วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 1

ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
ชีวประวัติย่อ  ของ นายปรีดี พนมยงศ์ ( จนถึง 24 กรกฎาคม 2525 )

เบิกเรื่อง

ข้าพเจ้ากับพูนศุขภรรยาได้ร่วมมือกันรวบรวมเอกสารหลักฐานแท้จริง เพื่ออาศัยเป็นหลักในการเรียบเรียงชีวิตและการงานของเราทั้งสองคน โดยให้ชื่อหนังสือเล่มนั้นว่า "ชีวิตและการงานปรีดี-พูนศุข" ในการนั้นจึงต้องใช้เวลายืดยาวนาน คือนอกจากเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องของเราทั้งสองได้กระจัดกระจายเพราะข้าพเจ้ากับภรรยาต้องโยกย้ายสถานที่หลายแห่ง และอีกประการหนึ่งข้าพเจ้ากับภรรยาได้ทำคำอธิบายประวัติความเป็นมาและเหตุผลประกอบไว้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่ยืดยาวและต้องทะยอยพิมพ์เป็นตอนๆ ไป ในชั้นเดิมดำริที่จะพิมพ์ตอนที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2521 ในโอกาสที่เราทั้งสองได้แต่งงานครบรอบ 50 ปีบริบูรณ์ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงของสถานการณ์หลายประการยังอยู่ในระหว่างกาพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงต้องเลื่อนเวลาพิมพ์หนังภาคที่ 1 ไว้

บัดนี้คดีดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงโดยศาลได้พิพากษาให้คดีสิ้นสุดลงตามสัญญาประนีประนอมที่จำเลยได้ยอมรับความคลาดเคลื่อนในหนังสือที่จำเลยได้พิมพ์นั้น และจำเลยได้ข้อขมาข้าพเจ้า ( ปรีดี พนมยงศ์ ) แล้ว ข้าพเจ้ากับภรรยาก็จะได้เตรียมพิมพ์ตอนที่ 1 แห่งหนังสือนั้นภายในเวลาไม่ช้านัก และพิจารณาทะยอยพิมพ์ตอนอื่นๆ ในโอกาสสมควรต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้คุณ สมบัติ เบญจศิริมงคล นายกสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมัน และคุณ เสาวนืย์ ลิมมานนท์ ประธานนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส ได้ขอให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงชีวประวัติย่อของข้าพเจ้า เพื่อจะนำไปเสนอในที่ประชุมนักเรียนไทยในแต่ละประเทศนั้นให้ทราบไว้ก่อนที่จะได้อ่านรายละเอียด เกี่ยวกับชีวิตและการงานของข้าพเจ้าและภรรยาทุกๆ ตอน ข้าพเจ้ายินดีสนองคำขอร้องนั้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ดังต่อไปนี้

( หมายเหตุ : เพื่อสอดคล้องกับต้นฉบับหนังสือ "ชีวิตและการงานของปรีดี-พูนศุข" ฉะนั้นในบทความ "ชีวประวัติย่อ" นี้ ข้าพเจ้าจึงใช้คำว่า "ปรีดี" เป็นคำแทนชื่อข้าพเจ้า และคำว่า "พูนศุข" เป็นคำแทนชื่อภรรยาข้าพเจ้า )

นามบิดามารดา นายเสียง กัย นางลูกจันทร์ พนมยงค์

วันเกิดและสถานที่เกิด  วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2443 ( ค.ศ.1900 ) ณ.บ้านหน้าวัดพนมยงศ์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การศึกษาในประเทศไทย
1.เริ่มศึกษาหนังสือไทยที่บ้านครูแสง ตำบลท่าวาสุกรี แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่บ้านหลวงปราณีฯ ( เปี่ยม ) อำเภอท่าเรือ

2.อ่านออกเขียนได้แล้วเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดรวกซึ่งสมัยนั้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลประจำอำเภอท่าเรือ สอบไล่ได้ชั้น 1 แห่งประโยค 1 ( ตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการสมัยนั้นที่จำแนกการศึกษาสามัญออกเป็น 3 ประโยค ประโยคละ 4 ชั้น ยังมิได้จำแนกเป็นชั้นมูล,ประถม,มัธยม )

3.ต่อมากระทรวงธรรมการจัดหลักสูตรใหม่ จำแนกเป็นชั้นมูล,ประถม,มัธยม จึงย้ายไปศึกษาที่โรงเรียนวัดศาลาปูน อำเภอกรุงเก่า สอบไล่ได้ประถมบริบูรณ์ตามหลักสูตรใหม่แล้ว ย้ายไปศึกษาชั้นมัธยมเตรียมที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร แล้วย้ายไปศึกาต่อที่โรงเรียนตัวอย่างมณทลกรุงเก่าจนสอบไล่ได้ได้ชั้นมัธยม 6 ( ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดสำหรับหัวเมือง ) แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบอีก 6 เดือน จึงลาออกเพื่อกลับไปช่วยบิดาทำนา ซึ่งได้รับความรู้ทางปฎิบัติเป็นอันมากจากชาวนา

4.ใน พ.ศ.2460 เข้าศึกษาที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่เนติบัณฑิตยสภาโดยอาจารย์ เลเดแกร์ ( E.LADEKER ) ที่ปรึกษาศาลต่างประเทศเป็นผู้สอน

5. พ.ศ.2462 สอบไล่วิชากฎหมายชันเนติบัณฑิตได้ แต่ตามข้อบังคับสมัยนั้นยังเป็นเนติบัณฑิตไม่ได้เพราะมีอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ ต้องรอจนถึงมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์ ใน พ.ศ.2463 จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

กิจกรรมพิเศษและรับราชการระหว่างเป็นนักเรียนกฎหมาย
1. พ.ศ.2460 - 2461 เป็นเสมียนสำนักงานทนายความพระวิชิตมนตรี ( สุด กุลฑลจินดา ) อดีตอธิบดีศาลมณฑลชุมพร และอดีตผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารบก
2. พ.ศ.2462 - 2463 เป็นเสมียนโทกรมราชทัณฑ์
3. เคยได้รับอนุญาตพิเศษเป็นทนายความบางคดี

การศึกษาในประเทศฝรั่งเศส
1. สิงหาคม พ.ศ.2463 ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงยุติธรรมให้ทุนไปศึกษาวิชากฎหมาย ณ.ประเทศฝรั่งเศส
2. ศึกษาภาษาฝรั่งเศสและความรู้ทั่วไปที่วิทยาลัย ( Lycee ) กอง ( Caen ) และศึกษาพิเศษจากอาจารย์เลอบอนนัวส์ ( LEBONNOIS ) ซึ่งเป็นเลขาธิการสถาบันคุรุศาสตร์ระหว่างประเทศ ( Institut Pedagogique International )
3. ศึกษากฎหมายที่วิทยาลัยกอง ( Caen ) สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "บาเซอริเอร์" กฎหมาย ( Bachelier en Droit ) และสอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "ลิซิงซิเอ" ( Licencie en Droit )
4. ศึกษาต่อที่วิทยาลัยปารีส สอบไล่ได้ปริญญารัฐเป็น "ดุษฎีบัณฑิตกฎหมาย" ( Docteur en Droit ) ฝ่ายนิติศาสตร์ ( Sciences Juridiques ) และสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรการศึกษาชั้นสูงในทางเศรษฐกิจ ( Diplome d'Etudes Superieures d'Economie Politique ) ตามเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้

กิจกรรมพิเศษในระหว่างศึกษาในฝรั่งเศส
1. เมื่อ พ.ศ.2466 - 2467 ( ค.ศ.1924 - 1925 ) ร่วมกับนักเรียนไทยในฝรั่งเศสกับสวิสเซอร์แลนด์และนักเรียนไทยในประเทศอื่นส่วนที่ขึ้นต่อสถานทูตสยามกรุงปารีส ตั้งเป็นสมาคมอันหนึ่งอันเดียวกันเรียกชื่อว่า "สามัคยานุเคราะห์สมาคม" อักษรย่อ "ส.ย.า.ม." เรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Association Siamoise d'intellectualite et d' Assistance Mutuelle" อักษรย่อ "S.I.A.M."
2. ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสมาคมคนแรก แล้วใน พ.ศ.2468 ( ค.ศ.1925 ) ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคม และใน พ.ศ.2469 ( ค.ศ. 1926 ) ได้รับเลือกตั้งเป็นสภานายกสมาคมอีกครั้งหนึ่ง
3. ริเริ่มที่จะแปลงสมาคมฯ ให้เป็นสหภาพแรงงานและการต่อสู้ท่านอัครราชทูตสยามสมัยนั้นซึ่งเป็นตัวแทนระบบสมบูรณาฯ ดังต่อไปนี้

การประชุมประจำปีระหว่างหยุดฤดูร้อนประจำปี ค.ศ.1926 ได้มีขึ้นในเดือนกรกฎาคมกับต้นสิงหาคม ค.ศ.1926 ( พ.ศ.2468 ) ที่คฤหาสน์ตำบลชาเตรตต์ และมีกิจกรรมพื้นฐานเช่นเดียวกับการประชุมเมื่อ ค.ศ.1925

ปรีดีเห็นว่าผลสรุปที่ได้จากการประชุมปีที่แล้วนั้นแสดงว่าเพื่อนนักเรียนส่วนมากได้ก้าวเข้าสู่แนวทางสมาคมการเมืองเพื่อระบบประชาธิปไตย ฉะนั้นในการประชุมประจำปีครั้งที่ 3 สำหรับ ค.ศ.1926 นั้น คณะกรรมการสมาคมฯ จึงได้จัดให้มีปาฐกถาการเมืองมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพื่อปรารถนาให้สมาคมก้าวไปอีกก้าวหนึ่งในการร่วมกันต่อสู้อัครราชทูตซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล ( สมบูรณาฯ ) เพราะท่านปฎิบัติการไม่เหมาะสมหลายประการ

