ซุน ยัตเซ็น (12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1866 - 12 มีนาคม ค.ศ. 1925) |
ซุน ยัตเซ็น เป็นนักปฏิวัติและประธานาธิบดีจีน ซุนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาของชาติ" ในสาธารณรัฐจีน และ "ผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความเป็นผู้ริเริ่มจีนชาตินิยมคนสำคัญ ซุนมีบทบาทสำคัญในการล้มราชวงศ์ชิงระหว่างการปฏิวัติซินไห่ ซุนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกเมื่อสาธารณรัฐจีนก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1912 และภายหลังร่วมก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก ซุนเป็นบุคคลผู้สร้างความสามัคคีในจีนหลังยุคจักรวรรดิ และยังคงเป็นนักการเมืองจีนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเคารพนับถืออย่างกว้างขวางจากประชาชนทั้งสอง ฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน
แม้ซุนถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนสมัยใหม่ ชีวิตการเมืองของเขากลับต้องต่อสู้ไม่หยุดหย่อนและต้องลี้ภัยบ่อยครั้ง หลังประสบความสำเร็จในการปฏิบัติ เขากลับสูญเสียอำนาจอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และนำรัฐบาลปฏิวัติสืบต่อมาเป็นการท้าทายขุนศึกที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ซุนมิได้มีชีวิตอยู่เห็นพรรคของเขารวบรวมอำนาจเหนือประเทศระหว่างการกรีฑา ทัพขึ้นเหนือ (Northern Expedition) พรรคของเขา ซึ่งสร้างพันธมิตรอันละเอียดอ่อนกับพวกคอมมิวนิสต์ แตกเป็นสองฝ่ายหลังเขาเสียชีวิต มรดกสำคัญของซุนอยู่ในการพัฒนาปรัญาการเมืองของเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ หลัก 3 ประการแห่งประชาชน อันได้แก่ ชาตินิยม ประชาธิปไตย และความเป็นอยู่ของประชาชน
ชื่อ
ชื่อเกิดของท่านมีว่า ซุน เหวิน (จีน: 孫文) และชื่อทางการของเขาคือ ซุน เต๋อหมิง (จีน: 孫德明) ต่อมาเรียกว่า ซุน อี้เซียน (จีน: 孫逸仙) ซึ่งออกเสียงเป็น ซุน ยัตเซ็น ในภาษาจีนกวางตุ้ง มีความหมายว่า เทพเจ้าอิสระ โดยชื่อ ซุน ยัตเซ็น นั้นท่านได้เริ่มใช้เมื่อมีอายุ 33 ปี ส่วนภาษาจีนกลางเรียกเขาว่า ซุน จงซาน (จีน: 孫中山) นอกจากนี้เขาก็ใช้นามแฝงในวรรณกรรมว่า รื่อซิน (จีน: 日新) อีกด้วย
ชีวิตวัยเด็ก
ซุน ยัดเซ็น อักษรจีนอ่านว่า ซุนอี้เซียน หรือชาวจีนเรียกท่านว่า ซุนจงซัน เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1866 ที่หมู่บ้านชุ่ยเฮิง อำเภอเซียงซัน มณฑลกวางตุ้ง เมื่ออายุยังน้อยชื่อ ตี้เชี่ยง ต่อมาใช้ชื่อ เหวิน และ อี้เซียน ในช่วงที่พำนักและเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อการปฏิวัติอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ปี ค.ศ.1897 นั้น เคยใช้ชื่อ จงซันเฉียว และภายหลังการปฏิวัติซินไฮ่แล้วมักใช้ชื่อ จงซัน ครอบครัวเป็นชาวนายากจน ประกอบด้วยบิดา มารดา พี่ชาย พี่สาว และน้องสาว ต้องอาศัยอยู่ในกระต๊อบหลังเล็กที่ชายหมู่บ้านอาศัยมันเทศเป็นอาหารหลักแทนข้าว
ซุนมีลักษณะนิสัยเหมือนกับมารดา คือเป็นคนที่ค่อนข้างเงียบ ไม่ค่อยชอบพูดจา เป็นคนฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ชอบซื้อหนังสือ อ่านหนังสือเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ปรัชญา แล้วยังชอบที่จะอ่านแผนที่อีกด้วย แต่ตัวท่านไม่ค่อยพูดเกี่ยวกับความสนใจเท่าใดนัก และไม่ชอบฟังเพลง ทางด้านการทานอาหาร ท่านชอบทานผักเนื้อปลา ไม่ชอบทานเปรี้ยวและเผ็ด ผลไม้ที่ท่านชอบที่สุดคือส้มและสับปะรด
ปู่ของเขาซุนจิ้งเสียนเป็นชาวนายากจนที่ต้องเช่านาเขาทำเพื่อความอยู่รอด บิดาของเขาซุนต๋าเฉิงต้องไปประกอบอาชีพเป็นช่างปะรองเท้าที่มาเก๊าในวัยหนุ่ม ต่อมาได้กลับบ้านเช่านาเขาทำ และเป็นยามในหมู่บ้านพร้อมกันไปด้วย ส่วนพี่ชายของเขาซุนเหมยเป็นคนงานในบ้านเจ้าของที่ดินในหมู่บ้านติดกัน
พอซุนอายุ 7 ปีท่านก็ได้เรียนหนังสือ ต่อมาก็ได้มีบาทหลวงมาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ท่านจึงได้คลุกคลีกับบาทหลวงเพื่อขอดูแผนที่และเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ต่อมาท่านก็ได้เดินทางไปเรียนที่ฮาวาย และอยู่ทำงานกับพี่ชายของท่านที่นั่น ทำให้ซุนเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนศาสนาขึ้นมา และเมื่อท่านกลับมาจีน ท่านก็เห็นว่าความเชื่อโบราณของจีนเป็นเรื่องงมงาย ถึงขั้นทำลายเทวรูปในหมู่บ้าน หลังจากนั้นท่านก็ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่ฮ่องกง และท่านก็ได้เรียนจบจากวิทยาลัยแพทย์ฮ่องกงด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
ต่อมา ในปี ค.ศ.1871 ได้พลัดพรากจากบ้านเกิดไปหาเลี้ยงชีพยังหมู่เกาะฮาวายอันไกลโพ้น โดยแรก เริ่มทำงานในสวนผัก ไม่นานก็ไปเป็นคนงานในไร่ปศุสัตว์ จากนั้นได้หักร้างถางพงดำเนินกิจการคอกปศุสัตว์จนได้รับความสำเร็จกลายเป็น นายทุนชาวจีนโพ้นทะเลปีที่ซุนยัดเซ็นเกิดนั้น เป็นปีที่ 6 หลังจากกหารพันธมิตรอังกฤษ ฝรั่งเศสบุกเข้านครปักกิ่ง และเป็นปีที่ 2 หลังจากนครนานกิงซึ่งเป็นเมืองหลวงของไท่ผิงเทียนกว๋อ (ขบวนการเมืองแมนแดนสันติ) ถูกยึดครอง
ประเทศจีนในขณะนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมศักดินาของจีนแปรเปลี่ยน เป็นสังคมกึ่งเมืองกึ่งศักดินา ความพ่ายแพ้และการยอมจำนนอันอัปยศในสงครามฝิ่นของรัฐบาลราชวงศ์ชิงสองครั้ง สองครา ทำให้ประเทศจีนสูญเสียเอกราชทางการเมืองและตกเป็นทาสทางเศรษฐกิจของทุนนิยมต่างชาติ ขณะเดียวกันการต่อสู้ของประชาชนจีนต่ออิทธิพลรุกรานของต่างชาติและอิทธิพลของศักดินาจีน ซุดยุดเซ็นต้องทำนาตั้งแต่อายุได้เพียง 6 ขวบ เริ่มเรียนหนังสือกับครูที่สอนในบ้านเมื่ออายุได้ 10 ขวบ
ในเวลานั้นมีนักรบผู้เฒ่าคนหนึ่งชื่อ ฝงส่วงกวาน ซึ่งเคยร่วมการปฏิวัติไท่ผิงเทียมกว๋อ มักจะเล่านิทานการโค่นบัลลังก์ราชวงศ์ชิงของหงซิ่วฉวน และหยางซิ่วซิงให้เด็กๆ ในหมู่บ้านฟังเสมอ พอเล่าถึงตอนก่อการที่จินเถียน ตั้งเมืองหลวงที่นานกิง และตีค่ายใหญ่ของทหารราชวงศ์ชิงฝั่งเหนือ และใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงแตก จนเจิงกว๋อฟานต้องกระโดดน้ำตาย เด็กๆ ก็ดีใจลิงโลด ซุนยัดเซ็นมีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวการจับอาวุธลุกขึ้นสู้ของชาวนา อาทิ หงซิ่งฉวนและหยางซิ่วซิงเป็นอย่างยิ่งมาตั้งแต่เยาว์วัย เวลานั้นซุดยัดเซ็นก็เริ่มรู้สึกว่า สังคมประเทศจีนในขณะนั้นมีบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ยุติธรรม เขาเห็นเจ้าหน้าที่เกณฑ์เสบียงอาหารกับชาวบ้านบังคับเก็บภาษี หรือไม่ก็จับกุม ถูกรีดภาษีอากรเพิ่มทุกปี โดยชนชั้นปกครองราชวงศ์ไม่เคยทำประโยชน์ให้แก่ราษฎรแม้แต่น้อย การฉ้อราษฎร์บังหลวงข่มประชาชนและขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นศักดินาของประเทศจีนในอดีตนั้นซุนยัดเซ็นในเยาว์วัยได้ประสบพบเห็นมาด้วยตัวเอง จึงทำให้เขาเริ่มเกิดความสงสัยและไม่พอใจมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
การศึกษา
ดร.ซุน ถือว่า เป็นผู้ได้รับการศึกษาดียิ่งคนหนึ่ง โดยเป็นการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และยังมีความหลากหลายทั้งในด้านภาษา บัญชี การแพทย์ และการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การศึกษาในฮาวาย
