วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รำลึก 6 ตุลา 19 กับ “วิโรจน์ เอ็ม. 16“ หัวหน้าฝ่ายภาพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

วิโรจน์ มุทิตานนท์

(วิโรจน์ เอ็ม. 16)

วิโรจน์ เอ็ม. 16“  หรือนามจริง วิโรจน์ มุทิตานนท์  หัวหน้าฝ่ายภาพของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา  ย้อนความหลังครั้งที่เขามีวัยเพียง  20 ปี  เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับนี้  และอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่บริเวณวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตลอด  ครั้งนั้นเขาบันทึกภาพเหตุการณ์ทุกระยะไว้ถึง 300 ม้วน  สำหรับเขา  มันเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจและลืมไม่ลงจนชั่วชีวิต

ช่วงเย็นของวันที่ 5 ตุลา หนังสือพิมพ์ดาวสยามลงรูปที่นักศึกษาเล่นละครโดยกล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  มีพาดหัวที่รุนแรงพอสมควร  ในขณะเดียวกัน  นอกจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้แล้ว  ยังมีวิทยุของทหารออกมาโจมตีนักศึกษาในเรื่องนี้ด้วย  มีการแจกรูปโรเนียวที่หน้าธรรมศาสตร์  ผมก็ยังได้รับ  คิดว่ากลายเป็นเรื่องใหญ่แล้ว  ผมดูแล้วเขาไม่ได้จงใจ  แต่ความละม้ายก็พอมี  ส่วนจะว่าเป็นการแต่งฟิล์มคงไม่ใช่  มีการแต่งหน้า  แต่ไม่ได้ต้องการแต่งให้เหมือนองค์รัชทายาท   ต้องการแต่งให้เหมือนคนถูกซ้อมมากกว่า  ฟิล์มมันกระดำกระด่าง  แต่ดูแล้วไม่ใช่ความจงใจของนักศึกษาที่จะมาทำแบบนี้  ผมเชื่อว่ามีการเตรียมการโดยใครบางคน  ช่วงนั้นถึงไม่มีการกระตุ้นเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ก็ต้องมีเหตุอะไรสักอย่างเกิดขึ้นจนได้

พอละครแสดงเสร็จปั๊บ  รายการวิทยุก็เปิดเพลงหนักแผ่นดิน  มีการปล่อยข่าว  แต่ช่วงที่ผมเห็นสภาพจริง ๆ แล้ว  มันเริ่มตั้งแต่ตอนเย็นวันที่ 5 เริ่มมีลูกเสือชาวบ้าน  กระทิงแดง  ตำรวจ  มาอยู่ที่ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์  ยิ่งดึกคนก็เริ่มมากขึ้น  เพราะวิทยุถ่ายก็ทอดตลอดเวลา  ตอนนั้นผมอยู่หน้าธรรมศาสตร์  ด้านสนามหลวง  มีวิทยุทรานซิสเตอร์ฟัง  คลื่นคนก็เริ่มมาเรื่อย ๆ  และแบ่งเป็นสองฝ่าย  เท่าที่ผมสังเกตเห็น  ก่อนห้าทุ่มจะมีตำรวจชุดหนึ่งมาจากค่ายนเรศวร  หัวหิน  แล้วมีตำรวจใส่ชุดสีกากีอยู่ด้านหน้า  ส่วนชุดหัวหินเข้าทางพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ด้านข้าง  ชุดนี้หนักมาก  เป็นตัวยิงเข้าไป  ตอนนั้นกระทิงแดงก็มีการโห่ฮา  ร้องด่า  บรรยากาศเริ่มรุนแรง  ตอนแรก ๆ  ก็ใช้ระเบิดขวด  รู้สึกว่าข้างในเริ่มเคลื่อนไหวแล้ว  ตอนนั้นผมออกมาอยู่ข้างนอก  เพราะเริ่มดูแล้วว่าคนที่จะก่อเหตุจริง ๆ  และมีระเบิด  ไม่ใช่นักศึกษาที่อยู่ภายในแต่เป็นพวกกลุ่มรักชาติด้านนอก

