วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประกาศยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ศักดินา จุลศักราช ๑๒๓๕

ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่

ศุภมัศดุ จุลศักราช ๑๒๓๕ กุกุฎสังวัจฉะระกะติกะมาศ กฤษณปักษพาระสิดิถี รวิวารปริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุศย์รัตนราชวรวิวงษ์ วรุตมพงษ์บริพัฒน์วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรติ ราชสังกาศบรมนารถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย มหัยสวริยพิมาน โดยสถานอุตราพิมุข พระบรมวงษานุวงษ์ แลท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือน เฝ้าพร้อมกันโดยลำดับ จึงมีพระบรมราชโองการ มารพระบัณฑูร สุรสิงหนาท ทรงประกาศแก่พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทราบทั่วกันว่า

ตั้งแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทยที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุขความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลาย ในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นมหานครอันใหญ่ในทิศตวันออกตวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือ ประเทศจีน ประเทศยวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คือ อินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ์ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิก เปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว การที่เขาได้พร้อมกันเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้น ก็เพราะเพื่อจะให้เหนความดี ที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใดเมืองใด ที่ได้ยกเลิกธรรมเนียมที่เปนการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้นก็เหนว่า มีแต่ความเจริญ มาทุกๆเมืองโดยมากก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กันอันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการ จะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่การที่จะจักผลัดเปลี่ยนธรรมเนียม จะให้แล้วไปในครั้งคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไป ตามเวลาที่ควรแก่กาล ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึ่งจะได้มีความเจริญสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป

แลธรรมเนียมหมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแขงแรงนัก ผู้น้อยที่ต้องหมอบคลานนั้น ได้ความเหน็จเหนื่อยลำบากเพราะ จะให้ยศแก่ท่านผู้ใหญ่ ก็การทำยศที่ให้คนหมอบคลานกราบไหว้นี้ ไม่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ผู้น้อยที่ต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ให้ยศต่อท่านผู้ที่เปนใหญ่นั้น ก็ต้องทนลำบากอยู่จนสิ้นวาระของตนแล้ว จึ่งจะได้ออกมาพ้นท่านผู้ที่เปนใหญ่ ธรรมเนียมอันนี้แลเหนว่า เปนต้นแห่งการที่เปนการกดขี่แก่กันทั้งปวง เพราะฉนั้น จึ่งจะต้องละพระราชประเพณีเดิมที่ถือว่า หมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย ด้วยทรงพระมหากรุณา ที่จะให้ท่านทั้งหลายได้ความศุข ไม่ต้องทนยากลำบากหมอบคลานเหมือนอย่างแต่ก่อน

แลธรรมเนียมที่หมอบคลานนั้น ให้เปลี่ยนอิริยาบทเปนก้มศีสะ ธรรมเนียมที่ยืนที่เดินแลก้มศีสะนี้ ใช้ได้เหมือนกับธรรมเนียมที่หมอบคลานถวายบังคมลาแลกราบไหว้

บางทีท่านผู้ที่มีบันดาศักดิ์ซึ่งชอบธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ตามเดิม เหนว่าดีนั้น จะมีความสงไสยสนเท่ห์ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมหมอบคลานให้ยืนให้เดินจะเปนการเจริญแก่บ้านเมืองด้วยเหตุไร ก็ให้พึงรู้ว่า การที่เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ เลิกหมอบคลานให้ยืนให้เดินนั้น เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่า จะไม่มีการกดขี่แก่กัน ในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป เมืองใดประเทศใด ผู้ที่เปนใหญ่ มิได้ทำการกดขี่แก่ผู้น้อย เมืองนั้นประเทศนั้นก็คงมีความเจริญเปนแน่

ตั้งแต่นี้สืบไป พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งจะเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่ง แลที่เสด็จออกแห่งหนึ่งแห่งใด จงประพฤติ์ตามพระราชบัญญัติที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดไว้เปนข้อบัญญัติสาหรับข้าราชการต่อไป จงทุกข้อทุกประการ จึ่งได้โปรดเกล้าฯให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ สมันตพงส์พิสุทธิ์มหาบุรุศย์รัตรโรดม ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งเปนข้อพระราชบัญญัติไว้สำหรับแผ่นดินต่อไป ดังนี้

