วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทัศนะ ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้






คำนำ
หนังสือปรีดีสารฉบับนี้ พิมพ์ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงศ์ การที่เลือกเรื่อง "ทัศนะของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในปัจจุบัน ก็โดยที่เห็นว่าปัญหานี้ เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ซึ่งรัฐบาลและผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่าย กำลังร่วมมือกันหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ที่เข้าใจในปัญหานี้อย่างดียิ่ง และเคยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตัวเองเป็นผลสำเร็จมาแล้ว ฉะนั้น การจะนำเรื่องข้อสังเกตุเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งท่านปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ทัศนะไว้เมื่อ พ.ศ. 2514 จึงน่าจะมีประโยชน์ เพราะถึงจะเป็นความเห็นเมื่อ 34 ปีมาแล้ว แต่เชื่อว่ายังคงทันสมัย และน่าที่ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ จะนำไปประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปในทางที่ถูกต้อง และสัมฤทธิ์ผลต่อไป

สถาบันปรีดี พนมยงค์ หวังว่าเอกสารฉบับจิ๋วนี้จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ สมดังปณิธานของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ที่ตลอดชีวิตของท่าน ได้คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของประเทศชาติและราษฎรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สถาบันปรีดี พนมยงค์
28 กุมภาพันธ์ 2548 

ข้อสังเกตุเกี่ยวกับ "เอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย"
โดย
ปรีดี พนมยงค์

ตามที่คณะผู้จัดงานชุมนุมประจำปี 2514 ของชาวธรรมศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ได้ขอให้ข้าพเจ้าเขียนบทความลงในหนังสือที่ระลึกนั้น ข้าพเจ้าจึงขอรวบรวมข้อสังเกตเกี่ยวกับเอกภาพของชาติกับประชาธิปไตย ซึ่งนักศึกษาในต่างประเทศบางคนได้เคยมาถาม ข้าพเจ้าหวังว่าผู้อ่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักรที่ทราบข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับเรื่องนี้คงจะได้ช่วยกันสังเกตุต่อไป

1.ปัจจุบันนี้มีข่าวเป็นประจำเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างราษฎรฝ่ายถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกกับฝ่ายถือนิกายโปรแตสแต๊นท์ในไอร์แลนด์เหนือ และในปี ค.ศ.1969 ก็มีข่าวแพร่ไปเหือบทั่วโลก ถึงการที่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งพยามต่อต้านการสถาปนาเจ้าฟ้าชารลส์เป็นเจ้าแห่งเวลส์

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าไอร์แลนด์เหนือเคยร่วมกับไอร์แลนด์ใต้ ( IRE ) ก่อนแยกตนเป็นเอกราชนั้น ได้ร่วมอยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งมีพระราชาธิบดีเป็นประมุขมาเป็นเวลาประมาณ 800 ปีแล้ว ก็ยังมีบุคคลส่วนหนึ่งรักปิตุภูมิท้องที่ ( Local Partriotism ) มีความรักศาสนานิกายของตนโดยเฉพาะแคว้นเวลส์ก็อยู่ภายใต้ราชบัลลังก์อังกฤษกว่า 400 ปี ซึ่งมีมกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์อังกฤษดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าแห่งเวลส์ แต่ชาวเวลส์ส่วนหนึ่งก็ยังมีความรักปิตุภูมิท้องที่ของตน ซึ่งไม่ยอมรับนับถือเจ้าแห่งเวลส์เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ

แคนาดา ซึ่งเป็นชาติในเครือจักรภพของอังกฤษได้ยอมรับนับถือพระราชาธิบดี ( หรือพระราชินีนาถ ) อังกฤษ เป็นสัญลักษณ์เอกภาพของชาติ ซึ่งประกอบด้วยคนเชื้อชาติอังกฤษและฝรั่งเศส ภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นภาษาของชนส่วนน้อยในแคนาดา เป็นภาษาทางราชการเคียงคู่กันไปกับภาษาอังกฤษของชนส่วนข้างมาก เมื่อพระเจ้ายอรช์ที่ 6 และต่อมาพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จไปแคนาดาทรงทำพิธีเปิดรัฐสภานั้น ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศส แม้กระนั้นก็ดี มีข่าวแพร่ออกมาว่าบางครั้งพลเมืองเชื้อชาติฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยในแคนาดาทำการแสดงกำลังดิ้นรนที่จะแยกตนจากสหภาพ

