วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประสาทเขาพระวิหาร กับคำเตือนของปรีดี พนมยงค์ เรื่องการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง






"เป็นความจำเป็นและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ที่จะต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสงครามเย็นและสงครามประสาท"
แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์จากข้อความข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของสองเรื่องอย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดต่อประเทศไทย นั่นคือ การอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

แต่การที่ไทยจะดำรงรักษาสองสิ่งที่มีค่าสูงสุดนี้ไว้ได้ ไทยก็จำต้องตระหนักถึงผลเสีย หรือการตกเป็น "เหยื่อ" ของสงครามทุกรูปแบบ รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของสงครามอารมแบบ "คลั่งชาติ" (Chauvinism) ด้วย

ปรีดี พนมยงค์ ( 2443-2526) ผู้ได้รับการประกาศตั้งจากรัฐบาล ( 8 ธันวาคม 2488 ) ให้เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" มีหน้าที่ "รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน" และได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยองค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2543

ปรีดีเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญในช่วง 15 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2475-พ.ศ.2490 โดยปรีดีเปรีบยเสมือน "มันสมอง" ของคณะราษฎร ที่มุ่งก่อร่างสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นการสร้างประชาธิปไตยของพลเรือนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่ระบอบคณาธิปไตย หรือ อำมาตยาธิปไตย ที่นำโดยทหารที่ใช้กองทัพหนุนหลัง

เส้นทางความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของปรีดี ปรากฎความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับผู้นำประเทศที่เป็นทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ด้วยนั้น เมื่อจอมพล ป. ก้าวเข้าสู่นโยบายการสร้าง "มหาอาณาจักรไทย" โดยการใช้ทุกวิธีการเพื่อ "เอาดินแดน" จากประเทศลาวและกัมพูชาอาณานิคมฝรั่งเศส

"สงครามอินโดจีน" ที่พัฒนาจากการ "ปลุกเร้าอารม" ของคนไทยในประเทศ ในช่วงปี พ.ศ.2482-2483 หรือตั้งแต่ปีแรกของการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม  ได้ยกระดับเป็นการ "ปะทุ" ทางอารมณ์ของคนไทยหลากกลุ่ม ที่แสดงตนเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาล ที่ จอมพล ป. ผู้นำฝ่ายทหารได้แปลความว่า การกระทำดังกล่าวมีความหมายเป็น "มติมหาชน" และในที่สุดได้ยกระดับเป็นการ "ปะทะ" ด้วยกำลังอาวุธของสามเหล่าทัพไทย กับกองกำลังเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

"สงครามยึดเอาอินโดจีน" ครั้งนี้เป็นสงครามที่ฝ่ายไทยสามารถขยายพื้นที่การครอบครองดินแดนสำเร็จด้วยกำลังทหารในปี พ.ศ.2484 โดยเข้าครอบครองแขวงไชยบุรี และแขวงจำปาสักในลาว จังหวัดเสียมเรียบ และจังหวัดพระตะบองในกัมพูชา

การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาด้วยกำลังทหารครั้งนี้ คือที่มาของการปรากฎตัวอย่างเป็นรูปธรรมแห่งปัญหาคดีเขาพระวิหาร ที่ปัญหานี้ถูกทิ้งค้างไว้จากเกือบ 4 ทศวรรษก่อน หรือกล่าวได้ว่าทั้งฝรั่งเศสกับไทย ต่างไม่เคยรับรู้กันว่าประสาทเขาพระวิหารเป็น "ปัญหา" ในยุคสมัยล่าอาณานิคมแต่อย่างใด การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาครั้งนี้ ได้ส่งผลมาเป็นคดีเขาพระวิหาร และเป็นคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ.2505 แต่ประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องถูกทิ้งไว้เกือบ 5 ทศวรรษต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นปมปัญหาประสาทเขาพระวิหารมรดกโลกในปัจจุบัน

การเข้าครอบครองดินแดนของลาวและกัมพูชาดังกล่าว เป็นชัยชนะด้วยความช่วยเหลืออย่างสำคัญของกองทัพประเทศญี่ปุ่น ประเทศผู้ซึ่งกำลังเตรียมแผนการใหญ่ที่มุ่งให้รัฐบาลทหารไทยสนับสนุนตนในการทำ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในซีกเอเชีย อันเป็นสงครามที่คู่ขนานไปกับการทำสงครามของ ฮิตเล่อร์ แห่งเยอรมัน และ มุโสลินี แห่งอิตาลี ในซีกโลกตะวันตก

ต่อมาเมื่อนายพล โตโจ ผู้นำรัฐบาลทหารแห่งญี่ปุ่น ต้องการ "กระชับมิตรภาพ" เพื่อการทำสงครามร่วมกันกับรัฐบาลทหารไทยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองดินแดนมาเลเซียและพม่าอาณานิคมของอังกฤษ จึงยกดินแดนของประเทศอื่นที่ตนยึดครองอยู่ให้แก่ไทยเพิ่มอีกในกลางปี พ.ศ.2486 คือดินแดน 4 รัฐของมาเลเซีย และ 2 เขตเมืองคือเมืองพาน และเชียงตุงในรัฐฉาน

ในระยะเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขยายดินแดนได้ด้วยกำลังไปในเขตประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ ทั้งใน ลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย กลายเป็น "มหาอาณาจักรไทย" ยุคใหม่

"นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทำสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดาหากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทำให้ชาติเสียหายหลายประการ แม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายที่ชนะสงคราม แต่ก็ต้องชำระค่าเสียหายสงคราม ซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ค่าปฎิกรรมสงคราม" ( ปรีดี "อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน" 2518 )

ไทยเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่ในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และสามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศที่มีสถานะเกือบเท่าเทียมในฝ่ายพันธมิตรโลกตะวันตก และได้รับประโยชน์จากการร่วมชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เป็นผลจากการใช้นโยบาย Wait And See ที่รั้งรอดูสถานการณ์ของโลกหลายปี จนมั่นใจแล้วจึงตัดสินใจ

แต่ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลายเป็นว่า ไทยเป็นฝ่ายดำเนินการเริ่มรุกเพื่อนบ้านด้วยกำลัง และได้ครอบครองดินแดนของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือคำอธิบายของปรีดีที่ว่า "ชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ" แต่หาได้เป็นประโยชน์ถาวรต่อประเทศไทยประการใด

ในการรณรงค์เรียกร้องดินแดนจากลาวและกัมพูชาในปี พ.ศ.2483 นิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( ขณะนั้นใช้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ม.ธ.ก. ) ต่างก็ตกอยู่ในกระแส "ปลุกเร้า" อารมณ์ "รักชาติ" กันอย่างถ้วนหน้า และนัดแนะกันที่จะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยของตนเอง คือจาก จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มายังกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย "เรียกร้องดินแดน"

ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ประศาสน์การหรือผู้บริหารสูงสุดแห่งธรรมศาสตร์ เมื่อทราบข่าวเดินขบวนนี้ในช่วงเช้า ปรีดีก็รีบเดินทางมาพบนักศึกษาของตนที่ท่าพระจันทร์ และชี้แจงกับนักศึกษาว่า "ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี"

ปรีดีให้คำอธิบายกับนักศึกษาธรรมศาสตร์โดยให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นว่าตกอยู่ในสภาพแพ้สงคราม กล่าวคือฝรั่งเศสแพ้ตั้งแต่สองสัปดาห์แรกของการสงคราม ประเทศถูกยึดครองไปโดยกองทัพของเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสเดิมนั้นต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ในอาณานิคมอินโดจีน กำลังของฝ่ายฝรั่งเศสย่อมอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นกดดันอยู่ในเขตทะเลของอ่าวตังเกี๋ย