ข้อ ๑ ว่าพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระที่นั่ง ฤาที่เสด็จออกแห่งใดๆก็ดี เมื่อเดินเข้าไปถึงน่าพระที่นั่งแล้ว ให้ก้มศีสะ ถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วยืนให้เรียบร้อยเปนปรกติ ห้ามมิให้เดินไปเดินมาแลยืนหันหน้าหันหลังในเวลาที่เสด็จออก แลมิให้ยืนเอามือไพล่หลัง แลท้าวเอว แลเอามือไพล่หลังไปท้าวผนังแลเสา ฤาที่ต่างๆ แลสูบบุหรี่หัวเราะพูดกันเสียงดังต่อน่าพระที่นั่ง ให้ยืนเรียบร้อยเปนลำดับ ตามบันดาศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย

ถ้ามีกิจราชการที่จะต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้ว ให้เดินออกมาจากที่เฝ้า ยืนตรงน่าพระที่นั่งก้มศีสะถวายคำนับ แล้วจึ่งกราบบังคมทูลพระกรุณา เมื่อสิ้นข้อความที่กราบบังคมทูลพระกรุณาให้ก้มศีสะลงถวายคำนับ จึ่งให้เดินถอยหลังมาที่ยืนเฝ้าอยู่ตามเดิม ถ้าจะถวา่่ยหนังสือ ฤาสิ่งของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต่อพระหัถ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ให้ถือสองมือเดินตรงเข้าไป ถึีงหน้าพระที่นั่งพอสมควร ก้มศีสะลงถวายคำนับก่อน จึ่งถวายของนั้นต่อพระหัถ ถ้าถวายของนั้นเสร็จแล้วให้เดินถอยหลัง ถ้าเปนที่ใกล้ให้ถอยหลัง ๓ ก้าว ฤา ๕ ก้าวพอสมควร ถ้าเปนที่ไกลให้ถอยหลังออกมา ๗ ก้าว จึ่งกลับหน้าเดินไปยืนตามที่

ถ้ามีพระบรมราชโองการดำรัสด้วยผู้หนึ่งผู้ใดที่ยืนอยู่ในที่เฝ้านั้น ก็ให้ผู้นั้นยืนคงอยู่ตามที่ก้มศีสะถวายคำนับแล้ว จึ่งรับพระบรมราชโองการ เมื่อรับพระบรมราชโองการกราบบังคมทูลสิ้นข้อความแล้ว ก็ให้ก้มศีสะคำนับ

อนึ่งพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงที่ได้เข้ามายืนเฝ้าในเวลาที่เสด็จอยู่อยู่นั้น ถ้ามีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานเก้าอี้ ให้นั่งจึ่งนั่งได้ ห้ามมิให้นั่งลงกับพื้นแลนั่งบนเก้าอี้ ฤานั่งที่แห่งใดๆตามชอบใจ ในเวลาที่เสด็จออกต่อน่าพระที่นั่ง แลผู้ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้นั่งเก้าอี้เฝ้าอยู่นั้น นั่งให้เปนปรกติ ห้ามมิให้ยกเท้าขึ้นภับบนเก้าอี้ แลไขว่ห้างเหยียดท้าวตะแคงตัว ทำกิริยาหาความสบายให้เกินกิริยาที่นั่งเปนปรกติเปนอันขาด

เมื่อเวลาเสด็จขึ้นก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับให้พร้อมกัน แต่แขกเมืองประเทศราช เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ให้ทำกิริยาคารวะตามเพศบ้านเมืองของตนก่อน เมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้ยืนจึ่งยืนได้

ข้อ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิรออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ก็ดี ข้าราชการแลมหาดเล็ก ซึ่งเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทอยู่ในที่นั้น ถึงเสด็จออกประทับอยู่ชั่วหลายชั่วโมง ก็ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้น นั่งลงในที่แห่งใดๆ เป็นอันขาด เว้นแต่เปนที่กำบัง ลับพระเนตรสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึ่งนั่งได้ แลในเวลาที่เสด็จออกทรงประทัีบอยู่ ณ ที่แห่งใดๆ นั้น ข้าราชการแลมหาดเล็ก ยืนเฝ้าอยู่ในที่โดยลำดับแล้ว ผู้ซึ่งจะเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทภายหลัง ที่มิให้มีีราชการที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณา ห้ามมิให้เดินผ่านหน้าพระที่นั่ง แลผ่านหน้าข้าราชการที่ยืนเฝ้าอยู่ก่อนนั้นให้เดินหลีกเลี่ยงเข้ายืนตามตำแหน่งของตนที่ควรจะยืน เว้นไว้แต่ผู้ที่รับพระบรมราชโองการ จึ่งเดินผ่านหน้าเพื่อนข้าราชการไปมาได้

