คำนำ
หนังสือปรีดีสารฉบับนี้ พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงศ์ การที่เลือกเรื่อง "ทัศนะของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในปัจจุบัน ก็โดยที่เห็นว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐบาลและผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่าย กำลังร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่เข้าใจในปัญหานี้อย่างดียิ่ง และเคยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเองเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ฉะนั้น การจะนำเรื่องข้อสังเกตุเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะไว้เมื่อ พ.ศ. 2514 จึงน่าจะมีประโยชน์ เพราะถึงจะเป็นความเห็นเมื่อ 34 ปีมาแล้ว แต่เชื่อว่ายังคงทันสมัย และน่าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปในทางที่ถูกต้อง และสัมฤทธิ์ผลต่อไป
สถาบันปรีดี พนมยงค์ หวังว่าเอกสารฉบับจิ๋วนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ สมดังปณิธานของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่ตลอดชีวิตของท่าน ได้คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของประเทศชาติและราษฎรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
สถาบันปรีดี พนมยงค์
28 กุมภาพันธ์ 2548
ข้อสังเกตุเกี่ยวกับ "เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย"
โดย
ปรีดี พนมยงค์
ตามที่คณะผู้จัดงานชุมนุมประจำปี 2514 ของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความลงในหนังสือที่ระลึกนั้น ข้าพเจ้าจึงขอรวบรวมข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งนักศึกษาในต่างประเทศบางคนได้เคยมาถาม ข้าพเจ้าหวังว่าผู้อ่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักรที่ทราบข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องนี้คงจะได้ช่วยกันสังเกตุต่อไป
1.ปัจจุบันนี้มีข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างราษฎรฝ่ายถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกกับฝ่ายถือนิกายโปรแตสแต๊นท์ในไอร์แลนด์เหนือ และในปี ค.ศ.1969 ก็มีข่าวแพร่ไปเหือบทั่วโลก ถึงการที่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งพยามต่อต้านการสถาปนาเจ้าฟ้าชารลส์เป็นเจ้าแห่งเวลส์
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าไอร์แลนด์เหนือเคยร่วมกับไอร์แลนด์ใต้ ( IRE ) ก่อนแยกตนเป็นเอกราชนั้น ได้ร่วมอยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขมาเป็นเวลาประมาณ 800 ปีแล้ว ก็ยังมีบุคคลส่วนหนึ่งรักปิตุภูมิท้องที่ ( Local Partriotism ) มีความรักศาสนานิกายของตนโดยเฉพาะแคว้นเวลส์ก็อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์อังกฤษกว่า 400 ปี ซึ่งมีมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งเวลส์ แต่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งก็ยังมีความรักปิตุภูมิท้องที่ของตน ซึ่งไม่ยอมรับนับถือเจ้าแห่งเวลส์เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ
แคนาดา ซึ่งเป็นชาติในเครือจักรภพของอังกฤษได้ยอมรับนับถือพระราชาธิบดี ( หรือพระราชินีนาถ ) อังกฤษ เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ ซึ่งประกอบด้วยคนเชื้อชาติอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาของชนส่วนน้อยในแคนาดา เป็นภาษาทางราชการเคียงคู่กันไปกับภาษาอังกฤษของชนส่วนข้างมาก เมื่อพระเจ้ายอรช์ที่ 6 และต่อมาพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จไปแคนาดาทรงทำพิธีเปิดรัฐสภานั้น ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศส แม้กระนั้นก็ดี มีข่าวแพร่ออกมาว่าบางครั้งพลเมืองเชื้อชาติฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยในแคนาดาทำการแสดงกำลังดิ้นรนที่จะแยกตนจากสหภาพ
ชาวนอร์เวย์ ซึ่งมีภาษาในตระกูลสแกนดิเนเวียนเช่นเดียวกับสวีเดน จะมีผิดเพี้ยนกันบ้างไม่มากนักเปรีบยเหมือนภาษาไทยกับภาษาลาว นอร์เวย์เคยรวมเป็นชาติเดียวกับสวีเดนเมื่อก่อน ค.ศ.1905 โดยมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Bernadette เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติ ชาวนอร์เวย์ก็นับถือพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์นี้เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ( 1920 - 1927 ) นั้น มีชาวนอร์เวย์ที่อยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อแยกตนจากสวีเดนเมื่อ ค.ศ.1905 เล่าว่าขณะต่อสู้อยู่นั้น เขาได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์ Bernadette เพราะพวกเขาถือว่าราชวงศ์นี้ ซึ่งแม้กษัตริย์องค์แรกเป็นคนฝรั่งเศสพระนาม Jean Bernadette เคยเป็นจอมพลของนโปเลี่ยนที่ 1 แต่ต่อมาพระเจ้าชารลส์ที่ 13 แห่งสวีเดนได้ทรงรับเป็นราชโอรสบุญธรรมแล้วได้สืบสันตติวงศ์เมื่อ ค.ศ.1818 กษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์นี้ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรนอร์เวย์และสวีเดนเป็นอย่างดีที่สุด แต่รัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของของชาวนอรเว พวกเขาจึงต่อสู้เพื่อปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกราชต่างหาก และสภาผู้แทนของชาวนอรเวก็ได้มีมติอัญเชิญเจ้าแห่งราชวงศ์ Bernadette องค์หนึ่งขึ้นครองราชสมบัติเปนพระราชาธิบดีของนอรเวย์ แต่เจ้าแห่งราชวงศ์นั้นได้ทรงปฎิเสธ ชาวนอร์เวย์จึงมีประชามติอัญเชิญเจ้าคารล์แห่งเดนมารก์ขึ้นครองราชย์ในพระปรมาภิไธย "พระเจ้าฮากอนที่ 7" ทั้งนี้แสดงว่าการที่นอร์เวย์แยกออกจากสวีเดนนั้นมิใช่เพราะไม่เคารพราชวงศ์ Bernadette แต่เป็นเพราะรัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวนอร์เวย์ พระราชาธิบดีสวีเดนจึงไม่อาจทรงช่วยเอกภาพได้
เบลเยี่ยม ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองเชื้อชาติเฟลมิ่ง ( พูดภาษาเฟลมิช คล้ายๆ ภาษาดัทช์ ) ประมาณ 55.7 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมดเชื้อชาติวาลลูน ( พูดภาษาฝรั่งเศส แต่มีคำเฉพาะบ้าง ) ประมาณ 32.4 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เชื้อชาติเยอรมันประมาณ .06 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด พูดได้ทั้งภาษาเฟลมิช และภาษาฝรั่งเศสประมาณ 11.3 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เมื่อก่อน ค.ศ.1830 เบลเยี่ยมอยู่ในอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Orange-Nassau เป็นประมุข ซึ่งได้ทรงให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรทุกเชื้อชาติของพระองค์ แต่ใน ค.ศ.1830 คนเชื้อชาติต่างๆในเบลเยี่ยมดังกล่าวข้างต้น ก็ทำการอภิวัฒน์แยกตนออกจากเนเธอร์แลนด์แล้วสมัชชาแห่งชาติมีมติเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งราชวงศ์ Saxe Cobourg ( ราชวงศ์หนึ่งในประเทศเยอรมัน ) ขึ้นเป็นพระราชาธิบดี และมีเจ้าในราชวงศ์นี้สีบสันตติวงศ์ต่อมาจนทุกวันนี้ ส่วนเอกภาพของชาติในเบลเยี่ยมระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆนั้น มีวิธีการหลายอย่างที่น่าศึกษา
การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่ายๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกันหรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วการรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง
2.ขอให้เราพิจารณากลุ่มชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพในองค์การสหประชาชาติ ก็จะพบว่าแต่ละชาติประกอบขึ้นด้วยการรวมชนหลายเชื้อชาติเข้าเป็นชาติเดียวกัน บางเชื้อชาติที่เข้าร่วมอยู่เป็นเวลาช้านานหลายสิบหรือหลายร้อยศตวรรษแล้วก็หมดร่องรอยที่แสดงเชื้อชาติเฉพาะของตนบางเชื้อชาติที่เข้ารวมอยู่ไม่นานก็ยังมีร่องรอยแห่งเชื้อชาติของตนอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามกาละ เช่นสำเนียงพูดแปร่งจากชนส่วนข้างมาก และยังมีภาษาท้องที่ของตน เช่น ชาวแคว้นเวลส์ในสหราชอาณาจักรและในท้องที่ของประเทศไทยซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้นๆ พูดไทยไม่ได้ หรือบางคนพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยากหรือเรียนหนังสือไทยพูดไทยได้แล้วพูดไทยกับข้าราชการหรือคนไทยในท้องที่อื่น ส่วนภายในคนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องที่หรือสำเนียงตามท้องที่ของตน อันแสดงถึงริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือเชื้อท้องที่โดยเฉพาะ
ยิ่งกว่านั้น บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะแม้เป็นเพียงในนามเช่น เจ้าแห่งแคว้นเวลส์ดังกล่าวแล้ว และแม้คนเวลส์โดยทั่วไปจะพูดภาษาอังกฤษ ส่วนประเทศไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครและราชาแห่งรัฐต่างๆยังมีอยู่ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยประมาณ 6 ปีภายหลังอภิวัฒน์นั้น เจ้าผู้ครองลำพูนได้ถึงแก่พิราลัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่งและพระยาภูผาราชาแห่งระแงะสิ้นชีพราวๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งทรงศักดิ์เป็นพระเจ้าน่านนั้นพิราลัยราวๆ พ.ศ.2474 ราชาแห่งสายบุรีสิ้นชีพราวๆ พ.ศ.2473
ขอให้เราค้นคว้าถึงเหตุที่ชนเชื้อชาติต่างๆ และกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นชาติเล็กอยู่ก่อนแล้วเข้าร่วมกับชาติที่ใหญ่กว่าเป็นชาติเดียวกันนั้น เพราะเหตุใด แล้วจึงจะพิจารณาปัญหาการรักษาเอกภาพของชาติไว้ให้ได้
ในตอนปลายระบบปฐมสหการนั้นได้เริ่มมีระบบทาสโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าของสังคมหนึ่งไปคร่าเอาคนของอีกสังคมหนึ่งมาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ สังคมที่มีชัยมากก็มีทาสมากเป็นกำลังใช้รบกับสังคมที่อ่อนแอกว่า สังคมนั้นก็ขยายใหญ่โตขึ้นทุกที ครั้นต่อมาเมื่อสังคมทาสได้พัฒนาไปเป็นสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป้นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลมากขึ้นทุกทีนั้น กยิ่งถือว่าที่ดินและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งคนและสัตว์เป็นทรัพย์สินของตน ดังปรากฎในกฎหมาย "ตราสามดวง" ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า "ที่ดินทั้งหลายในแคว้นกรุงศรีอยุธยาเป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ" ส่วนทาสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งในจำพวกทรัพย์ที่เรียกว่า "วิญญาณทรัพย์" การรวมชาติเล็กเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่านั้น เป็นไปโดยวิธีชาติที่มีกำลังมากกว่าทำการโจมตีรบพุ่งเอามา เป็นวิธีสำคัญ รองลงไปใช้วิธีคุกคามให้ชาติเล็กกว่าเกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ ในยุโรปยังมีการเอาแคว้นที่อยู่ใต้อำนาจของชาติที่ใหญ่กว่านั้นเป็นสินเดิม หรือเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าว สาว ที่สมรสกัน วิธีรวมชาติต่างๆเข้าเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้น ราษฎรของชาติที่ถูกรวมกับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน
ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ
3.เมื่อมีกลุ่มต่างๆภายในชาติหนึ่งๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ซึ่งอาจเบาบางเพราะการล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยศตวรรษ และอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีภาษาและศาสนาที่แตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก ซึ่งถ้าเราจะติดตามข่าวการต่อสู้ภายในชาติหนึ่งๆในโกลนี้ ก็จะพบว่ามีหลายชาติที่ประสบปัญหาการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติ
ในประเทศไทยเรานั้น ข่าวสารทางราชการที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำลงเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอาวุธในประเทศไทยนั้น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่ปรากฎว่าต้องการแยกดินแดนไทยและมีฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดนไทยออกเป็นอีกรัฐหนึ่ง เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบเชื้อสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆแห่งมลายูตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทยปี ค.ศ.1947 ( 8 พฤศจิกายน 2490 ) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอีสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฎแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริงจึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุแห่งเวียงจันทร์ซึ่งสืบสายจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตณาคณหุต ได้ทำการยึดดินแดนอีสานเพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาว ฟื้นอาณาจักรศรีสตณาคณหุต ขึ้นมาอีก
ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี "ผีบุญผีบ้า" ในภาคอีสาน กรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่พิษณุโลก แต่เมื่อได้โปรดเกล้าให้กลับปัตตานีก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาท ตวนกู โมหะ ยิดดิน นั้นภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ในระหว่างวงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดีย เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลฮีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเปนเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า "Long Live King Of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนอูผู้นี้ก็แสดงความภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไปโดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน
แม้ว่ารัฐบาลของตวนกูอับดุลรามันห์และอับดุลราซักแห่งมาเลเซีย จะได้แถลงว่าไม่ต้องการเอาดินแดนไทย มีชนเชื้อชาติมลายูเป็นส่วนมากไปรวมกับมาเลเซียซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่าท่านทั้งสองมีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนั้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตสำหรับทายาทแห่งอดีตราชาบางคนได้ไปอาศัยอยู่ในรัฐตะวันออกแห่งมาเลเซีย บางคนอยู่อย่างสงบแต่บางคนเคลื่อนไหว โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าสุลต่านหรือราชาแห่งรัฐต่างๆ ที่เคยรวมอยู่กับไทยในอดีต เช่น เคดาห์ ( ไทรบุรี ) ปลิส กลันตัน ตรังกานู นั้น ได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ละ 5 ปีมาแล้ว ตามระบอบปกครองของสหพันธรัฐมาเลเซีย
สมัยที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไทยโต้ตอบกับวิทยุพนมเปญอย่างรุนแรงเรื่องเขตแดนนั้น วิทยุพนมเปญเคยอ้างว่าเขมรปัจจุบันก็เป็นทายาทของขอมที่เขาเรียกตัวเองว่า "ขะแมร์" และอ้างว่ามีคนเขมรอยู่ในไทยบริเวณติดต่อกับกัมพูชาที่พูดได้แต่ภาษาเขมร หรือพูดภาษาเขมรและไทยประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน เขาได้เรียกร้องให้คนเชื้อชาติเขมรนับถือกษัตริย์เขมร
เรื่องต่างๆข้างบนนี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้องป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไปเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้
4.ขอให้เราศึกษาวิีการต่างๆ ที่ประเทศต่างๆ รักษาเอกภาพไว้คือ
4.1 วิธี อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ดังที่ได้ยกเป็นอุทาหรณ์ในข้อ 1 นั้น ก็จะเห็นได้ว่ามิใช่ความผิดของพระราชาธิบดีที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ไม่ได้ แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องถิ่นนั่นเอง และที่สำคัญคือรัฐบาลของชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่
4.2 วิธีเผด็จการแบบนาซีหรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเล่อน์ใช้กำลังรวมคนออสเตรียที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันที่ 3 ก็ไม่ทำให้ชาวออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้จึงได้ดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน
มุโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของตนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้น ต้องเรียนหนังสืออิตาเลี่ยน และพูดภาษาอิตาเลี่ยน ชาวตีโรลคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยปารีสได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เวลากลางวันชาวตีโรลต้องพูดภาษาอิตาเลี่ยน แต่ตอนกลางคืนปิดประตูบ้านแล้วพูดภาษาเยอรมันภายในครอบครัว ซึ่งทำให้เขาเบิกบานสำราญใจยิ่งนัก
พวกลัทธิทหารญี่ปุ่นเมื่อเอาดินแดนอีสานของจีน ( แมนจูเรีย ) ตั้งเป็นรัฐแมนจูกั๊วะขึ้นโดยรวมหลายเชื้อชาติในเขตนั้น เช่น แมนจู และบางส่วนของมองโกล เกาหลี ฮั่น ( จีน ) ฯลฯ แล้วเอาอดีตจักรพรรดิ์จีน "ปูยี" เป็นจักรพรรดิแห่งรัฐใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพ แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตใจที่รักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่างๆในเขตนั้นได้ แม้แต่ชนชาติแมนจูเองก็ต่อต้านจักรพรรดิปูยี่ ดังปรากฎในคำวิจารณ์ตนเองของคนผู้น้แล้ว
4.3 วิธีสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลี่ยน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ ( Canton ) ซึ่งแต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกันก็ไม่ปรากฎว่ามีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก
4.4 วิธีประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีลินคอนน์ให้ไว้คือ การปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริงเอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ จึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อน คือมีระบอบการเมืองดังกล่าวนั้นแล้ว รัฐบาลแห่งระบอบนั้นก็ดำเนินการแก้ไขสมมุติฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจ ให้ราษฎรทั่วหน้ามีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน
การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปส่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่นั้นย่อมมีจิตใจในทางค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยนชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของเจ้าของคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม