วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...)

บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...)

พ.ศ. ....

หลักการ

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ดังต่อไปนี้

(๑) ยกเลิกมาตรา ๑๑๒

(๒) กำหนดความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (เพิ่มลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภาค ๒ ความผิด มาตรา... มาตรา... มาตรา... มาตรา... มาตรา... มาตรา... และมาตรา...)

เหตุผล

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริตและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่าง
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...)
พ.ศ. ....
..................................
..................................
..................................
...........................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
............................................................................................................................................

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ....”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลักษณะ ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา... มาตรา...มาตรา... มาตรา... มาตรา... มาตรา... และมาตรา... แห่งประมวลกฎหมายอาญา

“ลักษณะ ...
ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท
และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา ... ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ... ผู้ใดดูหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ... ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ... ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่หกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ... ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา ... ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์

มาตรา ... ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
       ..................................
             นายกรัฐมนตรี


ข้อเสนอเพื่อการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ นิติราษฎร์

โดยตระหนักว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะชาติกำเนิดใด ดำรงตำแหน่งสถานะใด ย่อมมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีเสรีภาพ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มีเหตุผล มีความสามารถอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง และในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่จะขาดเสียมิได้ หากจะมีการจำกัดเสรีภาพดังกล่าว รัฐต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และจะจำกัดจนถึงขนาดกระทบต่อสารัตถะแห่งเสรีภาพนั้นมิได้

กฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีความไม่เหมาะสมทั้งในแง่ของโครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ และการบังคับใช้ ประกอบกับกฎหมายดังกล่าวไม่มีการยกเว้นความผิดในกรณีที่บุคคลติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งในปัจจุบันปรากฏชัดว่ากฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้บุคคลนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต และไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นควรเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

ประเด็นที่ ๑
การดำรงอยู่ของมาตรา ๑๑๒

ข้อเสนอ
ยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

เหตุผล
๑. มาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ ๔๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๙ ซึ่งเป็น “กฎหมาย” ของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติในมาตรานี้จึงขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

๒. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของบทบัญญัติต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องยกเลิกบทบัญญัติมาตรา ๑๑๒ ในลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เพื่อนำไปบัญญัติขึ้นใหม่เป็นลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประเด็นที่ ๒
ตำแหน่งแห่งที่ของบทบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับเกียรติยศและชื่อเสียงของ
พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ข้อเสนอ
๑. เพิ่มเติมลักษณะ... ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

๒. นำบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปบัญญัติไว้ในลักษณะ...

๓. แยกความผิดในลักษณะ... เป็น ๔ ฐานความผิด คือ
-ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
-ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
-ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
-ความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
โดยสภาพของความผิด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาพร้ายแรงถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของบูรณภาพและความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร


ประเด็นที่ ๓
ตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครอง

ข้อเสนอ
แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้

มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”

มาตรา ... “ผู้ใดดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษ ...”

มาตรา ... “ผู้ใดหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...
ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยการโฆษณา ผู้กระทำต้องระวางโทษ…”

มาตรา ... “ผู้ใด ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ ...”

เหตุผล
เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งแยกการคุ้มครองระหว่างตำแหน่งพระมหากษัตริย์กับตำแหน่ง พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในความผิดฐานอื่นๆ กล่าวคือ
-ความผิดฐานปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๗)
-ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๐๘)
-ความผิดฐานปลงพระชนม์พระราชินี รัชทายาท และความผิดฐานฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๐๙)
-ความผิดฐานกระทำการประทุษร้ายพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๑๐)

ประเด็นที่ ๔
อัตราโทษ

ข้อเสนอ
๑. ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ

๒. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินสองปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสี่แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๓. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๔. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหนึ่งปี สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าความผิดดังกล่าวได้กระทำโดยการโฆษณา ให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๕. ลดอัตราโทษขั้นสูงให้เป็นจำคุกไม่เกินหกเดือน สำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกำหนดโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เหตุผล
๑. ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงยิ่งไม่ควรมีการกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในความผิดฐานดังกล่าว

๒. เปิดโอกาสให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำคุกน้อยเพียงใดก็ได้ตามควรแก่กรณี และในกรณีที่ศาลเห็นว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่ไม่ควรลงโทษถึงขั้นจำคุก ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้ลงโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้