ชาวนอร์เวย์ ซึ่งมีภาษาในตระกูลสแกนดิเนเวียนเช่นเดียวกับสวีเดน จะมีผิดเพี้ยนกันบ้างไม่มากนักเปรีบยเหมือนภาษาไทยกับภาษาลาว นอร์เวย์เคยรวมเป็นชาติเดียวกับสวีเดนเมื่อก่อน ค.ศ.1905 โดยมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Bernadette เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาติ ชาวนอร์เวย์ก็นับถือพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์นี้เป็นอย่างมาก เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ( 1920 - 1927 ) นั้น มีชาวนอร์เวย์ที่อยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่อแยกตนจากสวีเดนเมื่อ ค.ศ.1905 เล่าว่าขณะต่อสู้อยู่นั้น เขาได้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีราชวงศ์ Bernadette เพราะพวกเขาถือว่าราชวงศ์นี้ ซึ่งแม้กษัตริย์องค์แรกเป็นคนฝรั่งเศสพระนาม Jean Bernadette เคยเป็นจอมพลของนโปเลี่ยนที่ 1 แต่ต่อมาพระเจ้าชารลส์ที่ 13 แห่งสวีเดนได้ทรงรับเป็นราชโอรสบุญธรรมแล้วได้สืบสันตติวงศ์เมื่อ ค.ศ.1818 กษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์นี้ได้ให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรนอร์เวย์และสวีเดนเป็นอย่างดีที่สุด แต่รัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของของชาวนอรเว พวกเขาจึงต่อสู้เพื่อปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกราชต่างหาก และสภาผู้แทนของชาวนอรเวก็ได้มีมติอัญเชิญเจ้าแห่งราชวงศ์ Bernadette องค์หนึ่งขึ้นครองราชสมบัติเปนพระราชาธิบดีของนอรเวย์ แต่เจ้าแห่งราชวงศ์นั้นได้ทรงปฎิเสธ ชาวนอร์เวย์จึงมีประชามติอัญเชิญเจ้าคารล์แห่งเดนมารก์ขึ้นครองราชย์ในพระปรมาภิไธย "พระเจ้าฮากอนที่ 7" ทั้งนี้แสดงว่าการที่นอร์เวย์แยกออกจากสวีเดนนั้นมิใช่เพราะไม่เคารพราชวงศ์ Bernadette แต่เป็นเพราะรัฐบาลสวีเดนในสมัยนั้นไม่ปฎิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวนอร์เวย์ พระราชาธิบดีสวีเดนจึงไม่อาจทรงช่วยเอกภาพได้

เบลเยี่ยม ซึ่งประกอบไปด้วยพลเมืองเชื้อชาติเฟลมิ่ง ( พูดภาษาเฟลมิช คล้ายๆ ภาษาดัทช์ ) ประมาณ 55.7 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมดเชื้อชาติวาลลูน ( พูดภาษาฝรั่งเศส แต่มีคำเฉพาะบ้าง ) ประมาณ 32.4 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เชื้อชาติเยอรมันประมาณ .06 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด พูดได้ทั้งภาษาเฟลมิช และภาษาฝรั่งเศสประมาณ 11.3 เปอร์เซนต์ของพลเมืองทั้งหมด เมื่อก่อน ค.ศ.1830 เบลเยี่ยมอยู่ในอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพระราชาธิบดีแห่งราชวงศ์ Orange-Nassau เป็นประมุข ซึ่งได้ทรงให้ความเป็นธรรมแก่พสกนิกรทุกเชื้อชาติของพระองค์ แต่ใน ค.ศ.1830 คนเชื้อชาติต่างๆในเบลเยี่ยมดังกล่าวข้างต้น ก็ทำการอภิวัฒน์แยกตนออกจากเนเธอร์แลนด์แล้วสมัชชาแห่งชาติมีมติเลือกเจ้าชายเลโอโปลด์แห่งราชวงศ์ Saxe Cobourg ( ราชวงศ์หนึ่งในประเทศเยอรมัน ) ขึ้นเป็นพระราชาธิบดี และมีเจ้าในราชวงศ์นี้สีบสันตติวงศ์ต่อมาจนทุกวันนี้ ส่วนเอกภาพของชาติในเบลเยี่ยมระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆนั้น มีวิธีการหลายอย่างที่น่าศึกษา

การรักปิตุภูมิท้องที่มิได้หมดไปง่ายๆ และยิ่งประกอบด้วยท้องที่นั้นมีศาสนาต่างกันหรือศาสนาเดียวกันแต่นิกายต่างกันกับพลเมืองส่วนข้างมากของชาติที่รวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วการรักปิตุภูมิท้องที่ก็ยิ่งลึกซึ้ง

2.ขอให้เราพิจารณากลุ่มชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีสภาพในองค์การสหประชาชาติ ก็จะพบว่าแต่ละชาติประกอบขึ้นด้วยการรวมชนหลายเชื้อชาติเข้าเป็นชาติเดียวกัน บางเชื้อชาติที่เข้าร่วมอยู่เป็นเวลาช้านานหลายสิบหรือหลายร้อยศตวรรษแล้วก็หมดร่องรอยที่แสดงเชื้อชาติเฉพาะของตนบางเชื้อชาติที่เข้ารวมอยู่ไม่นานก็ยังมีร่องรอยแห่งเชื้อชาติของตนอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามกาละ เช่นสำเนียงพูดแปร่งจากชนส่วนข้างมาก และยังมีภาษาท้องที่ของตน เช่น ชาวแคว้นเวลส์ในสหราชอาณาจักรและในท้องที่ของประเทศไทยซึ่งคนสัญชาติไทยในท้องที่นั้นๆ พูดไทยไม่ได้ หรือบางคนพูดไทยได้ แต่แปร่งมากจนคนไทยภาคกลางเข้าใจยากหรือเรียนหนังสือไทยพูดไทยได้แล้วพูดไทยกับข้าราชการหรือคนไทยในท้องที่อื่น ส่วนภายในคนท้องที่เดียวกันชอบพูดภาษาท้องที่หรือสำเนียงตามท้องที่ของตน อันแสดงถึงริ้วรอยแห่งความแตกต่างในเชื้อชาติหรือเชื้อท้องที่โดยเฉพาะ

ยิ่งกว่านั้น บางแคว้นบางเขตภายในชาติยังแสดงสัญลักษณ์ว่ามีเจ้าของตนโดยเฉพาะแม้เป็นเพียงในนามเช่น เจ้าแห่งแคว้นเวลส์ดังกล่าวแล้ว และแม้คนเวลส์โดยทั่วไปจะพูดภาษาอังกฤษ ส่วนประเทศไทยนั้น เจ้าผู้ครองนครและราชาแห่งรัฐต่างๆยังมีอยู่ภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 เช่น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ถึงแก่พิราลัยประมาณ 6 ปีภายหลังอภิวัฒน์นั้น เจ้าผู้ครองลำพูนได้ถึงแก่พิราลัยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พระยาพิพิธราชาแห่งยะหริ่งและพระยาภูผาราชาแห่งระแงะสิ้นชีพราวๆ ปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือภายหลังนั้นไม่นาน พระเจ้ามหาพรหมสุรธาดา ซึ่งทรงศักดิ์เป็นพระเจ้าน่านนั้นพิราลัยราวๆ พ.ศ.2474 ราชาแห่งสายบุรีสิ้นชีพราวๆ พ.ศ.2473 

ขอให้เราค้นคว้าถึงเหตุที่ชนเชื้อชาติต่างๆ และกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นชาติเล็กอยู่ก่อนแล้วเข้าร่วมกับชาติที่ใหญ่กว่าเป็นชาติเดียวกันนั้น เพราะเหตุใด แล้วจึงจะพิจารณาปัญหาการรักษาเอกภาพของชาติไว้ให้ได้

ในตอนปลายระบบปฐมสหการนั้นได้เริ่มมีระบบทาสโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าของสังคมหนึ่งไปคร่าเอาคนของอีกสังคมหนึ่งมาใช้งานอย่างสัตว์พาหนะ สังคมที่มีชัยมากก็มีทาสมากเป็นกำลังใช้รบกับสังคมที่อ่อนแอกว่า สังคมนั้นก็ขยายใหญ่โตขึ้นทุกที ครั้นต่อมาเมื่อสังคมทาสได้พัฒนาไปเป็นสังคมศักดินาหรือสังคมส่วย ซึ่งหัวหน้าสังคมได้รับยกย่องเป้นเจ้าใหญ่มีอิทธิพลมากขึ้นทุกทีนั้น กยิ่งถือว่าที่ดินและสรรพสิ่งทั้งหลายรวมทั้งคนและสัตว์เป็นทรัพย์สินของตน ดังปรากฎในกฎหมาย "ตราสามดวง" ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า "ที่ดินทั้งหลายในแคว้นกรุงศรีอยุธยาเป็นของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ" ส่วนทาสนั้นถือว่าเป็นทรัพย์ชนิดหนึ่งในจำพวกทรัพย์ที่เรียกว่า "วิญญาณทรัพย์" การรวมชาติเล็กเข้ากับชาติที่มีกำลังมากกว่านั้น เป็นไปโดยวิธีชาติที่มีกำลังมากกว่าทำการโจมตีรบพุ่งเอามา เป็นวิธีสำคัญ รองลงไปใช้วิธีคุกคามให้ชาติเล็กกว่าเกรงขามยอมมาเป็นเมืองขึ้นส่งส่วยหรือบรรณาการเป็นคราวๆ ในยุโรปยังมีการเอาแคว้นที่อยู่ใต้อำนาจของชาติที่ใหญ่กว่านั้นเป็นสินเดิม หรือเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าว สาว ที่สมรสกัน วิธีรวมชาติต่างๆเข้าเป็นชาติหนึ่งชาติเดียวกันเช่นวิธีระบบศักดินานั้น ราษฎรของชาติที่ถูกรวมกับชาติใหญ่ไม่มีเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วย คือสุดแท้แต่หัวหน้าของตน

ดังนั้นในความรู้สึกของราษฎรจึงยังมีการรักปิตุภูมิท้องที่อยู่ มากบ้างน้อยบ้างตามความช้านานแห่งการรวมเป็นเอกภาพเดียวกันกับชาติที่มีอำนาจเหนือ

3.เมื่อมีกลุ่มต่างๆภายในชาติหนึ่งๆ ยังมีจิตสำนึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนอยู่ ซึ่งอาจเบาบางเพราะการล่วงเลยมาหลายสิบหลายร้อยศตวรรษ และอาจเหนียวแน่นถ้าการรวมกับชาติอื่นเพียงไม่กี่ชั่วคน และเหนียวแน่นยิ่งขึ้นถ้าท้องที่นั้นๆ มีภาษาพูดของตนโดยเฉพาะต่างกับภาษาของชนชาติส่วนข้างมาก และถ้ามีภาษาและศาสนาที่แตกต่างกันกับชนส่วนข้างมากของชาติก็ยิ่งเหนียวแน่นมาก ซึ่งถ้าเราจะติดตามข่าวการต่อสู้ภายในชาติหนึ่งๆในโกลนี้ ก็จะพบว่ามีหลายชาติที่ประสบปัญหาการรักษาความเป็นเอกภาพของชาติ

ในประเทศไทยเรานั้น ข่าวสารทางราชการที่เปิดเผยแล้ว ซึ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับได้นำลงเกี่ยวกับการต่อสู้ทางอาวุธในประเทศไทยนั้น ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ไม่ปรากฎว่าต้องการแยกดินแดนไทยและมีฝ่ายที่ต้องการแยกดินแดนไทยออกเป็นอีกรัฐหนึ่ง เช่นเมื่อประมาณไม่กี่เดือนมานี้ทางราชการแถลงใจความว่า มีคนไทยเชื้อชาติมลายูเป็นลูกชายของตวนกูโมหะยิดดิน ที่สืบเชื้อสายจากราชาแห่งปัตตานีได้เป็นหัวหน้าทำการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนส่วนหนึ่งทางปักษ์ใต้ตั้งขึ้นเป็นรัฐอิสระ หรือรวมเป็นสหพันธรัฐกับรัฐต่างๆแห่งมลายูตะวันออก ถ้าเราถอยหลังไปพิจารณาข่าวภายหลังรัฐประหารในประเทศไทยปี ค.ศ.1947 ( 8 พฤศจิกายน 2490 ) ก็เคยมีคดีที่รัฐบาลสมัยนั้นได้จับกุมอดีตผู้แทนราษฎรชาวอีสานหลายคนมาฟ้องศาลฐานกบฎแยกดินแดน ศาลพิจารณาแล้วไม่มีมูลความจริงจึงตัดสินยกฟ้อง แต่ถ้าถอยหลังไปอ่านประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเวลา 150 ปีมานี้ ก็จะทราบว่าเจ้าอนุแห่งเวียงจันทร์ซึ่งสืบสายจากพระราชาธิบดีแห่งกรุงศรีสตณาคณหุต ได้ทำการยึดดินแดนอีสานเพื่อเอาไปรวมกับดินแดนลาว ฟื้นอาณาจักรศรีสตณาคณหุต ขึ้นมาอีก

ในรัชกาลที่ 5 ก็มีกรณี "ผีบุญผีบ้า" ในภาคอีสาน กรณีเงี้ยวในภาคพายัพ กรณีราชาแห่งปัตตานีชื่ออับดุลกาเด ซึ่งถูกย้ายไปกักตัวอยู่พิษณุโลก แต่เมื่อได้โปรดเกล้าให้กลับปัตตานีก็คิดแยกดินแดนอีก ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงส่งทหารรักษาวังจากนครศรีธรรมราชไปปราบ แต่อับดุลกาเดหนีไปลี้ภัยในกลันตัน แล้วต่อมาได้ตาย ณ ที่นั้น ส่วนทายาท ตวนกู โมหะ ยิดดิน นั้นภายหลังอภิวัฒน์ พ.ศ.2475 ได้เข้ามากรุงเทพฯ แสดงความจำนงขออยู่ร่วมในสยามต่อไป เพราะเห็นว่าสยามมีระบบรัฐธรรมนูญเป็นที่พอใจแล้ว แต่ในระหว่างวงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เล็ดลอดเดินทางไปถึงอินเดีย เสรีไทยคนหนึ่งได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่กรุงเดลฮีมีชาวอังกฤษกลุ่มหนึ่งเลี้ยงเปนเกียรติแก่ตวนกูผู้นี้และดื่มให้พรว่า "Long Live King Of Pattani" ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสยามได้กลับมามีประชาธิปไตยสมบูรณ์อีก ตวนอูผู้นี้ก็แสดงความภักดีต่อสยาม แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ.2490 เกิดกรณีที่ครูศาสนาอิสลามปัตตานีบางคนถูกตำรวจจับแล้วหายตัวไปโดยมีผู้รู้เห็นว่าถูกเอาตัวไปถ่วงทะเลตาย ตวนกูผู้นี้เลยไม่ยอมกลับมาเมืองไทย โดยตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ในกลันตัน

แม้ว่ารัฐบาลของตวนกูอับดุลรามันห์และอับดุลราซักแห่งมาเลเซีย จะได้แถลงว่าไม่ต้องการเอาดินแดนไทย มีชนเชื้อชาติมลายูเป็นส่วนมากไปรวมกับมาเลเซียซึ่งข้าพเจ้าก็เชื่อว่าท่านทั้งสองมีเจตนาบริสุทธิ์เช่นนั้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตสำหรับทายาทแห่งอดีตราชาบางคนได้ไปอาศัยอยู่ในรัฐตะวันออกแห่งมาเลเซีย บางคนอยู่อย่างสงบแต่บางคนเคลื่อนไหว โดยมีผู้ให้ความเห็นว่าสุลต่านหรือราชาแห่งรัฐต่างๆ ที่เคยรวมอยู่กับไทยในอดีต เช่น เคดาห์ ( ไทรบุรี ) ปลิส กลันตัน ตรังกานู นั้น ได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีองค์ละ 5 ปีมาแล้ว ตามระบอบปกครองของสหพันธรัฐมาเลเซีย