ซุน ยัดเซ็นเริ่มต้นชีวิตการศึกษาเมื่ออายุ 12 ปี โดยเข้ารับการศึกษาในสถานศึกษา 2 แห่ง ที่เกาะฮาวาย ตอนที่เขาอายุได้ 12 ขวบ ซุนยัดเซ็นก็เดินทางไปฮาวายพร้อมกับมารดาเพื่อไปอาศัยอยู่กับพี่ชายของเขาที่นั่น การเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรก ทำให้เขาได้เปิดหูเปิดตาสู่โลกภายนอกเขาเริ่มงานโดยเป็นลูกจ้างอยู่ในร้าน ขายของของพี่ชายที่คาฮูลูอิในเกาะมาอูอิ เขาได้เรียนรู้การทำบัญชีและดีดลูกคิด ทั้งหัดพูดภาษาท้องถิ่น ไม่นานซุนได้เข้าเรียนในโรงเรียนเปาโล
ปีถัดมา (ค.ศ.1879) เขาก็ได้เข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนมัธยมชายอิโอลันนี ซึ่งเป็นโรงเรียนของคริสต์จักรอังกฤษในฮอนโนลูลู จบการศึกษาปี ค.ศ.1882 ต่อจากนั้นได้เข้าเรียนต่อที่โออาร์โฮไฮสกูล ซึ่งเป็นของคริสต์จักรอเมริกา ในการสอนของโรงเรียนดังกล่าวข้างต้นใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมด ซุนพากเพียรเรียนหนังสือวิชาต่างๆ จนได้เป็นนักเรียนที่มีคะแนนนิยมดีเด่น ในเวลาว่างนอกจากเรียนภาษาจีนด้วยตนเองยังชอบอ่านชีวประวัติของนักปฎิวัติชนชั้นนายทุน อาทิ ชีวประวัติของวอชิงตัน,ลินคอล์น ในเวลานั้นประชาชนฮาวายได้เกิดการรณรงค์ต่อสู้คัดค้านอเมริกา โดยเสนอคำขวัญว่า ฮาวายเป็นของชาวฮาวาย การโจมตีและขับไล่ศัตรูผู้รุกรานเกิดขึ้นทั่วไป การต่อสู้คัดค้านชาวอเมริกันผู้รุกรานอย่างห้าวหาญของประชาชนฮาวายที่ซุนได้ เห็นกับตา ทำให้เขาคิดถึงประเทศจีนที่ถูกจักรวรรดินิยมรุกราน และเกิดอุดมการณ์ในอันที่จะคัดค้านลัทธิอาณานิคมและเรียกร้องความเป็นเอกราชของประเทศจีน
เมื่อได้ศึกษาในต่างประเทศ เปิดโลกทัศน์ได้ซุนยัดเซ็นเห็นถึงการคัดค้านต่อสู้ทางการเมืองในหลายรูปแบบ จึงทำให้เกิดแนวความคิดและแรงบันดาลใจที่จะกอบกู้ประเทศชาติ ซุนกลับประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ.1883 การที่ได้พำนักและศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 5 ปี ทำให้ซุนได้เห็นความเจริญต่างๆ ทำให้เขามีความรู้สึกว่า ความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคมจีนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง และทำให้ซุนเกิดความปรารถนาที่จะพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อกลับสู่มาตุภูมิแล้ว ซุนพยายามปลุกระดมชาวบ้านให้เกิดความสำนึกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมโดยการโจมตีความเน่าเฟะของบ้านเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีอันล้าหลังของประเทศจีน อีกด้านหนึ่งเขาได้เริ่มลงมือพัฒนาการบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น ติดตั้งไฟส่องถนนหนทาง การวางเวรยามป้องกันโจรผู้ร้าย จากบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับการปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงในระยะแรกของเขาก็คือ การทำลายเทวรูป เขาเห็นว่าเทวรูปที่สลักด้วยไม้นั้นนอกจากชาวบ้านจะถูกหลอกต้มตุ๋นเอาเงินทองไปแล้ว ยังแก้ปัญหาเมื่อคราวจำเป็นไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาวบ้านอีกด้วย และการกราบไหว้ต่อสิ่งเหล่านั้นก็เป็นการเชื่อที่งมงาย พฤติการณ์ทำลายเทวรูปอันห้าวหาญของซุนยัดเซ็นได้สร้างความเดือดดาลให้แก่ชาวบ้านส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะถูกโจมตีจากพวกเจ้าที่ดินอย่างหนัก จนในที่สุดซุนต้องเนรเทศตัวเองไปสู่ฮ่องกง
การศึกษาในฮ่องกง
เมื่อไปถึงฮ่องกง เขาเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนมัธยมซึ่งคริสต์จักรอังกฤษตั้งขึ้น ในปี ค.ศ.1883 เขาก็ได้เข้ารีตเป็นคริสต์ศาสนิกชนไปพร้อมเพื่อนรักลู่ฮาวตง ต่อมาเขาได้เรียนต่อในวิทยาลัยวิคตอรี ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่ทางการอาณานิคมอังกฤษก่อตั้งขึ้น
จากการรุกรานของฝรั่งเศสทำให้สงครามจีน-ฝรั่งเศส ระเบิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1881-1885 ณ สมรภูมิชายแดน จีน-เวียดนาม กองทัพจีนได้ปราชัยให้แก่กองทัพฝรั่งเศส ประชาชนจีนทั่วประเทศ เมื่อได้รับข่าวก็เร่าร้อนในการทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศส การรณรงค์หนุนแนวหน้าแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ชาวจีนโพ้นทะเลที่พำนักอยู่ในอเมริกา ญี่ปุ่น คิวบา และสิงคโปร์ ก็พากันบริจาคทรัย์หนุนการสู้รบกับฝรั่งเศสอย่างทั่วหน้า
แต่ทว่ารัฐบาลราชวงศ์ชิงกลับไปยุติสงครามด้วยการคุกเข่ายอมลงนามในสนธิสัญญายอมจำนนต่อข้าศึกที่เมืองเทียนสิน ความโง่เขลา ความเน่าเฟะ และการขายชาติของรัฐบาล ทำให้ซุนยัดเซ็นเคียดแค้นอย่างยิ่ง และความสำนึกในความรักชาติ และความคิดเปลี่ยนแปลงสภาวะสังคมของเขาก็ก้าวรุดหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ขณะเดียวกันกรรมกร และชนชั้นต่างๆ ในฮ่องกงได้ก่อการประท้วงทางการอาณานิคมอังกฤษ พฤติการณ์รักชาติต่อต้านจักรวรรดินิยมเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อการปลูกฝังความรู้สึกนึกคิดปฏิวัติแก่ ซุนยัดเซ็น อย่างลึกซึ้ง ทำให้เขาได้รับกำลังใจจากการต่อสู้ของมวลชน โดยเฉพาะการต่อสู้อันห้าวหาญของ เหล่ากรรมกร ซึ่งซุนได้กล่าวว่า "ความจริงได้พิสูจน์แล้วว่าประชาชนจีนมีความตื่นตัวพอควร" แสดงว่าประชาชนจีนยังพลังความสามัคคีทางชนชาติ พร้อมกับเห็นว่า ประเทศจีนยังมีความหวัง
การศึกษาด้านแพทย์
หลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยวิคตอรีแล้ว เขาก็ตัดสินใจอุทิศตนช่วยชาติบ้านเมืองด้วยการศึกษาต่อในวิชาแพทย์โดยการแนะนำจากบาทหลวง ซี.อาร์ แฮกเกอร์ เขาได้เข้าศึกษาในวิทยาลัยแพทย์หัวหนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลป๋อจี้ในกว่างโจว ในปี ค.ศ.1886 ซึ่งขณะนั้นซุนมีอายุ 20 ปี
ที่วิทยาลัยแพทย์นี้เองเขามีเพื่อนนักศึกษาคนหนึ่งชื่อ เจิ้งซื่อเหลียง ทั้งสองสนิทสนมกันมาก ต่อมาเขาจึงรู้ว่าเจิ้งเป็นสมาชิกสมาคมลับที่ต่อต้านราชวงศ์ชิง เจิ้งซื่อเหลียงเป็นคนมีอุปนิสัยดี มีจิตใจสูง ทั้งคู่มักจะคุยกันด้วยปัญหาชาติบ้านเมือง และภายหลังที่ซุนติดต่อกับสมาคมลับนี้เพื่อประโยชน์ต่อการเคลื่อนไหวปฏิวัตินั้น เขาได้รับความช่วยเหลือจากเจิ้งเป็นอย่างมาก เขาเห็นว่าวิทยาลัยแพทย์ฮ่องกงมีคุณภาพการสอนเหนือกว่า และสามารถแสดงความคิดอ่านทางการเมืองได้อีกด้วย เขาจึงตัดสินใจย้ายไปเข้าเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ จนสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งของมหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ.1892
ช่วง 5 ปีที่ซุนศึกษาอยู่ในวิทยาลัยแพทย์ เขาได้ศึกษาวิชาแพทย์ด้วยความพากเพียร นอกจากนั้นเขายังเพียรศึกษาวิชาการเมืองการทหาร ประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ และเกษตรศาสตร์ของชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชอบอ่านประวัติการปฏิวัติของฝรั่งเศส และหนังสือกำเนิดสิ่งมีชีวิตแผกพันธุ์ ของดาร์วิน เขาได้รับความนึกคิดจากหนังสือสองเล่มนี้เป็นอย่างมาก
ระหว่างที่ซุนศึกษาวิชาการแพทย์อยู่นั้น เขาสนใจปัญหาการเมืองอยู่ไม่ขาด เขาได้ยึดสถานศึกษาเป็นแหล่งโฆษณาชวนเชื่อในอุดมการณ์รักชาติของเขา โดยเขามักจะกล่าวว่า อันตรายที่ประเทศจีนได้รับอยู่ในเวลานี้ สมควรที่พวกเราทุกคนต้องเข้าไปช่วย เพื่อปลุกเร้าให้มวลชนเกิดความตื่นตัว เขามักจะเอ่ยถึง หงซิ่งฉวน โดยยกย่องท่านผู้นี้เป็นวีรบุรุษต่อต้านราชวงศ์ชิงเป็นคนแรก ได้แสดงความเสียดายต่อความล้มเหลวของขบวนการไท่ผิงเทียนกว๋อ และตั้งตนเป็นหงซิ่วฉวน คนที่สอง
