ความเป็นมาของความคิด“ประชาธิปไตย”ในประเทศไทย (บทความนีถูกตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554)
ณัฐพล ใจจริง
สยามในบริบทของการปฏิวัติแห่งศตวรรษที่ 20
แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากกระบวนการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองกลับเข้าสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ปรากฎผลสำเร็จขึ้น ในปี 2435 แต่เพียงราว 2 ปี ภายหลังรัชกาลของพระผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพระผู้ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของสยามได้สิ้นสุดลง (2453) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกของพระองค์ได้ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากกระแสความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มคนชั้นใหม่ภายในสังคมสยาม ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 (2455) ( ยังคงมีข้อถกเถียงกันในวันที่ “คณะ ร.ศ. 130” ถูกจับกุม จากบันทึกความทรงจำของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ใน คน 60 ปี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 21 ธันวาคม 2523 (กรุงเทพฯ :หจก.เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษาการพิมพ์, 2523), หน้า 111 และ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ , หมอเหล็งรำลึก: ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพของร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์(นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 19 เมษายน 2503 , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กิมหลีหงวน), หน้า 83 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุมคือ 27 กุมภาพันธ์ 2454 (นับอย่างใหม่ คือ 2455) แต่การศึกษาของแถมสุข นุ่มนนท์ , ยังเติร์กรุ่นแรก กบฎ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ : เรืองศิลป์ , 2522),หน้า196 และอัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 188 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุม คือ 1 มีนาคม 2454 (นับอย่างใหม่ คือ 2455 )
รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุมกลุ่มนายทหาร และพลเรือนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ“ประชาธิปไตย”
แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหนังสือและงานวิจัยชิ้นสำคัญทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงดังกล่าวก็ตาม เช่น งานของแถมสุข นุ่มนนท์ ที่มุ่งเน้นการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฎ ร.ศ.130” อัจฉราภรณ์ กมุทพิศสมัย ที่ศึกษาการปรับตัวของกองทัพสยามสมัยใหม่ ส่วนกุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ที่ศึกษาการการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม โดยพินิจไปที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเคลื่อนไปสู่รัฐประชาชาติเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นศักดินากับกลุ่มคนชั้นใหม่ที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ( แถมสุข นุ่มนนท์ , อ้างแล้ว , 2522. ; อัจฉราพร , อ้างแล้ว, 2540.; Kullada Kesboonchoo Mead, The rise and decline of Thai absolutism (London : The School of Oriental and African Studies, University of London, 2000).;ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ) หนึ่งศตวรรษ : รัฐธรรมนูญและรัฐประหารกับการเมืองสยามประเทศไทย จากกบฏ ร.ศ. 130 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ ประชาธิปไตยกับอำมาตยาธิปไตย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 2552).
อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานศึกษาชิ้นใดที่มุ่งตรงไปยังตัวความคิดทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” อันเริ่มต้นจาก “คณะ ร.ศ.130” อย่างเป็นระบบเท่าที่ควร ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาในเชิงประวัติความคิดทางการเมืองไทยด้วยวิธีการตีความข้อมูลและตัวบททางประวัติศาสตร์
คำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนเกี่ยวกับความพยายามปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะ ร.ศ.130” คือ พวกเขามีความต้องการเปลี่ยนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามไปสู่ระบอบใดหรือแบบใดกันแน่ รวมถึงผู้เขียนต้องการทราบว่า ผู้คนในสังคมสยามขณะนั้นรับรู้ความคิดถึงแบบการปกครองนั้นได้อย่างไร มีร่องรอยการปรากฏตัวของความคิดถึงแบบการปกครองนั้นๆในการปฏิวัติ 2475 หรือไม่ และมีความสัมพันธ์ระหว่าง “คณะ ร.ศ.130” กับ “คณะราษฎร” อย่างไร
การอำพรางความคิด “ประชาธิปไตย” ของ “คณะ ร.ศ.130”
กว่า 3 ทศวรรษที่มีการศึกษา “คณะ ร.ศ.130” นักวิชาการได้ใช้เอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุและบันทึกความทรงจำของสมาชิกคณะ ร.ศ.130 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกที่ชื่อ “หมอเหล็งรำลึก: ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 (พ.ศ.2454)” ที่เขียนโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ พิมพ์เผยแพร่ในงานศพของ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ เมื่อปี 2503 ( ร.ต. เหรียญและ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503. ; ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ , กบฎ ร.ศ. 130 (การปฎิวัติครั้งแรกของไทย) (กรุงเทพฯ : ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2517).; ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ , กบฏ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ : คัมภีร์, 2519)
แต่ผู้เขียนยังคงไม่ได้รับคำตอบอย่างพอใจถึงแบบของการปกครองใดกันแน่ที่พวกเขาต้องการ ในบันทึกเล่มดังกล่าว ร.ต.เหรียญ และ ร.ต.เนตรบันทึกกำกวมเพียงว่า “ที่ประชุมลงมติให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” (ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 49.)
ดังนั้นคำถามที่ผุดในใจของผู้เขียนอะไรคือความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในช่วงบริบทแห่งชีวิตและในความคิดของพวกเขา ตลอดจน พวกเขาได้อำพราง “ประชาธิปไตย” ของพวกเขาในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างไร ( ในประเด็นการพิจารณาเรื่องบริบทกับความคิดทางการเมืองนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจ คือ ควรมีการศึกษาการสร้าง “ประชาธิปไตยอำพราง” ของกลุ่มนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัฐประชาชาติ )
การเริ่มต้นตอบคำถามข้างต้น ผู้เขียนพบว่างานศึกษาในเรื่องเหตุการณ์ ร.ศ.130 นั้นล้วนอ้างอิงจาก “หมอเหล็งรำลึก” ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามที่ผู้เขียนต้องการทราบได้ อีกทั้งแทบไม่มีใครให้ความสนใจกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ปรากฏในงานเขียนของพวกเขาว่า หมายความว่าอย่างไร อีกทั้งปราศจากการถอดรหัส ความหมายของคำดังกล่าวของพวกเขา จนกระทั่งผู้เขียนได้พบหนังสือเล่ม
เขียนโดย ร.อ. เหล็ง และ ร.ต. เนตร ชื่อ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาถึงเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาโดยเฉพาะแกนนำในครั้งนั้น
เขียนโดย ร.อ. เหล็ง และ ร.ต. เนตร ชื่อ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาถึงเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาโดยเฉพาะแกนนำในครั้งนั้น
