วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย
2475-2490

ณัฐพล ใจจริง  อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

บทความนี้ได้ปรับปรุงจากคำอภิปรายในงานอภิปรายวิชาการเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย”เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2553 ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2554), หน้า 117-137

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว “อำนาจสูงสุดของประเทศนนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ( มาตรา 1 ในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม(ชั่วคราว) 2475 )

การศึกษาการเมืองไทยตามแนวสถาบันการเมืองแบบดั้งเดิม (Old-Institutionalism) ในทางรัฐศาสตร์ที่พิจารณาสถาบันการเมืองแต่เพียงกลไกที่มีบทบาทและหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมาย (Legal-Institutional) เท่านั้น ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่า สถาบันการเมืองที่ดำรงอยู่ตามกฎหมายเหล่านี้เป็นองค์กรการเมืองที่ปราศจากชีวิตจิตใจ ปราศจากความมุ่งหมายและปราศจากพฤติกรรมทางการเมือง วิธีการศึกษาดังกล่าวทำให้ความรู้การเมืองที่ได้มีลักษณะเชิงพรรณนาลักษณะทั่วๆไปของสถาบันการเมืองในทางกฎหมายส่งผลให้แนวการศึกษานี้ได้รับความนิยมลดน้อยลงในเวลาต่อมา อีกทั้งเมื่อการศึกษารัฐศาสตร์แบบอเมริกันหรือแนวพฤติกรรมศาสตร์ (Behaviouralism) เข้ายึดครองแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ในไทยตั้งแต่ทศวรรษที่ 2510 ยิ่งทำให้แนวการศึกษาแนวสถาบันการเมืองในไทยแทบไม่เหลือที่ยืนในทางวิชาการ ( นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “วิชารัฐศาสตร์ไทยในบริบทของประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง,” รัฐศาสตร์สาร ปี 21, ฉบับ 1 (2542): 23-75. )

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของแนวการศึกษาตามแนวสถาบันการเมืองได้กลับคืนสู่พื้นที่วิชาการ (bringing Institutions back in) ทางรัฐศาสตร์มากขึ้นในปัจจุบัน และถูกเรียกว่าสถาบันนิยมใหม่ (Neo-Institutionalism) ซึ่งเป็นแนวการศึกษาสถาบันการเมืองที่ผสมผสานระหว่างการเมือง ประวัติศาสตร์และกฎหมายมหาชน ด้วยวิธีวิทยาในเชิงประจักษ์ตามวิธีการคิดแบบอุปนัยนำไปสู่การศึกษาสถาบันการเมืองในเชิงประวัติศาสตร์ ( Historical Institutionalism) กล่าวอีกอย่าง คือ สถาบันนิยมใหม่หาได้มองว่าสถาบันการเมืองเป็นเพียงกลไกที่ปราศจากชีวิตจิตใจ และดำรงอยู่ตามกฎหมายเท่านั้น แต่จะพิจารณาความมีชีวิตของ สถาบันการเมือง ความเป็นประวัติศาสตร์ โดยมุ่งพินิจถึงปฏิบัติการ กระบวนการทางการเมือง การปรับตัว การตัดสินใจ และพฤติกรรมการเมืองของสถาบันการเมืองว่าก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสถาบันการเมืองและมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง (regime) อย่างไร

แนวการศึกษาสถาบันนิยมใหม่จึงพยายามมุ่งสู่การอธิบายความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลมากกว่ามุ่งการพรรณนาตามแนวทางแบบดั้งเดิม ดังนั้น แนวการศึกษาใหม่จึงเปิดให้เห็นถึงบทบาทและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆว่ามีผลกระทบต่อระบอบการเมืองอย่างไร ด้วยเหตุที่มีการปรับเปลี่ยนเป้ าหมายในทางวิชาการให้ยกระดับขึ้น ทำให้การศึกษาสถาบันการเมืองที่เคยแห้งแล้งไร้ชีวิตชีวาในทางรัฐศาสตร์จึงค่อยๆฟื้นตัวกลับมายืนแถวหน้าเคียงข้างกับแนวการศึกษาอื่นๆอีกครั้งหนึ่ง ( James G. March and Johan P. Olsen , “The New Institutionalism: Organization Factors in Political Life,” American Political Science Review, Vol.78 (1984), pp.734-749.; James G. March and Johan P. Olsen ,Rediscovering Institution: The Organizational Basic of Politics, (New York: The Free Press, 1989).; สมเกียรติ วันทะนะ, “ปัญหาและอนาคต ของการศึกษาการเมืองในแนวสถาบันทางการเมือง”, รัฐศาสตร์สาร, ปี 17 ฉบับ 1 (2534), หน้า 71-89.;T. A. Koelble, “The New Institutionalism in Political Science and Sociology,” Comparative Politics, Vol.27, (1995),pp. 221-244.; P. Hall and R. Taylor , “A Political science and the three new institutionalism, ” Political Studies Vol. 44, (1996), pp. 936-957.; B. Rothstein, “Political Institutions: An Overview,” in A New Handbook of Political Science. H. D. K. R.E. Goodin (ed.). (Oxford, Oxford University Press, 1996) , pp.133-166.; Kathleen Thelen , “How Institutions Evolve,” in Comparative Historical Analysis in the Social Sciences, James Mahoney and Dietrich Rueschemeyer (eds.),(Cambridge: Cambridge University Press, 2003), pp.208- 240. )

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจวรรณกรรมที่ศึกษาการเมืองไทยสมัยใหม่ตามแนวสถาบันการเมืองพบว่า มีการศึกษาไม่มากชิ้นนัก เช่น งานของ ชาญชัย รัตนวิบูลย์ เบนจามิน เอ. บัทสัน และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นต้น  ( ชาญชัย รัตนวิบูลย์, “บทบาทอภิรัฐมนตรีสภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” , วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2519.; Benjamin A. Batson, The End of the Absolute Monarchy in Siam. Singapore: Oxford University Press, 1984. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ.2475. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน , 2553. )

กระนั้นก็ดี การศึกษาของนักวิชาการข้างต้นให้น้ำหนักในการศึกษาสถาบันการเมืองในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นสำคัญ ในขณะที่การศึกษาสถาบันการเมืองในช่วงระบอบประชาธิปไตยยังคงขาดหายไปในทางวิชาการ

ด้วยเหตุนี้คำถามในการศึกษาครั้งนี้คือ สถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันการเมืองมีปฏิกริยาตอบโต้กับสถานการณ์ทางการเมืองและสถาบันการเมืองอื่นๆหลังการปฏิวัติ 2475 อย่างไรและการปฏิกิริยาดังกล่าวก่อให้เกิดผลอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยไทย โดยบทความชิ้นนี้แบ่งเนื้อหาได้อออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนแรกเป็นเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติ 2475 และส่วนที่สองเป็นเรื่อง จากระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สู่“ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ภายหลังการรัฐประหาร 2490

ขอบเขตของบทความ คือ การศึกษาความเป็นมาของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ หรือคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล และรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทยในช่วงเวลาระหว่าง 2475-2490 โดยแบ่งช่วงเวลาในการศึกษาออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ ดังนี้ช่วงแรกระหว่าง 2475-2478 เป็นเวลากว่า 3 ปี ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และช่วงที่สองระหว่าง 2479 - 2489 เป็นเวลาราว 11 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยบทความชิ้น นี้จึงวางอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับ ดังนี้ฉบับ 27 มิถุนายน 2475 , ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ,ฉบับ 2489 ,ฉบับ 2490 ,ฉบับ 2492 และฉบับ 2475 แก้ไข 2495

โดยแนวทางในการดำเนินเรื่องจะเลาะเลียบเทียบเคียงกับเทพปกรณัมกรีก เรื่อง “กล่องแพนโดร่า” (Pandora’s Box) ตำนานเรื่องกล่าวถูกรจนาขึ้นในยุคกรีกโบราณ โดยกวีชื่อ เฮสิออด (Hesiod) ได้รจนาว่า เมื่อโลกถูกสร้างขึ้น โลกในยุคดึกดำบรรพ์นั้น ดารดาษไปด้วยมนุษย์เพศชาย ความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของมนุษย์สร้างความสงสารให้เกิดกับ เทพโพรมิธีอุส (Prometheus) ทำให้เทพโพรมิธีอุสได้ขโมยไฟจากจากเตาของภูเขาโอลิมปัส (Olympus) ซึ่งเป็นสรวงสวรรค์เพื่อนำมาให้มนุษย์ยังพื้นโลก ไฟทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความกล้าหาญและเริ่มแข็งข้อต่อปวงเทวา มหาเทพซีอุส (Zeus) ผู้เป็นใหญ่เหนือปวงเทพไม่พอใจต่อการกระด้างกระเดื่องของมนุษย์ จึงทรงสร้างนางแพนโดรา (Pandora) ขึ้นพร้อมกับมอบกล่องใบหนึ่ง แก่นาง และทรงกำชับห้ามมิให้นางเปิดกล่องใบดังกล่าว จากนั้นก็ส่งนางลงไปยังโลกมนุษย์ต่อมานางแพนโดราได้แต่งงานกับมนุษย์เพศชายแตกลูกหลานหญิงชายสืบต่อกันมาเป็นเผ่าพันธ์ุของมนุษย์

