วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หลักการว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจ ( Checks and Balances )

ภาพแสดงหลักการถ่วงดุลอำนาจ


หลักการว่าด้วยการถ่วงดุลอำนาจ ( Checks and Balances )
จากการที่รัฐธรรมนูญมีการกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายเป็นอิสระต่อกัน คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติให้อำนาจทั้ง 3 มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงระบบของการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจของทั้ง 3 ฝ่าย 

โดยแต่ละฝ่ายสามารถถือสิทธิ และปกป้องสิทธิของตนเอง โดยการยับยั้ง และสนับสนุนในกิจกรรมสำคัญๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งในทางปฏิบัติผู้ร่างรัฐธรรมนูญมิได้ให้รัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกามีการแบ่งแยกอำนาจออกจากกันโดยเด็ดขาด แต่เป็นการแบ่งแยกหน้าที่โดยใช้อำนาจร่วมกันจึงกล่าวได้ว่าหลักการถ่วงดุลอำนาจนี้ มีผลช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากรัฐธรรมนูญของหน่วยงานทั้งสามเป็นไปได้โดยสะดวก และป้องกันการเป็นเผด็จการในการใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

ตัวอย่างในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของทั้ง 3 ฝ่าย อาจพิจารณาได้ดังนี้

ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ( Congressional Checks on the Executive Branch )
ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ซึ่งการใช้อำนาจนี้สามารถแสดงออกมาในลักษณะต่างๆ กัน คือ

(1) อำนาจในการฟ้องร้องไต่สวน ตลอดจนพิจารณาพิพากษาคดีว่าประธานาธิบดีและข้าราชการฝ่ายบริหารกระทำความผิดทางอาญาจริงหรือไม่ ถ้ามีความผิดจริงโทษอย่างน้อยก็คือการถอดถอนออกจากตำแหน่ง

(2) อำนาจในการให้คำแนะนำ และความยินยอมต่อการแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประธานาธิบดี อำนาจนี้ถือว่าเป็นอำนาจของสภาสูงเท่านั้น นอกจากนี้สภาสูงยังเป็นผู้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาที่ประธานาธิบดีได้กระทำขึ้นกับรัฐบาลต่างประเทศด้วย

(3) อำนาจในการจัดสรร และควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณขององค์กร และหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายบริหาร อำนาจนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นอำนาจที่สำคัญที่สุดของสภาคองเกรส เพราะมีผลต่อการบริหารงานของประธานาธิบดี ยิ่งกว่านั้นฝ่ายนิติบัญญัติยังมีอำนาจในการอนุมัติการจัดเก็บภาษี และการใช้จ่ายขององค์กรและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลด้วย ดังนั้นการให้คำยินยอมของสภาคองเกรสต่อการดำเนินงาน และนโยบายของรัฐบาลนั้นจึงมีผลต่อความสำเร็จในการบริหารงานของรัฐบาลโดยตรง

ฝ่ายนิติบัญญัติถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ (Congressional checks on the Judicial Branch)
ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการถ่วงดุลฝ่ายตุลาการในลักษณะต่างๆ ดังนี้ 

(1) อำนาจในการจัดตั้งศาลสหรัฐระดับต่างๆ ยกเว้นศาลสูง

(2) อำนาจให้ความเห็นชอบในการกำหนดจำนวนผู้พิพากษาศาลสูง

(3) สภาสูงเป็นผู้ให้คำแนะนำ และยินยอมต่อการแต่งตั้งผู้พิพากษาที่ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอ ในขณะเดียวกันสภาสูงก็เป็นผู้พิพากษาคดีที่ผู้พิพากษากระทำความผิดทางอาญา โดยใช้กระบวนการฟ้องร้องเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (Impeachment)

ฝ่ายบริหารถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ (Presidential Checks an Congress)
ฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจในการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติในลักษณะต่างๆ ดังนี้

(1) ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า ประธานาธิบดีจะต้องส่งสารไปแถลงนโยบาย และสภาพความเป็นไปของประเทศ ตลอดจนเสนอมาตรการในการแก้ไขต่อสภาคองเกรส เพื่อพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ ซึ่งการกระทำดังนี้จะเห็นได้ว่า ฝ่ายบริหารไม่เพียงแต่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น แต่หากการกระทำของฝ่ายบริหารนี้มีผลทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติต้องสนใจนโยบายของฝ่ายบริหาร จึงถือได้ว่าเป็นการรั้งและถ่วงดุลแห่งอำนาจของฝ่ายบริหาร

(2) ประธานาธิบดีมีอำนาจในการเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยจะเป็นการประชุมเพียงสภาหนึ่ง หรือสองสภาก็ได้ นอกจากนั้นยังมีอำนาจในการเลื่อนวันปิดสมัยประชุม ในกรณีที่สภาทั้งสองไม่อาจจะตกลงกันได้

(3) อำนาจที่สำคัญที่สุดของประธานาธิบดีในฐานะผู้นำของฝ่ายบริหาร ก็คืออำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย (Veto Power over Bills) ซึ่งสภาคองเกรสจะเอาชนะการยับยั้งของประธานาธิบดีได้ก็จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา

(4) ประธานาธิบดีอาจจะเพิกเฉยต่อกฎหมายของสภาคองเกรส (An Act of Congress) โดยบอกว่ากฎหมายที่สภาคองเกรสผ่านออกมานั้นในทัศนะของประธานาธิบดีไม่มีผลในการบังคับ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาคองเกรสไม่มีมาตรการใดๆ จะใช้บังคับประธานาธิบดีให้ประกาศบังคับใช้กฎหมายตามที่ตนต้องการได้เสมอไป หากประธานาธิบดีใช้ข้ออ้างดังกล่าว สภาคองเกรสสามารถลงโทษประธานาธิบดีได้เพียงประการเดียว คือ การถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งเพราะกระทำความผิดทางอาญา และประพฤติตนไม่เหมาะสม แต่เป็นการยากที่จะถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง เพราะจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาสูงถึงสองในสาม ซึ่งประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันยังไม่เคยปรากฏ

ฝ่ายบริหารถ่วงดุลฝ่ายตุลาการ (Presidential Checks on the Judiciary)
ประธานาธิบดีมีอำนาจที่สำคัญ ในการถ่วงดุลฝ่ายตุลาการดังนี้

(1) อำนาจในการให้อภัยโทษต่อบุคคลที่กระทำความผิด หรือถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด

(2) อำนาจในการให้อภัยโทษทั่วไป ซึ่งจะให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือกลุ่มบุคคลซึ่งกระทำความผิด

(3) คำสั่งและคำพิพากษาของศาลจะมีผลใช้บังคับอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร

(4) ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอแต่งตั้งผู้พิพากษา โดยคำแนะนำและยินยอมจากสภาสูง

ฝ่ายตุลาการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร (Judicial Checks on Congress and the President)
ฝ่ายตุลาการเป็นองค์กรที่มีอำนาจค่อนข้างจำกัดในบรรดาองค์กรทั้งสาม อำนาจของฝ่ายตุลาการในการถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

(1) อำนาจในการตีความว่าการกระทำของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารนั้นถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่

(2) ศาลสูงเป็นสภาบันเดียวที่ทำการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ

(3) ฝ่ายตุลาการไม่สามารถบังคับให้ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติปฏิบัติตามคำสั่ง และกฎข้อบังคับได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นถือเป็นประเพณีว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของฝ่ายตุลาการ

การแบ่งแยกอำนาจ และการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้ง 3 ฝ่ายทำให้แต่ละฝ่ายประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจทางการเมือง เพราะการแบ่งแยกอำนาจ ทำให้ไม่มีฝ่ายใดล่วงล้ำกิจกรรมที่เป็นความรับผิดชอบของอีกฝ่ายหนึ่งได้ การตรวจสอบถ่วงดุลจะเป็นการกระทำให้ทั้ง 3 ฝ่ายตามอำนาจซึ่งกันและกัน ผลที่ได้คือการกระจายอำนาจทางการเมือง 

แต่ที่สำคัญคือการทำให้หลักของ มองเตสกิเออ ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล โดยการแบ่งแยกบุคลากรของรัฐบาลให้เป็นอิสระต่อกันอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 3 ฝ่าย ถ้าดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งอื่นๆ พร้อมกันในอีก 2 ฝ่ายได้