๓. เป็นการคุ้มครองบุคคลในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้สมแก่สถานะแห่งตำแหน่ง จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงที่สูงกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา แล้วแต่กรณี และเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างความร้ายแรงของการกระทำอันเป็นความผิดกับโทษที่ผู้กระทำความผิดนั้นควรได้รับ อันเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดให้มีอัตราโทษขั้นสูงลดลงจากเดิม

๔. โดยเหตุที่พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ ซึ่งมีสถานะแตกต่างจากพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน

๕. โดยเหตุที่ลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท แตกต่างจากลักษณะของการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดฐานดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย จึงสมควรแยกการกระทำความผิดทั้งสองลักษณะออกจากกันและกำหนดอัตราโทษให้แตกต่างกัน

ประเด็นที่ ๕
เหตุยกเว้นความผิด

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความผิด ดังนี้

มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมาตรา ๕๐ รับรองเสรีภาพในทางวิชาการ ดังนั้น การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว จึงไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

ประเด็นที่ ๖
เหตุยกเว้นโทษ

ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้

มาตรา ... “ในกรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามลักษณะ... ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ

ประเด็นที่ ๗
ผู้มีอำนาจกล่าวโทษ

ข้อเสนอ
๑. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

๒. ให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

เหตุผล
๑. เพื่อมิให้บุคคลทั่วไปนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือนำไปใช้โดยไม่สุจริต

๒. โดยเหตุที่สำนักราชเลขาธิการเป็นหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเลขานุการในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ และมีสถานะเป็นกรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.๒๕๔๕ มีกองนิติการทำหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และงานส่วนพระองค์และดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบในความรับผิดชอบของสำนักราชเลขาธิการ จึงสมควรให้สำนักราชเลขาธิการทำหน้าที่ปกป้องพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หมายเหตุ
ข้อเสนอนี้นอกจากจะเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว คณะนิติราษฎร์ยังมุ่งหวังให้เป็นมาตรฐานในการปฏิรูปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทและ ดูหมิ่นกรณีอื่น ๆ ในประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายประมุข หรือผู้แทนรัฐต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๓ และมาตรา ๑๓๔) ความผิดฐานดูหมิ่น เจ้าพนักงาน (มาตรา ๑๓๖) ความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา (มาตรา ๑๙๘) และความผิดฐาน หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘) ให้เป็นระบบและสอดคล้องกับข้อเสนอนี้ในโอกาสต่อไปด้วย

คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔

วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

มองให้เห็นถึงปัญหา คุณจะเข้าใจปัญหาเมื่อคุณเข้าใจปัญหา คุณจะเจอคำตอบทั้งหมดของปัญหา

หมายเหตุ บันทึกนี้ผมเขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งบันทึกนี้ผมเขียนก่อนที่แกนนำทั้ง 9 คน จะได้รับการปล่อยตัวและออกมาประกาศเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ซึ่งก่อนเืลือกตั้งผมเองก็เป็น 1 ในคนที่คิดว่าจะโหวตโน แต่สุดท้ายด้วยความที่ตัวเลือกมีไม่มากและประกอบกับ สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาประกาศโหวตโนเหมือนกันก็เลยทำให้ผมต้องเลือกเพื่อไทย ส่วนที่ถามว่าทำไมผมถึงมีความคิดโหวตโนก็ลองอ่านดูละกันครับ คือประมาณว่าไหนๆก็มีบล้อกแล้ว ส่วนใหญ่จะนั่งหาข้อมูลจากเว็บต่างๆมาผสมกันไปด้วย แต่บันทึกนี้ผมเขียนจากความคิดที่ตกผลึกทางการเมืองไทยหลังจากเริ่มสนใจการเมืองตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ลองอ่านกันดูละกันครับ ^_^

เราออกมารวมตัวประท้วง เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องให้มีการยุบสภามาตลอดเวลาที่ผ่านมาจนเกิดการสูญเสียเลือดเนื้อ หรือแม้แต่ชีวิตของเพื่อนๆ พี่น้องร่วมอุดมการณ์เรานั้นคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่เราตะโกนเรียกร้องตลอดหลายปีที่ผ่านมาคืออะไร ?