ความกระหายใคร่รู้ถึงกล่องปริศนาที่มหาเทพทรงประทานแก่นางแพนโดรานับวันยิ่งทวีมากขึ้น ในที่สุดความเคลือบแคลงสงสัยของนางแพนโดราก็เป็นฝ่ายชนะ ทันทีที่สลักชิ้นสุดท้ายถูกปลดออกจากฝากล่อง กลุ่มควันสีดำก็พวยพุ่งออกมาพร้อมกับนำพาความชั่วร้ายต่างๆนาๆก็พวยพุ่งออกมาจากกล่องสู่โลกมนุษย์ นางตกใจรีบปิดกล่องได้ทันและเก็บสิ่งเดียวที่มีคุณค่าเอาไว้ในก้นกล่องได้ ตามตำนานเล่าว่า สิ่ง นั้นคือ ความหวัง

และนิทาน เรื่อง “แจ็คกับยักษ์” ( Jack and the Bean-Stalk) จากหนังสือชื่อ English Fairy Tales เป็นเทพนิยาย ที่เล่าขานกันในอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ประกอบการดำเนินเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีแม่และลูกครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่อย่างยากจนในกระท่อมของหมู่บ้านแห่งหนึ่งวันหนึ่งแม่ให้ลูกชายชื่อ แจ็ค จูงวัวไปขายที่ตลาดเพื่อหาเงินมายังชีวิต ในขณะที่แจ็คเดินจูงวัวเข้าในเมือง ระหว่างทางเขาพบชายแก่คนหนึ่ง ชายแก่คนนั้นมีเมล็ดถั่วหลากสีอยู่ในมือ แจ็คจึงขอแลกวัวกับเมล็ดถั่วเหล่านั้น เมื่อแจ็คกลับถึงบ้าน แม่โกรธมากที่แจ็คแลกวัวกับเมล็ดถั่ว แม่จึงขว้างถั่วออกไปนอกหน้าต่างกระท่อม 

พอรุ่งเช้า เมล็ดถั่วเหล่านั้นกลายเป็นต้นถั่วขนาดใหญ่ที่สูงเสียดฟ้า ด้วยความอยากรู้แจ็คจึงปีนลำต้นถั่วขึ้นไปบนท้องฟ้า ที่นั่นเขาพบปราสาทที่หรูหราวิจิตรอลังการของยักษ์ตนหนึ่งแจ็คได้พบคนรับใช้ของยักษ์ และเขาเข้าไปหลบอยู่ใต้โต๊ะอาหารของยักษ์ภายในปราสาท เมื่อยักษ์กินอาหารเสร็จ ก็สั่งให้คนรับใช้นำของมีค่าออกมาชม เช่น แม่ไก่ทองที่ออกไข่เป็นทอง ถุงทองที่มีทองไหลมาไม่หมดสิ้น พิณวิเศษที่ดีดเป็นบทเพลงได้เอง เป็นต้น ยักษ์นั่งดูสมบัติเหล่านั้นอย่างอิ่มเอมใจ ดื่มเหล้าจนหมดขวด และหลับไปในที่สุด คนรับใช้บอกให้แจ็คหนี และบอกกับแจ็คว่า เอาของมีค่าเหล่านี้กลับไปด้วย เนื่องจาก มนุษย์เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นมาแต่ดั้งเดิม แต่ยักษ์ได้ขโมยของมีค่าเหล่านี้มา แจ็คจึงคว้าสิ่งเหล่านั้นใส่ถุงและปืนต้นถั่วกลับลงไปยังพื้นดิน 

เมื่อเสียงพิณหยุดทำให้ยักษ์ตื่น เมื่อยักษ์เห็นของมีค่าที่ตนขโมยมาหายไปจากโต๊ะ ยักษ์ก็ออกวิ่งตามแจ็คไปเพื่อฆ่าแจ็ค ด้วยความตัวเล็กและปราดปรียวกว่าแจ็คจึงปีนลงมาถึงพื้นดินก่อนยักษ์ จากนั้นเขาใช้ขวานฟันต้นถั่ว ครั้งแล้ว ครั้งเล่า ในที่สุดต้นถั่วก็ถูกโค่นลงทำให้ยักษ์ร่วงหล่นตกลงจากฟากฟ้าและเมื่อยักษ์ตาย ของมีค่าจึงกลับคืนสู่มนุษย์อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนที่ 1
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
ที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญภายหลังการปฏิวัติ 2475

การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในรัชสมัยพระปกเกล้าฯ (2475-2478)

การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งนำโดยคณะราษฎรนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ได้ปรากฏข้อความซึ่งมีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ตามหลักปกครองของระบอบประชาธิปไตยสากลที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งเป็นข้อความที่ยืนยันอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแทนความเชื่อเดิมที่ว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์ แต่ไม่นานจากนั้นสาระสำคัญของข้อความดังกล่าวได้ถูกทำให้เกลื่อนกลืนไปด้วยแรงปรารถนาของเหล่า“ปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475” ( “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475” ในช่วงเวลานั้นหมายถึง “สถาบันกษัตริย์และ ‘กลุ่มรอยัลลิสต์ ’ ” โดยคำว่า สถาบันกษัตริย์ หมายถึง บุคคลต่างๆที่อยู่ภายในแวดวงราชสำนัก (Palace circles) เช่น ผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ คณะผู้สำเร็จราชการฯ หรือ อภิรัฐมนตรี หรือ คณะองคมนตรี หรือ พระราชวงศ์ ฯลฯ ส่วนคำว่า กลุ่มรอยัลลิสต์ ในที่นี้หมายถึง นักการเมือง หรือ ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือน ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความภักดีต่อราชสำนักและไม่พอใจกับการปฏิวัติเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยและโปรดดูปฏิบัติการรื้อ - สร้างความหมายของการปฏิวัติ 2475 โดยเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติใน ณัฐพล ใจจริง, “การรื้อสร้าง 2475: ฝันจริงของนักอุดมคติ ‘นํ้าเงินแท้’”. ศิลปวัฒนธรรม ปี 27,ฉบับ 2 (ธันวาคม 2548), หน้า 79-117. )

แม้ รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุด หรือฉบับคณะราษฎรที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 จะพยายามแก้ปัญหาความคลางแคลงใจของผู้ปกครองเก่าจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ด้วยการบัญญัติว่า
 
“มาตรา ๔ ผู้เป็นกษัตริย์ของประเทศ คือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การสืบมฤดกให้ให้เป็นไปตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา ๕ ถ้ากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิแทน

มาตรา ๖ กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย

มาตรา ๗ การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นเป็นโมฆะ”

กล่าวโดยสรุป คือ สาระสำคัญที่เกี่ยวกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกสุด ได้ประกาศว่า นับแต่นี้ไปอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ดังนั้นสถาบันกษัตริย์จะดำเนินพฤติกรรมการเมืองโดยพละการไม่ได้ หากสถาบันกษัตริย์ทำหน้าที่ไม่ได้คณะรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้สิทธินั้นแทน และหากสถาบันกษัตริย์มีพฤติกรรมกระทำความผิดย่อมต้องถูกสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย

ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 และรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน 2475 ได้จำกัดอำนาจการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไว้เสียแล้ว กล่าวอีกอย่างหมายความว่า ข้อความเหล่านั้นเปรียบประหนึ่งการจับ“ยักษ์” หรืออำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ใส่กล่องหรือการจำกัดพฤติกรรมการใช้อำนาจการเมืองของสถาบันกษัตริย์นั้นเอง ดังนั้นสิ่งที่ตั้งคำถามต่อไป คือ สถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสถานการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติ จากสถานการณ์หลังการปฏิวัติในช่วงต้นๆนั้น แม้พระปกเกล้าฯจะทรงวางพระราชหฤทัยว่า พระองค์ทรงยังคงเป็นกษัตริย์อยู่เช่นเดิม แต่อำนาจการเมืองที่เคยเต็มเปี่ยมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกจำกัดเปรียบประหนึ่งยักษ์ไม่มีตะบอง นักการทูตร่วมสมัยผู้หนึ่งบันทึกได้บันทึกว่า พระองค์ทรงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุดนี้ และทรงตัดสินใจทำให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลายเป็นสิ่ง“ชั่วคราว” ( ยาสุกิจิ ยาตาเบ (เขียน) เออิจิ มูราซิมาและนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (แปล) บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 : การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม , (กรุงเทพฯ : มติชน , 2550).

