วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554

ความเป็นมาและเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ความนำ

          สภาพการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ในช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กล่าวได้อย่างสังเขปว่า ในแง่สังคมนั้น พลังมวลชนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกคุมขังอยู่ในกรอบของการเมืองได้พวยพุ่งออกมาแสดงข้อเรียกต่างๆ ปัญหาที่มีการเรียกร้องต่อระบบการเมืองมีทั้งเรื่อง ความยุติธรรมในด้านสังคม และเศรษฐกิจ การถูกเอารัดเอาเปรียบ การถูกข่มเหงรังแก ในแง่เศรษฐกิจนั้น การขึ้นราคาน้ำมันก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั่วไป สินค้าขึ้นราคา ปัญหา ดังกล่าวออกมาในแง่ของการแสดงออกทางการเมือง ในด้านการเมืองนั้นความพยายามในการวางรากฐาน ประชาธิปไตยก็ดำเนินไปอย่างเข้มข้น มีการร่างรัฐธรรมนูญมีการเผยแพร่ประชาธิปไตย การอภิปรายปัญหาบ้านเมือง การรวมตัวของกลุ่มต่างๆ เช่น สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพประชาชน (สสส.) และประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เป็นต้น ความตื่นตัวทางการเมืองและสภาวะพลวัตมีอยู่ทั่วไป คละกันไปกับปัญหาต่างๆ ทางสังคมเศรษฐกิจ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ค่อนข้างจะสับสนและเสมือนกับจะเป็นพยากรณ์ให้เห็นความยุ่งยากในอนาคต

           ในช่วงนี้ทหารและตำรวจต่างก็สงวนบทบาท ท่าที คอยเฝ้าดูพัฒนาการต่างๆอย่างสงบ แต่ก็เริ่มมีการส่อ ให้เห็นการเตรียมตัวเพื่อเผชิญกับปัญหาที่กำลังจะตามมา กลุ่มนิสิตนักศึกษาก็เริ่มมีรอยร้าวเกิดขึ้น มีการแยกตัว  ออกเป็นสองกลุ่ม คือศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และสหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่แตกออกไปจากลุ่มแรก เพราะเริ่มมีความคิดในทางการเมืองต่างกัน และบางพวกก็ไปสังกัด กลุ่มจัดตั้งซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและมีกิจกรรมที่ถ่วงดุลกลุ่มนิสิตนักศึกษา

          ส่วนทางด้านการเมืองรัฐบาลของม.ร.ว. คึกฤทธิ์บริหารประเทศด้วยการใช้นโยบายให้ผู้มีรายได้น้อยขึ้นรถเมล์ฟรีและรักษาพยาบาลฟรี มุ่งให้คนมีงานทำทั่วถึงภายในห้าปี โครงการเงินผัน 2,500 ล้านบาท และให้ทหาร สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากประเทศไทยภายในเวลาหนึ่งปี ในส่วนสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2518 ข่าวการปลดปล่อยอินโดจีนด้วยชัยชนะของคอมมิวนิสต์ได้เขย่าขวัญรัฐบาลและชนชั้นปกครองของไทย ความกลัวและเกลียดคอมมิวนิสต์ในหมู่คนไทยแผ่กว้างและลึกซึ้ง รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรกนับแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองและได้รับการต้อนรับจากนายเติ้งเสี่ยวผิงอย่างดียิ่ง นายกรัฐมนตรีของไทยได้เข้าพบและสนทนากับประธานเหมาเจ๋อตุงนานกว่าหนึ่งชั่วโมง จนนายแพทย์จีนต้องขอยุติการสนทนา

          บรรยากาศในเมืองไทยนั้น ฝ่ายอำนาจเก่าได้โฆษณาชวนเชื่อว่า ผู้อื่นที่ไม่ใช่พวกของตนเป็นพวกที่ต้องการต่อต้านและล้มล้างสถาบันกษัตริย์ หรือ “ไม่ใช่คนไทย” ในขณะเดียวกันก็ปรากฏ “ขบวนการขวาพิฆาตซ้าย” ผู้นำนักศึกษาชาวนาชาวไร่ และกรรมกรหลายคนถูกลอบสังหาร และในช่วงเดือนสิงหาคมได้เกิดเหตุการณ์ทหารพราน บุกบ้าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

           เดือนมกราคมปี 2519 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ประกาศยุบสภาโดยอ้างว่าถูก ส.ส.กดดันมาก การเลือกตั้งทั่วไปถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2519 ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งที่มีความรุนแรงมากครั้งหนึ่ง ชั่วเวลาสามเดือนที่หาเสียงเลือกตั้งมีการฆ่ากันตายถึงกว่า 30 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก บ่อยครั้งที่การปราศรัยหาเสียงถูกขัดจังหวะด้วยระเบิด พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายถูกโจมตีมากที่สุด หัวคะแนนของพรรคฝ่ายก้าวหน้าถูกลอบฆ่าตายในเขตนอกเมืองที่ทำการของพรรคพลังใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ต้องการปฏิรูปถูกวางระเบิด และเหตุการณ์ที่รุนแรง สะเทือนขวัญผู้คนมากเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2519 เมื่อคนร้ายลอบสังหาร ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน

ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน

           ผลการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน 2519 พลิกความคาดหมาย เพราะ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ผู้ประกาศยุบสภาเพื่อ หวังเพิ่มที่นั่งของพรรคกิจสังคม กลับไม่ได้รับเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง นักวิชาการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองช่วงนี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งได้แสดงความเป็นอนุรักษ์นิยมตามประเพณีดั้งเดิม และพอใจในความปลอดภัยและ ความเป็นระเบียบร้อยมากกว่าความเปลี่ยนแปลงที่ควบคุมไม่ได้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองฝ่ายขวาอื่นๆ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูป โดยที่นั่งของพรรคสังคมนิยมสองพรรค และพรรคพลังใหม่ลดลงจาก 77 ที่นั่งเหลือเพียง 6 ที่นั่ง หรือจากร้อยละ 15 มาเป็น ร้อยละ 2 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภา
ลำดับเหตุการณ์

มิถุนายน 2519

          นายสุธรรม  แสงประทุม ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ( ศนท.) บุคคลผู้นี้ในอีกไม่นานนักได้กลายเป็น 1 ใน 19 นักโทษการเมืองขณะนั้น
สุธรรมได้บันทึกสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นไว้ในหนังสือ ผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม  สุธรรมได้บันทึกสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นไว้ในขณะที่เหตุการณ์ทุกอย่างกำลังก้าวไปสู่ความเลวร้ายทุกขณะ จากการก่อกวนสร้างสถานการณ์ของกลุ่มบุคคลที่ต้องการจะนำระบอบเผด็จการมากดหัวประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง
 
27 มิถุนายน 2519

        กิตติวุฒโฑภิกขุให้สัมภาษณ์หนังสือ จตุรัสว่า "การฆ่าพวกซ้ายหรือพวกคอมมิวนิสต์ไม่บาป"  โดยให้เหตุผลว่า ใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นมาร มิใช่มนุษย์ ดังนั้นการฆ่าคอมมิวนิสต์จึงไม่บาป แต่เป็นการฆ่ามาร ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของคนไทยที่ต้องทำการฆ่านั้น หากเป็นการฆ่าเพื่อประเทศชาติแล้ว แม้จะเป็นบาปแต่ก็ได้บุญในแง่ของการปกป้องประเทศจากศัตรูมากกว่าจะได้บาป กิตติวุฒโฑเปรียบเทียบการฆ่านี้ว่า เหมือนการฆ่าปลาถวายพระ การฆ่าปลาเป็นบาป แต่การนำปลานั้นมาดักบาตรถวายพระ ถือว่าเป็นบุญมากกว่า
พระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ
2 กรกฎาคม 2519

          กลุ่มกระทิงแดงและสหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย จัดนิทรรศการต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่หน้าที่ตึกที่ทำการของศูนย์กลางนิสิตฯกล่าวหาศูนย์กลางนิสิตฯ ว่าตกเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์

          ในวันเดียวกันที่ท้องสนามหลวง ศูนย์กลางนิสิตฯ จัดอภิปรายเรื่องปัญหาข้าวสารแพง ระหว่างนั้น กลุ่มกระทิงแดง เข้าก่อกวนด้วยการปาอิฐ หิน และไม้ ขึ้นไปบนเวที นายสุธรรม แสงประทุม พูดบนเวทีว่า การมาชุมนุม ของกรรมการ ศนท. ชุดนี้อาจจะเป็นชุดสุดท้าย แต่เราพร้อมยืนตายคาเวทีการต่อสู้





         ในช่วงนั้น ที่ทำการ ศนท. ในตึก ก.ต.ป. ถูกล้อมและขว้างปาหลายครั้ง และยังเคยมีคนมาติดต่อกับกรรมการ ศนท.เสนอให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมกับจะสนับสนุนเงินทองและที่อยู่ให้ โดยบอกว่าจะมีรัฐประหารแน่นอน แต่ไม่อยากให้นักศึกษาลุกขึ้นต่อต้าน แต่กรรมการ ศนท.ตอบปฏิเสธ


27 กรกฎาคม 2519

                 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งพาดหัวขนาดใหญ่ว่า “วางแผนยุบสภาผู้แทน ตั้งสภาปฏิรูปสวมรอย” เนื้อข่าวกล่าวว่า บุคคลกลุ่มหนึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ พ่อค้า ข้าราชการ กำลังวางโครงการตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เตรียมตัวเพื่อขึ้นมาบริหารงานแทนรัฐบาลเสนีย์


6 สิงหาคม 2519

                 คณะรัฐมนตรีประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาคำขอของจอมพลถนอม (ที่จะเดินทางเข้าประเทศ) ปรากฏว่าความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ควรอนุมัติเพราะจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมขับไล่ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรอนุมัติเพราะจอมพลถนอมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ


10 สิงหาคม 2519

            มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมเดินทางเข้ามาในประเทศไทย แต่วันรุ่งขึ้นก็มีข่าวว่าจอมพลถนอมทำบุญเลี้ยงพระที่วัดไทยในสิงคโปร์

15 สิงหาคม 2519

         เวลา 17.45 น. มีรายงานข่าวจากกองตรวจคนเข้าเมืองว่า มีบุคคลชื่อในหนังสือเดินทางว่า พี จารุเสถียร เดินทางเข้าประเทศโดยสายการบินไชนาแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ CI 819 จากไทเป หลังจากนั้นมีรถเก๋งคันหนึ่งเข้าไปรับ โดยไม่ได้ผ่านขั้นตอนของกองตรวจคนเข้าเมืองภายหลังทราบว่าเป็น จอมพล ประภาส จารุเสถียร

       ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจอมพล ประภาส จารุเสถียร กลับเข้าเมืองไทยจริง แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน กำลังให้ตำรวจสันติบาลสืบหาตัวอยู่

        18.30 น. พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ออกรายการวิทยุยานเกราะ เรียกร้องให้จอมพลประภาส มอบตัวเพื่อสู้คดีในศาล และเตือนให้ประชาชนระวังการสร้างสถานการณ์จากฝ่ายซ้าย รวมทั้งรัฐบาลต้องการปฎิบัติตาม กฎหมายอย่างยุติธรรม จะปล่อยให้นักศึกษาประชาชนใช้วิธีศาลประชาชนไม่ได้เด็ดขาด
 


16 สิงหาคม 2519

                มีข่าวแจ้งว่าจอมพลประภาส จารุเสถียร หนึ่งในสามทรราชที่ถูกนักศึกษาประชาชนขับไล่ และหลบหนีออกนอกประเทศไปเมื่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับเข้าประเทศแล้ว

17 สิงหาคม 2519

        16.00 น. ศนท.ร่วมกับแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ จัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวงเพื่อ ขับไล่จอมพล ประภาส และในตอนค่ำตัวแทนผู้ชุมนุมเข้าพบนายกฯ เพื่อสอบถามท่าทีของรัฐบาลในการจัดการปัญหา
 
19 สิงหาคม 2519

        01.00 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ใจความว่า ตามที่จอมพลประภาสได้ลักลอบเข้าประเทศไทย รัฐบาลได้ส่ง ผู้แทนคือ พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ไปเจรจากับจอมพลประภาส   จอมพลประภาสกล่าว เข้าเมืองไทยเพื่อรักษาโรคต้อหินและโรคหัวใจโต ก่อนหน้านี้พยายามรักษาที่กรุงไทเป แล้วแต่อาการทรุดลงเรื่อยๆ จึงขอกลับมารักษาที่ประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีความประสงค์ที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้วย

        ช่วงเช้าที่บริเวณลานโพธิ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการชุมนุมประท้วงจอมพลประภาส 11.30 น. นักศึกษา คณะนิติศาสตร์ผู้หนึ่ง นำญาติวีรชนและผู้ร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เข้าแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ให้ดำเนินการ กับจอมพลประภาสสองข้อหาคือ เป็นผู้บงการฆ่าคนตาย และกระทำผิดต่อหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยใช้โมหจริต
ภาพการชุมนุมของนักศึกษา ที่ ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




                    นักศึกษาจำนวนหนึ่งจัดขบวนแห่รูปวีรชน 14 ตุลา ไปที่สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาให้ตำรวจดำเนินคดีกับจอมพลประภาส

15.00. นักศึกษาชุมนุมที่ลานโพธิ์ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะมีคำสั่งห้ามแล้ว

17.00. ศนท.จัดชุมนุมที่สนามหลวง

22.00. นักศึกษาประชาชนประมาณหมื่นคน เคลื่อนขบวนจากสนามหลวงเข้ามายังสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ และมีการชุมนุมกันตลอดคืน

20 - 21 สิงหาคม 2519

        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นศูนย์รวมการชุมนุมต่อต้านกรณี จอมพล ประภาส กลับเข้าประเทสไทย กลุ่มกระทิงแดงและสหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทยก่อเหตุวุ่นวายโดยขว้างระเบิดพลาสติกเข้าใส่ที่ชุมนุม
 


          กลุ่มกระทิงแดงเริ่มปิดล้อมมหาวิทยาลัย

14.00. นักศึกษารามคำแหง 3,000 คน เดินขบวนเข้ามาทางประตูมหาวิทยาลัยด้านพิพิธภัณฑ์ กระทิงแดงปาระเบิดและยิงปืนเข้าใส่ท้ายขบวน มีผู้เสียชีวิต 1 คน แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป

20.30. ฝนตกหนัก กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัดอยู่ในสนามฟุตบอล จนฝนหยุด จึงเคลื่อนเข้าไปในหอประชุมใหญ่ และอยู่ข้างในตลอดคืน

22 สิงหาคม 2519

        จอมพลประภาสเดินทางออกจากประเทศไทยเวลา 14.23 น. โดยเครื่องบินพิเศษจากท่าอากาศยานกองทัพ อากาศไปยังสถานพำนัก ณ กรุงไทเป การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสลายตัว




26 สิงหาคม 2519


        มีข่าวลือว่าจอมพลถนอมลอบเข้ามาทางจังหวัดสงขลา แต่ไม่เป็นความจริง นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ แถลงว่าจอมพลถนอมต้องการกลับมามีอำนาจอีกครั้ง


27 สิงหาคม 2519


         อธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งให้หน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องระมัดระวังมิให้จอมพลถนอมเดินทางเข้าประเทศไทย


28 สิงหาคม 2519


         ท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร เดินทางเข้าประเทศไทย โดยแถลงว่าเข้ามาเพื่อปรนนิบัติบิดาของจอมพลถนอม และมารดาของท่านผู้หญิง รวมทั้งเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานเพื่อนของบุตรชายด้วย


29 สิงหาคม 2519


          บุตรสาวจอมพลถนอม 3 คนเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่บ้านพักซอยเอกมัย เพื่อเจรจาขอให้จอมพลถนอมเข้ามาบวชและรักษาบิดา นายกฯ ขอนำเรื่องเข้าปรึกษา ครม.


30 สิงหาคม 2519


         น..ยุทธพงษ์ กิตติขจร ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และเหตุผลที่จอมพลถนอมขอเดินทางเข้าประเทศไทย


31 สิงหาคม 2519


           ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรอนุมัติให้จอมพลถนอมเดินทางกลับเข้ามา และ รมช.ต่างประเทศสั่งสถานทูตไทยในสิงคโปร์แจ้งผลการประชุม ครม.ให้จอมพลถนอมทราบ

กันยายน 2519
 

1 กันยายน 2519


         นายกรัฐมนตรีเรียกอธิบดีกรมตำรวจและรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษเข้าพบ เพื่อเตรียมการป้องกันการเดินทางเข้าประเทศของจอมพลถนอม และให้นำเอกสารจากกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเกี่ยวกับการพิจารณาความผิดจอมพลถนอมในกรณี 14 ตุลาคม 2516 มาตรวจสอบ


2 กันยายน 2519


          แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติติดใบปลิวต่อต้านการเดินทางกลับไทยของจอมพลถนอมตามที่สาธารณะ นายสุธรรม แสงประทุม เลขาศูนย์นิสิตฯ พร้อมด้วยตัวแทน อมธ. สโมสรนักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ร่วมกันแถลงว่าจะคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด


3 กันยายน 2519


        อธิบดีกรมตำรวจชี้แจงว่าได้เตรียมการป้องกันจอมพลถนอมเดินทางกลับเข้ามาไว้เรียบร้อยแล้ว ถ้าเข้ามาจะควบคุมตัวทันที


นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รมต.ยุติธรรม ซึ่งเดินทางกลับจากสิงคโปร์ แถลงว่าหลังจากได้พบและชี้แจงถึงความจำเป็นของรัฐบาลต่อจอมพลถนอมแล้ว จอมพลถนอมบอกว่าจะยังไม่เข้ามาในระยะนี้



นายสมัคร สุนทรเวช รมช.มหาดไทย กล่าวโดยสรุปว่าขณะนี้มีมือที่สามจะสวมรอยเอาการกลับมาของจอมพลถนอมเป็นเครื่องมือก่อเหตุร้าย



4 กันยายน 2519


           พระภิกษุสงคราม ปิยะธรรมโม ประธานแนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประเทศไทย แถลงว่าถ้าจอมพลถนอมบวช แนวร่วมยุวสงฆ์จะถวายหนังสือคัดค้านต่อสมเด็จพระสังฆราชทันที และพระสงฆ์ทั่วประเทศก็จะเคลื่อนไหวคัดค้านด้วย


สภาแรงงานแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์คัดค้านการกลับเข้ามาของจอมพลถนอม



5 กันยายน 2519


          ในการประชุมตัวแทนของศูนย์นิสิตฯ และของกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา และกรรมกร รวม 67 กลุ่ม ที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมงาน 14 ตุลา ได้ออกแถลงการณ์ร่วม สรุปว่าจะต่อต้านคัดค้านการกลับมาของจอมพลถนอมจนถึงที่สุด