ระหว่างศึกษาในฮ่องกง เขามักเดินทางไปมาระหว่างกว่างโจว-มาเก๊า ในเวลาว่างจากการเรียน พบปะสนทนากับมิตรสหายที่มีอุดมการณ์รักชาติด้วยกันเพื่อปรึกษาหาความรู้ในวิชาการ แสวงหาสัจธรรมในการกู้ชาติ ค้นหาทางออกของประเทศจีน ในจำนวนนี้ซุนยัดเซ็นกับเฉินเซ่าไป๋ อิ๋วเลียะ และหยางเหอหลิง ซึ่งอยู่ฮ่องกงด้วยกัน มีความสนิทสนมกันเป็นอันมาก พวกเขามักสนทนาปัญหาบ้านเมือง โจมตีการปกครองอันมืดมนของราชวงศ์ชิงเสนอคำขวัญ กบฏต่อราชวงศ์ชิง ขณะนั้นประชาชนยังไม่มีความตื่นตัวทางการเมือง เมื่อได้ยินได้ฟังความคิดอ่านเช่นนี้ ก็เกิดตกอกตกใจและขนานนามคนทั้งสี่ว่า สี่มหาโจร และไม่กล้าเข้าใกล้พวกเขา
จากอายุ 12 ขวบถึง 26 ปี ซุนยัดเซ็นรับการศึกษาจากลัทธิทุนนิยมตะวันตกเป็นเวลา 14 ปี ใน ช่วงนี้ด้วยความเป็นชายหนุ่มที่พากเพียรแสวงหาความรู้จากตะวันตกเพื่อแสวงหาสัจธรรมในการช่วยชาติ เขาได้เรียนรู้วิทยาการธรรมชาติ และวิทยาการทางสังคมการเมืองของชนชั้นนายทุนมากมาย ซึ่งได้ทำให้เขาเกิดความเลื่อมใสในอารยธรรมของชนชั้นนายทุนตะวันตก ในขณะเดียวกัน การต่อสู้กับการต่อต้านจักรวรรดินิยมและศักดินานิยมของประชาชนทั้งในและต่างประเทศก็ได้ส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อความนึกคิดของซุน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อการปฏิสนธิอุดมการณ์ปฎิวัติของชนชั้นนายทุนของซุนยัดเซ็น
การเข้าสู่เส้นทางการปฏิวัติ ข้อเสนอเพื่อปฏิรูป
ชีวิตการศึกษาของซุนยัดเซ็นได้จบลงด้วยการเรียนอันดีเด่น เมื่ออายุได้ 26 ปี เริ่มแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.1892 เขาได้เปิดคลินิกรับรักษาคนไข้ที่มาเก๊าและกว่าง ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อคนไข้ผู้ยากไร้ เขาไม่เพียงแต่จะรักษาให้ฟรีเท่านั้น ยังแจกยารักษาโรคให้ฟรีอีกด้วย ซุนได้กลายเป็นนายแพทย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปแล้ว แต่ว่าซุนยังไม่พอใจต่อการเป็นแพทย์ธรรมดาคนหนึ่ง เขานับวันยิ่งทวีความสนใจต่อความปลอดภัยของชาติบ้านเมือง เขาได้ใช้วิชาแพทย์เพื่อประโยชน์ในการคบหาสมาคมกับบุคคลอื่น
ซุน ยัดเซ็นเวลานั้นมีความคิดอ่านปฏิวัติบ้างแล้ว ยังไม่ถึงขั้นเป็นนักปฏิวัติประชาธิปไตย เขาได้รับแรงดลใจจากแนวความคิดลัทธิปฏิรูปที่แพร่หลายอยู่ในประเทศจีนชั่วขณะหนึ่ง โดยฝากความหวังไว้กับขุนนางผู้ใหญ่บางคนของชนชั้นปกครอง ก้าวไปตามวิถีทางของลัทธิปฏิรูปด้วยคิดว่าความคิดอ่านของตนอาจได้รับความเห็นขอบจากขุนนาผู้ใหญ่บางคน
ครั้นแล้ว ฤดูร้อนปี 1894 ซุนขอเข้าพบขุนนางผู้ใหญ่ หลี่หงจาง ซึ่งกุมอำนาจทางการทหาร การบริหารและการทูตของรัฐบาลชิงอยู่ในเวลานั้น โดยการเสนอให้ปฏิรูปการปกครอง หนังสือที่เขาเขียนถึงหลี่นั้น มีความยาวถึงแปดพันคำ กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญของบันทึกฉบับนี้คือ ฝากความหวังไว้กับคนชั้นสูงของชนชั้นปกครองให้ดำเนินมาตรการปฏิรูปของชนชั้นนายทุนบางประการ แต่ซุนก็ไม่เคยมีแม้กระทั่งโอกาสที่จะได้เข้าพบหลี่หงจาง ซ้ำความคิดเห็นของเขาก็มิได้รับความสนใจเอาเลย ขุนนางผู้ใหญ่ศักดินาที่เป็นขี้ข้าและนายหน้าค้าต่างของจักรวรรดินิยมหรือ จะสามารถรับข้อเสนอที่มีลักษณะก้าวหน้าในยุคนั้นได้
แนวความคิดสู่การปฏิวัติ
เมื่อการเสนอบันทึกต้องประสบความล้มเหลว เขาค่อยๆ รู้สึกว่า วิถีทางปฏิรูปโดยสันตินั้นจะมีประโยชน์อันใด จำเป็นต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแทนวิธีการปฏิรูปเพียงส่วนหนึ่ง
ในปีเดียวกันสงครามจีน-ญี่ปุ่น ได้ระเบิดขึ้น สงครามครั้งนี้เหล่าทหารหาญจีนได้ต่อสู้อย่างทรหดและห้าวหาญ แต่รัฐบาลชิงที่เหลวแหลก และไร้สมรรถภาพมิกล้าทำสงครามอย่างเด็ดเดี่ยวทำให้ฝ่ายจีนต้องได้รับความเสียหายอย่างหนัก สร้างความสะเทือนใจ และเคียดแค้นให้แก่มวลชนทั่วประเทศ บัดนั้นเอง ซุนยัดเซ็นรู้สึกอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตของประชาชาติอย่างหนัก ยิ่งกว่านั้นเขาได้สำนึกว่า สันติวิธีนั้นใช้การไม่ได้เลยจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงโดยการปฏิวัติเท่านั้น ที่เป็นวิถีทางเดียวที่จะแก้วิกฤติของประเทศจีนได้ ซุนยัดเซ็นได้เดินทางไป อเมริกาด้วยอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เขาได้ติดต่อและปลุกระดมชาวจีน ในตอนแรกคนที่สนับสนุนความคิดอ่านของเขานั้นมีอยู่เพียงไม่กี่คนจัดตั้ง สมาคมเพื่อการปฏิวัติครั้งแรกของชนชั้นนายทุน
ด้วยความมานะในการเคลื่อนไหวซึ่งในที่สุดเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนหนึ่งทำการก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ย (ฟื้นฟูจีน) ซึ่งเป็นสมาคมปฏิวัติขนาดเล็กของชนชั้นนายทุนช่วงแรกๆ ของจีน และเปิดการประชุมที่ฮอนโนลูลู ที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างระเบียบการของสมาคมที่ซุนเป็นผู้ร่าง ในระเบียบการระบุว่า
"ประเทศจีนตกอยู่ภาวะคับขัน ปัจจุบันมีศัตรูล้อมรอบคอยจ้องตะครุบทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจีน โดยเหล่าศัตรูพากันรุมเข้ามารุกรานและยึดครองจีน แล้วดำเนินการแบ่งสันปันส่วนอันเป็นสิ่งน่าวิตกอย่างยิ่ง พร้อมกันนั้นก็ประนามชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิงที่โง่เขลาและไร้สมรรถภาพว่า ฝ่ายราชสำนักก็โอนอ่อนผ่อนตาม ส่วนขุนนางหรือก็โง่เขลาเบาปัญญา ไม่สามารถมองการณ์ไกล ทำให้ประเทศชาติต้องเสียทหาร ได้รับความอัปยศอดสูพวกขี้ข้าพาให้บ้านเมืองสู่ความหายนะ มวลชนต้องได้รับเคราะห์กรรมทนทุกข์ทรมานไม่มีวันโงหัว การก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นก็เพื่อกอบกู้ชาติบ้านเมือง ผดุงไว้ซึ่งศักดิ์ศรี เพื่อรวบรวมประชาชนจีนทั้งใน และนอกประเทศ เผยแพร่อุดมการณ์กู้ชาติ"
ในคำปฏิญาณของผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนั้น ยังได้ย้ำอีกว่า จะต้องขับไล่พวกตาด (แมนจู) ที่ป่าเถื่อนออกไป ฟื้นฟูประเทศจีนจัดตั้งสาธารณรัฐ อันเป็นความคิดที่มีลักษณะปฏิวัติ ได้เสนออุดมการณ์ให้โค่นล้มราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นสุนัขรับใช้ของจักรวรรดินิยม และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนแบบตะวันตกต่อประชาชนจีนเป็นครั้งแรก ซึ่งได้กลายเป็นหลักนโยบายอันแรกของการปฏิวัติของชนชั้นนายทุนประเทศจีน
อันคำว่า ศัตรู ที่ซุนได้กล่าวถึงในเวลานั้นก็หมายถึงจักรวรรดินิยมที่รุกรานจีน จุดหมายการปฏิวัติของเขาก็เพื่อเอกราช และความวัฒนาถาวรของประเทศชาติ การก่อตั้งสมาคมซิงจงฮุ่ยจึงเป็นสัญญาณที่ดังขึ้นเป็นครั้งแรกของการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนจีน
ปฏิวัติกว่างโจ
ค.ศ.1895 ซุนยัดเซ็นได้เดินทางกลับมายังฮ่องกงรวบรวมมิตรสหายร่วมอุดมการณ์ ติดต่อและคัดเลือกบุคคลผู้รักชาติ ก่อตั้งกองบัญชาการสมาคมซิงจงฮุ่ยขึ้น ติดป้าย "ห้างกันเฮิง" เป็นสถานที่ทำการเพื่อเป็นการอำพราง จากนั้นได้ทำการวางแผนก่อนการเข้ายึดเมืองกว่างโจว ขณะนั้นเป็นเวลาที่รัฐบาลชิงลงนามในสนธิสัญญาหม่ากวาน ที่ฝ่ายจีนต้องสูญเสียอำนาจอธิปไตยและยกดินแดนให้กับฝ่ายญี่ปุ่นเสร็จลงใหม่ๆ ผลจากการเซ็นสัญญาฉบับนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้ายึดเกาะไต้หวันและหมู่เกาะริวกิว ประชาชนจีนเมื่อรู้ข่าวความเคียดแค้นชิงชังได้แพร่ระบือไปทั่วประเทศ
ในขณะนั้น ความเคียดแค้นของซุนยัดเซ็นก็ยิ่งเพิ่มทวีขึ้น พร้อมทั้งเห็นว่าถึงเวลาก่อการจะคอยไม่ได้อีกแล้ว เขาเริ่มลงมือตระเตรียม ใช้กำลังก่อการปฏิวัติโค่นรัฐบาลราชวงศ์ชิงด้วยความรุนแรงโดยวิถีทางต่อสู้ด้วยอาวุธ หลังจากดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างเร่งรีบเป็นเวลาหลายเดือน ก็สามารถซื้อปืนพกทันสมัยได้เป็นจำนวนถึง 600 กระบอก โดยกำหนดลงมือก่อวินาศกรรมจวนผู้ว่าราชการ พร้อมทั้งตกลงให้พวกร่วมก่อการจะต้องผูกผ้าแดงไว้ที่แขนเป็นเครื่องหมายโดย ใช้คำขวัญ "โค่นทรราชพิทักษ์ราษฎร" โดยใช้ชื่อ กองโจรป่า
แต่เนื่องจากความลับรั่วไหล ล่วงรู้ไปถึงรัฐบาลราชวงศ์ชิง ทางการอาณานิคมอังกฤษในฮ่องกงได้รายงานการเคลื่อนไหวของสมาคมซิงจงฮุ่ยไปทางจวนผู้ว่าราชการของรัฐบาล ขณะเดียวกันอาวุธที่ขนไปจากฮ่องกงได้ถูกค้นพบที่ด่านศุลกากร ดังนั้นแผนการก่อการจึงถูกปราบลงทั้งที่ยังมิได้ลงมือ การปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธภายใต้การนำของซุนยัดเซ็น ต้องประสบความล้มเหลวไปเป็นครั้งแรก
หลังจากการปฏิวัติในกว่างโจวประสบความล้มเหลว ซุนได้สลายผู้ที่มาร่วมก่อการอย่างสุขุม จากนั้นเขาก็เดินทางโดยทางเรือออกจากว่างโจว ผ่านฮ่องกงไปลี้ภัยที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วก็ก่อตั้งสาขาสมาคมซิงจงฮุ่ยขึ้นที่โยโกฮามา ซุนก็ตัดหางเปียทิ้ง เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเพื่อแสดงถึงความเด็ดเดี่ยวในการปฏิวัติ และเดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อปลุกระดมชาวจีนให้เข้าร่วมการปฏิบัติ
ซุน ยัดเซ็นถูกจับ : ประชาชาติเคลื่อนไหว
จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว รัฐบาลชิงถือว่า ซุน ยัดเซ็นเป็นหัวหน้ากบฎ ด้านหนึ่งได้ส่งสายลับจำนวนมากไปฮ่องกง มาเก๊าและสิงคโปร์ อีกด้านหนึ่งก็ส่งกงสุลประจำประเทศต่างๆ ในเอเชียอเมริกา และยุโรป ให้จับตาดูความเคลื่อนไหวของซุน หาโอกาสจับกุม เพื่อการนี้กงสุลรัฐบาลชิงประจำกรุงลอนดอนได้ว่าจ้างนักสืบชาวต่างประเทศให้สืบร่องรอยของซุน
และแล้ววันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ.1896 10.30 น. ขณะที่ซุนออกจากบ้านพักไปเยื่อมอดีตอาจารย์สอนวิชาแพทย์ ดร.เจ แคนท์ลี่ ระหว่างทางได้มีชาวจีนที่รอดักอยู่ 3 คน ใช้ภาษาเดียวกับซุนเข้ามาตีสนิทชวนซุนไปดื่มน้ำชาที่บ้าน ซุนถูกลักพาตัวมาสถานกงสุลรัฐบาลชิง และถูกขังอยู่ในห้องที่ประตูหน้าต่างทำด้วยลูกกรงเหล็กบนชั้น 3 ของสถานกงสุลซึ่งถูกตัดขาดการติดต่อกับภายนอกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากมีการเฝ้าอย่างเข้มงวด ถึงแม้จะใช้ความพยายามเท่าไหร่ก็ไม่อาจส่งข่าวออกไปได้ จนในที่สุดชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ จี.โคล ซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดของสถานทูตสงสารและยื่นมือมาช่วยเหลือ จดหมายขอความช่วยเหลือของซุนจึงได้ส่งไปถึงมือ ดร.เจ.แคนท์ลี่
เมื่อ ดร.แคนท์ลี่ รู้ข่าวซุนถูกจับ ก็พยายามหาทางช่วยเหลือ ดร.แคนท์ลี่ ได้นำเรื่องซุนถูกลักพาตัวไปแจ้งกับหนังสือพิมพ์ไทม์ แต่หนังสือฉบับนี้ก็ไม่ยอมเสนอข่าวจนถึงวันที่ 21 หนังสือพิมพ์ โกล้บ จึงได้ลงข่าวนี้ โดยพาดหัวข่าวว่า "นักปฏิวัติถูกจับในลอนดอน" พร้อมทั้งลงบทความในหัวเรื่องว่า "การจับกุมคุมขังของสถานกงสุล" ด้วย
หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ จึงพากันรายงานข่าวชิ้นนี้อย่างครึกโครม ทำให้ประชาชนชาวอังกฤษเกิดความไม่พอใจ มีชาวจีนที่สนับสนุนการปฏิวัติมารวมกลุ่มชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ซุน ยิ่งกว่านั้นยังมีคนร้องตะโกนให้พังสถานกงสุล การประท้วงของมวลชน และความกดดันของหนังสือ ทำให้สถานกงสุลตกที่นั่งกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในที่สุดกระทรวงการต่างประเทศ และทางการตำรวจ ต้องส่งตัวแทนไปเจรจากับทางสถานกงสุลให้ปล่อยตัวซุน จนกระทั่งทางการสถานกงสุลก็จำต้องปล่อยตัวซุนที่ถูกกักขังมาเป็นเวลาถึง 12 วันเป็นอิสระ ณ บัดนั้นเอง ชื่อของ ซุน ยัดเซ็น ก็ระบือไปทั่วโลก ได้รับความยอมรับนับถือจากประชาชาติที่ถูกกดขี่ และบุคคลที่รักความเป็นธรรมทั่วไป หลังจากที่ ซุน ยัดเซ็น ถูกปล่อยตัว เขาก็ยังคงพำนักอยู่ในลอนดอนเป็นเวลาเกือบปี ระหว่างนี้ซุนได้ศึกษาค้นคว้าตำรับตำราเป็นจำนวนมาก
หาแนวร่วม
ซุน ยัดเซ็นไม่เพียงเจาะลึกลงไปค้นคว้าทฤษฎีลัทธิประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนเท่านั้น หากยังได้สัมผัสกับทฤษฎีการเคลื่อนไหวของสังคมนิยม และศึกษาค้นคว้าระบอบการเมือง และสังคมทุนนิยมอย่างแข็งขันอีกด้วย เขาได้เห็นการสไตรค์งานของกรรมกรในโรงงานอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ที่ได้ถูกกองทหารรัฐบาลปราบปรามอย่างทารุณ ในเวลานั้นซุนปรารภว่า "สิ่งที่ได้พบเห็นทำให้ต้องครุ่นคิดอย่างหนัก ถึงแม้ว่าประเทศชาติจะมั่งคั่งเข้มแข็ง ประชาธิปไตยจะเฟื่องฟูดุจดังมหาอำนาจในยุโรป ก็ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างผาสุกได้ เหตุนี้เองที่นักปฏิวัติของยุโรปถึงยังมีความเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อความผาสุกตลอดไป จึงสมควรดำเนินลัทธิประชาชีพ เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชาติประชาธิปไตยพร้อมกันไป"
ปี ค.ศ.1897 เขาก็เดินทางจากลอนดอนโดยผ่านแคนาดา ไปสู่ญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อปลุกระดมการปฏิวัติ รับชาวจีนเข้าร่วมสมาคมซิงจงฮุ่ย และทำความรู้จักกับบุคคลในวงการเมืองของประเทศ ปีต่อมาหัวโจกพวกปฏิรูปคังโหย่วเหวย เหลียงฉี่เชา ทยอยลี้ภัยมาอยู่ในญี่ปุ่น หลังจากกรณีแผนปฏิรูปอู่ซีล้มเหลวลง ซุนยัดเซ็นตั้งความหวังไว้อย่างเต็มเปี่ยมที่จะร่วมมือกับคังและเหลียง ขอร้องคนทั้งสองเปลี่ยนแนวทางโดยละทิ้งแนวทางลัทธิปฏิรูปที่พิทักษ์ราชวงศ์ชิง มุ่งสู่แนวทางปฏิวัติ ร่วมมือโค่นล้มรัฐบาลชิงและกอบกู้ประเทศจีน เนื่องจากคังโหย่วเหวยยืนหยัดจุดยืนเดิมในการพิทักษ์ราชวงศ์ชิง การเจรจาจึงล้มเหลวลง
ปี ค.ศ.1900 เพื่อที่จะปราบปรามการต่อสู้ แอนตี้จักรวรรดินิยมของประชาชนจีน พิทักษ์รักษาผลประโยชน์จากการรุกรานที่มีอยู่ในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง รัฐบาลอังกฤษได้หว่านล้อม จางจือต้ง ผู้ว่าราชการมณฑลหูเป่ย-หูหนาน, หลิวคุนอี้ผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซู-เจียงซี ให้ดำเนินนโยบาย ร่วมป้องกัน ซึ่งกันและกัน และยุยงหลี่หงจาง ผู้ว่าราชการมณฑลกวางสี-กวางตุ้งให้แยกตัวออกจากราชวงศ์ชิง ประกาศให้มณฑลกวางสี-กวางตุ้งเป็น อิสระ
เหอฉี่ สมาชิกสภาฮ่องกงซึ่งเป็นคนจีนสัญชาติอังกฤษได้ไปปรึกษากับ เฉินเซ่าไป๋ อย่างลับๆ ตามการบัญชาการของ เฮนรี่ เอช.เบล๊ค ผู้ว่าราชการฮ่องกง ขอให้ซุนยัดเซ็นช่วยเหลือ หลี่หงจาง จัดตั้งรัฐบาลอิสระ ตอนแรกก็ลังเล มาตอนหลังจึงตัดสินใจให้ แยกกันดำเนินการ ด้านหนึ่งยังคงเร่งตระเตรียมการลุกขึ้นสู้ครั้งที่ 2 ในมณฑลกวางตุ้ง ด้านหนึ่งก็เดินทางไปกว่างโจว พร้อมกับหยางฉูหยุน เป็นต้น เพื่อเจรจาร่วมมือกับ หลี่หงจาง แต่พอมาถึงฮ่องกงก็ได้ข่าวว่า หลี่หงจางอยู่ในระหว่างรอดูสถานการณ์ อีกทั้งแผนลวงจะจับกุมตนอีกด้วย ซุนจึงปฏิเสธที่จะเดินทางไปกว่างโจ่วในเดือนกรกฎาคม