ปรีดีสรุปว่าการเรียกร้องดินแดนนี้เชื่อว่าฝ่ายไทยได้แน่ "เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่" แต่ปรีดีเห็นว่า เป็น "การที่เรากำลังจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี" 

แต่ปรีดีก็ทำนายให้เห็นผลในอนาคตด้วยว่า "ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" และในช่วงชีวิตของนักศึกษา "จะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน"

คำเตือนของปรีดีเรื่อว "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ของการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง สามารถยับยั้งการเดินขบวนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ในบ่ายวันนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็เดินขบวนอย่างเป็นระเบียบจากท่าพระจันทร์ไปยังกระทรวงกลาโหมที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสนามหลวงไปสู่ "อ้อมกอด" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คอยต้อนรับ ส่วนนิสิตจุฬาฯ ได้เดินขบวนมาจากสามย่านมายังกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ช่วงเช้า

การเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลให้กระทำการเรียกร้องดินแดนอย่างแข็งขันของ นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่าเป็นหลักหมายแห่งชัยชนะของนโยบายเรียกร้องดินแดนโดยใช้กำลัง ซึ่งได้รับการโห่ร้องต้อนรับด้วยการสนับสนุนจากกลไกภาครัฐ ที่เหนือกว่านโยบายการใช้กฎหมายและการอยู่ร่วมอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทว่าอีก 4 ปีต่อมา สถานการณ์กลับพลิกผัน ฝ่ายอักษะปราชัยในทุกสมรภูมิ และถูกยึดครองประเทศโดยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไทยสามารถสร้างสถานภาพที่กำกวมของการ "ไม่แพ้สงคราม" อันเป็นผลจากขบวนการเสรีไทย คำประกาศสันติภาพ และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของมหาอำนาจใหม่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา

การได้ดินแดนเพื่อนบ้านโดยการใช้กำลังนั้น ทำให้ไทยต้องรีบประกาศคืนดินแดนในพม่าและมาเลเซียให้กับอังกฤษทันทีเมื่อประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 และต่อมาต้องคืนดินแดนของลาวและกัมพูชาให้กับฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้กลัยคืนสู่ "สถานะเดิม" ( Status quo ) ไปยังปีก่อนที่จะมีการทำสงครามเพื่อดินแดนของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อแลกกับที่รัฐบาลไทยจะได้รับการยอมรับให้กลับคืนสู่การเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ที่มีองค์การเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในนาม องค์การสหประชาชาติ

คำเตือนของปรีดีต่อเรื่อง "ดินได้ที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" อันเป็นการได้ดินแดนมาจากการใช้กำลังแบบ "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ได้แสดงความจริงให้เห็นเร็วกว่าที่ปรีดีคาดการณ์ไว้อย่างมาก

ดังนั้นสถานการณ์ "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" ที่ปรากฎในสังคมไทย ก็ดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงบางประการกับการเรียกร้องดินแดนเพื่อนบ้านเมื่อปี พ.ศ.2483-2484 และจุดจบก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักหากมีการใช้กำลัง

แต่ผลนั้นอาจสะเทือนต่อเอกราชและเกียรติศักดิ์ของชาติไทยมากยิ่งกว่าครั้งเรียกร้องดินแดนในอดีต และในครั้งนี้ ไทยเราอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใด มาช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ปราชัยของประชาคมโลกได้

คำถามต่อเพื่อนร่วมชาติที่แสวงหาประโยชน์ร่วมกันคือ

คำถามแรก เมื่อศาลโลกของสหประชาชาติ พิพากษาให้ประสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งคำพิพากษานี้ "เป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้" ตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบุไว้ในคำปราศรัยคดีประสาทพระวิหาร เมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2505 แต่สถานการณ์ปัจจุบัน การรณรงค์ในประเด็น "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" เท่ากับเป็นการปฎิเสธคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่ ? และจะยกระดับไปสู่การ "ปลุกเร้า" และปะทุทางอารมณ์ของคนในประเทศ และปะทะกับเพื่อนบ้านกัมพูชาด้วยกำลังหรือไม่ ?

คำถามข้อที่สอง หากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ณ บริเวณเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน หรือจาก "มือที่สาม" ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พึงคำนึงคือ ไทยจะกลายเป็นชาติแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลกยุคสหประชาชาติที่ละเมิดล่วงล้ำ ขัดขีนอำนาจของศาลโลก ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการสันติ แทนการทำสงครามระหว่างกันนั้น ท่านคิดว่าประเทศมหาอำนาจและสมาชิกอื่นในองค์การสหประชาชาติจะดำเนินการอย่างไรต่อประเทศไทย เพื่อที่จะรักษาระเบียบโลกของสหประชาชาตินี้ไว้ ?

ทั้งยังต้องรำลึกด้วยว่า ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีประชาคมโลกนั้น ไทยจะกลายเป็น "หมาป่า" ที่หาทางขย้ำ "ลูกแกะ" กัมพูชา ด้วยหรือเปล่า ?

คำถามข้อที่สาม หากท่านเป็นผู้สนับสนุนการใช้ัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 82 เกี่ยวกับนโยบายด้านต่างประเทศ ได้ระบุว่า "รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องปฎิบัติตามสนธิสัญญา รวมทั้งพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ" 

ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลในอนาคตแสดงการทวงคืน "ประสาทพระวิหาร" คือการสนับสนุนให้รัฐบาลกระืำผิดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หรือไม่ ?

หากท่านเป็นผู้ไม่สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 โปรดกลับไปอ่านคำถามข้อที่หนึ่งและสองอีกครั้งหนึ่ง



วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทัศนะ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้






คำนำ
หนังสือปรีดีสารฉบับนี้ พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงศ์ การที่เลือกเรื่อง "ทัศนะของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในปัจจุบัน ก็โดยที่เห็นว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐบาลและผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่าย กำลังร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่เข้าใจในปัญหานี้อย่างดียิ่ง และเคยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเองเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ฉะนั้น การจะนำเรื่องข้อสังเกตุเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะไว้เมื่อ พ.ศ. 2514 จึงน่าจะมีประโยชน์ เพราะถึงจะเป็นความเห็นเมื่อ 34 ปีมาแล้ว แต่เชื่อว่ายังคงทันสมัย และน่าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปในทางที่ถูกต้อง และสัมฤทธิ์ผลต่อไป

สถาบันปรีดี พนมยงค์ หวังว่าเอกสารฉบับจิ๋วนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ สมดังปณิธานของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่ตลอดชีวิตของท่าน ได้คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของประเทศชาติและราษฎรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สถาบันปรีดี พนมยงค์
28 กุมภาพันธ์ 2548 

ข้อสังเกตุเกี่ยวกับ "เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย"
โดย
ปรีดี พนมยงค์

ตามที่คณะผู้จัดงานชุมนุมประจำปี 2514 ของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความลงในหนังสือที่ระลึกนั้น ข้าพเจ้าจึงขอรวบรวมข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งนักศึกษาในต่างประเทศบางคนได้เคยมาถาม ข้าพเจ้าหวังว่าผู้อ่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักรที่ทราบข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องนี้คงจะได้ช่วยกันสังเกตุต่อไป

1.ปัจจุบันนี้มีข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างราษฎรฝ่ายถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกกับฝ่ายถือนิกายโปรแตสแต๊นท์ในไอร์แลนด์เหนือ และในปี ค.ศ.1969 ก็มีข่าวแพร่ไปเหือบทั่วโลก ถึงการที่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งพยามต่อต้านการสถาปนาเจ้าฟ้าชารลส์เป็นเจ้าแห่งเวลส์

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าไอร์แลนด์เหนือเคยร่วมกับไอร์แลนด์ใต้ ( IRE ) ก่อนแยกตนเป็นเอกราชนั้น ได้ร่วมอยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขมาเป็นเวลาประมาณ 800 ปีแล้ว ก็ยังมีบุคคลส่วนหนึ่งรักปิตุภูมิท้องที่ ( Local Partriotism ) มีความรักศาสนานิกายของตนโดยเฉพาะแคว้นเวลส์ก็อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์อังกฤษกว่า 400 ปี ซึ่งมีมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งเวลส์ แต่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งก็ยังมีความรักปิตุภูมิท้องที่ของตน ซึ่งไม่ยอมรับนับถือเจ้าแห่งเวลส์เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ

แคนาดา ซึ่งเป็นชาติในเครือจักรภพของอังกฤษได้ยอมรับนับถือพระราชาธิบดี ( หรือพระราชินีนาถ ) อังกฤษ เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ ซึ่งประกอบด้วยคนเชื้อชาติอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาของชนส่วนน้อยในแคนาดา เป็นภาษาทางราชการเคียงคู่กันไปกับภาษาอังกฤษของชนส่วนข้างมาก เมื่อพระเจ้ายอรช์ที่ 6 และต่อมาพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จไปแคนาดาทรงทำพิธีเปิดรัฐสภานั้น ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศส แม้กระนั้นก็ดี มีข่าวแพร่ออกมาว่าบางครั้งพลเมืองเชื้อชาติฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยในแคนาดาทำการแสดงกำลังดิ้นรนที่จะแยกตนจากสหภาพ

ชาวนอร์เวย์ ซึ่งมีภาษาในตระกูลสแกนดิเนเวียนเช่นเดียวกับสวีเดน จะมีผิดเพี้ยนกันบ้างไม่มากนักเปรีบยเหมือนภาษาไทยกับภาษาลาว นอร์เวย์เคยรวมเป็นชาติเดียวกับสวีเดนเมื่อก่อน ค.ศ.1905 โดยมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Bernadette เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติ ชาวนอร์เวย์ก็นับถือพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์นี้เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ( 1920 - 1927 ) นั้น มีชาวนอร์เวย์ที่อยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อแยกตนจากสวีเดนเมื่อ ค.ศ.1905 เล่าว่าขณะต่อสู้อยู่นั้น เขาได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์ Bernadette เพราะพวกเขาถือว่าราชวงศ์นี้ ซึ่งแม้กษัตริย์องค์แรกเป็นคนฝรั่งเศสพระนาม Jean Bernadette เคยเป็นจอมพลของนโปเลี่ยนที่ 1 แต่ต่อมาพระเจ้าชารลส์ที่ 13 แห่งสวีเดนได้ทรงรับเป็นราชโอรสบุญธรรมแล้วได้สืบสันตติวงศ์เมื่อ ค.ศ.1818 กษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์นี้ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรนอร์เวย์และสวีเดนเป็นอย่างดีที่สุด แต่รัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของของชาวนอรเว พวกเขาจึงต่อสู้เพื่อปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกราชต่างหาก และสภาผู้แทนของชาวนอรเวก็ได้มีมติอัญเชิญเจ้าแห่งราชวงศ์ Bernadette องค์หนึ่งขึ้นครองราชสมบัติเปนพระราชาธิบดีของนอรเวย์ แต่เจ้าแห่งราชวงศ์นั้นได้ทรงปฎิเสธ ชาวนอร์เวย์จึงมีประชามติอัญเชิญเจ้าคารล์แห่งเดนมารก์ขึ้นครองราชย์ในพระปรมาภิไธย "พระเจ้าฮากอนที่ 7" ทั้งนี้แสดงว่าการที่นอร์เวย์แยกออกจากสวีเดนนั้นมิใช่เพราะไม่เคารพราชวงศ์ Bernadette แต่เป็นเพราะรัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวนอร์เวย์ พระราชาธิบดีสวีเดนจึงไม่อาจทรงช่วยเอกภาพได้

เบลเยี่ยม ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองเชื้อชาติเฟลมิ่ง ( พูดภาษาเฟลมิช คล้ายๆ ภาษาดัทช์ ) ประมาณ 55.7 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมดเชื้อชาติวาลลูน ( พูดภาษาฝรั่งเศส แต่มีคำเฉพาะบ้าง ) ประมาณ 32.4 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เชื้อชาติเยอรมันประมาณ .06 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด พูดได้ทั้งภาษาเฟลมิช และภาษาฝรั่งเศสประมาณ 11.3 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เมื่อก่อน ค.ศ.1830 เบลเยี่ยมอยู่ในอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Orange-Nassau เป็นประมุข ซึ่งได้ทรงให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรทุกเชื้อชาติของพระองค์ แต่ใน ค.ศ.1830 คนเชื้อชาติต่างๆในเบลเยี่ยมดังกล่าวข้างต้น ก็ทำการอภิวัฒน์แยกตนออกจากเนเธอร์แลนด์แล้วสมัชชาแห่งชาติมีมติเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งราชวงศ์ Saxe Cobourg ( ราชวงศ์หนึ่งในประเทศเยอรมัน ) ขึ้นเป็นพระราชาธิบดี และมีเจ้าในราชวงศ์นี้สีบสันตติวงศ์ต่อมาจนทุกวันนี้ ส่วนเอกภาพของชาติในเบลเยี่ยมระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆนั้น มีวิธีการหลายอย่างที่น่าศึกษา

การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่ายๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกันหรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วการรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง

2.ขอให้เราพิจารณากลุ่มชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพในองค์การสหประชาชาติ ก็จะพบว่าแต่ละชาติประกอบขึ้นด้วยการรวมชนหลายเชื้อชาติเข้าเป็นชาติเดียวกัน บางเชื้อชาติที่เข้าร่วมอยู่เป็นเวลาช้านานหลายสิบหรือหลายร้อยศตวรรษแล้วก็หมดร่องรอยที่แสดงเชื้อชาติเฉพาะของตนบางเชื้อชาติที่เข้ารวมอยู่ไม่นานก็ยังมีร่องรอยแห่งเชื้อชาติของตนอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามกาละ เช่นสำเนียงพูดแปร่งจากชนส่วนข้างมาก และยังมีภาษาท้องที่ของตน เช่น ชาวแคว้นเวลส์ในสหราชอาณาจักรและในท้องที่ของประเทศไทยซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้นๆ พูดไทยไม่ได้ หรือบางคนพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยากหรือเรียนหนังสือไทยพูดไทยได้แล้วพูดไทยกับข้าราชการหรือคนไทยในท้องที่อื่น ส่วนภายในคนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องที่หรือสำเนียงตามท้องที่ของตน อันแสดงถึงริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือเชื้อท้องที่โดยเฉพาะ

ยิ่งกว่านั้น บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะแม้เป็นเพียงในนามเช่น เจ้าแห่งแคว้นเวลส์ดังกล่าวแล้ว และแม้คนเวลส์โดยทั่วไปจะพูดภาษาอังกฤษ ส่วนประเทศไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครและราชาแห่งรัฐต่างๆยังมีอยู่ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยประมาณ 6 ปีภายหลังอภิวัฒน์นั้น เจ้าผู้ครองลำพูนได้ถึงแก่พิราลัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่งและพระยาภูผาราชาแห่งระแงะสิ้นชีพราวๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งทรงศักดิ์เป็นพระเจ้าน่านนั้นพิราลัยราวๆ พ.ศ.2474 ราชาแห่งสายบุรีสิ้นชีพราวๆ พ.ศ.2473 

ขอให้เราค้นคว้าถึงเหตุที่ชนเชื้อชาติต่างๆ และกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นชาติเล็กอยู่ก่อนแล้วเข้าร่วมกับชาติที่ใหญ่กว่าเป็นชาติเดียวกันนั้น เพราะเหตุใด แล้วจึงจะพิจารณาปัญหาการรักษาเอกภาพของชาติไว้ให้ได้

ในตอนปลายระบบปฐมสหการนั้นได้เริ่มมีระบบทาสโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าของสังคมหนึ่งไปคร่าเอาคนของอีกสังคมหนึ่งมาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ สังคมที่มีชัยมากก็มีทาสมากเป็นกำลังใช้รบกับสังคมที่อ่อนแอกว่า สังคมนั้นก็ขยายใหญ่โตขึ้นทุกที ครั้นต่อมาเมื่อสังคมทาสได้พัฒนาไปเป็นสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป้นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลมากขึ้นทุกทีนั้น กยิ่งถือว่าที่ดินและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งคนและสัตว์เป็นทรัพย์สินของตน ดังปรากฎในกฎหมาย "ตราสามดวง" ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า "ที่ดินทั้งหลายในแคว้นกรุงศรีอยุธยาเป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ" ส่วนทาสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งในจำพวกทรัพย์ที่เรียกว่า "วิญญาณทรัพย์" การรวมชาติเล็กเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่านั้น เป็นไปโดยวิธีชาติที่มีกำลังมากกว่าทำการโจมตีรบพุ่งเอามา เป็นวิธีสำคัญ รองลงไปใช้วิธีคุกคามให้ชาติเล็กกว่าเกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ ในยุโรปยังมีการเอาแคว้นที่อยู่ใต้อำนาจของชาติที่ใหญ่กว่านั้นเป็นสินเดิม หรือเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าว สาว ที่สมรสกัน วิธีรวมชาติต่างๆเข้าเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้น ราษฎรของชาติที่ถูกรวมกับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน

ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ

3.เมื่อมีกลุ่มต่างๆภายในชาติหนึ่งๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ซึ่งอาจเบาบางเพราะการล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยศตวรรษ และอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีภาษาและศาสนาที่แตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก ซึ่งถ้าเราจะติดตามข่าวการต่อสู้ภายในชาติหนึ่งๆในโกลนี้ ก็จะพบว่ามีหลายชาติที่ประสบปัญหาการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติ

ในประเทศไทยเรานั้น ข่าวสารทางราชการที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำลงเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอาวุธในประเทศไทยนั้น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่ปรากฎว่าต้องการแยกดินแดนไทยและมีฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดนไทยออกเป็นอีกรัฐหนึ่ง เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบเชื้อสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆแห่งมลายูตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทยปี ค.ศ.1947 ( 8 พฤศจิกายน 2490 ) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอีสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฎแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริงจึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุแห่งเวียงจันทร์ซึ่งสืบสายจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตณาคณหุต ได้ทำการยึดดินแดนอีสานเพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาว ฟื้นอาณาจักรศรีสตณาคณหุต ขึ้นมาอีก

ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี "ผีบุญผีบ้า" ในภาคอีสาน กรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่พิษณุโลก แต่เมื่อได้โปรดเกล้าให้กลับปัตตานีก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาท ตวนกู โมหะ ยิดดิน นั้นภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ในระหว่างวงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดีย เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลฮีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเปนเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า "Long Live King Of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนอูผู้นี้ก็แสดงความภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไปโดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน

แม้ว่ารัฐบาลของตวนกูอับดุลรามันห์และอับดุลราซักแห่งมาเลเซีย จะได้แถลงว่าไม่ต้องการเอาดินแดนไทย มีชนเชื้อชาติมลายูเป็นส่วนมากไปรวมกับมาเลเซียซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่าท่านทั้งสองมีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนั้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตสำหรับทายาทแห่งอดีตราชาบางคนได้ไปอาศัยอยู่ในรัฐตะวันออกแห่งมาเลเซีย บางคนอยู่อย่างสงบแต่บางคนเคลื่อนไหว โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าสุลต่านหรือราชาแห่งรัฐต่างๆ ที่เคยรวมอยู่กับไทยในอดีต เช่น เคดาห์ ( ไทรบุรี ) ปลิส กลันตัน ตรังกานู นั้น ได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ละ 5 ปีมาแล้ว ตามระบอบปกครองของสหพันธรัฐมาเลเซีย

สมัยที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไทยโต้ตอบกับวิทยุพนมเปญอย่างรุนแรงเรื่องเขตแดนนั้น วิทยุพนมเปญเคยอ้างว่าเขมรปัจจุบันก็เป็นทายาทของขอมที่เขาเรียกตัวเองว่า "ขะแมร์" และอ้างว่ามีคนเขมรอยู่ในไทยบริเวณติดต่อกับกัมพูชาที่พูดได้แต่ภาษาเขมร หรือพูดภาษาเขมรและไทยประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน เขาได้เรียกร้องให้คนเชื้อชาติเขมรนับถือกษัตริย์เขมร

เรื่องต่างๆข้างบนนี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้องป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไปเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้

4.ขอให้เราศึกษาวิีการต่างๆ ที่ประเทศต่างๆ รักษาเอกภาพไว้คือ

4.1 วิธี อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ดังที่ได้ยกเป็นอุทาหรณ์ในข้อ 1 นั้น ก็จะเห็นได้ว่ามิใช่ความผิดของพระราชาธิบดีที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ไม่ได้ แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องถิ่นนั่นเอง และที่สำคัญคือรัฐบาลของชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่

4.2 วิธีเผด็จการแบบนาซีหรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเล่อน์ใช้กำลังรวมคนออสเตรียที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันที่ 3 ก็ไม่ทำให้ชาวออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้จึงได้ดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน 

มุโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของตนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้น ต้องเรียนหนังสืออิตาเลี่ยน และพูดภาษาอิตาเลี่ยน ชาวตีโรลคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยปารีสได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เวลากลางวันชาวตีโรลต้องพูดภาษาอิตาเลี่ยน แต่ตอนกลางคืนปิดประตูบ้านแล้วพูดภาษาเยอรมันภายในครอบครัว ซึ่งทำให้เขาเบิกบานสำราญใจยิ่งนัก

พวกลัทธิทหารญี่ปุ่นเมื่อเอาดินแดนอีสานของจีน ( แมนจูเรีย ) ตั้งเป็นรัฐแมนจูกั๊วะขึ้นโดยรวมหลายเชื้อชาติในเขตนั้น เช่น แมนจู และบางส่วนของมองโกล เกาหลี ฮั่น ( จีน ) ฯลฯ แล้วเอาอดีตจักรพรรดิ์จีน "ปูยี" เป็นจักรพรรดิแห่งรัฐใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพ แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตใจที่รักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่างๆในเขตนั้นได้ แม้แต่ชนชาติแมนจูเองก็ต่อต้านจักรพรรดิปูยี่ ดังปรากฎในคำวิจารณ์ตนเองของคนผู้น้แล้ว