19 กันยายน 2519

        จอมพล ถนอม กิตติขจร บรรพชาเป็นสามเณรที่สิงค์โปร์ แล้วเดินทางเข้าประเทศไทยหลังจากนั้น พล.ต.ต. นิยม กาญจนวัฒน์ ผู้บังคับการกองตรวจคนเข้าเมือง นำเสนอเณรถนอม นั่งรถเบนซ์ตรงไปยังวัดบวรฯ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยอำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยตลอดทาง พล.ต.ต.นิยม กล่าวว่าการเดินทางเข้ามาของสามเณร ถนอม ในครั้งนี้ได้แจ้งให้รัฐบาลทราบทุกระยะ ส่วนสามเณร ถนอมจะพำนักอยู่ ในประเทศไทยนานเท่าใดยังไม่ทราบแน่นอน
สามเณรถนอม ขณะเดินทางเข้าประเทศไทย
         12.00 น. สามเณร ถนอม เสร็จสิ้นพิธีอุปสมบทได้รับฉายา สุกิตติขจโรภิกขุ ที่ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท.จัดประชุมกลุ่มพลังต่างๆ 165 กลุ่ม ได้ผลวิเคราะห์ว่า กรณีจอมพลถนอม เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นเกมที่ละเอียดซับซ้อน เพราะใช้ศาสนาประจำชาติเป็นเครื่องบังหน้า ดังนั้น ศนท.จึงต้องสุขุมและให้โอกาสแก่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาก่อน ในที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตกันมากคือ
 
1.การเข้ามาในครั้งนี้เป็นแผนการของกลุ่มบุคคลที่ต้องการทำรัฐประหาร
 
2.ก่อนเข้ามามีการเตรียมตัวกันอย่างพร้อมเพียง บุคคลในคณะรัฐบาลไปรับถึงสนามบินและให้บวชที่วัดบวรฯ
 
3.จอมพลถนอมใช้ศาสนาเป็นเป็นเครื่องบังหน้า อันทำให้ศาสนาต้องมัวหมอง

         ขณะที่ทาง ศนท.รอดูท่าทีของฝ่ายรัฐบาลได้เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานีวิทยุยานเกราะจนกระทั่งมีการเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 3 หมื่นคนเพื่อคนจำนวน 43 ล้านคน

 
20 กันยายน 2519




                โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ม...เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหัวหน้าพรรคชาติไทย ธรรมสังคม สังคมชาตินิยม และนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และมีข้อสรุปว่า 1.จอมพลถนอมเข้ามาบวชตามที่ขอรัฐบาลไว้แล้ว 2.ในฐานะที่จอมพลถนอมเป็นทั้งจอมพลและภิกษุจึงน่าจะพิจารณาตัวเองได้หากมีความไม่สงบเกิดขึ้น

         ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอให้ออกกฎหมายพิเศษ ขับพระถนอมออกนอกประเทศ และทหารออกประกาศว่าจะไม่เข้าไปยุ่งและไม่มีการรัฐประหาร  ส่วนพระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาที่ต้องการขับไล่พระมีแต่ คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ สถานีวิทยุยานเกราะ และหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. และไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมกับ ศนท.
 

          ศนท.ใช้วิธีเคาะประตูบ้านแทนการชุมนุม โดยให้นิสิตนักศึกษาออกไปตามบ้านประชาชนในเขต กทม. เพื่อสอบถามความรู้สึกถึงเรื่องพระถนอม ปรากฏว่าสามารถสร้างความเข้าใจและความตื่นตัวได้อย่างดียิ่ง

21 กันยายน 2519
               เกิดเหตุปาระเบิดบริษัททัวร์ ที เอส ที ซึ่งบริษัทนี้ถูกสถานีวิทยุยานเกราะออกข่าวว่าเป็นของ ศนท. แต่ปฏิบัติการดังกล่าวพลาดไปถูกร้านตัดเสื้อข้างเคียง มีผู้บาดเจ็บ 5 คน


            นักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน ระหว่างช่างกลสยาม (ซึ่งมีนายวีรศักดิ์ ทองประเสริฐ เลขาธิการศูนย์นักเรียนอาชีวะฯ ในขณะนั้นเรียนอยู่) กับช่างกลอุตสาหกรรม มีการปรากฏตัวของกลุ่มกระทิงแดงในที่เกิดเหตุ และมีการปาระเบิดสังหารชนิด เอ็ม 26 ส่งผลให้นักเรียนช่างกลสยามตาย 5 ศพ บาดเจ็บจำนวนมาก และถูกจับอีกประมาณ 200 คน ในขณะที่ช่างกลอุตสาหกรรมไม่โดนจับเลย เพียงแต่สอบสวนแล้วปล่อยตัวไป กรณีนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมตำรวจท้องที่กับอาจารย์ในโรงเรียนจึงไม่ยับยั้งนักเรียนช่างกลสยาม และการจับนักเรียนช่างกลสยามไปเท่ากับตัดกำลังหน่วยรักษาความปลอดภัยของแนวร่วมอาชีวศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกาศต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับ ศนท. ออกไปส่วนหนึ่ง



           นายอำนวย สุวรรณคีรี แถลงว่า ครม.มีมติแต่งตั้งกรรมการ 2 ชุด ชุดที่ 1 ไปเจรจากับพระถนอม ชุดที่ 2 ออกแถลงการณ์กรณีพระถนอมเข้ามาในประเทศไทย



          นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ แถลงว่า ครม.มีมติจะให้พระถนอมออกไปนอกประเทศโดยเร็ว



        รัฐบาลออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือประชาชนในการรักษาความสงบของบ้านเมือง

       13.10 น. ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกกลางสภา เพราะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ และรัฐบาลไม่อาจเสนอกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราที่ 47 ซึ่งบัญญัติว่าจะเนรเทศบุคคลที่มีสัญชาติไทยไม่ได้

      สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับกุมนักศึกษาที่ออกติดโปสเตอร์ประท้วงกรณีพระถนอม
 
22 กันยายน 2519

           แนวร่วมยุวสงฆ์แห่งประทศไทย และสหพันธ์พุทธศาสนิกแห่งประเทศไทย มีหนังสือมาถึงมหาเถรสมาคมให้พิจารณาการบวชของพระถนอมว่าผิดวินัยหรือไม่


          พล...ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากทางวัดเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด



         คณะอาจารย์รามคำแหงยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลนำพระถนอมออกนอกประเทศ



          ศนท. แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ สภาแรงงานฯ ศูนย์กลางนักเรียนฯ ศูนย์นักศึกษาครูฯ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 8 แห่ง แถลงว่า ไม่พอใจที่แถลงการณ์ของรัฐบาลไม่ชัดเจน ดังนั้นทุกองค์กรจะร่วมมือกันคัดค้านพระถนอมต่อไป



         แนวร่วมนักเรียน นักศึกษา ประชาชน จังหวัดอุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ สหพันธ์นักศึกษาอีสาน แนวร่วมต่อต้านเผด็จการฯ ออกติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอมตามสถานที่ต่างๆ



         ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีมติให้ส่งนักศึกษาออกชี้แจงประชาชนว่าการกลับมาของพระถนอมทำให้ศาสนาเสื่อม


23 กันยายน 2519


          ส.. 4 ราย คือ นายชุมพล มณีเนตร นายแคล้ว นรปติ นายมานะ พิทยาภรณ์ และนายไพฑูรย์ วงศ์วานิช ยื่นกระทู้ด่วนเรื่องการกลับมาของจอมพลถนอม ผลการอภิปรายทำให้ ม...เสนีย์ ปราโมช ประกาศลาออกกลางสภาผู้แทน เนื่องจากไม่อาจเสนอพระราชบัญญัติจำกัดถิ่นที่อยู่ของบุคคลบางประเภท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 อีกทั้งยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ ลูกพรรคก็ขัดแย้งโต้เถียงในสภาฯ แบ่งเป็นซ้ายเป็นขวา ส..บางคนก็อภิปรายในลักษณะไม่ไว้วางใจรัฐบาล


         กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีคำสั่งเตรียมพร้อมในที่ตั้งเต็มอัตราศึก



         สถานีวิทยุยานเกราะออกอากาศให้ตำรวจจับกุมนักศึกษาที่ออกติดโปสเตอร์


24 กันยายน 2519

      01.00 น. บุคคลกลุ่มหนึ่งประมาณ 20 คน นั่งรถจิ๊ปและรถสองแถวมุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้าน ท่าพระจันทร์ ทำลายป้ายที่ปิดประกาศขับไล่พระถนอม

      นิสิตจุฬาฯ ถูกชายฉกรรจ์ประมาณ 20 คนรุมทำร้ายขณะออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านพระถนอมที่อยู่บริเวณป้าย รถเมล์หน้าหอพักจุฬาฯเป้นผลให้ นายเสถียร สุนทรจำเนียร ถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงที่ลำตัวจนบาดเจ็บสาหัส ส่วนนิสิตอีกสองคนถูกทำร้ายและรูดทรัพย์

       08.00 น. ร.ต.ท. วัชรา คีรีรัตน์ ร้อยเวรสถานีตำรวจภูธรนครปฐม ได้รับแจ้งว่าพบศพชายสองคนถูกแขวนคอ ที่ประตูทางเข้าที่ดินจัดสรรบริเวณบ้านหมู่ 2 ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม หลังจากชันสูตรพลิกศพ แล้วพบว่าทั้งสอง คือ นายชุมพร ทุมไมย และนายวิชัย เกษศรีพงษา อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำงานอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขตนครปฐม เป็นสมาชิกแนวร่วมประชาชนนครปฐม สภาพศพมีรอยมัดที่มือ ที่คอมีรอยมัดแขวนด้วยเชือกไนลอน แพทย์ชันสูตรพบว่าตายมาแล้วไม่น้อยกว่าแปดชั่วโมง ผลการสืบสวนพบว่า ก่อนตายบุคคลทั้งสองกำลังติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้าน พระ ถนอม แต่ตำรวจบิดเบือนคดีว่าเป็นเพราะสาเหตุผิดใจกับที่ทำงาน (
ในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส... ชลิต ใจอารีย์ ส...ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส...ธเนศ ลัดดากล ส...แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังจากนั้น
)
พนักงานการไฟฟ้านครปฐม 2 คน ที่เป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกสังหารและแขวนคอ


25 กันยายน 2519


         มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ ม...เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี (อีกครั้งหลังจากลาออกไปเมื่อ 2 วันก่อน)


        ศนท.โดยสุธรรม แสงประทุม และชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ชี้แจงกับสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม มีการชุมนุมที่จุฬาฯ  และตั้งตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ 1.จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 2.ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม



        สภาแรงงานฯ โดยนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อยื่นหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้า



        ดร.คลุ้ม วัชโรบล นำลูกเสือชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปวัดบวรนิเวศฯ เพื่ออาสาป้องกันการเผาวัด

26 กันยายน 2519

        กิตติวุฒโฑภิกขุ และนายวัฒนา เขียววิมล ( กลุ่มนวพล ) ไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรฯ เวลา 22.30 น. อ้างว่ามาสนทนาธรรม และว่าการเข้ามาบวชของพระถนอมนั้นบริสุทธิ์
 
27 กันยายน 2519

          ศนท. สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และตัวแทนจากกลุ่มพลังต่างๆ ประชุมกันและมีมติให้รัฐบาลขับพระถนอมออกนอกประเทศ และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม



        ช่วงวันที่ 26-27 กันยายน มีการเคลื่อนไหวย้ายกำลังพลในเขตกรุงเทพฯ ด้วยคำอ้างว่าจะมีการเดินสวนสนามเพื่อสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล (ปกติจะกระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี)

        ผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจเปิดเผยผลการชันสูตรพลิกศพช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมว่าทั้งสองถูกทำร้าย รัดคอให้ตายเสียก่อน แล้วจึงนำศพมาแขวนคอ
 

28 กันยายน 2519


         ศนท.แถลงว่าจะจัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเร่งรัฐบาลให้ดำเนินการตามที่ยื่นหนังสือเรียกร้อง

29 กันยายน 2519

        15.00 น. ศนท. และกลุ่มพลังต่างๆ จัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงอย่างสงบตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญ มีประชาชนนับหมื่นคนเข้าร่วม โดยเรียกร้องให้จัดการให้พระถนอมเดินทางออกนอกประเทศ และจับกุมฆาตรกร สังหารสองช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมโดยด่วน ขณะดำเนินการชุมนุมเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม นายบดินทร์ เอี่ยมศิลา สมาชิกกลุ่มกระทิงแดงได้ที่เชิงสะพานปิ่นเกล้า พบระเบิด ที.เอ็น.ที ที่ร้ายแรงขนาดทำลายตึกใหญ่ได้ จึงคุมตัวไว้ดำเนินคดี ศนท.ส่งคนไปเจรจากับนายกฯ แต่เลขานายกฯ ไม่ให้เข้าพบ เวลาสามทุ่มเศษ นายสุธรรมและคณะ จึงกลับมาที่สนามหลวงเพื่อบอกกับที่ชุมนุมว่า ผิดหวังมาก และว่าจะสู้ต่อไป ศนท.จะให้เวลารัฐบาลตัดสินใจ ถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลไม่ตัดสินใจแก้ปัญหาก็เคลื่อนไหวทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดพร้อมกันก่อนที่การชุมนุมจะสลายตัวเมื่อเวลา 21.45 น. กลุ่มกระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งอ้างตัวเข้าอารักขาพระถนอม ที่วัดบวรฯ ที่สงขลามีการชุมนุมต่อต้านพระถนอม ส่วนที่หาดใหญ่มีผู้นำงูพิษมาปล่อยกลางที่ชุมนุมและยิงปืนใส่ผู้ร่วมชุมนุมก่อนสลายตัว

 
30 กันยายน 2519

          รัฐบาลส่งนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นตัวแทนไปนิมนต์พระถนอมออกนอกประเทศ แต่พระถนอมปฏิเสธ



         สมเด็จพระญาณสังวร และคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลทราบว่า พระบวชใหม่จะไปไหนตามลำพังระหว่างพรรษาไม่ได้ และกำหนดพรรษาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ตุลาคม 2519



         ม...เสนีย์ ปราโมช ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องให้พระถนอมออกนอกประเทศนั้น รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

        ตัวแทนกลุ่มต่อต้าน ศนท.13 กลุ่มอันประกอบด้วย 
-ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ 
-สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย 
-ชมรมอาชีวะอิสระ 
-สหพันธ์ครูอาชีวะ 
-กลุ่มกรรมกรเสรี 
-กลุ่มค้างคาวไทย 
-กลุ่มกล้วยไม้ไทย 
-กลุ่มวิหคสายฟ้า ( 19 ) 
-กลุ่มเพชรไทย 
-กลุ่มพิทักษ์ไทย 
-กลุ่มสหภาพแรงงานเอกชน 
-สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัย
-องค์การประชาชนแห่งประเทศไทย 
         ร่วมกันแถลงว่า เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ศนท.สภาแรงงานแห่งประเทศไทย และนักการเมืองฝ่ายซ้าย ได้ถือเอากรณีพระถนอมเป็นการก่อความไม่สงบขึ้นในประเทศถึงขึ้นทำลายวัดบวรนิเวศฯ และล้มล้างรัฐบาล ทางกลุ่มจึงมีมติว่าจะร่วมกันป้องกันรักษาวัดบวรฯ ทุกวิถีทาง และหากมีการล้มล้างรัฐบาลทางกลุ่มจะวางตัวเป็นกลาง

        นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดงกล่าวว่า หากมีการเดินขบวนมายังวัดบวรฯ ทางกลุ่มกระทิงแดง จะอารักขาวัดบวรฯ มิใช่อารักขาพระถนอม และขอให้ ศนท.ยุติการเคลื่อนไหวเสีย และให้อยู่ในขอบเขต หากจะชุมนุม ให้อยู่ในสนามหลวง หรือธรรมศาสตร์ อย่าเดินขบวนเป็นอันขาด

        นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท. กล่าวว่า ศูนย์กลางนิสิตฯ จะกระทำทุกอย่างเพื่อต่อต้านเผด็จการ เพื่อคนทั้งประเทศ การที่กลุ่มกระทิงแดงจะต่อต้านขัดขวางศูนย์ฯ นั้นถือได้ว่ากลุ่มกระทิงแดงเป็นเครื่องมือของเผด็จการคอยรับใช้และปกป้องเผด็จการ

ตุลาคม 2519
 

1 ตุลาคม 2519


       มีการชุมนุมที่สนามหลวง แต่เป็นการชุมนุมที่ไม่ยืดเยื้อ เพียงสามทุ่มกว่าๆ ก็เลิกและประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30.



       ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน อดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย



       นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง กล่าวว่า หากมีการเดินขบวนไปวัดบวรนิเวศฯ กระทิงแดงจะอารักขาวัดบวรฯ และขอให้ ศนท.ยุติการเคลื่อนไหว



       ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ และกลุ่มพลัง 12 กลุ่ม ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า ศนท.ถือเอากรณีพระถนอมเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ

2 ตุลาคม 2519
 
          สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วไปชุมนุมกันที่บริเวณสนามไชย นายวัฒนา เขียววิมล ได้นำกลุ่มนวพลไปวัดบวรฯ อวยพรวันเกิดสมเด็จพระญาณสังวร แล้วกลับไปชุมนุมที่สนามไชยอีกครั้ง เนื้อหาการอภิปรายมุ่งต่อต้านคอมมิวนิสต์ จากนั้นก็เลิกราเดินทางกลับภูมิลำเนา



         กลางดึกคืนวันนี้มีคนร้ายยิงปืน เอ็ม 79 เข้าไปยังสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยไทยรัฐฉบับวันที่ 3 ตุลาคม หน้า 4 คอลัมน์ ไต้ฝุ่นเขียนว่า หากเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีใหม่อีก ทำนายทายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็นหนึ่งในสามของคนวัย 52 เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์ เกษม จาติกวณิช หรือประภาศน์ อวยชัย คนนี้ซินแสดูโหงวเฮ้งแล้วบอกว่าฮ้อ



       
        นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท.พร้อมตัวแทนของกลุ่มต่างๆ จำนวน 10 คน เข้าพบนายกฯ เพื่อขอคำตอบเกี่ยวกับ พระถนอม ภายหลังการเข้าพบ นายสุธรรมแถลงว่า นายกฯไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะให้พระถนอม ออกนอกประเทศเมื่อไร ดังนั้นกลุ่มพลังต่างๆ จะเคลื่อนไหวต่อไป โดยขยายวงออกไป อย่างกว้างขวางและเรียกชุมนุมประชาชนที่ท้องสนามหลวงวันที่ 4 ต.ค. 2519

       ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ประชาชนประมาณ 400 คน เดินทางไปให้กำลังใจญาติวีรชน 14 ตุลา 16 ที่อดอาหารประท้วงพระถนอม ปรากฏมีกลุ่มผู้ต่อต้านประมาณ 20 คน ใช้เครื่องขยายเสียงโจมตี แล้วขับรถผ่านไป ส่วนผู้มาให้กำลังใจยืนไว้อาลัยแก่ผูเสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 แล้วสลายตัว

       ที่เชียงใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่หยุดเรียนและเดินขบวนไปชุมนุมที่สนามท่าแพ และออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลแก้ไขกรณีพระถนอมโดยเร่งด่วน

        ที่นครปฐม แนวร่วมประชาชนนครปฐมออกแถลงการณ์โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบิดเบือนคดีการสังหาร 2 ช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม ทั้งๆที่หลักฐานจากพยานหลายปากยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจนำบุคคลทั้งสองไปซ้อมที่สถานีตำรวจภูธรนครปฐม โดยมีนายตำรวจระดับสารวัตรร่วมด้วย จึงขอให้รัฐบาลเร่งจับกุมฆาตกรมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด

        นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยุดสอบประท้วง
 
3 ตุลาคม 2519

        ฝ่ายประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศยืนยันให้นักศึกษาเข้าสอบไล่ ภาคที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2519  หากผู้ใดไม่เข้าสอบถือว่าขาดสอบ

        หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ คอลัมน์ “ไต้ฝุ่น” เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า “ไต้ฝุ่น” มีข้อความว่า “ หากเมืองไทยจะมีนายกรัฐมนตรีอีก ทำนายทักกันได้ว่าจะไม่ใช่คนในสกุลปราโมชอีกแล้ว อาจจะเป็น 1 ใน 3 ของคนวัยไม่เกิน 52 เล็งกันไว้จาก “สภาปฏิรูป” ซึ่งเป็นคำที่คณะผู้ก่อการยึดอำนาจจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเย็นวันที่ 6 ตุลา 19 ใช้แทนคำว่า “คณะปฏิวัติ” ทำให้หลายฝ่ายเพ่งเล็งมากว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ไม่ใช่อุบัติเหตุทางการเมืองไทย แต่เป็นเหตุการณ์ที่ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้าให้เกิดความวุ่นวาย เพื่อที่คณะปฏิรูปฯ จะเข้ายึดอำนาจควบคุมความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เกี่ยวกับข้อเพ่งเล็งนี้ นายชวน หลีกภัย เคยนำไปปราศรัยว่า

        “…พี่น้องครับ ผมทบทวนถ้อยคำให้ท่านฟังอีกครั้งหนึ่ง เล็งกันไว้จากสภาปฏิรูป” หนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งนักเขียนจะเขียนกันได้ก็ไม่เกินประมาณวันที่ 2 แสดงให้เห็นว่า การปฏิรูปนั้นได้มีการเตรียมกันมาแล้ว และข่าวนี้ได้รั่วไหลมาสู่หนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์บางคนถึงได้เขียนคำว่าสภาปฏิรูป และมีการคาดหมายว่าคนที่จะมาเป็น นายกฯนั้นเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่เขาไม่ได้พูดถึง อาจารย์ ธานินทร์ ไกรวิเชียร เขาพูดถึงอาจารย์ประภาศน์ อวยชัย นี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคมนั้น สภาปฏิรูปได้เตรียมการที่จะปฏิรูปแล้ว ได้มีการรวมกลุ่มกันแล้ว และความลับอันนี้ก็ได้รั่วไหลมาสู่หูของหนังสือพิมพ์ จึงได้มีการเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา”

 

        11.40 น. ญาติวีรชนที่อดข้าวประท้วงรัฐบาลกรณีพระถนอมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ได้ย้ายสถานที่ประท้วง จากหน้าทำเนียบรัฐบาลเข้าไปอยู่ในลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวก และถูกก่อกวนจากกลุ่มต่างๆ
 
4 ตุลาคม 2519

             ม...เสนีย์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยอมรับว่ามีตำรวจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ลงมือฆ่าโหดที่นครปฐม ขณะที่พล...กมล เดชะตุงคะ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟ้องสามทรราช กรณี 14 ตุลา

         มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงเช้ามีการสอบวิชาภาษาไทยของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ทุกคณะ แต่นักศึกษา ส่วนใหญ่ไม่ยอมเข้าห้องสอบ กลับรวมตัวชุมนุมกันที่ลานโพประมาณ 500 คน มีการอภิปรายกรณีพระถนอม และการฆาตกรรมช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐม ช่วงเที่ยงชมรมนาฏศิลป์และการละคร แสดงละครสะท้อนเหตุการณ์สังหารช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 24 กันยายน ผู้แสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอคือ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 และ นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 4
บรรดานักษึกษาที่มารวมตัวกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การแสดงละครสะท้อนเหตุการณ์สังหารช่างไฟฟ้าจังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 24 กันยายน


        14.00 น. ดร. ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาห้ามนักศึกษามิให้ชุมนุมกันเพราะเป็นอุปสรรคต่อการสอบไล่ของนักศึกษา ดร. ป๋วยกล่าวว่า การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเจรจากันดีๆ ไม่รู้เรื่องก็จะขอให้ตำรวจมาจัดการ เพราะการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ขออนุญาต

        14.45 น. การชุมนุมที่ลานโพธิ์ยุติชั่วคราวนักศึกษาทั้งหมดเข้าไปประชุมในห้อง เอ.ที. คณะเศรษฐศาสตร์ แล้วได้มติว่าให้งดสอบ

      15.30 น. ฝูงชนชุมนุมประท้วงพระถนอมที่สนามหลวง มีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน ตัวแทนของ ศนท.ขึ้นกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลอ่อนแอและสมยอมกับพระถนอม ส่วนเรื่องแขวนคอที่นครปฐมทั้งที่รู้ว่าใครคือฆาตกร ก็ไม่สามารถจับตัวมาลงโทษได้ แสดงให้เห็นว่ากฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย

      17.30 น. นายสมศักดิ์ มาลาดี จากกลุ่มกระทิงแดง พร้อมด้วยนักเรียนอาชีวศึกษากลุ่มประชาชนรักชาติประมาณ 50 คน พูดโจมตี ศนท.ผ่านเครื่องขยายเสียง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวออกไป ( หลัง 6 ต.ค. นายสมศักดิ์ไปออก รายการที่สถานีวิทยุยานเกราะ )

           18.30. ฝนตกหนัก แต่ท้องสนามหลวงยังมีคนชุมนุมอยู่นับหมื่น

      19.30 น.นายสุธรรม แสงประทุม ประกาศเคลื่อนย้ายคนจากสนามหลวงเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาบันทึกไว้ในหนังสือ ผมผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคมมาได้อย่างไรว่า “…เราจึงย้ายเข้าไปในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด สามารถดำเนินการรักษาความปลอดภัยได้ง่ายกว่า เราย้ายเข้าไปอย่างสงบ ที่จริงแล้วเราไม่ได้ทำอะไรไปโดยพลการ เราไม่ได้ตั้งกองกำลังเอาไว้ตอบโต้หรือรุกรานใคร แต่เรามีอาสาสมัครของเรากลุ่มหนึ่งเข้ามาทำงานด้านรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและผู้รักความเป็นธรรมที่มาชุมนุมข้ามคืนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างมีขั้นตอน และมีการประชุมชี้แจงอย่างรอบด้าน เน้นหนักการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้น ไม่มีปืนผาหน้าไม้ที่จะสู้รบกับใครเลย จะมีก็คงปืนพกไม่กี่กระบอกที่นักศึกษาบางคนมีติดตัวและได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย…”

      การเคลื่อนย้ายนี้ อดีตผู้นำนักศึกษาผู้หนึ่งกล่าวให้สัมภาษณ์ในสมุดภาพเดือนตุลา ไว้ว่า

      “…กระทิงแดงนี่เขามีปืน มีระเบิดมือ แต่เขาไม่ใช้บ่อย เขาใช้ระเบิดพลาสติกหรือระเบิดขวด เราชุมนุมที่ธรรมศาสตร์นี่เป็นชัยภูมิที่เหมาะที่สุดเพราะมันกันพวกระเบิดขวดทั้งหลาย ตึกบังหมดทุกทาง ขว้างให้ตายก็ไม่ถึง แต่เป็นชัยภูมิที่แย่ที่สุดสำหรับการปราบด้วยอาวุธสงครามเพราะคุณขังตัวเอง แต่ในเมื่อคุณไม่มี SENSE ว่าจะเกิดการปราบด้วยอาวุธสงคราม คุณถึงเลือกใช้ธรรมศาสตร์ เพราะคุณมี SENSE ว่าระเบิดขวด ระเบิดพลาสติก หรือปืนพกมันเข้าไม่ถึง …”

      20.00 น. นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการ ศนท.และตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปพบ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกฯเพื่อสอบถามว่าจะนิมนต์พระถนอมออกจากประเทศไทยเมื่อใด และจะจับฆาตกรที่ฆ่าช่างไฟฟ้าที่นครปฐมได้หรือไม่

      21.00 น. ดร. ป๋วย อึ๊งภาภรณ์ ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย โดยความเห็นชอบของนายกสภา มธ. ( ดร. ประกอบ หุตะสิงห์ ) ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา นักศึกษารวมตัวกันชุมนุมต่อต้านพระถนอม
 
5  ตุลาคม 2519

        06.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันตักบาตรที่บริเวณลานโพธิ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มเคลื่อนขบวนเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกสถาบันประกาศงดสอบ

        หนังสือพิมพ์ ดาวสยาม และหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ตีพิมพ์ภาพการแสดงละครที่ลานโพธิ์ โดยกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

        19.30 น. ที่ประชุมสหภาพแรงงาน 43 แห่ง มีมติจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกฯ เพื่อยื่นข้อเสนอให้ พระถนอมออกนอกประเทศ มิเช่นนั้นสหภาพแรงงานจะนัดหยุดงานทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2519 เป็นต้นไป

        10.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กล่าวเน้นเป็นระยะว่า การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้วแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ภาพการแสดงละครที่ลานโพธิ์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ


        กลุ่มผู้ต่อต้าน ศนท.ประชุมกันและมีมติว่า จะมีการชุมนุมต่อต้าน ศนท.ในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อยับยั้งการเคลื่อนไหวของ ศนท.พร้อมทั้งอ้างว่าการแสดงละครแขวนคอ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นการเหยียบย่ำสิ่งศักดิ์ที่ชาวไทยเคารพ จึงจำเป็นต้องหาทางขัดขวาง และจะเรียกชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านกรุงเทพฯ และลูกเสือชาวบ้านที่อยู่ในการควบคุมของตำรวจตระเวนชายแดนมาร่วมกันตอบโต้ซึ่งอาจต้องใช้มาตราการรุนแรงด้วย

