รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ซึ่งคณะอภิรัฐมนตรี ( หรือองคมนตรีในปัจจุบัน ) ทำหน้าที่ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 23 มีนาคม 2492 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วย สมาชิก 40 คน ซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภา 10 คนและจากบุคคลภายนอกมีคุณสมบัติต่างกัน 4 ประเภท ประเภทละ 5 คน คือ
(1) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน 5 คน
(2) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรืออธิบดี หรือเทียบเท่า 5 คน
(3) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกพฤฒสภา หรือดำรง หรือเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 5 คน
(4) ผู้มีคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งและเป็นผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 5 คน
จุดเด่นสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ
วางหลักประกันสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น มิให้ผู้บริหารละเมิดได้ง่ายเกินไป เช่นถ้าบุคคลใดเห็นว่าตนถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลนั้นหรือบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้น มีสิทธิร้องขอให้ศาลพิจารณาปล่อยบุคคลนั้นจากการคุมขังได้ (มาตรา 31) นอกจากนั้นก็มีบทบัญญัติอื่น ๆ อีก เช่น บทบัญญัติที่ห้ามฝ่ายบริหารบั่นทอนเสรีภาพในการเขียน การพิมพ์และการโฆษณาโดยวิธีปิดโรงพิมพ์ (มาตรา 35) และบทบัญญัติที่ห้ามฝ่ายบริหารจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง หรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมาย เป็นต้น
ห้ามเอกชน คณะบุคคล และพรรคการเมืองใช้กำลังทหาร ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นเครื่องมือทางการเมือง นอกจากนั้น ทหารและบุคคลอื่นในสังกัดฝ่ายทหารที่ยังรับราชการอยู่ยังถูกห้ามมิให้เป็นสมาชิกและเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือแสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับยังได้กำหนดให้กำลังทหารทั้งหมดอยู่ในบังคับบัญชาของพระมหากษัตริย์โดยตรง และกำหนดให้ผู้ใช้กำลังทหารเพื่อการรบหรือการสงครามหรือเพื่อปราบการจลาจล ต้องขอพระบรมราชโองการก่อนจึงจะสั่งการได้ เห็นได้ชัดว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้แม่ทัพหรือผู้บัญชาการกองพลใช้กาลังทหาร ออกปฏิบัติการดังกล่าวโดยมิได้กราบบังคบทูลเพื่อขอพระบรมราชานุญาต ซึ่งพระมหากษัตริย์อาจจะไม่อนุมัติก็ได้ถ้าผู้กราบบังคมทูลไม่มีเหตุผลพอสมควร
รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้นถึง 188 มาตรา มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ทุกฉบับโดยมีรายละเอียดดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะอภิรัฐมนตรี
ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏธานีนิวัต
พระยามานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
อลงกฏธานีนิวัต
พระยามานวราชเสวี
อดุลเดชจรัส
ตราไว้ ณ วันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
เป็นปีที่ ๔ ในรัชชกาลปัจจุบัน
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาค ๒๔๙๒ พรรษา ปัจจุบันนสมัย จันทรคตินิยม อุสภสมพัตสร ผัคคุณมาส กาฬปักษ์ ทศมีดิถี สุริยคติกาล มีนาคมมาสเตวีสติมสุรทิน พุธวาร โดยกาลบริจเฉท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่า จำเดิมแต่สมเด็จพระบรมปิตุลาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ สถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแล้วนั้น เหตุการณ์บ้านเมืองได้วิวัฒนาการมาโดยลำดับ จำต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อนุโลมตามกาลนิยม จึง ณ วัน ที่ ๑๐ พฤษภาคมพุทธศักราช ๒๔๘๙ ในรัชชสมัยสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใช้ แทนรัฐธรรมนูญฉะบับเดิม ครั้นต่อมาในรัชชกาลปัจจุบัน บังเกิดความจำเป็นต้องเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น จึง ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย ( ฉะบับชั่วคราว) ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้ตรารัฐธรรมนูญขึ้นใช้เป็นการถาวรสืบไป
และเพื่ออนุโลมตามแบบแผนฝ่ายปรสมัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉะบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการของไทย ประกอบด้วยสมาชิกสี่สิบคนซึ่งรัฐสภาเลือกตั้งจากสมาชิกวุฒิสภาสิบคน จากสมาชิกสภาผู้แทนสิบคน และจากบุคคลภายนอกผู้มีคุณสมบัติต่าง ๆ กันสี่ประเภท ประเภทละห้าคน ครั้น ณ วันที่ ๑๒ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดสภาร่างรัฐธรรมนูญและตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการพิจารณาปรึกษาวางหลักการใหญ่ ๆ อันสมควรประมวลไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นต้นว่า วางหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยให้มั่นคงยิ่งขึ้น กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอในการบริหารราชการ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาบางประการ ขยายอำนาจรัฐสภาในอันที่จะควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ได้ฟังความคิดเห็นของกันและกันได้โดยกว้างขวาง กับทั้งแก้ไขอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการให้ความไว้วางใจฝ่าย บริหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และเพื่อจะได้ฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมปรึกษาของสภาได้ ตลอดมา กับทั้งได้เลือกสมาชิกของสภาเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่สดับตรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แล้วนำเสนอต่อสภา ทั้งเพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี สภาร่างรัฐธรรมนูญได้เลือกสมาชิกอีกเก้าคนตั้งเป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่พิจารณายกร่าง กรรมาธิการได้ยกร่างขึ้นตามหลักการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางไว้ และได้ตรวจพิจารณาบทรัฐธรรมนูญฉะบับพุทธศักราช ๒๔๗๕ ตลอดทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมต่อ ๆ มาจนถึงฉะบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อเห็นว่าบทมาตราใดยังใช้ได้ ก็นำมาประมวลไว้ในรัฐธรรมนูญนี้และโดยที่การบ้านเมืองทั้งภายในภายนอกได้ เปลี่ยนแปลงไปหลายสถาน แม้นานาประเทศที่มีรัฐธรรมนูญใช้มานานแล้ว ก็ยังได้ดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย กรรมาธิการจึงได้ค้นคว้าพิจารณารัฐธรรมนูญของนานาประเทศประกอบด้วย เมื่อได้ยกร่างขึ้นแล้ว กรรมาธิการได้เสนอร่างนั้นต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้พิจารณาตรวจแก้ร่างที่กรรมาธิการนำเสนอโดยถี่ถ้วน แล้วได้พิจารณาทบทวนโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เห็นชอบพร้อมกันเป็นอันเสร็จสิ้นแต่ ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ จึงได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังรัฐสภา รัฐสภาได้พิจารณาปรึกษาเห็นชอบด้วย ลงมติให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระราชทานให้ใช้เป็นรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยสืบไป ได้ทรงพระราชวิจารณ์โดยตลอด และทรงพระราชดำริเห็นพ้องต้องตามมติของรัฐสภาแล้ว
จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมให้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทยฉะบับนี้ขึ้นไว้ ให้ใช้แทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ซึ่งได้ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ นั้น ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ขอปวงชนชาวไทยจงร่วมจิตต์ร่วมใจสมัครสโมสรเป็นเอกฉันท์ ในอันจะรักษาปฏิบัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ เพื่อความดำรงคงอยู่ด้วยดีแห่งระบอบประชาธิปไตยในรัฐสีมาอาณาจักร และนำมาซึ่งความผาสุกสิริสวัสดิ์สรรพพิพัฒนชัยมงคล เอนกศุภผลสกลเกียรติยศสถาพร แก่อาณาประชากรของพระองค์ สมดั่งพระบรมราชประสงค์จงทุกประการ
หมวด ๑
บททั่วไป
มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
มาตรา ๒ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๔ บุคคลย่อมได้มาและเสียไปซึ่งสัญชาติไทยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ
หมวด ๒
พระมหากษัตริย์
มาตรา ๕ องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
มาตรา ๖ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๐ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
มาตรา ๑๑ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง
มาตรา ๑๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์
มาตรา ๑๓ พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๔ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธาน องคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี อื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๕ องคมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองและต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการ เมืองใด ๆ
มาตรา ๑๖ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องปฏิญาณตนฉะเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๑๗ องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออกหรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง
มาตรา ๑๘ การแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการในพระองค์และสมุหราชองครักษ์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และในกรณีใดที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือถอดถอน ให้องคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๙ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาเป็นผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๒๐ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความ ในมาตรา ๑๙ ก็ดี ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่นใดก็ดี ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แต่งตั้งผู้นั้นเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
มาตรา ๒๑ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความใน มาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว
ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรค แรกก็ดี ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความใน วรรคสองก็ดี ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานองคมนตรีชั่วคราว
มาตรา ๒๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา
การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติม กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ จะกระทำมิได้
มาตรา ๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงบรรลุนิติภาวะเมื่อพระชนมายุครบสิบแปดปีบริบูรณ์
มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศเพื่อให้ประชาชนทราบ ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรานี้ ถ้าได้มีการแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามความในมาตรา ๑๙ หรือมาตรา ๒๐ ก็ให้ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อนแต่ถ้าไม่มี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ดั่งกล่าวนี้ ก็ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน
ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในวรรคก่อน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๑ วรรคสามและวรรคสี่มาใช้บังคับ
หมวด ๓
สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย
มาตรา ๒๖ บุคคลไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญเสมอกัน
มาตรา ๒๗ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี โดยประการอื่นใดก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิ์อย่างใดเลย
มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็น ปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดั่งกล่าวในวรรคก่อน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใด ๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
มาตรา ๒๙ บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็น ความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้
มาตรา ๓๐ ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด
ก่อนที่จะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาจะต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องอาศัยเหตุตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้โดยฉะเพาะในกฎหมาย และจะต้องแจ้งเหตุที่ไม่ให้ประกันแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยทราบ บุคคลผู้ถูกคุมขังหรือถูกจำคุก ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยี่ยมตามสมควร
มาตรา ๓๑ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย
การจับกุมคุมขังหรือตรวจค้นตัวบุคคลไม่ว่าในกรณีใด ๆจะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ผู้ที่ถูกจับกุม หรือถูกตรวจค้นจะต้องได้รับแจ้งเหตุ พร้อมด้วยรายละเอียดตามสมควร ในการที่ถูกจับหรือถูกตรวจค้นโดยไม่ชักช้า และผู้ถูกคุมขังย่อมมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความเป็นการฉะเพาะตัวได้
ในกรณีที่มีการคุมขังตัวบุคคล ผู้ถูกคุมขังเองก็ดีพนักงานอัยยการก็ดี บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังก็ดี มีสิทธิร้องต่อศาลท้องที่ซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีอาญาว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อมีคำร้องเช่นว่านี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที
มาตรา ๓๒ การเกณฑ์แรงงาน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อประโยชน์ในการป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาเป็นการฉุกเฉิน หรือโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งบัญญัติให้กระทำได้ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก
มาตรา ๓๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในเคหสถาน บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในการที่จะอยู่อาศัยและครอบครองเคหสถานโดยปรกติสุข การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครองก็ดี การตรวจค้นเคหสถานก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๓๔ สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง ขอบเขตต์และการจำกัดสิทธิเช่นว่านี้ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การสืบมฤดกย่อมได้รับความคุ้มครอง สิทธิของบุคคลในการสืบมฤดกย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค หรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศโดยตรง หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ และต้องชดใช้ค่าทำขวัญอันเป็นธรรมแก่เจ้าของ ตลอดจนผู้ทรงสิทธิตามที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ บรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้นด้วย
การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าใช้หรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลก็ดี การโอนกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ของบุคคลมาเป็นของรัฐก็ดี ถ้ามิใช่ด้วยความยินยอมของบุคคลนั้น จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อประโยชน์ใน การรักษาความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และต้องชดใช้ค่าทดแทนอันเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
มาตรา ๓๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการพูดการเขียน การพิมพ์ และการโฆษณา การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะคับขัน หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความเสื่อมทรามทางจิตต์ใจของยุวชน
การปิดโรงพิมพ์หรือห้ามทำการพิมพ์เพื่อบั่นรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การให้เสนอเรื่องหรือข้อความในหนังสือพิมพ์ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนโฆษณา จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามความในวรรคสอง
การให้เงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นอุดหนุนหนังสือพิมพ์รัฐจะกระทำมิได้
มาตรา ๓๖ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการศึกษาอบรม เมื่อการศึกษาอบรมนั้นไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาอบรม และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรสถานศึกษา
สถานศึกษาของรัฐและของเทศบาล ต้องให้ความเสมอภาคแก่บุคคลในการเข้ารับการศึกษาอบรมตามความสามารถของบุคคลนั้น ๆ
มาตรา ๓๗ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม ในระหว่างเวลาที่มีพระบรมราชโองการประกาศสถานะการณ์ฉุกเฉิน หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก
มาตรา ๓๘ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นสมาคม เมื่อมีวัตถุประสงค์ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
การจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสมาคมย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๓๙ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมือง เพื่อดำเนินการในทางการเมืองโดยวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ขัดต่อระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้
บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับสมาคมจะนำมาใช้บังคับแก่พรรคการเมืองมิได้
มาตรา ๔๐ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางไปรษณีย์ หรือทางอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยจดหมาย โทรเลข โทรศัพท์ หรือสิ่งสื่อสารอื่นใดที่บุคคลมีติดต่อถึงกัน จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอภาคในการใช้การสื่อสารที่จัดไว้เป็นบริการสาธารณะ
มาตรา ๔๑ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรและในการประกอบอาชีพ
การจำกัดเสรีภาพเช่นว่านี้ จะกระทำได้ก็แต่โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉะเพาะเพื่อความปลอดภัยของประเทศ เศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว
การเนรเทศบุคคลผู้มีสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักรจะกระทำมิได้
มาตรา ๔๒ บุคคลคนเดียว หรือหลายคนร่วมกันย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔๓ สิทธิของบุคคลในครอบครัวย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๔๔ สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการซึ่งเป็นนิติบุคคลให้รับผิดเพื่อการกระทำของเจ้าพนักงาน ในฐานะเสมือนเป็นตัวการหรือนายจ้าง ย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา ๔๕ บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการประจำอื่น และพนักงานเทศบาล ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนพลเมือง เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย หรือกฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายฉะเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพหรือวินัย
หมวด ๔
หน้าที่ของชนชาวไทย
มาตรา ๔๖ บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ
มาตรา ๔๗ บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๔๘ บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๔๙ บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย
มาตรา ๕๐ ในการใช้สิทธิเลือกตั้งและสิทธิออกเสียงประชามติ บุคคลมีหน้าที่ต้องกระทำโดยสุจริต และมุ่งถึงประโยชน์ส่วนรวม
มาตรา ๕๑ บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๒ บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๕๓ บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษา ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
หมวด ๕
แนวนโยบายแห่งรัฐ
มาตรา ๕๔ บทบัญญัติในหมวดนี้มีไว้เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการตรากฎหมายและการบริหารราชการตามนโยบายดั่งกำหนดไว้ และไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ
มาตรา ๕๕ รัฐจะต้องรักษาไว้ซึ่งเอกราช
มาตรา ๕๖ รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศและถือหลักเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกัน
มาตรา ๕๗ รัฐพึงร่วมมือกับนานาประเทศ ในการรักษาความยุตติธรรมระหว่างประเทศและผดุงสันติสุขของโลก
มาตรา ๕๘ กำลังทหารพึงมีโดยเหมาะสมแก่ความจำเป็นสำหรับรักษาเอกราช
มาตรา ๕๙ กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ไม่ขึ้นต่อเอกชน คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองใด ๆ
มาตรา ๖๐ กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงครามหรือเพื่อปราบปรามการจลาจล และจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการเว้นแต่ในกรณีที่มีประกาศใช้กฎอัยยการศึก
การใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือราชการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๖๑ เอกชนก็ดี คณะบุคคลก็ดี พรรคการเมืองก็ดี จะใช้กำลังทหารไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมิได้ ทหารและบุคคลอื่นในสังกัดฝ่ายทหาร ในระหว่างรับราชการประจำ จะเป็นสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือแสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ มิได้
มาตรา ๖๒ การศึกษาอบรมพึงมีจุดประสงค์ที่จะให้ชนชาวไทยเป็นพลเมืองดี มีร่างกายแข็งแรงและอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบการอาชีพ และมีจิตต์ใจเป็นนักประชาธิปไตย
มาตรา ๖๓ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการศึกษาอบรม * การจัดระบบการศึกษาอบรมเป็นหน้าที่ของรัฐโดยฉะเพาะสถานศึกษาทั้งปวงย่อมอยู่ ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ
การศึกษาอบรมชั้นอุดมศึกษา รัฐพึงจัดการให้สถานศึกษาดำเนินกิจการของตนเองได้ภายในขอบเขตต์ที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๖๔ การศึกษาอบรมชั้นประถมศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและของเทศบาล จะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน
รัฐพึงช่วยเหลือให้ได้มีอุปกรณ์การศึกษาอบรมตามควร
มาตรา ๖๕ รัฐพึงสนับสนุนการค้นคว้าในทางศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มาตรา ๖๖ รัฐพึงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำชาติ แต่ต้องไม่กระทำโดยวิธีการอันเป็นการบังคับฝืนใจบุคคล
มาตรา ๖๗ รัฐพึงบำรุงรักษาสถานที่และวัตถุอันมีค่าในทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศิลปกรรม และป้องกันมิให้มีการส่งวัตถุเช่นว่านี้ออกนอกราชอาณาจักร
มาตรา ๖๘ การริเริ่มทางเศรษฐกิจส่วนเอกชนย่อมเป็นไปโดยเสรี แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เป็นการขัดแย้งกับการประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค และจะต้องไม่เป็นการบั่นรอนมนุษยธรรม ความมั่นคงของสังคม หรือเสรีภาพของบุคคล
การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภค รัฐพึงจัดให้ประสานกันกับการดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจส่วนเอกชน ในทางที่จะให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม
กิจการอันเป็นการผูกขาดตัดตอนก็ดี การประกอบกิจการอันมีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคโดยเอกชนก็ดี จะกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๖๙ รัฐพึงส่งเสริมและบำรุงการประกอบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มพูนผลิตผลทั้งในทางปริมาณและคุณภาพและพึงสนับสนุนการสหกรณ์เพื่อผลเช่นว่านั้นด้วย
มาตรา ๗๐ รัฐพึงสนับสนุนการค้าและการประกอบการผลิตของเอกชน ทั้งในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
มาตรา ๗๑ รัฐพึงจัดการตามควรเพื่อมิให้มีการใช้แรงงานเด็กเกินกว่าสภาพแห่งร่างกายของเด็ก
มาตรา ๗๒ รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์ การป้องกันและปราบโรคระบาด รัฐจะต้องกระทำให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า
หมวด ๖
อำนาจนิติบัญญัติ
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
มาตรา ๗๓ รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทน รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๗๔ ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธานรัฐสภา
ประธานรัฐสภามีหน้าที่ดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามระเบียบ และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ให้รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่แทน
มาตรา ๗๕ ร่างพระราชบัญญัติจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
มาตรา ๗๖ ร่างพระราชบัญญัติซึ่งได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
มาตรา ๗๗ ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา ๗๘ บุคคลจะเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๗๙ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนจะเป็นข้าราชการประจำมิได้
มาตรา ๘๐ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน
(๑) ต้องไม่รับตำแหน่ง หรือหน้าที่ใดจากรัฐ หน่วยราชการของรัฐ หรือหน่วยงานใด ๆที่อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐโดยมีประโยชน์ตอบแทน หรือดำรงอยู่ซึ่งตำแหน่งหน้าที่เช่นว่านั้น ทั้งนี้นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น หรือตำแหน่งที่รัฐมนตรีต้องดำรงโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือตำแหน่งที่รัฐสภา วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนเป็นผู้แต่งตั้ง หรือตำแหน่งหรือหน้าที่เป็นผู้สอนในมหาวิทยาลัย หรือสถานศึกษาชั้นอุดมศึกษาอื่น
(๒) ต้องไม่เป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ที่รัฐหรือหน่วยราชการของรัฐเป็นผู้ลงทุนหรือถือหุ้นมากกว่าร้อยละห้าสิบของ ทุนหรือจำนวนหุ้นทั้งสิ้น
(๓) ต้องไม่รับสัมปทานจากรัฐหรือหน่วยราชการของรัฐ หรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานนั้น หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ หรือหน่วยราชการของรัฐอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยทางอ้อม
(๔) ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆจากรัฐหรือหน่วยราชการของรัฐเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่รัฐหรือหน่วยราชการของรัฐปฏิบัติกับบุคคลอื่น ๆ ในธุระกิจการงานตามปรกติและนอกจากเงินหรือประโยชน์ที่พึงได้รับในฐานะเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทน หรือในฐานะที่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ดำรงได้โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้
บทบัญญัติมาตรานี้มิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภา ผู้แทนรับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดที่ต้องจ่ายตามข้อผูกพันซึ่งมีระบุให้จ่ายในงบประมาณแผ่นดิน ประจำปีและมิให้ใช้บังคับในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผ้แทนรับหรือ ดำรงอยู่ซึ่งตำแหน่งกรรมการหรือกรรมาธิการที่มีประโยชน์ตอบแทนตามอัตราที่ กำหนดโดยกฎหมายหรือโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๘๑ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนไม่น้อยกว่าห้าคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิก ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกแห่งสภานั้นคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐ ธรรมนูญนี้ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาดและให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญแจ้งคำวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องดั่งกล่าวใน วรรคก่อน
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่ง สิ้นสุดลง ย่อมไม่กะทบกะทั่งกิจการที่สมาชิกคนนั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิกก่อนที่ ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัย
ส่วนที่ ๒
วุฒิสภา
มาตรา ๘๒ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่าง ๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๘๓ สมาชิกภาพแห่งสมาชิกวุฒิสภามีกำหนดเวลาคราวละหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งฉะเพาะในวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนดสามปีให้มีการเปลี่ยน สมาชิกเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะเลือกและแต่งตั้งผู้ที่ออกตามวาระเป็นสมาชิกอีกได้
มาตรา ๘๔ สมาชิกภาพแห่งสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๘๐
(๕) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐(๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ ( ๓)
(๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิด ที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ
มาตรา ๘๕ ถ้าตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงเลือกและแต่งตั้งบุคคลผู้มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา ๘๒ เข้ามาเป็นสมาชิกแทน สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่ง ตนแทน
ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๒ วรรคสองมาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามความในมาตรานี้
ส่วนที่ ๓
สภาผู้แทน
มาตรา ๘๖ สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งราษฎรเลือกตั้ง มีจำนวนตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๗
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ใช้วิธีลงคะแนน ออกเสียงโดยตรงและลับ และวิธีรวมเขตต์จังหวัด
มาตรา ๘๗ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ถือเกณฑ์จำนวนราษฎรแต่ละจังหวัดตามผลสำรวจ สำมะโนครัวครั้งสุดท้าย หนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อสมาชิกสภาผู้แทนหนึ่งคนถ้าจังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึง หนึ่งแสนห้าหมื่นคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นได้หนึ่งคน ถ้าจังหวัดใดมีราษฎรเกินหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ก็ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อ จำนวนราษฎรทุกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน เศษของหนึ่งแสนห้าหมื่นถ้าถึงเจ็ดหมื่นห้าพันหรือกว่านั้นให้นับเป็นหนึ่ง แสนห้าหมื่น
มาตรา ๘๘ บุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๙ และไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๙๐ ย่อมมีสิทธิเลือกตั้ง
มาตรา ๘๙ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติเป็นไทยตามกฎหมาย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวก็ดี บุคคลผู้ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงชาติก็ดี ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน อีกด้วย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
มาตรา ๙๐ บุคคลผู้มีลักษณะดั่งต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ
(๑) บุคคลวิกลจริต หรือจิตต์ฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๒) คนหูหนวกและเป็นใบ้ซึ่งไม่สามารถอ่านและเขียนหนังสือได้
(๓) ภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
(๔) ผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
(๕) ผู้อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งโดยคำพิพากษา
มาตรา ๙๑ บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๘๘ และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๒ ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามมาตรา ๙๓ ย่อมมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน แต่บทบัญญัติมาตรา ๙๐ (๔) มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ยังมิได้มีคำพิพากษาของศาลใดศาลหนึ่งให้จำคุก ผู้ต้องคุมขัง
มาตรา ๙๒ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดั่งต่อไปนี้
(๑) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(๒) มีความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาตาม หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ หรือมี ความรู้ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองว่าเทียบ ได้ไม่ต่ำกว่านั้น
มาตรา ๙๓ บุคคลผู้มีลักษณะดั่งต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คือ
(๑) ผู้ติดยาเสพติดให้โทษ
(๒) คนตาบอดทั้งสองข้าง
(๓) บุคคลล้มละลายซึ่งศาลยังไม่สั่งให้พ้นจากคดี
(๔) ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
(๕) ข้าราชการประจำ
(๖) บุคคลซึ่งเคยเป็นข้าราชการประจำมาแล้วและได้พ้นจากตำแหน่งราชการประจำมายังไม่ถึงหนึ่งปีในวันเลือกตั้ง แต่บทบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้จำต้องเข้ารับราชการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๙๔ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
มาตรา ๙๕ อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดคราวละสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไป
มาตรา ๙๖ เมื่ออายุของสภาผู้แทนสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
มาตรา ๙๗ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกใหม่
การยุบสภาผู้แทนให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในเก้าสิบวัน และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
การยุบสภาผู้แทนจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
มาตรา ๙๘ สมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาผู้แทนเริ่มแต่วันเลือกตั้ง
มาตรา ๙๙ สมาชิกภาพแห่งสมาชิกสภาผู้แทนสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือมีการยุบสภาผู้แทน
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา ๘๐
(๕) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ (๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ ( ๓) (๖) ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาโทษจำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มีกำหนดโทษชั้นลหุโทษ
มาตรา ๑๐๐ ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทน หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทน ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาผู้แทนจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน สมาชิกซึ่งเข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาที่เหลืออยู่
ส่วนที่ ๔
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง
มาตรา ๑๐๑ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
มาตรา ๑๐๒ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้
" ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า จะปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของข้าพเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา ๑๐๓ วุฒิสภาและสภาผู้แทนแต่ละสภา มีประธานสภาคนหนึ่ง และรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา
มาตรา ๑๐๔ ประธานและรองประธานวุฒิสภาดำรงตำแหน่งจนถึงวันก่อนวันเลือกประธานและรอง ประธานวุฒิสภาใหม่ ซึ่งจะต้องกระทำเมื่อถึงคราวที่มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่ง ประธานและรองประธานสภาผู้แทนดำรงตำแหน่งจนสิ้นอายุของสภาหรือมีการยุบสภา ประธานและรองประธานวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระพ้นจาก ตำแหน่งตามความในสองวรรคก่อน เมื่อ
(๑) ขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก
(๒) ลาออกจากตำแหน่ง
(๓) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือข้าราชการการเมืองอื่น
(๔) ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก
มาตรา ๑๐๕ ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนมีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบรองประธานมีหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
มาตรา ๑๐๖ ในเมื่อประธานและรองประธานแห่งวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา ๑๐๗ การประชุมวุฒิสภาก็ดี การประชุมสภาผู้แทนก็ดี ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๐๘ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษา ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่เรื่องซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้
สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
มาตรา ๑๐๙ ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้ นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์นี้ย่อมคุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์และผู้โฆษณารายงานการประชุมโดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงบุคคลที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ ประชุมด้วย
มาตรา ๑๑๐ สมัยประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสิ้นสุดลงพร้อมกัน ตามสมัยประชุมของรัฐสภา
มาตรา ๑๑๑ ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้
มาตรา ๑๑๒ ในปีหนึ่งให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้ แทนจะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือก ตั้ง
วันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปี ให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด
มาตรา ๑๑๓ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ ให้มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้ในระหว่างเวลาดั่งกล่าวในวรรคก่อน จะโปรดเกล้าฯ ให้ปิดประชุมก็ได้
มาตรา ๑๑๔ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งมาทำพิธีแทนพระองค์ก็ ได้
มาตรา ๑๑๕ เมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐพระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญก็ได้
มาตรา ๑๑๖ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนทั้งสองสภารวมกัน หรือสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงเรียกประชุมรัฐสภาเป็น การประชุมสมัยวิสามัญก็ได้คำร้องขอดั่งกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใด ก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภาก็ให้ยื่นต่อประธานรัฐสภาให้ประธานแห่งสภาที่ได้ รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูลและรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา ๑๑๗ การเรียกประชุม การขยายเวลาประชุมและการปิดประชุมรัฐสภา ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๑๑๘ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ หรือคุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไปทำการสอบสวน ในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิดในกรณีที่มีการจับสมาชิกวุฒิสภาหรือ สมาชิกสภาผู้แทนในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยด่วน และประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการคุม ขังได้
มาตรา ๑๑๙ ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกแต่กระนั้น การพิจารณาคดีก็ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาเข้าประชุม สภา
การพิจารณาที่ศาลได้กระทำไปก่อนมีคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่ง ย่อมเป็นอันใช้ได้
มาตรา ๑๒๐ ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา อยู่ก่อนสมัยประชุมเมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีต้องสั่งปล่อยทันที ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อน ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันสั่งปล่อยจนถึงวันสุดท้ายแห่งสมัยประชุม
มาตรา ๑๒๑ ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดยคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทน แต่ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สมาชิกสภาผู้แทนจะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัฐมนตรี
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน หมายความถึงร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่ง กล่าวคือการตั้งขึ้นหรือยกเลิกหรือลดหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือผ่อนหรือวาง ระเบียบการบังคับอันเกี่ยวกับภาษีหรืออากร การจัดสรรหรือรับหรือรักษาหรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการค้ำประกัน หรือการใช้เงินกู้ หรือร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเงินตรา
ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็น ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่
มาตรา ๑๒๒ ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อน เมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อวุฒิสภาและวุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดหกสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายในกำหนดสามสิบวัน ทั้งนี้เว้นแต่สภาผู้แทนจะได้ลงมติขยายเวลาออกไปเป็นพิเศษ
กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม และให้เริ่มนับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงวุฒิสภา
ถ้าวุฒิสภาไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้เสร็จภายในกำหนดเวลาที่ กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
มาตรา ๑๒๓ เมื่อวุฒิสภาได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติเสร็จแล้ว
(๑) ถ้าหากวุฒิสภาเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖
(๒) ถ้าหากวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน และส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมายังสภาผู้แทน
(๓) ถ้าหากวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัติตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมนั้นกลับคืนมายังสภาผู้แทน ในกรณีเช่นว่านี้ ให้สภาทั้งสองต่างตั้งบุคคลที่เป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ มีจำนวนเท่ากันตามที่สภาผู้แทนกำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น แล้วให้คณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นรายงานและเสนอร่างพระราชบัญญัติตามที่ได้พิจารณาแล้วต่อสภาทั้งสอง ถ้าสภาทั้งสองต่างเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการร่วมกันได้พิจารณาแล้วนั้น ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖ ถ้าสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัตินั้นไว้ก่อน * คณะกรรมาธิการร่วมกันย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใด ๆมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติได้ และเอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมกัน ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม และให้นำข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมาธิการมา ใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๒๔ ร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้โดยบทบัญญัติมาตรา ๑๒๓ นั้น เมื่อเวลาหนึ่งปีได้ล่วงพ้นไป นับแต่วันที่วุฒิสภาส่งร่างพระราชบัญญัติกลับคืนมายังสภาผู้แทนสภาผู้แทนอาจ ยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖
ถ้าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องยับยั้งไว้เป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน สภาผู้แทนอาจยกร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้ทันที ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันร่างเดิมหรือร่างที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นอันได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๗๖
มาตรา ๑๒๕ ในกรณีที่สภาผู้แทนสิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน บรรดาร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ หรือที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน ให้เป็นอันตกไป
มาตรา ๑๒๖ งบประมาณแผ่นดินประจำปีให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ ให้ใช้พระราชบัญญัติงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลาง
มาตรา ๑๒๗ การจ่ายเงินแผ่นดิน จะกระทำได้ก็ฉะเพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ ต้องขออนุมัติจากรัฐสภาในโอกาสแรกที่พึงกระทำได้คำอนุมัติของรัฐสภาให้ทำ เป็นพระราชบัญญัติฉะเพาะเรื่อง หรือรวมลงไวัในพระราชบัญญัติโอนเงินในงบประมาณหรือพระราชบัญญัติงบประมาณ เพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีถัดไป
มาตรา ๑๒๘ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดินโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๒๙ ในที่ประชุมวุฒิสภาหรือสภาผู้แทน สมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในข้อความใดอันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
มาตรา ๑๓๐ สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้ง หมดของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา หรือสภาผู้แทน แล้วแต่กรณี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับ การบริหารราชการแผ่นดิน ญัตติดั่งกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใดก็ให้ยื่นต่อประธานแห่งสภานั้น และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับญัตติแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเวลาสำหรับการเปิดอภิปรายทั่วไป ซึ่งต้องไม่ช้ากว่าสามสิบวันนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีได้รับแจ้ง แต่คณะรัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะขอให้ระงับการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นเสียได้เมื่อเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน
ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรานี้ สภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
มาตรา ๑๓๑ สมาชิกสภาผู้แทนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายตัวหรือทั้งคณะ เมื่อการเปิดอภิปรายทั่วไปในสภาผู้แทนสิ้นสุดลง โดยมิใช่ด้วยมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป ก็ให้ประธานสภาผู้แทนแจ้งไปยังประธานวุฒิสภา และในกรณีเช่นว่านี้ วุฒิสภาอาจเปิดอภิปรายทั่วไปในปัญหาเดียวกันนั้น และอาจส่งข้อสังเกตไปยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานั้นได้
การลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ให้สภาผู้แทนกระทำภายหลังที่ได้รับแจ้งผลแห่งการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาตามความในวรรคก่อนแล้ว
มาตรา ๑๓๒ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
มาตรา ๑๓๓ การประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อ บังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนร้องขอให้ ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
มาตรา ๑๓๔ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกของแต่ละสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการ สามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภาคณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ย่อมมีอำนาจ เรียกบุคคลใด ๆ มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาอยู่นั้นได้ เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
มาตรา ๑๓๕ การประชุมคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรรมาธิการประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
มาตรา ๑๓๖ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมปรึกษาของแต่ละสภา เกี่ยวกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การเสนอญัตติ การประชุม การปรึกษาและกิจการอื่น เพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ส่วนที่ ๕
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
มาตรา ๑๓๗ ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
(๑) การให้ความเห็นชอบในการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐
(๒) การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อรัฐสภาตามความในมาตรา
(๓) การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามความในมาตรา ๒๕
(๔) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติใหม่ตามความในมาตรา ๗๗
(๕) การเปิดประชุมรัฐสภาตามความในมาตรา ๑๑๔
(๖) การเปิดอภิปรายทั่วไปตามความในมาตรา ๑๓๒
(๗) การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามความในมาตรา ๑๕๓
(๘) การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา ๑๕๔
(๙) การแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๖๘
(๑๐) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๗๓
(๑๑) การตีความรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๗๗
มาตรา ๑๓๘ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมปรึกษาของวุฒิสภาโดยอนุโลม
มาตรา ๑๓๙ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
หมวด ๗
อำนาจบริหาร
มาตรา ๑๔๐ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งและรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่าสิบห้าคนและไม่มากกว่ายี่สิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี
มาตรา ๑๔๑ ก่อนเข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีต้องปฏิญาณตนฉะเพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ด้วยถ้อยคำดั่งต่อไปนี้ “ ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะซื่อสัตย์สุจริตและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระบรมนามาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ”
มาตรา ๑๔๒ รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการประจำมิได้
มาตรา ๑๔๓ รัฐมนตรีจะกระทำการใด ๆ ที่ห้ามไว้มิให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนกระทำตามที่บัญญัติในมาตรา ๘๐ มิได้ และนอกจากนั้นรัฐมนตรีจะเป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน หรือลูกจ้างของบุคคลห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือองค์การใด ๆ ซึ่งดำเนินธุระกิจเพื่อค้ากำไร ก็มิได้ด้วย
มาตรา ๑๔๔ รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งสภา ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของ วุฒิสภาหรือสภาผู้แทน หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๙ ให้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๕ ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของสภาผู้แทน
รัฐมนตรีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาใน หน้าที่ของตน และรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
มาตรา ๑๔๖ คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินจะต้องแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนและต่อ วุฒิสภาตามลำดับ การลงมติให้ความไว้วางใจหรือไม่ให้ความไว้วางใจคณะรัฐมนตรีนั้น ให้สภาผู้แทนกระทำภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อวุฒิสภาแล้ว ในการที่คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อวุฒิสภานั้นวุฒิสภาอาจตั้งข้อสังเกตส่งไป ยังสภาผู้แทนเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานั้นได้
มาตรา ๑๔๗ ในระหว่างเวลาบริหารราชการแผ่นดินภายหลังที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทน แล้ว ถ้ามีพฤตติการณ์ที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้สภาผู้แทนยืนยันความไว้วางใจอีกก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๘ รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) สภาผู้แทนไม่ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๑๔๖ หรือมาตรา ๑๔๗
(๒) สภาผู้แทนมีมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๓๑
(๓) สภาผู้แทนที่ได้ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๑๔๖ สิ้นอายุหรือมีการยุบสภาผู้แทน
(๔) คณะรัฐมนตรีลาออก
(๕) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา ๑๔๙
คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
มาตรา ๑๔๙ ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงฉะเพาะตัวเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ ( ๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ ( ๓)
(๔) ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก
(๕) กระทำการที่ต้องห้ามตามมาตรา ๑๔๓
(๖) สภาผู้แทนลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๓๑
มาตรา ๑๕๐ ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน ในอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดีเมื่อกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้น ในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้เสนอพระราชกำหนดนั้นต่อรัฐสภาโดยไม่ชักช้า ถ้ารัฐสภาอนุมัติแล้ว พระราชกำหนดนั้นก็ให้มีผลเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ถ้ารัฐสภาไม่อนุมัติ พระราชกำหนดนั้นก็เป็นอันตกไป แต่ทั้งนี้ไม่กะทบกะทั่งกิจการที่ได้เป็นไปในระหว่างที่ใช้พระราชกำหนดนั้น คำอนุมัติและไม่อนุมัติให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ
มาตรา ๑๕๑ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้ามีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยการภาษีอากรหรือเงินตรา ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
พระราชกำหนดที่ได้ตราขึ้นตามความในวรรคก่อน จะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาภายในสองวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๕๐ วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา ๑๕๒ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยยการศึกตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยยการศึกฉะเพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยยการศึก
มาตรา ๑๕๓ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศสงคราม เมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภาแล้ว
มติให้ความยินยอมของรัฐสภา ต้องมีเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
มาตรา ๑๕๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพสงบศึก และทำหนังสือสัญญาอื่นกับนานาประเทศ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตต์ไทยหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญาต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
มาตรา ๑๕๕ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
มาตรา ๑๕๖ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการถอดถอนฐานันดรศักดิ์ และเรียกคืนเครื่องราชอิสสริยาภรณ์
มาตรา ๑๕๗ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย
มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวงอธิบดี และเทียบเท่า
มาตรา ๑๕๙ การกำหนดคุณสมบัติ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนและการลงโทษข้าราชการ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา ๑๖๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๘๒ มาตรา ๘๕ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๑๔๐ และมาตรา ๑๗๔ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
หมวด ๘
อำนาจตุลาการ
มาตรา ๑๖๑ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะ ซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
มาตรา ๑๖๒ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
มาตรา ๑๖๓ การตั้งศาลขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยฉะเพาะ แทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้
มาตรา ๑๖๔ การบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วย ธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณา เพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยฉะเพาะ จะกระทำมิได้
มาตรา ๑๖๕ ผู้พิพากษามีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
มาตรา ๑๖๖ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ย้าย และถอดถอนผู้พิพากษา
มาตรา ๑๖๗ การแต่งตั้ง การย้าย และการถอดถอนผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล
การเลื่อนตำแหน่งและการเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็น ชอบของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
หมวด ๙
ตุลาการรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๖๘ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทน ประธานศาลฎีกาอธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยยการ และบุคคลอื่นอีกสี่คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย
ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๖๙ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
วิธีการพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
มาตรา ๑๗๐ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายในสามสิบวันนับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก
กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
ในการแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในวรรคแรก รัฐสภาจะแต่งตั้งผู้ที่พ้นจากตำแหน่งให้เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่อีกได้
มาตรา ๑๗๑ ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) เปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) มีลักษณะต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐ (๑) (๒) (๓) และ ( ๕) และมาตรา ๙๓ (๑) (๒) และ ( ๓)
(๕) ต้องคำพิพากษาโทษจำคุก
มาตรา ๑๗๒ ถ้าตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกเมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งทั่ว ไปให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญเข้ามาแทนภายในกำหนดเวลาสามสิบวัน กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
หมวด ๑๐
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๑๗๓ รัฐธรรมนูญนี้จะแก้ไขเพิ่มเติมได้ก็แต่โดยเงื่อนไขดั่งต่อไปนี้
(๑) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิก สภาผู้แทนรวมกัน หรือจากสมาชิกของแต่ละสภา ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
(๒) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ ให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ
(๓) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งชั้นรับหลักการให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
(๔) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สอง ชั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเอาเสียงข้าง มากเป็นประมาณ
(๕) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป
(๖) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามชั้นสุดท้ายให้ใช้วิธีเรียกชื่อ และต้องมีเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
(๗) เมื่อการออกเสียงลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวข้างบนนี้แล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗๖ และมาตรา ๗๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ตามมาตรา ๑๗๓ กะทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัยพระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียงเป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชกฤษฎีกานั้น ต้องกำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงภายในเก้าสิบวัน ซึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรและให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ ในเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรานี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๗๓ (๗) มาใช้บังคับ
ในการให้ประชาชนออกเสียงตามมาตรา ๑๗๔ ถ้ามีเสียงข้างมากเป็นประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงลงพระปรมาภิไธยภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศผลประชามติ และเมื่อได้ประกาศรัฐธรรมนูญนั้นในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ถ้าไม่มีเสียงข้างมากเป็นประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป
บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๙ ถ้ามีปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญอันอยู่ในวงงานของวุฒิสภา สภาผู้แทน หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะตีความ และให้ถือว่าการตีความของรัฐสภาเป็นเด็ดขาด ในการตีความรัฐธรรมนูญตามความในวรรคก่อน ต้องมีสมาชิกประชุมไม่ต่ำกว่ากึ่งจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา จึงจะเป็นองค์ประชุม
บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา ๑๗๘ ก็ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการ เพื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด และให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กะทบกระทั่งคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว
คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
บทเฉพาะกาล
มาตรา ๑๘๐ ในวาระเริ่มแรก ถ้าต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญนี้ ก็ให้ประธานอภิรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘๑ ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉะบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และกำหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพให้นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สมาชิกชุดนั้น
มาตรา ๑๘๒ ให้สมาชิกสภาผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉะบับชั่วคราว) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญนี้ และอายุของสภาให้นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งสมาชิกชุดนั้นได้รับเลือกตั้ง
ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนซึ่งจะได้รับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๘๔ เข้ารับหน้าที่ ให้สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกดั่งกล่าวในวรรคก่อน
มาตรา ๑๘๓ ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๐ มาใช้บังคับแก่สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทน แต่ทั้งนี้ฉะเพาะในกรณีที่สมาชิกนั้น ๆ ได้กระทำการต้องตามลักษณะที่ต้องห้ามตามความในมาตรานั้นมาก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘๔ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นให้ครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๗ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘๕ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนเพิ่มขึ้นให้ครบถ้วนตามความในมาตรา ๑๘๔ ให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙ และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๙๐ มาใช้บังคับ ยกเว้นการห้ามตามมาตรา ๑๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉะบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๗๙
ก่อนที่จะได้มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ก็ให้นำบทบัญญัติวรรคก่อนมาใช้บังคับ
มาตรา ๑๘๖ ให้คณะรัฐมนตรีซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉะบับชั่วคราว) คงอยู่ในตำแหน่งบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาต่อไปก่อน และพ้นจากตำแหน่งเมื่อสมาชิกสภาผู้แทนชุดที่ได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นตามความในมาตรา ๑๘๔ เข้ารับหน้าที่ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๘ วรรคสองมาใช้บังคับ
มาตรา ๑๘๗ ภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๔๓ มาใช้บังคับแก่รัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ฉะเพาะในกรณีที่รัฐมนตรีนั้น ๆได้กระทำการต้องตามลักษณะที่ต้องห้ามตามความในมาตรานั้นมาก่อนวันใช้รัฐ ธรรมนูญนี้
มาตรา ๑๘๘ ในวาระเริ่มแรก ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๑๖๘ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันเปิดประชุมครั้งแรกหลังจากวันใช้รัฐธรรมนูญนี้
กำหนดวันดั่งกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุม
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ศรีธรรมาธิเบศ
ประธานวุฒิสภา
หมายเหตุ คณะรัฐประหารและจอมพล ป. พิบูลสงคราม ล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยกระทำการรัฐประหารตัวเอง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 และนำเอารัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งจอมพล ป. เคยใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศไทยมาเป็นเวลา 10 กว่าปีก่อนหมดอำนาจ กลับมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงยังผลให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ต้องสิ้นสุดลง หลังจากบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 ถึง 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 รวมระยะเวลาบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน 7 วัน