จากนั้นเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ก็ได้เริ่มต้นการต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ปกครองโดยประชาชน ของประชาชนและเพื่อประชาชน

ความล้มเหลวในการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์รัชสมัยพระปกเกล้าฯ

นับตั้งแต่ การปฏิวัติ 2475 ที่มุ่งสถาปนารัฐประชาชาติ (Nation State) หรือ รัฐที่หมายถึง ประชาชนที่มีความเท่าเทียมกันทั้งหมดประกอบกันขึ้นมาเป็นรัฐ และการสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ตลอดจน สร้างความเสมอภาคทางการเมืองให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยด้วยการทำให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจการเมืองจำกัดหรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด” ( Limited Monarchy) เพื่อมิให้สถาบันกษัตริย์มีพฤติกรรมใช้อำนาจการเมืองได้ดังเดิมอีก จากนั้นคณะราษฎรผู้นำการปฏิวัติ 2475 ได้ถ่ายโอนอำนาจในการปกครองที่เคยอยู่กับสถาบันกษัตริย์กลับคืนสู่ประชาชน ด้วยการบัญญัติในมาตราที่ 1 ของพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นสยาม 2475 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” 

แต่ความพยายามในการจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์และการสร้างล่าความเสมอภาคให้กับพลเมืองกลับถูกต่อต้านจากเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 อย่างรุนแรงเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจการเมืองไทยใหม่ แต่ความพยายามของพวกเขาในช่วงแรกไม่ประสบความสำเร็จหลายครั้ง เช่น การต่อต้านโครงการเศรษฐกิจที่ต้องการความเสมอภาคทางเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ (2476) การรัฐประหารเงียบด้วยการออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภาผู้แทนราษฎร (2476) การพยายามลอบสังหารผู้นำคณะราษฎร (2476) และความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช (2476)  (คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ , (พระนคร :กรมโฆษณาการ , 2482), ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ, (กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา,2543) และณัฐพล ใจจริง, “ ควํ่าปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร : การก่อตัวของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ฟ้าเดียวกัน ปี 6, ฉบับ1 (ม.ค.-มี.ค. 2551), หน้า 104-146. )

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2476 ซึ่งเป็นปีที่พระปกเกล้าฯทรงพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในการกอบกู้สถานการณ์ทางการเมืองหลังการปฏิวัติ 2475 ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายพระองค์ อาจทำให้ทรงสามารถประเมินสถานการณ์ทางการเมืองได้ถึงสัญญาณที่ไม่เป็นคุณ จึงทรงต้องการเดินทางออกนอกประเทศ ต่อมา สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบการในการแต่งตั้งให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านริศรานุวัติวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นพระองค์แรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย โดยสภาผู้แทนฯกำหนดให้ผู้สำเร็จราชการฯปฏิบัติหน้าที่ในวันที่พระปกเกล้าฯเดินทางออกจากไทยหรือวันที่ 12 มกราคม 2477  (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), (กรุงเทพฯ: ช.ชุมนุมช่าง ,2517), หน้า 127. )

ทั้งนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หมายถึง ผู้บริหารราชการแผ่นดินในพระปรมาภิไธยหรือพระนามาภิไธยพระมหากษัตริย์


ธงประจำตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำหนดให้มีขึ้นครั้งแรกในพระราชบัญญัติธง 2479 สำหรับใช้เป็นเกียรติยศของผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ธงนี้มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นธงสีขาว ตรงกลางของผืนธงมีอาร์มสีเหลือง กว้าง 1 ใน 3 ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในอาร์มสีเหลืองมีอาร์มสีธงชาติกว้าง 3 ใน 5 ส่วนของความกว้างของอาร์มสีเหลือง เหนืออาร์มมีครุฑพ่าห์สีแดงขนาดเท่าอาร์มสีเหลือง

เนื่องจากขณะนั้นพระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะก็ดี ทรงพระประชวรก็ดี ทรงไม่อาจบริหารพระราชกิจได้ก็ดี หรือไม่ทรงอยู่ในประเทศก็ดี รัฐธรรมนูญในขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 อนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าวได้ว่า “มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้นและในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว”

ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ

เมื่อสภาผู้แทนฯได้แต่งตั้งสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ เนื่องจากพระปกเกล้าฯทรงเสด็จเดินทางออกนอกประเทศภายหลังทรงพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลว่า ทรงต้องการรักษาอาการพระประชวรที่พระเนตร แต่สถานการณ์ดังกล่าวมิได้หมายความความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจะมีความราบรื่น

ดังจะเห็นได้จากในระหว่างนั้นแม้พระปกเกล้าฯจะมิได้ทรงประทับอยู่ในไทยก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า จะทรงยินยอมร่วมมือ หรือเห็นชอบกับรัฐบาลของรัฐประชาชาติที่รัฐบาลต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งตกค้างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและสร้างความเป็นสมัยใหม่และความเสมอภาคให้กับพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย เช่น การที่รัฐบาลพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ แต่ทรงไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติ หลายฉบับที่ลิดรอนอำนาจความเป็นเจ้าชีวิต และพระราชทรัพย์ไปจากพระองค์ เช่น รัฐบาลต้องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาที่เคยกำหนดโทษประหารชีวิตนักโทษด้วยการฟันคอเป็นการยิงเสียให้ตาย แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าวของรัฐบาล แต่ทรงต้องการเป็นที่ผู้วินิจฉัยเหนือคำพิพากษาของศาลในการปลิดชีวิตนักโทษเพื่อรักษาสถานะของความเป็นเจ้าชีวิตไว้ ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว , หน้า156-157 )

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการเปลี่ยนจาก “คนของกษัตริย์” ไปเป็นคนในรัฐ โดยรัฐบาลของรัฐประชาชาติตลอดจน เมื่อรัฐบาลได้พยายามผลักดันพระราชบัญญัติอากรมรดก แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากพระองค์อย่างมาก เป็นต้น

เมื่อความความขัดแย้งระหว่างพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์เก่าในระบอบใหม่กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติดำเนินต่อไป พระองค์ได้ทรงยื่นข้อเรียกร้องที่มีมากขึ้นตามลำดับ และข้อเรียกร้องหลายข้อพระองค์ทรงโจมตีรัฐบาลว่า รัฐบาลเป็นเผด็จการทั้งที่แนวคิดเบื้องแรกในการมีสมาชิกสภาผู้แทนฯประเภท 2 ที่มาจากการแต่งตั้งด้วยพระองค์เองตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มาจากพระราชดำริของพระองค์ที่ต้องการควบคุมทิศทางการเมือง แต่เมื่อทรงพ่ายแพ้ในเวลาต่อมานั้นปรากฏว่า พระองค์ทรงกลับปฏิเสธความรับผิดจากแนวพระราชดำริ แต่ทรงกล่าวโทษรัฐบาลว่าแนวคิดการแต่งตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนฯเป็นของรัฐบาลเนื่องจากรัฐบาลต้องการรวบอำนาจการเมือง ( “คำแถลงประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม” , รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34 / 2475 (วิสามัญ) วันพุธ ที่ 16 พฤศจิกายน 2475 , รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 พ.ศ.2475 , (พระนคร : อักษรนิติ,2475 ), หน้า 359-360. และ“คำแถลงการณ์ของอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ” , สยามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับถาวร พร้อมด้วยคำแถลงการณ์ของอนุกรรมการ.(พระนคร : หลักเมือง ,2475 ), หน้า 2 , “ (สำเนา) พระราชบันทึก ข้อแก้ไขต่างๆเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร 26 ธันวาคม 2477”, ,แถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ ,(พระนคร: ศรีกรุง,2478 ) ,หน้า 89-90. )

ในขณะที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมาชิกคณะราษฎรคนสำคัญ และนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ได้แถลงเปิดเผยต่อสภาผู้แทนฯถึงเบื้องหลังการครอบงำการร่างรัฐธรรมนูญของเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติว่า“ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ [10 ธันวาคม 2475] ร่างขึ้นในอิทธิพลของพระมหากษัตริย์และพระยามโนฯ ส่วนพวกเราคณะราษฎรนั้น นานๆพระยามโนฯ [พระยามโน ปกรณ์นิติธาดา] ก็เรียกประชุมถามความเห็น หรือแจ้งพระประสงค์ของพระปกเกล้าฯให้ฟังบางคราวในที่ประชุมนั้น ถ้าเราไม่ยอมตามก็ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่และเราก็ต้องยอม”
 
นอกจากนี้เขายังแถลงยืนยันต่อสภาผู้แทนฯอีกว่า ความต้องการให้คงสมาชิกสภาผู้แทนฯที่มาจากแต่งตั้งด้วยอำนาจของสถาบันกษัตริย์นานถึง 10 ปี แทนที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนฯทั้งหมดมาจากเลือกตั้งโดยเร็วนั้นเป็นพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ หาใช่ความต้องการจากคณะราษฎรแต่อย่างใด ( “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ.2483 ”, ใน กรมโฆษณาการ,ประมวลคำปราศรัยและสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี ,(พระนคร : พานิชศุภผล ,2483), หน้า 148-149. )

เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ร่าง 10 ธันวาคม 2475 นั้นเกือบทั้งหมดเป็นนักกฎหมายที่เป็นพวกรอยัลลิสต์ มีเพียงนายปรีดี พนมยงค์คนเดียวที่เป็นตัวแทนคณะราษฎร ( “รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475 วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475” ,รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 1 พ.ศ.2475,( พระนคร : อักษรนิติ,2475 ), หน้า 13-14. คณะกรรมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา พระยาเทพวิทูรฯ พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาล พระยาปรีดานฤเบศร์ หลวงสินาดโยธารักษ์ พระยาศรีวิสารวาจา พลเรือโทพระยาราชวังสัน และนายปรีดี พนมยงค์ )

ดังที่ได้กล่าวถึง ขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ที่สถาบันกษัตริย์ขณะนั้นทรงให้การสนับสนุนข้างต้นแล้ว รวมทั้งข้อเรียกร้องของพระปกเกล้าฯข้างต้นเป็นข้อเรียกร้องที่ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ พระองค์ทรงละเมิดรัฐธรรมนูญ ด้วยทรงกระทำการด้วยพระองค์เองเสมือนหนึ่งมีอำนาจเหนือกฎหมายตามระบอบเก่าที่ผ่านพ้นไป ดุจดังคำแถลงพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีจากคณะราษฎรต่อสภาผู้แทนฯ ที่สรุปข้อเรียกร้องของพระองค์ก่อนทรงสละราชว่า ข้อเรียกร้องต่างๆที่พระองค์ทรงยื่นเสนอมาต่อรัฐบาลและสภาผู้แทนฯนั้น “ขัดต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ” ( แถลงการณ์ เรื่อง สละราชสมบัติ , หน้า 177.)