ข้อ ๓ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระราชดำเนิร ไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง ที่จะมาคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรก็ดี จะทรงช้างทรงม้าทรงรถ ฤาจะทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี เมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงหน้าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรอยู่นั้น ให้คนเหล่านั้นก้มศีสะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่งมิให้ยืนดูกระบวนเสด็จพระราชดำเนิรบนชานเรือน บนน่าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรจะนั่งจะยืน

ถ้าทรงม้าทรงรถ ไม่มีกระบวนตามเสด็จพระราชดำเนิร ผู้ซึ่งอยู่บนเรือนแลบนที่สูง ไม่ทันรู้ว่าเสด็จพระราชดำเนิร แต่พอแลเหนว่าเปนรถพระที่นั่ง ฤาม้าพระที่นั่ง ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับ

ห้ามมิให้นั่ง มิให้หมอบเปนอันขาด

แลในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนิรทรงช้าง ทรงม้า ทรงรถ ฤาทรงพระที่นั่งอย่างหนึ่งอย่างใด มาในทางสถลมารค ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดไปบนหลังม้า ฤา่าไปบนรถ พบปะกระบวนเสด็จพระราชดำเนิร ก็ให้หยุดม้าหยุดรถริมทาง ถ้าเสด็จพระราชดำเนิรมาถึงตรงหน้าแล้วให้ถอดหมวกก้มศีสะถวายคำนับอยู่บนรถ บนหลังม้า ไม่ต้องลงจากรถจากหลังม้า ต่อเสด็จพระราชดำเนิรไปสิ้นกระบวนแล้ว จึงให้ออกรถเดิน เดินม้าต่อไป

ถ้าเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง ที่อยู่แพอยู่เรือนริมน้ำ ให้ยืนก้มศีสะถวายคำนับจงทุกคน ถ้ามาด้วยเรือพบกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ถ้าเรือเล็กยืนไม่ได้ ก็ให้ถอดหมวกก้มศีสะ ถวายคำนับในเรือ ไม่ต้องยืน

ถ้าเป็นเรือใหญ่ ควรจะยืนได้ ก็ให้ยืนขึ้นถวายคำนับตามธรรมเนียม

ข้อ ๔ ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง แลจะออกจากพระบรมมหาราชวัง ฤาจะไปกิจธุระแห่งหนึ่งแห่งใดก็ดี ถ้าพบท่านผู้มีบันดาศักดิ์ที่เคยคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ธรรมเนียมที่ยืน เหมือนกับนั่งเหมือนกับหมอบ ธรรมเนียมที่เปิดหมวกก้มศีสะ เหมือนอย่างกราบไหว้อย่างแต่ก่อนนั้น

ถ้าผู้หญิงจะไปในที่เฝ้า แลพบท่านผู้ใหญ่ ไม่ต้องเปิดหมวก เปนแต่ก้มศีสะลงคำนับ เมื่อกระทำคำนับแล้ว หมวกนั้นจะเปิดก็ได้ ไม่เปิดก็ได้

แลผู้คนข้าทาษที่ใช้การงานอยู่ในบ้านเรือนนั้น ก็อย่าให้ท่านผู้ที่เปนเจ้าเปนนายบังคับให้ข้าทาษหมอบคลาน ให้บังคับให้ข้าทาษใช้ยืนใช้เดินตามพระราชบัญญัติซึ่งพระกรุณาโปรดให้ตั้งไว้นี้

ให้พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ฝ่ายน่าฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวังบวร ให้กระทำตามพระราชบัญญัติประกาศนี้ จงทุกประการ

ประกาศมา ณ วัน อาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกา เบญจศก ศักราช ๑๒๓๕

ที่มา : ประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) , หลวง , ประชุมกฎหมายไทย ภาคเพิ่มเติม (พระนคร ; โรงพิมพ์นิติสาส์น , พิมพ์ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๕) หน้า๑๑-๑๕.