ปรีดีจึงเสนอให้ที่ประชุมอภิปรายกิจกรรมของท่านอัครราชทูตที่เพื่อนนักเรียนเห็นได้ว่าไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง ครั้นแล้วปรีดีได้จัดให้มีการอภิปรายถึงวิธีจ่ายเงินกระเป๋า ( Pocket Money ) และเงินค่าใช้จ่ายสำหรับความเป็นอยู่ที่นักเรียนส่วนมากไม่ได้รับเท่าที่ควรเพราะเงินแฟรงค์มีค่าตกต่ำอยู่เรื่อยๆ

นักเรียนส่วนมากทราบอยู่แล้วว่า ขณะนั้นสถานทูตให้ปรีดีเป็นนักเรียนชั้น "อาวุโสสูง" ( Super Senior ) ที่ได้เงินเดือนจากสถานทูตมากกว่านักเรียนอาวุโสธรรมดา และการศึกษาของปรีดีก็สำเร็จถึงขั้นปริญญาเอกภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน ฉะนั้นปรีดีจึงไม่มีเหตุเฉพาะตัวที่จะก่อเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตน หากปรีดีมีความเห็นแก่ความเป็นอยู่ของนักเรียนส่วนมากที่จะต้องเรียนอยู่ในฝรั่งเศสต่อไป ปรีดีจึงเสนอที่ประชุมสมาคมทำหนังสือยืนยันต่อท่านอัครราชทูตเพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มเติมเงินค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนที่ได้เงินกระเป๋าหรือเงินเดือนน้อย และขอให้จ่ายเป็นเงินปอนด์ตามงบประมาณที่สถานทูตได้รับจากกรุงเทพฯ ท่านอัครราชทูตจึงได้ส่งโทรเลขด่วนถึงกระทรวงต่างประเทศขอให้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขอส่งตัวปรีดีกลับสยามโดยด่วนตามเหตุผลที่ท่านอัครราชทูตกล่าวหาว่าปรีดีทำการประดุจเป็นหัวหน้าสหภาพแรงงาน โดยยุยงให้นักเรียนเรียกร้องเงินกระเป๋าหรือเงินเดือนเพิ่มขึ้น อีกทั้งปรีดีได้ปฎิบัติการโดยขัดคำสั่งท่านอัครราชทูต ฯลฯ ฝ่ายปรีดีกับสมาชิกสมาคมฯ ก็ได้ถวายฎีกากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โต้แย้งคำกล่าวหาของท่านอัครราชทูต

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถูกต้องแล้วว่าปรีดีต้องรับผิดชอบในการที่จะแผลงสมาคมของนักศึกษาให้มีสภาพเป็นสหภาพแรงงาน ( Syndicate ) ดังปรากฎตามเอกสารที่ลงพิมพ์เปิดเผยแล้วในหนังสือของข้าพเจ้าเมื่อ พ.ศ.2515 ดังต่อไปนี้

( ก ) สำเนาโทรเลขเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศถึงอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสฉบับลงวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1926 ( พ.ศ.2469 )

คำแปลภาษาไทย
สำเนาที่ 14080 ( รับวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1926 )

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ได้กราบบังคมทูลเกี่ยวกับการพิพาทของ พระองค์เจ้าจรูญฯ กับ เอส.ไอ.เอ.เอ็ม. ( ชื่อย่อของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสในประเทศอื่นส่วนที่ขึ้นกับสถานทูตสยามกรุงปารีส ) และฎีกาของนักเรียนแล้ว มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมาคมนักเรียนได้เบี่ยงออกจากวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งสมาคมนั้น วัตถุประสงค์ของสมาคมจะต้องเป็นทางสังคมครบถ้วนระหว่างนักศึกษาภายใต้ความดูแลของสถานทูตปารีส ดูประหนึ่งว่าบัดนี้สมาคมได้กลายเป็นสหภาพชนิดหนึ่งของนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาชุมนุมกันเพื่ออภิปรายกิจกรรมของอัครราชทูต และเพื่อมีมติและดำเนินกิจการตรงกันข้ามกับความประสงค์ของอัครราชทูต