หนังสือเล่มนี้พิมพ์แรกในปี 2484 โดยมีปรีดี พนมยงค์ แกนนำของ“คณะราษฎร” และผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกนนำ “คณะ ร.ศ.130” หลังการปฏิวัติ 2475 เขามีส่วนการผลักดันให้พวกเขาเขียนประวัติของความพยายามปฏิวัติครั้งแรกเพื่อเผยแพร่สู่สังคมสยาม ด้วยเหตุที่บริบทที่หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์เผยแพร่ในยุคคณะราษฎร หนังสือเล่มนี้จึงบันทึกอย่างเปิดเผยถึงความคิดทางการเมือง เป้าหมายและความเห็นพ้องร่วมกันของแกนนำนายทหาร และพลเรือนหัวก้าวหน้าเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วว่า พวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำ มีความคิดโน้มเอียงไปในทาง “รีปัปลิก” และความคิดดังกล่าวได้ปรากฎในหลักฐานแวดล้อมในเวลาต่อมา ( ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์, สมจิตร เทียนศิริ, ปฏิวัติ ร.ศ.130 (พระนคร: การพิมพ์กรุงเทพฯ, 2489) หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2484 สมจิตร ผู้เรียบเรียงได้บันทึกว่า เขาได้เรียบเรียงเรื่องราวจากบันทึกของ ร.ต.เนตร และหนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการตรวจ “ทุกตัวอักษร” จาก ร.อ.เหล็ง ภูมิหลังของการเกิดหนังสือเล่มนี้เกิดจากความต้องการของนายปรีดี ดังนี้ “ท่านรัฐมนตรี (นายปรีดี) ได้เป็นผู้หนึ่งซึ่งงร่วมมือในการปฏิวัติ เมื่อ 24 มิถุนายนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งทีสองที่สำเร็จลง ท่านรัฐมนตรีได้คิดที่จะเรียบเรียงประวัติของคณะราษฎรนี้ไว้ แต่เมื่อท่านเห็นว่าประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะสมบูรณ์ ก็โดยที่ควรจะมีใครคนหนึ่งทำเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ.๑๓๐ ขึ้นก่อนและท่านก็ได้เรียกนายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการที่เข้มแข็งผู้หนึ่งในสมัย ร.ศ.๑๓๐ ไปพบและแจ้งความคิดในการเรียบเรียงที่จะกระทำของท่านขึ้นกับขอให้นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ เล่าเหตุการณ์ของคณะ ร.ศ.๑๓๐ ให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบลงแล้วจึงขอให้นายร้อยตรีเนตร ถ้ามีเวลาให้สละเพื่อทำการบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เนื่องจากด้วยบุคคลทั้งสองยังหาเวลาที่จะปลีกตนมากระทำให้เป็นผลสำเร็จไม่ได้ ทั้งท่านรัฐมนตรีและนายร้อยตรีเนตร จึงปล่อยเวลาให้เนิ่นมาจนกระทั่งบัดนี้” )
ความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมือง “หลังยุคคณะราษฎร” อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บันทึกของพวกเขาใน “หมอเหล็งรำลึก” ที่พิมพ์ในปี 2503 ปราศจาการเปิดเผยถึงความคิดทางการเมือง และเป้าหมายของระบอบการปกครองที่แท้จริงของพวกแกนนำในครั้งนั้น เนื่องจาก หากพิจารณาจากบริบทแล้ว หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นในช่วงเวลาที่ “คณะราษฎร” สิ้นอำนาจไปแล้ว พร้อมกับบรรยากาศเริ่มต้นในการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้านภายใต้ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจทำให้พวกเขาระมัดระวังไม่กล้าเปิดเผยความคิดทางการเมืองของพวกเขาเมื่อครั้งเก่าออกสู่สังคม “หลังยุคคณะราษฎร” อย่างเปิดเผย ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจต้องอำพรางความคิดทางการเมืองของพวกเขา ด้วยการใส่รหัส (encoding) ความหมายโดยการใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นคำศัพท์เก่าในบริบทการเมืองใหม่
ดังนั้นหากเราจะถอดรหัส (decoding) ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”ของพวกเขา เราต้องตีความคำดังกล่าวหรือหาความหมายของคำนี้ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ก่อนการปฏิวัติ 2475 ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง “การปกครองที่ผู้เป็นหัวหน้าแห่งอำนาจบริหารไม่ใช่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
คือเป็นบุคคลสามัญหรือ คณบุคคลซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งไว้ มีกำหนดเวลา การอยู่ในตำแหน่งไม่เป็นมฤดกตกทอดไปได้แก่ผู้อยู่ในสกุลเดียวกัน” ( หลวงประดิษฐมนูธรรม “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ใน ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์,พิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 165-166 )
คือเป็นบุคคลสามัญหรือ คณบุคคลซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งไว้ มีกำหนดเวลา การอยู่ในตำแหน่งไม่เป็นมฤดกตกทอดไปได้แก่ผู้อยู่ในสกุลเดียวกัน” ( หลวงประดิษฐมนูธรรม “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ใน ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์,พิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 165-166 )
หรือ หมายถึงการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” ที่พวกเขาได้เคยนำเสนอความคิดเอาไว้ และแกนนำในครั้งนั้นมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติไปในทิศทางดังกล่าว
แม้ “หมอเหล็งรำลึก” ถูกบันทึกขึ้นโดยแกนนำของคณะจะอำพรางความคิดทางการเมืองของพวกเขาไว้ แต่ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” ที่พวกเขาได้บันทึกและพิมพ์ขึ้นในปี 2484 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ “คณะราษฎร” มีอำนาจทางการเมือง บริบทดังกล่าวทำให้พวกเขาได้เปิดเผยให้เห็นร่องรอยความคิดทางการเมืองของพวกเขา แต่หนังสือเล่มนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซึ่งอาจมีผลทำให้ การศึกษาความคิด “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมสยามมาเกือบหนึ่งศตวรรษนี้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง และประวัติศาสตร์การเมืองของไทยไปอย่างน่าเสียดาย
จากนี้ไปผู้เขียนจะพาท่านสะกดรอยเพื่อหาความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ควบคู่ไปกับการพิจารณาบทบาท ความเคลื่อนไหวของ ”คณะ ร.ศ.130” และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพวกเขากับ “คณะราษฎร” ในประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยเมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา
รุ่งอรุณของความคิด“ประชาธิปไตย” ใต้เงาระบอบเอกาธิปไตยสยาม
ความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นจากการปกครองจีนของราชวงศ์ชิง และความเคลื่อนไหวของขบวนการ “ถงเหม็งฮุ่ย” หรือ ขบวนการปฏิวัติจีนที่นำโดย ซุนยัดเซน ก่อให้เกิดการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในปี 2454 (http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_Republic_of_China เข้าถึง 27 ธันวาคม 2553 )
ผนวกกับ “ความเสื่อมทราม“ ของระบอบเอกาธิปไตยสยามทำให้ในปลายเดือนธันวาคม 2454 เกิดแสงสว่างทางปัญญาท่ามกลางฤดูหนาวในสยาม เมื่อนายทหารหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้เริ่มพูดคุยกันถึงการสร้างความก้าวหน้าให้กับสยาม ประกายความคิดได้ถูกจุดขึ้นจาก ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ และ ร.ต.เนตร ได้ปรึกษากันถึงอนาคตของสยามที่กองปืนกลที่ 1 รักษาพระองค์ ถนนซางฮี้ และได้ใช้หนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศต่างๆ มาเป็นตัวอย่างแนวทางการปฏิวัติ ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 42. )
ต่อมา พวกเขาได้ไปหา ร.อ.เหล็งที่บ้านถนนสาธร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2455 ร.อ.เหล็งได้นำหนังสือพงศาวดารของประเทศต่างๆ มาให้ดูเหตุการณ์ปฏิวัติที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบเป็นยุคๆ เพื่อให้เหล่านักปฏิวัติหนุ่มพิจารณา ( ร.อ. เหล็ง, ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 51-52. )
การพบปะครั้งนั้นของนายทหารนักปฏิวัติหนุ่ม นางอบ ศรีจันทร์ ภริยาของ ร.อ.เหล็งได้ร่วมกินข้าวเย็นและรับฟังแผนการต่างๆ พร้อมกับเหล่านักปฏิวัติด้วย “ในฐานะที่เธอเป็นสตรี ซึ่งตามลักษณะธรรมดา เมื่อพบว่า สามีของเธอและเพื่อนกับน้องชายต่างคิดการดังเช่นกบฏต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง เอาศีรษะเข้าแลกกับคมดาบนั้นแล้ว หน้าที่เธอจะตระหนกตกใจยับยั้งความคิดของสามีเธอกับเพื่อน แต่เธอกลับแสดงความคิดเห็น และปิติยินดีต่อหน้าที่ของคณะผู้คิดการณ์ไกลจะกู้ราชการบ้านเมืองอีกด้วย เธอได้กล่าวส่งเสริมความยินดี อวยชัยให้พร ขอให้ความคิดของคณะจงสัมฤทธิ์ผล เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาราษฎร กับนำมาซึ่งความเป็นอารยะเทียมทันบรรดาประเทศชาติอื่นๆทั้งหลายต่อไป” (ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 53-54. )
ต่อมาได้มีการประชุมจัดตั้ง “คณะพรรค ร.ศ. 130” ขึ้นเมื่อ 13 มกราคม 2455 ที่บ้าน ร.อ.เหล็ง การประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 7 คน คือ ร.อ.เหล็ง ,ร.ต.เหรียญ ,ร.ต.จรูญ ,ร.ต.เนตร ,ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ ,ร.ต.ม.ร.ว แช่ รัชนิกร และ ร.ต.เขียน อุทัยกุล พวกเขาได้ร่วมกันกำหนดสัญลักษณลับของ “คณะพรรค ร.ศ. 130” เป็นเครื่องหมายธงมีตัวอักษรว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” ส่วนเครื่องหมายของสมาชิก คือ ผ้าเช็ดหน้าสีขาวที่ปักมุมด้วยอักษร 2 ตัว สีเดียวกันว่า “ร” และ “ต” โดย “ร” หมายถึงจงระวังตัว ส่วน “ต” หมายถึง จงเตรียมตัวไว้เพื่อเคลื่อนที่ได้ ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 49. )
และการประชุมในครั้งต่อมาได้มีการพูดถึง “ความเสื่อมทราม” ของระบอบเอกาธิปไตยสยาม หลังจากนั้นมีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เหนือกกฎหมายไปสู่ “ประชาธิปไตย”
“ความเสื่อมทราม และความเจริญของประเทศ”
ถอดรหัสความคิด “ประชาธิปไตย” ของ “คณะ ร.ศ.130”
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2455 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุม “คณะ ร.ศ.130” เจ้าหน้าที่ได้ยึดเอกสารชิ้นหนึ่งในบ้านของแกนนำสำคัญ คือ ร.อ.เหล็ง เอกสารชิ้นนั้นชื่อ “ความเสือมทรามและความเจริญของประเทศ” ซึ่งเป็นเอกสารที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองของแกนนำคณะอย่างแจ่มชัด ในบันทึกมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความก้าวหน้าของประเทศต่างๆทั่วโลกนั้นจะรุ่งเรืองหรือเสื่อมทรามลงก็เพราะการปกครองของประเทศนั้น
“ ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดรู้จักจัดการปกครองโดยใช้กฎหมายแลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรมซึ่งไม่กดขี่และเบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้นก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแลศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกทีเพราะราษฎรได้รับความอิสรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสำหรับกดคอกันเล่นดังเช่นประเทศซึ่งอยู่ในยุโรป แลอเมริกาเป็นต้น ประเทศเหล่านี้แต่เดิมก็เคยมีกระษัตริย์ปกครองอยู่เหนือกฎหมายใช้อำนาจแอ็บโซลู๊ดเต็มที่สำหรับกดขี่ราษฎรได้ตามความพอใจ ครั้นต่อมาเมื่อราษฎรเกิดความรู้แลความฉลาดมากขึ้นแล้ว จึงได้ช่วยกันลบล้างประเพณีอันชั่วร้ายของกระษัตริย์เสียหมด คิดจัดตั้งประเพณีการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่ บางประเทศก็บังคับให้กระษัตริย์อยู่ใต้กดหมาย บางประเทศก็ยกเลิกไม่ให้กระษัตริย์ปกครอง คือ การจัดตั้งการปกครองเป็นรีปับลิ๊ก...” ( “บันทึกว่าด้วยความเสื่อมทรามและความเจริญของประเทศ”, อัจฉราพร , อ้างแล้ว, หน้า 267. )
หัวใจสำคัญของบันทึกดังกล่าวได้เสนอ และวิเคราะห์แนวทางการปกครองในโลกว่ามี 3 แบบคือ
แบบแรก “แอ็บโซลุ๊ดมอนากี”
แบบที่สอง“ลิมิตเต็คมอนากี”
และแบบสุดท้ายคือ “รีปัปลิ๊ก”
สำหรับการปกครองแบบแอ็บโซลุ๊ดมอนากี นั้นบันทึกวิจารณ์ว่า เป็นระบอบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจเต็มอยู่เหนือกฎหมาย “กษัตริย์จะทำชั่วร้ายอย่างใดก็ทำได้” จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความทุกข์ได้ทุกประการ ทรัพย์สิน สมบัติและที่ดินจะถูกกระษัตริย์เบียดเบียนเอามาเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น ไล่ที่ทำวัง เงินภาษีอากรจะถูกนำมาบำรุงความสุขให้ส่วนตัวพระราชวงศ์ และบ่าวไพร่ เงินบำรุงบ้านเมืองจึง “ไม่เหลือหรอ” ประเทศสยามเป็นประเทศหนึ่งที่ปกครองในระบอบดังกล่าว และมีพวกที่คอย “ล้างผลาญ” ภาษีอากรที่เข้ามา “กัดกันกินเลือดเนื้อของประเทศ” ในบันทึกวิเคราะห์ต่อไปว่า ประเทศที่ปกครองแบบดังกล่าวจะทำให้ประเทศทรุดโทรมและถึงแก่กาลวินาศ
การปกครองแบบ “ลิมิตเต็คมอนากี” ในบันทึกวิเคราะห์ว่า การปกครองแบบนี้ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ดังนั้นกษัตริย์จึงไม่มีอำนาจ “พวกเต้นเขนและพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางเลย” วิธีการปกครองแบบนี้เริ่มต้นจากอังกฤษ ประเทศต่างๆ ได้ทำตามแบบดังกล่าว เช่น ตุรกี และญี่ปุ่น แต่บางประเทศทำเลยไปถึงรีปัปลิ๊ก บันทึกเห็นว่า คงเหลือแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่ยังคงระบอบการปกครองที่ทำให้ “พวกกระษัตริย์ได้รับความสุขสนุกสบายมากเกินไปจนไม่มีเงินจะบำรุงประเทศ”
การปกครองแบบสุดท้าย คือ “รีปัปลิ๊ก” บันทึกนิยามว่า การปกครองแบบนี้ เป็นการปกครองที่ “ยกเลิกไม่ให้มีกระษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีที่ประชุมสำหรับจัดการบ้านเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประธานสำหรับการปกครองประเทศ” ประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การปกครองรูปแบบนี้ในบันทึกวิเคราะห์ว่า “ ราษฎรทุกประเทศจึงอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปัปลิ๊กทั้งหมด เวลานี้ประเทศใหญ่น้อยต่างๆ เป็นรีปัปลิ๊กกันเกือบทั่วโลกแล้ว” เช่นประเทศในยุโรป อเมริกา และจีนกำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นรีปัปลิ๊ก
ร.อ.เหล็ง และ ร.ต.เนตรได้บันทึกต่อไปอีกว่า ที่ประชุมในช่วงแรกๆ หลายครั้งให้การสนับสนุนการปกครองอย่างหลังสุดตามแบบจีน พวกเขาได้บันทึกบรรยากาศในประชุมเมื่อครั้งนั้นว่า “ที่ประชุมเอนเอียงไปในระบอบแผนการปฏิวัติของประเทศจีน เนื่องจาก [จีน] มีฐานะและสภาพไม่ต่างจากเรา [สยาม]” (ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร ,สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 100.)
สอดคล้องกับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ หนึ่งในสมาชิกของ “คณะ ร.ศ. 130” ได้ย้อนความทรงจำว่า แนวทางในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกเขาได้แบบจากจีน แต่แนวความคิดในการปกครองได้มาจากตะวันตก ( พลกูล อังกินันท์, “เผชิญหน้าผู้ก่อการเก็กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12 (ธันวาคม 2514) หน้า 72. )
แนวทางตัดสินใจไปสู่ “ประชาธิปไตย” นั้นพวกเขาบันทึกว่า ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนายทหารกลุ่มหนึ่ง และพลเรือน เช่น พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เซี้ยง สุมาวงศ์) พระพินิจ พจนาตรถ์ (น่วม ทองอินทร์) บุญเอก ตันสถิตย์ (อดีตนักเรียนฝรั่งเศส ขณะนั้นทำงานในสถานทูตฝรั่งเศส) และอุทัย เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว ,หน้า 25,100 และ ร.ต.เนตร , อ้างแล้ว,หน้า107.; โปรดดู ประวัติและบทบาทของอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยาใน ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ุ (รวบรวม) เพื่อนตาย : ชาวคณะ ร.ศ.130. พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา วันอังคารที่ 11 มกราคม 2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพต (พระนคร :โรงพิมพ์จันหว่า, 2480)
แม้ในบันทึกของพวกเขาเล่าว่า เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในการประชุมแต่ละครั้ง ทำให้เกิดกลุ่มสายกลางขึ้นกลุ่มดังกล่าวมี ร.ต.จือ ควกุล และสมาชิกบางส่วนที่เป็นสมาชิกที่มีอายุมากต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบ “ลิมิเต็ดมอนากี” มากกว่า กลุ่มสายกลางให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการให้เกิดความชอกชํ้ามากเกินไป ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล” ร.ต.เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะได้ประเมินความคิดของกลุ่มสายกลางว่า “ไม่ได้ความเลย” ( ร.ต.เนตร , อ้างแล้ว, หน้า 108. หนังสือ คน 60 ปี นี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 2494 พิมพ์แจกในวันครบรอบอายุ 60 ปี ของ ร.ต. เนตร )
น่าสังเกตว่า ในบันทึกของพวกเขาและท่าทีที่ปรากฎในบันทึกหลายเล่ม พวกเขามิได้เคยรวม ร.อ.เหล็ง ร.ต.เนตร และร.ต.เหรียญ ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของคณะสายทหารเอาไว้ในกลุ่มสายกลางเลย มิพักถึงท่าทีของกลุ่มพลเรือนในคณะซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับแกนนำสายทหารดังนั้นเราจึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า พวกเขาที่เป็นแกนนำทั้งสายทหาร และพลเรือนมิได้จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มสายกลาง กล่าวอีกอย่าง คือ พวกเขามิได้เห็นด้วยกับทิศทางการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบ “ลิมิเต็ดมอนากี” ให้เกิดขึ้นในสยามในครั้งนั้น
แม้แนวทางที่พวกเขาต้องการมิได้ประสบชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียงที่น้อยกว่าเพียงเล็กน้อยแกนนำได้ยอมรับมติที่ประชุมในครั้งสุดท้าย และได้ตกลงกันลงมือปฏิวัติในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในเดือนเมษายน 2455 ( ร.ต.เนตร ,อ้างแล้ว , หน้า 105. )
แต่ความหวังของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ไม่อาจบรรลุผลได้เนื่องจาก พวกเขาถูกจับกุมในเวลาต่อมาก่อนการลงมือเพียง 1 เดือน เนื่องจาก พ.อ.พระยากำแพงราม (แต้ม คงอยู่) ได้ทรยศหักหลัง นำแผนการของพวกเขาไปแจ้งต่อรัฐบาล ทำให้การปฏิวัติครั้งนั้นไม่สำเร็จ การทรยศดังกล่าวทำให้ พระยากำแพงรามได้ทุนจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปศึกษาด้านการทหารในฝรั่งเศส แต่ทำให้พวกเขาเหล่าผู้กล้าที่มาก่อนกาลบางคน เช่น ร.ต.ชอุ่ม สังกัด กองทหารม้าที่ 1 ยิงตัวตายด้วยการใช้ปืนเล็กสั้นของนายทหาร “ยัดเข้าปาก” ปลิดชีพตนเอง ( ร.ต.เนตร ,อ้างแล้ว , หน้า 121.)
สมาชิกส่วนใหญ่ถูกโยนเข้าคุกไปเป็นเวลากว่า 12 ปี ความรุนแรงของตัดสินโทษของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีต่อเพื่อนๆ ของพวกเขา ทำให้ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ สมาชิกคนหนึ่งที่ยังไม่ถูกจับกุม ได้ลักลอบส่งจดหมายติดต่อกับเพื่อนที่ต้องโทษทัณฑ์ว่า เขาจะเป็นผู้ถือ “ธงรีปัปลิ๊ก” นำขบวนการปฏิวัติปลดปล่อยเพื่อนออกจากการลงทัณฑ์โดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เคราะห์ร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยึดจดหมายบับนี้ได้ทำให้เขาถูกจับกุมในเวลาต่อมา ( แถมสุข นุ่มนนท์ , อ้างแล้ว, หน้า 99.)
ในระหว่างที่พวกเขาถูกลงโทษ สมาชิกหลายคนเสียชีวิตในคุก ร.ต.วาส วาสนา หนึ่งในสมาชิกของคณะ เขาได้กล่าวกับเพื่อนๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตนักปฏิวัติว่า “เพื่อนเอ๋ย กันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น” ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 212. )
การรับรู้การปฏิวัติจีนและความเคลื่อนไหวของ “ไทยเหม็ง”
หากหันมาดูบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ แกนนำสายพลเรือนในคณะราษฎรซึ่งมีส่วนในการก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้นในปารีสเพื่อทำการปฏิวัติ 2475 จนสำเร็จนั้น ในเวลาต่อมา เขาได้เล่าย้อนถึงแรงดลใจของเขานั้นเกิดขึ้นจากความสำเร็จของการปฏิวัติจีน และความกล้าหาญของ “ไทยเหม็ง” ( ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ( กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), หน้า 40. นายปรีดีเล่าว่า “ร.ศ.130 มีสมัญญานามเรียกกัน
ว่า ไทยเหม็ง” )
ว่า ไทยเหม็ง” )
หรือ “คณะ ร.ศ. 130” ว่า ( ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ,2529), หน้า 14. )
“ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัด พนัญเชิง) นั้น ก็เปลี่ยนเรื่องเล่นใหม่ให้สมกับสมัย คือ เล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35 )
ปรีดี ได้เล่าย้อนในวัยเด็กต่อไปว่า เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เขาเห็น ชายจีนทุกคนตัดผมเปียทิ้งทั้งๆที่ได้ไว้เปียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ชาวจีนเหล่านั้นอธิบายกับเขาว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียได้ถูกล้มล้างไปแล้ว จีนได้เปลี่ยนการปกครองก้าวสู่สาธารณรัฐอันมีซุนยัดเซนเป็นผู้นำ ( ปรีดี , อ้างแล้ว , หน้า 15. )
เขาบันทึกว่า “ในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ยังไม่แพร่หลายในสยาม โดยเฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า บิดาข้าพเจ้าเห็นว่าข้าพเจ้ากระหายใคร่รู้ข่าวคราวต่าง ๆ มากนัก จึงได้นำหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ของญาติของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกมาให้ข้าพเจ้าอ่าน ทำให้ข้าพเจ้ารับรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่า ระบอบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีข้อเสียหรือข้อบกพร่องอย่างไร ชาวจีนจึงได้ต่อต้านการปกครองระบอบนี้ และเปลี่ยนมาเป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ” ( ปรีดี , อ้างแล้ว , หน้า 16. )
นอกจากนี้ครูวิชาประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของเขาได้สอนให้เขารู้จักรูปแบบการปกครองฉบับย่อ ว่า “ครูสอนว่าแบบการปกครองประเทศแยกออกเป็นสามชนิด คือ
๑.พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’
๒.พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายการปกครองแผ่นดิน
๓.ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเป็นประมุขเรียกว่า ‘รีปับลิ๊ก’… มีคณะเสนาบดี การปกครองประเทศตามความ
เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟัง
ว่า วันไหนฝ่ายใดชนะฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35.)
เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟัง
ว่า วันไหนฝ่ายใดชนะฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35.)
ต่อมา ในภายหลัง เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ครูมัธยมผู้นี้อาจเป็นสายจัดตั้งของ “คณะ ร.ศ. 130” เพราะนำความคิดประชาธิปไตยมาเผยแพร่แก่นักเรียน โดยเฉพาะในช่วงเกิดสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็งกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 40 )
ครูได้สอนอีกว่า “ ต่อมาในไม่ช้า ความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรย ๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีนยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน ๒ ประเทศนี้ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35. )
การปฏิวัติจีนกับหนังสือ“ลัทธิตรัยราษฎร์”
การแพร่กระจายของความคิด“ประชาธิปไตย”ในสังคมสยาม
ไม่แต่เพียงการรายงานข่าวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่สาธารณรัฐของจีนจะสร้างความตื่นตัวและสนใจให้กับสังคมสยามเป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางความสนใจของสังคมสยามในช่วงกลางทศวรรษ 2460 ได้ปรากฎการแปลความคิดทางการเมืองของซุนยัดเซน และเหตุการณ์การปฏิวัติจีนเป็นหนังสือหลายเล่ม เช่น ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล “สุนทรพจน์ของท่านซุนยัดเซน เรื่อง ความเพียรนำมาซึ่งผล หรือ เรื่อง การเก๊กเหมงในประเทศจีน ปีพ.ศ.2454” (2465) ( ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, สุนทรพจน์ของท่านซุนยัดเซน เรื่อง ความเพียรนำมาซึ่งผล หรือ เรื่อง การเก๊กเหมงในประเทศจีน ปี พ.ศ.2454 (กรุงเทพฯ:ม.ป.ท.,2465)
และ“ มิ่นก๊กอิ้นหงี” (2467) ( ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, ม ินก๊กอิน' หงี เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2467)
ต่อมา ตันบุญเทียม อังกินันทน์ ได้แปล “ลัทธิตรัยราษฎร์” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสำคัญของซุนยัดเซนที่ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ของการปฏิวัติจีนเป็นตอนๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์หลักเมืองในช่วงปี 2468
ตันบุญเทียม อังกินันทน์ (2433-2493) เกิดที่ตำบลเจ๊สัวเนียม ตลาดใหม่กรมภูธเรศ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ปีขาล ในตระกูลพ่อค้า บิดาชื่อ นายซัง และนางแอ๊ว เจ้าของร้านชำใหญ่ในตำบล เจ๊สัวเนียม เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาช่วยบิดามารดาทำการค้า ต่อมาเข้าทำงานเป็นเสมียนที่โรงรับจำนำ ไท้ฮงหยู ปากตรอกอิศรานุภาพ และทำการค้าส่วนตัวไปด้วย จนกระทั่ง 2450 ได้ทำงานเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์นครศรีธรรมราช ที่ตลาดใหม่กรมภูธเรศ ด้วยอุปนิสัยและบุคลิกส่วนตัวทำให้เขาสามารถจัดการปัญหานักเลงที่ก่อกวนหน้าโรงภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาเขาได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ หนังสือพิมพ์หลักเมืองรายสัปดาห์ ในปี 2468 กิจการด้านสิ่งพิมพ์ของเขาได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี จนสามารถ ทำกำไรให้จนมีโรงพิมพ์ส่วนตัว และหลักเมืองรายสัปดาห์ได้กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งแต่ 2470 เขาได้ขยายกิจการหนังสือพิมพ์ออกไปเป็นหนังสือพิมพ์รายวันอีกหลายฉบับทั้งภาษาไทยและจีน เช่น ข่าวชุมนุมลูกเสือสยาม (2470-71)หนังสือพิมพ์ธงชัย (2472-74) เจริญกรุง (2473-87) ไทยฉบับอุปกรณ์ (2474-75) อิสสระ (2473) สันติภาพ วันดี
หญิงไทย ส่วนภาษาจีน เช่น ฉินจ๊งหยิดป่อ (2473) เป็นต้น จัดได้ว่าเขาเป็นราชาแห่งหนังสือพิมพ์ (อนุสรณ์ในการบรรจุศพนายต.บุญเทียม อังกินันทน์ (พระนคร : สำนักงานและโรงพิมพ์หลักเมือง,2494)
หญิงไทย ส่วนภาษาจีน เช่น ฉินจ๊งหยิดป่อ (2473) เป็นต้น จัดได้ว่าเขาเป็นราชาแห่งหนังสือพิมพ์ (อนุสรณ์ในการบรรจุศพนายต.บุญเทียม อังกินันทน์ (พระนคร : สำนักงานและโรงพิมพ์หลักเมือง,2494)
การนำเข้าความคิด “ประชาธิปไตย” แบบจีน และความคิดทางการเมืองของซุนยัดเซนผ่านการแปลในหนังสือพิมพ์ และตีพิมพ์เป็นหนังสือได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ต.บุญเทียม ได้ตีพิมพ์ผลงานแปลความคิดของซุนยัดเซนเป็นเล่ม และใช้ชื่อหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นสามภาษาซึ่งแสดงความเป็นสากลของความคิดว่า “ลัทธิตรัยราษฎร์ซามิ้นจูหงี (三民主義 San Min Chu I : The Three Principles of The People)”(2472) ( ตันบุญเทียม , ลัทธิตรัยราษฎร์ซามิ้นจูหงี, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หลักเมืองบุญทวีผล, 2472)
จากบันทึกของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นายทหารผู้ใกล้ชิด “คณะราษฎร” และอดีตนายทหารมหาดเล็กคนหนึ่งในขณะนั้นได้บันทึกเรื่องราวในช่วงดังกล่าวว่า “ คณะหนังสือพิมพ์หลักเมืองของ นาย ต.บุญเทียม เจ้าของโรงพิมพ์หลักเมือง ก็ได้เผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์หรือซามิ้นจูหงีขึ้น ซึ่งลัทธินี้เป็นลัทธิการต่อสู้ที้น่าสนใจของคณะก๊กมินตั๋ง ที่ต่อสู้มากับระบบเจ้าขุนมูลนายเป็นผลสำเร็จ... คำว่าเก็กเหม็งหรือการปฏิวัติก็เริ่มเผยแพร่เข้ามาอยู่ในความรู้สึกของคนไทย ” ( พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, “เหตุการณ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและการชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ”, เบื้องแรกประชาธิปไตย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ.2475-2500 (กรุงเทพฯ : สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, 2516), หน้า125. )
ไม่นานจากนั้นรัฐบาลได้สั่งเก็บหนังสือเล่มดังกล่าวออกไปจากตลาดหนังสืออย่างรวดเร็วและนำไปทำลายทิ้งหลังจากจำหน่ายได้เพียงไม่กี่เล่ม ( พ.ต.อ.พัฒน์ นิลวัฒนา, “คำนำ”ในตันบุญเทียม อังกินันทน์ (แปล) ลัทธิไตรราษฎร์ .พิมพ์ครั้งที่สอง ,(พระนคร :โอเดียน สโตร์, 2495), หน้า ค. )
โดยรัฐบาลขณะนั้นอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติสมุดเอกสารแลหนังสือพิมพ์ พระพุทธศักราช 2465 (พล.ต.อ.เผ่า, อ้างแล้ว , หน้า 125.)
ด้วยเหตุนี้การทำลายหนังสือดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลขณะนั้นไม่ต้องการให้ความคิดการปฏิวัติและความคิด “ประชาธิปไตย”เข้ามาสู่สังคมสยาม
ภารกิจของคณะ ร.ศ.130 และศรีกรุงกับการสนับสนุนการปฏิวัติครั้งใหม่
หลังจาก ปรีดี ว่าที่นักปฏิวัติรุ่นใหม่ ได้ไปเรียนต่อในโรงเรียนกฎหมาย เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี 2463 พร้อมกับการนำการรับรู้ การพยายามปฏิวัติของ“คณะ ร.ศ.130” ไปด้วย และต่อมา เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “คณะราษฎร” ที่ก่อตั้งขึ้นในปารีสเมื่อ 2469 และได้ร่วมนำการปฏิวัติ 2475 ในอีกไม่กี่ปี ต่อมาจากนั้น โดยมี “คณะ ร.ศ.130” เป็นแนวร่วมในการบ่มเพาะและปลุกกระแสความตื่นตัวของสังคมสยามให้พร้อมในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
ในระหว่างที่คณะ ร.ศ.130 ถูกจำคุกอย่างทรมานระหว่าง 2455-2467 ในบันทึกของสมาชิกของคณะได้บันทึกว่า แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ถูกทารุณ แต่ความคิดทางการเมืองของพวกเขายังคงสว่างไสว ทำให้พวกเขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปด้วย การลักลอบเขียนบทความแสดงการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนวนิยาย ส่งไปลงตามหนังสือพิมพ์การเมืองหลายฉบับ เช่น “จีโนสยามวารศัพท์” “ผดุงวิทยา” ของเซียวฮุดเส็ง “สยามราษฎร์” ของมานิต วสุวัต “ยามาโต” “วายาโม” “พิมพ์ไทย” “ตู้ทอง” และ “นักเรียน” เป็นต้น ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 205-206. ร.ต. ถัด ใช้นามปากกาว่า “ไทยใต้” เขียนเรื่อง เด็กกำพร้า ร.ต.โกย - “ศรียาตรา” เขียนเรื่อง มารินี คุณสมบัติของสตรี พระนางโยเซฟิน ร.ต.บ๋วย-“บ.กากะบาด” อุทัย เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา-“นายเทพ” “ไกรทอง”และ“ณโภมณี” เขียนเรื่อง ตำราลับสมอง และ วิชาจิตตศาสตร์ ร.ต. เนตร- “น.พ.ว.”และ ร.ต. สอน วงษ์โต- “กายสิทธิ์” เป็นต้น )
หลังพ้นโทษในปี 2467 สมาชิกหลายคนไปทำงานหนังสือพิมพ์ เช่น ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาศ ,ร.ต.จือ ควกุล ทำงานหนังสือพิมพ์ “บางกอกการเมือง” ซึ่งมีอุทัย เทพหัสดินทร์ เพื่อนนักปฏิวัติผู้มีหุ้นส่วนในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ส่วน ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ ร.ต.ถัด รัตนพันธ์ุ ร.ต.สอน วงษ์โต ร.ต.โกย วรรณกุล และ ร.ต.เนตร ทำงานที่ ”ศรีกรุง” และ “สยามราษฎร์” ของมานิต วสุวัต ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503 , หน้า 249-250. )
สมาชิกของคณะ ร.ศ.130 ได้เล่าความมุ่งมั่นของพวกเขาในการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ว่า “ผู้ที่เคยก่อการ (คณะ ร.ศ.130) เป็นนักหนังสือพิมพ์แท้ มักตระหนักชัดแจ้งว่า (พวกเขา) เป็นส่วนหนึ่งของชาติหน่วยหนึ่ง…พอเลิกงานแล้วมักจะออกเที่ยวคบค้าสมาคมตามสโมสรและแหล่งชุมนุมต่างๆ เพื่อสังสรรกลั่นกรองความคิดความเห็น และข่าวสารการเมืองเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน” ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร,อ้างแล้ว, 2503, หน้า 250-251.)
บทบาทของเหล่าผู้มาก่อนกาลยังคงต้องการผลักดันการปฏิวัติของสยามต่อไป ดังที่ พล.ต.อ.เผ่า ในขณะนั้นเขามียศเพียง ร.ต.ทหารมหาดเล็กฯได้บันทึกว่า เขาได้รับอิทธิพลทางความคิด “ประชาธิปไตย” จาก“คณะ ร.ศ.130” และต่อมานายทหารผู้นี้ได้ให้การสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 และร่วมต่อสู้กับอำนาจเก่าจนเขาพ้นจากอำนาจไป เขาได้บันทึกต่ออีกว่า “ความคิดปฏิวัติได้แพร่เข้ามาอยู่ในกระแสความคิดของคนสยามและนายทหาร) เพราะพวกทหารที่คิดเก็กเหม็งหรือคิดปฏิวัติในรัชกาลก่อน (รัชกาลที่ 6) นั้น ก็มาทำงานตามโรงพิมพ์หนังสือรายวันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพิมพ์ศรีกรุง เชิงสะพานมอญ และคำภาษาไทยใหม่ๆ ก็ได้เกิดขึ้นขนานคู่กับลัทธิไตรราษฎร์ของ ดร.ซุนยัดเซน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง เช่น คำว่า เสมอภาค ภราดรภาพ ดังนี้ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเร้าอารมณ์ของนายทหารหนุ่มๆยิ่ง หนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิด โรงพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด ก็ทำให้มีนายทหารเป็นจำนวนมากแอบซื้อหนังสือพิมพ์นี้มาอ่าน” ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 125. )
พล.ต.อ เผ่า ได้บันทึกความทรงจำต่อไปว่า ด้วยความกระหายใคร่รู้ของนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จำนวนหนึ่ง พวกนายทหารเหล่านั้นได้เริ่มต้นค้นหาความหมายของคำว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เคยเป็นแต่เสียงกระซิบกระซาบ ก็เกิดมีการค้นคว้ากันว่ามันคืออะไร” (พล.ต.อ.เผ่า ,อ้างแล้ว , หน้า 128.)
และเมื่อนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จำนวนหนึ่งเริ่มตระหนักสนใจในแนวคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มระแคะระคายถึงความตื่นตัวทางการเมืองดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้ง “สมาคมลับแหนบดำ” ขึ้นเพื่อทำการต่อต้านการปฏิวัติ โดยสมาคมนี้มีหน้าที่ป้องกันการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มปรากฎขึ้นภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พล.ต.อ.เผ่าเชื่อว่า พล.อ.พระยาสุรเดชรณชิต ทำหน้าที่สืบข่าว และปรามความคิดทางการเมืองของเหล่านายทหาร ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 129.)
แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจะติดตามกระแสความคิดที่ไม่พึงปรารถนามิให้เผยแพร่ในกองทัพ แต่กระนั้นก็ดี ร.ต.บ๋วย สมาชิกคณะ ร.ศ.130 ก็ยังคงเพียรทำหน้าที่เข้าไปเผยแพร่แนวความคิดในสโมสรนายทหารมหาดเล็กต่อไป ดังที่ พล.ต.อ.เผ่า ได้บันทึกบทบาทของ “คณะ ร.ศ.130” ว่า “ลัทธิเก็กเหม็งหรือปฏิวัติแบบซุนยัดเซนก็กระพือสะพัดไปทั่ว นายทหารที่คิดการปฏิวัติเมื่อ ร.ศ.130 ก็เริ่มเป็นดาราดวงเด่นขึ้น มีคนอยากรู้อยากฟังเรื่องปฏิวัติใน ร.ศ.130 และส่วนมากของนายทหารซึ่งได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ในสมัยรัชกาลที่หกนั้นก็เข้าทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ตามโรงพิมพ์เป็นส่วนมาก ผู้ที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ เป็นนักเขียนเรื่องเริงรมย์ทางสวาทชั้นยอด ร.ต.บ๋วยทำงานอยู่โรงพิมพ์ศรีกรุงได้มีโอกาสมาเยี่ยมทหารมหาดเล็กบ่อยๆ และชอบเล่าเรื่องการปฏิวัติใน ร.ศ.130 บางคนถามว่าอยู่ในคุกลำบากไหม ร.ต.บ๋วยตอบว่า จะเอาอะไรล่ะคุณ เราก็เป็นทหารเคยเป็นนักเรียนนายร้อย กินอย่างไรก็ได้ นอนอย่างไรก็ได้ ในคุกนั้นมีของทุกอย่าง เว้นไว้แต่ช้างไม่มีเพราะลอดประตูคุกเข้าไปไม่ได้ ทุกๆคนนิ่งฟัง ชมเชยในความกล้าหาญ อีกคนถามว่า กลัวถูกยิงเป้าไหม ร.ต.บ๋วยตอบว่า กลัวน่ะกลัวกันทุกคน แต่อย่างมากคนเราก็แค่ตายเท่านั้น ผมพูดอย่างนี้จริงหรือไม่ แล้วสังคมก็ครื้นเครงอารมณ์ไปในทางเลื่อมใส ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์เป็นอย่างยิ่ง” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 131.)
ร.ต.บ๋วยได้พยายามเผยแพร่แนวความคิด “ประชาธิปไตย” ให้กับนายทหารอย่างต่อเนื่อง แม้ในเวลาต่อมา มีคำสั่งห้ามมิให้นายทหารชวนคนภายนอกเข้ามาในสโมสร แต่ ร.ต.บ๋วยก็ยังคงเพียรเปลี่ยนแปลงความคิดของนายทหารต่อไปด้วยการส่งหนังสือพิมพ์มาให้ห้องสมุดนายทหารมหาดเล็กเสมอ และได้ย้ายวงสังสรรค์ออกไปนอกกรมทหาร ตามรอบสวนเจ้าเชตุ บางวันก็ไปกินเลี้ยงกันตามร้านอาหารใหญ่ เช่น ร้านฮงเฮง ร้านฮั้วตุ้น ตามแต่ขณะนั้นจะมีเงินมากหรือเงินน้อย ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 131)
การพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองระหว่าง ร.ต.บ๋วยกับนายทหารคนอื่นๆ ทำให้นายทหารเริ่มรับรู้ และเห็นด้วยกับความคิดทางการเมืองนั้น ดังที่ พล.ต.อ.เผ่าบันทึกไว้ว่า “เรื่องกบฏเก็กเหม็งในเมืองไทยและที่ในเมืองจีนซึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ก็เริ่มกระจ่างแจ้งในใจของผู้บังคับหมวด คือ ร.ต.เผ่า ศรียานนท์” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 132.)
การบรรจบกันของ“คณะ ร.ศ.130” กับ “คณะราษฎร” ในการปฏิวัติ 2475
เมื่อปรีดีเดินทางกลับสู่สยาม ภายหลังที่เขาสำเร็จการศึกษาและร่วมจัดตั้ง “คณะราษฎร” ที่ปารีสแล้ว เขาได้มีโอกาสพบปะกับ ร.ต.เนตร อดีตแกนนำของ “คณะ ร.ศ.130” ด้วย เมื่อมีความคุ้นเคยระหว่างกันมากขึ้นเขาได้เคยถามถึงสภาพชีวิตในคุกของเหล่าคณะ ร.ศ.130 และได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อโศกนาฏกรรมที่เหล่าผู้มาก่อนกาลได้รับโทษทัณฑ์ และเขาได้ซักถามถึงสาเหตุของความล้มเหลวของ “คณะ รศ.130” คืออะไร เขาได้รับคำตอบจาก ร.ต.เนตรว่า เกิดจากการทรยศหักหลังของคนในคณะนำความลับไปแจ้งแก่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ร.ต.เนตรมั่นใจว่า หากไม่มีเหตุการณ์ทรยศดังกล่าว ร.ต.เนตรมั่นใจว่าการปฏิวัติจะประสบความสำเร็จ ( เรื่องรักของสามัญชน ปรีดี พูนศุข ใน http://padeedub.blogspot.com/2009/05/blog-post.html เข้าถึง 7 กันยายน 2553 และ http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=ce3db72dacb539f829521f0595bcd996&showtopic=31333จากคุณ cele ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน,เข้าถึง 7 กันยายน 2553 )
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเขากับแกนนำใน “คณะ ร.ศ.130” นี้เขาได้บันทึกยืนยันความสัมพันธ์นี้ว่า “ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่า เมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.130 รักชาติกล้าหาญ เตรียมเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยามสอบถามแก่ผู้รู้เพื่อทราบเรื่องของ ร.ศ.130 ด้วยความเห็นใจมาก” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35 )
จากประสบการณ์ของ “คณะ ร.ศ.130” ที่เขาได้รับฟังมา ทำให้เขาต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังที่เขาบันทึกว่า “มีคนกลุ่มหนึ่งเช่นอย่าง ร.ศ.130 ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะทำ (การปฏิวัติ) แต่ถูกหักหลัง ถ้าไม่ถูกหักหลังเขาก็สำเร็จ...ผมก็เอาบทเรียนที่เขา (คณะ ร.ศ.130 ) พลาดพลั้งมาศึกษา... ” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 43 )
เมื่อความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง “คณะ ร.ศ. 130” กับ “คณะราษฎร” มีความแนบแน่นมากขึ้นจนนำไปสู่ความร่วมมือกัน ดังสมาชิกสำคัญใน “คณะ ร.ศ.130” ได้บันทึกถึงบาทบาทของพวกเขาในการสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 ว่า “เราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซํ้ามีบางคนได้ตกปากรับคำกับสายสื่อของคณะ พ.ศ.2475 เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ใช้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นปากเสียง (organ) ของคณะ 2475 ก็เผอิญนายมานิต วสุวัต ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันสมัยอยู่แล้วได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชายนับแต่นั้นเป็นต้นมา ” ( ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร ,อ้างแล้ว, 2503, หน้า 254.)
ความหมายของ“ประชาธิปไตย”ก่อนการปฏิวัติ 2475
ก่อนการปฏิวัติ 2475 ปรีดีรับราชการในกระทรวงยุติธรรมและเขายังได้ทำหน้าที่ผู้สอนวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย และได้เขียนตำรา “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” เล่มสำคัญขึ้นเพื่อสอนเหล่านักเรียนกฎหมาย ในตำรามีการจำแนกของคำว่ารัฐบาลในโลกนี้ออกเป็น 2 แบบ คือ
แบบแรก คือ รัฐบาลราชาธิปไตย ซึ่งมีหลายชนิดตั้งแต่ รัฐบาลราชาธิปไตยอำนาจไม่จำกัด (Monarchie absolue) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็ม จนถึง รัฐบาลราชาธิปไตยอำนาจจำกัด (Monarchie limitee) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการแผ่นดิน
และแบบที่สอง คือ รัฐบาลประชาธิปไตย คือ รัฐบาลที่มีหัวหน้าของผู้บริหารเป็นคนสามัญธรรมดา ไม่มีการสืบทอดตำแหน่งไปยังทายาท แต่การเข้าสู่ตำแหน่งมาจากมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกำหนดเวลา รัฐบาลประชาธิปไตยมี สองชนิด คือ รัฐบาลที่มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า เช่น ฝรั่งเศส กับ รัฐบาลที่อำนาจบริหารอยู่กับคณะบุคคล เช่น สหภาพโซเวียต ( หลวงประดิษฐมนูธรรม , อ้างแล้ว , หน้า 165.)
การเรียนการสอนและการถกเถียงถึงรูปแบบการปกครองแบบต่างๆ ของโรงเรียนกฎหมายในช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 นั้นสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับผู้สนใจในความรู้สมัยนั้นโดยเฉพาะนักเรียนกฎหมาย จนกระทั่งนายทหารผู้หนึ่งขณะนั้นคนหนึ่งบันทึกว่า “ มีข่าวแพร่ สะพัดมาว่า ที่โรงเรียนกฎหมายได้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิการปกครองแบบใหม่อย่างกว้างขวาง... ที่ของโรงเรียนกฎหมายอันเป็นแหล่งเพาะวิชาปกครองบ้านเมืองและเป็นสถาบันค้นคว้าวิชาการปกครองได้แพร่สะพัดออกมาว่า การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นนั้นได้ เพราะเป็นสถานที่ๆให้การศึกษาวิชากฎหมายจึงไม่กีดกันความคิดเห็นแต่อย่างใด ” ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 132.)
เมื่องานฉลองพระนคร 150 ปี (เมษายน 2475) ใกล้เข้ามา มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วตามเบียร์ฮออล์ บาร์ ร้านจำหน่ายสุรา สถานที่เต้นรำ แม้กระทั่งในสโมสรนายทหารว่า จะเกิดการจลาจล ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่งการให้ตำรวจภูบาลซึ่งเป็นตำรวจลับของระบอบเก่าปลอมตัวเข้ามาเป็นแขกขายเนื้อสเต๊ะเข้ามาสืบข่าวในกรมทหารอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับบทบาทของ “ศรีกรุง” ได้ลงบทความโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เหล่านักหนังสือพิมพ์ชาว “คณะ ร.ศ.130” ถูกติดตามจากตำรวจภูบาลด้วยเช่นกัน ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร, อ้างแล้ว , 2503 , หน้า 245 )
ข่าวการเข้ามาสืบข่าวของตำรวจลับแพร่ออกไป พล.ต.อ.เผ่าได้บันทึกว่า “ร.ต.บ๋วย บุณยรัตน์พันธ์ อาจารย์เก็กเหม็งก็หัวเราะร่วนในวงสุราว่า เห็นไหมล่ะ ผมว่าแล้วมีข่าวแปร่งๆ ในหมู่ทหารบก พวกเรานี้ เมืองไทยนั้นถึงคราวมาช้านาน ถ้าพร้อมเพรียงกันเป็นสำเร็จแน่” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 135 )
ความคิด “ประชาธิปไตย” ในประกาศคณะราษฎร
พลันที่การปฏิวัติได้เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปรีดี ได้รับภารกิจสำคัญจาก “คณะราษฎร” ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน และร่าง “ประกาศคณะราษฎร” ซึ่งถือเป็นคำประกาศอิสรภาพของราษฎรจากการปกครองระบอบเก่าและประกาศก้าวสู่ระบอบใหม่ว่า ( ปรีดี พนมยงค์ , ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ รัฐประหาร วิวัฒน์ อภิวัฒน์ (กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์,2519), หน้า 9-10. ปรีดีไม่เคยยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรจนกระทั่ง ในปี 2519 เขาบันทึกว่า “ผมได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้เขียนแถลงการณ์...” )
“เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม …ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง… คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา…”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ความคิด “ประชาธิปไตย” ที่เริ่มต้นขึ้นจากความคิดของ “คณะ ร.ศ.130” จะมิได้เกิดขึ้นจริง แต่ความคิดดังกล่าวยังปรากฏแพร่หลายในสังคมสยามโดยสื่อผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติในจีน หนังสือ “ลัทธิตรัยราษฎร์” ของซุนยัดเซ็นและปรากฏขึ้นมาอย่างสำคัญอีกครั้งในคำประกาศคณะราษฎร
เมื่อพ้นเช้าแห่งประวัติศาสตร์ที่เกิดการปฏิวัติในสยาม เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ในช่วงบ่าย พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้า “คณะราษฎร” ได้เชิญ ร.อ.เหล็ง และเหล่า “คณะ ร.ศ.130” มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งขณะนั้นเป็นกองบัญชาการของ “คณะราษฎร” ในเวลา 13.00 น. หัวหน้า “คณะราษฎร” ได้ยื่นมือสัมผัสกับอดีตผู้ก่อการรุ่นก่อนหน้าเขาได้กล่าวกับ “ คณะ ร.ศ.130” ว่า “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนทีเยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนเป็นแน่” เขาเล่าให้ “คณะ ร.ศ.130” ฟังว่าในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน ในระหว่างที่เขาคุมกำลังทหารเข้าปฏิวัติ เขาได้จับกุมพระยากำแพงราม (แต้ม) ผู้ทรยศคณะ ร.ศ.130ได้ และต้องการสั่งยิงเป้าพระยากำแพงรามเพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพลที่สี่แยกเกียกกาย แต่พระยาทรงสุรเดช แกนนำสำคัญของคณะราษฎร ได้ห้ามไว้ ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503, หน้า 255. แม้พระยากำแพงรามจะรอดชีวิตมาได้ แต่ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกับกบฎบวรเดช แต่ก็พ่ายแพ้ เขาถูกจำคุกที่เรือนจำบางขวางและต่อมาเขาได้ผูกคอตายในห้องส้วมของคุกนั่นเอง )
ส่วนพระยาทรงสุรเดช ผู้เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับ ร.ต.บ๋วย ได้กล่าวทักทายว่า “พอใจไหมบ๋วย ที่กันทำในครั้งนี้” อดีตนักปฏิวัติได้กล่าวตอบว่า “ พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกับพวกผม” และในบ่ายวันนั้น “คณะ ร.ศ.130” ได้พบกับปรีดี แกนนำฝ่ายพลเรือน เขาได้กล่าวกับกล่าวกับเหล่าผู้มาก่อนกาลว่า “พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำทีต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.130 ว่า พวกพี่ๆต่อไป” ( ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503, หน้า 2-3. )
เมื่อการปฏิวัติในวันนั้นผ่านพ้นไป บรรดาเหล่าผู้ที่ได้เคยสนับสนุนความคิด “ประชาธิปไตย” ได้ให้การสนับสนุน “คณะราษฎร” เช่น การบริจาคสิ่งของและการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 โดย ต.บุญเทียม ผู้แปลหนังสือ “ลัทธิตรัยราษฎร์” ( หลักเมือง 9 กรกฎาคม 2475 ลงข่าวว่า ต.บุญเทียมได้บริจาคผ้าขนหนูเช็ดตัว 20 โหล และผ้าขนหนูเช็ดหน้า 60 โหลให้กับคณะราษฎรเพื่อใช้ประโยชน์ในระหว่างที่ตั้งกองบัญชาการปฏิวัติที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เขาพิมพ์หนังสือสยามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับถาวร พร้อมด้วยคำแถลงการณ์ของอนุกรรมการ.(พระนคร : โรงพิมพ์หลักเมือง,2475) ออกแจกจ่าย ตลอดจน เขาได้เผยแพร่ ลัทธิตรัยราษฎร์ ลงในหนังสือพิมพ์ของเขา (หลักเมือง 11 มกราคม 2475)(นับแบบใหม่ คือ 2476)
และ “คณะ ร.ศ.130” ได้เข้าสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้อย่างแข็งขัน พวกเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประวัติศาสตร์ เช่น ร.ต. เนตร ( ต่อมา ร.ต. เนตร ต่อมาได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยที่พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย )
จรูญ ณ บางช้าง ต่อมา สมาชิกบางส่วนได้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความกล้าหาญ และมีฝีปากกล้าในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่ขัดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์สภาผู้แทนราษฎร เช่น ร.ต.สอน (ชัยนาท) ร.ท.ทองคำ(ปราจีนบุรี) และ ร.ต. ถัด (พัทลุง) ( สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 (พระนคร: บริษัท ชุมนุมช่าง , 2503) และโปรดดูบทบาทของพวกเขาในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ อย่างดุเดือด ใน ,แถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ , (พระนคร : ศรีกรุง,2478 ) และสุพจน์ แจ้งเร็ว. “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน 2545 ), หน้า 63-80. )
สมาชิกบางส่วนกลับเข้ารับราชการภายหลังที่ “คณะราษฎร” นิรโทษกรรมความผิดที่ผ่านมาให้ นอกจากนี้พวกเขาได้สนับสนุนพิมพ์หนังสือเอกสารสนับสนุนการปฏิวัติออกแจกจ่ายด้วย ( หลัก 6 ประการ แถลงโดย นายจรูญ ณ บางช้าง พิมพ์ขึ้นในโอกาสพิธีการมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พระพุทธศักราช 2475 .(พระนคร: โรงพิมพ์ลหุโทษ,2475 ),นายร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ (รวบรวมและเรียบเรียง), คู่มือของผู้แทนตำบลสำหรับเลือกผู้แทนราษฎร (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล,2476) คำอภิปราย
เสนอกฎหมายกับกะทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรของนายร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง. แส รัตนพันธ์พิมพ์ช่วยในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ณ เมรุ วัดวัง จังหวัดพัทลุง (พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์,2481).)
เสนอกฎหมายกับกะทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรของนายร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง. แส รัตนพันธ์พิมพ์ช่วยในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ณ เมรุ วัดวัง จังหวัดพัทลุง (พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์,2481).)
รวมทั้ง มานิต วสุวัต ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เสียสละยอมให้หนังสือพิมพ์ของตนเป็นหัวหอกในการสนับสนุนการปฏิวัติได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนชุดแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นกัน
แม้ “คณะราษฎร” จะทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของสยามได้ แต่กลุ่มอำนาจเก่ามิได้ถูกขจัดไปทั้งหมดทำให้การปฏิวัติ 2475 หาได้ปลอดจากการต่อต้าน เห็นได้จากกลุ่มอำนาจเก่าให้การสนับสนุนกบฎบวรเดช (2476) แต่ “คณะราษฎร” ก็สามารถปราบกบฏบวรเดชลงได้ และต่อมามีการจัดงานฌาปนกิจศพเหล่าทหาร และตำรวจฝ่ายคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ“คณะ ร.ศ.130” ร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลที่สละชีวิตปกป้องระบอบใหม่ ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว ,หน้า 176 . “คณะ ร.ศ.130” ที่เข้าร่วมงานฌาปนกิจนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปราบกบฎบวรเดชในวันนั้นเช่น ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณหะประไพ และอุทัย เทพหัสดินทร์ )
แบบและประสบการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสในความคิดของแกนนำคณะราษฎร
ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สังคมสยามมีความตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวอย่างมาก เห็นได้จากในขณะนั้นมีการผลิตหนังสือที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสหลายเล่ม เช่น “ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส” (2477) “ปฏิวัติฝรั่งเศส ฉบับพิศดาร” และ “ขุมปฏิวัติ (ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับประชาชน)” มีการเกริ่นนำในหนังสือว่า “ดุเดือดที่สุด… เลวร้ายที่สุด…ทารุณที่สุด…แต่ก็ดีที่สุด ปฏิวัติฝรั่งเศสระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1789 ไม่ใช่แต่ฝรั่งเศสเท่านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไป โลกทั้งโลกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเป็นการพลิกประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่” ( พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2477) ในปกหลังของหนังสือได้มีโฆษณาหนังสือใหม่ ของยอดธรรม บุญบันดาล, ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับพิศดาร 2 เล่ม และ ขุมปฏิวัติ (ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับประชาชน) จัดพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์เสรีภาพ )
สองปีหลังการปฏิวัติ เราจะเห็นท่าทีของนายปรีดีที่มีความประนีประนอม เนื่องจาก เขาอาจคิดว่า กลุ่มอำนาจเก่าคงจะไม่ต่อต้านการปฏิวัติ 2475 อีก และเขาต้องการทำงานมากกว่าการพะวัก พะวงกับปัญหาการต่อต้าน เขากล่าวว่า เป้าหมายของเขาอยู่ที่ความสุขสมบูรณ์ของประชาชนมากกว่าการเปลี่ยนแต่เพียงแบบ และเขาวิจารณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ (Revolution imparfaite) เนื่องจากให้ความสำคัญกับการ “เปลี่ยนแบบ เปลี่ยนบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งการปกครอง” มากกว่าการสร้างความสุขสมบูรณ์ของประชาชน การดำเนินการของคณะปฏิวัติฝรั่งเศสจึงนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่ไม่รู้จบ เขาเห็นว่า แบบการปฏิวัติฝรั่งเศสที่หาได้มุ่งสู่ความสุขสมบูรณ์เป็นแบบที่ไม่ควรนำมาใช้กับสยาม ( หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, “คำนำ” ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, อ้างแล้ว.)
ในขณะที่ในเวลาต่อมา จอมพล ป. เพื่อนนักปฏิวัติในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอย่างตระหนักถึงผลที่จะตามมาภายหลังการปฏิวัติของ “คณะราษฎร” จากการต่อต้านโดยกลุ่มอำนาจเก่า ต่อสภาผู้แทนฯ ในปี 2482 หลังรัฐบาลได้ปราบปรามการก่อการบกบฎ และก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มอำนาจเก่าลงได้ เช่น กบฏบวรเดช การลอบสังหาร “คณะราษฎร” และตัวเขา (2476-2481) เขาได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ...ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก” ( “คำปราศัยของนายกรัฐมนตรีกล่าวแด่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงปรับความเข้าใจเกี่ยวแก่คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฎ 27 พฤศจิกายน 2482” ในประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์ (พระนคร : กรมโฆษณาการ, 2483), หน้า 72. )
และในปี 2483 เขาได้กล่าวย้ำกับสภาผู้แทนฯ อีกว่า “ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้” ( “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี กล่าวแด่มวลสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวแก้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 15 สิงหาคม 2483” ในประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์ ,หน้า 153. )
บทความนี้ขอสรุปด้วยการยกคำพูดของ ปรีดี แกนนำสำคัญใน “คณะราษฎร”
ผู้ร่างประกาศคณะราษฎร (2475)
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุด (2475)
ผู้เคยไม่เห็นด้วยกับการนำแบบการปฏิวัติฝรั่งเศสมาใช้ (2477)
ผู้เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ (2484-2489)
และต่อมาเขาได้พยายามปรองดองและปลดปล่อยกลุ่มอำนาจเก่าโดยหวังว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะลืมความขัดแย้งในอดีตและร่วมมือกันสร้างสรรค์การปกครองที่ยอมรับอำนาจประชาชน (2488)
ไม่นานจากนั้นเขาได้ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสวรรคต (2489-2490) และพ้นอำนาจไปด้วยกลุ่มคนที่เขาเคยทำดีด้วย (2490) ในเวลาต่อมา เขาได้วิเคราะห์การเมืองไทยด้วยสายตาของนักปฏิวัติในช่วงปลายแห่งชีวิต (2526) ที่น่าคิดว่า “ในเมืองไทยเวลานี้ ซากทาส-ศักดินายังมีพลังมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่ควรประมาท คิดว่าได้อำนาจรัฐแล้ว จะไม่มีซากเก่าคอยจองล้างจองผลาญอย่างนั้นหรือ ? ” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 47. )