วิโรจน์ได้เห็นเหตุการณ์ที่หน้าธรรมศาสตร์โดยตลอด  และยืนยันได้ว่ามันไม่ใช่สงคราม  แต่คือการเข่นฆ่าคนที่ไร้ทางต่อสู้

ผมยืนยันได้ว่านักศึกษาภายในไม่มีอาวุธ  เพราะผมไม่เห็น  ไม่มีการยิงขึ้นมาแม้แต่นัดเดียว  ที่ผมยืนยันได้เพราะว่าคนที่อยู่ด้านนอกเริ่มก่อกวน  มีการขว้างระเบิดบ้าง  ในขณะที่นิสิตนักศึกษาไม่ได้ทำอะไรเลย  สถานการณ์เริ่มดุเดือดขึ้นตั้งแต่ตี 1  ตอนนั้นผมก็ยังมองเหตุการณ์อะไรไม่ออก  ประมาณตีสี่เริ่มมีเสียงปืนเป็นชุด ๆ มาจากข้างในธรรมศาสตร์ด้านพิพิธภัณฑ์  พอเสียงปืนดังปั๊บ  พวกที่อยู่ทางประตูหน้าด้านสนามหลวงก็ยิงบ้าง  ก่อนฟ้าสาง    มีระเบิดลูกหนึ่งยิงไปทางสนามฟุตบอล  ตอนนั้นผมอยู่ข้างนอก  พอระเบิดลงเสียงร้องเพลงก็เงียบ  ระเบิดยิงมาจากด้านไหนไม่รู้  ตอนนั้นก็เริ่มมีการยิงตลอด พอด้านข้าง (บริเวณพิพิธภัณฑ์) ยิงออกมา  ข้างนอกก็นึกว่าข้างในยิงสวนออกมา  คนที่ล้มก่อนคือหน่วยรักษาความปลอดภัยของนักศึกษา มีทั้งหญิงและชาย  ล้มทีละคนสองคน  ด้านหน้าก็เริ่มฮือแล้ว  ตอนแรกเหมือนกับจะเข้าไปช่วย  แต่เท่าที่ผมเห็นมันไม่ใช่  บางคนยังไม่ตาย  ก็มีคนไปลากออกมาตีคนละตุ้บสองตุ้บ  เริ่มยิงกันไปพักหนึ่ง  พอเสียงเงียบที  หน่วยรักชาติก็วิ่งไปเอาตัวมา  ทั้งถีบทั้งเตะ  พอฟ้าเริ่มสางเริ่มเห็นตัว  คราวนี้ก็เริ่มหนักขึ้น  เสียงปืนดังถี่ขึ้นเรื่อย ๆ  รู้สึกว่านักศึกษาที่อยู่ในสนามฟุตบอลจะวิ่งขึ้นบริเวณตึก  พอขึ้นเสร็จเขาจะเอาเก้าอี้มาขวาง

นักศึกษาบางคนถูกลากตัวออกมาทุบ  ออกมาแขวนคอ  ตอนนั้นผมก็งงเหมือนกัน  ไม่มีใครห้าม  มันบอกไม่ถูก  ตอนนั้นเศร้าใจแล้ว  ถ่ายรูปไปก็น้ำตาคลอ  เหมือนเหตุการณ์จะระเบิด  แต่ใจเราก็ยังบอกว่าเราเป็นช่างภาพ  กฎของช่างภาพมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ จะไม่ใส่ใจกับเหตุเฉพาะหน้า  แต่นี่มันเป็นเหตุเฉพาะหน้าที่เรารับไม่ได้  ผมยืนอยู่ด้านฝ่ายที่ยิงคือตำรวจ  ฝ่ายนี้ไม่เห็นมีใครล้มใครเจ็บ  ลักษณะการยิงมันไม่ใช่เป็นการต่อสู้  ตอนเริ่มสว่างนี่เหมือนการปิดประตูตีแมวแล้ว  ทำได้ยังไง  ตอนนั้นผมเริ่มร้องไห้จนตาพร่าไปหมด  สมัยก่อนถ่ายรูปไม่ได้ใช้เลนส์อัตโนมัติ  ถ่ายรูปไปด้วยร้องไห้ไปด้วยหาโฟกัสยากมาก