นักศึกษาได้อภิปรายและประฌามวิธีการที่อัครราชทูตได้จ่ายเงินเดือนแก่พวกเขา พวกเขายังได้ส่งตัวแทนไปประเทศอังกฤษโดยรู้อยู่แล้วว่าขัดต่อความประสงค์ของอัครราชทูต พวกเขาได้แสดงตลอดมาเป็นปฎิปักษ์ต่ออัครราชทูต และกิจกรรมของสภานายกถึงขั้นขาดคารวะ สถาณการณ์เช่นนี้ไม่อาจผ่อนปรนได้ เพราะถ้านักศึกษาได้อนุญาตให้ประกอบตัวเองเป็นสหภาพปฎิปักษ์ต่ออัครราชทูตโดยวิธีนี้แล้ว ก็ไม่มีอัครราชทูตใดสามารถรับผิดชอบในการดูแลสวัสดิการของนักศึกษาในอนาคตได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการว่า เอส.ไอ.เอ.เอ็ม. ตามรูปแบบปัจจุบันนี้ต้องยุบเลิก ถ้ายังมีความปรารถนาประกอบเป็นสมาคมชนิดที่ช่วยให้นักศึกษามีการติดต่อระหว่างกันก็จะต้องทำข้อบังคับขึ้นใหม่ โดยนักศึกษาจะได้รับอนุญาติให้มีเสรีภาพในการจัดการทางสังคม และนอกจากนั้นจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสถานทูตอย่างเคร่งครัด ยิ่งกว่านั้นนักศึกษารุ่นเด็กชั้นเตรียมและประถมนั้นจะต้องไม่เป็นสมาชิกสมบูรณ์ไม่มีสิทธิออกเสียง แต่พวกเขาอาจเข้าร่วมในค่ายวันหยุดภายใต้การดูแลเป็นพิเศษของคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งอัครราชทูตเป็นผู้เลือก

พวกเขาจะต้องอยู่ห่างจากนักศึกษารุ่นใหม่ให้มากที่สุดในขณะที่เข้าร่วมการกีฬาและการบันเทิง พระบาทวมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ต้องรับผืดชอบอย่างสำคัญในการที่สมาคมเปลี่ยนจากประสงค์เดิม และในการยุยงนักศึกษาให้เกิดความรู้สึกและละเมิดวินัยและไม่ไว้ใจอัครราชทูต ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกระแสรับสั่งให้เรียก นายปรีดี พนมยงค์ กลับทันที

ส่วนตอน 2 แห่งฎีกาของนักศึกษาร้องขอให้จ่ายเงินเดือนเป็นเงินปอนด์แทนการจ่ายเป็นแฟรงค์นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์พิจารณาเรื่องนี้เมื่อได้รับคำอธิบายจากอัครราชทูตแล้ว ถ้า ( อัครราชทูต ) ยังมิได้ทำขึ้นมา สำเนาฎีกาฉบับหนึ่งก็จะส่งไปให้พระองค์เจ้าจรูญฯ และพระองค์เจ้าจรูญฯ จะต้องกราบบังคมทูลชี้แจงมาเกี่ยวกับฎีกาดังกล่าวนั้นเรื่องการจ่ายเงินเดือน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยสุดซึ้งที่ทรงทราบว่าได้เกิดมีความรู้สึกไม่อยู่ในวินัยของนักศึกษา จึงมีพระราชประสงค์เตือนให้เขารู้สึกถึงความรู้สึกในหน้าที่

ไตรทศ
เสนาบดีว่าการต่างประเทศ

( ข ) สำเนาโทรเลขจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ ถึงอัครราชทูตสยามที่ปารีส โทรเลขส่งจากกรุงเทพฯ วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1926 ได้รับที่ปารีสในวันรุ่งขึ้น

คำแปลภาษาไทย
สำเนาโทรเลขจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศที่กรุงเทพฯ
ถึง อัครราชทูตสยามที่ปารีส โทรเลขส่งจากกรุงเทพฯ
วันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1926 ได้รับที่ปารีสวันรุ่งขึ้น

สยามาคูโต ( คำรหัสหมายถึงสถานทูตสยาม )
กรุงเทพฯ
เกี่ยวกับเรื่องเรียก นายปรีดี พนมยงค์ กลับ ตามจดหมายของข้าพเจ้าเลขที่ 178 ลงวันที่ 27 ตุลาคมนั้น (หมายถึงจดหมายที่ยืนยันข้อความในโทรเลขฉบับ 26 ตุลาคม ) บัดนี้ ข้าพเจ้าได้รับพระราชกระแสให้แจ้งแก่ปรีดี ตามความต่อไปนี้

  • เกี่ยวกับเรื่องเรียกตัวเธอกลับนั้น บัดนี้บิดาเธอได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเวลาไปจนกว่าเธอสอบไล่ปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายที่จะเป็นไปในไม่ช้านี้ พระาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วยพระเมตตาคุณเป็นอย่างยิ่งพระราชทานให้ตามฎีกานั้นโดยเงื่อนไขว่าอย่างไรก็ตาม เธอจะต้องเขียนคำขอขามเป็นลายลักษณ์อักษรต่ออัครราชทูตสยามกรุงปารีส และแสดงความเสียใจต่ออัครราชทูตสยามกรุงปารีสและแวดงความเสียใจต่อท่าทีเธอเกี่ยวกับกรณีที่น่าเสียใจเมื่อเร็วๆนี้ จบ
ขอให้รับทราบข้อความที่ได้แจ้งมาข้างบนนี้และปฎิบัติการให้เป็นไปตามนั้น

ไตรทศ
เสนาบดีว่าการต่างประเทศ

( ค ) ตามวิธีปกติธรรมดานั้น ถ้านักเรียนทุนรัฐบาลที่ศึกษาในต่างประเทศกระทำความผิด กระทรวงเจ้าสังกัดก็เพียงแต่ส่งโทรเลขหรือหนังสือราชการธรรมดาถึงสถานทูตให้ส่งตัวนักเรียนคนนั้นๆกลับสู่สยาม


แต่ในกรณีความขัดแย้งระหว่างท่านอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสกับสามัคยานุเคราะห์สมาคมซึ่งปรีดีต้องรับผิดชอบในฐานนะเป็นสภานายกสมาคม ทางรัฐบาลสยามสมัยนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องวิสามัญเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นนอกจากกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งโทรเลขถึงท่านอัครราชทูตดังที่ข้าพเจ้าได้ลงพิมพ์ไว้ใน ( ก ) และ ( ข ) แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสยามได้ทำหนังสือราชการชั้น "สารตราบัวแก้วน้อย" (นักอักษรศาสตร์สมัยนั้นทราบระเบียบหนังสือราชการแล้วว่า "สารตรา" มีน้ำหนักกว่าหนังสือราชการธรรมดา) ถึงท่านอัครราชทูตสยามยืนยันโทรเลขที่กระทรวงฯ ส่งมา พร้อมทั้งส่งสำเนาพระราชหัตถเลขาและหนังสือของราชเลขาธิการด้วยดังที่ข้าพเจ้าได้นำภาพถ่ายลงพิมพ์ไว้ต่อไปนี้



ร่วมกับเพื่อนอีก 6 คน รวมเป็น 7 คน ประชุมครั้งแรกก่อตั้งคณะราษฎรที่กรุงปารีสเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1927 ( ปฎิทินไทยขณะนั้นยังเป็น พ.ศ.2469 ปฎิทินไทยปัจจุบันเป็นปี พ.ศ.2470)

ผู้ที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกคือ
( 1 ) ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี ( นายทหารกองหนุน )
( 2 ) ร.ท.แปลก ขีตตะสังขะ ( จอมพล ป. นักศึกษาโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส )
( 3 ) ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี ( นักศึกษาโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส )
( 4 ) นายตั้ว ลพานุกรม ( เดิมศึกษาในเยอรมันนีสมัยพระเจ้าไคเซอร์วิลเลี่ยมที่ 2 ต่อมาเมื่อสยามประกาศสงครามกับเยอรมัน นายตั้วฯ ถูกรัฐบาลเยอรมันจับเป็นเชลยศึก ต่อมาเยอรมันทำสัญญาหยุดยิง (Armistice) กับสัมพันธมิตร นายตั้วฯ ได้รับการปลดปล่อยตัวแล้วเดินทางมาฝรั่งเศสสมัครเป็นทหารอาสาไทย ได้รับยศเป็นจ่านายสิบ เสร็จสงครามแล้วไปศึกษาปริญาเอกทางวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในสวิตเซอร์แลนด์ )
( 5 ) หลวงสิริราชไมตรี นามเดิม จรูญ สิงหเสนี ( อดีตนายสิบตรีกองทหารอาสาสงครามดลกครั้งที่ 1 ) ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส
( 6 ) นายแนบ พหลโยธิน ( เนติบัณฑิตอังกฤษ หลานอาว์พระยาพหลพลหยุหเสนา- พจน์ )
( 7 ) นายปรีดี พนมยงค์

หน้าที่ราชการก่อนอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 
( 1 ) ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรม
( ก ) ฝึกหัดอัยการศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน
( ข ) ทำบันทึกกระทงแถลงสำนวนคดีฎีกาประจำศาลฎีกาเป็นเวลา 6 เดือน
( 2 ) เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรมร่างกฎหมาย
( 3 ) ผู้สอน ณ.โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม
( ก ) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ตอนว่าด้วย "ห้างหุ้นส่วน,บริษัท,สมาคม"
( ข ) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล
( ค ) ผู้สอนคนแรกวิชา "กฎหมายปกครอง" ( Administratif )

กิจกรรมพิเศษก่อนการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน
( 1 ) อาศัยการสอนที่โรงเรียนกฎหมายฯ ปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้สนใจเป็นขั้นๆไป ถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบสมบูรณาฯ เป็นระบบราชาธิปไตยภายใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินประชาธิปไตย
( 2 ) เปิดการอบรมทบทวนวิชากฎหมายที่บ้านถนนสีลมโดยไม่คิดค่าสอนแก่นักเรียนกฎหมาย เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์กับนักเรียนฯ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จึงมีนักเรียนกฎหมายหลายคนเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะราษฎรประเภท ดี 1. และเป็นผู้สนับสนุนคณะราษฎรประเภท ดี 2. และ ดี 3.