ซุนยัดเซ็นยังคงมีความหวังที่คิดจะพึ่งกำลังของอังกฤษโค่นรัฐบาลราชวงศ์ชิง แล้วตั้งรัฐบาลอิสระขึ้นทางภาคใต้ ให้บรรลุจุดหมายการกู้ชาติของเขา พฤติการณ์ของซุนยัดเซ็นเหล่านี้ แสดงว่า ความเพ้อฝันในตัวบุคคลบางคนของจักรวรรดินิยม และชนชั้นปกครองศักดินาของซุน ยังมิได้หมดไปโดยสิ้นเชิง ปีนั้นเอง ประเทศจีนได้เกิดขบวนการแอนตี้จักรวรรดินิยมและรักชาติ อี้เหอถวน(บ๊อกเซอร์) ที่มีชาวนาเป็นกำลังหลักขึ้น ขณะนั้นซุนยัดเซ็นยังมองไม่เห็นความหมายอันยิ่งใหญ่และผลกระทบต่อขบวนการปฏิวัติของมวลชนในครั้งนั้น เขาจึงไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น
นักต่อสู้
ในฤดูร้อนปี ค.ศ.1900 ขณะที่ขบวนการอี้เหอถวนทางภาคเหนือ ได้เปิดฉากเคลื่อนไหวทั่วหน้า และกองทหารพันธมิตร 8 ชาติของจักรวรรดินิยมเริ่มแทรกแซงโดยทางทหารนั้น ซุนเห็นว่า สถานการณ์คับขันอย่างยิ่ง ลังเลไม่ได้อีกแล้ว เขาจึงเร่งก่อการปฏิวัติในมณฑลกวางตุ้ง ซุนกับหยางฉูหยุน และโทราโซ มิยาซากิ ได้เดินทางไปมาระหว่างญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ อย่างเสี่ยงอันตราย วางแผนก่อการปฏิวัติ กำหนดเส้นทางรุกรบ เป็นต้น วันที่ 8 ตุลาคม การลุกขึ้นสู้ที่ซันโจวเถียน อำเภอฮุ่ยโจวที่ซุนจัดตั้งก็ระเบิดขึ้น แต่ประสบความล้มเหลว
การลุกขึ้นสู้ที่ฮุ่ยโจวถึงแม้ประสบความพ่ายแพ้ แต่เนื่องด้วยมวลประชามหาชนค่อยๆ ตื่นตัวอย่างกว้างขวาง และกระแสคลื่นการปฏิวัติประชาธิปไตยค่อยๆ สูงขึ้น ทำให้สภาวะต่างๆ ของซุนยัดเซ็นดีขึ้นกว่าแต่ก่อน หลังจากการก่อการที่ฮุ่ยโจวพ่ายแพ้ลง เหตุการณ์ก็ได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้ที่ประณามเขาเป็นโจรก่อกวนความสงบสุขแต่ก่อน บัดนี้กลับนึกเสียดายที่การปฏิวัติไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้ซุนมีความตื้นตันใจยิ่งนัก ความมั่นใจในการปฏิวัติของเขานับวันเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ในเวลาใกล้เคียงกันกองทหารปฏิวัติของประชาชนฟิลิปปินส์ ซึ่งต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยมสเปนอยู่ได้ส่งนักปลุกระดมนาม อุโฆษ เอม. ปอนซ์ เป็นผู้แทนเดินทาง จัดซื้ออาวุธที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปอนซ์ได้พบกับซุนก็เอ่ยปากขอความช่วยเหลือ ซุนได้ปรึกษาตกลงกับปอนซ์ว่า ถ้าหากทหารปฏิวัติฟิลิปปินส์รุกตีทหารรุกรานอเมริกันเมื่อไร เขาจะนำสมาชิกสมาคมซิงจงฮุ่ยจำนวนหนึ่งเดินทางไปช่วยรบยังฟิลิปปินส์ด้วย ทั้ง 2 ฝ่ายยังตกลงกันว่า ในภายภาคหน้าทหารฟิลิปปินส์จะส่งคนไปยังประเทศจีนเพื่อร่วมการต่อสู้กับรัฐบาล เพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พฤติการณ์อันเป็นธรรมของซุนที่สนับสนุนประชาชาติที่ถูกกดขี่ คัดค้านลัทธิล่าอาณานิคม และลัทธิจักรวรรดินิยมได้เกิดผลสะท้อนอันดียิ่งในหมู่นักปฏิวัติของประเทศเอเชียต่างๆ ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ปอนซ์ ได้เขียนไว้ใน ซุน ยัดเซ็น ผู้สถาปนาประเทศประชาราษฎร์จีน ว่า "ซุนยัดเซ็นสามารถผนวกปัญหาที่ปรากฏอยู่ในหมู่ประเทศตะวันออกไกลหลายประเทศ เข้าด้วยกันแล้วนำมาศึกษาค้นคว้า ซึ่งในปัญหาต่างๆ เหล่านี้ มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่มากมาย ดังนั้น ซุนจึงกลายเป็นนักปลุกระดมที่เปี่ยมล้นด้วยศรัทธาคนหนึ่งในหมู่นักศึกษา เยาวชนที่มาจากประเทศเกาหลี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สยาม และฟิลิปปินส์ นั่นเองภายหลังจากที่ขบวนการรักชาติคัดค้านจักรวรรดินิยมของขบวนการอี้เหอถวน ได้ถูกจักรวรรดินิยมสมคบกับชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิงปราบลงไปเมื่อ ค.ศ. 1901 แล้วนั้น รัฐบาลชิงกับผู้แทนประเทศอังกฤษ, รัสเซีย, อเมริกา, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, ฮอลแลนด์ และ เบลเยี่ยม ทั้งหมด 11 ประเทศ ได้ลงนามใน สนธิสัญญาชินโฉ่ว ที่ต้องถือว่า สนธิสัญญาฉบับนี้ เป็นที่มาของความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้จักรวรรดินิยมเพิ่มการครอบงำทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และปล้นสดมภ์ประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ชดใช้ค่าเสียหายเพียงอย่างเดียวก็มูลค่าสูงถึง 450 ล้านตำลึงแล้ว"
ต่อมารัฐบาลราชวงศ์ชิง ก็เสนอนโยบายต่างประเทศที่ว่า เจริญสันถวไมตรี กับต่างประเทศ ตามกำลังทรัพยากรของจีน ซึ่งนโยบายนี้เอง เป็นเสมือนแผนภาคปฎิบัติที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างยิ่ง หลังการดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้ว่าจักรวรรดินิยม จะสมคบกันอย่างแน่นแฟ้น แต่การกระทำของรัฐบาลชิง ก็เปรียบได้กับการเป็นสุนัขรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของจักรวรรดินิยมโดยสิ้นเชิง โดยที่จักรวรรดินิยมใช้อำนาจยึด เขตเช่ายืม และจัดการแบ่งเขตอิทธิพลกันในประเทศจีน ไม่เพียงเขตชายแดนเท่านั้น แต่ยังเร่งลงทุนสร้างโรงงาน เปิดเหมือง และพยายามครอบครองสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ธุรกิจธนาคาร และวงจรเศรษฐกิจการคลังหลายอย่าง รวมทั้งการรุกรานทางความคิดและวัฒนธรรม โดยการใช้กลยุทธ์ทางศาสนา
อีกทั้งยังทำการสำรวจทรัพยากร เพื่อทำการจารกรรม และสบคบกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เข้ายึดที่ดินและทรัพย์สมบัติตามอำเภอใจ ประชาชนยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น เมื่อรัฐบาลชิง ประกาศ นโยบายแผนใหม่ เพื่อทำการเพิ่มรายการภาษีใหม่ขึ้นอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ ม้า หญ้า หรือ อุจจาระ ทำให้ชาวนาล้มละลายกันเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการกดขี่ขูดรีดอันทารุณยิ่ง ในขณะที่ชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิง กลับมีชีวิตอย่างสุขสบาย และใช้จ่ายเรื่องส่วนตัวต่างๆ อย่าฟุ่มเฟือย เช่น พระนางซูสีไทเฮา มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารต่อมื้อ เป็นเงินสูงถึง 100 ตำลึง เป็นต้น ซึ่งประชาชนในขณะนั้นถือว่า เป็นความเละเทะและโหดร้ายของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน ดังนั้นจึงถือว่า เป็นศัตรูของประชาชนทั่วประเทศ
การคัดค้านการกระทำของจักรวรรดินิยม กับศักดินาของประชาชน ได้เริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่มีความต่อเนื่อง จนมีปัญญาชนจำนวนหนึ่ง ได้เริ่มทยอยเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อแสวงหาหนทางกู้ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ไปที่ญี่ปุ่น เนื่องจากระยะทางใกล้สุด และมีความสำเร็จจากการลอกเลียนแบบประเทศตะวันตกในหลายเรื่อง และอีกส่วนหนึ่ง เลือกที่จะไปศึกษาในประเทศยุโรปและอเมริกา รวมแล้วทั้งหมดจำนวนหลักหมื่นทีเดียว ต่อมาชนชั้นปัญญาชนเหล่านั้น ได้ทยอยกันออกหนังสือ และนิตยสาร ทั้งภายในประเทศ และที่ประเทศญี่ปุ่น หลายเล่ม เพื่อปลุกระดมการปฏิวัติคัดค้านราชวงศ์ชิง และเผยแพร่คตินิยมประชาธิปไตย โดยเนื้อหาได้ตีแผ่การกดขี่ขูดรีดประชาชน การขายชาติของรัฐบาลชิง และเรียกร้องให้ประชาชนได้เข้าร่วมในการปฏิวัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการกำจัดชนชั้นปกครองราชวงศ์ชิง ขับไล่ต่างชาติในนามจักรวรรดินิยม