บางคนอาจจะบอกว่าประชาธิปไตยคือประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ฯลฯ เราลองมาย้อนคิดกันดู ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผมได้ศึกษาข้อมูลมามากมายไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือการสนทนากับบรรดาพี่ๆ ที่คร่ำหวอดกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่สมัย 14 ตุลา 2516 , 6 ตุลา 2519 , พฤษภา 2535 , รวมถึงย้อนไปศึกษาถึงการปฎิวัติของคณะราษฎรเมื่อปี 2475 และคลิปการสัมนาต่างๆ ของบรรดาอาจารย์ที่ออกมาแสดงทัศนะทางความคิดที่มีต่อ ประชาธิปไตยให้เราเห็นภาพรวม มันทำให้ผมตกผลึกทางความคิดกับคำว่าประชาธิปไตย จริงๆแล้วหมายถึงอะไร

พวกเราทุกคนอาจจะรู้กันหมดแล้วว่าอำมาตยาธิปไตยคืออะไร  มือที่มองไม่เห็นคืออะไร  ตุลาการภิวัฒน์ อำนาจนอกรัฐธรรมนูญคืออะไร แล้วอำนาจจริงๆ ยังเป็นของประชาชนอยู่จริงหรือ ? 

คุณคิดว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไป ผมขอใช้คำว่า “ถ้า” มีการเลือกตั้งก็แล้วกัน ถ้าเกิดมีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลทุกอย่างจะ จบจริงหรือ สามารถนำคนผิดที่สั่งการสังหารหมู่ประชาชนมาลงโทษ สามารถดึงความยุติธรรมกลับมาสู่สังคมได้ สามารถสร้างความสามัคคีของคนในชาติให้กลับมาเหมือนเดิมได้ สามารถทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะปกติได้จริงหรือ ? การเลือกตั้งคือคำตอบของทุกอย่างหมายถึงประชาธิปไตยที่เราต้องการอย่างนั้นรึป่าวครับ ??

ไม่ใช่เลยคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า เราทุกคนได้เลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่าพรรคที่เราเลือกได้จัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ทุกอย่างจะจบ เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าพรรคไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ปัญหาจริงๆอยู่ที่ระบบการปกครองของประเทศไทย...

บางคนอาจจะเริ่มเข้าใจแต่สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจผมจะต่อยอดอธิบายออกมาให้ฟังนะครับ

ทำไมผมถึงบอกว่าปัญหาจริงๆไม่ได้อยู่ที่ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้เสียงข้างมาก หรือพรรคการเมืองไหนจะได้จัดตั้งรัฐบาลผมจะแยกประเด็นให้ดูนะครับ
  1. ประเทศไทยหลังจากการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์เป็น ระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎร์ ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยได้จัดให้มีการเลือกตั้งมาตลอดจนถึงปัจจุบันก็เป็น เวลา 79 ปี และการเลือกตั้งในประเทศไทยทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 25 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีทั้งหมดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน 27 คน ลองคิดกันเล่นๆนะครับ 78 ปีถ้านายกรัฐมนตรีทุกคนอยู่ครบวาระ 4 ปี ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบันนะครับ ประเทศเราจะมีการเลือกตั้งแค่ 19 ครั้ง จะมีนายกรัฐมนตรีแค่ 19 คน ซึ่งคนล่าสุดก็กำลังจะหมดสมัย ผมยกให้ในกรณีประกาศยุบสภาผมว่าเต็มที่เราจะมีนายกไม่เกิน 23 คน
  2. ประเทศไทยหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เรามีรัฐธรรมนูญที่เขียนแล้วฉีก ฉีกแล้วเขียนขึ้นมาประกาศใช้ใหม่รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบันรวมทั้งหมด 18 ฉบับ
  3. หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ พ.ศ.2475 มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายนั่นคือ การปฎิวัติ 1 ครั้งที่นำโดยคณะราษฎร์ 2475 รัฐประหาร 8 ครั้ง และกฎบ 12 ครั้ง หมายเหตุ หากทำการรัฐประหารในครั้งนั้นไม่สำเร็จจะเรียกว่ากฎบ ประเทศที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยจะมีสักกี่ประเทศครับที่เกิดเหตุการณ์รัฐ ประหารบ่อยขนาดนี้ มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยประเทศที่พวกเราบอกชาวโลกว่าเราเป็นประชาธิปไตย ???
  4. เกิดการสูญเสียทั้งเลือดเนื้อและชีวิตของประชาชนมากมายใน การลุกฮือออกมาต่อต้านการปกครองกึ่งเผด็จการจากผู้ที่กระทำการรัฐประหารยึด อำนาจในแต่ละยุคแต่ละสมัยเรามีวีรชนที่ต้องสละชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มากี่รุ่นแล้วครับ ไม่ว่าจะ 14 ตุลาคม 2516 , 6 ตุลาคม 2519 , พฤษภาคม 2535 , เมษายน 2552 และล่าสุด 10 เมษายน 2553 ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา บางคนหายสาบสูญ บางคนโดนเผาซะจนไม่สามารถระบุตัวได้ว่าเป็นใคร นี่หรือครับที่เราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
หลังจากที่ยกตัวอย่างง่ายๆให้ดูกันถึงตรงนี้คุณยังคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ปัญหาทุกอย่างจะจบเราจะได้ความเท่าเทียม ความยุติธรรม เสมอภาคกลับมาเหมือนเดิมมั้ยครับ ? ให้เราเลือกตั้งอีก 10 ชาติ เราก็ไม่มีทางพ้นวังวนนี้หรอกครับเพราะปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ระบบ ถ้าเราไม่แก้ที่ระบบ การเลือกตั้งก็เป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจการบริหาร และเป็นเรื่องของผลประโยชน์มากกว่า