เสียงปืนดังอยู่โดยตลอด  จากที่แรก ๆ ใช้ปืนยาว  ปืนสั้นยิง  มาหลัง ๆ มีการใช้อาวุธสงคราม อย่าง เอ็ม.79  และปืนบาซูกา  ซึ่งเป็นปืนยิงรถถัง  ยิงเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาประชาชน  ช่วงวิกฤตที่สุดเป็นช่วงหกโมงเช้าถึงแปดโมงเช้าของวันที่ 6  ช่วงนั้นตำรวจเริ่มขึ้นไปเคลียร์สถานที่บนตึกเรียนในธรรมศาสตร์  นักศึกษาส่วนหนึ่งหลบซ่อนตัวอยู่ตามห้องต่าง ๆ  ในตึก  ภาพที่ตำรวจเข้าไปเคลียร์พื้นที่ครั้งนั้น  วิโรจน์บอกเล่าว่าราวกับหนังแรมโบ้  มีการถีบประตูและยิงรัวเข้าไปในห้อง  ควันปืนตลบไปหมด  จากนั้นตำรวจจึงกวาดต้อนนักศึกษาลงมาที่สนามฟุตบอล  ทุกคนทั้งหญิงและชายถูกเตะถีบหรือโดนทุบด้วยพานท้ายปืนจนบอบช้ำ  ล้มลุกคลุกคลาน  มีเสียงตะโกนก้องออกคำสั่งให้นักศึกษาถอดเสื้อออกให้หมด  แม้นักศึกษาหญิงก็ถูกบังคับจะให้ถอดกระทั่งเสื้อชั้นใน

ช่างภาพผู้นี้รู้สึกอนาถใจจนทนไม่ได้  ต้องตะโกนชี้แจงจนสุดเสียงว่าอย่าทำอย่างนั้น  โดยบอกว่าหากภาพนี้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก  จะเป็นการประจานประเทศไทยอย่างฉกาจฉกรรจ์  ผลก็คือฝ่ายที่ออกคำสั่ง  ตะโกนบอกต่อกันว่า  สำหรับนักศึกษาหญิงให้เหลือเสื้อชั้นในไว้ตัวหนึ่ง

ตัวผมเองแทบจะคุมสติไม่อยู่แล้ว  ทำกันเหมือนกับไม่ใช่คน  แต่คณะที่ก่อการ  เราก็ไม่รู้ว่าคณะไหน  ช่วงนั้นยังมองไม่ออก  แต่ละคนก็มีความโกรธแค้น  เพราะช่วงนั้นเขาก็ได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไป  ทั้งข่าวที่ออกทางสถานีวิทยุกระจายเสียงยานเกราะ   เพลงหนักแผ่นดิน  และมีรูปที่ว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพลงหนังสือพิมพ์บางฉบับ  ผมคิดว่านักศึกษาเขาชุมนุมกันอย่างสงบ  แต่คนที่ไม่สงบสิ  คนที่อยู่ข้าง ๆ ผม  ขว้างระเบิดกันตูม ๆ  ถ้าเขารักษากฎหมาย  เขาน่าจะจับพวกนี้มากกว่า  อย่างพวกหมาจิ้งจอกที่ไปจิกนักศึกษามาทีละคนแล้วเอามาเผา  ผมก็ตามมาดูเขาเผา  เห็นคาตา  ยังสองจิตสองใจว่าจะเข้าไปข้างใน  หรือจะดูพวกที่เขาเผา  คนที่ถูกเผาคือนักศึกษา  ไม่ใช่ญวน  คนที่ถูกแขวนคอ ผมก็เห็น  คนที่ถูกลากคอมา กลางสนามก็เห็น  ยังไม่ตายดีเลย  เอาน้ำมันมาราดจุดไฟเผา  ยังดิ้นกระแด่ว ๆ อยู่เลย  ผมเห็นหลายศพ  คนเข้าไปรุมเหมือนอีแร้ง  ผมคำนวณไม่ได้ว่าตายไปเท่าไหร่  มันมากกว่าที่เขาแถลงว่า 43 ศพ  ถ้านักศึกษามีปืน  พวกที่เข้าไปคงตายไม่น้อย  พอหลังจากที่คุมสถานการณ์ได้แล้ว  ตำรวจเข้าไปค้นในธรรมศาสตร์  เจออาวุธจนจัดนิทรรศการได้  ผมก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกัน  ที่ออกข่าวว่ามีอุโมงค์ใต้ดิน  ผมเข้าไปดูก็เห็นแต่ท่อน้ำทิ้ง

เสียงปืนสงบลงประมาณ 10 โมงเช้า  ราวบ่างโมงเศษ  ฝ่ายตำรวจก็เข้าเคลียร์พื้นที่ได้หมด  มีการกวาดต้อนนักศึกษาขึ้นรถ  บ้างถูกอัดถูกทำร้ายอยู่บนรถ  เมื่อรถแล่นผ่านกลุ่มผู้รักชาติที่อยู่แถวนั้น  ก็ถูกขว้างปาด้วยขวดบ้าง  มีคนขึ้นมาชกบ้าง  หรือพยายามลากผู้หญิงที่อยู่บนรถลงมา

วิโรจน์ขับรถตามไปที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน  เขามารู้ทีหลังจากนักข่าวในพื้นที่ว่า  ผู้ต้องหาอีกส่วนหนึ่งถูกส่งตัวไปที่ชลบุรีและนครปฐม  พวกที่ถูกส่งตัวไปต่างจังหวัดถูกรุมกระทืบทำร้ายหนักกว่าพวกที่อยู่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน เสียอีก  มีรถคันหนึ่งพานักศึกษาหญิงล้วน ๆ เต็มคันรถไปที่นครปฐม  มีรถของพวกกระทิงแดงตามไป  ไม่มีใครรู้ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหลังจากนั้น  เพราะไม่สามารถตรวจสอบข่าวได้

โลกหลังเลนส์ของลูกผู้ชายอย่างเขาคือหยาดน้ำตาและความสะเทือนใจที่ล้ำลึกไม่มีวันลืม

ผมประเมินความเป็นมนุษย์ของผู้สั่งต่ำไป  เขาไม่ใช่มนุษย์แล้วถึงทำอย่างนั้นได้  ภาพเหตุการณ์เหล่านั้นมันติดตา  ทุกวันนี้ก็ยังติดตาอยู่  เพราะมันรุนแรงมาก  จะว่าสงครามก็ไม่ใช่  เพราะสงครามต้องรบกัน  แต่นี่เป็นการฆ่าหมู่  ผมยังรู้สึกว่าเหตุการณ์นี้เหมือนเพิ่งเกิดเมื่อวานนี้เอง  ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจและรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาน้อยมาก  ถ้าเข้าใจจริง ๆ  ก็ประมาณสามพันกว่าคนที่ถูกจับ  เพราะหลังจากนั้นข่าวถูกบิดเบือนเกือบปี  จากขาวเป็นดำ  ดำเป็นขาว  แต่คนไทยในต่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ ที่ไม่ถูกปิดกั้นข่าวสารก็พอจะรู้ความจริง

วิโรจน์ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ

ดูได้จากพวกที่รักชาติ  มีคล้าย ๆ กองกำลัง  ทำอะไรต้องมีหัวโจกอยู่ข้างหลัง  ให้ไปล้อม  ไปจับตรงนั้นตรงนี้  แล้วตำรวจที่อยู่ข้าง ๆ ก็ดูมีความเกรงใจ พินอบพิเทา  ผมมองว่าเป็นการจัดตั้ง  ผมว่ามันแปลก  ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลก  เหมือนผมอยู่ในบ้านแล้วมีคนมาฆ่าพ่อแม่พี่น้องผม  แต่กฎหมายมาจับผมไปติดคุก  ไปรับข้อหา  เราเป็นโจทก์  แต่ให้ไปเป็นจำเลย

