"เป็นความจำเป็นและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประชาชนชาวไทย ที่จะต้องอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านโดยสันติ ไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสงครามเย็นและสงครามประสาท"
แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์จากข้อความข้างต้นนี้ แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันของสองเรื่องอย่างแนบแน่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดต่อประเทศไทย นั่นคือ การอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
แต่การที่ไทยจะดำรงรักษาสองสิ่งที่มีค่าสูงสุดนี้ไว้ได้ ไทยก็จำต้องตระหนักถึงผลเสีย หรือการตกเป็น "เหยื่อ" ของสงครามทุกรูปแบบ รวมถึงการตกเป็นเหยื่อของสงครามอารมแบบ "คลั่งชาติ" (Chauvinism) ด้วย
ปรีดี พนมยงค์ ( 2443-2526) ผู้ได้รับการประกาศตั้งจากรัฐบาล ( 8 ธันวาคม 2488 ) ให้เป็น "รัฐบุรุษอาวุโส" มีหน้าที่ "รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน" และได้รับการประกาศยกย่องให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" โดยองค์การยูเนสโก้เมื่อปี 2543
ปรีดีเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญในช่วง 15 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2475-พ.ศ.2490 โดยปรีดีเปรีบยเสมือน "มันสมอง" ของคณะราษฎร ที่มุ่งก่อร่างสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นการสร้างประชาธิปไตยของพลเรือนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่ระบอบคณาธิปไตย หรือ อำมาตยาธิปไตย ที่นำโดยทหารที่ใช้กองทัพหนุนหลัง
เส้นทางความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของปรีดี ปรากฎความแตกต่างอย่างเด่นชัดกับผู้นำประเทศที่เป็นทหาร คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ด้วยนั้น เมื่อจอมพล ป. ก้าวเข้าสู่นโยบายการสร้าง "มหาอาณาจักรไทย" โดยการใช้ทุกวิธีการเพื่อ "เอาดินแดน" จากประเทศลาวและกัมพูชาอาณานิคมฝรั่งเศส
"สงครามอินโดจีน" ที่พัฒนาจากการ "ปลุกเร้าอารม" ของคนไทยในประเทศ ในช่วงปี พ.ศ.2482-2483 หรือตั้งแต่ปีแรกของการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกระดับเป็นการ "ปะทุ" ทางอารมณ์ของคนไทยหลากกลุ่ม ที่แสดงตนเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาล ที่ จอมพล ป. ผู้นำฝ่ายทหารได้แปลความว่า การกระทำดังกล่าวมีความหมายเป็น "มติมหาชน" และในที่สุดได้ยกระดับเป็นการ "ปะทะ" ด้วยกำลังอาวุธของสามเหล่าทัพไทย กับกองกำลังเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส
"สงครามยึดเอาอินโดจีน" ครั้งนี้เป็นสงครามที่ฝ่ายไทยสามารถขยายพื้นที่การครอบครองดินแดนสำเร็จด้วยกำลังทหารในปี พ.ศ.2484 โดยเข้าครอบครองแขวงไชยบุรี และแขวงจำปาสักในลาว จังหวัดเสียมเรียบ และจังหวัดพระตะบองในกัมพูชา
การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาด้วยกำลังทหารครั้งนี้ คือที่มาของการปรากฎตัวอย่างเป็นรูปธรรมแห่งปัญหาคดีเขาพระวิหาร ที่ปัญหานี้ถูกทิ้งค้างไว้จากเกือบ 4 ทศวรรษก่อน หรือกล่าวได้ว่าทั้งฝรั่งเศสกับไทย ต่างไม่เคยรับรู้กันว่าประสาทเขาพระวิหารเป็น "ปัญหา" ในยุคสมัยล่าอาณานิคมแต่อย่างใด การเข้าครอบครองดินแดนกัมพูชาครั้งนี้ ได้ส่งผลมาเป็นคดีเขาพระวิหาร และเป็นคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ.2505 แต่ประเด็นปัญหาเกี่ยวเนื่องถูกทิ้งไว้เกือบ 5 ทศวรรษต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นปมปัญหาประสาทเขาพระวิหารมรดกโลกในปัจจุบัน