ซุน ยัดเซ็น ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการเผยแพร่สิ่งพิมพ์เพื่อเร่งทัศนคติ ปฎิวัติประชาธิปไตย โดยได้กระจายหนังสือหลายเล่มไปทั้งใน และนอกประเทศ ภายใต้ชื่อของ สมาคมซิงจงฮุ่ย พร้อมๆ กันกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว กลุ่ม องค์การปฏิวัติของชนชั้นนายทุน ก็ได้ก่อตั้งขึ้นในที่ต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ กลายเป็นชมรม และสมาคมย่อยๆ จำนวนมาก แต่ทั้งหมดต่างมีเป้าประสงค์เดียวกัน คือ ร่วมกันในการใช้วิธีปฎิวัติโค่นรัฐบาลชิง จึงได้ก่อให้เกิดความจำเป็นในการก่อตั้งพรรคการเมือง ที่มีเอกภาพขึ้นเพื่อนำการปฏิวัติในพื้นที่ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
ใน ปี ค.ศ.1904 - 1905 ซุน ยัดเซ็น เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่ออธิบายและโน้มน้าวให้กลุ่มนักศึกษาจีนในประเทศต่างๆ เห็นด้วยกับการปฏิวัติ 30 กรกฎาคม ที่ประชุมลงมติกำหนดชื่อพรรคการเมืองปฏิวัติเป็น พรรคจงกว๋อถงเหมิงฮุ่ย (พรรคพันธมิตรจีน) ใช้ชื่อย่อว่า ถงเหมิงฮุ่ย และ 20 สิงหาคม ได้จัดประชุมใหญ่การก่อตั้งอย่างเป็นทางการ พร้อมกำหนดระเบียบการ และยกให้นโยบายอักษร 16 ตัวของซุนเป็นวัตถุประสงค์หลัก โดยกำหนดให้โตเกียวเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของพรรค พร้อมเลือกตั้ง ซุน ให้เป็นหัวหน้าพรรค แล้วจึงได้มีการจัดตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ และกำหนดคำว่า จงหวาหมินกว๋อ (สาธารณรัฐประชาราษฎร์จีน) เป็นชื่อประเทศภายหลังโค่นรัฐบาลชิงแล้ว และได้ก่อตั้งสาขาพรรคขึ้น 9 แห่งทั้งใน และต่างประเทศ การต่อตั้งของพรรคถงเหมิงฮุ่ย เป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยที่นำโดยชนชั้นนายทุนจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ปฏิวัติให้เร็วขึ้น
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ซุน ได้เขียนบทบรรณาธิการในหนังสือพิมพ์ "หมินเป้า" (ราษฎร) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค เพื่อขยายคำชี้แจงหลักนโยบายอักษร 16 ตัวให้ละเอียดขึ้น โดยซุนได้เสนอหลักการ ประชาชาติ ประชาสิทธิ และ ประชาชีพ ของลัทธิไตรราษฎร์ (ซานหมินจู่อี้) อันถือว่าเป็นการปลุกเร้าให้ดำเนินการปฏิวัติอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก
นอกเหนือจากการต้องการโค่นการปกครองของราชวงศ์ชิง และระบบกษัตริย์ศักดินานั้น ซุน ยังมีเป้าหมายในการ "เฉลี่ยสิทธิที่ดิน" เพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินให้กับประชาชน ลัทธิไตรราษฏร์ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกับความปรารถนาในการเรียกร้องเอกราชของประชาชาติ สิทธิประชาธิปไตร และแก้ไขชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนายทุน และชนชั้นนายทุนน้อย รวมไปถึงประชาชนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นการปลุกระดมพลังการปฏิวัติ ให้รุดหน้ายิ่งขึ้น
นักปลุกระดม
ระหว่างความก้าวหน้าของการปลุกระดมนั้น ก็เกิด 2 แนวทางด้านการเมืองไปพร้อมๆ กัน กล่าวคือ หนึ่งคือแนวปฎิวัติประชาธิปไตยที่ ซุน ยัดเซ็น เป็นตัวแทน อีกแนวทางหนึ่งคือ แนวทางลัทธิปฏิรูปอันมี คังโหย่วเหวย และเหลียงฉี่เชา เป็นตัวแทน โดยมีความแตกต่างในส่วนของผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของระบบการปกครองสมบูรณาญา สิทธิราชย์ของราชวงศ์ชิง ซึ่ง ซุน ต้องการโค่นล้มให้สิ้นไป แต่อีกฝั่งต้องการให้ระบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแบบหลังนี้ อาจส่งผลให้จีนต้องตกอยู่ในรูปแบบสังคมกึ่งเมืองกึ่งศักดินาต่อไป
แต่เนื่องจาก คังโหย่วเหวย และ เหลียงฉี่เชา ยังไม่ล้มเลิกแนวคิดที่จะต้องการมีกษัตริย์ที่มีความเข้าใจประชาชน หลังกระแสแนวคิดของทั้งสองคน ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์ส่วนใหญ่ ในปี 1899 ทั้งสองจึงต้องหลบไปอยู่ต่างประเทศ และเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนจักรพรรดิ กวาง สู และคัดค้านพระนางซูสีไทเฮาต่อไป หลายครั้ง ที่การกระทำของ เหลียง เป็นเสมือนการอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ซุน เช่นการทำให้มวลชนไขว้เขวในด้านข้อมูล รู้จักกันในชื่อของสมาคมพิทักษ์จักรพรรดิ และมีเป้าหมายเพื่อปฎิรูปเท่านั้น ไม่ถึงขั้นปฏิวัติอย่างที่ ซุน ต้องการ
เพื่อขยายกำลังการปฏิวัติ ซุน จำเป็นต้องขีดเส้นแบ่งระหว่าง ปฎิวัติ และปฎิรูป ให้เด่นชัดอย่างเข้มงวด โดยเริ่มต้นจากการตั้งองค์กรโฆษณาขึ้น เพื่อปลุกระดมมวลชนไม่ให้ไขว้เขว และส่งทีมงานไปยังต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงและควบคุมกองบรรณาธิการของสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ ให้ร่วมกันรณรงค์ต่อสู้กับพวกปฏิรูป และเปิดการปราศรัยใหญ่ในหลายที่ เพื่อแฉพฤติกรรมหลอกลวงของสมาคมพิทักษ์จักรพรรดิ และวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะอันเหลวไหล พร้อมๆ กับการลงมือปรับปรุงและขยายองค์กรการปฎิวัติอย่างเร่งด่วน ซุนประกาศเฉียบขาดว่า การปฏิวัติและการพิทักษ์จักรพรรดินั้น เข้ากันไม่ได้ ร่วมกันไม่ได้ เป็น 2 แนวทางที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน เหมือนดำขาวมิอาจปนเป ตะวันออกตะวันตกมิอาจสับเปลี่ยน และชี้ว่า การอ้างชื่อ(จักรพรรดิ)เพื่อทำการปฏิวัตินั้น เป็นการปฏิวัติจอมปลอม
ซุน ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ในกลุ่มคนที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งในต่างประเทศ โดยวิธีการปราศัย และแก้ไขความคิดที่ เหลียง ได้นำเสนอไว้อย่างใจเย็น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการพัฒนาการปกครองที่มิอาจข้ามขั้นได้ของประเทศตะวันตกซึ่ง เหลียง เคยกล่าวอ้างนั้น ซุนได้แก้ความ คิดที่ว่า จีนจะข้ามขั้นมิได้ ให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมากที่ซานฟรานซิสโก และการปราศรัยครั้งนี้เอง ทำให้ชาวจีนมองเห็นความแตกต่างของการปฎิวัติและการพิทักษ์จักรพรรดิ
ฝ่ายปฎิวัติ ได้ยึด หนังสือพิมพ์ หมินเป้า เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ สู่ประชาชน หนึ่งในผู้ที่มีความโดดเด่นในระหว่างการดำเนินการคือ สหายของ ซุน ชื่อ จูจื่อซิ่น ซึ่งได้เปิดโปงความหลอกลวงที่รัฐบาลชิงใช้รัฐธรรมนูญจอมปลอม และร่วมโจมตีทัศนะของ คัง และเหลียง อย่างแข็งขัน
ยิ่งนานมากขึ้นเท่าไหร่ ความเด่นชัดของ กลุ่มปฎิรูปก็มีมากขึ้น โดยการยึดจุดยืนพิทักษ์รักษาอำนาจปกครองศักดินาราชวงศ์ชิง โฆษณาชักชวนให้ภักดีต่อองค์กษัตริย์ สรรเสริญเยินยอ ทศพิธราชธรรม ของจักรพรรดิกวางสู และยกความผิดที่ผ่านมาให้เป็นผลกระทบจากการรุกรานของต่างชาติ โดยรัฐบาลชิงได้ตกลงในการที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลง
จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการโต้เถียงกันอีกครั้ง และ ซุน ก็แก้ไขโดยการเปิดโปงการกระทำอันเลวร้ายของรัฐบาลชิงที่มีต่อประชาชน ในขณะนี้ พวกปฎิรูป ได้ชูประเด็นว่า ระบบปกครองแบบกษัตริย์มีรัฐธรรมนูญเป็นขั้นบันไดของการก้าวไปสู่ระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย รวมทั้งปลุกปั่นให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับแนวทาง เฉลี่ยสิทธิที่ดิน ที่จะทำให้ผู้ที่ไม่ควรครอบครองที่ดิน เช่น ขอทานและอันธพาลได้มีสิทธิด้วย