        ตอนเย็นมีใบปลิวนัดชุมนุมลูกเสือชาวบ้านและผู้รักชาติให้ไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และให้เวลา ศนท.สลายการชุมนุมถึงบ่ายสองโมงของวันที่ 6 ตุลาคม และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

        16.30 น. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญานต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

        16.40 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงจำนวน 25 คันรถ เดินทางจากหัวหมากเข้าสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุม ต่อต้านพระถนอมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        17.30 น. พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ออกประกาศให้คณะกรรมการชมรมวิทยุเสรี และผู้ร่วมก่อตั้งไปร่วม ประชุมที่สถานีวิทยุยานเกราะเป็นการด่วน

        19.00 น. ประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้านในเขตกรุงเทพฯ ประชุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมี พล.ต.ต. เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และอาคม มกรานนท์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมว่าจะต่อต้าน ศนท.และผู้ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        20.35 น. ชมรมวิทยุเสรีออกแถลงการณ์ว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ก่อการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

-นำธงชาติคลุมตัวตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา

-ใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกันกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความหรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธสาสนา

-นักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอพยายามแต่งใบหน้าให้เหมือนองค์รัชทายาท

ชมรมวิทยุเสรีย้ำว่า กรณีพระถนอม และผู้ที่แขวนคอเป็นเพียงข้ออ้างในการชุมนุมก่อความไม่สงบเท่านั้น แต่ความจริงต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

        เป็นครั้งแรกที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรี เรียกกลุ่มนักศึกษาประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ซึ่งแถลงการณ์กล่าวต่อไปอีกว่า “ชมรมวิทยุเสรีคัดค้านการกระทำดังกล่าวในทุกๆ กรณีขอให้รัฐบาลจัดการกับผู้ทรยศเหล่านี้โดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการนองเลือดอันอาจจะเกิดขึ้น หากให้ประชาชนชุมนุมกันแล้วอาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้” และเป็นครั้งแรกเช่นกันที่สถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีกล่าวคำว่า “ อาจมีการนองเลือดขึ้นก็ได้”

        นางยงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ สมาชิกชมรมแม่บ้าน เข้าแจ้งความกับนายร้อยเวร สน.ชนะสงคราม ได้เห็นภาพ หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2519 เป็นภาพชายคนหนึ่งถูกแขวนคอ เมื่ออ่านใต้ภาพก็ทราบว่าเป็นการแสดงของศูนย์กลางนิสิตฯ ชายคนนั้นมีลักษณะเหมือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จึงขอให้ตำรวจดำเนินการจับกุมมาสอบสวนต่อไป

        21.00 น. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้านแจ้งแก่ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหว

        21.30 น. นายประยูร อัครบวร รองเลขาธิการฝ่ายการเมือง ศนท.แถลงข่าวที่ตึกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) พร้อมนำนาย อภินันท์ บัวหภักดี และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ซึ่งแสดงเป็นผู้ถูกแขวนคอมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ และกล่าวว่าการแสดงละครดังกล่าวเพื่อแสดงให้เห็นความทารุณโหดร้ายอันเนื่องจากการฆ่าแขวนคอที่นครปฐม โดยมีการแต่งหน้าให้เหมือนสภาพศพ สาเหตุที่เลือกบุคคลทั้งสองมาแสดงเพราะมีน้ำหนักเบา ไม่ทำให้กิ่งไม้หักง่าย นายประยูรกล่าวด้วยว่า “ ทางนักศึกษาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมสถานีวิทยุยานเกราะ หนังสือพิมพ์ดาวสยาม จึงให้ร้ายป้ายสีบิดเบือนให้เป็นอย่างอื่นโดยดึงเอาสถาบันที่เคารพมาเกี่ยวข้อง …

        21.40 น.  รัฐบาลออกแถลงการณ์ให้กรมตำรวจดำเนินการสืบสวนกรณีการแสดงละคร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในลักษณะเป็นการหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์รัชทายาท


       24.00 น. ที่กรมตำรวจ มีการประชุมเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย

       มีเสียงปืนดังขึ้นสองสามนัดนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โฆษกเวทีสั่งให้ทุกคนหมอบลง
รุ่งอรุณแห่งการสังหาร
 
6 ตุลาคม 2519

        01.00 น. ฝ่ายข่าวของ ศนท.รายงานว่า มีกลุ่มอันธพาลกวนเมืองติดอาวุธอยู่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนเหล่านี้อยู่ในสภาพมึนเมา

        01.30 น. คนที่สนามหลวงเริ่มมากขึ้น มีผู้ปาก้อนหิน ไม้เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพยายามเผา ป้อมยามแต่ดับไว้ได้ หลังจากนั้นมีการเผารถจักรยานหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

        01.40 น. กลุ่มคนประมาณ 100 คนเผาโปสเตอร์ที่ติดหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านสนามหลวง ป้อมยาม ถูกเผาแต่ดับไว้ได้ หลังจากนั้นมีการเผารถจักรยานหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้าน สนามหลวง ป้อมยามถูกเผา ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์มิได้ห้ามปราม

       หน่วยรักษาความปลอดภัยของ ศนท.จับกระทิงแดงได้คนหนึ่งขณะบุกเผาโปสเตอร์เมื่อนำตัวไปสอบสวนจึงได้รู้ว่า กระทิงแดงทุกจุดรอบธรรมศาสตร์ได้เตรียมปฏิบัติการเต็มที่โดยประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่ง และในเวลานั้นมีกระทิงแดงกว่า 100 คนแทรกตัวปะปนอยู่ในหมู่นักศึกษาประชาชนแล้ว เพื่อเตรียมประสานทั้งข้างนอกและข้างในในมหาวิทยาลัย

        02.00 น. กลุ่มนวพลในนามศูนย์ประสานงานประชาชนแถลงว่า ขอให้รัฐบาลจับกุมกรรมการศูนย์กลางนิสิตฯ ภายใน 72 ชั่วโมง ให้สอบสวนพฤติกรรมของบุคคลที่ให้การสนับสนุนศูนย์กลางนิสิตฯ ซึ่งนวพลพร้อมที่จะเสนอรายชื่อให้ภายใน 24 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามได้ นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดเพื่อป้องกัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

        กรมตำรวจภายหลังการประชุม พล.ต.อ. ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจแถลงผลการพิจารณาภาพนักศึกษาแสดงละครแขวนคอว่า จากการนำฟิล์มของหนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ มาวิเคราะห์ การตรวจสอบได้ผล ไม่แน่นอน จึงติดต่อนำภาพจากหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นมาวิเคราะห์ด้วย ต่อมาอธิบดีกรมตำรวจ มีคำสั่งด่วนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงเทพมหานครให้เตรียมพร้อมในที่ตั้ง เนื่องจากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ

        03.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะยังคงคงออกรายการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ตลอดทั้งคืน ส่วนภายในธรรมศาสตร์ยังมีการอภิปราย และแสดงดนตรีต่อไปหลังจากมีกลุ่มบุคคล พยายามบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยและมีเสียงปืนดังขึ้นด้วย เจ้าหน้าที่ของศูนย์กลางนิสิตฯขึ้นอภิปรายบนเวที ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้ใช้อาวุธ

        เจ้าหน้าที่หน่วยปราบจลาจลยกกำลังมากั้นทางออกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด่านสนามหลวง

        04.00 น. ศนท.พยายามติดต่อกับนายกรัฐมนตรี

        05.00 น. กลุ่มต่อต้าน ศนม.กลุ่มหนึ่งที่ยืนอยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามจะปีนเข้าไปใน มหาวิทยาลัย มีการยิงตอบโต้กันด้วยปืนพกประปราย

        05.30 น. มีระเบิด เอ็ม.79 ยิงจากภายนอกมาตกลงกลางสนามบอล ทำให้นักศึกษาและประชาชนตาย 4 คน บาดเจ็บ 13 คน ห่างกันไม่ถึงอึดใจ ระเบิด เอ็ม.79 ลูกที่ 2 ก็ตามเข้ามาแต่ไม่ระเบิด

        นายสุธรรม แสงประทุม ติดต่อขอเข้าพบนายกฯ ผ่านนายเจริญ คันธวงศ์ เพื่อให้นายกฯสั่งการให้บุคคล ที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยหยุดยิงเข้าไปในกลุ่มชุมนุม ขณะนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกล้อมไว้หมดแล้ว

        05.40 น. โฆษกเวทีประกาศให้ผู้ชุมนุมทยอยออกจากสนามบอลไปหาที่กำบังบนตึกคณะบัญชีและตึกคณะวารสารฯ เริ่มมีเสียงปืนจากพิพิธภัณฑ์ และปืนไร้แรงสะท้อนเข้ามา

        06.00 น. นายสุธรรม แสงประทุมขึ้นเวทีชี้แจงกับผู้ชุมนุมเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะออกไปพบกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกฯเพื่อขอร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจสั่งระงับการก่อการร้ายโดยบุคคลทั้งในและนอกเครื่องแบบขณะ กำลังชี้แจงมีกระสุนปืนจากจุดต่างๆ พุ่งตรงไปยังเวที นำให้เขาต้องนอนหมอบไปพลาง พูดชี้แจงพลาง

        สุธรรมบันทึกเหตุการณ์ช่วงก่อนออกไปพบนายกฯว่า “…ปรากฏเวทีการอภิปรายเวลานั้นโดนกระสุนพรุนไปหมด ต้องอพยพลี้ภัยมาพูดกันใต้ถุนเวที ผมกอดอำลาเพื่อนๆ ทั้งภาพปรากฏต่อหน้าผมไม่อาจจะให้ผมตัดสินใจอย่างนั้นได้ ภาพนั้นคือเพื่อนนักศึกษาชายคนหนึ่งถูกระสุนปืนนอนจมกองเลือดอยู่กลางสนาม มีเพื่อนนักศึกษาหญิง เข้าใจว่าเป็นพยาบาลเพื่อมวลชน วิ่งเข้าไปประคองจะนำตัวไปตึกบัญชีขณะที่ประคองปีกไปนั้นเพื่อนนักศึกษาหญิงคนนั้นก็ถูก กระสุนปืนตายทันทีต่อหน้าต่อตาผม และเพื่อนคนที่สามผู้วิ่งถลันเข้าไปหวังจะ ช่วยก็ถูกปืนอีกคนหนึ่ง ทั้งสามคนนอนตายกลางสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันเป็นภาพประทับแน่นในความทรงจำของผมกระทั่งทุกวันนี้…”

       ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านสนามหลวงถูกพัง

       06.30 น . นายธงชัย วินิจจะกุล ผู้คุมเวทีประกาศว่า “พี่ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงพวกเราเถิดครับ เราชุมนุม อย่างสงบ สันติไม่มีอาวุธ ตัวแทนของเรากำลังเจรจากับรัฐบาลอยู่ อย่าให้เสียเลือดเนื้อมากกว่านี้เลย ขอความกรุณาหยุดยิงเถิดครับ”

       07.00 น. กลุ่มคนที่อยู่หน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาตั้งแต่เช้า เข้าชนประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านสนามหลวง เมื่อประตูพังทหารตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้านกระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ต่างทะลักเข้าไปในมหาวิทยาลัย ตำรวจหลายสิบคนขึ้นรถผ่านประตูเข้าไป เมื่อเข้าไปข้างในแล้วต่างกรูลงจากรถ ใช้อาวุธหนักอย่างปืนกลระดมยิงเข้ามา

      นายประยูร อัครบวร เข้าไปเจรจากับ พ.ต.อ.ประยูร โกมารกุล ณ นคร เพื่อขอให้ผู้หญิงและเด็กออกจากมหาวิยาลัย แต่ไม่ได้รับการยินยอม ช่วงนั้นผู้ชุมนุมพยายามวิ่งหนีหาทางออก ตำรวจต้านทานไม่ไหวผู้ชุมนุมจึงทะลัก ออกไปทางประตูท่าพระจันทร์ ผู้ชุมนุมที่เป็นหญิงและเด็กถูกส่งออกจากมหาวิทยาลัยอย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา เมื่อตำรวจมีคำสั่งให้กวาดจับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมจึงถูกบังคับให้นอนคว่ำอยู่ที่พื้นถนน มหาราชข้างวัดมหาธาตุ
ผู้ชุมนุมที่หนีออกมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดนสั่งให้มอบราบกับพื้น


      07.30 - 08.00 น. ตำรวจรุกคืบเข้ามาทางด้านข้างสนามฟุตบอลหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ ในระยะแรกเห็นหมอบๆ คลานๆ เข้ามาอย่างช้ามาก และสาดกระสุนใส่ตึก อมธ. ตึกคณะวารสารฯ ตึกคณะบัญชีเป็นพักๆ ฝ่ายนักศึกษาที่มี หน้าที่ดูแลตึกเห็นสถานการณ์เข้าขั้นเลวร้ายก็สละตึกหนีไป ส่วนตำรวจหลังจากหมอบคลานได้ไม่เท่าไร เมื่อไม่มีใครยิงตอบโต้จึงเปลี่ยนท่าเป็นลุกขึ้นเดินราวสามสี่ก้าวจากนั้นจึงนั่งลงแล้วยิงอีก


        07.45 น. นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิ่งหนีกระสุนปืนออกจากมหาวิยาลัย และถูกกลุ่มต่อต้าน ที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์

        เพื่อให้เห็นภาพของเหตุการณ์ช่วงนี้ชัดเจนขึ้น ขอนำบันทึกของคุณแสดงดาว ที่เขียนไว้ในหนังสืองานศพของ อนุวัตร อ่างแก้ว มาเสนอดังนี้ “ ขณะที่คนที่หลบอยู่ตึกบัญชีถูกระดมยิงใส่จนทนไม่ไหว พยายามหาทางขึ้นบนตึก อาศัยกำแพงตึกเป็นที่กำบัง บ้างก็พยายามหลบเข้าห้องต่างๆ ของชั้นล่างซึ่งมีน้อยเกินไปประตูทุกห้อง แม้นแต่ชั้นล่างปิดสนิท ต้องเสี่ยงกระโดเข้ากระแทกบานประตูหรือไม่ก็ต้องทุบกระจกแล้วโดดเข้าไป กระสุนเข้าร่างบางคนที่กำลังเปิดประตู เขาวิ่งชนจวนจะสำเร็จอยู่แล้วแต่ไม่ทัน… เขาถูกยิงตายตรงนั้น เขากล้าหาญเอาชีวิตของตนเข้าแลกเพื่อความปลอดภัยของเพื่อนๆ…มีคนพุ่งเข้าชนกระทั่งประตูพัง คนที่เหลือรีบวิ่งหลบกระสุนเข้าไป ยังมีอีกหลายร้อยคนวิ่งหลบกระสุนขึ้นไปหลบในห้องต่างๆ ทั้ง 4 ชั้นเต็มไปหมด ได้แต่หมอบ อุดหู รอรับกระสุนที่ระดมยิงเข้ามา…”

        07.50 น. ตำรวจหน่วยคอมมานโดหน่วยปฏิบัติการพเศษ (นปพ.) และตำรวจท้องที่ที่ล้อมอยู่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าถึงที่เกิดเหตุ โดยมี พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ รอง อตร. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ และ พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท ร่วมบัญชาการ

        08.10 น. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมด้วยอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตำรวจตระเวนชายชายแดนมีอาวุธ คือ เครื่องยิงระเบิดต่อสู้รถถัง ปืน เอ็ม.79 ปืน เอ็ม.16 เอช.เค ปืนคาร์บิน ตำรวจบางนายมีระเบิดมือห้อยอยู่เต็มตัวเสมือนออกรบเต็มอัตราศึก


       08.18 น. ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าประจำการแทนตำรวจท้องที่และมีกำลังมาเสริมอีกสองคันรถ

       08.25 น. ตำรวจตระเวนชายแดนบุกเข้าไปในหมาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายจุดพร้อมกับยิง กระสุนวิถีโค้งใส่นักศึกษา มีนักศึกษาถูกยิงและเสียชีวิตทันทีหลายคน

       08.30 10.00 น. นักศึกษาและประชาชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัยตลอดคืนแตกตื่นวิ่งหนีกระสุนที่ตำรวจตระเวน ชายแดนและกลุ่มผุ้ก่อเหตุยิงอย่างไม่ยั้ง ทั้งๆ ที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษามีปืนพกเพียงไม่กี่กระบอก

        นักศึกษาประชาชนแตกตื่นวิ่งหนีออกไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัย ในจำนวนนี้มากกว่า 20 คนถูกรุมตี รุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัสแต่ยังไม่สิ้นใจถูกลากออกไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพต่างๆนานา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนลากเอาศพนักศึกษาที่นอนตายเกลื่อนกลาดข้างหอประชุม ใหญ่ธรรมศาสตร์ ออกมาเผากลางถนนราชดำเนินตรงข้ามกับพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยเอายางรถยนต์ทับแล้วราดน้ำมันเบนซิน จุดไฟเผา


        10.30 น. สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 โดยสรรพสิริ วิรยศิริ ถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และท้องสนามหลวงออกอากาศไปทั่วประเทศ

        11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ จับนักศึกษาและผู้ชุมนุมให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล


สำนักนายกรัฐมนตรีประกาศตั้งกองบัญชาการรักษาความสงบขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล 
         11.35 น. ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาร่วม ๓,๐๐๐ คนขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อนำไปควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มที่มุงดูใช้ก้อนอิฐ หิน ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ
        12.30 น. ลูกเสือชาวบ้านชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เรียกร้องให้รัฐบาลปลดนายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและแต่งตั้งนายสมบุญ ศิริธร และนายสมัคร สุนทราเวช ให้อยู่ในตำแหน่งเดิมต่อไป

        18.30 น. คณะทหารนำทีมโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจ เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครอง แผ่นดิน เหตุผลในการยึดอำนาจคือ “…คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ประจักษ์แจ้งถึงภัยที่ได้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ กล่าวคือได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยมีเจตจำนงทำลายสถาบันพระมาหกษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนของคอมมิวนิสต์ที่จะเข้ายึดครองประเทศไทย…”

กวาดล้างครั้งใหญ่

      หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้ว คณะปฏิรูปฯได้มีคำสั่งยุบสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 ห้ามประชาชนออกนอกจากบ้านระหว่างเวลา 24.00 - 05.00 น. และสั่งปิดหนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับหลังจากนั้นเพียงสองวัน ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าฯ เพื่อประกาศแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

        ส่วนบรรยากาศในมาหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง  และจับนักศึกษาประชาชนจำนวน 3,094 คน ไปฝากขังที่โรงเรียนตำรวจนครบาลบางเขน สถานีตำรวจได้เข้าตรวจค้นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างละเอียดคืนวันที่ 7 ต.ค. พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดี กรมตำรวจ ได้ออกโทรทัศน์ช่อง 5 แถลงผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ตำรวจว่าจากการเข้าตรวจค้นธรรมศาสตร์ ได้ค้นพบอุโมงค์ลับสองแห่ง คืออุโมงค์ใต้ดิน ที่คณะบัญชีซึ่งมีทางออกได้สามทาง คือ ไปออกที่บริเวณท่าพระจันทร์ ไปออกบริเวณท่าน้ำหลังมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ที่ตึกคณะบัญชียังพบห้องปรับอากาศมีห้องน้ำในตัวอยู่บนเพดาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานว่าคงเป็นห้องประชุมของแกนนำนักศึกษาที่ก่อความวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ตำรวจพบอาวุธ สงครามร้ายแรงจำนวนมาก เช่น พบกระสุนปืน เอ็ม.79 1นัด ระเบิด เอ็ม.เค.2 จำนวน 2 ลูก เอ็ม.26 จำนวน 2 ลูก พลุยิงสัญญาณ 3 ชุด พลุสะดุด 1 ชุด เครื่องจุดระเบิดแมกนีโต 1 ชุด อาวุธพกรีวอลเวอร์ 2 กระบอก ปืนลูกซอง 1 กระบอก ฯลฯ

