วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 ของประเทศไทย

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ฉบับชั่วคราว) เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเป็นผู้ยกร่างขึ้นเอง และขอพระบรมราชโองการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 98 มาตรา  

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีฉายาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่มแดง ทั้งนี้เนื่องจากพลโท กาจ เก่งระดมยิง ผู้นาคนหนึ่งของคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างไว้ตั้งแต่ระหว่างที่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ยังใช้บังคับอยู่ และได้นำเอาไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มแดงในบ้าน โดยเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลค้นพบและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้เด็ดขาดแล้วในตอนค่ำของวันที่ 8 พฤศจิกายน นายเขมชาติ บุณยรัตพันธ์ ได้ใช้เวลาแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำอีก 7 ชั่วโมง ก่อนนำขึ้นกราบบังคมทูลขอให้ผู้สำเร็จราชการในขณะนั้นมีพระบรมราชโองการประกาศใช้

คณะรัฐประหารได้ให้เหตุผลในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แทนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ว่า ที่จำต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับก่อนเหมาะสมกับประเทศไทยในสมัยที่แล้วมาเท่านั้น นอกจากนั้นแนวการปกครองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นเหตุให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับได้ คณะรัฐประหารเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็น “วิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนาถาวร” และเป็น “ทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป” โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีรายละเอียดดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉะบับชั่วคราว)

ตราไว้ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐
รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร
เป็นปีที่ ๒ ในรัชชกาลปัจจุบัน

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ตราไว้และได้ใช้เป็นกฎหมายปกครองประเทศชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ และได้มาเปลี่ยนแปลงแก้ไขประกาศใช้เป็นฉะบับใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น นับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เหมาะสมกับประเทศชาติในกาลสมัยที่ล่วงแล้วมา

บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตกาล ประชาชนพลเมืองได้รับความลำบากเดือดร้อน เพราะขาดอาหาร ขาดเครื่องนุ่งห่ม และขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปปการ เครื่องบริโภคและอุปโภคทุกอย่างมีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาแต่กาลก่อนขึ้นใน ประชาชน บรรดาผู้บริหารราชการแผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเข้าสู่ภาวะอย่างเดิมได้ การดำเนินการของรัฐบาลและการควบคุมราชการฝ่ายบริหารของรัฐสภา เพื่อมุ่งหมายที่จะช่วยกันแก้ไขให้ดีขึ้น ตามวิถีทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉะบับนั้น ไม่ประสพผลดีเลยแม้แต่น้อยเป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ และตรงกันข้ามกลับทำให้เห็นว่า การแก้ไขทุกอย่างเป็นเหตุที่ทำให้ประเทศชาติทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ถ้าจะคงปล่อยให้เป็นไปตามยะถากรรม ก็จะนำมาซึ่งความหายนะแก่ประเทศชาติอย่างไม่มีสุดสิ้น จนถึงกับว่าจะไม่ดำรงอยู่ในภาวะอันควรแก่ความเป็นไทยต่อไปอีกได้

ราษฎรไทยส่วนมากผู้สนใจต่อการนี้พร้อมด้วยทหารของชาติได้พร้อมใจกันนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉะบับใหม่อันจะเป็นวิถีทางจรรโลงประเทศชาติให้วัฒนา ถาวร อีกทั้งจะเป็นทางบำบัดยุคเข็ญของประชาชนทั้งปวงให้เข้าสู่ภาวะปกติได้สืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้เลิกใช้รัฐธรรมนูญฉะบับปัจจุบัน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉะบับใหม่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

บททั่วไป 
 
มาตรา ๑ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้
ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใดย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
 
มาตรา ๒ อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น แต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

หมวด ๑
พระมหากษัตริย์
 
 
มาตรา ๓ องค์พระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 
 
มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก 
 
มาตรา ๕ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย 
 
มาตรา ๖ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา และทรงประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 
 
มาตรา ๗ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินทางคณะรัฐมนตรี และทรงประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 
 
มาตรา ๘ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล
 
มาตรา ๙ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำหรับถวายคำปรึกษาในราชการแผ่นดิน 
 
มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้แต่งตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่คณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ทันที 
 
มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามความในมาตรา ๑๐ ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศแต่งตั้งผู้สืบสันตติวงศ์ในหน้าที่พระมหากษัตริย์ต่อไป 
 
มาตรา ๑๒ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา

หมวด ๒
อภิรัฐมนตรี
 
 
มาตรา ๑๓ อภิรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งประจำมีห้านายเป็นผู้บริหารราชการในพระองค์ และถวายคำปรึกษาแด่พระมหากษัตริย์ 
 
มาตรา ๑๔ อภิรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ด้วยการถวายความเห็นโดยชอบและถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกสาขา 
 
มาตรา ๑๕ ในคณะอภิรัฐมนตรีจะทรงพระกรุณาแต่งตั้งผู้อาวุโสเป็นประธานคณะหนึ่งนาย 
 
มาตรา ๑๖ อภิรัฐมนตรีจะพ้นหน้าที่ต่อเมื่อ ลาออก ทุพพลภาพ หรือตาย 
 
มาตรา ๑๗ เมื่อตำแหน่งอภิรัฐมนตรีว่างลงจะได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแทน อย่างน้อยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งแทนจะต้องมีคุณสมบัติ เป็นผู้รับราชการประจำมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี และเคยรับราชการอย่างต่ำตำแหน่งอธิบดี หรือเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี 
 
มาตรา ๑๘ คณะอภิรัฐมนตรีมีหน่วยราชการขึ้นอยู่ตามที่จะมีประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๑๙ ประธานคณะอภิรัฐมนตรีจะได้มอบหมายให้อภิรัฐมนตรีคนใดบัญชาหน่วยราชการที่กำหนดตามพระราชกฤษฎีกา
 
มาตรา ๒๐ การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน การลงโทษ การกำหนดคุณสมบัติข้าราชการ ให้เป็นไปโดยกฎหมาย

หมวด ๓
สิทธิและหน้าที่ของชนชาวไทย
 
 
มาตรา ๒๑ บุคคลย่อมมีฐานะเสมอกันตามกฎหมาย ฐานันดรศักดิ์ โดยกำเนิดก็ดี โดยแต่งตั้งก็ดี หรือโดยประการอื่นก็ดี ไม่กระทำให้เกิดเอกสิทธิอย่างใดเลย 
 
มาตรา ๒๒ บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใด ๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
 
มาตรา ๒๓ บุคคลย่อมมีเสรีภาพโดยบริบูรณ์ในร่างกาย เคหะสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การอาชีพ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งตัวบทกฎหมาย 
 
มาตรา ๒๔ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ 
 
มาตรา ๒๕ บุคคลมีหน้าที่เคารพต่อกฎหมาย และมีหน้าที่ป้องกันประเทศ ช่วยเหลือราชการทางเสียภาษี และอื่น ๆ ภายในเงื่อนไข และโดยวิธีการที่กฎหมายบัญญัติทั้งต้องมีการศึกษาและการอาชีพ

หมวด ๔
อำนาจนิติบัญญัติ
 
ส่วนที่ ๑
บททั่วไป
            
มาตรา ๒๖ รัฐสภาประกอบด้วย วุฒิสภา และสภาผู้แทน ไม่ว่าจะประชุมแยกกันหรือร่วมกัน
            
มาตรา ๒๗ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะตราขึ้นเป็นกฎหมายได้ด้วยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา
            
มาตรา ๒๘ การตราพระราชบัญญัติขึ้นเป็นกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญานั้นจะกระทำมิได้
            
มาตรา ๒๙ ร่างพระราชบัญญัติซึ่งรัฐสภาได้ทำขึ้นเสร็จแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
            
มาตรา ๓๐ ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังรัฐสภาภายในหนึ่งเดือน รัฐสภาจะต้องปรึกษากันใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิม ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อถวายประกาศใช้ต่อไป
            
มาตรา ๓๑ ร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายจะเสนอมาจากคณะรัฐมนตรีหรือจากสมาชิกรัฐสภาก็ได้
            