แต่ไม่ว่าทางฝ่ายปฎิรูปจะโจมตีหนักหน่วงอย่างไร ซุน ก็ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยอาศัย หนังสือพิมพ์ หมินเป้า และ การปราศัย เป็นหลัก โดยเดินทางจากญี่ปุ่นไปเอเชียอาคเนย์ ไปอเมริกา และยุโรป ซึ่งนั่นทำให้จำนวนของผู้สนับสนุนแนวคิดฝั่งปฏิวัติมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดกลุ่มปฎิรูปก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้
นักต่อสู้เชิงอุดมการณ์และความคิด
นับเป็นการต่อสู้ทางความคิดครั้งใหญ่ของฝ่ายปฏิวัติที่ ซุน เป็นผู้นำ สาระสำคัญของการต่อสู้อยู่ที่ปัญหาแนวทางการเมือง 2 แนว คือ ปฏิวัติ หรือพิทักษ์จักรพรรดิ ซึ่งการต่อสู้ครั้งนี้ฝ่ายปฏิวัติ ได้ส่อจุดอ่อนอย่างชัดเจน คือปัญหาคัดค้านจักรวรรดินิยม กับปัญหาคัดค้านศักดินานิยม โดยไม่ได้ถือว่า จักรวรรดินิยมเป็นศัตรูสำคัญของการปฏิวัติ และการที่มิได้ถือว่ามวลชนผู้ใช้แรงงานเป็นพลังสำคัญของการปฏิวัติ และจำกัดการต่อสู้อย่างถึงที่สุดในการคัดค้านจักรวรรดินิยมและศักดินานิยม ซึ่งลักษณะไม่ถึงที่สุดนี้ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความอ่อนแอของชนชั้นนายทุนที่ซุนเป็นตัวแทน
ช่วง 10 ปีนับแต่ขบวนการอี้เหอถวน จนถึงการปฏิวัติซินไฮ่ การต่อสู้คัดค้านอำนาจปกครอง ปฏิกิริยาของประชาชนจีน เป็นไปอย่างคึกคัก และขยายตัวรวดเร็วมาก ประชาชนแทบทุกอาชีพเข้าร่วมอุดมการณ์ได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนค่อนข้างกว้างขวาง จำนวนมากมาจากกลุ่มชนชั้นนายทุน
เนื่องจากใน ช่วงปี ค.ศ.1895 - 1904 ทั่วประเทศมีโรงงาน และเหมืองที่เปิดใหม่ ประมาณ 168 แห่ง และขยายเป็น 322 แห่งในปี ค.ศ. 1911 ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา และวิสาหกิจขนาดเล็ก และเป็นมูลเหตุแห่งความเจริญเติบโตของชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการกดขี่จากจักรวรรดินิยม และศักดินานิยมมาก่อน ทำให้เมื่อมีการขยายตัวของคนกลุ่มนี้ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างความมั่นคงโดยการมีหลักประกันทางการเมือง เพื่อการต่อสู้ และปฏิรูปทางการเมืองเพื่อช่วงชิงอำนาจการปกครอง
ในกลุ่มชนชั้นนายทุนนี้ ส่วนใหญ่มาจากพ่อค้ารายย่อม หรือแม้กระทั่งเคยเป็นกรรมกรมาก่อน ทำให้มีความสัมพันธ์กับชนชั้นปกครองศักดินาในประเทศค่อนข้างน้อย ไปจนถึงถูกเหยียดหยามจากชาวต่างประเทศ รวมถึง ชิงชังราชวงศ์ชิงเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงเป็นส่วนสำคัญที่เร่งผลักดันให้เกิดกระแสความต้องการที่จะปฎิวัติ
ในสมาคมซิงจงฮุ่ยนั้น มีสมาชิกที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลถึง 78% และในจำนวนนี้ มีชนชั้นนายทุนถึง 48% ทำให้การเคลื่อนไหวปฏิวัติ และจับอาวุธต่อสู้ตามแนวชายทะเลในที่ต่างๆ ของซุน ล้วนแต่ได้อาศัยการสนับสนุนทางการเงินจากชาวจีนโพ้นทะเลกลุ่มนี้ทั้งสิ้น
เมื่อชนชั้นนายทุนได้ร่วม และนำขบวนการต่อสู้อย่างแข็งขัน การเคลื่อนไหวด้านต่างๆ ก็มีอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี ค.ศ. 1903 - 1904 มณฑลต่างๆ ตามเส้นทางรถไฟหลายสาย ได้มีการเคลื่อนไหวที่จะคัดค้านการควบคุมทางรถไฟ ทรัพยากรเหมืองแร่ และการทุ่มสินค้าต่างประเทศของเหล่าจักรวรรดินิยม โดยต้องการยึดคืนอำนาจการควบคุมดังกล่าวกลับจากจักรวรรดินิยมอเมริกา ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในมณฑลต่างๆ อย่างกว้างขวาง
ค.ศ. 1904 - 1905 การคัดค้านจักรวรรดินิยมกดขี่ทำร้ายกรรมกรจีน ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง ได้มีการเรียกร้องให้ยกเลิกสนธิสัญญาว่าด้วยการจ้าง จีน-อเมริกา โดยชนชั้นนายทุนจีนที่มีอยู่ในวงการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมในเซียงไฮ้ได้เป็นกำลังหลัก ในการก่อการแอนตี้สินค้าจากอเมริกา และการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ขยายตัวออกไปตามเมืองน้อยใหญ่ กว่า 10 มณฑล จนกลายเป็นการเคลื่อนไหวไปทั่วประเทศ เพื่อโจมตีจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างดุเดือด
แต่ในกลุ่มของชนชั้นนายทุนใหม่นี้ ก็มีอยู่ไม่น้อยที่จำเป็นต้องมีลักษณะสองหน้า เมื่อต้องเผชิญหน้ากับชนชั้นปกครอง เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับการเก็บค่าเช่าที่ดินของชนชั้นเจ้าที่ดินศักดินาในชนบท ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่เต็มที่ในการโค่นล้มจักรวรรดิยม และไม่สามารถโค่นอิทธิพลศักดินาได้ เพราะมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ ดังนั้น พลังสำคัญของการคัดค้านจึงไปรวมอยู่ที่ชาวนาและมวลชนผู้ใช้แรงงานมากกว่า
มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนชาวนาและผู้ใช้แรงงานอยู่เนืองๆ การต่อสู้ครั้งใหญ่ที่ถือว่าเป็นการเปิดฉากการโจมตีจักรวรรดินิยม และอิทธิพลศักดินา คือ การต่อสู้คัดค้านอากรสีย้อมผ้าสีเขียวของราษฎรเล่อผิงในมณฑลเจียงซี
ในครั้งนี้การต่อสู้คัดค้านซึ่งนำโดย เซี่ยถิงไอ้ และเหล่าสมาชิกซึ่งมีทั้งชาวนา และสมาชิกขององค์การต่างๆ ได้ใช้ความรุนแรงในการเรียกร้อง โดยการทำลายสำนักงานเก็บภาษี ที่ทำการอำเภอ และโบสถ์ของศาสนาอื่น รวมทั้งการปะทะกับทหารของรัฐบาลราชวงศ์ชิง การต่อสู้ยืดเยื้อถึงครึ่งปี และขยายพื้นที่ไปถึง 24 หัวเมือง มีชาวนาเข้าร่วมในความเคลื่อนไหวครั้งนี้มากถึง 2 แสนคน
การต่อสู้ที่เป็นแรงผลักดันให้ ซุน ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง คือ การต่อสู้ของราษฎรในหลายสิบอำเภอ ในปี 1903 - 1905 การต่อสู้ครั้งนี้ผู้ปกครองของรัฐบาลราชวงศ์ชิงในมณฑลกวางสีถูกตีจนหมดทางสู้ ต้องไปของความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส และเป็นมูลเหตุให้เกิดการประท้วงไปทั่วประเทศ และซุนก็ได้รับการยอมรับ อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก
การต่อสู้ของประชาชนในช่วงเวลานั้น เต็มไปด้วยความรุนแรง และส่วนใหญ่มีมูลเหตุมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องของภาษีด้านต่างๆ การจับอาวุธเข้าสู้ของมวลชน สั่นคลอนอำนาจการปกครองของรัฐบาลราชวงศ์ชิง และเร่งผลักดันสถานการณ์ปฏิวัติให้ขยายตัวรวดเร็วขึ้น ซุน เรียกช่วงเวลานี้ว่า "ประเทศจีนกำลังอยู่ในวันสุกดิบแห่งการเคลื่อนไหวประชาชาติอันยิ่งใหญ่" และถือโอกาสในช่วงเวลานี้ ประกาศเตรียมพร้อมที่จะโค่นล้มราชวงศ์ชิง การเดินทางไปมาในประเทศต่างๆ ของ ซุน นอกจากเพื่อจะก่อตั้งองค์กรการปฏิวัติ และเผยแพร่สัจธรรมปฎิวัติแล้ว ยังได้ติดต่อกับองค์การสมาคมต่างๆ ทำการเรี่ยไรและบริจาคโดยมีจุดหมายที่ก่อการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธทั้งสิ้น
นักจัดตั้งและผู้บัญชาการ
ช่วงปลายปี 1906 การต่อสู้ครั้งสำคัญก็เกิดขึ้น เมื่อเกิดการปะทะระหว่าง ชาวนา กรรมกรเหมืองอันหยวน กับรัฐบาลชิง ในเวลาเพียง 10 วัน กองทัพปฏิวัติก็เพิ่มจำนวนขึ้นถึง 3 หมื่นคน และครอบคลุมพื้นที 4-5 อำเภอ แต่เนื่องจากกองทหารปฏิวัติขาดการบัญชาการที่เป็นเอกภาพ กระจายการสู้รบโดยเอกเทศ จึงต้องจบลงที่ความพ่ายแพ้