การเข้าครอบครองดินแดนของลาวและกัมพูชาดังกล่าว เป็นชัยชนะด้วยความช่วยเหลืออย่างสำคัญของกองทัพประเทศญี่ปุ่น ประเทศผู้ซึ่งกำลังเตรียมแผนการใหญ่ที่มุ่งให้รัฐบาลทหารไทยสนับสนุนตนในการทำ "สงครามมหาเอเชียบูรพา" หรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ในซีกเอเชีย อันเป็นสงครามที่คู่ขนานไปกับการทำสงครามของ ฮิตเล่อร์ แห่งเยอรมัน และ มุโสลินี แห่งอิตาลี ในซีกโลกตะวันตก
ต่อมาเมื่อนายพล โตโจ ผู้นำรัฐบาลทหารแห่งญี่ปุ่น ต้องการ "กระชับมิตรภาพ" เพื่อการทำสงครามร่วมกันกับรัฐบาลทหารไทยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองดินแดนมาเลเซียและพม่าอาณานิคมของอังกฤษ จึงยกดินแดนของประเทศอื่นที่ตนยึดครองอยู่ให้แก่ไทยเพิ่มอีกในกลางปี พ.ศ.2486 คือดินแดน 4 รัฐของมาเลเซีย และ 2 เขตเมืองคือเมืองพาน และเชียงตุงในรัฐฉาน
ในระยะเพียงสองปีครึ่ง รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขยายดินแดนได้ด้วยกำลังไปในเขตประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศ ทั้งใน ลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย กลายเป็น "มหาอาณาจักรไทย" ยุคใหม่
"นักรัฐศาสตร์ นักการทูต นักการทหาร ย่อมรู้ก่อนที่จะก่อสถานะสงครามขึ้นแล้วว่า การทำสงครามนั้นมิใช่กีฬาธรรมดาหากเอาชาติเป็นเดิมพันในการนั้น ถ้าชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ ถ้าหากแพ้สงครามก็ทำให้ชาติเสียหายหลายประการ แม้ไม่ต้องเสียดินแดนให้ฝ่ายที่ชนะสงคราม แต่ก็ต้องชำระค่าเสียหายสงคราม ซึ่งเรียกตามกฎหมายระหว่างประเทศว่า ค่าปฎิกรรมสงคราม" ( ปรีดี "อนาคตของเมืองไทยกับสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน" 2518 )
ไทยเข้าสู่ระเบียบโลกยุคใหม่ในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 และสามารถยกระดับตนเองสู่การเป็นประเทศที่มีสถานะเกือบเท่าเทียมในฝ่ายพันธมิตรโลกตะวันตก และได้รับประโยชน์จากการร่วมชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งนี้เป็นผลจากการใช้นโยบาย Wait And See ที่รั้งรอดูสถานการณ์ของโลกหลายปี จนมั่นใจแล้วจึงตัดสินใจ
แต่ยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลายเป็นว่า ไทยเป็นฝ่ายดำเนินการเริ่มรุกเพื่อนบ้านด้วยกำลัง และได้ครอบครองดินแดนของเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือคำอธิบายของปรีดีที่ว่า "ชนะสงครามก็ได้ประโยชน์เฉพาะหน้าบางประการ" แต่หาได้เป็นประโยชน์ถาวรต่อประเทศไทยประการใด
ในการรณรงค์เรียกร้องดินแดนจากลาวและกัมพูชาในปี พ.ศ.2483 นิสิตนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในขณะนั้น คือ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ( ขณะนั้นใช้ชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ม.ธ.ก. ) ต่างก็ตกอยู่ในกระแส "ปลุกเร้า" อารมณ์ "รักชาติ" กันอย่างถ้วนหน้า และนัดแนะกันที่จะเดินขบวนจากมหาวิทยาลัยของตนเอง คือจาก จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มายังกระทรวงกลาโหม เพื่อสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย "เรียกร้องดินแดน"
ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ประศาสน์การหรือผู้บริหารสูงสุดแห่งธรรมศาสตร์ เมื่อทราบข่าวเดินขบวนนี้ในช่วงเช้า ปรีดีก็รีบเดินทางมาพบนักศึกษาของตนที่ท่าพระจันทร์ และชี้แจงกับนักศึกษาว่า "ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี"
ปรีดีให้คำอธิบายกับนักศึกษาธรรมศาสตร์โดยให้เข้าใจสถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้นว่าตกอยู่ในสภาพแพ้สงคราม กล่าวคือฝรั่งเศสแพ้ตั้งแต่สองสัปดาห์แรกของการสงคราม ประเทศถูกยึดครองไปโดยกองทัพของเยอรมัน รัฐบาลฝรั่งเศสเดิมนั้นต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ด้วยเหตุนี้สถานการณ์ในอาณานิคมอินโดจีน กำลังของฝ่ายฝรั่งเศสย่อมอยู่ในสถานะที่อ่อนแอ ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นกดดันอยู่ในเขตทะเลของอ่าวตังเกี๋ย
ปรีดีสรุปว่าการเรียกร้องดินแดนนี้เชื่อว่าฝ่ายไทยได้แน่ "เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่" แต่ปรีดีเห็นว่า เป็น "การที่เรากำลังจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี"
แต่ปรีดีก็ทำนายให้เห็นผลในอนาคตด้วยว่า "ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" และในช่วงชีวิตของนักศึกษา "จะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน"
คำเตือนของปรีดีเรื่อว "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ของการได้ดินแดนมาด้วยการใช้กำลัง สามารถยับยั้งการเดินขบวนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ในบ่ายวันนั้น นักศึกษาธรรมศาสตร์ก็เดินขบวนอย่างเป็นระเบียบจากท่าพระจันทร์ไปยังกระทรวงกลาโหมที่อยู่อีกฟากหนึ่งของสนามหลวงไปสู่ "อ้อมกอด" ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่คอยต้อนรับ ส่วนนิสิตจุฬาฯ ได้เดินขบวนมาจากสามย่านมายังกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ช่วงเช้า
การเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลให้กระทำการเรียกร้องดินแดนอย่างแข็งขันของ นิสิตจุฬาฯ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่าเป็นหลักหมายแห่งชัยชนะของนโยบายเรียกร้องดินแดนโดยใช้กำลัง ซึ่งได้รับการโห่ร้องต้อนรับด้วยการสนับสนุนจากกลไกภาครัฐ ที่เหนือกว่านโยบายการใช้กฎหมายและการอยู่ร่วมอย่างสันติกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทว่าอีก 4 ปีต่อมา สถานการณ์กลับพลิกผัน ฝ่ายอักษะปราชัยในทุกสมรภูมิ และถูกยึดครองประเทศโดยฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ไทยสามารถสร้างสถานภาพที่กำกวมของการ "ไม่แพ้สงคราม" อันเป็นผลจากขบวนการเสรีไทย คำประกาศสันติภาพ และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของมหาอำนาจใหม่ของโลกคือ สหรัฐอเมริกา
การได้ดินแดนเพื่อนบ้านโดยการใช้กำลังนั้น ทำให้ไทยต้องรีบประกาศคืนดินแดนในพม่าและมาเลเซียให้กับอังกฤษทันทีเมื่อประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 และต่อมาต้องคืนดินแดนของลาวและกัมพูชาให้กับฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ให้กลัยคืนสู่ "สถานะเดิม" ( Status quo ) ไปยังปีก่อนที่จะมีการทำสงครามเพื่อดินแดนของรัฐบาลไทย ทั้งนี้เพื่อแลกกับที่รัฐบาลไทยจะได้รับการยอมรับให้กลับคืนสู่การเป็นสมาชิกของประชาคมโลก ที่มีองค์การเพื่อจัดระเบียบโลกใหม่ในนาม องค์การสหประชาชาติ