4.3 วิธีสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลี่ยน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ ( Canton ) ซึ่งแต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกันก็ไม่ปรากฎว่ามีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก

4.4 วิธีประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีลินคอนน์ให้ไว้คือ การปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริงเอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ จึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อน คือมีระบอบการเมืองดังกล่าวนั้นแล้ว รัฐบาลแห่งระบอบนั้นก็ดำเนินการแก้ไขสมมุติฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจ ให้ราษฎรทั่วหน้ามีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน

การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปส่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่นั้นย่อมมีจิตใจในทางค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยนชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของเจ้าของคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม


วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 2

ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรม ยกเลิกภาษีรัชชูประการ ( ภาษีส่วย ) อากรค่านา สถาปนาประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2481 และดำรงตำแหน่งนี้จนถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.2484

ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนั้นได้ปฎิบัติภารกิจเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมหลายประการ อาทิ

( 1 ) ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการซึ่งเป็นซากตกค้างจาก "เงินส่วย" ซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินาต้องเสียให้เจ้าศักดินา
( 2 ) ยกเลิกอากรค่านาที่เป็นซากของการบรรณาการซึ่งราษฎรที่ทำนาต้องส่งบรรณาการให้แก่เจ้าศักดินาสูงสุดที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม
( 3 ) ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม คือ ผู้ใดมีรายได้ก็เสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก และถ้าผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ
( 4 ) สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม
( 5 ) เมื่อสงครามใหญ่ได้เริ่มขึ้นในยุโรปก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลกนั้น ปรีดีได้จัดการปกป้องทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งมีอยู่ในต่างประเทศนั้นได้ทันท่วงที คือ

เมื่อครั้งระบบสมบูรณาฯ ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอร์ริงค์เป็นทุนสำรองเงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษ ปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้นจึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินลงทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่ง ซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้าน ออนซ์ (35 ล้านกรัม ) ในราคาออนซ์ละประมาณ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้

บัดนี้ทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณออนซ์ละ 350 เหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นต้นทุนที่ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องริรภัยของกระทรงการคลังเป็นราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น บัดนี้ทองคำดังกล่าวของชาติไทยมีค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( นอกจากนี้ยังมีทองคำที่ปรีดีได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาแลกกับเงินตราไทยจำนวนหนึ่งที่ปรีดีในฐานะหัวหน้าเสรีไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่จะให้เงินญี่ปุ่นกู้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต้องเอาทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารชาติของญี่ปุ่นกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งสัมพันธมิตรได้มอบให้รัฐบาลไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 )

โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษ อเมริกัน มาเป็นของรัฐบาลไทยสำเร็จก่อนญี่ปุ่นยึด
ตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคของอังกฤษ และอเมริกันนั้น บริษัทอังกฤษ-อเมริกัน ใช้สิทธิพิเศษทำการผูกขาดการทำบุหรีซิกกาแรตจำหน่ายในประเทศไทย

เมื่อปรีดีทำสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆแล้ว ปรีดีได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ได้จัดการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมและประกาศประมวลรัษฎากรแล้ว ปรีดีได้เสนอรัฐบาลให้เสนอ พรบ.ยาสูบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พรบ.นั้นได้ประกาศใช้แล้ว ปรีดีได้จัดการโอนกิจการของบริษัทอังกฤษ-อเมริกัน เข้ามาเป็นของรัฐบาลไทย การนั้นได้ทำเสร็จลงเมื่อประมาณ 6 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ถ้าสมมุติกิจการนั้นบริษัทอังกฤษอเมริกันเป็นเจ้าของอยู่ ญี่ปุ่นผู้รุกรานก็คงยึดเอาไปเป็นทรัพย์สินเชลยของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นจะผลิตยาสูบจำหน่ายในประเทศไทยตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็จะได้เงินกำไรหลายพันล้านบาท

เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อต้านเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
( 1 ) ทางการทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ติดต่อขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการให้ ปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นผู้นิยมสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากยังมีราษฎรนิยมนายปรีดีอยู่มาก ฉะนั้นขอให้จัดการให้ปรีดีดำรงตำแหน่งสูงสุดที่มิใช่อำนาจทางการเมือง ( หมายถึงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ในคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีนำความแจ้งแก่นายปรีดี ปรีดีจึงตกลงลาออกจากรัฐบาล วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2484 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้ปรีดี เป็นผู้สำเร็จาชการฯ คนหนึ่ง ในตำแหน่งคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างนั้น

( 2 ) ปรีดีเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับ 10 ธันวาม 2475 นั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจคัดค้านระบบเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นในการที่ปรีดีรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติแทนองค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 หน้าที่ต่อต้านเผด็จการ
( ก ) ระหว่าง พ.ศ.2485-2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกฤษฎีกามายังคณะผู้สำเร็จราชการฯ ให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ( จอมพล ป. ) มีอำนาจสั่งการทุกกระทรวงทบวงกรมได้ ปรีดีจึงทำเป็นบันทึกเสนอพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ว่าสมควรที่คณะผู้สำเร็จฯ ( ซึ่งรวมทั้งนายปรีดีด้วยนั้น ) จะต้องยับยั้ง ( Veto ) พระราชกฤษฎีกานั้น เพราะเท่ากับให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (จอมพล ป. ) มีอำนาจเผด็จการ ซึ่งขัดต่อระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ เห็นชอบด้วย คณะผู้สำเร็จฯ จึง "ยับยั้ง" ( Veto ) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พร้อมกันนั้นปรีดี ได้ทำจดหมายถึง พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุที่ "ยับยั้ง" (Veto) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พล.ต.ต.อดุล เฟ็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จฯ และยังมีรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรอีกหลายคนเห็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( ดูคำให้การ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส พยานคณะกรรมการอาชญากรสงคราม ซึ่งโจทย์อ้างเป็นพยานที่ศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 ซึ่งผู้เขียนบทความบางคนย่อมทราบหรือควรทราบแล้ว แต่จงใจเขียนหมิ่นประมาทใส่ความสมาชิกคณะราษฎรทุกคนว่าสนับสนุนให้จอมพล ป. เป็นเผด็จการ )

( ข ) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2487 สภาฯได้ลงมติด้วยคะแนนลับ ไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ที่รัฐบาล จอมพล ป. เสนอ และต่อมาวันที่ 22 เดือนนั้น สภาฯลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีจึงเสนอใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะผู้สำเร็จฯได้เชิญประธานสภาฯ มาปรึกษาเพื่อให้หยั่งเสียงผู้แทนราษฎรว่าผู้ใดควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในชั้นแรกผู้แทนราษฎรเห็นควรเชิญ พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระพหลฯ ปฎิเสธ คณะผู้สำเร็จฯ จึงขอให้ประธานสภาฯ หยั่งเสียงสภาผู้แทนราษฎรถึงบุคคลอื่นที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ผู้แทนราษฎรเห็นว่า นายควง อภัยวงศ์ สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ประธานผู้สำเร็จฯ ไม่ยอมลงพระนามแต่งตั้ง นาย ควง เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคพวกของ จอมพล ป. ก็ได้เรียกร้องให้คณะผู้สำเร็จฯ แต่งตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ปรีดีเห็นควรปฎิบัติตามมติของผู้แทนราษฎรส่วนมากที่ประธานสภาฯ ได้หยั่งเสียงแล้วนำมาเสนอคณะผู้สำเร็จฯ นั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ จึงลาออกจากตำแหน่ง ครั้นแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ตั้งปรีดี พนมยงศ์ เป็นผู้สำเร็จฯแต่ผู้เดียว ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น

