วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 2

ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรม ยกเลิกภาษีรัชชูประการ ( ภาษีส่วย ) อากรค่านา สถาปนาประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2481 และดำรงตำแหน่งนี้จนถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.2484

ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนั้นได้ปฎิบัติภารกิจเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมหลายประการ อาทิ

( 1 ) ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการซึ่งเป็นซากตกค้างจาก "เงินส่วย" ซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินาต้องเสียให้เจ้าศักดินา
( 2 ) ยกเลิกอากรค่านาที่เป็นซากของการบรรณาการซึ่งราษฎรที่ทำนาต้องส่งบรรณาการให้แก่เจ้าศักดินาสูงสุดที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม
( 3 ) ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม คือ ผู้ใดมีรายได้ก็เสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก และถ้าผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ
( 4 ) สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม
( 5 ) เมื่อสงครามใหญ่ได้เริ่มขึ้นในยุโรปก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลกนั้น ปรีดีได้จัดการปกป้องทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งมีอยู่ในต่างประเทศนั้นได้ทันท่วงที คือ

เมื่อครั้งระบบสมบูรณาฯ ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอร์ริงค์เป็นทุนสำรองเงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษ ปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้นจึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินลงทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่ง ซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้าน ออนซ์ (35 ล้านกรัม ) ในราคาออนซ์ละประมาณ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้

บัดนี้ทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณออนซ์ละ 350 เหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นต้นทุนที่ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องริรภัยของกระทรงการคลังเป็นราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น บัดนี้ทองคำดังกล่าวของชาติไทยมีค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( นอกจากนี้ยังมีทองคำที่ปรีดีได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาแลกกับเงินตราไทยจำนวนหนึ่งที่ปรีดีในฐานะหัวหน้าเสรีไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่จะให้เงินญี่ปุ่นกู้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต้องเอาทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารชาติของญี่ปุ่นกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งสัมพันธมิตรได้มอบให้รัฐบาลไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 )

โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษ อเมริกัน มาเป็นของรัฐบาลไทยสำเร็จก่อนญี่ปุ่นยึด
ตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคของอังกฤษ และอเมริกันนั้น บริษัทอังกฤษ-อเมริกัน ใช้สิทธิพิเศษทำการผูกขาดการทำบุหรีซิกกาแรตจำหน่ายในประเทศไทย

เมื่อปรีดีทำสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆแล้ว ปรีดีได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ได้จัดการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมและประกาศประมวลรัษฎากรแล้ว ปรีดีได้เสนอรัฐบาลให้เสนอ พรบ.ยาสูบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พรบ.นั้นได้ประกาศใช้แล้ว ปรีดีได้จัดการโอนกิจการของบริษัทอังกฤษ-อเมริกัน เข้ามาเป็นของรัฐบาลไทย การนั้นได้ทำเสร็จลงเมื่อประมาณ 6 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ถ้าสมมุติกิจการนั้นบริษัทอังกฤษอเมริกันเป็นเจ้าของอยู่ ญี่ปุ่นผู้รุกรานก็คงยึดเอาไปเป็นทรัพย์สินเชลยของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นจะผลิตยาสูบจำหน่ายในประเทศไทยตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็จะได้เงินกำไรหลายพันล้านบาท

เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อต้านเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
( 1 ) ทางการทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ติดต่อขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการให้ ปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นผู้นิยมสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากยังมีราษฎรนิยมนายปรีดีอยู่มาก ฉะนั้นขอให้จัดการให้ปรีดีดำรงตำแหน่งสูงสุดที่มิใช่อำนาจทางการเมือง ( หมายถึงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ในคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีนำความแจ้งแก่นายปรีดี ปรีดีจึงตกลงลาออกจากรัฐบาล วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2484 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้ปรีดี เป็นผู้สำเร็จาชการฯ คนหนึ่ง ในตำแหน่งคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างนั้น

( 2 ) ปรีดีเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับ 10 ธันวาม 2475 นั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจคัดค้านระบบเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นในการที่ปรีดีรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติแทนองค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 หน้าที่ต่อต้านเผด็จการ
( ก ) ระหว่าง พ.ศ.2485-2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกฤษฎีกามายังคณะผู้สำเร็จราชการฯ ให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ( จอมพล ป. ) มีอำนาจสั่งการทุกกระทรวงทบวงกรมได้ ปรีดีจึงทำเป็นบันทึกเสนอพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ว่าสมควรที่คณะผู้สำเร็จฯ ( ซึ่งรวมทั้งนายปรีดีด้วยนั้น ) จะต้องยับยั้ง ( Veto ) พระราชกฤษฎีกานั้น เพราะเท่ากับให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (จอมพล ป. ) มีอำนาจเผด็จการ ซึ่งขัดต่อระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ เห็นชอบด้วย คณะผู้สำเร็จฯ จึง "ยับยั้ง" ( Veto ) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พร้อมกันนั้นปรีดี ได้ทำจดหมายถึง พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุที่ "ยับยั้ง" (Veto) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พล.ต.ต.อดุล เฟ็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จฯ และยังมีรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรอีกหลายคนเห็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( ดูคำให้การ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส พยานคณะกรรมการอาชญากรสงคราม ซึ่งโจทย์อ้างเป็นพยานที่ศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 ซึ่งผู้เขียนบทความบางคนย่อมทราบหรือควรทราบแล้ว แต่จงใจเขียนหมิ่นประมาทใส่ความสมาชิกคณะราษฎรทุกคนว่าสนับสนุนให้จอมพล ป. เป็นเผด็จการ )

( ข ) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2487 สภาฯได้ลงมติด้วยคะแนนลับ ไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ที่รัฐบาล จอมพล ป. เสนอ และต่อมาวันที่ 22 เดือนนั้น สภาฯลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีจึงเสนอใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะผู้สำเร็จฯได้เชิญประธานสภาฯ มาปรึกษาเพื่อให้หยั่งเสียงผู้แทนราษฎรว่าผู้ใดควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในชั้นแรกผู้แทนราษฎรเห็นควรเชิญ พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระพหลฯ ปฎิเสธ คณะผู้สำเร็จฯ จึงขอให้ประธานสภาฯ หยั่งเสียงสภาผู้แทนราษฎรถึงบุคคลอื่นที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ผู้แทนราษฎรเห็นว่า นายควง อภัยวงศ์ สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ประธานผู้สำเร็จฯ ไม่ยอมลงพระนามแต่งตั้ง นาย ควง เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคพวกของ จอมพล ป. ก็ได้เรียกร้องให้คณะผู้สำเร็จฯ แต่งตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ปรีดีเห็นควรปฎิบัติตามมติของผู้แทนราษฎรส่วนมากที่ประธานสภาฯ ได้หยั่งเสียงแล้วนำมาเสนอคณะผู้สำเร็จฯ นั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ จึงลาออกจากตำแหน่ง ครั้นแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ตั้งปรีดี พนมยงศ์ เป็นผู้สำเร็จฯแต่ผู้เดียว ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น

ประการที่ 2 หน้าที่ปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
ปรีดีเห็นว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะและบริหารราชการแผ่่นดินด้วยพระองค์เองตามรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็จะไม่ทรงนิ่งเฉย หากจะทรงปฎิบัติให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะปฎิบัติตามหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนั้น

ปรีดีจึงดำเนินงานของขบวนการต่อสู้ญี่ปุ่นในประเทศไทยซึ่งต่อมาได้ร่วมกับเสรีไทยใน ส.ร.อ. และในอังกฤษเป็นขบวนการเสรีไทยอันเดียวกัน ในการปฎิบัติรับใช้ชาติไทย 2 ด้านประกอบกันคือ
( ก ) ด้านหนึ่งต่อสู่ญี่ปุ่นผู้รุกราน
( ข ) ปฎิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบา ( ดูหนังสือชื่อ "จดหมายของนายปรีดี พนมยงศ์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่อง จดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฎิบัติการใน แคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา" และหนังสือ "อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์,เสรีไทย,นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก" และ บทความนายป๋วย อึ้งภากรณ์ เกี่ยวกับเสรีไทย และบทความเกี่ยวกับเสรีไทยอีกหลายท่านที่พิมพ์ลงในหนังสือของนายดิเรก ชัยนาม เรื่อง ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯลฯ )

ประการที่ 3 ปรารภให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนุญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ท่านที่ได้อ่านสุนทรพจน์ฉบับ 24 มิถุนายน พ.ศ.2525 ของปรีดี ซึ่งลงพิมพ์เป็นเล่มและได้กระจายเสียงแล้ว ก็คงระลึกไ้ด้ว่า ปรีดีได้คัดความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยฉบับ 2489 ซึ่งมีความดังต่อไปนี้

"ต่อมานายปรีดี พนมยงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทยนี้พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปรกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นเอนกประการ ทั้งประชาชนจะได้รับซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่จะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง...."

ครั้นแล้วการดำเนินเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ให้ใช้เป็นกฎหมายได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489

หลักฐานของสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทยและรับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองว่าปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทย
แม้ว่ารัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. ( สหราชอาณาจักร ) และบริเตนใหญ่ และก่อสงครามกับประเทศจีนก็ตาม แต่ด้วยการปฎิบัติของขบวนการเสรีไทยเปนส่วนรวมที่เป็นคุณูปการแก่สัมพันธมิตร จึงเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย และรับรองว่านายปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทยตามหลักฐานดังต่อไปนี้

( 1 ) ในระหว่างที่อังกฤษรีรอการรับรองว่าประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะนั้น ส.ร.อ.ได้มีนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยที่แจ้งต่อรองผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานบริการยุทธศาสตร์โดยจดหมายของ มร.คอร์เดลล์ ฮัลล์ ฉบับเลขที่ 832/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1943 ( พ.ศ.2486 ) ซึ่งกล่าวถึงนโยบายของอเมริกันไว้ดังต่อไปนี้

จากหนังสือชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงศ์ หน้า 32
แปลเป็นภาษาไทย

ที่ 892.01/32
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ ( กูดเฟลโลว์ )

วอชิงตัน 26 สิงหาคม 1943

พันเอกกูดเฟลโลว์ที่รัก ในการแถลงตอบข้อถามของท่านด้วยวาจาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เกี่ยวกับปฎิบัติการอันพึงเป็นไปได้ของฝ่ายอเมริกันกับขบวนการเสรีไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงท่าทีของตนดังต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกาถือว่าไทยเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ไม่รับรองรัฐบาลไทยที่ประกอบอยู่ในปัจจุบัน ( รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) แต่รัฐบาลนี้ ( สหรัฐอเมริกา ) ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้ และคงรับรอง "อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอลิงตัน" เป็น "อัครราชทูตของประเทศไทย" ต่อไป อัครราชทูตผู้นี้ ( ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ) ได้ประฌามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น และ ( สหรัฐ ) ได้นับถือด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการเสรีไทยซึ่งอัครราชทูตคนนั้น ( ม.ร.ว.เสีย์ ปราโมช ) เป็นบุคคลสำคัญ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกามองไปข้างหน้าถึงการที่จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่าในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้มี หลวงประดิษฐ์ มนูญธรรม ( หรือที่รู้จักกันในนาม ปรีดี พนมยงค์ ) ผู้สำเร็จในคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุนรานของญี่ปุ่น

ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่า หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลประเทศไทยตามที่เปนอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ( จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า ( หลวงประดิษฐ์ ) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ตราบเท่าที่รัฐบาลสหรัฐมิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาล ส.ร.อ. ในอนาคต ในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย

ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นท่าทีชั่วคราวระหว่างการแสดงออกอย่างเสรีแห่งความปรารถนาของประชาชนไทย ภายหลังจากกองกำลังแห่งสหประชาชาติได้ทำการปลดแอกประเทศไทยแล้ว ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ และพึงเป็นจะจำกัดเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนไทยในการสถาปนารัฐบาลของประเทศตนที่สามารถดำเนินความรับผิดชอบของตนและเป็นอิสระจากการควบคุมของต่างชาติ ส่วนการคัดเลือกผู้นำของรัฐบาลในบั้นปลายนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัย

เป็นที่เชื่อได้ว่าคำชี้แจงนี้คงจะให้ความกระจ่างแก่ท่านได้ตามที่ต้องการ

ด้วยความซื่อสัตย์ต่อท่าน
( ลงนาม ) คอร์เดลล์ฮัลล์
( ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศ )

( 2 ) บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้เพื่อประธานาธิบดี


หนังสือของรัฐบาลอเมริกันชื่อ Foreign Relations of The Unitedtes ค.ศ.1945 เล่ม 6 หน้า 1242-1244
แปลเป็นภาษไทย
เลขที่ 892.01/1-1345


บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้
วอชิงตัน,13มกราคม 1945
บันทึกเพื่อประธานาธิบดี
( เพื่ออาจใช้ในการสนทนากับ มร.เชิชชิชล์ และจอมพลสตาลิน )
เรื่อง : สถานภาพภายหน้าของประเทศไทย

นโยบายบริติชเกี่ยวกับประเทศไทยนั้นต่างกับของเรา บริติชถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู นั่นเป็นทรรศนะของเขา คือ

1.ความเป็นเอกราชของไทยภายหลังสงครามจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ ( ประเทศไทย ) จะยอมรับให้มี "ข้อตกลงพิเศษเพื่อความปลอดภัยมั่นคงหรือการร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในระบบระหว่างประเทศ"

2.แหลมไทยเหนือมาลายาตั้งแต่เส้นขนานที่ 12 จะต้องถือว่าเป็นบริเวณยุทธศาสตร์ที่จำเป็น และการป้องกันภายใต้ข้อตกลงความปลอดภัยมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องดำเนินโดยมหาอำนาจอารักขา หรือโดยองค์กรร่วมระหว่างประเทศ เรื่องนี้มีรายงานว่าเป็นความเห็นของเชิชชิลด์ การปฎิบัติดังนี้ขัดขวางต่อสิทธิของระบบปกครองไทยในบริเวณนั้น

3.รัฐบาลทหารปัจจุบันนี้ไม่ีมีความจำเป็น ยหเว้นบางที่ในเขตการรบ อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคณะกรรมาธิการควบคุมของสัมพันธมิตรจะตั้งขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินต่อไประยะเวลาหนึ่ง

4.พวกเขาจะไม่ติดต่อขณะนี้กับรัฐบาลไทยใดๆ

ในทางตรงกันข้ามเรามิได้ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตประเทศไทยฝนวอชิงตันเป็น "อัครราชทูตแห่งประเทศไทย" ฐานะเหมือนกับอัครรราชทูตเดนมารก์ 

เราใคร่ให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราชและมีเสรีภาพ พร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอน และปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกโดยตนเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชอยู่ก่อนสงคราม เราเชื่อว่าผลประโยชน์ของอเมริกาจะเสียหายทั่วเอเชียถ้าผลแห่งสงครามจะอุบัติ ซึ่งเราจะมีภาระส่วนใหญ่ในการทำให้การรุกรายของญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ( ถ้า ) ประเทศไทยไม่มีดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งของตนที่มีไว้เมื่อก่อนสงคราม

หรือฐานะของประเทศไทยจะถูกบั่นทอน ประวัติศาสตร์แห่งการที่ชาวยุโรป บีบบังคับประเทศไทยและชาวยุโรปได้ยึดเอาดินแดนแห่งเอเชียอาคเนย์นั้นยังอยู่ในความทรงจำของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ ( สหรัฐ ) ไม่อาจมีส่วนรับผิดชอบด้วย ไม่ว่าทางใดๆ ที่จะดำเนินต่อประเทศไทยโดยระบบจักรวรรดินิยมในรูปแฝงอย่างใดๆทั้งสิ้น

ภายในประเทศไทยระบบปกครอง ( รัฐบาล พิบูลฯ ) ซึ่งเดิมยอมจำนนญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือ ( กับญี่ปุ่น ) อันเป็นที่รู้กันกระฉ่อนทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนโดยระบบปกครอง ( รัฐบาล ควงฯ ) ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยประดิษฐ์ ฯ ผู้สำเร็จราชการปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น อเมริกาได้ติดต่อกับประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ช่วยสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในงานข่าว และเป็นผู้ที่แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร

เป็นทรรศนะของกระทรวงการต่างประเทศ ( สหรัฐ ) ที่ต้องใช้ความอุตสาหะพยามจูงใจให้บริติชเปลี่ยนแผนการของพวกเขาเพื่อไม่ให้ขัดต่อเรา เป็นที่เชื่อว่าถ้าประเทศไทยเข้าร่วมสงครามต่อสู่ญี่ปุ่นประเทศไทยก็จะได้รับการปฎิบัติอย่างประเทศที่ได้รับการกู้อิสรภาพ และรัฐบาลของเขาก็จะได้รับการรับรองอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว แม้ว่าจะเป็นการเสียประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการมีกองทหารอเมริกัน นอกจากจำเป็นทางทหารในการร่วมยึดบริเวณอาณานิคมของชาวยุโรปกลับคืน แต่จะเป็นประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการที่มีกองทหารอเมริกันภายใต้การบัญชาการอิสระของอเมริกัน รับผิดชอบในการกู้อิสรภาพของประเทศไทยยิ่งกว่าที่จะให้ประเทศไทยถูกยึดครองดินแดนโดยกำลังทหารบริติช อย่างไรก็ตามการจะใช้กำลังทหารอเมริกันหรือไม่ในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่อนุมานว่าจะชี้ขาดความกระจ่างแจ้งแห่งการพิจารณาทางยุทธศาสตร์ทั้งปวง

ได้แนบบันทึกย่อเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการมาด้วย

3.โทรเลขลับระหว่างผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ กับ "รูธ" ( นามแฝงปรีดี )

โดยที่กำลังพลพรรคของเสรีไทยได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นจึงเกิดความระแวงสงสัยมากขึ้นว่าในประเทศไทยมีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างกว้างขวาง กองบัญชาการเสรีไทยเกรงว่าญี่ปุ่นอาจลงมือโจมตีก่อน ดังนั้น "รูธ" จึงส่งโทรเลขลับด่วนมากถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์มีความตรงกัน และได้รับคำตอบจากผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันรับรองความเป็นเอกราชของไทยดังต่อไปนี้
แปลเป็นภาษาไทย
เลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว / 5-2948
บันทึกจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
วอชิงตัน,28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ( พ.ศ.2488 )
ต่อไปนี้เป็นสาส์นสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศจากรูธ ( ปรีดี พนมยงศ์ ) กระทรวงต่างประเทศได้รับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1945

"ขบวนการต่อต้านของไทยในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนั้น ได้ปฎิบัติตามเสมอมาซึ่งคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันที่มิให้ปฎิบัติการใดๆในการต่อสู้ศัตรูล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควร แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่ากำลังใจรบของญี่ปุ่นจะลดน้อยลงไป ถ้าขบวนต่อต้านไม่คงอยู่ภายในฉากกำบังอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบีบให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรเร็วขึ้น เพราะความสลายของสิ่งที่เรียกว่าไพบูลย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามเราได้ถือตามคำแนะนำว่าขบวนต่อต้านจะต้องพยามขัดขวางความช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นจะได้จากประเทศไทย 

เราได้ดำเนินแนวทางนี้อย่างใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ท่านย่อมเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเริ่มมีความสงสัย (ขบวนต่อต้าน) มากยิ่งขึ้นตลอดมา เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) ไม่ยอมทำตามคำขอของญี่ปุ่นที่ขอเครดิจเพิ่มเติมอีก 100,000,000 บาท ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากรัฐบาลปัจจุบันว่าจะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป ถ้าญี่ปุ่นยืนยันเช่นนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะตั้งขึ้นและจะปฎิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น โดยประการแรกประกาศโมฆะกรรมซึ่งหนี้สินและข้อตกลงที่รัฐบาลพิบูลกับญี่ปุ่นได้ทำกันไว้ รวมทั้งสนธิสัญญาที่ผนวก 4 รัฐมาลายาและรัฐไทยใหญ่ไว้กับประเทศไทย อีกทั้งการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ กับประเทศไทยจะสถาปนาขึ้นดังที่เป็นอยู่ก่อนเพิรล์ ฮาเบอร์ (ก่อนญี่ปุ่นรุกราน) 

ก่อนที่จะดำเนินแผนการนี้ข้าพเจ้าปรารถนาแจ้งให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ แม้ว่าข้าพเจ้าตระหนักว่าสหรัฐมีเจตนาดีเกี่ยวกับเอกราชของประเทศไทยและมีความนับถือประชาชนไทยอย่างสุดซึ้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฎิบัติการนั้น สหรัฐจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งของสหประชาชาติและไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ ข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผ๔้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (ลอรด์ หลุยส์ เมาส์ แบทเตน) แล้ว"

คำตอบของสหรัฐส่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 มีความต่อไปนี้

"ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาส์นของท่านถึงรัฐมนตรีการต่างประเทศ เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อสู้ศัตรูทางปฎิบัติการโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อแน่ว่าอย่างไรก็ตามท่านย่อมตระหนักว่า การต่อสู้ศัตรูร่วมกันของเรานั้นต้องสมานกับยุทธศาสตร์ทั้งปวงในการต่อสู่ญี่ปุ่น และไม่เป็นผลดีหากไทยทำล้ำหน้าก่อนเวลาอันสมควรและก่อนที่จะมีเหตุผลประกันว่าจะได้ชัยชนะ ถ้าลงมือปฎิบัติการอย่างเปิดเผยที่มิได้อยู่ในแผนของผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ฉะนั้นเราหวังว่าท่านจะใช้ความพยามต่อไปที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นโดยการกรำทำล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควรโดยขบวนต่อต้าน หรือการปฎิบัติอันเร่งให้ญี่ปุ่นรีบยึดรัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) เราเชื่อมั่นว่าท่านจะแจ้งให้เราและบริติชทราบโดยบริบูรณ์ ถ้าการขยายตัว ( ของสถานการณ์ ) จะเกิิดขึ้นได้ในไม่ช้า โดยฝืนต่อความพยามของท่าน

ความปรารถนาจริงใจของท่านต่อมวลราษฎรไทยในการบอกปัดการประกาศสงครามกับข้อตกลง (กับญี่ปุ่น) ของพิบูล ฯ นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจแจ่มแจ้งและมีคุณค่า แต่ยังไม่แจ้งชัดว่าเหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล ควงฯ) จะลาออกขณะนี้ หรือมีการบังคับอย่างใดที่รัฐบาลต่อไปจะถือเอาการบอกปัด (ประกาศสงครามและข้อตกลงกับญี่ปุ่น) เป็นการกระทำแรก ย่อมจะเห็นได้ว่าขบวนการต่อต้านจะบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าเมื่อแสดงตนออกจากกำบังแล้ว คือ โดยการสมานจู่โจมฉับพลันต่อการลำเลียง ต่อคมนาคม ต่อกองกำลัง ต่อยุทโธปกรณ์ของศัตรู และยึดตัวนายทหาร พนักงาน เอกสาร จุดสำคัญของศัตรู การปฎิบัติการทางการเมืองเรื่องการบอกปัด (ประกาศสงคราม) และการเข้าอยู่ในแถวเดียวกันกับสัมพันธมิตรก็ตามมาภายหลัง

เราถือเป็นความสำคัญอย่างใหญ่ที่จะมีรัฐบาลไทยตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพตั้งอยู่บนดินแดนไทย ทำการร่วมมือกัยสัมพันธมิตร เราหวังว่าการเตรียมการทุกอย่างที่จะเป็นไปได้จะต้องทำขึ้นในอันที่จะป้องกันการยึดตัวบุคคลสำคัญที่นิยมสัมพันธมิตรหรือกระจายบุคคลสำคัญเหล่านี้ เพื่อว่ารัฐบาลดังกล่าวนั้นจะปฎิบัติหน้าที่ได้ทันทีในบริเวณที่เป็นอิสระจากญี่ปุ่นและสามารถสั่งทหารไทยปฎิบัติการร่วมมือกับสัมพันธมิตร และฟื้นการสถาปนากลไกกิจการพลเรือนของรัฐบาลในบริเวณที่กู้อิสรภาพแล้ว

สหรัฐไม่อาจประกาศโดยลำพังได้ว่าชาติอื่นชาติใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่จะมีความยินดีประกาศซ้ำอีกโดยเปิดเผยในโอกาสเหมาะสมถึงการเคารพความเป็นเอกราชของชาติไทย และประกาศว่าไม่มีเวลาใดที่สหรัฐถือว่าไทยเป็นศัตรู เรามองไปข้างหน้าถึงวันที่ประเทศของเราทั้งสองจะแสดงเปิดเผยต่อมหาชนถึงจุดหมายร่วมกันของเราในการต่อสู่ศัตรูร่วมกันของเรา"

( ลงนาม ) กรูว์
รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศ

4.คำเปิดเผยของลอรด์ หลุยส์ เมาน์ท แบทเตน
แปลเป็นภาษไทย

ไทมส์ 18/12/1946
อาคันตุกะผู้หนึ่งจากสยาม
การณรงค์ของหลวงประดิษฐ์ ฯ
คำเปิดเผยของ ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน

ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน แห่งพม่า ผู้ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ได้รับการต้อนรับเลี้ยงอาหารกลางวันโดย ซิตี้ โลเวรี่คลับ ณ.ไซออน คอลเลจ เมื่อวานนี้ ได้บรรยายไว้ในสุนทรกถาของท่านถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์ฯ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามในการกำจัดกองทัพญี่ปุ่นซึ่งยึดครองประเทศนั้น ท่านลอรด์ได้สาธยายเกี่ยวกับรายละเอียดซึ่งหนังสือพิมพ์ไทมส์ ได้เคยลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม คือประมาณหนึ่งปีมาแล้ว และได้ประกาศแถลงว่า ประดิษฐ์ บุคคลที่มีบทบาทที่น่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามเอเชียอาคเนย์นั้นกำหนดจะมาถึงประเทศอังกฤษโดยเรือ ควีนอลิซาเบธพรุ่งนี้เช้า

ลอรด์ เมาน์ท แบตเทนกล่าวว่า ปรีดี พนมยงศ์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามได้เป็นที่รู้จักของโลกในนาม "หลวงประดิษฐ์" มากกว่า และพวกเราหลายคนแห่งกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์รู้จักเขาตามชื่อรหัสว่า "รู้ธ" เขามาเยี่ยมประเทศนี้ (อังกฤษ) ด้วยสันถวไมตรีในระยะสั้นๆ ในฐานะแขกของรัฐบาลอังกฤษ และข้าพเจ้าหวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ให้การรับรองเขาอย่างอบอุ่น เพราะเหตุที่ประดิษฐ์เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่ง แห่งสงครามเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างกาละแห่งสงครามนั้น เป็นการแน่นอนทีเดียวว่าชื่อของเขาจะมีการระบุถึงได้ก็แต่โดยการกระซิบกระซาบกันเท่านั้น และเรื่องราวทั้งปวงเกี่ยวกับเขาก็ถูกถือว่าเป็น "ความลับสุดยอด" ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันมหาชนบริติชส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยทราบเท่าไรนักถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้ว

ในตอนที่ญี่ปุ่นรุกรานยึดครองสยาม ประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งในรัฐบาลแต่เขาได้ปฎิเสธที่จะลงนามในการประกาศสงครามกับเรา พิบูลรู้ว่าประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งที่ทรงอำนาจอย่างยิ่งและได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศ และก็หวังที่จะทำให้เขาเป็นตัวหุ่นโดยยกเขาขึ้นไปสู่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายอมรับ พิบูลหรือญี่ปุ่นมิได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่าขณะที่ประดิษฐ์ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นั้นเขาก็ได้เริ่ทต้นดำเนินการจัดตั้งและอำนวยการขบวนการต่อต้านของชาวสยามขึ้น

คณะผู้แทนหายสาปสูญไป

เราได้รับรู้จากข่าวแหล่งต่างๆว่า พิบูลมิได้ประสบผลทุกอย่างตามวิถีทางของเขาในประเทศสยาม แต่การจะติดต่อ (กับขบวนการต่อต้านภายในสยาม) นั้นก็ลำบากมาก และทั้งเป็นการยากที่จะล่วงรู้ได้ด้วยว่าอะไรได้ดำเนินไปโดยแท้จริงอย่างไร คณะผู้แทนของประดิษฐ์ 2 คณะได้หายไประหว่างการเดินทางด้วยภยันอันตรายเพื่อไปยังประเทศจีนและไม่เห็นอีกเลย แต่ในที่สุดจุดนัดพบอันหนึ่งก็ได้สถาปนาขึ้น