คำเตือนของปรีดีต่อเรื่อง "ดินได้ที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป" อันเป็นการได้ดินแดนมาจากการใช้กำลังแบบ "ผลประโยชน์เฉพาะหน้า" หรือ "ผลประโยชน์ชั่วคราว" ได้แสดงความจริงให้เห็นเร็วกว่าที่ปรีดีคาดการณ์ไว้อย่างมาก
ดังนั้นสถานการณ์ "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" ที่ปรากฎในสังคมไทย ก็ดูจะมีลักษณะคล้ายคลึงบางประการกับการเรียกร้องดินแดนเพื่อนบ้านเมื่อปี พ.ศ.2483-2484 และจุดจบก็ไม่น่าจะต่างกันมากนักหากมีการใช้กำลัง
แต่ผลนั้นอาจสะเทือนต่อเอกราชและเกียรติศักดิ์ของชาติไทยมากยิ่งกว่าครั้งเรียกร้องดินแดนในอดีต และในครั้งนี้ ไทยเราอาจจะไม่โชคดีเหมือนครั้งยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 คือไม่มีใครหรือปัจจัยอื่นใด มาช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการตกเป็นผู้ปราชัยของประชาคมโลกได้
คำถามต่อเพื่อนร่วมชาติที่แสวงหาประโยชน์ร่วมกันคือ
คำถามแรก เมื่อศาลโลกของสหประชาชาติ พิพากษาให้ประสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ซึ่งคำพิพากษานี้ "เป็นอันเสร็จเด็ดขาด ไม่มีทางจะอุทธรณ์ได้" ตามที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ระบุไว้ในคำปราศรัยคดีประสาทพระวิหาร เมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2505 แต่สถานการณ์ปัจจุบัน การรณรงค์ในประเด็น "ทวงคืนประสาทพระวิหาร" เท่ากับเป็นการปฎิเสธคำพิพากษาของศาลโลกหรือไม่ ? และจะยกระดับไปสู่การ "ปลุกเร้า" และปะทุทางอารมณ์ของคนในประเทศ และปะทะกับเพื่อนบ้านกัมพูชาด้วยกำลังหรือไม่ ?
คำถามข้อที่สอง หากเสียงปืนนัดแรกดังขึ้น ณ บริเวณเขาพระวิหาร ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายไหน หรือจาก "มือที่สาม" ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่พึงคำนึงคือ ไทยจะกลายเป็นชาติแรกในหน้าประวัติศาสตร์โลกยุคสหประชาชาติที่ละเมิดล่วงล้ำ ขัดขีนอำนาจของศาลโลก ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการสันติ แทนการทำสงครามระหว่างกันนั้น ท่านคิดว่าประเทศมหาอำนาจและสมาชิกอื่นในองค์การสหประชาชาติจะดำเนินการอย่างไรต่อประเทศไทย เพื่อที่จะรักษาระเบียบโลกของสหประชาชาตินี้ไว้ ?
ทั้งยังต้องรำลึกด้วยว่า ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีประชาคมโลกนั้น ไทยจะกลายเป็น "หมาป่า" ที่หาทางขย้ำ "ลูกแกะ" กัมพูชา ด้วยหรือเปล่า ?
คำถามข้อที่สาม หากท่านเป็นผู้สนับสนุนการใช้ัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 82 เกี่ยวกับนโยบายด้านต่างประเทศ ได้ระบุว่า "รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศ ตลอดจนต้องปฎิบัติตามสนธิสัญญา รวมทั้งพันธกรณีที่ได้กระทำไว้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ"
ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลนี้หรือรัฐบาลในอนาคตแสดงการทวงคืน "ประสาทพระวิหาร" คือการสนับสนุนให้รัฐบาลกระืำผิดต่อรัฐธรรมนูญในมาตรานี้หรือไม่ ?
หากท่านเป็นผู้ไม่สนับสนุนการใช้รัฐธรรมนูญปี 50 โปรดกลับไปอ่านคำถามข้อที่หนึ่งและสองอีกครั้งหนึ่ง