ไม่ต่างอะไรจากการเล่นเก้าอี้ดนตรีที่มีอำนาจเป็นเดิมพันเลยสักนิด มือใครยาวสาวได้สาวเอา ซึ่งประเทศไทยเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนผมเกิดด้วยซ้ำ ประชาชนต้องก้มหน้ารับชะตากรรมจนเป็นเรื่องปกติในสังคมของคนไทย เรามักจะได้ยินคำนี้จากปากแม่ค้ากันบ่อยๆ “นักการเมืองหรอ ไม่เคยเห็นหัวหรอก จะเห็นก็ตอนมีการเลือกตั้งนั่นแหละ คนพวกนี้จะเที่ยวมาเดินยกมือไหว้ คนนู้น คนนี้ ทั่วตลาดไปหมดแต่หลังจากได้รับเลือกหรอ ไม่เคยเห็นหัวหรอก” นี่คือคนไทยหรือคนระดับรากหญ้ามองจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับการเมืองไทย

ที่นี้มาวิเคราะห์ประเด็นความเป็นไปได้กันต่อแล้วมานั่งคิดกันว่าเราเลือกที่จะ อยู่ในความฝันหรือเลือกที่จะลืมตามองความเป็นจริง ว่าปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่กับ การเลือกตั้ง รัฐประหาร นองเลือด แล้วก็เลือกตั้ง แบบนี้ไม่จบไม่สิ้นสักที

ประเด็นแรกความเป็นไปได้ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยเองยังไม่มีหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำไป ประกอบกับปัญหาภายในพรรคเองที่ต่างคนก็ต่างแบ่งก๊ก แบ่งเหล่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยที่จะใช้หาเสียงล่ะ ถึงตรงนี้ผมยังไม่เห็นอะไรที่โดนใจหรือเป็นรูปธรรมเลย มีแต่นามธรรม และส่วนใหญ่คนในพรรคเพื่อไทยเองก็นักการเมืองหน้าเดิมๆ ที่อยู่กับระบบนี้มามากกว่า 10 ปี แล้วคุณคิดว่าค่านิยมของนักการเมืองโดยส่วนใหญ่เค้าเห็นหัวประชาชนจริงๆ หรือครับ ถึงมีผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่นักการเมืองส่วนใหญ่

ส่วนใน รายของพี่ ตู่ จตุพร ผมมองว่าพี่ตู่เองก็เป็นคนที่เด็ดขาด แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่าพี่ตู่เองก็เป็น ส.ส. ในที่นี้ผมหมายถึงพี่ตู่ก็ยังอยู่ในระบบอำนาจการปกครองแบบนี้ แล้วถามว่าพี่ตู่เองเสียงดังพอ มีพาวเวอร์พอแค่ไหน ที่จะคอนโทรลคนในพรรคเพื่อไทยให้ไปในทิศทางเดียวกับขบวนการประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่กระบวนการแย่งอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง

ประเด็นที่สอง เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญและปฎิรูประบบการปกครองใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย จริงๆไม่ว่าจะอำนาจตุลาการ หรือการไต่สวน ทำไมประเทศที่เจริญแล้วเค้าถึงใช้ระบบไต่ส่วนแบบลูกขุน ไม่เหมือนประเทศเราที่ยังใช้ระบบกล่าวหาล่ะครับ ถ้าคุณเป็นประชาชนที่นามสกุลไม่ดัง หรืออยู่ในชุมชนที่เป็นแหล่งเสื่อมโทรมเช่นที่เราชอบเรียกกันว่า สลัม หรือชุมขนแออัดและอยู่ใกล้กับแหล่งอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะการพนัน ยาเสพติด คุณจะเข้าใจเลยว่าระบบกล่าวหาโดยไม่ไต่ส่วนให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเต็มที่ในการดำเนินคดีไม่ว่าจะผิดจริง หรือโดนยัดข้อหา วลีเด็ดที่เจ้าหน้าที่รัฐชอบใช้ก็คือ “มึงคิดว่าศาลจะเชื่อใคร ระหว่างมึงกับกู” นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “แพะ” และมันจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมนี้ รวมถึงระบบการคานอำนาจกันที่เหมือนงูกินหางสามารถตรวจสอบและเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ถ้าเค้าทำผิดจริง ไม่ใช่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ที่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ปัญหานี้คุณคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วพรรค เพื่อไทยได้คะแนนเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาลคุณคิดว่าพรรคเพื่อไทย หรือรัฐบาลใหม่กล้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดปลีกย่อยนี้หรือครับ ? ผมยกตัวอย่างง่ายๆให้ลองคิดกัน เอาแค่ในหมวดเทวดา ( ในที่นี้ผมหมายถึงรัฐธรรมนูญในหมวดองคมนตรีละกัน ) คุณคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าแก้ไขหมวดนี้หรือครับ ข้อสังเกตง่ายๆ คุณจำสมัยที่ นาย สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีได้มั้ยครับ ? ถ้าจำกันได้นโยบายหลักตอนที่ นาย สมัคร ใช้หาเสียงก่อนจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ถ้าพรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับเลือกตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยก็พยามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง

แต่...คุณ จำได้มั้ยครับว่ามีพวกไหนออกมาต่อต้าน ? ก็พวกที่ตอนโหวตรับร่างบอกว่าให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ พอจะแก้กันจริงๆ พวกที่เคยสนับสนุนรัฐธรมนูญฉบับปี 2550 หันมาต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ จนนายก สมัคร ต้องชะลอการแก้รัฐธรรมนูญโดยบอกว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาพอสมควร แต่ประเด็นที่ผมพูดคุณลองนั่งนึกดีๆ สมัยที่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช พยามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เค้าเลือกที่จะแก้เฉพาะมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเท่านั้น !!! นี่ยังไม่พูดถึงในหมวดขององคมนตรี หรืออำมาตย์เลยนะครับ

คุณคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยหน้าจะกล้าแตะหรือแก้ไขหมวดนี้ รึป่าวครับ ? เพราะทันทีที่คิดจะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดนี้คนที่พยามแก้จะโดนข้อหาที่ใช้มา โดยตลอดจากฝ่ายอำมาตย์เพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตยนั่นคือข้อกล่าวหาว่า “ไม่จงรักภักดีต่อสถาบัน” และหมวดนี้ไม่ใช่หรือครับที่เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมากับการเมืองไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา การเมืองไทยถึงไม่เคยพ้นวงจรนี้  “เลือกตั้ง รัฐประหาร นองเลือด เลือกตั้ง” อยู่อย่างนี้มาตลอด

