ตามที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ และเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๔ ไปแล้วนั้น ปรากฏว่าได้มีการนำเสนอข่าวสารโดยสื่อมวลชนจำนวนมากในลักษณะที่ผิดพลาดคลาด เคลื่อนไปจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ จนสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้ “ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙” ประกอบกับมีผู้ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวให้เข้าใจ อย่างเพียงพอ คณะนิติราษฎร์จึงเห็นสมควรชี้แจงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
๑.ในแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ ๑ ปีนิติราษฎร์ ๕ ปีรัฐประหาร คณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอรวม ๔ ประเด็น ได้แก่ การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒, กระบวนการยุติธรรมกับผู้ต้องหาหรือจำเลยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายภายหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙, การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปรากฏว่าสื่อมวลชน นักการเมือง และบุคคลทั่วไปกลับมุ่งความสนใจไปในประเด็นแรกเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นพิเศษ ซึ่งคณะนิติราษฎร์เห็นว่าสื่อมวลชนบางสำนัก และนักการเมืองจำนวนหนึ่งเข้าใจข้อเสนอของเราคลาดเคลื่อน ทั้งโดยเจตนา และไม่เจตนา
๒. คณะนิติราษฎร์ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าข้อเสนอเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรม หรือการอภัยโทษ หรือการล้างมลทินแก่บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและไม่ใช่เป็นการลบล้างการกระทำทั้งหลายทั้งปวงของผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดดังนั้น หากจะเริ่มดำเนินคดีกับบุคลดังกล่าวใหม่ก็สามารถกระทำไปตามกระบวนการทางกฎหมายปกติได้ จึงไม่ควรมีบุคคลใดไปกล่าวอ้างอีกต่อไปว่าคณะนิติราษฎร์เสนอให้ “ล้างผิด” ให้แก่นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาและถูกพิพากษาจากกระบวนการที่ริเริ่มและสัมพันธ์กับรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
๓. เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ประกาศลบล้างคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เนื่องจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นำเอาประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผลจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
๔. คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต้องถูกลบล้าง แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีหลายรูปแบบ ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจการลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย ด้วยเหตุนี้ ในหลักการคณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นการทั่วไป ส่วนที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ เฉพาะมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหารและรับรองการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
๕. การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตามข้อเสนอของเรานั้นสามารถทำได้ในทางกฎหมาย ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส, การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซีในสวิตเซอร์แลนด์, การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆ ของรัฐบาลเผด็จการทหารตั้งแต่รัฐประหาร ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ถึง ๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๗๓ ในกรีซ, การยกเลิกเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหาร ๑๒ กันยายน ๑๙๘๐ ในการไม่ถูกดำเนินคดีในตุรกี และความพยายามผลักดันให้ตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาในสมัยระบอบฟรังโก้ในสเปน เป็นต้น
๖. ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารเฉพาะรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เท่านั้น เหตุใดจึงไม่เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งอื่นๆด้วย คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนปฏิเสธรัฐประหารทุกครั้งที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ และทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในเบื้องต้นก่อนนั้น ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ยังคงดำรงอยู่ และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
๗. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร
คณะนิติราษฎร์ขอยืนยันว่า แถลงการณ์ของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยึดมั่นหลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นธรรม หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะและการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้อย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔
อ้างอิ้งที่มา ประกาศนิติราษฎร์ คลิ้กที่นี่