วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗


กฎมณเฑียรบาล
ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์[1]  

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล ๒๔๖๗ พรรษา ปัตยุบันสมัย พฤศจิกายนมาส ทสมสุรทิน จันทวาร กาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงศ อติศัยพงศวิมลรัตน วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฎนเรนทรสูรสันตติวงศวิศิษฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอติเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค มหาชโนตตะมางคประณต บาทบงกชยุคลประสิทธิสรรพศุภผล อุดมบรมสุขุมาลย ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษบุริมศักดิสมญาเทพทวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน อัศวโกศลประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินทร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวไศย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระอนุสรคำนึงถึงการสืบราชสันตติวงศ์ ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามย่อมทรงพระบรมเดชานุภาพโดยบริบูรณ์ และทรงมีสิทธิอำนาจที่จะทรงเลือกตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริว่ามีพระปรีชาสามารถ อาจเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ ดำรงราชตระกูลและรัฐสีมาอาณาจักร อารักษ์พสกนิกร สนองพระองค์ต่อไปได้นั้น ขึ้นเป็นพระรัชทายาท โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศแก่บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเสนามาตย์ราชเสวกบริพาร อีกทั้งสมณพราหมณาจารย์และอาณาประชาราษฎรให้ทราบทั่วกัน ว่าได้ทรงเลือกสรรพระบรมวงศ์พระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาท และบางทีก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปราชาภิเษกหรือยุพราชาภิเษกด้วย ราชประเพณีนี้ย่อมเป็นสิ่งซึ่งสมควรแก่พระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวโดยแท้

แต่ก็ได้เคยมีมาแล้วในอดีตสมัย และอาจมีได้อีกในอนาคตสมัย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเลือกและประดิษฐานพระรัชทายาทขึ้นไว้อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นผลให้บังเกิดมีเหตุยุ่งยาก แก่งแย่งกันขึ้นในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง การแก่งแย่งช่วงชิงพระราชอำนาจกันย่อมเป็นโอกาสให้บุคคลผู้มิได้ตั้งอยู่ใน สัมมาปฏิบัติคิดขัดขวางต่อทางเจริญแห่งราชอาณาจักร ทั้งเป็นโอกาสให้ศัตรู ทั้งภายนอกภายใน ได้ใจคิดประทุษร้ายต่อราชตระกูล และอิสรภาพแห่งประเทศสยาม นำความหายนะมาสู่ชาติไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอนุสรคำนึงถึงข้อความเหล่านี้ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีนิติธรรมกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ขึ้นไว้ เพื่อจะได้ตัดความยุ่งยากแก่งแย่งกันภายในพระราชวงศ์ ในเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงตั้งแต่งพระรัชทายาทขึ้นไว้โดยแน่นอน ดังกล่าวมาแล้วข้างบนนี้ อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงสยามควรต้องทรงเป็นผู้ที่อาณาประชาชนมีความเคารพนับถือ และไว้วางใจได้โดยบริบูรณ์ทุกสถาน ฉะนั้นจึงทรงพระราชดำริว่า พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดมีข้อบกพร่องสำคัญบางอย่างในพระองค์แล้ว ก็ไม่ควรให้อยู่ในเกณฑ์สืบราชสันตติวงศ์ เพราะอาจจะเป็นเหตุให้บังเกิดความไม่เรียบร้อยหรือเดือดร้อนแก่อาณาประชาชนได้ หรืออาจถึงแก่นำความหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งอยู่ในพระอัปปมาทธรรม และได้ทรงพระราชดำริพิจารณาโดยสุขุมแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎมณเฑียรบาลไว้เป็นหลักฐานแถลงราชนิติธรรม ดังต่อไปนี้

หมวด ๑ 
 
ว่าด้วยนามและกำหนดใช้กฎมณเฑียรบาลนี้
 
มาตรา ๑  กฎมณเฑียรบาลนี้ ให้เรียกว่า “กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗”
 
มาตรา ๒  ให้ใช้กฎมณเฑียรบาลนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นต้นไป
 
มาตรา ๓  ข้อความใด ๆ ที่มีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายอื่นๆ ที่แย้งกับข้อความในกฎมณเฑียรบาลนี้ ให้ยกเลิกเสียทั้งสิ้น
 
 
หมวด ๒
บรรยายศัพท์

มาตรา ๔ ศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ในกฎมณเฑียรบาลนี้ ท่านว่าให้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้
(๑) “พระรัชทายาท” คือ เจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สมมุติขึ้น เพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป
(๒) “สมเด็จพระยุพราช” คือ พระรัชทายาทที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นเป็นตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช โดยพระราชทานยุพราชาภิเษก หรือโดยพิธีอย่างอื่น สุดแท้แต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
(๓) “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” คือ สมเด็จพระบรมราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี
(๔) “สมเด็จพระอัครมเหสี” คือ พระชายาหลวงของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ปรากฏในประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
(๕) “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระมเหสีรอง
(๖) “พระมเหสีรอง” คือ พระชายาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ที่ดำรงพระเกียรติยศรองลงมาจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี มีพระเกียรติยศสูงต่ำเป็นลำดับกัน คือ สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พระนางเจ้า พระราชเทวี พระนางเธอ พระอัครชายาเธอ ดังนี้เป็นต้น
(๗) “พระเจ้าลูกยาเธอ” คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระสนมเอก โท ตรี
(๘) คำว่า “พระองค์ใหญ่” ให้เข้าใจว่า พระองค์ที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์อื่น ๆ ที่ร่วมพระมารดากัน

หมวด ๓
ว่าด้วยการทรงสมมุติและทรงถอนพระรัชทายาท
 
มาตรา ๕ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิ ที่จะทรงสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ให้เป็นพระรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ว่า ท่านพระองค์นั้นจะสามารถสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ 
 
แต่การที่สมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ให้เป็นพระรัชทายาทเช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นการเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น 
 
มาตรา ๖ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสมมุติท่านพระองค์ใดให้เป็นพระรัชทายาทแล้ว และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข้อความให้ปรากฏแก่พระบรมวงศานุวงศ์ เสนามาตย์ ราชเสวกบริพารและอาณาประชาชน ให้ทราบทั่วกันแล้ว ท่านว่า ให้ถือว่าท่านพระองค์นั้นเป็นพระรัชทายาทโดยแน่นอนปราศจากปัญหาใด ๆ และเมื่อใดถึงกาลอันจำเป็น ก็ให้พระรัชทายาทพระองค์นั้นเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษโดยทันที ให้สมดังพระบรมราชประสงค์ที่ได้ทรงประกาศไว้นั้นแล 
 
มาตรา ๗ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสงวนไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิที่จะทรงถอนพระรัชทายาทออกจากตำแหน่งได้ ท่านพระองค์ใดที่ได้ถูกถอนจากตำแหน่งพระรัชทายาทแล้ว ท่านว่าให้นับว่าขาดจากทางที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์ และให้ถอนพระนามออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ อีกทั้งพระโอรสและบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ถอนเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น 
 
อนึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชสิทธิ ที่จะทรงประกาศยกเว้นเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ได้ 
 
หมวด ๔
ว่าด้วยลำดับชั้นผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์
 
มาตรา ๘ ถ้าหากว่ามีเหตุอันไม่พึงปรารถนา คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง โดยมิได้ทรงสมมุติพระรัชทายาทไว้ก่อนแล้วไซร้ ท่านว่า ให้เป็นหน้าที่ท่านเสนาบดีอัญเชิญเสด็จเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ที่ ๑ ในลำดับสืบพระราชสันตติวงศ์ ดังได้แถลงไว้ในมาตรา ๙ ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ที่ได้เสด็จสวรรคตลงแล้วนั้นต่อไป แต่ผู้ที่จะอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เช่นนี้ ต้องมิใช่ผู้ที่ตกอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นที่ปรากฏอยู่ในมาตรา ๑๑ และ ๑๒ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ 
 
มาตรา ๙ ลำดับชั้นเชื้อพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น ท่านว่าให้เลือกตามสายตรงก่อนเสมอ ต่อไม่สามารถจะเลือกทางสายตรงได้แล้ว จึงให้เลือกตามเกณฑ์ที่สนิทมากและน้อย เพื่อให้สิ้นสงสัย ท่านว่าให้วางลำดับสืบราชสันตติวงศ์ไว้ดังต่อไปนี้
(๑) สมเด็จหน่อพุทธเจ้า
(๒) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จหน่อพุทธเจ้า และพระอัครชายาของสมเด็จหน่อพุทธเจ้าพระองค์นั้นขึ้นทรงราชย์ หรือถ้าพระราชโอรสพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระราชโอรสพระองค์รอง ๆ ต่อไปตามลำดับพระชนมายุ
(๓) ถ้าแม้ว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้าหาพระองค์ไม่แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอัครมเหสี
(๔) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ หาพระองค์ไม่แล้ว แต่ถ้ามีพระโอรสอยู่ ก็ให้อัญเชิญพระโอรสโดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้
(๕) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๒ ในสมเด็จพระอัครมเหสีหาพระองค์มิได้แล้ว และไร้พระราชโอรสของท่านด้วยไซร้ ก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ในสมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้
(๖) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระอัครมเหสีหาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองถัดลงไปตามลำดับชั้นพระ อิสริยยศแห่งพระมารดา หรือถ้าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ สลับกันตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้
(๗) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในพระมเหสีรองหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุด หรือถ้าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นหาพระองค์ไม่แล้ว ก็ให้อัญเชิญพระโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น แต่ถ้าแม้ว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุมากที่สุดนั้นหาพระองค์ ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาไม่ด้วยแล้ว ก็ให้อัญเชิญพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมา หรือพระโอรสของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้ 
(๘) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัด ลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ 
(๙) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ที่ควรได้ทรงเป็นทายาทนั้นหาพระองค์ไม่เสีย แล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้นตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒ แห่งมาตรานี้ 
(๑๐) ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระอนุชาพระองค์ใหญ่หาพระองค์ไม่แล้ว และพระโอรสของท่านก็หาพระองค์ไม่อีกด้วยไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระชนนีพระองค์ที่ถัดลงไปตามลำดับ พระชนมายุ หรือพระโอรสของสมเด็จพระอนุชาพระองค์นั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ อนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓ และ ๔ แห่งมาตรานี้ 
(๑๑) ถ้าแม้สมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนนีหาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และพระโอรสของสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ ก็หาไม่ด้วยแล้ว ท่านว่าให้อัญเชิญสมเด็จพระเชษฐา และสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนี หรือพระโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้น ๆ สลับกันไปตามลำดับ โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๒, ๓, ๔ และ ๖ แห่งมาตรานี้ 
(๑๒) ถ้าแม้สมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชาต่างพระชนนีก็หาพระองค์ไม่สิ้นแล้ว และโอรสของสมเด็จพระเชษฐาและสมเด็จพระอนุชานั้นก็หาไม่ด้วยแล้วไซร้ ท่านว่าให้อัญเชิญพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระโอรสของพระเจ้าพี่ยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ ตามลำดับสลับกัน โดยอนุโลมตามข้อความในข้อ ๗ แห่งมาตรานี้ 
(๑๓) ต่อเมื่อหมดพระเจ้าพี่ยาเธอและพระเจ้าน้องยาเธอ อีกทั้งหมดพระโอรสของท่านนั้น ๆ แล้วไซร้ ท่านจึงให้อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ หรือพระโอรส และเชื้อสายของท่านพระองค์นั้น ตามลำดับแห่งความสนิทมากและน้อย โดยอนุโลมตามข้อความที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๑๒ แห่งมาตรานี้ 
 
หมวด ๕
ว่าด้วยผู้ที่ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์ 
 
มาตรา ๑๐ ท่านพระองค์ใดที่จะได้เสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ควรที่จะเป็นผู้ที่มหาชนนับถือได้โดยเต็มที่ และเอาเป็นที่พึ่งได้โดยความสุขใจ ฉะนั้นท่านพระองค์ใดมีข้อที่ชนหมู่มากเห็นว่าเป็นที่น่ารังเกียจ ก็ควรที่จะให้พ้นเสียจากหนทางที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นเครื่องตัดความวิตกแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาชน 
 
มาตรา ๑๑ เจ้านายผู้เป็นเชื้อพระบรมราชวงศ์ ถ้าแม้ว่าเป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ข้างล่างนี้ไซร้ ท่านว่าให้ยกเว้นเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ ลักษณะที่กล่าวนี้ คือ (๑) มีพระสัญญาวิปลาส
(๒) ต้องราชทัณฑ์เพราะประพฤติผิดพระราชกำหนดกฎหมายในคดีมหันตโทษ
(๓) ไม่สามารถทรงเป็นอัครพุทธศาสนูปถัมภก
(๔) มีพระชายาเป็นนางต่างด้าว กล่าวคือ นางที่มีสัญชาติเดิมเป็นชาวประเทศอื่น นอกจากชาวไทยโดยแท้
(๕) เป็นผู้ที่ได้ถูกถอนออกแล้วจากตำแหน่งพระรัชทายาท ไม่ว่าการถูกถอนนี้จะได้เป็นไปในรัชกาลใด ๆ
(๖) เป็นผู้ที่ได้ถูกประกาศยกเว้นออกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์
 
มาตรา ๑๒ ท่านพระองค์ใดตกอยู่ในเกณฑ์มีลักษณะบกพร่องดังกล่าวมาแล้วในมาตรา ๑๑ แห่งกฎมณเฑียรบาลนี้ไซร้ ท่านว่าพระโอรสอีกทั้งบรรดาเชื้อสายโดยตรงของท่านพระองค์นั้น ก็ให้ยกเสียจากลำดับสืบราชสันตติวงศ์ด้วยทั้งสิ้น
 
มาตรา ๑๓ (ยกเลิก)[2]

หมวด ๖
ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์
 
มาตรา ๑๔ ถึง มาตรา ๑๘ (ยกเลิก)[3]
 
หมวด ๗
ว่าด้วยการแก้กฎมณเฑียรบาลนี้
 
มาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๐ (ยกเลิก)[4]
 
หมวด ๘
ว่าด้วยผู้เป็นหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้
 
มาตรา ๒๑ ให้เสนาบดีกระทรวงวัง[5] เป็นหน้าที่รักษากฎมณเฑียรบาลนี้ ให้เป็นไปสมพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลนี้ขึ้นไว้นั้น จงทุกประการ 
  
 
เชิงอรรถ
1. ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๑/หน้า ๑๙๕/๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗
2. มาตรา ๑๓ ยกเลิกโดย มาตรา ๒๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งว่า
"มาตรา ๒๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทรา บและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๐ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
 
"ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่ง หรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง"

และ มาตรา ๒๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ปัจจุบันถูกแทนที่โดย มาตรา ๒๓ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งว่า
 
"มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระ รัชทายาทไว้ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ

"ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๒ ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภา เพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้จะเสนอพระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
 
"ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่ง หรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง"

3. มาตรา ๑๔ ถึงมาตรา ๑๘ ยกเลิกโดย มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ซึ่งว่า 
 
"มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง หรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ ให้รัฐสภาปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่รัฐสภายังมิได้ตั้งผู้ใด ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคน ประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นชั่วคราว

"มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลง และมิได้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งไว้ตามความในมาตรา ๑๐ ให้สมาชิกพฤฒสภาผู้มีอายุสูงสุดสามคนประกอบเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์ขึ้นชั่วคราว"
 
และ มาตรา ๑๐ และมาตรา ๑๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๘๙ ดังกล่าว ปัจจุบันถูกแทนที่โดย มาตรา ๑๘ ถึงมาตรา ๒๑ ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งว่า

"มาตรา ๑๘ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
 
"มาตรา ๑๙ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา ๑๘ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ หรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

"ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง
 
"มาตรา ๒๐ ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

"ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลาง ก่อน
 
"ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้ ในกรณีเช่นว่านี้ให้คณะองคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

"มาตรา ๒๑ ก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภา ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
 
" 'ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ'

"ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรานี้"
 
4. มาตรา ๑๙ ถึงมาตรา ๒๐ ยกเลิกโดย มาตรา ๒๐ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งว่า 
 
"มาตรา ๒๐ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๑ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗

"การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้องคมนตรีจัดร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้ รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้"
 
และ มาตรา ๒๐ วรรคสอง ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ดังกล่าว ปัจจุบันถูกแทนที่โดย มาตรา ๒๒ วรรคสอง ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งว่า

"มาตรา ๒๒ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๓ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
 
"การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่างกฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อมีพระราชวินิจฉัย เมื่อทรงเห็นชอบ และทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

"ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ หรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง"
 
5. เสนาบดีกระทรวงวัง ปัจจุบันคือ นายกรัฐมนตรี ผู้บังคับบัญชาสำนักพระราชวัง
 
 
 

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

ว่ากันด้วยรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประชาชน

จะยกตัวอย่างให้ดูกันว่ารัฐธรรมนูญทั้ง 18 ฉบับที่ผ่านมาเนี่ยมันมาจากประชาชนหรือไม่ มีกี่ฉบับที่มาจากประชาชนหรือประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนที่เหลือชนชั้นปกครองแต่ละยุคเขียนกฎหมายขึ้นมาเพื่อขีดเส้นแบ่งระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับชนชั้นปกครองที่ใช้อำนาจอธิปไตยของ ประชาชน แล้วมาถามตัวเองดูว่ากฎหมายนี้มาจากประชาชนหรือมาจากชนชั้นปกครอง ???

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1  พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วัน

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วันส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน นี่คือจุดเริ่มต้นการฉีกรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 ระหว่าง ที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมากพูดได้ว่า เป็น ช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จและมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหา โดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้งแทนอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ประกาศ ใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของ รัฐบาล" รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วัน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ นี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน สาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ประกาศใช้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 หลัง จากประกาศใช้ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ทำการรัฐประหารซ้ำและยกเลิกรัฐ ธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไป นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศช่วงรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ ประกาศ ใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และยกเลิก 22 ธันวาคม 2521 เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร) รวมเวลา 1 ปี 1 เดือน 13 วัน

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 สาเหตุ แห่งการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับ นี้ เกิดจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รวมเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน

รัฐ ธรรมนูญ ฉบับที่ 14  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า

ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ

และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา แล้วยกเลิกไปวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หลังจากประกาศใช้ฉบับถาวรรวมเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 คือ 8 เดือน 8 วัน สำหรับนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน (สมัยที่ 1 : 2 มีนาคม 2534-7 เมษายน 2535)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 แม้ จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ คณะ รสช. ก็ได้พยายามสืบทอดอำนาจ โดยผ่านพรรค "สามัคคีธรรม" ซึ่งเป็นพรรรค "นอมินี" ของ รสช. หนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน จนเกิดเหตุล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงประกาศใช้มาเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คำนึงถึงประชาชน มีส่วนร่วมขึ้นมา และเมื่อแล้วเสร็จ จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รวมเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 5 ปี 10 เดือน 2 วัน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รัฐ ธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างฉบับนี้ ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมเวลา 8 ปี 11 เดือน 8 วัน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตรา

อ่านถึงตรงนี้แล้วยังคิดว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศที่เป็นรัฐธรรมนูญมาจากประชาชน อีกรึป่าวครับ ?? อำนาจของประชาชนโดนยึดไปตั้งแต่ 2490 ที่ผ่านมาก็เป็นการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างทหารและชนชั้นปกครอง แล้วแบบนี้จะพูดได้อย่างไรว่าเราเป็นประชาธิปไตยในเมื่อกฎหมายไม่เคยึดหลัก ประชาชน แต่ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาไม่ว่าจากการรัฐประหาร หรือจากการแต่งตั้งมาร่างกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งประชาชนมีอยู่แค่ 2 ทางเลือกคือ ยอมรับหรือไม่ยอมรับ ( อันนี้เฉพาะของ 50 นะ ) ส่วนที่เหลือลองนั่งคิดนั่งศึกษากันดูครับว่ามันมาจากประชาชน โดยประชาชนเพื่อประชาชน หรือไม่ ????

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

จาก“คณะ ร.ศ.130” ถึง “คณะราษฎร”

ความเป็นมาของความคิด“ประชาธิปไตย”ในประเทศไทย (บทความนีถูกตีพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 32 ฉบับที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554)

ณัฐพล ใจจริง

สยามในบริบทของการปฏิวัติแห่งศตวรรษที่ 20

แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกสถาปนาขึ้นจากกระบวนการรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองกลับเข้าสู่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ปรากฎผลสำเร็จขึ้น ในปี 2435 แต่เพียงราว 2 ปี ภายหลังรัชกาลของพระผู้ทรงสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพระผู้ทรงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของสยามได้สิ้นสุดลง (2453) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกของพระองค์ได้ถูกท้าทายอย่างหนักหน่วงจากกระแสความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มคนชั้นใหม่ภายในสังคมสยาม ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 (2455) ( ยังคงมีข้อถกเถียงกันในวันที่ “คณะ ร.ศ. 130” ถูกจับกุม จากบันทึกความทรงจำของ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ ใน คน 60 ปี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 21 ธันวาคม 2523 (กรุงเทพฯ :หจก.เซ็นทรัลเอ็กเพรสศึกษาการพิมพ์, 2523), หน้า 111 และ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ , หมอเหล็งรำลึก: ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานศพของร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์(นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 19 เมษายน 2503 , (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์กิมหลีหงวน), หน้า 83 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุมคือ 27 กุมภาพันธ์ 2454 (นับอย่างใหม่ คือ 2455) แต่การศึกษาของแถมสุข นุ่มนนท์ , ยังเติร์กรุ่นแรก กบฎ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ : เรืองศิลป์ , 2522),หน้า196 และอัจฉราพร กมุทพิสมัย, กบฏ ร.ศ. 130 กบฏเพื่อประชาธิปไตย : แนวคิดทหารใหม่ (กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ, 2540), หน้า 188 ระบุว่า วันที่ถูกจับกุม คือ 1 มีนาคม 2454 (นับอย่างใหม่ คือ 2455 )

รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุมกลุ่มนายทหาร และพลเรือนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบ“ประชาธิปไตย”

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหนังสือและงานวิจัยชิ้นสำคัญทำการศึกษาประวัติศาสตร์ของความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงดังกล่าวก็ตาม เช่น งานของแถมสุข นุ่มนนท์ ที่มุ่งเน้นการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า “กบฎ ร.ศ.130” อัจฉราภรณ์ กมุทพิศสมัย ที่ศึกษาการปรับตัวของกองทัพสยามสมัยใหม่ ส่วนกุลลดา เกษบุญชู-มี้ด ที่ศึกษาการการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม โดยพินิจไปที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเคลื่อนไปสู่รัฐประชาชาติเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นศักดินากับกลุ่มคนชั้นใหม่ที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ( แถมสุข นุ่มนนท์ , อ้างแล้ว , 2522. ; อัจฉราพร , อ้างแล้ว, 2540.; Kullada Kesboonchoo Mead, The rise and decline of Thai absolutism (London : The School of Oriental and African Studies, University of London, 2000).;ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ) หนึ่งศตวรรษ : รัฐธรรมนูญและรัฐประหารกับการเมืองสยามประเทศไทย จากกบฏ ร.ศ. 130 ถึงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือ ประชาธิปไตยกับอำมาตยาธิปไตย (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ 2552).

อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานศึกษาชิ้นใดที่มุ่งตรงไปยังตัวความคิดทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” อันเริ่มต้นจาก “คณะ ร.ศ.130” อย่างเป็นระบบเท่าที่ควร ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาในเชิงประวัติความคิดทางการเมืองไทยด้วยวิธีการตีความข้อมูลและตัวบททางประวัติศาสตร์

คำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนเกี่ยวกับความพยายามปฏิวัติทางการเมืองของ “คณะ ร.ศ.130” คือ พวกเขามีความต้องการเปลี่ยนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามไปสู่ระบอบใดหรือแบบใดกันแน่ รวมถึงผู้เขียนต้องการทราบว่า ผู้คนในสังคมสยามขณะนั้นรับรู้ความคิดถึงแบบการปกครองนั้นได้อย่างไร มีร่องรอยการปรากฏตัวของความคิดถึงแบบการปกครองนั้นๆในการปฏิวัติ 2475 หรือไม่ และมีความสัมพันธ์ระหว่าง “คณะ ร.ศ.130” กับ “คณะราษฎร” อย่างไร

การอำพรางความคิด “ประชาธิปไตย” ของ “คณะ ร.ศ.130”

กว่า 3 ทศวรรษที่มีการศึกษา “คณะ ร.ศ.130” นักวิชาการได้ใช้เอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุและบันทึกความทรงจำของสมาชิกคณะ ร.ศ.130 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบันทึกที่ชื่อ “หมอเหล็งรำลึก: ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ.130 (พ.ศ.2454)” ที่เขียนโดย ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ พิมพ์เผยแพร่ในงานศพของ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ เมื่อปี 2503 ( ร.ต. เหรียญและ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503. ; ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ , กบฎ ร.ศ. 130 (การปฎิวัติครั้งแรกของไทย) (กรุงเทพฯ : ฝ่ายเอกสารและสิ่งพิมพ์ โครงการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2517).; ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ , กบฏ ร.ศ. 130 (กรุงเทพฯ : คัมภีร์, 2519)

แต่ผู้เขียนยังคงไม่ได้รับคำตอบอย่างพอใจถึงแบบของการปกครองใดกันแน่ที่พวกเขาต้องการ ในบันทึกเล่มดังกล่าว ร.ต.เหรียญ และ ร.ต.เนตรบันทึกกำกวมเพียงว่า “ที่ประชุมลงมติให้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชที่มีกษัตริย์เหนือกฎหมายเป็นประชาธิปไตยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” (ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 49.)

ดังนั้นคำถามที่ผุดในใจของผู้เขียนอะไรคือความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ในช่วงบริบทแห่งชีวิตและในความคิดของพวกเขา ตลอดจน พวกเขาได้อำพราง “ประชาธิปไตย” ของพวกเขาในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างไร ( ในประเด็นการพิจารณาเรื่องบริบทกับความคิดทางการเมืองนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจ คือ ควรมีการศึกษาการสร้าง “ประชาธิปไตยอำพราง” ของกลุ่มนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้รัฐประชาชาติ )

การเริ่มต้นตอบคำถามข้างต้น ผู้เขียนพบว่างานศึกษาในเรื่องเหตุการณ์ ร.ศ.130 นั้นล้วนอ้างอิงจาก “หมอเหล็งรำลึก” ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามที่ผู้เขียนต้องการทราบได้ อีกทั้งแทบไม่มีใครให้ความสนใจกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ปรากฏในงานเขียนของพวกเขาว่า หมายความว่าอย่างไร อีกทั้งปราศจากการถอดรหัส ความหมายของคำดังกล่าวของพวกเขา จนกระทั่งผู้เขียนได้พบหนังสือเล่ม
เขียนโดย ร.อ. เหล็ง และ ร.ต. เนตร ชื่อ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการไขปริศนาถึงเป้าหมายทางการเมืองของพวกเขาโดยเฉพาะแกนนำในครั้งนั้น 

หนังสือเล่มนี้พิมพ์แรกในปี 2484 โดยมีปรีดี พนมยงค์ แกนนำของ“คณะราษฎร” และผู้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแกนนำ “คณะ ร.ศ.130” หลังการปฏิวัติ 2475 เขามีส่วนการผลักดันให้พวกเขาเขียนประวัติของความพยายามปฏิวัติครั้งแรกเพื่อเผยแพร่สู่สังคมสยาม ด้วยเหตุที่บริบทที่หนังสือเล่มดังกล่าวพิมพ์เผยแพร่ในยุคคณะราษฎร หนังสือเล่มนี้จึงบันทึกอย่างเปิดเผยถึงความคิดทางการเมือง เป้าหมายและความเห็นพ้องร่วมกันของแกนนำนายทหาร และพลเรือนหัวก้าวหน้าเมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้วว่า พวกเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำ มีความคิดโน้มเอียงไปในทาง “รีปัปลิก” และความคิดดังกล่าวได้ปรากฎในหลักฐานแวดล้อมในเวลาต่อมา ( ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์, สมจิตร เทียนศิริ, ปฏิวัติ ร.ศ.130 (พระนคร: การพิมพ์กรุงเทพฯ, 2489) หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2484 สมจิตร ผู้เรียบเรียงได้บันทึกว่า เขาได้เรียบเรียงเรื่องราวจากบันทึกของ ร.ต.เนตร และหนังสือเล่มดังกล่าวได้รับการตรวจ “ทุกตัวอักษร” จาก ร.อ.เหล็ง ภูมิหลังของการเกิดหนังสือเล่มนี้เกิดจากความต้องการของนายปรีดี ดังนี้ “ท่านรัฐมนตรี (นายปรีดี) ได้เป็นผู้หนึ่งซึ่งงร่วมมือในการปฏิวัติ เมื่อ 24 มิถุนายนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งทีสองที่สำเร็จลง ท่านรัฐมนตรีได้คิดที่จะเรียบเรียงประวัติของคณะราษฎรนี้ไว้ แต่เมื่อท่านเห็นว่าประวัติศาสตร์ชิ้นนี้จะสมบูรณ์ ก็โดยที่ควรจะมีใครคนหนึ่งทำเหตุการณ์ในสมัย ร.ศ.๑๓๐ ขึ้นก่อนและท่านก็ได้เรียกนายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อการที่เข้มแข็งผู้หนึ่งในสมัย ร.ศ.๑๓๐ ไปพบและแจ้งความคิดในการเรียบเรียงที่จะกระทำของท่านขึ้นกับขอให้นายร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ เล่าเหตุการณ์ของคณะ ร.ศ.๑๓๐ ให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบลงแล้วจึงขอให้นายร้อยตรีเนตร ถ้ามีเวลาให้สละเพื่อทำการบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้ แต่เนื่องจากด้วยบุคคลทั้งสองยังหาเวลาที่จะปลีกตนมากระทำให้เป็นผลสำเร็จไม่ได้ ทั้งท่านรัฐมนตรีและนายร้อยตรีเนตร จึงปล่อยเวลาให้เนิ่นมาจนกระทั่งบัดนี้” )

ความเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมือง “หลังยุคคณะราษฎร” อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บันทึกของพวกเขาใน “หมอเหล็งรำลึก” ที่พิมพ์ในปี 2503 ปราศจาการเปิดเผยถึงความคิดทางการเมือง และเป้าหมายของระบอบการปกครองที่แท้จริงของพวกแกนนำในครั้งนั้น เนื่องจาก หากพิจารณาจากบริบทแล้ว หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นในช่วงเวลาที่ “คณะราษฎร” สิ้นอำนาจไปแล้ว พร้อมกับบรรยากาศเริ่มต้นในการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์อย่างรอบด้านภายใต้ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาจทำให้พวกเขาระมัดระวังไม่กล้าเปิดเผยความคิดทางการเมืองของพวกเขาเมื่อครั้งเก่าออกสู่สังคม “หลังยุคคณะราษฎร” อย่างเปิดเผย ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาอาจต้องอำพรางความคิดทางการเมืองของพวกเขา ด้วยการใส่รหัส (encoding) ความหมายโดยการใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นคำศัพท์เก่าในบริบทการเมืองใหม่

ดังนั้นหากเราจะถอดรหัส (decoding) ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”ของพวกเขา เราต้องตีความคำดังกล่าวหรือหาความหมายของคำนี้ในบริบทที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ก่อนการปฏิวัติ 2475 ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” หมายถึง “การปกครองที่ผู้เป็นหัวหน้าแห่งอำนาจบริหารไม่ใช่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน
คือเป็นบุคคลสามัญหรือ คณบุคคลซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งไว้ มีกำหนดเวลา การอยู่ในตำแหน่งไม่เป็นมฤดกตกทอดไปได้แก่ผู้อยู่ในสกุลเดียวกัน” ( หลวงประดิษฐมนูธรรม “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” ใน ประชุมกฎหมายมหาชนและเอกชนของปรีดี พนมยงค์,พิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 วัน แห่งการอสัญกรรมของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ 9 สิงหาคม 2526 (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526), หน้า 165-166 )

หรือ หมายถึงการปกครองแบบ “รีปัปลิ๊ก” ที่พวกเขาได้เคยนำเสนอความคิดเอาไว้ และแกนนำในครั้งนั้นมีท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติไปในทิศทางดังกล่าว

แม้ “หมอเหล็งรำลึก” ถูกบันทึกขึ้นโดยแกนนำของคณะจะอำพรางความคิดทางการเมืองของพวกเขาไว้ แต่ “ปฏิวัติ ร.ศ.130” ที่พวกเขาได้บันทึกและพิมพ์ขึ้นในปี 2484 ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ “คณะราษฎร” มีอำนาจทางการเมือง บริบทดังกล่าวทำให้พวกเขาได้เปิดเผยให้เห็นร่องรอยความคิดทางการเมืองของพวกเขา แต่หนังสือเล่มนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซึ่งอาจมีผลทำให้ การศึกษาความคิด “ประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมสยามมาเกือบหนึ่งศตวรรษนี้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง และประวัติศาสตร์การเมืองของไทยไปอย่างน่าเสียดาย

จากนี้ไปผู้เขียนจะพาท่านสะกดรอยเพื่อหาความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ควบคู่ไปกับการพิจารณาบทบาท ความเคลื่อนไหวของ ”คณะ ร.ศ.130” และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพวกเขากับ “คณะราษฎร” ในประวัติศาสตร์การเมือง และประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยเมื่อราวหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

รุ่งอรุณของความคิด“ประชาธิปไตย” ใต้เงาระบอบเอกาธิปไตยสยาม

ความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นจากการปกครองจีนของราชวงศ์ชิง และความเคลื่อนไหวของขบวนการ “ถงเหม็งฮุ่ย” หรือ ขบวนการปฏิวัติจีนที่นำโดย ซุนยัดเซน ก่อให้เกิดการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในปี 2454  (http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_Republic_of_China เข้าถึง 27 ธันวาคม 2553 )

ผนวกกับ “ความเสื่อมทราม“ ของระบอบเอกาธิปไตยสยามทำให้ในปลายเดือนธันวาคม 2454 เกิดแสงสว่างทางปัญญาท่ามกลางฤดูหนาวในสยาม เมื่อนายทหารหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้เริ่มพูดคุยกันถึงการสร้างความก้าวหน้าให้กับสยาม ประกายความคิดได้ถูกจุดขึ้นจาก ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ และ ร.ต.เนตร ได้ปรึกษากันถึงอนาคตของสยามที่กองปืนกลที่ 1 รักษาพระองค์ ถนนซางฮี้ และได้ใช้หนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์การปฏิวัติ” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศต่างๆ มาเป็นตัวอย่างแนวทางการปฏิวัติ ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 42. )

ต่อมา พวกเขาได้ไปหา ร.อ.เหล็งที่บ้านถนนสาธร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2455 ร.อ.เหล็งได้นำหนังสือพงศาวดารของประเทศต่างๆ มาให้ดูเหตุการณ์ปฏิวัติที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบเป็นยุคๆ เพื่อให้เหล่านักปฏิวัติหนุ่มพิจารณา ( ร.อ. เหล็ง, ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 51-52. )

การพบปะครั้งนั้นของนายทหารนักปฏิวัติหนุ่ม นางอบ ศรีจันทร์ ภริยาของ ร.อ.เหล็งได้ร่วมกินข้าวเย็นและรับฟังแผนการต่างๆ พร้อมกับเหล่านักปฏิวัติด้วย “ในฐานะที่เธอเป็นสตรี ซึ่งตามลักษณะธรรมดา เมื่อพบว่า สามีของเธอและเพื่อนกับน้องชายต่างคิดการดังเช่นกบฏต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง เอาศีรษะเข้าแลกกับคมดาบนั้นแล้ว หน้าที่เธอจะตระหนกตกใจยับยั้งความคิดของสามีเธอกับเพื่อน แต่เธอกลับแสดงความคิดเห็น และปิติยินดีต่อหน้าที่ของคณะผู้คิดการณ์ไกลจะกู้ราชการบ้านเมืองอีกด้วย เธอได้กล่าวส่งเสริมความยินดี อวยชัยให้พร ขอให้ความคิดของคณะจงสัมฤทธิ์ผล เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาราษฎร กับนำมาซึ่งความเป็นอารยะเทียมทันบรรดาประเทศชาติอื่นๆทั้งหลายต่อไป” (ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 53-54. )

ต่อมาได้มีการประชุมจัดตั้ง “คณะพรรค ร.ศ. 130” ขึ้นเมื่อ 13 มกราคม 2455 ที่บ้าน ร.อ.เหล็ง การประชุมครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 7 คน คือ ร.อ.เหล็ง ,ร.ต.เหรียญ ,ร.ต.จรูญ ,ร.ต.เนตร ,ร.ต.ปลั่ง บูรณโชติ ,ร.ต.ม.ร.ว แช่ รัชนิกร และ ร.ต.เขียน อุทัยกุล พวกเขาได้ร่วมกันกำหนดสัญลักษณลับของ “คณะพรรค ร.ศ. 130” เป็นเครื่องหมายธงมีตัวอักษรว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” ส่วนเครื่องหมายของสมาชิก คือ ผ้าเช็ดหน้าสีขาวที่ปักมุมด้วยอักษร 2 ตัว สีเดียวกันว่า “ร” และ “ต” โดย “ร” หมายถึงจงระวังตัว ส่วน “ต” หมายถึง จงเตรียมตัวไว้เพื่อเคลื่อนที่ได้ ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 49. )

และการประชุมในครั้งต่อมาได้มีการพูดถึง “ความเสื่อมทราม” ของระบอบเอกาธิปไตยสยาม หลังจากนั้นมีการเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีกษัตริย์เหนือกกฎหมายไปสู่ “ประชาธิปไตย” 

“ความเสื่อมทราม และความเจริญของประเทศ”

ถอดรหัสความคิด “ประชาธิปไตย” ของ “คณะ ร.ศ.130”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2455 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เข้าจับกุม “คณะ ร.ศ.130” เจ้าหน้าที่ได้ยึดเอกสารชิ้นหนึ่งในบ้านของแกนนำสำคัญ คือ ร.อ.เหล็ง เอกสารชิ้นนั้นชื่อ “ความเสือมทรามและความเจริญของประเทศ” ซึ่งเป็นเอกสารที่สะท้อนให้เห็นความคิดทางการเมืองของแกนนำคณะอย่างแจ่มชัด ในบันทึกมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความก้าวหน้าของประเทศต่างๆทั่วโลกนั้นจะรุ่งเรืองหรือเสื่อมทรามลงก็เพราะการปกครองของประเทศนั้น

“ ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใดรู้จักจัดการปกครองโดยใช้กฎหมายแลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรมซึ่งไม่กดขี่และเบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้นก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแลศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกทีเพราะราษฎรได้รับความอิสรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสำหรับกดคอกันเล่นดังเช่นประเทศซึ่งอยู่ในยุโรป แลอเมริกาเป็นต้น ประเทศเหล่านี้แต่เดิมก็เคยมีกระษัตริย์ปกครองอยู่เหนือกฎหมายใช้อำนาจแอ็บโซลู๊ดเต็มที่สำหรับกดขี่ราษฎรได้ตามความพอใจ ครั้นต่อมาเมื่อราษฎรเกิดความรู้แลความฉลาดมากขึ้นแล้ว จึงได้ช่วยกันลบล้างประเพณีอันชั่วร้ายของกระษัตริย์เสียหมด คิดจัดตั้งประเพณีการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่ บางประเทศก็บังคับให้กระษัตริย์อยู่ใต้กดหมาย บางประเทศก็ยกเลิกไม่ให้กระษัตริย์ปกครอง คือ การจัดตั้งการปกครองเป็นรีปับลิ๊ก...” ( “บันทึกว่าด้วยความเสื่อมทรามและความเจริญของประเทศ”, อัจฉราพร , อ้างแล้ว, หน้า 267. )

หัวใจสำคัญของบันทึกดังกล่าวได้เสนอ และวิเคราะห์แนวทางการปกครองในโลกว่ามี 3 แบบคือ 

แบบแรก “แอ็บโซลุ๊ดมอนากี” 
แบบที่สอง“ลิมิตเต็คมอนากี” 
และแบบสุดท้ายคือ “รีปัปลิ๊ก” 

สำหรับการปกครองแบบแอ็บโซลุ๊ดมอนากี นั้นบันทึกวิจารณ์ว่า เป็นระบอบการปกครองที่กษัตริย์มีอำนาจเต็มอยู่เหนือกฎหมาย “กษัตริย์จะทำชั่วร้ายอย่างใดก็ทำได้” จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความทุกข์ได้ทุกประการ ทรัพย์สิน สมบัติและที่ดินจะถูกกระษัตริย์เบียดเบียนเอามาเป็นประโยชน์ส่วนตัวได้อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น ไล่ที่ทำวัง เงินภาษีอากรจะถูกนำมาบำรุงความสุขให้ส่วนตัวพระราชวงศ์ และบ่าวไพร่ เงินบำรุงบ้านเมืองจึง “ไม่เหลือหรอ” ประเทศสยามเป็นประเทศหนึ่งที่ปกครองในระบอบดังกล่าว และมีพวกที่คอย “ล้างผลาญ” ภาษีอากรที่เข้ามา “กัดกันกินเลือดเนื้อของประเทศ” ในบันทึกวิเคราะห์ต่อไปว่า ประเทศที่ปกครองแบบดังกล่าวจะทำให้ประเทศทรุดโทรมและถึงแก่กาลวินาศ

การปกครองแบบ “ลิมิตเต็คมอนากี” ในบันทึกวิเคราะห์ว่า การปกครองแบบนี้ “กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” ดังนั้นกษัตริย์จึงไม่มีอำนาจ “พวกเต้นเขนและพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางเลย” วิธีการปกครองแบบนี้เริ่มต้นจากอังกฤษ ประเทศต่างๆ ได้ทำตามแบบดังกล่าว เช่น ตุรกี และญี่ปุ่น แต่บางประเทศทำเลยไปถึงรีปัปลิ๊ก บันทึกเห็นว่า คงเหลือแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่ยังคงระบอบการปกครองที่ทำให้ “พวกกระษัตริย์ได้รับความสุขสนุกสบายมากเกินไปจนไม่มีเงินจะบำรุงประเทศ”

การปกครองแบบสุดท้าย คือ “รีปัปลิ๊ก” บันทึกนิยามว่า การปกครองแบบนี้ เป็นการปกครองที่ “ยกเลิกไม่ให้มีกระษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีที่ประชุมสำหรับจัดการบ้านเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประธานสำหรับการปกครองประเทศ” ประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การปกครองรูปแบบนี้ในบันทึกวิเคราะห์ว่า “ ราษฎรทุกประเทศจึงอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปัปลิ๊กทั้งหมด เวลานี้ประเทศใหญ่น้อยต่างๆ เป็นรีปัปลิ๊กกันเกือบทั่วโลกแล้ว” เช่นประเทศในยุโรป อเมริกา และจีนกำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นรีปัปลิ๊ก

ร.อ.เหล็ง และ ร.ต.เนตรได้บันทึกต่อไปอีกว่า ที่ประชุมในช่วงแรกๆ หลายครั้งให้การสนับสนุนการปกครองอย่างหลังสุดตามแบบจีน พวกเขาได้บันทึกบรรยากาศในประชุมเมื่อครั้งนั้นว่า “ที่ประชุมเอนเอียงไปในระบอบแผนการปฏิวัติของประเทศจีน เนื่องจาก [จีน] มีฐานะและสภาพไม่ต่างจากเรา [สยาม]” (ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร ,สมจิตร , อ้างแล้ว , หน้า 100.)

สอดคล้องกับ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ หนึ่งในสมาชิกของ “คณะ ร.ศ. 130” ได้ย้อนความทรงจำว่า แนวทางในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกเขาได้แบบจากจีน แต่แนวความคิดในการปกครองได้มาจากตะวันตก ( พลกูล อังกินันท์, “เผชิญหน้าผู้ก่อการเก็กเหม็ง”, สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 12 (ธันวาคม 2514) หน้า 72. )

แนวทางตัดสินใจไปสู่ “ประชาธิปไตย” นั้นพวกเขาบันทึกว่า ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนายทหารกลุ่มหนึ่ง และพลเรือน เช่น พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี (เซี้ยง สุมาวงศ์) พระพินิจ พจนาตรถ์ (น่วม ทองอินทร์) บุญเอก ตันสถิตย์ (อดีตนักเรียนฝรั่งเศส ขณะนั้นทำงานในสถานทูตฝรั่งเศส) และอุทัย เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว ,หน้า 25,100 และ ร.ต.เนตร , อ้างแล้ว,หน้า107.; โปรดดู ประวัติและบทบาทของอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยาใน ร.ต. ถัด รัตนพันธ์ุ (รวบรวม) เพื่อนตาย : ชาวคณะ ร.ศ.130. พิมพ์ชำร่วยในงานฌาปนกิจศพ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา วันอังคารที่ 11 มกราคม 2480 ณ เมรุเชิงบรมบรรพต (พระนคร :โรงพิมพ์จันหว่า, 2480)

แม้ในบันทึกของพวกเขาเล่าว่า เมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้นในการประชุมแต่ละครั้ง ทำให้เกิดกลุ่มสายกลางขึ้นกลุ่มดังกล่าวมี ร.ต.จือ ควกุล และสมาชิกบางส่วนที่เป็นสมาชิกที่มีอายุมากต้องการเปลี่ยนเป็นระบอบ “ลิมิเต็ดมอนากี” มากกว่า กลุ่มสายกลางให้เหตุผลว่า “ไม่ต้องการให้เกิดความชอกชํ้ามากเกินไป ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล” ร.ต.เนตร ซึ่งเป็นเลขาธิการคณะได้ประเมินความคิดของกลุ่มสายกลางว่า “ไม่ได้ความเลย” ( ร.ต.เนตร , อ้างแล้ว, หน้า 108. หนังสือ คน 60 ปี นี้พิมพ์ครั้งแรกในปี 2494 พิมพ์แจกในวันครบรอบอายุ 60 ปี ของ ร.ต. เนตร )

น่าสังเกตว่า ในบันทึกของพวกเขาและท่าทีที่ปรากฎในบันทึกหลายเล่ม พวกเขามิได้เคยรวม ร.อ.เหล็ง ร.ต.เนตร และร.ต.เหรียญ ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของคณะสายทหารเอาไว้ในกลุ่มสายกลางเลย มิพักถึงท่าทีของกลุ่มพลเรือนในคณะซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับแกนนำสายทหารดังนั้นเราจึงอาจวิเคราะห์ได้ว่า พวกเขาที่เป็นแกนนำทั้งสายทหาร และพลเรือนมิได้จัดตัวเองอยู่ในกลุ่มสายกลาง กล่าวอีกอย่าง คือ พวกเขามิได้เห็นด้วยกับทิศทางการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบ “ลิมิเต็ดมอนากี” ให้เกิดขึ้นในสยามในครั้งนั้น 

แม้แนวทางที่พวกเขาต้องการมิได้ประสบชัยชนะ ด้วยคะแนนเสียงที่น้อยกว่าเพียงเล็กน้อยแกนนำได้ยอมรับมติที่ประชุมในครั้งสุดท้าย และได้ตกลงกันลงมือปฏิวัติในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในเดือนเมษายน 2455 ( ร.ต.เนตร ,อ้างแล้ว , หน้า 105. )

แต่ความหวังของพวกเขาในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ไม่อาจบรรลุผลได้เนื่องจาก พวกเขาถูกจับกุมในเวลาต่อมาก่อนการลงมือเพียง 1 เดือน เนื่องจาก พ.อ.พระยากำแพงราม (แต้ม คงอยู่) ได้ทรยศหักหลัง นำแผนการของพวกเขาไปแจ้งต่อรัฐบาล ทำให้การปฏิวัติครั้งนั้นไม่สำเร็จ การทรยศดังกล่าวทำให้ พระยากำแพงรามได้ทุนจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปศึกษาด้านการทหารในฝรั่งเศส แต่ทำให้พวกเขาเหล่าผู้กล้าที่มาก่อนกาลบางคน เช่น ร.ต.ชอุ่ม สังกัด กองทหารม้าที่ 1 ยิงตัวตายด้วยการใช้ปืนเล็กสั้นของนายทหาร “ยัดเข้าปาก” ปลิดชีพตนเอง ( ร.ต.เนตร ,อ้างแล้ว , หน้า 121.)

สมาชิกส่วนใหญ่ถูกโยนเข้าคุกไปเป็นเวลากว่า 12 ปี ความรุนแรงของตัดสินโทษของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีต่อเพื่อนๆ ของพวกเขา ทำให้ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ สมาชิกคนหนึ่งที่ยังไม่ถูกจับกุม ได้ลักลอบส่งจดหมายติดต่อกับเพื่อนที่ต้องโทษทัณฑ์ว่า เขาจะเป็นผู้ถือ “ธงรีปัปลิ๊ก” นำขบวนการปฏิวัติปลดปล่อยเพื่อนออกจากการลงทัณฑ์โดยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เคราะห์ร้ายที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลยึดจดหมายบับนี้ได้ทำให้เขาถูกจับกุมในเวลาต่อมา ( แถมสุข นุ่มนนท์ , อ้างแล้ว, หน้า 99.)

ในระหว่างที่พวกเขาถูกลงโทษ สมาชิกหลายคนเสียชีวิตในคุก ร.ต.วาส วาสนา หนึ่งในสมาชิกของคณะ เขาได้กล่าวกับเพื่อนๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตนักปฏิวัติว่า “เพื่อนเอ๋ย กันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น” ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 212. )

การรับรู้การปฏิวัติจีนและความเคลื่อนไหวของ “ไทยเหม็ง”

หากหันมาดูบทบาทของ ปรีดี พนมยงค์ แกนนำสายพลเรือนในคณะราษฎรซึ่งมีส่วนในการก่อตั้ง “คณะราษฎร” ขึ้นในปารีสเพื่อทำการปฏิวัติ 2475 จนสำเร็จนั้น ในเวลาต่อมา เขาได้เล่าย้อนถึงแรงดลใจของเขานั้นเกิดขึ้นจากความสำเร็จของการปฏิวัติจีน และความกล้าหาญของ “ไทยเหม็ง”  ( ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (สัมภาษณ์), ประสบการณ์และความเห็นบางประการของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ( กรุงเทพฯ : โครงการปรีดี พนมยงค์กับสังคมไทย, 2526), หน้า 40. นายปรีดีเล่าว่า “ร.ศ.130 มีสมัญญานามเรียกกัน
ว่า ไทยเหม็ง” )

หรือ “คณะ ร.ศ. 130” ว่า ( ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ,2529), หน้า 14. )

“ฝ่ายพวกจีนเก็กเหม็งที่อยุธยาก็ได้ใช้วิธีโฆษณา โดยเช่าห้องไว้ที่ตลาดหัวรอไว้เป็นห้องอ่านหนังสือ มีภาพการรบเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนงิ้วที่ศิลปินจีนแสดงประจำที่วัดเชิง (วัด พนัญเชิง) นั้น ก็เปลี่ยนเรื่องเล่นใหม่ให้สมกับสมัย คือ เล่นเรื่องกองทหารเก็กเหม็งรบกับกองทหารกษัตริย์ จึงทำให้คนดูเห็นเป็นการสนุกด้วย” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35 )

ปรีดี ได้เล่าย้อนในวัยเด็กต่อไปว่า เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เขาเห็น ชายจีนทุกคนตัดผมเปียทิ้งทั้งๆที่ได้ไว้เปียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ชาวจีนเหล่านั้นอธิบายกับเขาว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนเป็นผู้กำหนดให้ไว้ผมเปียได้ถูกล้มล้างไปแล้ว จีนได้เปลี่ยนการปกครองก้าวสู่สาธารณรัฐอันมีซุนยัดเซนเป็นผู้นำ ( ปรีดี , อ้างแล้ว , หน้า 15. )

เขาบันทึกว่า “ในสมัยนั้นหนังสือพิมพ์ยังไม่แพร่หลายในสยาม โดยเฉพาะในจังหวัดบ้านเกิดของข้าพเจ้า บิดาข้าพเจ้าเห็นว่าข้าพเจ้ากระหายใคร่รู้ข่าวคราวต่าง ๆ มากนัก จึงได้นำหนังสือพิมพ์เก่า ๆ ของญาติของข้าพเจ้าคนหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารแห่งกองทัพบกมาให้ข้าพเจ้าอ่าน ทำให้ข้าพเจ้ารับรู้ทีละเล็กทีละน้อยว่า ระบอบการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีข้อเสียหรือข้อบกพร่องอย่างไร ชาวจีนจึงได้ต่อต้านการปกครองระบอบนี้ และเปลี่ยนมาเป็นการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ” ( ปรีดี , อ้างแล้ว , หน้า 16. )

นอกจากนี้ครูวิชาประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ของเขาได้สอนให้เขารู้จักรูปแบบการปกครองฉบับย่อ ว่า “ครูสอนว่าแบบการปกครองประเทศแยกออกเป็นสามชนิด คือ 
๑.พระเจ้าแผ่นดินอยู่เหนือกฎหมาย เรียกว่า ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ 
๒.พระเจ้าแผ่นดินอยู่ใต้กฎหมายการปกครองแผ่นดิน 
๓.ราษฎรเลือกตั้งขึ้นเป็นประมุขเรียกว่า ‘รีปับลิ๊ก’… มีคณะเสนาบดี การปกครองประเทศตามความ
เห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…ครูบางท่านที่ก้าวหน้าได้ติดตามข่าวแล้วเอามาวิจารณ์ให้นักเรียนฟัง
ว่า วันไหนฝ่ายใดชนะฝ่ายใดแพ้ ซึ่งทำให้ปรีดีและนักเรียนที่สนใจเกิดสนุกกับข่าวนั้น” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35.)

ต่อมา ในภายหลัง เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ครูมัธยมผู้นี้อาจเป็นสายจัดตั้งของ “คณะ ร.ศ. 130” เพราะนำความคิดประชาธิปไตยมาเผยแพร่แก่นักเรียน โดยเฉพาะในช่วงเกิดสงครามในประเทศจีนระหว่างฝ่ายเก็กเหม็งกับฝ่ายกษัตริย์ราชวงศ์แมนจู ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 40 )

ครูได้สอนอีกว่า “ ต่อมาในไม่ช้า ความปรากฏว่าฝ่ายกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจูต้องพ่ายแพ้ ครูที่ก้าวหน้าจึงพูดเปรย ๆ กับปรีดีว่า ระบบสมบูรณาฯ ก็สิ้นไปแล้วในจีนยังเหลือแต่รุสเซียกับเมืองไทยเท่านั้น ครูไม่รู้ว่าระบบสมบูรณาฯ ใดใน ๒ ประเทศนี้ประเทศใดจะสิ้นสุดก่อนกัน” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35. )

การปฏิวัติจีนกับหนังสือ“ลัทธิตรัยราษฎร์”

การแพร่กระจายของความคิด“ประชาธิปไตย”ในสังคมสยาม

ไม่แต่เพียงการรายงานข่าวความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่สาธารณรัฐของจีนจะสร้างความตื่นตัวและสนใจให้กับสังคมสยามเป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางความสนใจของสังคมสยามในช่วงกลางทศวรรษ 2460 ได้ปรากฎการแปลความคิดทางการเมืองของซุนยัดเซน และเหตุการณ์การปฏิวัติจีนเป็นหนังสือหลายเล่ม เช่น ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล “สุนทรพจน์ของท่านซุนยัดเซน เรื่อง ความเพียรนำมาซึ่งผล หรือ เรื่อง การเก๊กเหมงในประเทศจีน ปีพ.ศ.2454” (2465) ( ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, สุนทรพจน์ของท่านซุนยัดเซน เรื่อง ความเพียรนำมาซึ่งผล หรือ เรื่อง การเก๊กเหมงในประเทศจีน ปี พ.ศ.2454 (กรุงเทพฯ:ม.ป.ท.,2465)

และ“ มิ่นก๊กอิ้นหงี” (2467) ( ซุ่ยเทียม ตันเวชกุล, ม ินก๊กอิน' หงี เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2467)

ต่อมา ตันบุญเทียม อังกินันทน์ ได้แปล “ลัทธิตรัยราษฎร์” ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสำคัญของซุนยัดเซนที่ถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ของการปฏิวัติจีนเป็นตอนๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์หลักเมืองในช่วงปี 2468 

ตันบุญเทียม อังกินันทน์ (2433-2493) เกิดที่ตำบลเจ๊สัวเนียม ตลาดใหม่กรมภูธเรศ เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ปีขาล ในตระกูลพ่อค้า บิดาชื่อ นายซัง และนางแอ๊ว เจ้าของร้านชำใหญ่ในตำบล เจ๊สัวเนียม เขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาช่วยบิดามารดาทำการค้า ต่อมาเข้าทำงานเป็นเสมียนที่โรงรับจำนำ ไท้ฮงหยู ปากตรอกอิศรานุภาพ และทำการค้าส่วนตัวไปด้วย จนกระทั่ง 2450 ได้ทำงานเป็นผู้จัดการโรงภาพยนตร์นครศรีธรรมราช ที่ตลาดใหม่กรมภูธเรศ ด้วยอุปนิสัยและบุคลิกส่วนตัวทำให้เขาสามารถจัดการปัญหานักเลงที่ก่อกวนหน้าโรงภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี ต่อมาเขาได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ หนังสือพิมพ์หลักเมืองรายสัปดาห์ ในปี 2468 กิจการด้านสิ่งพิมพ์ของเขาได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างดี จนสามารถ ทำกำไรให้จนมีโรงพิมพ์ส่วนตัว และหลักเมืองรายสัปดาห์ได้กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน ตั้งแต่ 2470 เขาได้ขยายกิจการหนังสือพิมพ์ออกไปเป็นหนังสือพิมพ์รายวันอีกหลายฉบับทั้งภาษาไทยและจีน เช่น ข่าวชุมนุมลูกเสือสยาม (2470-71)หนังสือพิมพ์ธงชัย (2472-74) เจริญกรุง (2473-87) ไทยฉบับอุปกรณ์ (2474-75) อิสสระ (2473) สันติภาพ วันดี
หญิงไทย ส่วนภาษาจีน เช่น ฉินจ๊งหยิดป่อ (2473) เป็นต้น จัดได้ว่าเขาเป็นราชาแห่งหนังสือพิมพ์ (อนุสรณ์ในการบรรจุศพนายต.บุญเทียม อังกินันทน์ (พระนคร : สำนักงานและโรงพิมพ์หลักเมือง,2494)

การนำเข้าความคิด “ประชาธิปไตย” แบบจีน และความคิดทางการเมืองของซุนยัดเซนผ่านการแปลในหนังสือพิมพ์ และตีพิมพ์เป็นหนังสือได้สร้างความหวั่นวิตกให้กับรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ต.บุญเทียม ได้ตีพิมพ์ผลงานแปลความคิดของซุนยัดเซนเป็นเล่ม และใช้ชื่อหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นสามภาษาซึ่งแสดงความเป็นสากลของความคิดว่า “ลัทธิตรัยราษฎร์ซามิ้นจูหงี (三民主義 San Min Chu I : The Three Principles of The People)”(2472) ( ตันบุญเทียม , ลัทธิตรัยราษฎร์ซามิ้นจูหงี, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์หลักเมืองบุญทวีผล, 2472)

จากบันทึกของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ นายทหารผู้ใกล้ชิด “คณะราษฎร” และอดีตนายทหารมหาดเล็กคนหนึ่งในขณะนั้นได้บันทึกเรื่องราวในช่วงดังกล่าวว่า “ คณะหนังสือพิมพ์หลักเมืองของ นาย ต.บุญเทียม เจ้าของโรงพิมพ์หลักเมือง ก็ได้เผยแพร่ลัทธิไตรราษฎร์หรือซามิ้นจูหงีขึ้น ซึ่งลัทธินี้เป็นลัทธิการต่อสู้ที้น่าสนใจของคณะก๊กมินตั๋ง ที่ต่อสู้มากับระบบเจ้าขุนมูลนายเป็นผลสำเร็จ... คำว่าเก็กเหม็งหรือการปฏิวัติก็เริ่มเผยแพร่เข้ามาอยู่ในความรู้สึกของคนไทย ” ( พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, “เหตุการณ์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและการชิงอำนาจระหว่างผู้ก่อการ”, เบื้องแรกประชาธิปไตย: บันทึกความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ สมัย พ.ศ.2475-2500 (กรุงเทพฯ : สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย, 2516), หน้า125. )

ไม่นานจากนั้นรัฐบาลได้สั่งเก็บหนังสือเล่มดังกล่าวออกไปจากตลาดหนังสืออย่างรวดเร็วและนำไปทำลายทิ้งหลังจากจำหน่ายได้เพียงไม่กี่เล่ม ( พ.ต.อ.พัฒน์ นิลวัฒนา, “คำนำ”ในตันบุญเทียม อังกินันทน์ (แปล) ลัทธิไตรราษฎร์ .พิมพ์ครั้งที่สอง ,(พระนคร :โอเดียน สโตร์, 2495), หน้า ค. )

โดยรัฐบาลขณะนั้นอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติสมุดเอกสารแลหนังสือพิมพ์ พระพุทธศักราช 2465 (พล.ต.อ.เผ่า, อ้างแล้ว , หน้า 125.)

ด้วยเหตุนี้การทำลายหนังสือดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลขณะนั้นไม่ต้องการให้ความคิดการปฏิวัติและความคิด “ประชาธิปไตย”เข้ามาสู่สังคมสยาม

ภารกิจของคณะ ร.ศ.130 และศรีกรุงกับการสนับสนุนการปฏิวัติครั้งใหม่

หลังจาก ปรีดี ว่าที่นักปฏิวัติรุ่นใหม่ ได้ไปเรียนต่อในโรงเรียนกฎหมาย เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา เขาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่ฝรั่งเศสในปี 2463 พร้อมกับการนำการรับรู้ การพยายามปฏิวัติของ“คณะ ร.ศ.130” ไปด้วย และต่อมา เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “คณะราษฎร” ที่ก่อตั้งขึ้นในปารีสเมื่อ 2469 และได้ร่วมนำการปฏิวัติ 2475 ในอีกไม่กี่ปี ต่อมาจากนั้น โดยมี “คณะ ร.ศ.130” เป็นแนวร่วมในการบ่มเพาะและปลุกกระแสความตื่นตัวของสังคมสยามให้พร้อมในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป

ในระหว่างที่คณะ ร.ศ.130 ถูกจำคุกอย่างทรมานระหว่าง 2455-2467 ในบันทึกของสมาชิกของคณะได้บันทึกว่า แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ถูกทารุณ แต่ความคิดทางการเมืองของพวกเขายังคงสว่างไสว ทำให้พวกเขายังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปด้วย การลักลอบเขียนบทความแสดงการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาลสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และนวนิยาย ส่งไปลงตามหนังสือพิมพ์การเมืองหลายฉบับ เช่น “จีโนสยามวารศัพท์” “ผดุงวิทยา” ของเซียวฮุดเส็ง “สยามราษฎร์” ของมานิต วสุวัต “ยามาโต” “วายาโม” “พิมพ์ไทย” “ตู้ทอง” และ “นักเรียน” เป็นต้น ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503, หน้า 205-206. ร.ต. ถัด ใช้นามปากกาว่า “ไทยใต้” เขียนเรื่อง เด็กกำพร้า ร.ต.โกย - “ศรียาตรา” เขียนเรื่อง มารินี คุณสมบัติของสตรี พระนางโยเซฟิน ร.ต.บ๋วย-“บ.กากะบาด” อุทัย เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา-“นายเทพ” “ไกรทอง”และ“ณโภมณี” เขียนเรื่อง ตำราลับสมอง และ วิชาจิตตศาสตร์ ร.ต. เนตร- “น.พ.ว.”และ ร.ต. สอน วงษ์โต- “กายสิทธิ์” เป็นต้น )

หลังพ้นโทษในปี 2467 สมาชิกหลายคนไปทำงานหนังสือพิมพ์ เช่น ร.ท.ทองดำ คล้ายโอภาศ ,ร.ต.จือ ควกุล ทำงานหนังสือพิมพ์ “บางกอกการเมือง” ซึ่งมีอุทัย เทพหัสดินทร์ เพื่อนนักปฏิวัติผู้มีหุ้นส่วนในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ส่วน ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ ร.ต.ถัด รัตนพันธ์ุ ร.ต.สอน วงษ์โต ร.ต.โกย วรรณกุล และ ร.ต.เนตร ทำงานที่ ”ศรีกรุง” และ “สยามราษฎร์” ของมานิต วสุวัต ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว, 2503 , หน้า 249-250. )

สมาชิกของคณะ ร.ศ.130 ได้เล่าความมุ่งมั่นของพวกเขาในการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ว่า “ผู้ที่เคยก่อการ (คณะ ร.ศ.130) เป็นนักหนังสือพิมพ์แท้ มักตระหนักชัดแจ้งว่า (พวกเขา) เป็นส่วนหนึ่งของชาติหน่วยหนึ่ง…พอเลิกงานแล้วมักจะออกเที่ยวคบค้าสมาคมตามสโมสรและแหล่งชุมนุมต่างๆ เพื่อสังสรรกลั่นกรองความคิดความเห็น และข่าวสารการเมืองเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน” ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร,อ้างแล้ว, 2503, หน้า 250-251.)

บทบาทของเหล่าผู้มาก่อนกาลยังคงต้องการผลักดันการปฏิวัติของสยามต่อไป ดังที่ พล.ต.อ.เผ่า ในขณะนั้นเขามียศเพียง ร.ต.ทหารมหาดเล็กฯได้บันทึกว่า เขาได้รับอิทธิพลทางความคิด “ประชาธิปไตย” จาก“คณะ ร.ศ.130” และต่อมานายทหารผู้นี้ได้ให้การสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 และร่วมต่อสู้กับอำนาจเก่าจนเขาพ้นจากอำนาจไป เขาได้บันทึกต่ออีกว่า “ความคิดปฏิวัติได้แพร่เข้ามาอยู่ในกระแสความคิดของคนสยามและนายทหาร) เพราะพวกทหารที่คิดเก็กเหม็งหรือคิดปฏิวัติในรัชกาลก่อน (รัชกาลที่ 6) นั้น ก็มาทำงานตามโรงพิมพ์หนังสือรายวันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพิมพ์ศรีกรุง เชิงสะพานมอญ และคำภาษาไทยใหม่ๆ ก็ได้เกิดขึ้นขนานคู่กับลัทธิไตรราษฎร์ของ ดร.ซุนยัดเซน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลักเมือง เช่น คำว่า เสมอภาค ภราดรภาพ ดังนี้ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเร้าอารมณ์ของนายทหารหนุ่มๆยิ่ง หนังสือพิมพ์หลักเมืองถูกปิด โรงพิมพ์ศรีกรุงถูกปิด ก็ทำให้มีนายทหารเป็นจำนวนมากแอบซื้อหนังสือพิมพ์นี้มาอ่าน” ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 125. )

พล.ต.อ เผ่า ได้บันทึกความทรงจำต่อไปว่า ด้วยความกระหายใคร่รู้ของนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จำนวนหนึ่ง พวกนายทหารเหล่านั้นได้เริ่มต้นค้นหาความหมายของคำว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เคยเป็นแต่เสียงกระซิบกระซาบ ก็เกิดมีการค้นคว้ากันว่ามันคืออะไร” (พล.ต.อ.เผ่า ,อ้างแล้ว , หน้า 128.)

และเมื่อนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จำนวนหนึ่งเริ่มตระหนักสนใจในแนวคิดเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มระแคะระคายถึงความตื่นตัวทางการเมืองดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้ง “สมาคมลับแหนบดำ” ขึ้นเพื่อทำการต่อต้านการปฏิวัติ โดยสมาคมนี้มีหน้าที่ป้องกันการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เริ่มปรากฎขึ้นภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ พล.ต.อ.เผ่าเชื่อว่า พล.อ.พระยาสุรเดชรณชิต ทำหน้าที่สืบข่าว และปรามความคิดทางการเมืองของเหล่านายทหาร ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 129.)

แม้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามจะติดตามกระแสความคิดที่ไม่พึงปรารถนามิให้เผยแพร่ในกองทัพ แต่กระนั้นก็ดี ร.ต.บ๋วย สมาชิกคณะ ร.ศ.130 ก็ยังคงเพียรทำหน้าที่เข้าไปเผยแพร่แนวความคิดในสโมสรนายทหารมหาดเล็กต่อไป ดังที่ พล.ต.อ.เผ่า ได้บันทึกบทบาทของ “คณะ ร.ศ.130” ว่า “ลัทธิเก็กเหม็งหรือปฏิวัติแบบซุนยัดเซนก็กระพือสะพัดไปทั่ว นายทหารที่คิดการปฏิวัติเมื่อ ร.ศ.130 ก็เริ่มเป็นดาราดวงเด่นขึ้น มีคนอยากรู้อยากฟังเรื่องปฏิวัติใน ร.ศ.130 และส่วนมากของนายทหารซึ่งได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ในสมัยรัชกาลที่หกนั้นก็เข้าทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ตามโรงพิมพ์เป็นส่วนมาก ผู้ที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ เป็นนักเขียนเรื่องเริงรมย์ทางสวาทชั้นยอด ร.ต.บ๋วยทำงานอยู่โรงพิมพ์ศรีกรุงได้มีโอกาสมาเยี่ยมทหารมหาดเล็กบ่อยๆ และชอบเล่าเรื่องการปฏิวัติใน ร.ศ.130 บางคนถามว่าอยู่ในคุกลำบากไหม ร.ต.บ๋วยตอบว่า จะเอาอะไรล่ะคุณ เราก็เป็นทหารเคยเป็นนักเรียนนายร้อย กินอย่างไรก็ได้ นอนอย่างไรก็ได้ ในคุกนั้นมีของทุกอย่าง เว้นไว้แต่ช้างไม่มีเพราะลอดประตูคุกเข้าไปไม่ได้ ทุกๆคนนิ่งฟัง ชมเชยในความกล้าหาญ อีกคนถามว่า กลัวถูกยิงเป้าไหม ร.ต.บ๋วยตอบว่า กลัวน่ะกลัวกันทุกคน แต่อย่างมากคนเราก็แค่ตายเท่านั้น ผมพูดอย่างนี้จริงหรือไม่ แล้วสังคมก็ครื้นเครงอารมณ์ไปในทางเลื่อมใส ร.ต.บ๋วย บุณยรัตนพันธ์เป็นอย่างยิ่ง” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 131.)

ร.ต.บ๋วยได้พยายามเผยแพร่แนวความคิด “ประชาธิปไตย” ให้กับนายทหารอย่างต่อเนื่อง แม้ในเวลาต่อมา มีคำสั่งห้ามมิให้นายทหารชวนคนภายนอกเข้ามาในสโมสร แต่ ร.ต.บ๋วยก็ยังคงเพียรเปลี่ยนแปลงความคิดของนายทหารต่อไปด้วยการส่งหนังสือพิมพ์มาให้ห้องสมุดนายทหารมหาดเล็กเสมอ และได้ย้ายวงสังสรรค์ออกไปนอกกรมทหาร ตามรอบสวนเจ้าเชตุ บางวันก็ไปกินเลี้ยงกันตามร้านอาหารใหญ่ เช่น ร้านฮงเฮง ร้านฮั้วตุ้น ตามแต่ขณะนั้นจะมีเงินมากหรือเงินน้อย ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 131)

การพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดทางการเมืองระหว่าง ร.ต.บ๋วยกับนายทหารคนอื่นๆ ทำให้นายทหารเริ่มรับรู้ และเห็นด้วยกับความคิดทางการเมืองนั้น ดังที่ พล.ต.อ.เผ่าบันทึกไว้ว่า “เรื่องกบฏเก็กเหม็งในเมืองไทยและที่ในเมืองจีนซึ่งกำลังต่อสู้กันอยู่ก็เริ่มกระจ่างแจ้งในใจของผู้บังคับหมวด คือ ร.ต.เผ่า ศรียานนท์” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 132.)

การบรรจบกันของ“คณะ ร.ศ.130” กับ “คณะราษฎร” ในการปฏิวัติ 2475

เมื่อปรีดีเดินทางกลับสู่สยาม ภายหลังที่เขาสำเร็จการศึกษาและร่วมจัดตั้ง “คณะราษฎร” ที่ปารีสแล้ว เขาได้มีโอกาสพบปะกับ ร.ต.เนตร อดีตแกนนำของ “คณะ ร.ศ.130” ด้วย เมื่อมีความคุ้นเคยระหว่างกันมากขึ้นเขาได้เคยถามถึงสภาพชีวิตในคุกของเหล่าคณะ ร.ศ.130 และได้แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อโศกนาฏกรรมที่เหล่าผู้มาก่อนกาลได้รับโทษทัณฑ์ และเขาได้ซักถามถึงสาเหตุของความล้มเหลวของ “คณะ รศ.130” คืออะไร เขาได้รับคำตอบจาก ร.ต.เนตรว่า เกิดจากการทรยศหักหลังของคนในคณะนำความลับไปแจ้งแก่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ร.ต.เนตรมั่นใจว่า หากไม่มีเหตุการณ์ทรยศดังกล่าว ร.ต.เนตรมั่นใจว่าการปฏิวัติจะประสบความสำเร็จ ( เรื่องรักของสามัญชน ปรีดี พูนศุข ใน http://padeedub.blogspot.com/2009/05/blog-post.html เข้าถึง 7 กันยายน 2553 และ http://www.sameskybooks.org/board/index.php?s=ce3db72dacb539f829521f0595bcd996&showtopic=31333จากคุณ cele ในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน,เข้าถึง 7 กันยายน 2553 )

ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเขากับแกนนำใน “คณะ ร.ศ.130” นี้เขาได้บันทึกยืนยันความสัมพันธ์นี้ว่า “ปรีดีสนใจในข่าวนี้มาก เพราะเห็นว่า เมืองไทยก็มีคณะ ร.ศ.130 รักชาติกล้าหาญ เตรียมเลิกระบบสมบูรณาฯ หากแต่มีคนหนึ่งในขณะนั้นทรยศนำความไปแจ้งแก่รัฐบาล ปรีดีจึงพยามสอบถามแก่ผู้รู้เพื่อทราบเรื่องของ ร.ศ.130 ด้วยความเห็นใจมาก” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 35 )

จากประสบการณ์ของ “คณะ ร.ศ.130” ที่เขาได้รับฟังมา ทำให้เขาต้องสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ดังที่เขาบันทึกว่า “มีคนกลุ่มหนึ่งเช่นอย่าง ร.ศ.130 ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่จะทำ (การปฏิวัติ) แต่ถูกหักหลัง ถ้าไม่ถูกหักหลังเขาก็สำเร็จ...ผมก็เอาบทเรียนที่เขา (คณะ ร.ศ.130 ) พลาดพลั้งมาศึกษา... ” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 43 )

เมื่อความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง “คณะ ร.ศ. 130” กับ “คณะราษฎร” มีความแนบแน่นมากขึ้นจนนำไปสู่ความร่วมมือกัน ดังสมาชิกสำคัญใน “คณะ ร.ศ.130” ได้บันทึกถึงบาทบาทของพวกเขาในการสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 ว่า “เราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซํ้ามีบางคนได้ตกปากรับคำกับสายสื่อของคณะ พ.ศ.2475 เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ใช้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นปากเสียง (organ) ของคณะ 2475 ก็เผอิญนายมานิต วสุวัต ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันสมัยอยู่แล้วได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชายนับแต่นั้นเป็นต้นมา ” ( ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร ,อ้างแล้ว, 2503, หน้า 254.)

ความหมายของ“ประชาธิปไตย”ก่อนการปฏิวัติ 2475

ก่อนการปฏิวัติ 2475 ปรีดีรับราชการในกระทรวงยุติธรรมและเขายังได้ทำหน้าที่ผู้สอนวิชากฎหมายปกครองในโรงเรียนกฎหมาย และได้เขียนตำรา “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” เล่มสำคัญขึ้นเพื่อสอนเหล่านักเรียนกฎหมาย ในตำรามีการจำแนกของคำว่ารัฐบาลในโลกนี้ออกเป็น 2 แบบ คือ 
แบบแรก คือ รัฐบาลราชาธิปไตย ซึ่งมีหลายชนิดตั้งแต่ รัฐบาลราชาธิปไตยอำนาจไม่จำกัด (Monarchie absolue) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็ม จนถึง รัฐบาลราชาธิปไตยอำนาจจำกัด (Monarchie limitee) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการแผ่นดิน 

และแบบที่สอง คือ รัฐบาลประชาธิปไตย คือ รัฐบาลที่มีหัวหน้าของผู้บริหารเป็นคนสามัญธรรมดา ไม่มีการสืบทอดตำแหน่งไปยังทายาท แต่การเข้าสู่ตำแหน่งมาจากมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามกำหนดเวลา รัฐบาลประชาธิปไตยมี สองชนิด คือ รัฐบาลที่มีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้า เช่น ฝรั่งเศส กับ รัฐบาลที่อำนาจบริหารอยู่กับคณะบุคคล เช่น สหภาพโซเวียต ( หลวงประดิษฐมนูธรรม , อ้างแล้ว , หน้า 165.)

การเรียนการสอนและการถกเถียงถึงรูปแบบการปกครองแบบต่างๆ ของโรงเรียนกฎหมายในช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 นั้นสร้างความตื่นตัวทางการเมืองให้กับผู้สนใจในความรู้สมัยนั้นโดยเฉพาะนักเรียนกฎหมาย จนกระทั่งนายทหารผู้หนึ่งขณะนั้นคนหนึ่งบันทึกว่า “ มีข่าวแพร่ สะพัดมาว่า ที่โรงเรียนกฎหมายได้วิพากษ์วิจารณ์ลัทธิการปกครองแบบใหม่อย่างกว้างขวาง... ที่ของโรงเรียนกฎหมายอันเป็นแหล่งเพาะวิชาปกครองบ้านเมืองและเป็นสถาบันค้นคว้าวิชาการปกครองได้แพร่สะพัดออกมาว่า การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันเช่นนั้นได้ เพราะเป็นสถานที่ๆให้การศึกษาวิชากฎหมายจึงไม่กีดกันความคิดเห็นแต่อย่างใด ” ( พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 132.)

เมื่องานฉลองพระนคร 150 ปี (เมษายน 2475) ใกล้เข้ามา มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วตามเบียร์ฮออล์ บาร์ ร้านจำหน่ายสุรา สถานที่เต้นรำ แม้กระทั่งในสโมสรนายทหารว่า จะเกิดการจลาจล ทำให้รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สั่งการให้ตำรวจภูบาลซึ่งเป็นตำรวจลับของระบอบเก่าปลอมตัวเข้ามาเป็นแขกขายเนื้อสเต๊ะเข้ามาสืบข่าวในกรมทหารอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับบทบาทของ “ศรีกรุง” ได้ลงบทความโจมตีระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างต่อเนื่อง ทำให้เหล่านักหนังสือพิมพ์ชาว “คณะ ร.ศ.130” ถูกติดตามจากตำรวจภูบาลด้วยเช่นกัน ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร, อ้างแล้ว , 2503 , หน้า 245 )

ข่าวการเข้ามาสืบข่าวของตำรวจลับแพร่ออกไป พล.ต.อ.เผ่าได้บันทึกว่า “ร.ต.บ๋วย บุณยรัตน์พันธ์ อาจารย์เก็กเหม็งก็หัวเราะร่วนในวงสุราว่า เห็นไหมล่ะ ผมว่าแล้วมีข่าวแปร่งๆ ในหมู่ทหารบก พวกเรานี้ เมืองไทยนั้นถึงคราวมาช้านาน ถ้าพร้อมเพรียงกันเป็นสำเร็จแน่” (พล.ต.อ.เผ่า , อ้างแล้ว , หน้า 135 )

ความคิด “ประชาธิปไตย” ในประกาศคณะราษฎร

พลันที่การปฏิวัติได้เริ่มต้นขึ้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ปรีดี ได้รับภารกิจสำคัญจาก “คณะราษฎร” ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิถุนายน และร่าง “ประกาศคณะราษฎร” ซึ่งถือเป็นคำประกาศอิสรภาพของราษฎรจากการปกครองระบอบเก่าและประกาศก้าวสู่ระบอบใหม่ว่า ( ปรีดี พนมยงค์ , ความเป็นมาของศัพท์ไทย ปฏิวัติ รัฐประหาร วิวัฒน์ อภิวัฒน์ (กรุงเทพฯ : ประจักษ์การพิมพ์,2519), หน้า 9-10. ปรีดีไม่เคยยอมรับว่า ตนเองเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎรจนกระทั่ง ในปี 2519 เขาบันทึกว่า “ผมได้รับมอบหมายจากคณะราษฎรให้เขียนแถลงการณ์...” )

“เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้จะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การณ์ก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังกันไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจอยู่เหนือกฎหมายเดิม …ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง… คณะราษฎรได้แจ้งความประสงค์นี้ให้กษัตริย์ทราบแล้ว เวลานี้ยังอยู่ในความรับตอบ ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมา ก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองแบบอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือ ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกตั้งขึ้น อยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา…”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้ความคิด “ประชาธิปไตย” ที่เริ่มต้นขึ้นจากความคิดของ “คณะ ร.ศ.130” จะมิได้เกิดขึ้นจริง แต่ความคิดดังกล่าวยังปรากฏแพร่หลายในสังคมสยามโดยสื่อผ่านเหตุการณ์การปฏิวัติในจีน หนังสือ “ลัทธิตรัยราษฎร์” ของซุนยัดเซ็นและปรากฏขึ้นมาอย่างสำคัญอีกครั้งในคำประกาศคณะราษฎร

เมื่อพ้นเช้าแห่งประวัติศาสตร์ที่เกิดการปฏิวัติในสยาม เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ในช่วงบ่าย พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้า “คณะราษฎร” ได้เชิญ ร.อ.เหล็ง และเหล่า “คณะ ร.ศ.130” มาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งขณะนั้นเป็นกองบัญชาการของ “คณะราษฎร” ในเวลา 13.00 น. หัวหน้า “คณะราษฎร” ได้ยื่นมือสัมผัสกับอดีตผู้ก่อการรุ่นก่อนหน้าเขาได้กล่าวกับ “ คณะ ร.ศ.130” ว่า “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนทีเยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนเป็นแน่” เขาเล่าให้ “คณะ ร.ศ.130” ฟังว่าในเช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน ในระหว่างที่เขาคุมกำลังทหารเข้าปฏิวัติ เขาได้จับกุมพระยากำแพงราม (แต้ม) ผู้ทรยศคณะ ร.ศ.130ได้ และต้องการสั่งยิงเป้าพระยากำแพงรามเพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพลที่สี่แยกเกียกกาย แต่พระยาทรงสุรเดช แกนนำสำคัญของคณะราษฎร ได้ห้ามไว้ ( ร.ต. เหรียญ และ ร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503, หน้า 255. แม้พระยากำแพงรามจะรอดชีวิตมาได้ แต่ต่อมาเขาได้เข้าร่วมกับกบฎบวรเดช แต่ก็พ่ายแพ้ เขาถูกจำคุกที่เรือนจำบางขวางและต่อมาเขาได้ผูกคอตายในห้องส้วมของคุกนั่นเอง )

ส่วนพระยาทรงสุรเดช ผู้เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยทหารบกรุ่นเดียวกับ ร.ต.บ๋วย ได้กล่าวทักทายว่า “พอใจไหมบ๋วย ที่กันทำในครั้งนี้” อดีตนักปฏิวัติได้กล่าวตอบว่า “ พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกับพวกผม” และในบ่ายวันนั้น “คณะ ร.ศ.130” ได้พบกับปรีดี แกนนำฝ่ายพลเรือน เขาได้กล่าวกับกล่าวกับเหล่าผู้มาก่อนกาลว่า “พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำทีต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ.130 จึงขอเรียกคณะ ร.ศ.130 ว่า พวกพี่ๆต่อไป” ( ร.ต. เหรียญ และร.ต. เนตร , อ้างแล้ว , 2503, หน้า 2-3. )

เมื่อการปฏิวัติในวันนั้นผ่านพ้นไป บรรดาเหล่าผู้ที่ได้เคยสนับสนุนความคิด “ประชาธิปไตย” ได้ให้การสนับสนุน “คณะราษฎร” เช่น การบริจาคสิ่งของและการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์สนับสนุนการปฏิวัติ 2475 โดย ต.บุญเทียม ผู้แปลหนังสือ “ลัทธิตรัยราษฎร์” ( หลักเมือง 9 กรกฎาคม 2475 ลงข่าวว่า ต.บุญเทียมได้บริจาคผ้าขนหนูเช็ดตัว 20 โหล และผ้าขนหนูเช็ดหน้า 60 โหลให้กับคณะราษฎรเพื่อใช้ประโยชน์ในระหว่างที่ตั้งกองบัญชาการปฏิวัติที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เขาพิมพ์หนังสือสยามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับถาวร พร้อมด้วยคำแถลงการณ์ของอนุกรรมการ.(พระนคร : โรงพิมพ์หลักเมือง,2475) ออกแจกจ่าย ตลอดจน เขาได้เผยแพร่ ลัทธิตรัยราษฎร์ ลงในหนังสือพิมพ์ของเขา (หลักเมือง 11 มกราคม 2475)(นับแบบใหม่ คือ 2476)

และ “คณะ ร.ศ.130” ได้เข้าสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้อย่างแข็งขัน พวกเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกของประวัติศาสตร์ เช่น ร.ต. เนตร ( ต่อมา ร.ต. เนตร ต่อมาได้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทยสมัยที่พลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย )

จรูญ ณ บางช้าง ต่อมา สมาชิกบางส่วนได้ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีความกล้าหาญ และมีฝีปากกล้าในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ ที่ขัดรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวอย่างสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์สภาผู้แทนราษฎร เช่น ร.ต.สอน (ชัยนาท) ร.ท.ทองคำ(ปราจีนบุรี) และ ร.ต. ถัด (พัทลุง)  ( สมุดภาพสมาชิกรัฐสภา 2475-2502 (พระนคร: บริษัท ชุมนุมช่าง , 2503) และโปรดดูบทบาทของพวกเขาในการคัดค้านพระราชประสงค์ของพระปกเกล้าฯ อย่างดุเดือด ใน ,แถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ , (พระนคร : ศรีกรุง,2478 ) และสุพจน์ แจ้งเร็ว. “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน 2545 ), หน้า 63-80. )

สมาชิกบางส่วนกลับเข้ารับราชการภายหลังที่ “คณะราษฎร” นิรโทษกรรมความผิดที่ผ่านมาให้ นอกจากนี้พวกเขาได้สนับสนุนพิมพ์หนังสือเอกสารสนับสนุนการปฏิวัติออกแจกจ่ายด้วย ( หลัก 6 ประการ แถลงโดย นายจรูญ ณ บางช้าง พิมพ์ขึ้นในโอกาสพิธีการมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พระพุทธศักราช 2475 .(พระนคร: โรงพิมพ์ลหุโทษ,2475 ),นายร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ (รวบรวมและเรียบเรียง), คู่มือของผู้แทนตำบลสำหรับเลือกผู้แทนราษฎร (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล,2476) คำอภิปราย
เสนอกฎหมายกับกะทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรของนายร้อยตรีถัด รัตนพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง. แส รัตนพันธ์พิมพ์ช่วยในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) ณ เมรุ วัดวัง จังหวัดพัทลุง (พระนคร:โรงพิมพ์พระจันทร์,2481).)

รวมทั้ง มานิต วสุวัต ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่เสียสละยอมให้หนังสือพิมพ์ของตนเป็นหัวหอกในการสนับสนุนการปฏิวัติได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนชุดแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นกัน

แม้ “คณะราษฎร” จะทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของสยามได้ แต่กลุ่มอำนาจเก่ามิได้ถูกขจัดไปทั้งหมดทำให้การปฏิวัติ 2475 หาได้ปลอดจากการต่อต้าน เห็นได้จากกลุ่มอำนาจเก่าให้การสนับสนุนกบฎบวรเดช (2476) แต่ “คณะราษฎร” ก็สามารถปราบกบฏบวรเดชลงได้ และต่อมามีการจัดงานฌาปนกิจศพเหล่าทหาร และตำรวจฝ่ายคณะราษฎร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เชิญ“คณะ ร.ศ.130” ร่วมเป็นเจ้าภาพงานศพเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลที่สละชีวิตปกป้องระบอบใหม่ ( ร.อ. เหล็ง , ร.ต. เนตร , สมจิตร , อ้างแล้ว ,หน้า 176 . “คณะ ร.ศ.130” ที่เข้าร่วมงานฌาปนกิจนายทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในการปราบกบฎบวรเดชในวันนั้นเช่น ร.ต.จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. บ๋วย บุณยรัตนพันธ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. ศิริ ชุณหะประไพ และอุทัย เทพหัสดินทร์ )

แบบและประสบการณ์ของการปฏิวัติฝรั่งเศสในความคิดของแกนนำคณะราษฎร

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 สังคมสยามมีความตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวอย่างมาก เห็นได้จากในขณะนั้นมีการผลิตหนังสือที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศสหลายเล่ม เช่น “ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส” (2477) “ปฏิวัติฝรั่งเศส ฉบับพิศดาร” และ “ขุมปฏิวัติ (ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับประชาชน)” มีการเกริ่นนำในหนังสือว่า “ดุเดือดที่สุด… เลวร้ายที่สุด…ทารุณที่สุด…แต่ก็ดีที่สุด ปฏิวัติฝรั่งเศสระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1789 ไม่ใช่แต่ฝรั่งเศสเท่านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไป โลกทั้งโลกก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเป็นการพลิกประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่” ( พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส (พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล, 2477) ในปกหลังของหนังสือได้มีโฆษณาหนังสือใหม่ ของยอดธรรม บุญบันดาล, ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับพิศดาร 2 เล่ม และ ขุมปฏิวัติ (ปฏิวัติฝรั่งเศสฉบับประชาชน) จัดพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์เสรีภาพ )

สองปีหลังการปฏิวัติ เราจะเห็นท่าทีของนายปรีดีที่มีความประนีประนอม เนื่องจาก เขาอาจคิดว่า กลุ่มอำนาจเก่าคงจะไม่ต่อต้านการปฏิวัติ 2475 อีก และเขาต้องการทำงานมากกว่าการพะวัก พะวงกับปัญหาการต่อต้าน เขากล่าวว่า เป้าหมายของเขาอยู่ที่ความสุขสมบูรณ์ของประชาชนมากกว่าการเปลี่ยนแต่เพียงแบบ และเขาวิจารณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ (Revolution imparfaite) เนื่องจากให้ความสำคัญกับการ “เปลี่ยนแบบ เปลี่ยนบุคคลผู้เป็นประมุขแห่งการปกครอง” มากกว่าการสร้างความสุขสมบูรณ์ของประชาชน การดำเนินการของคณะปฏิวัติฝรั่งเศสจึงนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจทางการเมืองที่ไม่รู้จบ เขาเห็นว่า แบบการปฏิวัติฝรั่งเศสที่หาได้มุ่งสู่ความสุขสมบูรณ์เป็นแบบที่ไม่ควรนำมาใช้กับสยาม ( หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, “คำนำ” ในพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, อ้างแล้ว.)

ในขณะที่ในเวลาต่อมา จอมพล ป. เพื่อนนักปฏิวัติในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอย่างตระหนักถึงผลที่จะตามมาภายหลังการปฏิวัติของ “คณะราษฎร” จากการต่อต้านโดยกลุ่มอำนาจเก่า ต่อสภาผู้แทนฯ ในปี 2482 หลังรัฐบาลได้ปราบปรามการก่อการบกบฎ และก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มอำนาจเก่าลงได้ เช่น กบฏบวรเดช การลอบสังหาร “คณะราษฎร” และตัวเขา (2476-2481) เขาได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ใช่ว่าจะเปลี่ยนแต่ระบอบแล้วย่อมเป็นการเพียงพอ ...ยังต้องคอยควบคุมดูแลมิให้ถอยหลังกลับเข้าสู่ที่เดิมอีก” ( “คำปราศัยของนายกรัฐมนตรีกล่าวแด่ประชาชนชาวไทยทางวิทยุกระจายเสียงปรับความเข้าใจเกี่ยวแก่คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฎ 27 พฤศจิกายน 2482” ในประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์ (พระนคร : กรมโฆษณาการ, 2483), หน้า 72. )

และในปี 2483 เขาได้กล่าวย้ำกับสภาผู้แทนฯ อีกว่า “ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้” ( “คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรี กล่าวแด่มวลสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวแก้ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483 15 สิงหาคม 2483” ในประมวลคำปราศัยและสุนทรพจน์ ,หน้า 153. )

บทความนี้ขอสรุปด้วยการยกคำพูดของ ปรีดี แกนนำสำคัญใน “คณะราษฎร” 
ผู้ร่างประกาศคณะราษฎร (2475) 
ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่สุด (2475) 
ผู้เคยไม่เห็นด้วยกับการนำแบบการปฏิวัติฝรั่งเศสมาใช้ (2477) 
ผู้เคยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ (2484-2489) 
และต่อมาเขาได้พยายามปรองดองและปลดปล่อยกลุ่มอำนาจเก่าโดยหวังว่า กลุ่มอำนาจเก่าจะลืมความขัดแย้งในอดีตและร่วมมือกันสร้างสรรค์การปกครองที่ยอมรับอำนาจประชาชน (2488) 
 ไม่นานจากนั้นเขาได้ถูกกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการสวรรคต (2489-2490) และพ้นอำนาจไปด้วยกลุ่มคนที่เขาเคยทำดีด้วย (2490) ในเวลาต่อมา เขาได้วิเคราะห์การเมืองไทยด้วยสายตาของนักปฏิวัติในช่วงปลายแห่งชีวิต (2526) ที่น่าคิดว่า “ในเมืองไทยเวลานี้ ซากทาส-ศักดินายังมีพลังมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่ควรประมาท คิดว่าได้อำนาจรัฐแล้ว จะไม่มีซากเก่าคอยจองล้างจองผลาญอย่างนั้นหรือ ? ” ( ฉัตรทิพย์ , อ้างแล้ว , หน้า 47. )