ถ้าใครเคยอ่านบทความของพี่ อริณ ( รุงโรจน์  ) คงจะจำกันได้ดีเกี่ยวกับบทความที่พี่ อริณ เขียนอยู่เรื่องนึงนั่นคือ “องคมนตรีเป็นสถาบันไปแล้วหรือ ?” หรือบทความ “รัฐธรรมนูญที่ปราศจากองคมนตรี”

ประเด็นต่อมาอันนี้ผมยกให้เป็นประเด็นหลักเลยละกันสำหรับคนที่ยังตีความคำว่า ประชาธิปไตยยังไม่แตก ถ้าคุณตามข่าวพรรคการเมืองหรือเสื้อแดงมาตลอด คุณมันจะได้ยินบ่อยๆ อยู่ประโยคนึงนั่นคือ “เราจะนำทักษิณกลับบ้าน”

ผมขอตั้งคำถามแบบนี้ ถามว่าถ้า ทักษิณ ชินวัตร กลับมาแล้วอะไรในประเทศจะเปลี่ยนแปลง ?

ที่ผมตั้งคำถามนี้ไม่ใช่ว่าผมไม่ชอบทักษิณ ตัวผมเองในฐานะคนเสื้อแดงก็นับถือ เคารพ และชื่นชมผลงานการบริหารประเทศของ ทักษิณ ที่ทำได้ดีมาก ไม่ได้ต่างจากคนเสื้อแดงหลายๆคน ทำให้เราได้รู้จักว่าประชาธิปไตยที่กินได้คืออะไร และทักษิณ คือเหยื่อของระบบการเมืองแบบนี้ที่มองเห็นชัดที่สุด ทำให้ผมและเสื้อแดงอีกหลายๆคนรู้ว่า อำมาตยาธิปไตยคืออะไร มือที่มองไม่เห็นคืออะไร และกระชากหน้ากากของผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้ออกมาจากเงามืดให้เราได้รู้กัน เพราะทักษิณโดนระบบนี้เล่นงานจนอ่วม ต้องไปอาศัยอยู่ต่างแดน ต้องจากครอบครัว

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เปลี่ยนไปมากไม่ใช่ 4 ปีก่อนหน้านี้ หรือไม่ใช่ 8 ปีที่แล้ว ถ้าคุณสังเกตดีๆ คุณจะเห็นว่าตัวทักษิณเองก็เริ่มถอยตัวเองจากแกนนำหลักที่ คอยปลุกกระแสดึงมวลชนคนเสื้อแดงที่รักในตัวทักษิณ เห็นความไม่ยุติธรรมของระบบที่เกิดขึ้นออกมาร่วมประท้วง ทักษิณได้ถอยหลังออกมาให้มวลชนนำตนเองสามารถนำตนเองได้ โดยที่ตัวทักษิณเองก็บอกว่าเค้าไม่ใช่แกนนำอีกต่อไป เค้ามาในฐานะเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกับเรา เพราะทักษิณก็เข้าใจว่ามวลชนคนเสื้อแดงบางส่วนได้ก้าวข้ามทักษิณไปแล้ว

เดี๋ยวนี้คำว่า ม็อบรับจ้าง หรือขี้ข้าทักษิณ ได้หายไปจากขบวนการคนเสื้อแดงเรียบร้อย จะมีก็แค่สลิ่ม หรือ พวกเด็กน้อยวัยทีนเอจเป็นบางกลุ่มที่ยังเรียกแบบนี้อยู่เพราะเค้าคงคิดไปไกลมากกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว

คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งและตัวผมเองได้ ก้าวข้ามทักษิณมาแล้ว เพราะเรารู้ว่าปัญหาจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่ทักษิณได้กลับบ้านหรือไม่ได้กลับ ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ระบอบการปกครองในประเทศไทยที่ฝังรากลึกมานานมาก ต่อให้ทักษิณได้กลับบ้านถ้าระบบยังไม่เปลี่ยน คุณคิดหรือว่าทักษิณจะได้อยู่ในประเทศนี้อย่างสบายๆ เพราะฝ่ายอำมาตย์เองก็กุมอำนาจไว้หมด ไม่ว่าจะการเมือง การปกครอง หรือแม้แต่ทางทหาร ตราบใดที่ระบบนี้ยังแข็งแกร่ง ให้ทักษิณได้กลับบ้านจริงเค้าก็ต้องตกเป็นเป้าสังหารของฝ่ายอำมาตย์ หรืออีกทางเลือกนั่นก็คือ เค้าต้องเลือกที่จะเล่นไปตามระบบ ระบบที่อำมาตย์วางไว้ ระบบที่ประชาธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน หรือ เรียกง่ายๆว่าประชาธิปไตยแบบ ทุย ทุย ที่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่เดียวคือกาบัตรเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็นั่งมองตาปริ๊บๆดูนักการเมืองโกงกัน

ในขณะที่ผม นั่งเขียนบทความอยู่นี้ก็ได้เห็นข่าวดีของประชาชนชาวอียิปต์ที่ฉลองกันทั่ว ประเทศหลังจากประธานาธิบดี ฮอสนี่ มูบารัค ที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานร่วม 30 ปี ในประเทศอียิปต์ประกาศลาออกจากตำแหน่งและออกนอกประเทศไปแล้วขอแสดงความยินดี ด้วยครับ แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของอียิปต์เราก็คอยตามดูกันต่อไป

การปกครองในประเทศไทยที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างจากวงจรอุบาทว์ที่เปรียบเหมือน ต้นไม้ต้นใหญ่ที่แตกกิ่งก้่านออกมาจนใหญ่โต การเลือกตั้งก็เหมือนเป็นการตัดแค่กิ่งไม้ออกเราอาจจะได้ประชาธิปไตยชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่หลังจากนั้นไม่นานกิ่งที่โดนตัดก็จะแตกออกมาทำลายระบบประชาธิปไตย ถ้าจะทำลายต้องถอนรากถอนโคนอย่างเดียว

คนในพรรคเพื่อไทยบางคน คนเสื้อแดงบางกลุ่ม หรือแม้แต่อาจารย์ ธิดา เองที่บอกว่า สู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ทุกวันนี้ไม่ใช่หรือครับระบอบนี้ ในประวัติศาสตร์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เรามีรัฐประหาร 8 ครั้ง กฎบ 12 ครั้ง มีเลือกตั้ง 25 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรีมาทั้งหมด 27 คน มีรัฐธรรมนูญใช้มาทั้ั้งหมด 18 ฉบับ รวมถึงฉบับชั่วคราว นี่ไม่ใช่หรือครับระบอบนี้ เหตุการณ์นองเลือดทางการเมืองไม่ว่าจะ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 , พฤษภา 35 ,เมษา 52,10 เมษา - 19 พฤษภา 53 ไม่ใช่ระบอบนี้หรือครับ ??? คุณจะสู้เพื่ออะไรครับเพราะตราบใดที่ระบอบนี้ยังคงอยู่เราก็จะมีวีรชนเพิ่มขึ้นตามแต่ละสมัย

พรรคเพื่อไทยเองถ้าก้าวข้ามมากไปกว่านี้ไม่ ได้ก็ถอยลงมาคอยสนับสนุนจะดีกว่ามั้ยครับ ? เพราะพวกคุณก็ต้องเล่นตามระบบ ถึงเวลาหรือยังที่ประชาชนจะเป็นคนวางระบบด้วยตัวเอง ดังคำที่ว่า โดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่คำว่าประชาธิปไตยแบบ ทุย ทุย ที่ประชาชนทุกคนมีหน้าที่แค่เลือกตั้ง ไม่มีสิทธิ์ออกความเห็น แสดงความคิด หลังจากเลือกตั้งเสร็จประชาชนก็ก้มหน้าก้มตา ทำมาหากิน ปากกัดตีนถีบกันต่อไป ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ดูนักการเมืองที่เลือกเข้าไปเป็นผู้แทน คอรัปชั่น เอาภาษีไปโกงกินกัน ไม่เคยเห็นถึงปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง

ผมไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นเหมือน ฝรั่งเศส หรือรัสเซีย แต่เราหนีความจริงไม่ได้หรอกครับ อีกไม่นานแน่รับรองประเทศไทยจะต้องจะต้องเกิดเหตุการณ์สงครามเซคิงาฮาร่าในเมืองไทยสงครามที่มีอำนาจเป็นเดิมพันเมื่อถึงเวลานั้น คุณเลือกที่จะอยู่ในทางสายกลางของประชาธิปไตยโดยประชาชนเพื่อประชาชน หรือจะยอมตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่กระหายอำนาจโดยใช้มวลชนเป็นเครื่องต่อรอง ตัวคุณต้องเลือกคำตอบให้ตัวเอง...