สุดท้ายแล้ว พระปกเกล้าได้ทรงสละราชสมบัติในต้นเดือน มีนาคม 2477 แล้วย่อมหมายถึง สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯได้สิ้นสุดลงด้วย เช่นกัน โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามให้สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ทรงปฏิเสธด้วยเหตุชรา (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว , หน้า 181. )

เมื่อความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์จากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช กับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติจบสิ้นลง รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯ ซึ่งเป็นองค์กรผู้ถืออำนาจอธิปไตยแทนประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยให้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว, หน้า 189. )

ดังนั้นหากจะกล่าวสรุปถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับรัฐบาลและรัฐสภาที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ สถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยพยายามจำกัดอำนาจการเมืองของสถาบันกษัตริย์ หรือการพยายามจับ “ยักษ์” ใส่กล่องให้มีพฤติกรรมการเมืองตามคัลลองภายใต้รัฐธรรมนูญนั่นเอง

การปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล(2478-2489)

เมื่อพระปกเกล้าฯ กษัตริย์ที่ทรงมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช สละราชสมบัติในระบอบประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลและสภาผู้แทนฯแห่งรัฐประชาชาติได้พิจารณาทูลเชิญพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยังทรงพระเยาว์ ไม่สามารถปฏิบัติพระราชภารกิจได้ สภาผู้แทนฯจึงได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯขึ้น ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว, หน้า 184. )

ประกอบด้วย 1.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( พันเอก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ (2 ธันวาคม 2426 – 13 สิงหาคม 2478) พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนรัศมี ผู้ทรงเป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ ทรงเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบตามให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 8 แต่เนื่องจากขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา และกำลังศึกษาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 สภาผู้แทนฯ มีอำนาจแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จำนวน 3 คน คือพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ทรงปลงพระชนม์พระองค์เองเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478 )

2.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา 
( พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ( 24 กรกฎาคม 2447 - สิ้นพระชนม์ 19พฤษภาคม 2489) ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระองค์ทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ร่วมกับพระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าออศคาร์นุทิศ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) และทรงลาออกเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 โดยในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา )

3.เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากที่สภาผู้แทนฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะสำเร็จราชการฯ ขึ้นแล้ว ผู้สำเร็จราชการฯได้เข้าปฏิญานตนต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 24 มีนาคม 2477 ว่า 

“… ข้าพเจ้าได้รับมติเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรนี้ รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศอันสูงและสำคัญมาก ข้าพเจ้าจะได้ตั้งใจเพียรพยายามที่จะปฏิบัติราชการในหน้าที่นี้ จนสุดกำลังและสติปัญญาที่สามารถจะพึงกระทำได้ ให้ถูกต้องตามระบอบรัฐธรรมนูญจงทุกประการ เพื่อยังความเจริญมั่นคงแก่ประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญสืบไป”

ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว บทบาทของสถาบันกษัตริย์ผ่านคณะผู้สำเร็จราชการฯในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯกับรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติดำเนินไปได้ด้วยดี แม้ว่ารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ก็ได้ทรงยอมลงพระนามประกาศใช้กฎหมายนี้ซึ่งหมายความคณะผู้สำเร็จฯ ยินยอมให้รัฐบาลทรงสิทธิในการเข้ามาสำรวจและจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ของรัฐประชาติได้ ( สุพจน์ แจ้งเร็ว. “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”. ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน 2545 ), หน้า 63-80. )

แต่การที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ตัดสินใจให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้นั้น ทำให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ได้รับการกดดันจากพระราชวงศ์ชั้นสูงมากจนทำให้ทรงปลงพระชนม์ตนเอง ( พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ทรงปลงพระชนม์ตนเองเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2478 และควรบันทึกด้วยว่าในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร (รังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต) พระราชโอรสพระองค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศูนย์กลางของการยอมรับจากเหล่าพระราชวงศ์มาก นอกจากนี้ทรงมีความใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดลด้วย ต่อมาทรงถูกรัฐบาลจับกุมฐานทรงก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลและทรงถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตในปี 2482 แต่รัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติลดโทษให้พระองค์เพียงจำคุกตลอดชีวิตและถอดอิสริยยศลงเป็นนายรังสิตประยูรศักดิ์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้นิรโทษกรรมและคืนอิสริยยศให้พระองค์กลับคืนสู่พระราชวงศ์อีกครั้ง หลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเมื่อ 2489 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ในต้นรัชกาลปัจจุบัน ต่อมาทรงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง (โปรดดู Edwin F. Stanton , Brief Authority : Excursion of a Common Man in an Uncommon World , [New York: Harper & Brothers Publishers ,1956 ] , p.210 .)

ปัญหาการเมืองในราชสำนักในช่วงของการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้ ทำให้พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้กล่าวถึงเงื่อนงำที่ทำให้ประธานคณะผู้สำเร็จฯทรงปลงพระชนม์ตนเองต่อสภาผู้แทนฯ ว่า 

“ … พระองค์ [พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์] ปฏิบัติงานในหน้าที่ประธานผู้สำเร็จราชการด้วยความเรียบร้อย แต่พระองค์ลำบากใจในการปฏิบัติงานในฐานะทรงเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของพระปกเกล้าฯ ได้ทรงถูกเจ้านายบางพระองค์กล่าวเสียดสีการปฏิบัติงานของพระองค์ในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ทรงปลงพระชนม์พระองค์เอง” ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 206 )

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ นั้นยอมอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ที่มีพระราชวงศ์และกลุ่มรอยัลลิสต์จำนวนหนึ่ง กลับปฏิเสธการยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และทำกดดันการปฏิบัติหน้าที่ของประธานผู้สำเร็จราชการฯหรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ จนพระองค์ต้องทรงปลงพระชนม์ตนเอง ทำให้รัฐประชาชาติสูญเสียประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่ทรงยินยอมนำพาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญไปอย่างน่าเสียดาย

ต่อมา สภาผู้แทนฯได้ลงมติเลือกตั้งซ่อมตำแหน่งที่ว่างในคณะผู้สำเร็จราชการฯ และได้ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) แทนพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ที่ทรงสวรรคตไป เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2478

จากนั้นสภาผู้แทนฯ มีมติแต่งตั้งให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 206 )

ทั้งนี้ตลอดช่วงที่พระองค์เจ้าอาทิตย์ เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ ทรงให้การสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนี้ มีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลกับสภาผู้แทนฯ เริ่มเกิดแบบแผนขึ้น เช่น ในปี 2480 ได้เกิดปัญหาเรื่องขายที่ดินของพระคลังข้างที่ ทำให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ ลาออก แต่สภาผู้แทนฯได้เลือกตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดเดิมกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก จากเหตุ เรื่องปัญหาการขายที่ดินดังกล่าวมีผลทำให้พระยาพหลฯ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แต่สภาผู้แทนฯ เชื่อมั่นในความบริสุทธิของรัฐบาลอีกทั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯ เห็นด้วยกับมติของสภาผู้แทนฯจึง ทรงแต่งตัั้งให้พระยาพหลฯกลับเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง ( เลียง ไชยกาล , คำแถลงการณ์ รายงานคณะกรรมการพิจารณา เรื่อง ซื้อ ขายที่ดินพระคลังข้างที่, (พระนคร: คณะวัฒนานุกูล, 2480).; ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ , อ้างแล้ว, หน้า 232-241. )

จากเหตุการณ์ข้างต้นเห็นได้ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ผ่านคณะผู้สำเร็จราชการฯในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์ฯ กับรัฐบาล และสภาผู้แทนฯ ในช่วงดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่สำคัญยิ่งของการวางแบบแผนของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่สถาบันกษัตริย์ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนฯ ผู้เป็นตัวแทนประชาชนอย่างสูง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ “ยักษ์” ยอมอยู่ในกล่อง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษายิ่ง

ช่วงปลายทศวรรษ 2470 - ปลายทศวรรษ 2480 ราว 11 ปีภายใต้รัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ เป็นช่วงของการที่รัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติได้เดินหน้าสร้างความเป็นสมัยใหม่ (Modern) ความเสมอภาค โดยรัฐบาล และสภาผู้แทนฯ ได้ผลักดันกฎหมายที่สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมอย่างสำคัญ เช่น การพลักดันพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลรัษฎากร การยกเลิกเงินค่ารัชูปการ ภาษีสมพัตสร และอากรค่านา (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 287-288.)