ร่วมกับสมาชิกคณะราษฎรที่เป็นทหารบก,ทหารเรือ,พลเรือน ทำการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475
( รายละเอียดยืดยาวจะได้กล่าวไว้อีกบทความหนึ่ง )

หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารตั้งแต่ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว 2475
( 1 ) ได้รับแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 28 มิถุนายน 2475
( 2 ) ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นเลขาธิการ ( คนแรก ) ของสภาฯ นั้น
( 3 ) ได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นอนุกรรมการคนหนึ่งในจำนวน 9 คน มีหน้าที่ร่างธรรมนูญปกครองแผ่นดินถาวรซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า "รัฐธรรมนูญ" โดยร่วมมือกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น สภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบด้วยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศเป็น รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475
( 4 ) ได้รับเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็น "กรรมการราษฎร" คนหนึ่งในจำนวน 15 คน ซึ่งทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินร่วมกับ "เสนาบดี" พระยามโนปกรณ์ฯ เป็น "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 แล้ว คณะกรรมการราษฎรและเสนาบดีได้เลิกไปโดยมี "คณะรัฐมนตรี" ขึ้นแทน ปรีดี ได้รับแต่งตั้งเป็น "รัฐมนตรี" ประเภทไม่ดำรงกระทรวงใดที่เรียกกันว่า "รัฐมนตรีลอย" พระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ
เสียงเรียกร้องจากราษฎรและผู้แทนราษฎรให้รัฐบาลกำหนดโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติตามที่แถลงต่อราษฎรไว้โดยประกาศของคณะราษฎรฉบับ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลจึงมีมติมอบหมายให้ปรีดีฯ เปนผู้ร่างโครงการเศรษฐกิจเสนอรัฐบาล

ปรีดีฯ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจต่อรัฐบาล รัฐบาลตั้งอนุกรรมการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น อนุกรรมการส่วนข้างมากเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฯที่นายปรีดีฯเสนอ แต่อนุกรรมการส่วนข้างน้อย อาทิ พระยามโนฯ,พระยาศรีวิศาลฯ,พระยาทรงสุรเดช,นายประยูร ภมรมนตรี ไม่เห็นด้วย ครั้นแล้วคณะอนุกรรมการฯ นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีส่วนมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น แต่รัฐมนตรีส่วนน้อยเห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้น ปรีดีฯ จึงแถลงต่อคณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เมื่อปรีดีเป็นฝ่ายที่มีเสียงข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี ปรีดีฯ ก็ขอลาออกจากคณะรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยจะนำเค้าโครงการเศรษฐกิจนั้นเสนอต่อราษฎรในการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งปรีดีฯจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร

รัฐบาลพระยามโนปรณ์ฯ ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้ธรรมนุญบางมาตรา พรบ.คอมมิวนิสต์, เนรเทศปรีดีฯ
แต่รัฐบาลมิได้ปฎิบัติตามวิถีทางประชาธิปไตยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามธรรมนูญ หากรัฐบาลใช้วิธีเผด็จการคือ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 รัฐมนตรีส่วนหนึ่งภายใต้การนำของพระยามโนฯ ได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ให้ลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกา "ปิดสภาผู้แทนราษฎร" และ "'งดใช้ธรรมนูญบางมาตรา" คือ คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายริหารมีอำนาจในการบัญญัติกฎหมาย

พร้อมกันนั้นรัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า "พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ 2476" และออกแถลงการณ์ปรีดีฯว่าเป็น "คอมมิวนิสต์" และบังคับให้ปรีดีฯกับภรรยาต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

การอภิวัฒน์ 20 มิถุนายน 2476
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นหัวหน้านำทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน ยึดอำนาจการปกครองประเทศและนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริยืถึงความประสงค์ที่จะให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกัน 26 คน ได้ยื่นคำร้องขอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำความกราบบังคมทูลเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯจึงได้นำความกราบบังคมทูล ครั้นแล้วพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาฯได้ ตั้งแต่วันที่ 21 เดือนเดียวกันนั้น และโปรดเกล้าฯให้ใช้รัฐธรรมนูญบับ 10 ธันวาคมต่อไป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่แทนรัฐบาลพระยามโนฯที่ลาออกไป