ในฐานะช่างภาพ  ภาพที่รุนแรงที่สุดสำหรับเขาคือภาพไหน

ภาพที่เห็นนักศึกษาถูกตอกอก  หลังฉากเป็นวัดพระแก้ว  เป็นช่วงที่ผมยกกล้องแทบไม่ขึ้น  มันไม่ไหวแล้ว  มันแยกไม่ออกระหว่างความเป็นสื่อมวลชนกับความเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่เห็นภาพอย่างนั้น  ผมไม่ได้มีพรรคพวกเป็นพวกศูนย์กลางนิสิตฯ เลย  ตอนนั้นอายุรุ่นเดียวกัน  แต่ตอนนี้ผมเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นพ่อคนแล้ว  ถ้าตอนนั้นเขาเป็นคนรุ่นลูกผม  ผมคงเป็นบ้าไปแล้ว  ผมไม่ได้นอนสองวันสองคืน  ถ่ายรูปอยู่ในธรรมศาสตร์  แต่พอกลับมาถึงบ้านแล้วนอนไม่หลับ  มีเสียงสองอย่างก้องอยู่ในหัว  เสียงร้องว่าอย่าทำหนูเลย  ทั้งเสียงผู้หญิงผู้ชาย  กับอีกเสียงหนึ่งก็ร้องว่าเอามัน  ฆ่ามัน ๆ  ส่วนเสียงปืนเป็นเสียงประกอบฉากอยู่แล้ว  เป็นความรู้สึกที่แย่ที่สุดในชีวิต

จำได้ว่าผมถ่ายรูปตำรวจถือปืนมือหนึ่ง  อีกมือหนึ่งคาบบุหรี่ไว้ที่ปาก  ผมเห็นเขายิงจนหมดกระสุน  ฝ่ายตำรวจยืนยิงอยู่  แต่ทางนิสิตไม่มีอะไรเลย  ทางนี้ก็วิ่งกันไปวิ่งกันมา  ผมไม่เห็นล้มสักคน  ถ้าล้มคงเป็นเพราะเหยียบกันเองมากกว่า  ตรงนี้ผมปิดความจริงไม่ได้  ใครถามผมก็เล่า  เพราะผมไม่กลัว  มันเป็นความจริง  ผมเห็นอย่างไรก็บอกอย่างนั้น  จะไปบิดเบือนประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

เหตุการณ์ครั้งนี้สองวันสองคืนผมถ่ายรูปหมดไป 300 ม้วน  ไม่รู้ว่าถ่ายไปได้ยังไง  ไม่มีมอเตอร์ไดรฟ์ด้วย  มีมอเตอร์ไซค์เอาฟิล์มมาให้ทีละ 50 ม้วน  จะมีคนลำเลียงส่งฟิล์มตลอด  เท่าที่เห็นช่างภาพหลายคนช็อกและรับไม่ได้  ช่วงนั้นผมอายุยังไม่ 20 ดี  เหตุการณ์นี้สำหรับผม  ไม่ใช่การล้อมปราบ  แต่เป็นการล้อมฆ่า

ที่มา : คัดจากนิตยสารสารคดี ปีที่ 12 ฉบับที่ 140 ประจำเดือนตุลาคม 2539
ที่มาบทความ คลิ้กที่นี่

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประวัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


จากการปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยที่นำโดยคณะราษฎร์เมื่อปี้ 2475 นั้น จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 79 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผ่านเหตุการณ์หรือประวัติศาสตร์ทางการเมืองมามากมาย และมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดใช้บังคับมาแล้วทั้งหมด 18 ฉบับ เราลองมาไล่ดูกันครับว่าจากอดีตถึงปัจจุบันทำไมประเทศไทยถึงได้ใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดมากมายถึง 18 ฉบับในเวลาแค่ 79 ปี ถ้าเทียบกับอเมริกาแล้วนี่มันช่างต่างกันมากมาย โดยอเมริกาปฎิวัติประกาศเอกราชแยกตัวออกจากอังกฤษมาแล้ว 200 กว่าปี แต่ประเทศเค้ามีรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแค่ 1 ฉบับ ผ่านการแก้ไขทั้งสิ้น 27 ครั้ง ถ้าอยากเข้าไปดูรายละเอียดรัฐธรรมนูญสหรัฐ คลิ้กที่นี่ครับ

ที่นี้เราลองมาดูของประเทศไทยเรากันบ้างว่าเกิดอะไรกันขึ้น ??? ทำไมเราถึงมีรัฐธรรมนูญใช้มาแล้วมากถึง 18 ฉบับในเวลาแค่ 79 ปี ผมจะแยกไว้ให้ดูแต่ละฉบับเลยละกันนะครับว่าเกิดอะไรขึ้นถึงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าและนำฉบับใหม่ขึ้นมาแทน


ฉบับที่  1    พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พุทธศักราช 2475  27 มิ.ย.2475 - 10 ธ.ค. 2475    รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่  2    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม(ไทย)พุทธศักราช 2475    10 ธ.ค. 2475 - 9 พ.ค. 2489      ถูกยกเลิกเพราะล้าสมัย

ฉบับที่  3    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489    9 พ.ค. 2489 - 8 พ.ย. 2490  ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

ฉบับที่  4    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 9 พ.ย. 2490 – 23 มี.ค. 2492    รัฐธรรมนูญชั่วคราว (รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม)

ฉบับที่  5    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2492    23 มี.ค. 2492 – 29 พ.ย.2494    ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร  (รัฐประหารเงียบ)

ฉบับที่  6    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495     8 มี.ค. 2495 - 20 ต.ค. 2501 ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

ฉบับที่  7    ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2502    28 ม.ค. 2502 – 20 มิ.ย. 2511    รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่  8    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2511    20 มิ.ย. 2511 ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

ฉบับที่  9    ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2515 25 ธ.ค. 2515 - 7 ต.ค. 2517     รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่ 10    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2517    7 ต.ค. 2517 – 6 ต.ค. 2519            ถูกยกเลิกโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

ฉบับที่ 11    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2519    22 ต.ค. 2519 – 20 ต.ค. 2520            ถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร

ฉบับที่ 12    ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2520 9 พ.ย. 2520 – 22 ธ.ค. 2521            รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่ 13    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2521    22 ธ.ค. 2521 – 23 ก.พ. 2534            ถูกยกเลิกโดยคณะ รสช.

ฉบับที่ 14    ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534    1 มี.ค. 2534 – 9 ธ.ค. 2534            รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่ 15    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534    9 ธ.ค. 2534 – 11 ต.ค. 2540            ถูกยกเลิกโดยรัฐธรรมนูญ 2540

ฉบับที่ 16    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540    11 ต.ค. 2540 – 1 ต.ค. 2549            ถูกยกเลิกโดยคณะ คปค.

ฉบับที่ 17    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2549  1 ต.ค. 2549 – 24 ส.ค. 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว

ฉบับที่ 18   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 24 สิงหาคม 2550 - ปัจจุบัน

ที่นี้ลองมาไล่ดูกันครับว่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับมีฉบับไหนบ้างที่มาจากประชาชนจริงๆ

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 1  พระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
เกิดจากคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้จัดร่างฯขึ้น มีจำนวน 39 มาตรา โดยหลวงประดิษฐมนูญธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ให้ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 3 วัน ต่อมาได้ "ยกเลิก" รัฐธรรญนูญฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ทั้งสิ้น 5 เดือน 13 วันมีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 1 ชุด คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 1: 28 มิถุนายน 2475-10 ธันวาคม 2475)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (ไทย) พุทธศักราช 2475 เกิดจากสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการยกร่างฯขึ้น เพื่อใช้เป็นรัฐธรรรมนูญฉบับถาวร มีจำนวน 68 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งต่อมาถือเป็น "วันรัฐธรรมนูญ" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นฉบับถาวรที่มีระยะเวลาบังคับใช้นานที่สุดโดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 13 ปี 4 เดือน 29 วันส่วนสาเหตุยกเลิกนั้น เนื่องมาจากเห็นว่า ใช้มานานแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปมาก ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นี้ มีรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศถึง 14 ชุด

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มีที่มาจาก ส.ส. ประเภทที่ 2 ที่ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทนราษฎร และสภาพิจารณาแล้วอนุมัติ มีจำนวนมาตรา 68 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ก่อนจะสิ้นสุด เนื่องจากมีการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจ และประกาศยกเลิกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 รวมระยะเวลาประกาศใช้ 1 ปี 5 เดือน 30 วัน นี่คือจุดเริ่มต้นการฉีกรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 หลังจากที่ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาใช้ มีจำนวน 98 มาตรา ประกาศใช้เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกเมื่อ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมระยะเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน มีรัฐบาล 3 ชุด คือ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ 2 สมัย และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 1 สมัย

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างฯ และพิจารณาแล้วเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนหน้านี้ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีจำนวน 188 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 แต่แล้ว 2 ปี 8 เดือน 6 วัน ต่อมา ก็ต้องสิ้นสุดลงไป เมื่อ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลอีกครั้ง และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 สำหรับรัฐบาลที่ปกครองประเทศในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (สมัยที่ 4)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 หลังจากที่ พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหาร (อีกครั้ง) ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ได้มีพระบรมราชโองการให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยให้นำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาใช้บังคับไปพลาง พร้อมให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันดำเนินการปรับปรุงฉบับใหม่ และเมื่อแล้วเสร็จ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ก็ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาผู้แทน และสภาให้ความเห็นชอบ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 นี้ในวันที่ 8 มีนาคม 2495 โดยมีจำนวน 123 มาตรา และในระหว่างที่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ในวันที่ 16 กันยายน 2500 แต่ทว่าก็ยังคงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป กระทั่งวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้ง คราวนี้ก็ถึงกาลสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 รวมระยะเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 6 ปี 7 เดือน 12 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศรวม 6 ชุด

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเพียง 20 มาตรา คณะรัฐประหารได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการปกครองประเทศชั่วคราว โดยประกาศใช้เมื่อ 28 มกราคม 2502 และยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 รวมเวลา 9 ปี 4 เดือน 23 วัน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ประกาศใช้นานมากพูดได้ว่า เป็นช่วงการใช้อำนาจเผด็จการที่ยาวนานที่สุดของไทย แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความเป็นเผด็จการเต็มขั้น คือในมาตรา 17 ที่ให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จและมาตรานี้เองที่ทำให้เกิดการประหารชีวิตผู้ต้องหาโดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาล ทั้งยังมีการล้มเลิก การเลือกตั้ง ในทางการเมืองทุกระดับ มีแต่ การแต่งตั้งแทนอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่นายกรัฐมนตรี คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อนที่นายกฯ ท่านนี้จะ "ตายคาตำแหน่ง" ในวันที่ 8 ธันวาคม 2506 และ จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบทอดอำนาจเผด็จการต่อภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก่อนที่จะยกเลิกเนื่องจากประกาศใช้ฉบับถาวร

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 มีที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างและพิจารณาให้ความเห็นชอบ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างฯนานมาก นับจากวันโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมี จำนวน 183 มาตรา โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และต้องยกเลิกเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร ที่นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างว่า "มีบุคคลบางจำพวกอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ยุยง บ่อนทำลาย ใช้อิทธิพลทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติก่อกวนการบริหารราชการของรัฐบาล" รวมเวลาในการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ 3 ปี 4 เดือน 28 วันผู้บริหารประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเพียงชุดเดียวคือ รัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร (สมัยที่ 3 : 7 มีนาคม 2512-17 พฤศจิกายน 2514)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นแนวทางในการบริหารประเทศไปพลางก่อน โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และสิ้นสุดเมื่อ 7 ตุลาคม 2517 รวมเวลา 1 ปี 9 เดือน 22 วัน มีจำนวน 23 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้น เกิดจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ซึ่งเป็นฉบับถาวร ภายใต้การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 มีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่รู้จักกันดีคือ "เหตุการณ์ 14 ตุลา" ในปี 2516 ซึ่งเป็นเหตุให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องพ้นจากอำนาจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ในช่วงที่ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" ขึ้น และได้จัดร่างรัฐธรรมญนูญ โดยยึดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เมื่อร่างฯเสร็จ สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน ประกาศใช้เมื่อ 7 ตุลาคม 2517 มีจำนวนมาตรา 238 มาตรา แต่ทว่า 2 ปีต่อมา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารและประกาศล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ติดตามมาจากการกวาดล้าง ปราบปรามขบวนการนักศึกษาในเช้าวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางหน้าประวัติศาสตร์ไทยอีกครั้งหนึ่ง ภายใต้การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีรัฐบาล 4 ชุด จากนายกรัฐมนตรี "หม่อมพี่-หม่อมน้อง" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 3 สมัย และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช 1 สมัย

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ภายหลังการยึดอำนาจ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้มีคำสั่ง 6/2519 ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2519 แต่งตั้ง "คณะเจ้าหน้าที่ทำงานกฎหมาย" ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีจำนวน 29 มาตรา ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 แต่หลังจากประกาศใช้ได้ 11 เดือน 28 วัน พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้ทำการรัฐประหารซ้ำและยกเลิกรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ไป นายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศช่วงรัฐธรรมนูญชั่วคราว คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 12  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 เกิดจากการที่ คณะรัฐประหาร ซึ่งนำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นำมาใช้หลังจากที่ได้ทำการรัฐประหารซ้ำ โดยได้วางหลักการไว้กว้างๆ เหมือนกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับก่อนๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจำนวน 32 มาตรา ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และยกเลิก 22 ธันวาคม 2521 เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (ฉบับถาวร) รวมเวลา 1 ปี 1 เดือน 13 วัน มีรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (สมัยที่ 1) บริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จนแล้วเสร็จ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบ และเมื่อได้มีมติเห็นชอบแล้ว ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 มีจำนวน 206 มาตรา สำหรับสาเหตุแห่งการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจาก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้ทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 รวมเวลา 12 ปี 2 เดือน 1 วัน

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 14  ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจว่า
ประการแรก คณะรัฐบาลได้อาศัยอำนาจหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ประการที่สอง ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจรังแกข้าราชการประจำ
และประการที่สาม นักการเมืองที่บริหารประเทศมีการรวบอำนาจนำไปสู่การปกครองแบบเผด็จการรัฐสภา คณะ รสช.จึงได้ทำการรัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 13 และนำรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 มีจำนวน 33 มาตรา แล้วยกเลิกไปวันที่ 9 ธันวาคม 2534 หลังจากประกาศใช้ฉบับถาวรรวมเวลาที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 คือ 8 เดือน 8 วัน สำหรับนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน (สมัยที่ 1 : 2 มีนาคม 2534-7 เมษายน 2535)

รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นยกร่างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มีจำนวน 223 มาตรา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แต่ คณะ รสช. ก็ได้พยายามสืบทอดอำนาจ โดยผ่านพรรค "สามัคคีธรรม" ซึ่งเป็นพรรรค "นอมินี" ของ รสช. หนุนให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากประชาชน จนเกิดเหตุล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2535 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" พล.อ.สุจินดา คราประยูร ต้องพ้นจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงประกาศใช้มาเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็มีความพยายามในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คำนึงถึงประชาชนมีส่วนร่วมขึ้นมา และเมื่อแล้วเสร็จ จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2540 รวมเวลาประกาศใช้ทั้งสิ้น 5 ปี 10 เดือน 2 วัน มีรัฐบาลบริหารประเทศ 5 ชุด

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมาจากบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ได้จัดทำขึ้นเสร็จ แล้วรัฐสภาสมัยรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 พิจารณาให้ความเห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วประธานรัฐสภาได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 มีจำนวน 336 มาตรา รัฐธรรมนูญที่ประชาชนร่วมกันร่างฉบับนี้ ถูกยกเลิก เนื่องจากการรัฐประหารภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมเวลา 8 ปี 11 เดือน 8 วัน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน 39 มาตรา โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตรา ช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ" การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57% ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 41% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศต่อไป

เราบอกชาวโลกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแต่ดูจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองจุดเกิด และ จุดดับของรัฐธรรมนูญนั้น แทบจะทั้งหมดมาจากการรัฐประหาร !!! ถ้าตราบใดที่อ้างว่าการรัฐประหารนั้นสามารถปราบการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐได้นั้นการรัฐประหารก็จะมีต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด....

ขอบคุณข้อมูลเสริมจาก ลิ้งค์นี้