ตลอดจน การสร้างความเป็นสมัยใหม่ในทางวัฒนธรรม การประกาศรัฐนิยม การเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยประธานผู้สำเร็จราชการฯ ทรงให้การสนับสนุนรัฐบาลในโครงการการเดินหน้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ ดังเห็นได้จากพระองค์ได้ทรงแต่งกายทันสมัยเป็นสากล เป็นต้น 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คืบคลานเข้าสู่ไทย โดยญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกในไทยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2484 รัฐบาลสมัยจอมพล ป. ได้เสนอให้สภาผู้แทนฯ ตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2484 แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2481 

ต่อมาเมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 คณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงเหลือเพียง 2 คน คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ และนายปรีดีเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับรัฐบาลค่อนข้างราบรื่น เนื่องจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล เช่น พระองค์เจ้าอาทิตย์ อีกทั้ง นายปรีดี แกนนำในคณะราษฎรได้มีส่วนร่วมในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ด้วย และในช่วงท้ายสงครามโลก จอมพล ป.นายกรัฐมนตรีได้พ่ายแพ้ต่อสภาผู้แทนฯ ในการผลักดันพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพ็ชรบูรณ์ และพระราชกำหนดอื่นๆให้เป็นพระราชบัญญัติ แต่ความพ่ายแพ้ดังกล่าวทำให้ จอมพล ป. ขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลเมื่อ 24 กรกฎาคม 2487 ไม่นานจากนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2487 ทำให้สภาผู้แทนฯ แต่งตั้ง ให้นายปรีดี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 437. )

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก และไทยได้ยอมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอักษะแล้ว แต่ในเวลาต่อมาสถานการณ์สงครามในยุโรปเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อฝ่ายอักษะเริ่มตกเป็นฝ่ายรับ จากรุกรบของกองทัพสัมพันธมิตร มีผลทำให้นายปรีดีได้เริ่มก่อตั้งขบวนการเสรีไทยขึ้น เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อจอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งแล้ว นายปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ได้เชิญประธานสภาผู้แทนฯ (พระยามานวราชเสวี) ปรึกษาถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศและสนับสนุนให้ นายควง อภัยวงศ์ซึ่งเป็นรองประธานสภาฯขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป.และจากนั้นผู้สำเร็จราชการฯ ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล ป. เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 441. )

ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังจะจบสิ้นลง นายปรีดี แกนนำสำคัญในคณะราษฎรและในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ พยายามปรองดองกับปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 หรือพระราชวงศ์ชั้นสูง และพวกรอยัลลิสต์ด้วยการได้ผลักดันให้อภัยโทษและคืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่นักโทษการเมืองที่เป็นเจ้านายชั้นสูง เช่น นายรังสิตประยูรศักดิ์ รังสิต กลับคืนเป็นกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพวกรอยัลลิสต์ที่เคยเป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติในหลายกรณี โดยนายปรีดีคาดหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันเพื่อทำงานให้รัฐประชาชาติ และลบความขัดแย้งเมื่อครั้งเก่า แต่ความคาดหวังของเขานี้ได้รับการตอบรับน้อยมากจากเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ ( “ The Development of Siamese Politics ” , “A Memorandum on a certain aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947” , หม่อมเจ้า ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน , 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ , (กรุงเทพฯ :อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ้ง, 2543).

แต่อะไรคือ รางวัลที่เหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติมอบให้กับนายปรีดีผู้ปลดปล่อยพวกเขาให้มีอิสรภาพ ???

ไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ทรงได้แต่งตั้งให้ นายปรีดี เป็นรัฐบุรุษอาวุโส มีหน้าที่ให้คำปรึกษากิจการราชการแผ่นดิน และทรงได้ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่สะท้อนให้เห็นถึงทรงได้มีพระราชปณิธานยืนยันแบบธรรมเนียมทางการเมืองที่ถือกำหนดขึ้นโดยทรงยินยอมเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นหลังการปฏิวัติ 2475 ต่อไป ทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้มีบทบัญญัติเี่กี่ยวกับการสืบราชสมบัตินั้นยังคงเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ 2467 ที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสภาที่มีทั้งพฤฒิสภา (วุฒิสภา) และสมาชิกสภาผู้แทนฯที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างเต็มที่ 

ดังปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ว่า “มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒิสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา ๑๐ ให้สมาชิกพฤฒิสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว”

แต่หลังสิ้นสุดรัชกาลของพระองค์ด้วยโศกนาฏกรรมที่น่าฉงน และเริ่มต้นรัชกาลใหม่ สิ่งที่นายปรีดีได้รับการตอบแทนจากเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ที่ชิงชังระบอบประชาธิปไตยซึ่งเขาได้ปลดปล่อยคนเหล่านั้น ออกจากการลงทัณฑ์ ด้วยเขามีความหวังว่า คนเหล่านั้นจะลืมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชและยอมปรับตัวอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป แต่เขาคาดการณ์ผิด และสิ่งที่เขาได้รับจากคนเหล่านั้น แทนที่จะเป็นความร่วมซาบซึ้งใจในความใจกว้างของรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ แต่กลับกลายเป็นว่า เขากลับถูกกล่าวหาจากคนเหล่านั้นว่าเขาเป็นอาชญากรผู้เกี่ยวข้องกับการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ในเวลาต่อมา

การโต้กลับระบอบประชาธิปไตย การรัฐประหาร 2490 กับการปลดปล่อยอำนาจของ
สถาบันกษัตริย์

ทันทีที่สถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ผู้ทรงยอมรับแบบธรรมเนียมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางการเมืองที่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ผู้เป็นตัวแทนของพระองค์ได้ปฏิบัติภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงได้สวรรคตอย่างฉับพลันเมื่อ 9 มิถุนายน 2489 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่นั้นมีบัญญัติกำหนดให้สมาชิกพฤฒิสภา (ต่อมาเรียกวุฒิสภา) ผู้มีอายุสูงสุดจำนวน 3 คน ดำรงตำแหน่งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราวเมื่อกษัตริย์มิอาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ในครั้งนั้นพฤฒิสภาได้แต่งตั้ง พระสุธรรมวินิจฉัย พระยานนท์ราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ให้ดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการฯ แต่คณะผู้สำเร็จราชการฯ ชุดนี้ดำรงตำแหน่งเพียงชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน –16 มิถุนายน 2489 หรือราวกว่าสัปดาห์เท่านั้น ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, อ้างแล้ว ,หน้า 535. )

เนื่องจากฝ่ายราชสำนักที่ประกอบไปด้วยพระราชวงศ์ชั้นสูง และกลุ่มรอยัลลิสต์จำนวนหนึ่ง ที่เคยเป็นอดีตนักโทษการเมืองผู้เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยจากการลงทัณฑ์ พวกเขามีความต้องการเข้าควบคุมทิศทางสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลใหม่ผ่านผู้สำเร็จราชการฯต่อไป ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ปลดปล่อยเหล่าปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ให้มีอิสระ ดังนั้นไม่แต่เพียงในพื้นที่ทางการเมืองไทยหลังสงครามโลกที่มากด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากสถานการณ์สงครามเท่านั้น ที่ทำให้รัฐบาลเผชิญกับปัญหาต่างๆนานา แต่พื้นที่ทางการเมืองไทยในขณะนั้นก็พลุกพล่านไปด้วยเหล่าผู้ที่ชิงชังระบอบประชาธิปไตย ความเคลื่อนไหวของพวกเขามีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองหลังสงครามโลกของไทยให้ทวีความยุ่งยากมากขึ้น ในขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร อดีตแกนนำปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ในช่วงต้นของระบอบประชาธิปไตยทรงได้พ้นโทษจากฐานะนักโทษเด็ดขาดฐานกบฏ

ต่อมาพระองค์ได้ทรงกลายเป็นแกนนำและทรงมีอิทธิพลเหนือกลุ่มรอยัลลิสต์ในขณะนั้น ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตพระราชินีของพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ได้เสด็จนิวัตจากอังกฤษกลับมาไทย จากรายงานทางการทูตของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกได้รายงานว่า ทรงให้การสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ให้มีอำนาจเหนือราชสำนัก ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945.ในรายงานบันทึกว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงต้องการให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์หย่ากับชายาที่เป็นชาวต่างประเทศ (หม่อมอลิสเบธ) และมาเสกสมรสกับพระขนิษฐาคนเล็กต่างมารดาของพระองค์เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการสืบราชบัลลังก์ของสองราชตระกูล โดยพวกเขาต้องการให้อังกฤษสนับสนุนราชบัลลังก์ของกษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ ในขณะนั้นภาพลักษณ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ นั้นทรง“นิยมอังกฤษ เต็มอังกฤษ”(กนต์ธีร์ ศุภมงคล, การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495,[กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ6ง จำกัด, 2537],หน้า 71.).

สถานการณ์ดังกล่าวจึงนำไปสู่การช่วงชิงการนำทางการเมืองในราชสำนัก อีกทั้งเมื่อ 9 มิถุนายน 2489 ตำแหน่งกษัตริย์ว่างลงอย่างฉับพลันยิ่งมีส่วนเร่งการต่อสู้ทางการเมืองในราชสำนักอย่างแหลมคมมากยิ่งขึน

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2489 บัญญัติให้ผู้อาวุโสจากพฤฒิสภาดำรงตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการฯชั่วคราวทำให้กลุ่มการเมืองในราชสำนักไม่พอใจและเร่งให้เกิดการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯชุดใหม่แทนคณะผู้สำเร็จราชการฯ ชั่วคราวที่มาจากพฤฒิสภา การต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในราชสำนักที่เกิดขึ้นขณะนั้นดูราวกับว่า พวกเขาไม่สนใจความเป็นไปของชาติหลังสงครามโลกมากไปกว่าการจัดการเรื่องผลประโยชน์ของพวกของตนให้เสร็จสิ้น ด้วยการผลักตัวแทนฝ่ายตนเข้ากุมคณะผู้สำเร็จราชฯ ให้สำเร็จ จากรายงานทางการทูตได้รายงานการต่อสู้ในราชสำนักขณะนั้นว่า สามารถแบ่งกลุ่มการเมืองในราชสำนักได้ออกเป็น 2 ปีก คือ
 
ปีกแรก มีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพฯ เป็นแกนนำ ทรงมีความต้องการดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯเพื่อทบทวนสิทธิที่ควรเป็น กล่าวคือ ทรงมีความต้องการให้สืบสันตติวงศ์หวนกลับคืนมาสู่สายของสมเด็จฯพระพันปีหลวง ในขณะที่อีกปีกหนึ่ง มีแรงผลักดันให้กรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิให้การสืบสันติวงศ์คงอยู่ในสายสมเด็จฯ พระพันวษาต่อไป สุดท้ายแล้ว การประลองกำลังของการเมืองในราชสำนักก็จบสิ้นลงด้วย ราชสำนักได้เสนอชื่อ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแต่เพียงพระนามเดียว ส่วนรัฐบาลได้เสนอ พระยามานวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการฯ อีกคนซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาล ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 11 June 1946.; NARA,RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 26 June 1946.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Yost to Secretary of State, 18 June 1946.; NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Stanton to Secretary of State, “Fortnightly Summary of Political event in Siam for the Period 16-31 August 1946”.; ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 543. เริ6มปฏิบัติหน้าที่ 16 กรกฎาคม 2489 )

จะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะผู้สำเร็จราชการฯในช่วงเวลานั้น รัฐบาลยังคงมีตัวแทนในการดูแลความเป็นไปของสถาบันกษัตริย์ให้วางอยู่ใต้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้

ไม่นานจากนั้นรัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการสอบสวนคดีสวรรคตขึ้น ผลการสอบสวนมีความคืบหน้ามากขึ้น จนอาจระบุผู้ต้องสงสัยได้ คณะกรรมการสืบสวนชุดนี้ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ และพระราชวงศ์ระดับสูงที่มี พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าจุมภฏบริพัตร และพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคคลร่วมเป็นกรรมการ เมื่อการสอบสวนคดีดังกล่าวในช่วงรัฐบาลของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีความคืบหน้าที่น่าพึงพอใจ (โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ข้อมูลใหม่ กรณีสวรรคต:หลวงธำรงระบุชัดผลการสอบสวน ใครคือผู้ต้อง สงสัยที่แท้จริง” , “บันทึกของเคนเน็ธ แลนดอน เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและข่าวลือเรื่อง แผนการใหญ่ของพี่น้องปราโมช” , “ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของ ‘ปรีดี’ ที่เพิ่งเผยแพร่”, ฟ้าเดียวกัน 7, 3 (กรกฎาคม- กันยายน 2552),

ไม่นานจากนั้นก็เกิดการรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 การัฐประหารดังกล่าว สำเร็จลงได้ด้วยการให้การช่วยเหลือของ กรมขุนชัยนาทนเรนทรหนึ่ง ในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่ทรงรับรองการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือถวัลย์ และทรงลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ด้วยพระองค์แต่เพียงผู้เดียวโดยปราศจากการลงนามของพระยามานวราชเสวี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งบุคคลท่านหลังนี้เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติ ( Edwin F. Stanton , Ibid, p. 210 )

ที่สำคัญคือ การรัฐประหารครั้งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของการรัฐประหารที่ได้รับรองความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์จนทำให้การกระทำที่ผิดกฎหมายนี้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก

ด้วยเหตุนี้จึงสามารถวิเคราะห์อย่างไม่ยากว่า บทบาทของกรมขุนชัยนาทนเรนทรซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการฯอันเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ได้ทรงละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรงที่สุด ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการทำลายรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ลง ดังนั้นบทบาทดังกล่าวของผู้สำเร็จราชการฯ ในการสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทางการเมืองจำนวนมากที่ตามมา กล่าวอีกอย่างได้ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ขณะนั้น ได้ทำลายรากฐานความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ก่อรูปร่างในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ ลงเสีย จนนำไปสู่กำเนิดระบอบการปกครองอันแปลกประหลาดที่มีระบอบที่ชื่อประชาธิปไตย แต่มิใช่การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอีกต่อไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ กล่องแพนโดรา ได้ถูกเปิดออกแล้ว

ส่วนที่ 2
จากระบอบประชาธิปไตยทีีมีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 
สู่
“ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
หลังการรัฐประหาร 2490

กำเนิดระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัดด้านกลับของ
“ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

หลังการรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ที่พระเจ้าอยู่อานันทฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯ แต่เพียงพระองค์เดียวที่ลงนามประกาศใช้นั้น ได้บัญญัติให้สถาบันกษัตริย์มีอิสระในการแต่งตั้ง อภิรัฐมนตรีซึ่ง เป็นกลไกของสถาบันกษัตริย์จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้ฟื้นกลับมาในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง
 
กลไกดังกล่าวประกอบด้วยประธานอภิรัฐมนตรีและอภิรัฐมนตรี (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นองคมนตรี) ซึ่งมีพระองค์ทรงเป็นประธานฯ และมีพระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้าอลงกฎ พระยามานวราชเสวีและ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เป็นสมาชิกทำหน้าที่ผู้สำเร็จการฯ ในทันที ( ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, , อ้างแล้ว, หน้า 582-583 )

เราอาจวิเคราะห์ได้ว่า ความพยายามของสถาบันกษัตริย์ผ่านผู้สำเร็จราชการฯ ประสบความสำเร็จในการสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 ต่อมา พวกเขาได้เขามาทำหน้าที่สถาปนิกทางการเมืองด้วยการออกแบบระบอบการเมืองที่กำหนดความสัมพันธ์ทางการเมืองใหม่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับพวกเขา เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ 2490 และรัฐธรรมนูญ 2492 หรือ “รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์” ที่พวกเขาได้ประดิษฐ์ระบอบการเมืองที่พวกเขาต้องการขึ้นมาและ เรียกนววัตกรรมทางการเมืองนี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ซึ่งเป็นข้อความที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหลังการปฏิวัติ 2475 และอาจกล่าวได้ว่าระบอบการเมืองนี้เป็นระบอบที่ประชาชนมีอำนาจการเมืองลดลง แต่สถาบันกษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นเช่น 

การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยอำนาจตามพระราชอัธยาศัยของสถาบันกษัตริย์ การแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี (ต่อมาเรียกองคมนตรี) ตามอำนาจตามพระราชอัธยาศัย การแต่งตั้งเหล่านี้ปลอดการควบคุมจากสถาบันการเมืองอื่นที่ตั้งอยู่บนหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เช่น รัฐบาลหรือรัฐสภา กล่าวอีกอย่างหนึ่ง คือ ระบอบดังกล่าวเป็นระบอบการเมืองที่ประชาชนถูกจำกัดอำนาจ หรือ “แจ็ค” ถูกจับใส่กล่องเสียแล้ว จากนั้นพวกเขาสร้างคำปฏิญาณในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ 2492 นี้อย่างสุดความสามารถว่า 

“มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริต และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ”