ปรีดีฯกลับสู่สยาม
หนังสือพิมพ์หลายฉบับถามพระยาพหลฯ ว่าทางการจะให้หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม ( ปรีดี ) เดินทางกลับสยามหรือไม่ พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีตอบว่าได้ติดต่อกับหลวงประดิษฐ์ฯให้เดินทางกลับแล้ว ได้รับตอบว่ายินดีกลับสยาม แต่ขอให้รัฐบาลนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเสียก่อน นายกรัฐมนตรีจึงนำความกราบบังคมทูลและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงประดิษฐ์ฯ เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2476 หลวงประดิษฐ์ฯจึงเดินทางกลับสยาม

เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2476 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

( 1 ) ปรีดีได้ปฎิบัติการเพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่นและท้องที่คือ
( ก ) ได้ตั้งเทศบาลทั่วราชอาณาจักรสยามตาม พรบ.เทศบาล ซึ่งปรีดีเป็นผู้ร่างให้รัฐบาลพระยาพหลฯ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การปกครองท้องถิ่นเป็นไปตามระบบประชาธิปไตย
( ข ) ได้มีการกวดขันให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตาม พรบ.ปกครองท้องที่
( 2 ) ได้จัดตั้งกรมโยธาเทศบาลเพื่อสอดคล้องกับการปกครองเทศบาลและสร้างทางท้องที่หลายจังหวัด
( 3 ) ป้องกันและปราบปรามการประทุษร้ายระหว่างมนุษย์ด้วยกันให้ลดน้อยลงกว่าสมัยก่อน
( 4 ) สร้างโรงพยาบาลหลายแห่งรวมทั้งจัดให้มีเรือพยาบาลตามลำน้ำโขงโดยใช้สลากกินแบ่งของท้องที่
( 5 ) สร้างฝายและพนังหลายแห่งเพื่อช่วยชาวนาและเกษตรกร
( 6 ) สร้างทัณฑนิคมเพื่อให้ผู้พ้นโทษแล้วมีที่ดินของตน ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
เสนอรัฐบาลให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อให้เป็นตลาดวิชาอำนาวยการศึกษาวิชาการกฎหมาย วิชาเศรษฐกิจ และวิชาการอื่นๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง เพื่อส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนมีโอกาสศึกษาได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการเผยแพร่และปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยให้รู้หน้าที่การปกครองบ้านเมืองในระบบนี้ รัฐบาลเห็นชอบด้วยจึงให้หลวงประดิษฐ์ ( ปรีดี ) เป็นผู้ร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎร สภาฯเห็นชอบด้วยและอนุมัติให้เป็นกฎหมายได้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2476 ( ตามปฎิทินเดิม )

ครั้นแล้วรัฐบาลได้เสนอขอความเห็นชอบจากสภาฯ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์แต่งตั้งให้ปรีดี เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2477 ปรีดีดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 18 ปี จึงพ้นจากตำแหน่งนั้น เนื่องจากรัฐบาลที่สืบต่อจากคณะรัฐประหาร 2490 ได้เสนอร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ขึ้นใหม่ในวันที่ 18 มีนาคม 2495 ยุบตำแหน่งผู้ประศาสน์การ

ในระว่างที่ปรีดีเป็นผู้ประศาสน์การนั้น ได้ปฎิบัติการเพื่อให้นักศึกษานิยมระบบประชาธิปไตย ดังที่นักศึกษาส่วนมากของมหาวิทยาัลัยธรรมศาสตร์และการเมืองทราบอยู่แล้ว

เดินทางไปต่างประเทศเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่รัฐบาลรัชกาลที่ 6 ได้ทำไว้ และทาบทามรัฐบาลต่างประเทศที่จะแก้ไขสนธิสัญญาไท่เสมอภาค
ครั้งรัชกาลที่ 6 รัฐบาลได้กู้เงินจากธนาคารอังกฤษเพื่อนำมาใช้ก่อสร้างสาธารณูปโภค ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ฉะนั้นเมื่อ พ.ศ.2478 รัฐบาลพระยาพหลฯจึงได้มอบหมายให้ปรีดีเดินทางไปกรุงลอนดอน เพื่อเจรจาแปลงดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงมา ปรีดีได้เจรจาให้ธนาคารอังกฤษลดดอกเบี้ยเงินกู้จากร้อยละ 6 ต่อปี เป็นร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเป็นผลให้ชาติไทยได้ลดดอกเบี้ยเป็นเงินจำนวนมาก

ในคราวเดียวกันนั้นปรีดีได้เดินทางไปประเทศมหาอำนาจเพื่อทาบทามถึงการที่รัฐบาลสยามจะเปิดเจรจาใหม่เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศนั้นๆ

การเจรจาให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์และได้ดินแดนบางส่วนระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2480 และดำรงตำแหน่งนี้จนถึง 15 ธันวาคม 2481 ได้ปฎิบัติภารกิจที่สำคัญคือ
( 1 ) ในสมัยรัฐบาลสมบูรณาฯนั้น สยามถูกจักรวรรดินิยม ( Imperialism ) หลายประเทศบังคับให้จำต้องทำสัญญาไม่เสมอภาค โดยยอมให้หลายประเทศจักรวรรดินิยมมีสิทธิพิเศษเหนือประเทศไทยหลายประการ อาทิ คนในบังคับต่างประเทศเหล่านั้นทำผิดในดินแดนไทย แต่ศาลไทยไม่มีอำนาจตัดสิน หากรัฐบาลไทยต้องส่งตัวคนต่างประเทศที่ทำผิดนั้นไปให้ศาลกงสุลของต่างประเทศชำระคดี แม้ต่อมาบางประเทศ อาทิ อังกฤษและฝรั่งเศส ยอมผ่อนผันให้ไทยตั้งศาลต่างประเทศและศาลคดีต่างประเทศซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาไทยและที่ปรึกษากฎหมายชาวยุโรปร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีคนในบังคับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นก็ตาม แต่ในสนธิสัญญาก็ได้กำหนดไว้อีกว่า ถ้าความเห็นของผู้พิพากษาไทยขัดแย้งกับที่ปรึกษาชาวยุโรป ก็ให้ถือเอาความเห็นของที่ปรึกษาชาวยุโรปนั้นเป็นความเห็นใหญ่กว่าผู้พิพากษาไทยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้พิพากษาไทยมีจำนวนมากกว่าที่ปรึกษาชาวยุโรป

แม้กระนั้นสนธิสัญญาก็ยังได้กำหนดไว้อีกว่าคดีที่อยู่ในศาลต่างประเทศนั้น กงสุลอังกฤษก็ยังมีอำนาจที่จะถอนคดีไปชำระที่ศาลกงสุลอังกฤษได้ สถานกงสุลของหลายประเทศมีศาลและมีคุกสำหรับคนในบังคับของตนโดยเฉพาะ และมีสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่เรียกตามศัทพ์กฎหมายต่างประเทศว่า "สภาพนอกอาณาเขต" ( Extraterritoriality ) 

ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นประเทศจักรวรรดินิยมดังกล่าวมีสิทธิพิเศษตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาค คือ ประเทศไทยถูกบังคับให้เก็บภาษีขาเข้าได้เท่าที่สนธิสัญญากำหนดไว้ คือ เดิมเก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ของราคาสินค้าขาเข้า แม้รัฐบาลสมบูรณาฯได้แก้ไขสนธิสัญญาให้สยามมีสิทธิมากขึ้นบ้าง แต่ก็ยังมีข้อกำหนดอัตราภาษีศุลกากรไว้อีกหลายประการ อีกทั้งจักรวรรดินิยมหลายประเทศได้มีสิทธิพิเศษอื่นๆอีก อาทิ ได้สัมปทานป่าไม้,เหมืองแร่,การเดินเรือ ฯลฯ และมีอำนาจกับอิทธิพลในทางการเมืองเหนือประเทศไทย

เมื่อปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลพระพหลฯ แล้ว พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจึงมอบหน้าที่ให้ปรีดีเป็นผู้ปฎิบัติการเพื่อเจรจาสนธิสัญญาฉบับใหม่กับนานาประเทศเพื่อให้สยามมีเอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ปรีดีจึงใช้ยุทธวิธีบอกเลิกสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศจักรวรรดินิยมต่างๆนั้น และได้ยื่นร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์นั้นแก่ประเทศจักรวรรดินิยมพิจารณา ปรีดีได้ใช้ความอุตสาหะพยายามเจรจาโดยอาศัยหลัก "ดุุลยภาพแห่งอำนาจ" ซึ่งทำให้จักรวรรดินิยมแต่ละประเทศนั้นๆ ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่ได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์ ในที่สุดจักรวรรดินิยมทุกประเทศก็ได้ยอมทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ที่สยามได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ ทั้งเอกราชในทางการเมือง และในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

( 2 ) ได้เจรจากับรัฐบาลอังกฤษให้โอนดินแดนของสยามส่วนหนึ่งที่อังกฤษได้ไปจากสยามตามสนธิสัญญาฉบับปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ ค.ศ.1868 ( สมัย ร.4 ) ที่ปากน้ำจั่นจังหวัดระนองกับวิคตอเรียพอยท์ของอังกฤษซึ่งมีดินงอกทางฝั่งไทย และอีกแห่งหนึ่งที่มีดินแดนริมฝั่งไทยด้านริมแม่น้ำสาย จังหวัดเชียงราย รัฐบาลอังกฤษได้ตกลงยินยอมให้ดินแดนที่งอกที่ฝั่งไทยนั้นเป็นดินแดนของไทย ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ที่มา หนังสือชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงค์ ( จนถึง 24 กรกฎาคม 2525 ) สกุล พนมยงค์ และสกุล ณ.ป้อมเพชร์