       คำแถลงของ พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ ได้รับการตอกย้ำอย่างหนักแน่นอีกครั้งจากปากของ พล.ต. เสน่ห์ สิทธิพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ยืนยันการพบอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ ( แต่ พล.ต.ต. เสน่ห์กล่าวว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธรณชนได้ว่าอุโมงค์นั้นอยู่ที่จุดไหนของธรรมศาสตร์) นอกจากนี้ในวันที่ 9 ตุลา พล.ต.ท. ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ยังกล่าวว่า ผลการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดแล้วทางตำรวจยืนยันในเวลาต่อมาว่า มีชาวญวนแปลกปลอมอยู่แปดคน เป็นชายห้าคน หญิงสามคน )

       การกวาดล้างครั้งใหญ่ไม่เพียงเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น ทว่าได้ลุกลามขยายตัวออกไปทั่วประเทศ หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิสังคมนิยมถูกเก็บจากแผง ผู้ที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลก็ถูกข้อหาเป็นภัยสังคม สภาพสังคมในช่วงดังกล่าวได้ผลักดันให้นักศึกษา ปัญญาชนจำนวนมากที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลต้องหนีเข้าป่า เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นักวิชาการคนหนึ่งกล่าวถึงทางเลือกของคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหลังหลบหนีไปต่างประเทศ

       ในส่วนผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา นั้น แม้จำนวนผู้ถูกจับกุมจะมากถึง 3,094 คน แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการปล่อยตัวไปหมด คงเหลือผู้ต้องหา 18 คนเท่านั้นที่ถูกส่งฟ้องศาล โดยผู้ต้องหาทั้ง 18 คนต้องขึ้นสาลทหารเนื่องจากถูกแจ้งข้อหาฉกรรจ์เพิ่มว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งใครก็ตามที่ถูกฟ้องข้อหาดังกล่าว ต้องขึ้นศาลทหารแทนที่จะเป็นศาลพลเรือนเหมือนคดีความทั่วไป ในเวลาต่อมา นายบุญชาติ เสถียรธรรมมณี ก็ตกเป็นผู้ต้องหาคนที่ 19 เขาเป็นคนเดียวในบรรดานักโทษคดี 6 ตุลาที่ไม่ถูกแจ้งข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้นายบุญชาติได้ขึ้นศาลพลเรือน

       คดีของ 19 ผู้ต้องหาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “คดี 6 ตุลา” เริ่มต้นพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2520 และสิ้นสุดคดีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521 เนื่องจากรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 15 ต่อจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่กระทำ และฝ่ายที่ถูกกระทำ รวมเวลาจำเลยคดี 6 ตุลา ถูกจับกุมคุมขังนาน 710 วัน

รายชื่อผู้เสียชีวิตเป็นศพชายไทยไม่ทราบชื่อ จำนวน 6 ราย และเป็นศพที่ระบุชื่อได้ จำนวน 30 ราย คือ

นายพงษ์พันธ์ เพรามธุรส : ถูกระเบิด
นายวิชิตชัย อมรกุล : ถูกของแข็งมีคมและถูกรัดคอ
นายอับดุลรอเฮง สาตา : ถูกกระสุนปืน
นายมนู วิทยาภรณ์ : ถูกกระสุนปืน
นายสุรสิทธิ์ สุภาภา : ถูกกระสุนปืน
นายสัมพันธ์ เจริญสุข : ถูกกระสุนปืน
นายสุวิทย์ ทองประหลาด : ถูกกระสุนปืน
นายบุนนาค สมัครสมาน : ถูกกระสุนปืน
นายอภิสิทธิ์ ไทยนิยม : ถูกกระสุนปืน
นายอนุวัตร อ่างแก้ว : ถูกระเบิด
นายวีระพล โอภาสพิไล : ถูกกระสุนปืน
นายสุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์ : ถูกกระสุนปืน
นางสาวภรณี จุลละครินทร์ : ถูกกระสุนปืน
นายยุทธนา บูรศิริรักษ์ : ถูกกระสุนปืน
นายภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย : ถูกกระสุนปืน
 นางสาววัชรี เพชรสุ่น : ถูกกระสุนปืน
นายดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง : ถูกกระสุนปืน
นายไพบูลย์ เลาหจีรพันธ์ : ถูกกระสุนปืน
นายชัยพร อมรโรจนาวงศ์ : ถูกกระสุนปืน
นายอัจฉริยะ ศรีสวาท : ถูกกระสุนปืน
นายสงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง : จมน้ำ
นางสาววิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์ : ถูกกระสุนปืน
นายสมชาย ปิยะสกุลศักดิ์ : ถูกกระสุนปืน
นายวิสุทธิ์ พงษ์พานิช : ถูกกระสุนปืน
นายสุพล บุญทะพาน : ถูกกระสุนปืน
นายศิริพงษ์ มัณตะเสถียร : ถูกกระสุนปืน
นายวสันต์ บุญรักษ์ : ถูกกระสุนปืน
นายเนาวรัตน์ ศิริรังษี : ถูกกระสุนปืน
นายปรีชา แซ่เซีย : ถูกของแข็ง อาวุธหลายชนิด และถูกรัดคอ
นางสาวอรุณี ขำบุญเกิด : ถูกกระสุนปืน  

เหตุการณ์ภายหลัง

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ และไม่กลับประเทศไทยจนตลอดชีวิต

นาย สมัคร สุนทรเวช ผู้จัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 39 ของไทย) โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520


ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2522 และยุติบทบาททางการเมืองไปทั้งหมด

ดร.สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 อสมท. ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังแพร่ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ต่อสาธารณะ

นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์ หนึ่งในรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และภายหลังเหตุการณ์ได้บวชเป็นพระ และเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ชี้แจงถึงเหตุการณ์ทั้งหมด

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ถูกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ห้ามตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเวลา 3 วัน (6 - 8 ตุลาคม

พ.ศ. 2516) หลังจากนั้นตลอดรัฐบาลธานินทร์ มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผล "โจมตีรัฐบาล" ในขณะที่

หนังสือพิมพ์ที่ไม่โจมตีรัฐบาล เช่น ไทยรัฐ และ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) สามารถดำเนินกิจการอย่างราบรื่น

11 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ดาวดารายุคสยาม รายวัน
 
10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ ไม่มีกำหนด รวม 13 ฉบับ (ปิดตาย) 29 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ชาวไทย รายวัน 7 วัน ด้วยเหตุผล ลงข่าวเรื่อง ปลัดชลอ วนภูติ โกงอายุราชการ
 
14 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน 3 วัน ด้วยเหตุผล พาดหัวข่าวไม่ตรงกับความจริง
 
18 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ปฏิญญา รายปักษ์ ไม่มีกำหนดเพราะตีพิมพ์ข้อความอันมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
 
20 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด แนวหน้าแห่งยุค เดลินิวส์ ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่ทำให้ต่างชาติอาจเข้าใจรัฐบาลไทยผิด
 
26 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เดลิเมล์รายวัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเรื่องจากใบอนุญาตขาดการต่ออายุไปแล้ว
 
27 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ดาวดารายุคสยาม ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความเป็นเท็จ
 
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด บ้านเมือง 7 วัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่มีลักษณะกล่าวร้ายเสียดสีรัฐบาลไทย
 
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด เด่นสยามรายวัน ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล วิจารณ์การปิดเดลินิวส์
 
31 มีนาคม พ.ศ. 2520 ปิด ชาวไทย ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล เขียนข้อความบิดเบือนความเป็นจริง
 
10 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด เดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
 
12 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด บางกอกเดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
 
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ปิด บูรพาไทม์ ยุคชาวสยาม ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล กล่าวร้ายรัฐบาล กรณีใช้ ม.21 ประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ
 
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ยึดหนังสือ "เลือดล้างเลือด"
 
2 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ปิด สยามรัฐ 7 วัน
 
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน ไม่มีกำหนด
 
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด ยุคใหม่รายวัน ไม่มีกำหนด ที่ราชบุรี
 
8 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ปิด หลังเมืองสมัย ไทยเดลี่ 7 วัน จากการลงบทความ "รัฐบาลแบบไหน"
 
13 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เสียงปวงชน ถูกสั่งปิด จากบทความเรื่อง 'อธิปไตยของชาติ'
มี การขอพระราชทานอภัยโทษ ให้แก่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ก่อเหตุจลาจล และสังหารนักศึกษา ตำรวจ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มนวพล ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ได้รับกระเช้าเยี่ยมพระราชทาน
 
แกนนำนักศึกษาบางคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดี
 
พ.ศ. 2542 จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกเสนอชื่อจากกองทัพ ให้เป็น นายทหารพิเศษรักษาพระองค์
 
พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อตั้งสำเร็จบนที่ดินเช่าของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนิน ใช้เวลา 27 ปีนับตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างใน ปี พ.ศ. 2517 

ขอบคุณที่มาจากลิ้งค์ คลิ้กที่นี่
แลข้อมูลจาก 2519.net
รวมภาพอีกมากมายจากกูเกิ้ล และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519
ข้อมูลผิดพลาดประการใดขออภัยเหล่าญาติผู้เสียชีวิตไว้ ณ.ที่นี้ครับ