ดังนั้นจากบริบทการเมืองหลังการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ และการรัฐประหาร 2490 เราสามารถกล่าวได้ว่า ยิ่งรัฐบาลแห่งรัฐประชาชาติสูญเสียการเหนี่ยวรั้งให้สถาบันกษัตริย์ยึดโยงกับแนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมากเท่าไร ก็อาจจะเกิดการเป็นปฏิปักษ์กับต่อกันมากขึ้นเท่านั้น และควรบันทึกด้วยว่า ก่อนการรัฐประหาร 2490 ปัญหาความมุ่งมั่นในการคลี่คลายสาเหตุการสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ โดยรัฐบาลได้สร้างความวิตกให้กับราชสำนักอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่รัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ เดินหน้าการสืบสวนหาสาเหตุอย่างต่อเนื่อง ( โปรดดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ข้อมูลใหม่ กรณีสวรรคต:หลวงธำรงระบุชัดผลการสอบสวน ใครคือผู้ต้องสงสัยที่แท้จริง” , “บันทึกของเคนเน็ธ แลนดอน เกี่ยวกับกรณีสวรรคตและข่าวลือเรื่อง แผนการใหญ่ของพี่น้องปราโมช” , “ว่าด้วยจดหมายเปิดเผยความลับกรณีสวรรคตของ ‘ปรีดี’ ที่เพิ่งเผยแพร่”, ฟ้าเดียวกัน 7, 3 (กรกฎาคม- กันยายน 2552), หน้า60-93. )

ดังนั้นความคิดของพระราชวงศ์ชั้นสูงและกลุ่มรอยัลลิสต์ขณะนั้นจึงต้องการยุติการเดินหน้าของรัฐบาลที่จะไขปริศนาดังกล่าวด้วยการสนับสนุนการรัฐประหาร 2490 จากนั้นพวกเขาได้เข้าร่วมในร่างรัฐธรรมนูญที่จะสร้างความมั่นคงในการสืบราชสมบัติให้มากขึ้น น่าสังเกตุว่า จากเดิมที่บทบัญญัติในหมวดกษัตริย์มีเพียงไม่กี่มาตราแต่ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ และการรัฐประหาร 2490 กลับมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนมาตราในหมวดกษัตริย์ ( โปรดดู ณัฐพล ใจจริง. “ความชอบด้วยระบอบ: วิวาทะว่าด้วยอำนาจของ‘รัฐฏาธิปัตย์’ในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (2475-2500)”. ศิลปวัฒนธรรม , ปี 28, ฉบับ 3 (มกราคม 2550), หน้า 79-106. )

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ตลอดจน การตั้งผู้สำเร็จราชการฯ กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกบัญญัติในลักษณะที่ราชสำนักสามารถควบคุมทิศทางได้ให้ปรากฎรัฐธรรมนูญฉบับ 2490
ฉบับ 2492 และฉบับ 2475 แก้ไข 2495 อย่างไม่เคยมีมาก่อน ดังการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ 

รัฐธรรมนูญ 2490 

มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน

มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที

มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความในมาตรา ๑๐ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป

มาตรา ๑๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

รัฐธรรมนูญ 2492

มาตรา ๑๙ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๒๐ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดีให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา ๒๑ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน 

ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว 

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคแรกก็ดีในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้
 
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว

มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
 
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้
 
มาตรา ๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์

มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามความในมาตรา ๑๙ หรือ มาตรา ๒๐ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนแต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดังกล่าวนี้ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ วรรคสาม และวรรคสี่มาใช้บังคับ

รัฐธรรมนุญฉบับ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495

มาตรา ๑๗ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

มาตรา ๑๘ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๗ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศในพระปรมาภิไธย
 
พระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรีตามความในวรรคแรก

มาตรา ๑๙ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ดี ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็ดี ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทน
พระองค์ชั่วคราว

ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนประธานองคมนตรีตามความในวรรคแรก

มาตรา ๒๐ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรด้วยถ้อยคำว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติ
ตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

มาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้

มาตรา ๒๒ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์

มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้สภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ

ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ ตามความในมาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน แต่ถ้าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดังกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน

ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๙ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่มีคณะองคมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีทำหน้าที่แทนคณะองคมนตรี หรือประธานองคมนตรีแล้วแต่กรณี

แม้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 หรือ“รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์”ที่ถูกร่างขึ้นโดยกลุ่มรอยัลลิสต์ท่ามกลางความไม่คืบหน้าของการสอบสวนคดีสวรรคตนั้น จะบัญญัติให้การเสนอพระนามกษัตริย์พระองค์ใหม่จะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลและการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ นั้น รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบก่อนก็ตาม แต่การบัญญัติให้กิจกรรมเหล่านั้น ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบนี้วิเคราะห์ได้ว่า มิใช่ว่าพวกเขามีความศรัทธาในรัฐสภา แต่เกิดจากในขณะนั้นพวกเขาสามารถคุมรัฐสภาได้ต่างหาก ช่วงเวลานั้นวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการแต่งตั้ง โดยสถาบันกษัตริย์ ซึ่งขณะนั้น มีกรมขุนชัยนาทนเรนทรเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ส่วนสภาผู้แทนฯ มีพรรคประชาธิปัตย์คุมเสียงข้างมาก ( โปรดดูรายชื่อสมาชิกรัฐสภาทั้งวุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 (พระนคร: บริษัท ชุมนุมช่าง , 2503).

โดยเมื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2492 นี้ถูกประกาศใช้ กรมขุนชัยนาทนเรนทรได้ทรงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการฯแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นเราอาจวิเคราะห์ได้ว่า สถาบันกษัตริย์ขณะนั้นมีความมั่นใจในเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาที่มีเกินกึ่งหนึ่ง ที่จะสร้างความมั่นคงให้กับช่วงการเปลี่ยนผ่านและการเข้าสู่“ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”ที่พวกเขาร่วมกันออกแบบขึ้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติ ให้ผู้สำเร็จราชการฯ ต้องปฏิณาณตนต่อหน้ารัฐสภารอยัลลิสต์ว่า จะปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์ชั่วฟ้าดินสลาย ดัง “มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้ 

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบร นามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ”

การเข้าแทรกแซงการเมืองในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทร ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อปูทางการเมืองที่ราบรื่นให้กับสถาบันกษัตริย์ได้สร้างปัญหาปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลจนนำไปสู่การรัฐประหารปลายปี 2494 ดังเห็นได้จากหลักฐานที่รวบรวมได้ตั้งแต่ปลายปี 2493 จนถึงก่อนการรัฐประหารนั้น บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) และรายงานของสถานทูตสหรัฐฯประจำกรุงเทพฯ ได้รายงานข่าวความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐบาลในขณะนั้นว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ได้ทรงเสด็จเข้ามาเป็นนั่งประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี ประหนึ่ง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานการประชุมคณะเสนาบดีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยการดำเนินการก้าวก่ายทางการเมืองของผู้สำเร็จราชการฯ ในการประชุมคณะรัฐมนตรีและการที่ทรงแต่งตั้งแต่สมาชิกวุฒิสภาที่เป็น
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเข้าสู่รัฐสภาได้สร้างความไม่พอใจให้กับ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี และสมาชิกคณะราษฎรเป็นอย่างมาก ( Bangkok Post , 18 December 1950.; NARA, RG 59 General Records of Department of State, Central Decimal file 1950-1954 Box 4184, William T. Turner to Secretary of State, “Political Report for November 1950,” 26 December 1950.)

นอกจากนี้รายงานทางการทูตได้รายงานว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2494 กลุ่มรอยัลลิสต์มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก รายงานวิเคราะห์ว่าพวกเขาหวังจะใช้การเสด็จนิวัตรพระนครของพระมหากษัตริย์เป็นพลังสนับสนุนบทบาทการต่อต้านรัฐบาล (“Turner The Charge in Thailand to The Secretary of States, 29 November 1951,“ in Foreign Relations of the United States 1950 Vol.6, (Washington D.C.: Government Printing Office,1976),p. 1638.; NA, FO 371/92957, Murray to Foreign Office, ”Coup d’etat in Siam,”3 December 1951.; Scott to Foreign Office, 4 December 1951. )

ด้วยเหตุนี้การรัฐประหารเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2494 ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนจึงเกิดขึ้นเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2492 หรือ“รัฐธรรมนูญรอยัลลิสต์” ที่จัดความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ไม่สมดุลระหว่างสถาบันกษัตริยกับรัฐบาลและรัฐสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างระบอบการเมืองที่ให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจการเมืองมาก อีกทั้งรัฐบาลและรัฐสภาขณะนั้นไม่มีหนทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนีผ่านช่องทางปกติได้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เป็นพวกรอยัลลิสต์ ทั้งนี้การรัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันทรงเสด็จนิวัตพระนครเพียงไม่กี่วัน เหตุผลอย่างลับๆของการรัฐประหาร คือ การลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมืองไทย ( NARA, CIA Records search Tool (CREST), CIA-RDP82-00457R009400250011-3, 27 November 1951, “ Possible Coup d’etat”.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Memorandum of Conversation Nai Sang Pathanotai and N.B. Hannah, ”29 November1951 Coup d’etat,” 11 December 1951. )

จากนั้น จอมพล ป. หัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราว และนายกรัฐมนตรีได้นำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 กลับมาใช้อีกครั้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ( ประกาศใช้ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2494 - 7 มีนาคม 2495 ) 

โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์มากกว่าฉบับที่ถูกล้มไปแต่ความพยายามจำกัดสถาบันกษัตริย์ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมมิได้รับการตอบรับจนนำไปสู่การต่อรองกับรัฐบาลให้มีแก้ไขจนกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 แก้ไข 2495 ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหาร 2494 ได้จัดความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับรัฐบาล และรัฐสภาที่ไม่สมดุลนี้เสียใหม่ รายงานทางการทูตได้บันทึกว่า รัฐประหารครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้กับพวกเขาเป็นอย่างมาก เนื่องจาก รัฐประหารครั้งนี้เป็นการยุติระบอบการเมืองอุดมคติที่พวกเขาได้เพียรพยายามสถาปนาขึ้น ( NA, FO 371/92957, Whittington to Foreign Office, 30 November 1951.; NARA, RG 59 Central Decimal File 1950-1954 Box 4185, Turner to Secretary of State, 30 November 1951 .) 