ปี 1907 ซุนได้เดินทางไปตั้งกองบัญชาการรบที่เวียตนาม เพื่อการวางแผนสู้รบในมณฑลกวางตุ้ง กวางสี และยูนนาน ซึ่งในที่สุดก็ประสบกับความพ่ายแพ้อีกครั้ง เนื่องจากแผนการรบของผู้บัญชาการทหารใหม่ของฝ่ายรัฐบาลชิง ที่ชื่อ กว้อเหยินจาง ที่ใช้กลอุบายว่า สนับสนุนการปฏิวัติ และทำการหักหลัง ซุน ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้กองทหารฝ่ายปฏิวัติพ่ายแพ้ไปในที่สุด
จากนั้นรัฐบาลชิงได้สมคบกับรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส เนรเทศ ซุน ออกจากเวียตนาม ซุนจึงเดินทางไปที่สิงคโปร์ แม้จะไม่ได้พำนักอยู่ที่เวียดนาม แต่ซุนก็ได้บัญชาการให้ตัวแทน หวงซิง และหวงหมิงถัง ทำการสู้รบแทน แต่เนื่องจากขาดการสนับสนุนที่เข้มแข็งในหลายด้าน จึงไม่สำเร็จ จากการจับอาวุธขึ้นสู้รบของซุนที่ดำเนินอยู่ทางชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้เป็นเวลา 2 ปีกว่า ต้องจบลงด้วยความพ่ายแพ้
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ซุนตระหนักว่า การทำการปฎิวัติโดยอาศัยสมาชิกขององค์การสมาคม และพรรคนั้นกำลังสู้รบไม่เข้มแข็งพอ จึงหันไปเน้นหนักงานชักชวนพวกทหารใหม่ให้แปรพักตร์ การเดินหน้าครั้งใหม่เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1910 ที่ กว่างโจ่ว โดยทหารใหม่จำนวน 3,000 คน แต่เนื่องจากการวางแผนที่ไม่รอบคอบทำให้ฝั่งของซุนต้องพ่ายแพ้อีกครั้ง การเตรียมการรบครั้งใหม่ใช้เวลานานถึง 6 เดือน ซุนได้เปิดการประชุมลับขึ้นที่ ปีนัง มีบุคคลสำคัญทั้งใน และนอกประเทศเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการพ่ายแพ้ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้สมาชิกมีกำลังใจถดถอย ขาดความเชื่อมั่น แต่การปลุกเร้าในครั้งนี้ของซุน ก็สามารถเรียกขวัญและกำลังใจของสมาชิกกลับคืนมาได้
การต่อสู้จึงเกิดขึ้นอีกครั้ง ที่นครกว่างโจว เรียกว่า ยุทธการหวงฮวากั่ง ในเดือน เมษายน 1911 โดยใช้แผนในการสู้รบแบบรอบด้าน ทั้งส่วนของทหารใหม่ ตำรวจ กองโจร และหน่วยกล้าตาย มีการจัดตั้งหน่วยใต้ดิน แบ่งสายการสู้รบออกไปถึง 10 สาย แต่เนื่องจากอาวุธ และเงินเรี่ยไรจากนอกประเทศ ส่งมาไม่ทัน รวมทั้งฝ่ายรัฐบาลชิงมีการเตรียมความพร้อมอย่างแข็งแรง จึงไม่สามารถก่อการได้ตามแผน ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าร่วมก็ลดน้อยลงไปมาก
ในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าการกระทำการใดๆ ของซุน มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือ
(1) การขาดการวางแผนที่รอบคอบ
(2) ผู้นำระดับรองที่เข้มแข็ง และชาญฉลาด
(3) ปัจจัยสนับสนุนจากชาวจีนที่มีกำลังทรัพย์จากพื้นที่ต่างๆ ที่ซุนต้องเสียเวลา ในการรวบรวมเพื่อการสู้รบในแต่ละครั้ง กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญซึ่งทำให้ซุนไม่อาจอยู่ใกล้ชิด และบัญชาการการสู้รบในแต่ละครั้งได้โดยตรง
(1) การขาดการวางแผนที่รอบคอบ
(2) ผู้นำระดับรองที่เข้มแข็ง และชาญฉลาด
(3) ปัจจัยสนับสนุนจากชาวจีนที่มีกำลังทรัพย์จากพื้นที่ต่างๆ ที่ซุนต้องเสียเวลา ในการรวบรวมเพื่อการสู้รบในแต่ละครั้ง กลับกลายเป็นอุปสรรคสำคัญซึ่งทำให้ซุนไม่อาจอยู่ใกล้ชิด และบัญชาการการสู้รบในแต่ละครั้งได้โดยตรง
การใช้ชีวิตในเส้นทางปฏิวัติ
จากความพ่ายแพ้หลายครั้ง ไม่ได้หยุดความตั้งใจของ ซุน ยัดเซ็น ได้ ในปี 1911 (ปีที่ทำการต่อสู้นับจากจุดเริ่มต้น) ซุนนำการปฏิวัติซินไฮ่ได้สำเร็จ และซุน ได้รับการตั้งแต่งให้นั่งเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว ซึ่งต่อมาต้องพบปัญหาหลายด้านรุมเร้า เช่น ภาวะการคลังของจีนที่ขาดดุลเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยปกครองโดยราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะการต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามให้กับต่างชาติตามสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol, โครงสร้างในการปกครองที่ยังไม่ลงตัว, ฮ่องเต้จีนองค์สุดท้ายที่คงใช้ชีวิตอยู่ในพระราชวังต้องห้าม และที่เป็นจุดอ่อนที่สำคัญมากสำหรับรัฐบาลยุคที่ ดร.ซุน เป็นประธานาธิบดีคือ การขาดกำลังทหารซึ่งหมายถึงด่านหน้าของความมั่นคงของรัฐบาล
จนกระทั่งหลังสิ้นยุคของซูสีไทเฮา หยวนซื่อไข่ หรือ หยวนซื่อข่าย ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "บิดาแห่งลัทธิขุนศึก" ก็ขึ้นมากุมกองกำลังทหารทั้งหมดของภาคเหนือ และในเวลาต่อมาได้กดดันให้ ดร.ซุน ต้องยอมยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้ โดยหลังจากลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ดร.ซุน หันไปทุ่มเทให้กับการศึกษาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจีนแทน
ในยุค หยวนซื่อไข่ อำนาจการการปกครองกลับอยู่ในมือคนเพียงคนเดียว แทนที่จะเป็นของประชาชนจีนทั้งมวล หยวน ไม่ยอมละทิ้งระบอบกษัตริย์โดยพยายามตั้งตัวเป็น "ฮ่องเต้" แต่แล้วก็ไปไม่รอด จนในปี 1916 หยวนซื่อไข่ เสียชีวิตลงด้วยโลหิตเป็นพิษ ประเทศจีนก็ย่างเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายที่เรียกว่า "ยุคขุนศึกภาคเหนือ" อย่างเต็มตัว
หลังความล้มเหลวดังกล่าวทำให้ ดร. ซุน ผู้ซึ่งต่อสู้เพื่อการปฏิวัติมา 20 ปี หมดกำลังใจ จนครั้งหนึ่งถึงกับรำพึงกับคนสนิทว่า "บางทียุคสาธารณรัฐ อาจจะย่ำแย่กว่ายุคที่จีนปกครองด้วยระบอบกษัตริย์เสียด้วยซ้ำ"
อย่างไรก็ตามด้วยความมุ่งมั่นในการประกอบภารกิจที่ยังไม่สำเร็จ ดร.ซุน ยังพยายามโค่นเหล่าขุนศึกภาคเหนือต่อไป ในปี 1919 ดร.ซุนได้ร่วมก่อตั้ง "พรรคก๊กมินตั๋ง" ขึ้น ซึ่งต่อมามีความร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน (ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ.1921) แต่สุดท้าย ดร.ซุน ก็เสียชีวิติลงด้วยโรคมะเร็งตับ โดยไม่ได้เห็นผลจากความพยายามมาชั่วชีวิตของเขา
เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1925 ระหว่างการเยือนปักกิ่งโดยก่อนเสียชีวิต ดร.ซุนได้ทิ้งคำสั่งเสียไว้โดยมีใจความสำคัญว่า
"... จีนต้องการอิสระและความเท่าเทียมกันจากนานาชาติ ประสบการณ์ 40 ปีที่ผ่านมาของข้าพเจ้า สอนข้าพเจ้าว่า ในการบรรลุเป้าหมายในการปฏิวัติ เราจะต้องปลุกประชาชนให้ตื่นขึ้นมา ...... การปฏิวัติยังไม่เสร็จสิ้น ขอให้สหายทั้งหลายของเราดำเนินการตามแผนการของข้าพเจ้าต่อไปเพื่อฟื้นฟู บูรณะชาติของเราขึ้นมา"
(หมายเหตุ : คำสั่งเสียดังกล่าวบันทึกโดย วังจิงเว่ย คนสนิทของ ดร.ซุน ที่ต่อมาขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของพรรคก๊กมินตั๋งสามารถหาอ่านข้อความเต็มได้จาก หนังสือประวัติศาสตร์จีนโดยทวีป วรดิลก บนที่ 24 หน้าที่ 882-883)
หลังจากเสียชีวิต ศพของ ดร.ซุน ยัดเซ็น ถูกนำไปตั้งไว้ชั่วคราวที่ วัดเมฆหยก ตีนเขา เซียงซาน บริเวณเทือกเขาด้านตะวันตก ชานกรุงปักกิ่ง เพื่อรอเวลาในการสร้าง สุสานซุนจงซาน ที่หนานจิงให้เสร็จสิ้น (ทั้งนี้ "ซีซาน" อันเป็นสถานที่ตั้งศพชั่วคราวของ ดร.ซุน นี้ในเวลาต่อมาระหว่างการแย่งอำนาจในพรรคก๊กมินตั๋ง สมาชิกก๊กมินตั๋งกลุ่มขวาเก่า ได้นำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มซีซาน" เพื่อแสดงความใกล้ชิดและแสดงว่าตนเป็นทายาทของดร.ซุนที่แท้จริง)
ปัจจุบัน สุสานซุนจงซาน มีขนาดใหญ่โตกว่า สุสานหมิง ที่อยู่ข้างๆอย่างเห็นได้ชัด โดยมีขนาดพื้นที่กว้างขวางถึง 8 หมื่นตารางเมตร โดยสุสานถูกออกแบบและสร้างให้เป็นทางเดินหินลาดขึ้นไปตามเนินเขาที่ยาวกว่า 323 เมตรกว้าง 70 เมตรซึ่งยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน