วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2554

ระบอบฟาสซิสม์ ( Fascism )

ดอกเตอร์ Lawrence Britt นักรัฐศาสตร์ผู้ศึกษาระบอบเผด็จการฟาสซิสต์หลายประเทศ ได้แก่ ระบอบของฮิตเลอร์ในเยอรมนี (ค.ศ.1933-1945), มุสโสลินีในอิตาลี (ค.ศ.1922-1943), ฟรังโกในสเปน (ค.ศ.1939-1975), ซูฮาร์โตในอินโดนีเซีย (ค.ศ.1967-1989) และปิโนเชต์ในชิลี (ค.ศ.1974-1990) ได้ประมวลสรุปบุคลิกเอกลักษณ์ที่ระบอบฟาสซิสต์ต่างๆ เหล่านี้มีร่วมกันไว้ 14 ประการ ได้แก่

1) ชูชาตินิยมอย่างแข็งกร้าวและพร่ำเพรื่อ
ระบอบฟาสซิสต์มักพร่ำใช้คำขวัญ, วาทะ, สัญลักษณ์, เพลง และวัสดุอุปกรณ์รักชาติอื่นๆ อย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเสมอ เอะอะก็ชักธงชาติ ติดธงชาติตะพึดตะพือตามตึกรามอาคารถนนหนทางทุกหนแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บนเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย

2) เมินเฉยไม่นำพาสิทธิมนุษยชน
อารามตื่นกลัว "ศัตรู" และโหยหา "ความมั่นคง" จนสิ้นสติ ผู้คนพลเมืองในระบอบฟาสซิสต์จึงถูกชักจูงให้คล้อยตามท่านผู้นำว่า จำเป็นต้องละเลยสิทธิมนุษยชนเสียในบางกรณี พวกเขามักทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือกระทั่งเห็นดีเห็นงามไปกับการทรมานผู้ต้องสงสัย, ใช้อำนาจปฏิวัติหรืออำนาจฉุกเฉินสั่งยิงเป้า, ฆ่าตัดตอน, อุ้มหายสาบสูญ, ขังลืม ฯลฯ เอากับบรรดาผู้ถูกตราหน้าว่าเป็น "ศัตรู"
 
3) ปลุกผี "ศัตรู" ขึ้นมาเป็นแพะรับบาปเพื่อสร้างความสามัคคีบนพื้นฐานความเกลียดและความกลัว
ปลุกระดมประชาชนให้สามัคคีกันคลั่งชาติเพื่อกำจัดผู้ที่ถูกถือว่าเป็น "ศัตรู" หรือ "ภัยคุกคาม" ร่วมกัน ไม่ว่าเจ๊ก, แกว, แขก, คริสต์, มุสลิม, เสรีนิยม, คอมมิวนิสต์, สังคมนิยม, ผู้ก่อการร้าย ฯลฯ

4) ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง
แม้ในยามบ้านเมืองอัตคัดขัดสนข้าวยากหมากแพง ทหารยังคงได้สัดส่วนงบประมาณมากเป็นพิเศษเหนือกิจการด้านอื่นๆ ทหารหาญได้รับยกย่องสดุดีอย่างสูงยิ่ง

5) กดขี่ทางเพศอย่างแพร่หลาย
รัฐบาลประเทศฟาสซิสต์มักถูกครอบงำโดยผู้นำเพศชายแทบจะล้วนๆ และยึดมั่นถือมั่นการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ชาย/หญิงตามประเพณีอย่างเคร่งครัด ตายตัว การหย่าร้าง ทำแท้ง และพฤติการณ์รักร่วมเพศจะถูกกดขี่ปราบปราม รัฐถูกถือเป็นองครักษ์พิทักษ์สถาบันครอบครัวอย่างถึงที่สุด

6) ปิดปากควบคุมสื่อมวลชน
บางครั้งรัฐบาลฟาสซิสต์จะเข้ากำกับควบคุมสื่อมวลชนโดยตรง แต่บางทีก็ทำโดยอ้อมผ่านกฎระเบียบราชการหรือผู้บริหาร และกระบอกเสียงโฆษกที่ฝักใฝ่รัฐบาล การเซ็นเซอร์ทำกันดกดื่นโดยเฉพาะในยามสงคราม

7) หมกมุ่นฝังหัวเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ"
รัฐบาลฟาสซิสต์จะใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือสำคัญในการจูงจมูกมวลชนให้เชื่อฟัง และสยบยอมตามภายใต้ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคง"

8) รัฐบาลพัวพันอีนุงตุงนังกับศาสนจักร
รัฐบาลฟาสซิสต์มักฉวยใช้ศาสนาหลักที่แพร่หลายในประเทศ เป็นเครื่องมือหลอกล่อชักจูงมติมหาชน ผู้นำรัฐบาลจะพร่ำพูดเรื่องศีลธรรมไม่ขาดปาก เข้ามนัสการพระชื่อดังไม่ขาดสาย แต่กลับดำเนินนโยบายและมาตรการขัดทวนสวนทางหลักคำสอนศาสนาเป็นตรงกันข้าม

9) ปกป้องอำนาจกลุ่มธุรกิจ
ชนชั้นนำในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมมักเป็นตัวการหนุนหลังผู้นำรัฐบาลให้ขึ้นสู่อำนาจ จึงผูกสานเป็นสายใยสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในหมู่ชนชั้นนำแห่งวงการธุรกิจกับรัฐบาล

10) กดขี่ขบวนการแรงงาน
เนื่องจากแรงงานที่จัดตั้งกันเป็นสหภาพ นับเป็นภัยคุกคามรัฐบาลฟาสซิสต์ที่แท้จริงเพียงหลักเดียว ฉะนั้น ถ้าไม่ถูกกวาดล้างจนเหี้ยนเตียนก็โดนปราบปรามอย่างหนัก

11) ดูหมิ่นถิ่นแคลนปัญญาชนและศิลปวรรณกรรม
ระบอบฟาสซิสต์มักส่งเสริมและปล่อยให้เกิดการต่อต้านเป็นปฏิปักษ์กับการศึกษาชั้นสูง และแวดวงวิชาการอย่างเปิดเผย อาจารย์นักวิชาการจะถูกเซ็นเซอร์หรือแม้แต่จับกุมเป็นปกติวิสัย เสรีภาพที่จะแสดงออกในทางศิลปวรรณกรรมถูกโจมตีโต้งๆ

12) ปราบปรามลงโทษอาชญากรรมด้วยอำนาจอาญาสิทธิ์
ภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ ตำรวจได้รับอำนาจไร้ขีดจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ประชาชนมักยินดีทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เวลาตำรวจฉวยใช้อำนาจรังแกผู้คน หรือแม้แต่ละทิ้งสิทธิเสรีภาพของพลเมืองเพื่อเห็นแก่ชาติ บ่อยครั้งประเทศฟาสซิสต์ จะอาศัยกองกำลังตำรวจระดับชาติที่มีอำนาจไร้ขีดจำกัดในทางเป็นจริงไปรักษา "กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง"

13) การเล่นพวกพ้องและทุจริตคอร์รัปชั่นแพร่ระบาด
แทบจะเป็นกฎเกณฑ์เลยว่า ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ทั้งหลายจะปกป้องโดยกลุ่มพรรคพวกเพื่อนพ้องที่เอื้อเฟื้อแต่งตั้งกันและกัน ไปกินตำแหน่งใหญ่โตในราชการแล้วใช้อำนาจนั้นๆ ปกป้องกันและกันให้พ้นผิดตามหลัก "ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน" การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยผู้นำรัฐบาล มีเป็นปกติธรรมดาในระบอบดังกล่าว เนื่องจากการขีดเส้นแบ่งนิยามว่าอะไรเป็นของหลวง / อะไรเป็นของกูนั้น ดันไปขึ้นอยู่กับอำนาจสิทธิขาดของผู้นำ

14) โกงเลือกตั้ง
บ่อยครั้งการเลือกตั้งในประเทศเผด็จการฟาสซิสต์เป็นตลกลวงโลกทั้งเพ การจัดการเลือกตั้งถูกฉ้อฉลบิดเบือนโดยการรณรงค์ให้ร้ายป้ายสี หรือกระทั่งลอบสังหารผู้สมัครฝ่ายค้าน, ออกกฎหมายกำกับควบคุมจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ให้เป็นคุณแก่ตน, ใช้สื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงรัฐบาลฝ่ายเดียว และควบคุมชักเชิดกรรมการจัดเลือกตั้ง และศาลตุลาการอยู่หลังฉาก