ด้วยความนับถือ

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประวัติการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย

การเลือกตั้งครั้งที่ 1 วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในประเทศไทย และเป็น "การเลือกตั้งทางอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวของไทย" ตราบจนปัจจุบัน โดยเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476

ที่มาของการเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังที่เหตุการณ์กบฎบวรเดช ยุติลงในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2476 เมื่อ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ปราบกบฏเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อบ้านเมืองสงบแล้วจำต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ในขณะนั้นประเทศไทย (ยังคงใช้ชื่อว่า สยาม) แบ่งการปกครองเป็นจังหวัด มีจังหวัดทั้งสิ้น 70 จังหวัด ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แล้ว สามารถเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่หนึ่ง ได้ทั้งหมด 78 คน โดยส่วนใหญ่จะสามารถเลือกผู้แทนฯได้จังหวัดละคน มีบางจังหวัดที่มีผู้แทนฯได้มากกว่าหนึ่งคน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, จังหวัดร้อยเอ็ด, จังหวัดมหาสารคาม, จังหวัดนครราชสีมา มีผู้แทนฯได้ 2 คน ขณะที่จังหวัดพระนครและจังหวัดอุบลราชธานี มีผู้แทนฯได้ 3 คน ซึ่งขณะนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดอัตราประชากร 200,000 คนต่อการมีผู้แทนฯได้หนึ่งคน

ระบบการเลือกตั้ง

ประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ 
ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และสมาชิก
ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยพระบรมราชโองการ 

สมาชิกทั้งสองประเภทมีจำนวนเท่ากันและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีเท่ากัน การเลือกตั้งจึงเลือกเฉพาะสมาชิกประเภทที่หนึ่งเท่านั้น

ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้กรมการอำเภอ ดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 1 ตุลาคม ถึง วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 จากนั้นผู้แทนตำบลก็จะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกขั้นหนึ่ง

พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พุทธศักราช 2476

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า


โดยที่ทรงเห็นเป็นการสมควรดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2476 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาไว้ดังนี้


มาตรา 1 ตั้งแต่วันประกาศพระราชกฤษฎีกานี้เป็นต้นไป ให้กรมการอำเภอดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนตำบลตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2476


มาตรา 2 บุคคลใดปรารถนาจะรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลของตำบลใด ให้ไปลงชื่อของตนที่กรมการอำเภอที่ตำบลนั้นขึ้นอยู่ในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2476


มาตรา 3 ให้กรมการอำเภอกำหนดวันเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476


มาตรา 4 บุคคลใดปรารถนารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรให้ไปยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ณ.ศาลากลางจังหวัดก่อนเดือนตุลาคม พ.ศ.2476


มาตรา 5 ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรต้องมีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้


มาตรา 6 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในระหว่างเดือนพฤศจิกายน กับ ธันวาคม พ.ศ.2476 


มาตรา 7 ให้กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รักษาการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้


ประกาศมา ณ. วันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2476 เป็นปีที่ 9 ในรัชกาลปัจจุบัน 


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรี


ที่มา เล่ม 50 หน้า 356 ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 มิถุนายน 2476


ในขณะนั้นมีผู้มีสิทธิออกเสียงอยู่ทั้งหมด 4,278,231 คน มีผู้ออกไปใช้สิทธิทั้งหมด 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.5 โดยจังหวัดที่มีผู้ไปใช้สิทธิมากที่สุด คือ จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 78.82 และจังหวัดที่มีผู้ออกไปใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน คิดเป็นร้อยละ 17.71


การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 78 คน รวมกับสมาชิกประเภทที่สองเป็น 156 คน

หลังการเลือกตั้งได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นมาใหม่ โดยเสียงส่วนใหญ่เลือกเอา พระยาพหล พลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง (เป็นสมัยที่ 2) และถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุที่รัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบด้วยความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยางแต่สภาฯไม่เห็นชอบด้วยกับความตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง


พันเอกพระยาพหล พลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)