า คุณละม้ายว่า นายควงไปไม่รอด เดินกับพวกเจ้า 100% ” (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, [กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์],หน้า 159)

คณะรัฐประหารต้องการให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถูกร่างขึ้นจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และสั่งการให้มีการสอดส่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ( หจช.สร. 0201.18/5 สำนักงานโฆษณาการคัดและตัดข่าวหนังสือพิมพ์ (เมษายน – กันยายน 2492).;เกียรติศักดิ์, 20 กุมภาพันธ์ 2492. )

แม้ว่าคณะราษฎรและคณะรัฐประหารจะพยายามกดดัน ควง อภัยวงศ์และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ออกไปจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับปรีดี พนมยงค์ และ พล ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ควงมีความมั่นใจการสนับสนุนทางการเมืองจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีมากกว่าแรงกดดันดังกล่าว ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 17 February 1948 . )

ต่อมาเมื่อควงได้รับชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2491 ท่ามกลางแรงกดดันจากคณะราษฎรและคณะรัฐประหารก็ตาม แต่เขายังคงได้รับการสนับสนุนจากสถาบันกษัตริย์ผ่านจากอภิรัฐมนตรี (หรือองคมนตรีในเวลาต่อมา) และจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในวุฒิสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งหมดกับสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาผู้แทนฯ ทำให้เขาสามารถจัดตั้งรัฐบาลของเขาได้สำเร็จ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-29 February 1948”.)

ในขณะเดียวกันท่าทีของกรมพระยาชัยนาทฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ยังคงทรงไม่พอพระทัยต่อจอมพล ป. และทรงไม่เห็นด้วยกับความคิดของ จอมพล ป.ในการฟื้นฟูคณะราษฎรที่เคยโค่นล้มอำนาจของสถาบันกษัตริย์ให้กลับมาท้าทายพวกเขาอีกครั้ง ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 10 March 1948.)

จอมพล ป.กับการล้มแผนทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

เมื่อการกดดันของคณะราษฎร และคณะรัฐประหาร ที่มีต่อความเคลื่อนไหวและแผนการทางการของ ควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ไม่ได้ผล เนื่องจากควงมีความได้เปรียบเหนือกว่าในฐานะผู้ที่จะกำหนดอนาคตของสถาบันกษัตริย์ให้ไปในทิศทางใด ทำให้พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มราชสกุลและพระราชวงศ์ที่ต้องการมีอำนาจในราชสำนักใหม่หรือคงยังมีอำนาจต่อไป ควงและ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ยังคงเดินหน้าออกแบบระบอบการเมืองด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ และทำให้พวกเขาได้เปรียบในการแข่งขันทางการเมือง ตลอดจนการกำจัดคู่แข่งให้ออกไปจากการเมือง

ในที่สุดเมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ ควง อภัยวงศ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออกในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการฯเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล 

ทำให้ทรงบริพาทย์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของ จอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป ( NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State , 7 April 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, Stanton to Secretary of State, 8 April 1948.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7251, Memorandum of Conversation Prince Rangsit and Stanton, 9 April 1948. )

การกลับเข้ามีอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างความไม่พอใจให้กับสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” อย่างมาก แต่กลับไม่ได้รับการต่อต้านจากประเทศมหาอำนาจอย่างรุนแรงเหมือนการรัฐประหาร 2490 อีก เนื่องจากประเทศต่างๆ มีความวิตกกับผลประโยชน์ที่ประเทศของตนอาจได้รับการกระทบกระเทือนหากไม่ให้การรับรองรัฐบาล จอมพล ป. 

สำหรับอังกฤษมีความกังวลเรื่องการส่งข้าวตามข้อตกลงสมบูรณ์แบบกับไทยว่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนฝรั่งเศสกังวลเรื่องดินแดนในอินโดจีนที่ไทยคืนให้กับฝรั่งเศสจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างกันขึ้นอีก ส่วนสหรัฐฯวิตกว่าหากไม่รับรองรัฐบาลใหม่จะทำให้สหภาพโซเวียตเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับไทย 

ดังนั้นสหรัฐฯ เห็นว่าการไม่รับรองรัฐบาล จอมพล ป.จะสร้างปัญหาที่ไม่จำเป็นตามมามากกว่า ไม่กี่วันต่อมา เมื่อรัฐบาล จอมพล ป.ได้รับการลงมติรับรองจากรัฐสภา และมีการประกาศการดำเนินการตามพันธสัญญานานาชาติดังเดิม การประกาศดังกล่าวทำให้มหาอำนาจต่างๆ ล้วนรับรองรัฐบาลจอมพล ป.ทันที (Mahmud, The November 1947 Coup: Britain, Pibul Songgram and the Coup, p. 67-68.)

ควรบันทึกด้วยว่านโยบายของสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงสงครามเย็นได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในอดีตสหรัฐฯ เคยต่อต้านรัฐบาล จอมพล ป.มาเป็นการให้การรับรองรัฐบาลของเขา เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว สถานการณ์การต่อสู้ระหว่างก็กหมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแนวโน้มที่ฝ่ายแรกกำลังเสียเปรียบ ทำให้สหรัฐฯมีความต้องการมีอิทธิพลต่อไทยเพื่อทำให้ไทยร่วมมือกับสหรัฐฯในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเอเชีย มีผลทำให้ สแตนตัน ทูตสหรัฐฯที่เคยแสดงการต่อต้าน จอมพล ป. ได้เปลี่ยนท่าทีที่เคยแข็งกร้าวมาเป็นการกล่าวชื่นชม จอมพล ป.ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางของนโยบายใหม่ของสหรัฐฯว่า จอมพล ป.มีความเป็นผู้นำและให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ( Kullada Kesboonchoo Mead, “A revisionist history of Thai-U.S. relation,” Asian Review 16 (2003), p. 52.)

แม้รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ จะพ้นจากอำนาจไป แต่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังคงทำงานต่อไป เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม มิได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ล้มเลิกรัฐสภา และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” สนับสนุนการจัดตั้ง เนื่องจาก จอมพล ป.อาจจะเชื่อมั่นว่า เขาจะสามารถควบคุมสมาชิกสภาผู้แทนฯได้ และอาจมีความวิตกว่า หากล้มเลิกรัฐธรรมนูญจะทำให้รัฐบาลของเขาต้องกลับไปเผชิญหน้ากับการไม่ได้รับการรับรองจากนานาชาติอีก 

ต่อมาบางกอกโพสต์ ( Bangkok Post) ได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” และพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมีอิทธิพลในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งแนวโน้มของสาระในรัฐธรรมนูญนั้นจะสกัดกั้นการมีอำนาจทางการเมืองของคณะรัฐประหาร ( Bangkok Post, 10 April 1948. )

แม้ จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้เสนอให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนให้ยึดถือรัฐธรรมนูญ 2475 เป็นแบบในการร่างก็ตาม แต่การดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ยังดำเนินไปในทิศทางที่เพิ่มอำนาจให้กับสถาบันกษัตริย์ และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ต่อไป

ขอบคุณที่มาและเชิงอรรถ จากวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา(พ.ศ. 2491-2500) โดย นายณัฐพล ใจจริง