วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (The Constitution)
ความนำ
ในการปกครองประเทศต่างๆนั้น ย่อมมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการจัดสังคมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายแม่บทเพื่อเป็นหลักในการบัญญัติกฎหมายในการจัดระเบียบของสังคมให้มีความสันติสุข กฎหมายแม่บทซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเรียกว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญอาจมีสาระสำคัญแตกต่างกันไปตามลัทธิการปกครองของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างหลักของรัฐธรรมนูญจะระบุเกี่ยวกับการใช้อำนาจในการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ รวมทั้งบทบัญญัติอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองแต่ละสังคมด้วย ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าทุกประเทศมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ลักษณะของรัฐธรรมนูญอาจแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับระบอบการปกครองหรือประเพณีการปกครองที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน

ประเทศสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน ได้กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองประเทศซึ่งก่อให้เกิดความเจริญมั่นคงทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและเป็นต้นแบบของรัฐธรรมนูญในประเทศต่างๆ จำนวนมาก การที่รัฐธรรมนูญมีอายุยืนยาวกว่า 200 ปี นั้นเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีจุดเริ่มต้นจากคำประกาศอิสรภาพของ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากนักปรัชญาเมธี จอห์น ล็อค (John Lock) 

จอห์น ล็อค (John Lock)
นอกจากนี้คำประกาศอิสรภาพยังมีรากฐานมาจากอิทธิพลดั้งเดิมของสหราชอาณาจักร คือการที่ว่าสหรัฐอเมริกาเป็นเมืองขึ้น ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการกีดกันสิทธิและการไม่ได้เป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักรสิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานในการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกามีการผสมผสานความคิดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสถานการณ์ในขณะนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกามีลักษณะชัดเจนไม่สลับซับซ้อนสามารถปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัยโดยกำหนดให้มีการแก้ไขได้ ทั้งนี้เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการนำไปใช้ในโลกของความเป็นจริง เพื่อให้การบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยได้กล่าวถึงเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งครอบคลุมสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่ ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ หลักการแห่งรัฐธรรมนูญ โครงสร้างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา
ความขัดแย้งระหว่างสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นเมืองเก่ากับอาณานิคมทั้ง 13 แห่งในอเมริกาได้เริ่มต้นมานานแล้ว เนื่องมาจากนโยบายของสหราชอาณาจักรในเรื่องการค้า และการจัดเก็บภาษีได้ส่งผลกระทบต่อความคิดของชาวอาณานิคมเป็นอย่างมาก และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากที่บทความเรื่อง “สามัญสำนึก” (Common Sense) ของ โธมัส เพน (Thomas Paine) ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ.1776 ที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ซึ่งกล่าวถึงการประกาศอิสรภาพของชาวอาณานิคม และมีการเผยแพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว จนกระทั่งนำไปสู่การรวมตัวเพื่อประกาศอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1776

โธมัส เพน (Thomas Paine)
สามัญสำนึก (Common Sense)
โดยผู้นำจาก 13 มลรัฐได้ประชุมร่วมกัน เรียกว่า “Continental Congress” และที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษขึ้นในเดือนมิถุนายนเพื่อร่างคำประกาศอิสรภาพ ผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นผู้เขียนคำประกาศดังกล่าว คือ โธมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) จากมลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ต่อมาได้มีการแก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 โดยมีผู้แทนลงนามให้สัตยาบันทั้งสิ้น 56 คน  

การประชุม Continental Congress
หลังจากคำประกาศอิสรภาพได้ไม่นานจึงมีการร่างบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐขึ้น (Article of Confederation) ซึ่งนับได้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกา บทบัญญัตินี้มิได้รับการยอมรับจากมลรัฐสมาชิก จนกระทั่งในปี ค.ศ.1781 การให้สัตยาบันจึงครบสมบูรณ์ สาเหตุที่ต้องใช้ระยะเวลานานเนื่องจากมลรัฐอิสระต่างๆ มีความต้องการที่จะรักษาอธิปไตย และอำนาจของมลรัฐของตนไว้ 

บทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐขึ้น (Article of Confederation)
บทบัญญัติของสมาพันธรัฐเกิดขึ้นหลังจากการประกาศอิสรภาพเป็นลักษณะการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ของมลรัฐต่างๆ การตัดสินใจในหัวข้อต่างๆ จะกระทำกันในสภานิติบัญญัติของมลรัฐ ซึ่งอำนาจส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่สภานิติบัญญัติของมลรัฐ ในขณะที่รัฐบาลกลางของสมาพันธ์มีอำนาจจำกัด อาทิ รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจในการที่จะเรียกเก็บภาษี ไม่มีอำนาจในการวางกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างมลรัฐหรือยับยั้งการเก็บภาษีของมลรัฐต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาได้แก่ 

ประการแรก ปัญหาหนี้สินของสมาพันธรัฐ เนื่องจากรัฐบาลกลางต้องพึ่งพามลรัฐต่างๆ ในการจัดส่งภาษีประจำปีให้ แต่มลรัฐต่างๆ ไม่ให้ความร่วมมือในการจัดส่งภาษี จึงก่อให้เกิดปัญหาแก่รัฐบาลกลางในการชำระหนี้และขาดงบประมาณในการปฏิบัติงาน

ประการที่สอง รัฐบาลกลางไม่มีอำนาจในการติดต่อกิจการระหว่างประเทศ รวมทั้งการไม่มีกองทัพ จึงก่อให้เกิดปัญหาภายนอกอาณาเขตที่มีผลกระทบต่อสมาพันธรัฐ

ในที่สุดปัญหาต่างๆ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความเป็นศัตรูทางการค้าระหว่างมลรัฐต่างๆ เนื่องจากแต่ละมลรัฐต่างมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตน เช่น มลรัฐนิวยอร์ค (New York) และมลรัฐนิวเจอร์ซี (New Jersey) มีการตั้งกำแพงภาษีสูงสุดสำหรับสินค้าจากภายนอก นอกจากนั้นในปี ค.ศ. 1784 เกิดสภาะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงขึ้นในสหรัฐอเมริกา ทำให้แต่ละมลรัฐพยายามกระทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตน โดยไม่คำนึงถึงอำนาจของสมาพันธรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันการแก้บทบัญญัติสมาพันธรัฐ นั่นคือ การเกิด “จลาจลของเชส” (The Shay’ Rebellion) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1786 โดยกลุ่มชาวไร่ชาวนาทางภาคตะวันตกของมลรัฐ แมสซาชูเสท (Massachusett) ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดความไม่พอใจในเรื่องที่สภานิติบัญญัติของมลรัฐไม่ยอมทำตามคำเรียกร้องในการออกเงินตราและกฎหมายเพื่อยับยั้งการใช้หนี้การจลาจลครั้งนี้นำโดย แดเนียล เชส์ (Daniel Shsys) แต่ในที่สุดฝ่ายจราจลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อรัฐบาลกลาง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มลรัฐเกิดความรู้สึกที่จะสนับสนุนรัฐบาลกลางมากขึ้น

จลาจลของเชส (The Shay’ Rebellion) 1786
ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1786 มลรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia) ในฐานะสมาชิกของสมาพันธรัฐได้ออกคำเชิญให้มลรัฐอื่นๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการพาณิชย์อันเกิดจากข้อจำกัดของมลรัฐต่างๆ ที่เมืองแอนนาโปลิส (Annapolis) มลรัฐแมรี่แลนด์ (Maryland) การประชุมในครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ในตอนท้ายของการประชุมได้มีมติให้ทุกมลรัฐแต่งตั้งผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ในปี ค.ศ. 1787 ซึ่งในการประชุมที่ฟิลาเดเฟีย ได้รับความร่วมมือจากผู้แทนจากมลรัฐต่างๆ เข้าร่วมประชุม 55 คน จากทั้งหมด 74 คน ผลของการประชุมดังกล่าวนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสหรัฐอเมริกาเพื่อแทนที่บทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐเดิม

การประชุมร่างรัฐธรรมนูญ ( The Constitutionnal Convention )
ในปี ค.ศ.1787 ตัวแทนจากมลรัฐต่างๆ ได้เข้าร่วมประชุมที่เมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้ที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยบุคคลที่มีความมั่งคั่ง มีระดับการศึกษาสูง เป็นกลุ่มเจ้าของธุรกิจการค้าและเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ในที่ดิน ไม่มีสมาชิกที่มาจากกลุ่มของผู้ใช้แรงงานและชาวนา จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มีทั้งหมด 55 คน จากตัวแทน 74 คน (12 มลรัฐ) ยกเว้น โรดไอแลนด์ (Rhode Island) เท่านั้นที่ไม่มาเข้าร่วมประชุม เนื่องจากรัฐบาลของโรดไอแลนด์ขาดความเข็มแข็งและไร้เสถียรภาพ 

ในการร่างรัฐธรรมนูญคณะผู้เข้าร่วมประชุมได้มีความเห็นแตกแยกกันเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งต้องการรัฐบาลที่เข็มแข็งซึ่งเรียกตัวเองว่า ฝ่ายเฟดเดอรัลลิสต์ (Federalist ) และอีกฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาไว้ซึ่งอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมลรัฐ โดยไม่เห็นด้วยกับการรวมอำนาจของรัฐบาลกลาง เรียกตัวเองว่า ฝ่ายแอนติเฟดเดอรัลลิสต์ ( Anti- Federalist ) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีแนวความคิดแตกต่างกันอย่างชัดเจน 

เมื่อการประชุมร่างรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้น ผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมรัฐธรรมนูญได้ยอมรับแผนการเวอร์จิเนีย ( Virginai Plan ) ซึ่ง เอ็ดมันด์ แรนดอล์ฟ ( Edmund Randolph ) เป็นผู้เสนอโดยแผนการเวอร์จิเนีย มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการเรียกร้องให้เพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางโดยระบุให้รัฐบาลปกป้องเสรีภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน และยังกล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้นำฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งในบทบัญญัติแห่งสมาพันธรัฐมิได้บัญญัติไว้ ดังนั้น จึงพบว่าแผนการเวอร์จิเนีย มีวัตถุประสงค์ที่จะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มากกว่าเป็นเพียงแค่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดิมที่เรียกว่า อาร์ติเคิลออฟคอนเฟดเดอเรชั่น ( Articles of Confederation ) ที่ประกาศใช้มาก่อนหน้านี้ 

แผนการเวอร์จิเนีย ( Virginai Plan )
เอ็ดมันด์ แรนดอล์ฟ ( Edmund Randolph ) ผู้เสนอแผนการเวอร์จิเนีย
นอกจากนี้ ยังมีแผนการนิวเจอร์ซี ( New Jersey Plan ) ซึ่งวิลเลี่ยม ปีเตอร์สัน ( William Peterson ) เป็นผู้เสนอ 

แผนการนิวเจอร์ซี ( New Jersey Plan )
วิลเลี่ยม ปีเตอร์สัน ( William Peterson ) ผู้เสนอแผนการนิวเจอร์ซี ( New Jersey Plan )
สาระสำคัญของแผนการเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาด้วย ดังรายละเอียด4krแสดงการเปรียบเทียบในตารางต่อไปนี้

ภาพแสดงการเปรียบเทียบข้อเสนอในการร่างรัฐธรรมนูญ

จากเนื้อหาสาระของแผนการเจอร์จิเนีย ( Virginia Plan ) และแผนการนิวเจอร์ซี ( New Jersey Plan ) ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ในที่สุดได้มีการตกลงประนีประนอมในเรื่องสำคัญกัน ( Great Compromise ) ที่เมืองคอนเนคติกัต ( Connecticut ) ซึ่งเรียกว่า “เดอะ คอนเนคติกัท พรอมมิส (Connecticut Compromise ) ข้อตกลงดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

เดอะ คอนเนคติกัท พรอมมิส (Connecticut Compromise)
ประเด็นสำคัญในการตกลงครั้งนี้คือ

ประการแรก เรื่องจำนวนผู้แทนเนื่องจากมลรัฐเล็กเกรงว่ามลรัฐใหญ่จะใช้อิทธิพลในการมีผู้แทนที่มีจำนวนมากกว่าเข้าครอบงำการกระทำต่างๆ ของมลรัฐเล็ก ดังนั้น เพื่อเป็นการปัองกันความหวั่นวิตกของมลรัฐเล็ก รัฐธรรมนูญจึงกำหนดระบบสองสภาขึ้นมาโดยให้สภาผู้แทนราษฎร ( House of Representatives ) มีจำนวนผู้แทนตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรของแต่ละมลรัฐและนับรวมทาสจำนวน 5 คน มีสิทธิเท่ากับ 3 คน ในการเลือกตั้งผู้แทน ส่วนสภาสูง ( Senate ) นั้นให้แต่ละมลรัฐมีผู้แทนได้เท่ากันคือ 2 คน

ประการที่สอง คือ การเลือกตั้งผู้นำฝ่ายบริหาร มีการประนีประนอมกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ผู้นำฝ่ายบริหารได้รับการเลือกตั้งจากสภาผู้แทนราษฎร กับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการให้ผู้นำฝ่ายบริหารได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนข้อประนีประนอมตกลงให้สร้างคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ( Electoral College ) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากมลรัฐต่างๆ มาทำการเลือกตั้งประธานาธิบดี 

การให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ ( Ratificalton of Constitution )
การขอสัตยาบันจากที่ประชุมร่างรัฐธรรมนูญนั้นค่อนข้างมีปัญหาเพราะการเขียนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เป็นการกระทำที่เกินอานาจของผู้แทนที่เข้าร่วมประชุม เหตุผลคือวัตถุประสงค์ของการประชุมในตอนแรกเป็นเพียงความต้องการที่จะแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่องของบทบัญญัติสมาพันธรัฐให้ดีขึ้นแต่ผลการประชุมกลายเป็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบ และการให้สัตยาบันจากสภานิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐ

อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับของรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1787 และมีการลงมติในวันที่ 17 กันยายน ซึ่งในที่ประชุมประกอบด้วยตัวแทนจาก 12 มลรัฐ (ยกเว้น Rhode Island )โดยมีผู้ลงชื่อเห็นชอบด้วย 39 คน จากผู้แทนทั้งหมด 42 คน จากนั้นจึงเสนอร่างต่อสภาคองเกรสของสมาพันธรัฐ (Confederation Congress) สภาคองเกรสได้มอบอำนาจให้สภานิติบัญญัติของแต่ละมลรัฐเพื่อตัดสินใจให้สัตยาบันต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ได้ต่อเมื่อได้รับการให้สัตยาบันจาก 9 มลรัฐใน 13 มลรัฐ

รัฐบาลมีมลรัฐต่างๆ เริ่มให้สัตยาบันในปี ค.ศ.1787 ภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังจากเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 5 มลรัฐแรกให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในจำนวนนี้มีถึง 4 มลรัฐที่เป็นมลรัฐขนาดเล็ก คือ เดลลาแวร์ ( Delaware ) นิวเจอร์ซี ( New Jersey ) จอร์เจีย ( Geogia ) และ คอนเนคติคัต ( Connecticut ) แสดงให้เห็นว่าในที่ประชุมฟิลาเดลเฟียยอมรับในความเท่าเทียมกันของผู้แทนในแต่ละมลรัฐ 

ถึงแม้ว่า 9 มลรัฐจะให้สัตยาบันแล้วในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1788 แต่รัฐบาลกลางยังให้ความสำคัญกับมลรัฐเวอร์จิเนีย และนิวยอร์ค เพราะมลรัฐเวอร์จิเนียเป็นมลรัฐที่มีประชากรมากที่สุด ส่วนนิวยอร์คเป็นมลรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมลรัฐหนึ่ง ถ้าหากทั้ง 2 มลรัฐให้การรับรัฐธรรมนูญ การทำงานของรัฐบาลจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ในการประชุมให้สัตยาบันที่นิวยอร์ค ( New York ) ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ ( Federallist ) นำโดย อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตัน ( Alexander Hamilton ) เจมส์ เมดิสัน (James Madison ) จอห์น เจย์ (John J ay ) ได้เขียนบทความขึ้น 85 บทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์คนิวส์ ( New York Newspaper ) โดยใช้นามปากกาว่า “พับลิอุส” ( Publius ) ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ในบทความร่วมกันชื่อว่า เดอะเฟดเดอรัลลิสเพเพอร์ ( The Federalist Papers ) โดยเป็นบทความที่สนับสนุนการใช้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ 

เดอะ เฟดเดอรัลลิส เพเพอร์ ( The Federalist Papers ) บทความที่สนับสนุนการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ
ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ ( Anti-Federalist ) นำโดย ริชาร์ด เฮนรี ลี ( Richard Henry Lee ) ได้เขียบบทความ “เลตเตอร์ออฟเดอะเฟดเดอรัลลิสฟาร์เมอร์” ( Letter of the Federalist Farmer ) ขึ้นมาเช่นกัน 

กลุ่มที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ ( Anti-Federalist )
ซึ่งในขณะนั้นบทความ “เดอะเฟดเดอรัลลิสเพเพอร์” มีอิทธิพลในการเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนส่วนใหญ่ในการสนับสนุนการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ผู้สนับสนุนยังใช้บทความ “เดอะ เฟดเดอรัลลิส เพเพอร์” เป็นเครื่องมือในการโต้เถียงในที่ประชุมด้วย 

ส่วนมลรัฐ นอร์ทแคโรไลน่า ( North Carolina ) และ โรดไอแลนด์ ให้สัตยาบันในปี ค.ศ.1789 และ ค.ศ.1790 ตามลำดับ หลังจากการให้สัตยาบันของทุกๆ มลรัฐในขณะนั้นแล้ว จึงถือได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.1787 มีผลบังคับใช้โดยสมบูรณ์

แสดงลำดับรายชื่อของมลรัฐที่ให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ
โครงสร้างรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา
โครงสร้างรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้ระบุสาระสำคัญไว้เพียงไม่กี่มาตรา และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในแต่ละยุคสมัยเพื่อความสอดคล้อง และเหมาะสม ต่อสภาพการณ์ ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
โครงสร้างของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา แบ่งออกเป็นส่วนสำคัญๆ ได้ 7 ส่วน หรือ7 มาตราด้วยกันคือ

มาตรา 1 ข้อที่ 1 ของรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องโครงสร้าง และหน้าที่ของสภาคองเกรส โดยให้หน้าที่ทางนิติบัญญัติอยู่กับรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาสูง (Senate) และสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives)

มาตรา 1 ข้อที่ 2 ถึงข้อที่ 7 เป็นการกำหนดจำนวนผู้แทนในแต่ละสภา คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้แทน การเลือกสมาชิกสภาคองเกรส กระบวนการที่ใช้ในการตรารัฐบัญญัติ วิธีการพิจารณาถอดถอนเจ้าหน้าที่ของรัฐให้พ้นจากตำแหน่ง (Impeachment)

มาตรา 1 ข้อ 8 เป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสภาคองเกรสในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการภายใน และภายนอกประเทศ

ส่วนมาตรา 1 ข้อที่ 9 และข้อที่ 10 เป็นบทจำกัดอำนาจบางอย่างของสภาคองเกรสของมลรัฐต่าง ๆ

มาตรา 2 ข้อที่ 1 – 4 เป็นการจัดตั้งองค์กรฝ่ายบริหาร กำหนดอำนาจฝ่ายบริหารโดยให้เป็นอำนาจของประธานาธิบดี รวมทั้งคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี วิธีการเลือกตั้ง การสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง วิธีการและข้อหาอันเป็นมูลฐานที่จะทำให้ประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง

มาตรา 3 ข้อ 1 เป็นการกำหนดอำนาจตุลาการให้อยู่กับศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกา และศาลชั้นรองอื่น ๆ ตามที่สภาคองเกรสเห็นสมควรจัดตั้งขึ้น

มาตรา 3 ข้อ 2 การกำหนดอำนาจของฝ่ายตุลาการ และขอบเขตอำนาจของศาลชั้นต้น และขอบเขตอำนาจของศาลอุทธรณ์ และการฏีกาของศาลสูง

มาตรา 3 ข้อที่ 3 เป็นการให้นิยามของความผิดฐานกบฏ การพิสูจน์ และการลงโทษผู้กระทำความผิดฐานกบฏ

มาตรา 4 กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมลรัฐต่างๆ ที่พึงมีต่อกันและความสัมพันธ์มาตรา 4 ระหว่างมลรัฐทั้งหลายกับรัฐบาลกลาง

มาตรา 4 ข้อที่ 1 การยอมรับและศรัทธาต่อสิทธิที่บุคคลได้มาโดยกฎหมายระหว่างมลรัฐ (Full Faith and Credit)

มาตรา 4 ข้อที่ 2 การให้เอกสิทธิ์ (Privileges) และความคุ้มครองพลเมืองของมลรัฐอื่นๆ และการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างมลรัฐต่างๆ

มาตรา 4 ข้อที่ 3 บทบัญญัติว่าด้วยการรับมลรัฐใหม่เข้ามารวมอยู่ในสหพันธรัฐด้วยอำนาจของสภาคองเกรสในการจัดการเกี่ยวกับดินแดน และทรัพย์สินอื่นๆ

มาตรา 4 ข้อที่ 4 การที่รัฐบาลกลางจะต้องเป็นผู้ดูแลว่าทุกมลรัฐ ต้องมีการปกครองแบบสาธารณรัฐ การคุ้มครองมลรัฐต่างๆ ให้ปลอดภัยจากการรุกรานภายนอก และการที่รัฐบาลกลางจะช่วยเหลือมลรัฐต่างๆ ในการระงับความไม่สงบเรียบร้อยภายในแต่ละมลรัฐ

มาตรา 5 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งวิธีการดำเนินการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

มาตรา 6 เป็นผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเช่น เรื่องหนี้สินสัญญา และอื่น ๆ ศักดิ์สูงสุดของกฎหมายซึ่งกำหนดให้รัฐธรรมนูญ กฎหมาย และสนธิสัญญา ของสหรัฐอเมริกา เป็นกฎหมายสูงสุดในแผ่นดิน และผู้พิพากษาทั้งหลายในมลรัฐต่างๆ จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่ต้องคำนึงว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นภายในแต่ละมลรัฐจะกำหนดไว้ในทางตรงกันข้ามหรือไม่ก็ตาม ในมาตรา 6 นี้กำหนดต่อไปว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ ของสหรัฐอเมริกา หรือของมลรัฐต่างๆ ต้องสาบานตน (Oath) ในการเข้ารับตำแหน่ง และจะต้องสนับสนุนรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 7 เป็นมาตราสุดท้าย มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะเกี่ยวกับการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ

โครงสร้างบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ และทันสมัยอยู่เสมอ ในเวลาสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ สหรัฐอเมริกามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 27 ครั้ง ซึ่งมีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

ครั้งที่ 1-10 เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับสิทธิต่างๆ หรือที่เรียกกันว่า “Bill of Rights” และได้รับสัตยาบันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ.1791 ประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้

การแก้ไขครั้งที่ 1 เป็นบทบัญญัติในการให้เสรีภาพเกี่ยวกับศาสนา การพูด การพิมพ์ การโฆษณา และการชุมนุมร่วมกันโดยสงบของประชาชน

การแก้ไขครั้งที่ 2 สิทธิของประชาชนที่จะมี และถือศาสตราวุธจะถูกขัดขวางมิได้

การแก้ไขครั้งที่ 3 ที่พักของทหาร ทหารจะเข้าไปอาศัยในบ้านใดโดยเจ้าของบ้านไม่ยินยอมไม่ได้

การแก้ไขครั้งที่ 4 สิทธิของประชาชนที่จะมีความปลอดภัยในร่างกาย เคหะสถาน และทรัพย์สินของตน บรรดาสิทธิดังกล่าวจะถูกตรวจค้นหรือยึดโดยไม่มีเหตุอันควรมิได้

การแก้ไขครั้งที่ 5 ระเบียบเกี่ยวกับการฟ้องศาล การสอบสวน และการลงโทษ (สิทธิทางกฎหมาย) เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน

การแก้ไขครั้งที่ 6 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดี ในการดำเนินคดีอาญา จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและเปิดเผย

การแก้ไขครั้งที่ 7 สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาโดยคณะลูกขุน คือคดีที่ฟ้องร้องตามกฎหมาย “Common law “ ที่มีมูลค่าเกิน 20 ดอลลาร์ข้อเท็จจริงใดที่พิจารณาแล้ว ศาลแพ่งสหรัฐจะพิจารณาใหม่เป็นอย่างอื่นมิได้

การแก้ไขครั้งที่ 8 สิทธิในเรื่องค่าประกันหรือค่าปรับ ห้ามการกำหนดสูงเกินควร และห้ามการลงโทษและผิดปกติวิสัย

การแก้ไขครั้งที่ 9 สิทธิที่จำแนกไว้ในรัฐธรรมนูญนี้จะตีความให้เป็นการปฏิเสธ หรือลิดรอนสิทธิผู้อื่นไม่ได้

การแก้ไขครั้งที่ 10 อำนาจที่มิได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจที่มิได้ห้ามผลรัฐกระทำนั้นถือว่าอำนาจนั้นเป็นของมลรัฐ หรือของประชาชน

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่รั้งที่ 11- 27 ประกอบด้วยสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

การแก้ไขครั้งที่ 11 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1795 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการตีความขยายอำนาจตุลาการของสหรัฐอเมริกาเหนือคดีตามข้อกฎหมาย หรือหลักแห่งความยุติธรรมที่พลเมือง หรือคนในบังคับแห่งรัฐต่างประเทศฟ้องร้องมลรัฐหนึ่งมิได้

การแก้ไขครั้งที่ 12 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1840
เป็นการแก้ไขกลไกของการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

การแก้ไขครั้งที่ 13 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1865 
เป็นการแก้ไขการมีทาสโดยไม่สมัครใจจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามิได้

การแก้ไขครั้งที่ 14 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1868 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการปกครองสิทธิพลเมือง การแบ่งอำนาจของผู้แทนราษฎรในสภาคองเกรส และอำนาจของสภาคองเกรส

การแก้ไขครั้งที่ 15 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870
เป็นการแก้ไขเรื่องมลรัฐจะตัดสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งของพลเมืองสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเชื้อชาติ ผิว หรือความที่เป็นทาสมาก่อนมิได้

การแก้ไขครั้งที่ 16 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1913
เป็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ของสภาคองเกรสในการเก็บภาษีเงินได้ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด

การแก้ไขครั้งที่ 17 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1913 
เป็นการแก้ไขการเลือกสมาชิกสภาสูง โดยการออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง และการเลือกตั้งเมื่อมีตำแหน่งว่างลง

การแก้ไขครั้งที่ 18 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1919 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการห้ามผลิต การขาย และขนส่งเครื่องดื่ม ของมึนเมาภายในสหรัฐอเมริกา

แก้ไขครั้งที่ 19 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1920 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้กีดกันทางเพศ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีอเมริกันโดยเสมอภาค (women Suffrang)

การแก้ไขครั้งที่ 20 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1993 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการเข้ารับตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่ใหม่ของประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และสมาชิกสภาคองเกรส

การแก้ไขครั้งที่ 21 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1933 
เป็นการแก้ไขเพื่อยกเลิกบทบัญญัติที่แก้ไขในรัฐธรรมนูญครั้งที่ 18 (18th Amendment) เรื่องการผลิต การขาย และการขนส่งสินค้ามึนเมา ในสหรัฐอเมริกา

การแก้ไขครั้งที่ 22 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1951
เป็นการแก้ไขเรื่องกำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง และวันเลือกตั้งของประธานาธิบดี ให้เหลือ 2 สมัยเท่านั้น

การแก้ไขครั้งที่ 23 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1961 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการให้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีแก่ District of Columbia

การแก้ไขครั้งที่ 24 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1964 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้ ผู้ไม่เสียภาษี ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง (Poll Tax)

การแก้ไขครั้งที่ 25 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ

(1) การปฏิบัติหน้าที่ของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี ถ้าประธานาธิบดีไม่อยู่ รองประธานาธิบดีรักษาการแทนได้

(2) ถ้าประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าได้ หรือไร้ความสามารถไม่ว่ากรณีใดๆ ให้รองประธานาธิบดีปฏิบัติหน้าที่แทน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และต้องแจ้งให้สภาคองเกรสทราบ

การแก้ไขครั้งที่ 26 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการให้สิทธิเลือกตั้งแก่ชาวอเมริกันอายุ 18 ปีขึ้นไป

การแก้ไขครั้งที่ 27 ได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1992
เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเงินเดือนสำหรับการปฏิบัติงานของสมาชิกสภาสูง (Senators) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(Representative)ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญตระหนักว่า รัฐธรรมนูญจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากเวลาหนึ่ง ไปสู่อีกเวลาหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจึงได้กำหนดขั้นตอน 2 ขั้นตอนในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังนี้ คือ

การตีความรัฐธรรมนูญ (Interpreting the Constitution)
รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยชัดเจน และค่อนข้างเข้าใจยาก ในการตัดสินว่ารัฐธรรมนูญหมายความถึงอะไรนั้น ต้องจับประเด็นเกี่ยวกับคำถามว่ากำลังแสวงหาความหมายอะไร ต้องใช้การตีความค้นหาต้นกำเนิดของความตั้งใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การตีความเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญต่อไปซึ่งอาจจะตีความจากตรรกะ (Logic) วัตถุประสงค์ (Objective) โครงสร้าง (Stucture) ความตั้งใจ (Intertion) เนื้อหา (Content) บัญญัติของรูปประโยค (Content of Constuction) ประวัติศาสตร์ (History) การพิจารณาของศาลแพ่ง (Consideration of Judicial Economy) ความจำเป็นและประสบการณ์ (Necessity and Experience) และตัวอย่างที่เคยมีมาก่อน (Precedent) เป็นเกณฑ์ในการตีความ

การตีความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ในทางปฏิบัตินั้นได้เคยทำกันหลายวิธี คือ

1) การบัญญัติกฎหมายของสภาคองเกรส ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจแก่สภาคองเกรสในการบัญญัติกฎหมาย กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับองค์กรต่างๆ ของรัฐบาล ในบางกรณีอำนาจนี้เป็นสภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐ จำนวนกระทรวง การจัดระเบียบราชการ การบริหารในกระทรวง อำนาจหน้าที่ของกระทรวง และความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงต่างๆ รัฐธรรมนูญมอบหมายให้สภาคองเกรสเป็นผู้กำหนดขึ้นได้

2) การตีความโดยศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมได้มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา เนื่องจากได้มีผู้นำเสนอให้ศาลพิจารณาพิพากษา ตีความข้อความต่างๆ ในรัฐธรรมนูญอยู่เสมอ รัฐธรรมนูญให้อำนาจบางประการแก่ประธานาธิบดี บางส่วนแก่สภาคองเกรส และบางส่วนแก่ศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญจำกัดอำนาจบางประการของรัฐ และให้ความคุ้มครองบางประการแก่สิทธิของเอกชน บทบัญญัติเช่นนี้มีความจำเป็นต้องให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ตีความหมายที่แท้จริง ว่ามีอำนาจเพียงใด ถูกจำกัดอำนาจเพียงใด และมีสิทธิเพียงใด บรรดาศาลยุตธรรมของสหรัฐอเมริกาทำหน้าที่รับภาระเช่นนี้ตลอดมาในประวัติศาสตร์อเมริกัน ศาลที่มีอำนาจสูงสุดในการตีความรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา คือศาลสูงแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.Supremc Court)

ในการตีความรัฐธรรมนูญนั้น ศาลอาจกระทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้

โดยความร่วมมือกับสภาคองเกรส
ศาลยุติธรรมได้ช่วยสภาคองเกรสตีความหมายของรัฐธรรมนูญให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น กล่าวคือเมื่อสภาคองเกรสบัญญัติกฎหมาย ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจจะฟ้องร้องยังศาลสูงสุดสหรัฐว่าที่สภาคองเกรสบัญญัติกฎหมายมานั้น ใช้บังคับได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยปกติเมื่อศาลพิพากษาให้กฎหมายเป็นโมฆะนั้นศาลได้วางหลักไว้ในคำพิพากษาว่าเหตุใดจึงพิพากษาเช่นนั้น เมื่อสภาคองเกรสได้ทราบหลักการเช่นนี้แล้วจึงบัญญัติกฎหมายใหม่ โดยยึดหลักการเพิ่มเติมจากคำพิพากษาซึ่งเป็นการตีความหมายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมมีอำนาจที่จะตีความหมายอย่างกว้าง หรืออย่างแคบในเรื่องที่สภาคองเกรสไม่มีอำนาจบัญญัติกฎหมายก็ได้ ตัวอย่างสำคัญคือ ห้ามมิให้สภานิติบัญญัติของมลรัฐบัญญัติกฎหมายที่เป็นภัยต่อการปฏิบัติตามพันธะกรณีในสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน หรือระหว่างเอกชนกับนิติบุคคล บทบัญญัติข้อนี้ไม่ได้ให้อำนาจสภาคองเกรสที่จะบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสัญญา แต่ให้อำนาจศาลสหรัฐอเมริกาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นตามความข้อนี้

โดยวิธีปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดีคนสำคัญๆ ได้ให้ความหมายของรัฐธรรมนูญไว้ ด้วยวิธีการปฏิบัติงานของท่านในฐานะที่เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีคนแรกยิ่งมีความสำคัญมากในเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้บัญญัติความหมายที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญไว้มากที่สุด 

กล่าวคือประธานาธิบดี วอชิงตัน เป็นผู้วางประเพณีการอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเพียง 2 สมัย (8 ปี เท่านั้น) ซึ่งได้รับการปฏิบัติตามจนกระทั่งปี ค.ศ. 1940 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นปีที่ประธานาธิบดี รูสเวลท์ (Roosevlt) สมัครเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 และได้รับเลือกตั้งด้วย อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมัย เจฟเฟอร์สัน เป็นประธานาธิบดีไม่แน่ใจว่าจะมีอำนาจซื้อทีดินในเขตหลุยเซียนา (ที่เรียกว่า Louisana Purchase ซึ่งขณะนี้เป็นดินแดนของมลรัฐถึง 3 มลรัฐด้วยกัน) แต่ได้ตัดสินใจซื้อจากนโปเลียนอันเป็นเหตุให้เกิดระเบียบปฏิบัติตัวอย่าง (Precedent) ขึ้น ในแง่ที่ว่าประธานาธิบดีอาจได้มาซึ่งดินแดนของสหรัฐอเมริกาเป็นการเพิ่มเติมได้ โดยการซื้อหรือสัญญาไม่จำเป็นต้องได้มาโดยการชนะสงครามเสมอไป

โดยขนบธรรมเนียมประเพณีและวิธีปฏิบัติติดต่อกันมานาน
รัฐธรรมนูญสหรัฐได้ถูกร่างขึ้นให้มีสภาพที่จะปรับปรุง แก้ไข้ให้เหมาะกับความต้องการของคนแต่ละรุ่น ไม่แต่เฉพาะการแก้ไขที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่รวมถึงอิทธิพลทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และบางครั้งโดยบังเอิญด้วย (Accident) ยกตัวอย่างเช่น คณะรัฐมนตรีของประธานาธิบดีซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญให้อำนาจประธานาธิบดี “โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาสูง” ที่จะแต่งตั้งข้าราชการตำแหน่งต่างๆ เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ จะเป็นด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องแต่งตั้งข้าราชการ ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการแต่งตั้งโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาสูง ซึ่งรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติวิธีการให้ผู้ที่ไม่เหมาะสมพ้นจากตาแหน่ง นอกจากกรณีที่เป็นการกล่าวหาว่าขายชาติเท่านั้น วิธีการนี้ได้มีการปฏิบัติมาจนกระทั่งปี ค.ศ. 1935 จึงมีคำพิพากษาของศาลสูงในสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้ไว้เป็นบรรทัดฐาน

อีกตัวอย่างหนึ่งคือการค้าทาส มีอิทธิพลต่อการตีความหมายรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาอย่างมาก การค้าทาสเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากในทางการเมือง และทำให้เกิดสงครามกลางเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเรื่องสิทธิแก่คนผิวดำ แต่ขนบธรรมเนียมของสังคมไม่ยอมให้มีความเสมอภาคกัน เนื่องจากสีผิวมีอำนาจบังคับรุนแรงกว่ากฎหมายมาก 

แม้กระทั่งปัจจุบันนี้มีการบัญญัติให้สิทธิแก่คนผิวดำ ให้มีความเสมอภาคเท่ากับคนผิวขาวได้ ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 และ 15 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จะเห็นว่าการปฏิบัติตามการแก้ไขทั้ง 2 ครั้งนี้มีเพียงบางส่วนเท่านั้น จะเป็นได้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณี นิสัยใจคอของประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก 

ซึ่งอาจไม่น้อยกว่าความสำคัญของคำพิพากษาของศาลสูง และกฎหมายของสภาคองเกรส และจะเห็นได้ว่าแม้บทบัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ไม่อาจมีผลบังคับได้ดีกว่าขนบธรรมเนียม กาลเวลา และอุปนิสัยใจคอของประชาชน ซึ่งเป็นความจริงไม่ใช่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นความจริงในประเทศอื่นอีกด้วย