มาตรา ๓๒ บุคคลใดจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนขณะเดียวกันไม่ได้
            
มาตรา ๓๓ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งมีจำนวนเท่าสมาชิกสภาผู้แทน
            
มาตรา ๓๔ สมาชิกภาพแห่งวุฒิสภา มีกำหนดเวลาคราวละ ๖ ปี ฉะเพาะเมื่อวาระเริ่มแรกเมื่อครบกำหนด ๓ ปี ให้มีการเปลี่ยนสมาชิกกึ่งหนึ่งโดยวิธีจับสลาก
           
มาตรา ๓๕ สมาชิกภาพแห่งวุฒิสภาสุดสิ้นลงเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามวาระ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
            
มาตรา ๓๖ ในระหว่างที่สภาผู้แทนถูกยุบ ถ้าจำเป็นจะมีการประชุมวุฒิสภาก็ทำได้

ส่วนที่ ๒
สภาผู้แทน
            
มาตรา ๓๗ สภาผู้แทนประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน
สมาชิกสภาผู้แทนต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ใช้วิธีเลือกตั้งออกเสียงโดยตรงและลับ
            
มาตรา ๓๘ คุณสมบัติของผู้เลือกตั้งและผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งและจำนวนสมาชิก ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน และอย่างน้อยผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องมีเชื้อชาติเป็นไทยและมีอายุไม่ต่ำ กว่า ๓๕ ปี
            
มาตรา ๓๙ อายุของสภาผู้แทนมีกำหนดเวลาคราวละ ๔ ปี
ถ้าตำแหน่งสมาชิกว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามอายุหรือยุบสภา ให้เลือกตั้งสมาชิกขึ้นแทนภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน เว้นแต่อายุของสภาจะเหลือไม่ถึงหกเดือน และสมาชิกที่เข้ามาแทนนั้นย่อมอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน
            
มาตรา ๔๐ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งสมาชิกมาใหม่ ในพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา ต้องมีกำหนดเวลาให้เลือกตั้งสมาชิกใหม่ภายในเก้าสิบวัน
การยุบสภาผู้แทนจะยุบได้ครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน
            
มาตรา ๔๑ สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนสุดสิ้นลงเมื่อ
(๑) ถึงคราวออกตามอายุของสภาหรือยุบสภา
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน

ส่วนที่ ๓
บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง
            
มาตรา ๔๒ สมาชิกสภาผู้แทนมีสิทธิเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ คณะรัฐมนตรีรายตัวหรือทั้งคณะก็ได้ โดยมีสมาชิกรับรองไม่ต่ำกว่า ๒๔ คน การลงมติในกรณีเช่นนี้มิให้กระทำในวันเดียวกันกับวันที่ปรึกษา
            
มาตรา ๔๓ ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญ
            
มาตรา ๔๔ สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนชาวไทย
            
มาตรา ๔๕ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนตามมติของสภานั้น ๆ ให้เป็นประธานแห่งสภาคนหนึ่ง เป็นรองประธานคนหนึ่งหรือหลายคนก็ได้
            
มาตรา ๔๖ ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทน มีหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามระเบียบรองประธานมีหน้าที่ทำกิจการแทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
           
มาตรา ๔๗ ในเมื่อประธานและรองประธานวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกของสภานั้น ๆ เลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
            
มาตรา ๔๘ การประชุมของวุฒิสภาก็ดี หรือของสภาผู้แทนก็ดี ทุกคราวต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุมได้
            
มาตรา ๔๙ การลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้น ให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ เว้นแต่เรื่องซึ่งมีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษในรัฐธรรมนูญนี้
สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้ามีจำนวนเสียงลงคะแนนเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นได้อีกเสียงหนึ่ง และเป็นเสียงชี้ขาด
            
มาตรา ๕๐ ในที่ประชุมแห่งสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิโดยเด็ดขาดผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์นี้คุ้มครองไปถึงผู้พิมพ์โฆษณารายงานการประชุม โดยคำสั่งของสภา และคุ้มครองไปถึงผู้ที่สภาเชิญมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมด้วย
            
มาตรา ๕๑ สมัยประชุมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเริ่มต้นและสุดสิ้นลงพร้อมกัน
            
มาตรา ๕๒ ในปีหนึ่งมีสมัยประชุมของสภาทั้งสองสมัยหนึ่งหรือหลายสมัยแล้วแต่สภาผู้แทน จะกำหนด การประชุมครั้งแรกต้องกำหนดให้สมาชิกได้มาประชุมภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้ง วันเริ่มสมัยประชุมประจำปีให้สภาผู้แทนเป็นผู้กำหนด
            
มาตรา ๕๓ สมัยประชุมสามัญสมัยหนึ่ง ๆ มีกำหนดเวลาเก้าสิบวัน แต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเวลาออกไปก็ได้
อนึ่งในระหว่างเวลาเก้าสิบวันนั้นจะโปรดเกล้า ฯ ปิดประชุมก็ได้
            
มาตรา ๕๔ พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงปิดและเปิดประชุม
พิธีเปิดประชุมจะทรงพระกรุณาเสด็จดำเนินมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้า ฯ ให้รัชชทายาท ที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
           
มาตรา ๕๕ เมื่อเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน พระมหากษัตริย์จะทรงเรียกประชุมวิสามัญแห่งสภาทั้งสองก็ได้
           
มาตรา ๕๖ สมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนทั้งสองสภาหรือสมาชิกแต่ละสภามีจำนวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกของทั้งสองสภา มีสิทธิเข้าชื่อยื่นร้องขอให้นำความกราบบังคมทูลขอให้ทรงเรียกประชุมวิสามัญ แห่งสภาทั้งสองก็ได้
คำร้องขอดังกล่าวในวรรคก่อน ถ้าเป็นของสมาชิกแห่งสภาใด ก็ให้ยื่นต่อสภานั้น ถ้าเป็นของสมาชิกทั้งสองสภา ก็ให้ยื่นต่อประธานสภาของสภาที่มีสมาชิกเข้าชื่อมากกว่า ถ้ามีจำนวนเท่ากันให้ยื่นต่อประธานวุฒิสภา
ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องขอนำความกราบบังคมทูล และรับสนองพระบรมราชโองการ
            
มาตรา ๕๗ ในระหว่างสมัยประชุม ผู้ใดจะฟ้องร้องสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนในทางอาญา ศาลจะต้องได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกก่อนจึงจะพิจารณาได้ แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องมิให้เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะเข้ามาประชุม
การพิจารณาคดีที่ศาลได้กระทำไปก่อนคำอ้างว่าจำเลยเป็นสมาชิกของสภาใดสภาหนึ่งนั้น ย่อมเป็นอันใช้ได้
            
มาตรา ๕๘ ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับหรือหมายเรียกตัวสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนไปกักขัง เว้นแต่จับในขณะที่กระทำผิด แต่ต้องรีบรายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ประธานแห่งสภานั้นอาจสั่งปล่อยผู้ถูกจับให้พ้นจากการกักขังได้
            
มาตรา ๕๙ ถ้าสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนถูกกักขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุมพนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณีต้องสั่งปล่อย ถ้าหากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ
คำสั่งปล่อยตามความในวรรคก่อนให้มีผลบังคับตั้งแต่วันปล่อย จนถึงวันสุดท้ายแห่งการประชุม
            
มาตรา ๖๐ ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนก่อน เมื่อสภาผู้แทนได้พิจารณาลงมติให้ใช้ได้แล้ว ให้นำเสนอต่อวุฒิสภา ถ้าวุฒิสภาพิจารณาลงมติเห็นชอบด้วยโดยไม่แก้ไขแล้ว ก็ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙
ถ้าหากวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบด้วย ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามวุฒิสภาแล้วก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินั้น เป็นอันตกไป
ถ้าวุฒิสภาลงมติให้แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ส่งร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาให้สภาผู้แทนพิจารณาใหม่ ถ้าสภาผู้แทนลงมติเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมมา ก็ให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙
ถ้าหากสภาผู้แทนลงมติยืนยันตามเดิมในร่างพระราชบัญญัติที่ส่ง กลับคืนมาตามความในวรรคสองหรือวรรคสามด้วยคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งของสมาชิก ทั้งหมดแล้ว ก็ให้ถือว่าร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้ดำเนินการต่อไปตามความในมาตรา ๒๙
            
มาตรา ๖๑ ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินนั้นจะเสนอได้โดยคณะรัฐมนตรีหรือโดยสมาชิกรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีรับรอง
ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหมายถึงร่างพระราชบัญญัติว่า ด้วยข้อความต่อไปนี้ทั้งหมด หรือแต่ข้อใดข้อหนึ่งกล่าวคือ การตั้งขึ้นหรือยกเลิก หรือลด หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือผ่อน หรือวางระเบียบการบังคับ อันเกี่ยวแก่การภาษีหรืออากร หรือว่าด้วยเงินตรา การจัดสรร รับ รักษา หรือจ่ายเงินแผ่นดิน หรือการกู้เงิน หรือการประกัน หรือการใช้เงินกู้
ในกรณีเป็นที่สงสัย ให้เป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนที่จะวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใด เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่
           
มาตรา ๖๒ ร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนได้ลงมติให้ใช้ได้ และได้เสนอไปยังวุฒิสภานั้น วุฒิสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนดสามสิบวัน แต่ถ้าร่างพระราชบัญญัตินั้นเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน วุฒิสภาจะต้องพิจารณาและลงมติภายในกำหนด ๑๕ วัน
กำหนดวันดังกล่าวในวรรคก่อนให้หมายถึงวันในสมัยประชุมและเริ่มนับตั้งแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นได้มาถึงวุฒิสภา
ถ้าวุฒิสภาไม่ได้พิจารณาลงมติในร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทน ส่งมาภายในกำหนดเวลาที่กล่าวในวรรคแรก ก็ให้ถือว่าวุฒิสภาได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัตินั้น
            
มาตรา ๖๓ งบประมาณแผ่นดินประจำปี ต้องตราขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติออกไม่ทันปีใหม่ให้ใช้พระราชบัญญัติปีก่อนนั้นไปพลาง
            
มาตรา ๖๔ วุฒิสภาและสภาผู้แทน มีอำนาจควบคุมราชการแผ่นดิน โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
            
มาตรา ๖๕ ในที่ประชุมของวุฒิสภาหรือสภาผู้แทนสมาชิกทุกคนมีสิทธิตั้งกระทู้ถาม รัฐมนตรีในข้อความใด อันเกี่ยวกับงานในหน้าที่ได้ แต่รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบได้ เมื่อเห็นว่าข้อความนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดิน
            
มาตรา ๖๖ การประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนย่อมเป็นการเปิดเผยตามลักษณะที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละสภา แต่ถ้าหากคณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกของแต่ละสภาไม่ต่ำกว่า ๒๕ คน ร้องขอให้ประชุมลับ ก็ให้ประชุมลับ
            
มาตรา ๖๗ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจเลือกสมาชิกแห่งสภาตั้งเป็นคณะกรรมาธิการสามัญ และมีอำนาจเลือกบุคคลที่เป็นสมาชิกหรือมิได้เป็นสมาชิกในสภาก็ตามเป็นคณะ กรรมาธิการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนข้อความใด อันอยู่ในวงงานของสภาแล้วรายงานต่อสภา คณะกรรมาธิการที่กล่าวนี้ ย่อมมีอำนาจเรียกบุคคลใดมาชี้แจงแสดงความเห็นในเรื่องกิจการที่กระทำหรือ พิจารณาอยู่นั้นได้
เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ นั้น ให้คุ้มครองถึงบุคคลผู้ที่กระทำหน้าที่ตามมาตรานี้ด้วย
           
มาตรา ๖๘ การประชุมคณะกรรมาธิการตามมาตรา ๖๗ นั้น ต้องมีกรรมาธิการไม่ต่ำกว่าครึ่งจำนวนมาประชุมจึงเป็นองค์ประชุมได้
            
มาตรา ๖๙ วุฒิสภาและสภาผู้แทนมีอำนาจตั้งข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนที่ ๔
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา
            
มาตรา ๗๐ ในกรณีต่อไปนี้ ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน
(๑) การให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติตามความในมาตรา ๑๒
(๒) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติกันใหม่ตามความในมาตรา ๓๐
(๓) พิธีเปิดประชุมรัฐสภาตามความในมาตรา ๕๔
(๔) การลงมติความไว้ใจในคณะรัฐมนตรี ตามความในมาตรา ๗๗
(๕) การให้ความยินยอมในการประกาศสงครามตามความเห็นชอบในมาตรา ๘๓
(๖) การให้ความเห็นชอบแก่หนังสือสัญญาตามความในมาตรา ๘๔
(๗) การตีความในรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา ๙๔
           
มาตรา ๗๑ ให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานของที่ร่วมประชุมของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน
            
มาตรา ๗๒ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของวุฒิสภาโดยอนุโลม
            
มาตรา ๗๓ ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ให้นำบทที่ใช้แก่สภาทั้งสองมาใช้โดยอนุโลม

หมวด ๕
อำนาจบริหาร
           
มาตรา ๗๔ พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอย่างน้อยสิบห้าคน อย่างมากยี่สิบห้าคน
ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
            
มาตรา ๗๕ ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน
            
มาตรา ๗๖ รัฐมนตรีผู้มิได้เป็นสมาชิกแห่งสภา ย่อมมีสิทธิไปประชุมและแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในวุฒิสภาหรือในสภาผู้แทน หรือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
เอกสิทธิที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๕๐ นั้น ให้นำมาใช้โดยอนุโลม
            
มาตรา ๗๗ ในการดำเนินนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องได้รับความไว้วางใจของรัฐสภา
รัฐมนตรีผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการกระทรวง ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อรัฐสภา ในทางรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีทุกคนจะได้รับการแต่งตั้งให้ว่าการกระทรวงหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี
นโยบายของคณะรัฐมนตรีแต่ละคณะที่ได้ดำเนินมา จะเสร็จลงหรือที่ดำเนินการอยู่เพียงใดก็ตาม คณะรัฐมนตรีผู้บริหารราชการแผ่นดินภายหลังจะเลิกล้มหรือแก้ไขให้เป็นอย่างอื่นมิได้ เว้นแต่จะเสนอขอรับพระบรมราชวินิจฉัยและได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว
            
มาตรา ๗๘ รัฐมนตรีทั้งคณะต้องออกจากตำแหน่ง เมื่อมีพระบรมราชโองการหรือเมื่อสภาผู้แทนลงมติไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๔๒ หรือรัฐสภาไม่ให้ความไว้วางใจตามมาตรา ๗๗ หรือเมื่อสภาผู้แทนชุดที่มีส่วนให้ความไว้วางใจแก่คณะรัฐมนตรีในขณะเข้ารับ หน้าที่นั้นสุดสิ้นลง ในกรณีดังกล่าวหลังนี้และกรณีที่คณะรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเอง คณะรัฐมนตรีที่ออกนั้นต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานไปจนกว่าจะตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่
            
มาตรา ๗๙ ความเป็นรัฐมนตรีสุดสิ้นลงฉะเพาะตัวโดย
(๑) โดยพระบรมราชโองการ
(๒) ตาย
(๓) ลาออก
(๔) ขาดคุณสมบัติตามความในมาตรา ๔๑ (๔)
(๕) รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจ
            
มาตรา ๘๐ ในเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันจะรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและจะเรียกประชุมรัฐสภาให้ทันท่วงทีมิได้ก็ดี หรือกรณีเช่นว่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างสภาผู้แทนถูกยุบก็ดี พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดั่งเช่นพระราชบัญญัติก็ได้
ในการประชุมรัฐสภาคราวต่อไป ให้นำพระราชกำหนดนั้นเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ
            
มาตรา ๘๑ ในระหว่างสมัยประชุม ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการภาษีอากรหรือเงินตราฉะบับใด จะต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์เพื่อตราเป็นพระราชกำหนดให้ใช้ดังพระราช บัญญัติก็ได้
           
มาตรา ๘๒ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยยการศึก
            
มาตรา ๘๓ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความยินยอมของรัฐสภา
            
มาตรา ๘๔ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสงบศึกและทำหนังสือสัญญาอื่น ๆ กับนานาประเทศ
            
มาตรา ๘๕ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
            
มาตรา ๘๖ พระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา
            
มาตรา ๘๗ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๕๖ และมาตรา ๗๔ บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

หมวด ๖
อำนาจตุลาการ
           
มาตรา ๘๘ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลโดยฉะเพาะซึ่งจะต้องดำเนินตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
           
มาตรา ๘๙ บรรดาศาลทั้งหลายจักตั้งขึ้นได้ แต่โดยพระราชบัญญัติ
            
มาตรา ๙๐ การตั้งศาลขึ้นใหม่ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่ง โดยฉะเพาะแทนศาลธรรมดาที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้
            
มาตรา ๙๑ ผู้พิพากษาย่อมมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย
            
มาตรา ๙๒ การแต่งตั้ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน การย้ายและการถอดถอนผู้พิพากษา จะต้องได้รับความเห็นชอบของพระมหากษัตริย์และของคณะกรรมการตุลาการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ

หมวด ๗
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
            
มาตรา ๙๓ รัฐธรรมนูญนี้แก้ไขเพิ่มเติมได้โดยความเห็นชอบของรัฐสภา

หมวด ๘
บทสุดท้าย
            
มาตรา ๙๔ รัฐสภาทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้
มติในการตีความแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องมีเสียงเห็นด้วยไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน
            
มาตรา ๙๕ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีข้อความแย้งหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นโมฆะ

บทฉะเพาะกาล
            
มาตรา ๙๖ ในวาระเริ่มแรก วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้ง ภายในกำหนด ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และถ้าจำเป็นจะทำการประชุมวุฒิสภาก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้ให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาไปจนกว่าการเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จะสำเร็จเรียบร้อย
           
มาตรา ๙๗ ในวาระเริ่มแรกให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน โดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎรสองแสนคนต่อสมาชิกผู้แทนหนึ่งคน ถ้าเขตต์จังหวัดใดมีจำนวนราษฎรตามผลสำรวจสำมะโนครัวครั้งสุดท้ายเกินกว่าสอง แสนคน ให้จังหวัดนั้นมีจำนวนสมาชิกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนต่อจำนวนราษฎรทุกสอง แสนคน เศษของสองแสนคนถ้าถึงกึ่งหรือกว่าให้นับเป็นสองแสน และวิธีการเลือกตั้งให้ใช้วิธีรวมเขตต์จังหวัด
คุณสมบัติของผู้เลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมฉะบับที่ ๓ พุทธศักราช ๒๔๗๙ เท่าที่ไม่ขัดกับวิธีเลือกตั้งรวมเขตต์และให้ยกเว้นการห้ามตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕
            
มาตรา ๙๘ ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนตามความในมาตรา ๙๗ ให้เสร็จสิ้นลงภายในกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้
           
ประกาศ ณ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย
 
๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ตอนที่ ๕๓ เล่ม ๖๔ ราชกิจจานุเบกษา ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐

หมายเหตุ
เมื่อพิจารณาถึงหลักการและกลไกในการปกครองประเทศที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดไว้ จะเห็นว่าเหตุผลของคณะรัฐประหารไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้มากนัก เพราะหลักการและกลไกในการปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ค่อนข้างมาก 

กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ใช้หลักการของ “การปกครองในระบบรัฐสภา” เหมือนกัน มีสองสภาเหมือนกัน ผิดกันแต่เพียงว่าสมาชิกของสภาสูงซึ่งเรียกชื่อใหม่ว่า วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลองนั่นเอง เพราะเท่ากับให้โอกาสแก่ฝ่ายคณะรัฐมนตรีมีอิทธิพลเหนือรัฐสภาได้ นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามข้าราชการประจำมิให้เป็นรัฐมนตรีในขณะเดียวกัน เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3

ส่วนข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกในการปกครองเพิ่มขึ้น คือ บัญญัติให้มีคณะอภิรัฐมนตรี 5 คน ทำหน้าที่ “ถวายคำปรึกษาแก่พระมหากษัตริย์ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติทุกสาขา” และกำหนดให้อภิรัฐมนตรีเท่านั้นมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิที่จะได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 10 อีกว่า “ถ้าพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ก็ให้คณะอภิรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินในหน้าที่ของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทันที” แต่ก็ไม่ปรากฎว่าคณะอภิรัฐมนตรีได้ช่วยทำประโยชน์ให้แก่การปกครองตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เท่าใดนัก 

เพราะในขณะนั้นพระมหากษัตริย์ซึ่งคณะอภิรัฐมนตรีมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาก็มิได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร และเพราะคณะอภิรัฐมนตรีก็มิได้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้คณะอภิรัฐมนตรีจึงทำหน้าที่แทนคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้นซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นต้องวางตนเป็นกลางในทางการเมือง และใช้อำนาจหน้าที่ในนามของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น คือใช้อำนาจบริหารตามที่คณะรัฐมนตรีขอให้ใช้โดยมีรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ไขได้โดยง่าย โดยอาศัยเสียงข้างมากของรัฐสภา ฉะนั้น ภายหลังจากที่ประกาศใช้ไม่ถึง 1 ปี จึงถูกแก้ไขเพิ่มเติมถึง 3 ครั้ง กล่าวคือ

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้พระบรมวงศานุวงศ์สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2491 แก้ไขกำหนดเวลา ในการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2491 แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีเอกสิทธิ์และคุ้มกันเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ใช้บังคับอยู่นานเกือบเท่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ทั้ง ๆ ที่หัวหน้ารัฐบาลคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ค่อยจะพอใจกลไกบางอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามที่คณะรัฐประหารมุ่งหวังเอาไว้

กล่าวคือ หลังจากที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว คณะรัฐประหารได้เชิญให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลทำการปกครองประเทศ ตามแนวทางที่คณะรัฐประหารได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปรากฎว่า นายควง อภัยวงศ์ ได้ทำการปกครองประเทศโดยอิสระไม่ยอมเป็นหุ่นของคณะรัฐประหาร 

เห็นได้ว่านายควงไม่ยอมตั้งพวกพ้องของคณะรัฐประหารให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามจำนวนที่คณะรัฐประหารต้องการ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญก็มิได้ห้ามข้าราชการประจำมิให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในขณะเดียวกัน นอกจากนี้นายควงยังได้ปล่อยให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองได้ ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้รับรองเสรีภาพในเรื่องนี้ไว้

หลักจากพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ในเดือนมกราคม 2491 ซึ่งทำให้นายควงได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลต่อ โดยไม่ต้องอาศัยการสนับสนุนจากคณะรัฐประหารอีกต่อไป เขาจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อกำหนดเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นการแน่นอน 

ต่อมาคณะรัฐประหารได้บังคับนายควง ให้ลาออกจากตำแหน่งเมือวันที่ 6 เมษายน 2491 และสนับสนุนให้หัวหน้าของตน คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ปรากฏว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถรวบรวมเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนได้มากพอ และจัดตั้งเป็นสหพรรคคอยให้ความสนับสนุน จอมพล ป. อยู่ในสภาผู้แทน แต่จอมพล ป. ไม่สามารถจะคุมเสียงของวุฒิสภาซึ่งเกลียดชังวิธีการขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป. ได้ 

จึงยังผลให้ร่างกฎหมายหลายฉบับของรัฐบาลถูกวุฒิสภาแก้ไขและยับยั้งซึ่งจอมพล ป. ก็ยอมทน นอกจากนั้น จอมพล ป. ยังยอมให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกด้วย ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้มีบทบัญญัติหลายข้อที่ตนไม่ชอบ เหตุที่จำต้องยอม น่าจะเป็นเพราะว่าในระยะนั้นคณะรัฐประหารยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้โดยเด็ดขาด

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 และสิ้นสุดการบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2492 รวมระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เป็นเวลาทั้งสิ้น 1 ปี 4 เดือน 14 วัน