ประการที่ 2 หน้าที่ปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
ปรีดีเห็นว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะและบริหารราชการแผ่่นดินด้วยพระองค์เองตามรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็จะไม่ทรงนิ่งเฉย หากจะทรงปฎิบัติให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะปฎิบัติตามหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนั้น

ปรีดีจึงดำเนินงานของขบวนการต่อสู้ญี่ปุ่นในประเทศไทยซึ่งต่อมาได้ร่วมกับเสรีไทยใน ส.ร.อ. และในอังกฤษเป็นขบวนการเสรีไทยอันเดียวกัน ในการปฎิบัติรับใช้ชาติไทย 2 ด้านประกอบกันคือ
( ก ) ด้านหนึ่งต่อสู่ญี่ปุ่นผู้รุกราน
( ข ) ปฎิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบา ( ดูหนังสือชื่อ "จดหมายของนายปรีดี พนมยงศ์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่อง จดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฎิบัติการใน แคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา" และหนังสือ "อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์,เสรีไทย,นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก" และ บทความนายป๋วย อึ้งภากรณ์ เกี่ยวกับเสรีไทย และบทความเกี่ยวกับเสรีไทยอีกหลายท่านที่พิมพ์ลงในหนังสือของนายดิเรก ชัยนาม เรื่อง ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯลฯ )

ประการที่ 3 ปรารภให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนุญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ท่านที่ได้อ่านสุนทรพจน์ฉบับ 24 มิถุนายน พ.ศ.2525 ของปรีดี ซึ่งลงพิมพ์เป็นเล่มและได้กระจายเสียงแล้ว ก็คงระลึกไ้ด้ว่า ปรีดีได้คัดความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยฉบับ 2489 ซึ่งมีความดังต่อไปนี้

"ต่อมานายปรีดี พนมยงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทยนี้พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปรกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นเอนกประการ ทั้งประชาชนจะได้รับซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่จะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง...."

ครั้นแล้วการดำเนินเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ให้ใช้เป็นกฎหมายได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489

หลักฐานของสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทยและรับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองว่าปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทย
แม้ว่ารัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. ( สหราชอาณาจักร ) และบริเตนใหญ่ และก่อสงครามกับประเทศจีนก็ตาม แต่ด้วยการปฎิบัติของขบวนการเสรีไทยเปนส่วนรวมที่เป็นคุณูปการแก่สัมพันธมิตร จึงเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย และรับรองว่านายปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทยตามหลักฐานดังต่อไปนี้

( 1 ) ในระหว่างที่อังกฤษรีรอการรับรองว่าประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะนั้น ส.ร.อ.ได้มีนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยที่แจ้งต่อรองผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานบริการยุทธศาสตร์โดยจดหมายของ มร.คอร์เดลล์ ฮัลล์ ฉบับเลขที่ 832/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1943 ( พ.ศ.2486 ) ซึ่งกล่าวถึงนโยบายของอเมริกันไว้ดังต่อไปนี้

จากหนังสือชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงศ์ หน้า 32
แปลเป็นภาษาไทย

ที่ 892.01/32
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ ( กูดเฟลโลว์ )

วอชิงตัน 26 สิงหาคม 1943

พันเอกกูดเฟลโลว์ที่รัก ในการแถลงตอบข้อถามของท่านด้วยวาจาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เกี่ยวกับปฎิบัติการอันพึงเป็นไปได้ของฝ่ายอเมริกันกับขบวนการเสรีไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงท่าทีของตนดังต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกาถือว่าไทยเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ไม่รับรองรัฐบาลไทยที่ประกอบอยู่ในปัจจุบัน ( รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) แต่รัฐบาลนี้ ( สหรัฐอเมริกา ) ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้ และคงรับรอง "อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอลิงตัน" เป็น "อัครราชทูตของประเทศไทย" ต่อไป อัครราชทูตผู้นี้ ( ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ) ได้ประฌามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น และ ( สหรัฐ ) ได้นับถือด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการเสรีไทยซึ่งอัครราชทูตคนนั้น ( ม.ร.ว.เสีย์ ปราโมช ) เป็นบุคคลสำคัญ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกามองไปข้างหน้าถึงการที่จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่าในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้มี หลวงประดิษฐ์ มนูญธรรม ( หรือที่รู้จักกันในนาม ปรีดี พนมยงค์ ) ผู้สำเร็จในคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุนรานของญี่ปุ่น

ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่า หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลประเทศไทยตามที่เปนอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ( จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า ( หลวงประดิษฐ์ ) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ตราบเท่าที่รัฐบาลสหรัฐมิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาล ส.ร.อ. ในอนาคต ในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย

ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นท่าทีชั่วคราวระหว่างการแสดงออกอย่างเสรีแห่งความปรารถนาของประชาชนไทย ภายหลังจากกองกำลังแห่งสหประชาชาติได้ทำการปลดแอกประเทศไทยแล้ว ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ และพึงเป็นจะจำกัดเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนไทยในการสถาปนารัฐบาลของประเทศตนที่สามารถดำเนินความรับผิดชอบของตนและเป็นอิสระจากการควบคุมของต่างชาติ ส่วนการคัดเลือกผู้นำของรัฐบาลในบั้นปลายนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัย

เป็นที่เชื่อได้ว่าคำชี้แจงนี้คงจะให้ความกระจ่างแก่ท่านได้ตามที่ต้องการ

ด้วยความซื่อสัตย์ต่อท่าน
( ลงนาม ) คอร์เดลล์ฮัลล์
( ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศ )

( 2 ) บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้เพื่อประธานาธิบดี


หนังสือของรัฐบาลอเมริกันชื่อ Foreign Relations of The Unitedtes ค.ศ.1945 เล่ม 6 หน้า 1242-1244
แปลเป็นภาษไทย
เลขที่ 892.01/1-1345


บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้
วอชิงตัน,13มกราคม 1945
บันทึกเพื่อประธานาธิบดี
( เพื่ออาจใช้ในการสนทนากับ มร.เชิชชิชล์ และจอมพลสตาลิน )
เรื่อง : สถานภาพภายหน้าของประเทศไทย

นโยบายบริติชเกี่ยวกับประเทศไทยนั้นต่างกับของเรา บริติชถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู นั่นเป็นทรรศนะของเขา คือ

1.ความเป็นเอกราชของไทยภายหลังสงครามจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ ( ประเทศไทย ) จะยอมรับให้มี "ข้อตกลงพิเศษเพื่อความปลอดภัยมั่นคงหรือการร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในระบบระหว่างประเทศ"

2.แหลมไทยเหนือมาลายาตั้งแต่เส้นขนานที่ 12 จะต้องถือว่าเป็นบริเวณยุทธศาสตร์ที่จำเป็น และการป้องกันภายใต้ข้อตกลงความปลอดภัยมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องดำเนินโดยมหาอำนาจอารักขา หรือโดยองค์กรร่วมระหว่างประเทศ เรื่องนี้มีรายงานว่าเป็นความเห็นของเชิชชิลด์ การปฎิบัติดังนี้ขัดขวางต่อสิทธิของระบบปกครองไทยในบริเวณนั้น