ส่วนที่ 3 
บทส่งท้าย 

ฤาจะเป็นระบอบอภิมหาอมตะนิรันดรกาล

เป็นเวลายาวนานที่สังคมไทยให้ความสนใจกับการจำกัดอำนาจของรัฐ แต่พวกเขามุ่งแต่เพียงการพยายามจำกัดอำนาจรัฐบาล และรัฐสภาที่มีที่มาแห่งอำนาจจากคติเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีน้อยคนนักที่จะตระหนักว่า “ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นี้เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองที่ปรากฎขึ้นเพียงราว 60 ปี เท่านั้น โดยระบอบดังกล่าว ถือกำเนิดมาจากปฏิกริยาตอบโต้กับสถานการณ์ทางการเมืองและโต้ตอบกับสถาบันการเมืองอื่นๆที่มีอยู่ตามระบอบประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์

บทความชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางกระบวนการต่อสู้ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับสถาบันการเมืองอื่นๆตั้งแต่ 2475 มีผลทำให้แนวคิดเรื่อง “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ที่ปรากฎขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 นี้ไม่ใช่แต่เพียงถูกลักพาตัวไปจากกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น แต่ยังนำมาสู่คำอธิบายที่น่าแปลกประหลาดในทางวิชาการที่นำไปสู่ความสับสนและไม่เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย ดังตัวอย่างว่า “ เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ประชาชน กลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน 24 มิถุนายน 2475”  ( บวรศักดิ์ อุวรรณโณ , กฎหมายมหาชน เล่ม 2 ,(กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2538), หน้า 192.) 

ด้วยเหตุที่คำอธิบายข้างต้นมีความเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่เหนือกาลเวลาไม่เคยเปลี่ยนแปลง การนำความเชื่อมาเป็นข้อเสนอย่อมต้องเผชิญหน้ากับข้อโต้แย้งว่า คำอธิบายข้างต้นคิด หรือสร้างมาจากรากฐานประการใดระหว่างความเชื่อกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ใครมีอยู่ก่อนกันและดำรงอยู่ตลอดเวลาระหว่าง ผู้ปกครองที่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายราชวงศ์ตลอดประวัติศาสตร์ไทย กับ ผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้มาอย่างยาวนาน โดยพวกเขามีอยู่ก่อนการก่อตัวของอาณาจักรโบราณต่างๆที่เกิดขึ้นในดินแดนแถบนี้ ด้วยเหตุนี้ย่อมกล่าวได้ อำนาจการปกครองเป็นของมนุษย์มาแต่ดั้งเดิม ก่อนที่อำนาจนั้น จะถูกแอบอ้างกลายเป็นของส่วนตัวหรือเป็นมรดกตกทอดโดยผู้ปกครองในประวัติศาสตร์
การเมืองไทย

โดยทั่วไปแล้ว ในทางวิชาการรัฐศาสตร์มีการจำแนกการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ โดยพิจารณาจากปัจจัยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน คือ ประชาธิปไตยทางตรง และ ประชาธิปไตยทางอ้อม แม้ทุกวันนี้เริ่มมีการนำเสนอถึงปัญหาของประชาธิปไตยทางอ้อมหรือแบบมีตัวแทน (Representative Democracy) ด้วยการรื้อฟื้นประชาธิปไตยทางตรงขึ้นใหม่แบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) ก็ตาม แต่สำหรับประเทศไทยที่พวกรอยัลลิสต์เรียกร้องการว่าการเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะในทำนองที่ว่า “เราไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนเรา” 

ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขอเสนอการสร้างคำอธิบายการเมืองด้วยการทำให้ลักษณะเฉพาะแบบไทยๆ มีความเป็นลักษณะทั่วไป (generalization) มากขึ้น โดยการกลับหัวกลับหางการสร้างแนวความคิด (conceptualized) กล่าวคือ โดยทั่วไป นักวิชาการตะวันตกมักจะสร้างแนวความคิดโดยใช้ตัวชี้วัดจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน แต่ในทางกลับกันด้วยเหตุที่พวกรอยัลลิสต์ชอบเรียกร้องว่าการเมืองไทยมีลักษณะเฉพาะที่ความแตกต่างจากตะวันตก ข้าพเจ้าจึงต้องขอใช้วิธีการตรงข้ามกับกระบวนการของนักวิชาการตะวันตก คือ การสร้างแนวคิดแบบไทยๆ โดยจะพิจารณาจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และเหล่ารอยัลลิสต์แทน 

ดังนั้นจากกระบวนการสร้างแนวคิดข้างต้น เราจึงสามารถสร้างข้อความเชิงทฤษฎีเพื่ออธิบายฉายภาพการเมืองไทยที่ผ่านมาในช่วง 2475 -2490 ตามความปรารถนาของพวกรอยัลลิสต์ที่พวกเขาเชื่อว่าการเมืองไทยมีความเฉพาะไม่เหมือนตะวันตกได้ว่า “หากสถาบันกษัตริย์และเหล่ารอยัลลิสต์เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมาก ประเทศจะมีการปกครองระบอบ ‘ประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัด’(Limited Democracy) หรือ เรียกอีกอย่างตามคำศัพท์ในทางรัฐศาสตร์ คือ ‘ประชาธิปไตยเทียม’(Pseudo Democracy) แต่หากสถาบันกษัตริย์และเหล่ารอยัลลิสต์ไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ประเทศนั้นจะมีการปกครอง ‘ประชาธิปไตยแบบอำนาจสมบูรณ์’ (Absolute Democracy) ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง”

จากบทความที่ได้กล่าวมาข้างต้น มุ่งแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ กับรัฐบาลของรัฐประชาชาติที่ผ่านมาในสองรัชกาล คือ รัชสมัยของพระปกเกล้าฯ กับรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯภายใต้ระบอบประชาธิปไตย พบว่ามีแต่เพียงสถาบันกษัตริย์ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวอานันทฯ เท่านั้นที่ยอมอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่มีช่วงเวลาราว 11 ปี ทว่านับแต่การรัฐประหาร 2490 เป็นต้นไปเรามิอาจจะสามารถเข้าใจระบอบการเมืองไทยผ่านแนวคิดการจำกัดอำนาจของสถาบันกษัตริย์หรือ “ยักษ์” ถูกจับใส่กล่องได้อีกต่อไป แต่เหตุการณ์มันกลับตละปัดไปแล้ว กล่าวคืออำนาจของประชาชนกลับถูกจำกัดมากกว่าหรือ “แจ็ค”ถูกจับใส่กล่องเสียแล้ว

สุดท้ายแล้ว พัฒนาการของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองที่มีผลต่อระบอบการเมืองไทยจนถึงปัจจุบันจะอยู่ยั่งยืนยง หรือคลี่คลายอย่างช้าๆ หรือก้าวกระโดดไปสู่ทิศทางใดคงต้องรอประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกำหนดอนาคตของการเมืองไทยต่อไป
 
บทความนี้มิอาจคาดการณ์ถึงพัฒนาของระบอบการเมืองไทยในเบื้องหน้าได้มากไปกว่าการอธิบายผลลัพธ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างสถาบันการเมืองที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตยของไทย อันนำไปสู่ระบอบการเมืองที่จำกัดอำนาจของประชาชนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา สุดท้ายแล้ว ตามเทพปกรณัมกรีกได้เล่าว่า แม้กล่องแพนโดร่าถูกเปิดออกแล้ว และความเลวร้ายได้พวยพุ่งออกสู่สังคมมนุษย์ก็ตาม แต่ตำนานดังกล่าวได้เล่าต่อไปอีกว่า สิ่งที่เหลือในก้นกล่อง หรือสิ่งที่ยังคงอยู่กับมนุษย์มาจนถึงทุกวันนี้ คือความหวัง ดังนั้นหากประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยยังคงมีความหวังตามตำนานข้างต้น และมีความปรารถนาจะยุติระบอบประชาธิปไตยแบบอำนาจจำกัดแล้วไซร้ สิ่งเดียวที่ผู้เขียนจะขอกล่าวในบทส่งท้ายก็คือ ขอให้ “คณะราษฎรคุ้มครอง”