3.รัฐบาลทหารปัจจุบันนี้ไม่ีมีความจำเป็น ยหเว้นบางที่ในเขตการรบ อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคณะกรรมาธิการควบคุมของสัมพันธมิตรจะตั้งขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินต่อไประยะเวลาหนึ่ง

4.พวกเขาจะไม่ติดต่อขณะนี้กับรัฐบาลไทยใดๆ

ในทางตรงกันข้ามเรามิได้ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตประเทศไทยฝนวอชิงตันเป็น "อัครราชทูตแห่งประเทศไทย" ฐานะเหมือนกับอัครรราชทูตเดนมารก์ 

เราใคร่ให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราชและมีเสรีภาพ พร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอน และปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกโดยตนเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชอยู่ก่อนสงคราม เราเชื่อว่าผลประโยชน์ของอเมริกาจะเสียหายทั่วเอเชียถ้าผลแห่งสงครามจะอุบัติ ซึ่งเราจะมีภาระส่วนใหญ่ในการทำให้การรุกรายของญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ( ถ้า ) ประเทศไทยไม่มีดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งของตนที่มีไว้เมื่อก่อนสงคราม

หรือฐานะของประเทศไทยจะถูกบั่นทอน ประวัติศาสตร์แห่งการที่ชาวยุโรป บีบบังคับประเทศไทยและชาวยุโรปได้ยึดเอาดินแดนแห่งเอเชียอาคเนย์นั้นยังอยู่ในความทรงจำของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ ( สหรัฐ ) ไม่อาจมีส่วนรับผิดชอบด้วย ไม่ว่าทางใดๆ ที่จะดำเนินต่อประเทศไทยโดยระบบจักรวรรดินิยมในรูปแฝงอย่างใดๆทั้งสิ้น

ภายในประเทศไทยระบบปกครอง ( รัฐบาล พิบูลฯ ) ซึ่งเดิมยอมจำนนญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือ ( กับญี่ปุ่น ) อันเป็นที่รู้กันกระฉ่อนทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนโดยระบบปกครอง ( รัฐบาล ควงฯ ) ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยประดิษฐ์ ฯ ผู้สำเร็จราชการปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น อเมริกาได้ติดต่อกับประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ช่วยสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในงานข่าว และเป็นผู้ที่แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร

เป็นทรรศนะของกระทรวงการต่างประเทศ ( สหรัฐ ) ที่ต้องใช้ความอุตสาหะพยามจูงใจให้บริติชเปลี่ยนแผนการของพวกเขาเพื่อไม่ให้ขัดต่อเรา เป็นที่เชื่อว่าถ้าประเทศไทยเข้าร่วมสงครามต่อสู่ญี่ปุ่นประเทศไทยก็จะได้รับการปฎิบัติอย่างประเทศที่ได้รับการกู้อิสรภาพ และรัฐบาลของเขาก็จะได้รับการรับรองอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว แม้ว่าจะเป็นการเสียประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการมีกองทหารอเมริกัน นอกจากจำเป็นทางทหารในการร่วมยึดบริเวณอาณานิคมของชาวยุโรปกลับคืน แต่จะเป็นประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการที่มีกองทหารอเมริกันภายใต้การบัญชาการอิสระของอเมริกัน รับผิดชอบในการกู้อิสรภาพของประเทศไทยยิ่งกว่าที่จะให้ประเทศไทยถูกยึดครองดินแดนโดยกำลังทหารบริติช อย่างไรก็ตามการจะใช้กำลังทหารอเมริกันหรือไม่ในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่อนุมานว่าจะชี้ขาดความกระจ่างแจ้งแห่งการพิจารณาทางยุทธศาสตร์ทั้งปวง

ได้แนบบันทึกย่อเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการมาด้วย

3.โทรเลขลับระหว่างผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ กับ "รูธ" ( นามแฝงปรีดี )

โดยที่กำลังพลพรรคของเสรีไทยได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นจึงเกิดความระแวงสงสัยมากขึ้นว่าในประเทศไทยมีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างกว้างขวาง กองบัญชาการเสรีไทยเกรงว่าญี่ปุ่นอาจลงมือโจมตีก่อน ดังนั้น "รูธ" จึงส่งโทรเลขลับด่วนมากถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์มีความตรงกัน และได้รับคำตอบจากผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันรับรองความเป็นเอกราชของไทยดังต่อไปนี้
แปลเป็นภาษาไทย
เลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว / 5-2948
บันทึกจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
วอชิงตัน,28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ( พ.ศ.2488 )
ต่อไปนี้เป็นสาส์นสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศจากรูธ ( ปรีดี พนมยงศ์ ) กระทรวงต่างประเทศได้รับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1945

"ขบวนการต่อต้านของไทยในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนั้น ได้ปฎิบัติตามเสมอมาซึ่งคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันที่มิให้ปฎิบัติการใดๆในการต่อสู้ศัตรูล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควร แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่ากำลังใจรบของญี่ปุ่นจะลดน้อยลงไป ถ้าขบวนต่อต้านไม่คงอยู่ภายในฉากกำบังอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบีบให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรเร็วขึ้น เพราะความสลายของสิ่งที่เรียกว่าไพบูลย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามเราได้ถือตามคำแนะนำว่าขบวนต่อต้านจะต้องพยามขัดขวางความช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นจะได้จากประเทศไทย 

เราได้ดำเนินแนวทางนี้อย่างใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ท่านย่อมเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเริ่มมีความสงสัย (ขบวนต่อต้าน) มากยิ่งขึ้นตลอดมา เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) ไม่ยอมทำตามคำขอของญี่ปุ่นที่ขอเครดิจเพิ่มเติมอีก 100,000,000 บาท ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากรัฐบาลปัจจุบันว่าจะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป ถ้าญี่ปุ่นยืนยันเช่นนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะตั้งขึ้นและจะปฎิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น โดยประการแรกประกาศโมฆะกรรมซึ่งหนี้สินและข้อตกลงที่รัฐบาลพิบูลกับญี่ปุ่นได้ทำกันไว้ รวมทั้งสนธิสัญญาที่ผนวก 4 รัฐมาลายาและรัฐไทยใหญ่ไว้กับประเทศไทย อีกทั้งการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ กับประเทศไทยจะสถาปนาขึ้นดังที่เป็นอยู่ก่อนเพิรล์ ฮาเบอร์ (ก่อนญี่ปุ่นรุกราน) 

ก่อนที่จะดำเนินแผนการนี้ข้าพเจ้าปรารถนาแจ้งให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ แม้ว่าข้าพเจ้าตระหนักว่าสหรัฐมีเจตนาดีเกี่ยวกับเอกราชของประเทศไทยและมีความนับถือประชาชนไทยอย่างสุดซึ้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฎิบัติการนั้น สหรัฐจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งของสหประชาชาติและไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ ข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผ๔้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (ลอรด์ หลุยส์ เมาส์ แบทเตน) แล้ว"

คำตอบของสหรัฐส่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 มีความต่อไปนี้

"ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาส์นของท่านถึงรัฐมนตรีการต่างประเทศ เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อสู้ศัตรูทางปฎิบัติการโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อแน่ว่าอย่างไรก็ตามท่านย่อมตระหนักว่า การต่อสู้ศัตรูร่วมกันของเรานั้นต้องสมานกับยุทธศาสตร์ทั้งปวงในการต่อสู่ญี่ปุ่น และไม่เป็นผลดีหากไทยทำล้ำหน้าก่อนเวลาอันสมควรและก่อนที่จะมีเหตุผลประกันว่าจะได้ชัยชนะ ถ้าลงมือปฎิบัติการอย่างเปิดเผยที่มิได้อยู่ในแผนของผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ฉะนั้นเราหวังว่าท่านจะใช้ความพยามต่อไปที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นโดยการกรำทำล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควรโดยขบวนต่อต้าน หรือการปฎิบัติอันเร่งให้ญี่ปุ่นรีบยึดรัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) เราเชื่อมั่นว่าท่านจะแจ้งให้เราและบริติชทราบโดยบริบูรณ์ ถ้าการขยายตัว ( ของสถานการณ์ ) จะเกิิดขึ้นได้ในไม่ช้า โดยฝืนต่อความพยามของท่าน

ความปรารถนาจริงใจของท่านต่อมวลราษฎรไทยในการบอกปัดการประกาศสงครามกับข้อตกลง (กับญี่ปุ่น) ของพิบูล ฯ นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจแจ่มแจ้งและมีคุณค่า แต่ยังไม่แจ้งชัดว่าเหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล ควงฯ) จะลาออกขณะนี้ หรือมีการบังคับอย่างใดที่รัฐบาลต่อไปจะถือเอาการบอกปัด (ประกาศสงครามและข้อตกลงกับญี่ปุ่น) เป็นการกระทำแรก ย่อมจะเห็นได้ว่าขบวนการต่อต้านจะบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าเมื่อแสดงตนออกจากกำบังแล้ว คือ โดยการสมานจู่โจมฉับพลันต่อการลำเลียง ต่อคมนาคม ต่อกองกำลัง ต่อยุทโธปกรณ์ของศัตรู และยึดตัวนายทหาร พนักงาน เอกสาร จุดสำคัญของศัตรู การปฎิบัติการทางการเมืองเรื่องการบอกปัด (ประกาศสงคราม) และการเข้าอยู่ในแถวเดียวกันกับสัมพันธมิตรก็ตามมาภายหลัง

เราถือเป็นความสำคัญอย่างใหญ่ที่จะมีรัฐบาลไทยตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพตั้งอยู่บนดินแดนไทย ทำการร่วมมือกัยสัมพันธมิตร เราหวังว่าการเตรียมการทุกอย่างที่จะเป็นไปได้จะต้องทำขึ้นในอันที่จะป้องกันการยึดตัวบุคคลสำคัญที่นิยมสัมพันธมิตรหรือกระจายบุคคลสำคัญเหล่านี้ เพื่อว่ารัฐบาลดังกล่าวนั้นจะปฎิบัติหน้าที่ได้ทันทีในบริเวณที่เป็นอิสระจากญี่ปุ่นและสามารถสั่งทหารไทยปฎิบัติการร่วมมือกับสัมพันธมิตร และฟื้นการสถาปนากลไกกิจการพลเรือนของรัฐบาลในบริเวณที่กู้อิสรภาพแล้ว

สหรัฐไม่อาจประกาศโดยลำพังได้ว่าชาติอื่นชาติใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่จะมีความยินดีประกาศซ้ำอีกโดยเปิดเผยในโอกาสเหมาะสมถึงการเคารพความเป็นเอกราชของชาติไทย และประกาศว่าไม่มีเวลาใดที่สหรัฐถือว่าไทยเป็นศัตรู เรามองไปข้างหน้าถึงวันที่ประเทศของเราทั้งสองจะแสดงเปิดเผยต่อมหาชนถึงจุดหมายร่วมกันของเราในการต่อสู่ศัตรูร่วมกันของเรา"

( ลงนาม ) กรูว์
รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศ

4.คำเปิดเผยของลอรด์ หลุยส์ เมาน์ท แบทเตน
แปลเป็นภาษไทย

ไทมส์ 18/12/1946
อาคันตุกะผู้หนึ่งจากสยาม
การณรงค์ของหลวงประดิษฐ์ ฯ
คำเปิดเผยของ ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน

ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน แห่งพม่า ผู้ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ได้รับการต้อนรับเลี้ยงอาหารกลางวันโดย ซิตี้ โลเวรี่คลับ ณ.ไซออน คอลเลจ เมื่อวานนี้ ได้บรรยายไว้ในสุนทรกถาของท่านถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์ฯ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามในการกำจัดกองทัพญี่ปุ่นซึ่งยึดครองประเทศนั้น ท่านลอรด์ได้สาธยายเกี่ยวกับรายละเอียดซึ่งหนังสือพิมพ์ไทมส์ ได้เคยลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม คือประมาณหนึ่งปีมาแล้ว และได้ประกาศแถลงว่า ประดิษฐ์ บุคคลที่มีบทบาทที่น่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามเอเชียอาคเนย์นั้นกำหนดจะมาถึงประเทศอังกฤษโดยเรือ ควีนอลิซาเบธพรุ่งนี้เช้า

ลอรด์ เมาน์ท แบตเทนกล่าวว่า ปรีดี พนมยงศ์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามได้เป็นที่รู้จักของโลกในนาม "หลวงประดิษฐ์" มากกว่า และพวกเราหลายคนแห่งกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์รู้จักเขาตามชื่อรหัสว่า "รู้ธ" เขามาเยี่ยมประเทศนี้ (อังกฤษ) ด้วยสันถวไมตรีในระยะสั้นๆ ในฐานะแขกของรัฐบาลอังกฤษ และข้าพเจ้าหวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ให้การรับรองเขาอย่างอบอุ่น เพราะเหตุที่ประดิษฐ์เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่ง แห่งสงครามเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างกาละแห่งสงครามนั้น เป็นการแน่นอนทีเดียวว่าชื่อของเขาจะมีการระบุถึงได้ก็แต่โดยการกระซิบกระซาบกันเท่านั้น และเรื่องราวทั้งปวงเกี่ยวกับเขาก็ถูกถือว่าเป็น "ความลับสุดยอด" ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันมหาชนบริติชส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยทราบเท่าไรนักถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้ว

ในตอนที่ญี่ปุ่นรุกรานยึดครองสยาม ประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งในรัฐบาลแต่เขาได้ปฎิเสธที่จะลงนามในการประกาศสงครามกับเรา พิบูลรู้ว่าประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งที่ทรงอำนาจอย่างยิ่งและได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศ และก็หวังที่จะทำให้เขาเป็นตัวหุ่นโดยยกเขาขึ้นไปสู่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายอมรับ พิบูลหรือญี่ปุ่นมิได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่าขณะที่ประดิษฐ์ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นั้นเขาก็ได้เริ่ทต้นดำเนินการจัดตั้งและอำนวยการขบวนการต่อต้านของชาวสยามขึ้น

คณะผู้แทนหายสาปสูญไป

เราได้รับรู้จากข่าวแหล่งต่างๆว่า พิบูลมิได้ประสบผลทุกอย่างตามวิถีทางของเขาในประเทศสยาม แต่การจะติดต่อ (กับขบวนการต่อต้านภายในสยาม) นั้นก็ลำบากมาก และทั้งเป็นการยากที่จะล่วงรู้ได้ด้วยว่าอะไรได้ดำเนินไปโดยแท้จริงอย่างไร คณะผู้แทนของประดิษฐ์ 2 คณะได้หายไประหว่างการเดินทางด้วยภยันอันตรายเพื่อไปยังประเทศจีนและไม่เห็นอีกเลย แต่ในที่สุดจุดนัดพบอันหนึ่งก็ได้สถาปนาขึ้น