สมัยที่วิทยุกรมประชาสัมพันธ์ไทยโต้ตอบกับวิทยุพนมเปญอย่างรุนแรงเรื่องเขตแดนนั้น วิทยุพนมเปญเคยอ้างว่าเขมรปัจจุบันก็เป็นทายาทของขอมที่เขาเรียกตัวเองว่า "ขะแมร์" และอ้างว่ามีคนเขมรอยู่ในไทยบริเวณติดต่อกับกัมพูชาที่พูดได้แต่ภาษาเขมร หรือพูดภาษาเขมรและไทยประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน เขาได้เรียกร้องให้คนเชื้อชาติเขมรนับถือกษัตริย์เขมร

เรื่องต่างๆข้างบนนี้ เราต้องสังเกตไว้เพื่อหาทางที่ถูกต้องป้องกันมิให้เรื่องขยายตัวไปเพื่อรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้

4.ขอให้เราศึกษาวิีการต่างๆ ที่ประเทศต่างๆ รักษาเอกภาพไว้คือ

4.1 วิธี อังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ดังที่ได้ยกเป็นอุทาหรณ์ในข้อ 1 นั้น ก็จะเห็นได้ว่ามิใช่ความผิดของพระราชาธิบดีที่รักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้ไม่ได้ แต่เป็นเพราะความรักปิตุภูมิท้องที่อย่างแรงกล้าของกลุ่มชนในท้องถิ่นนั่นเอง และที่สำคัญคือรัฐบาลของชนส่วนข้างมากในชาตินั้นๆ ไม่คำนึงให้เพียงพอถึงความรู้สึกรักปิตุภูมิท้องที่ของแต่ละกลุ่มชนว่ามีมากมายเหนียวแน่นขนาดไหน ผลจึงบังเกิดขึ้นตามธรรมชาติแห่งการรักปิตุภูมิท้องที่

4.2 วิธีเผด็จการแบบนาซีหรือฟาสซิสต์หรือมิลิแทริสต์ซึ่งเป็นไปได้ชั่วคราว เช่น ฮิตเล่อน์ใช้กำลังรวมคนออสเตรียที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันเข้ากับอาณาจักรเยอรมันที่ 3 ก็ไม่ทำให้ชาวออสเตรียหมดความรักปิตุภูมิท้องที่ของตนไปได้จึงได้ดิ้นรนตลอดมาเพื่อตั้งเป็นชาติเอกเทศจากเยอรมัน 

มุโสลินีใช้วิธีบังคับให้ชนในดินแดนที่โอนมาเป็นของตนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อาทิ ส่วนหนึ่งของแคว้นตีโรลซึ่งพลเมืองเป็นเชื้อชาติเยอรมันนั้น ต้องเรียนหนังสืออิตาเลี่ยน และพูดภาษาอิตาเลี่ยน ชาวตีโรลคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนข้าพเจ้าในมหาวิทยาลัยปารีสได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เวลากลางวันชาวตีโรลต้องพูดภาษาอิตาเลี่ยน แต่ตอนกลางคืนปิดประตูบ้านแล้วพูดภาษาเยอรมันภายในครอบครัว ซึ่งทำให้เขาเบิกบานสำราญใจยิ่งนัก

พวกลัทธิทหารญี่ปุ่นเมื่อเอาดินแดนอีสานของจีน ( แมนจูเรีย ) ตั้งเป็นรัฐแมนจูกั๊วะขึ้นโดยรวมหลายเชื้อชาติในเขตนั้น เช่น แมนจู และบางส่วนของมองโกล เกาหลี ฮั่น ( จีน ) ฯลฯ แล้วเอาอดีตจักรพรรดิ์จีน "ปูยี" เป็นจักรพรรดิแห่งรัฐใหม่เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกภาพ แต่ก็ไม่สามารถทำลายจิตใจที่รักปิตุภูมิท้องที่ของชนชาติต่างๆในเขตนั้นได้ แม้แต่ชนชาติแมนจูเองก็ต่อต้านจักรพรรดิปูยี่ ดังปรากฎในคำวิจารณ์ตนเองของคนผู้น้แล้ว

4.3 วิธีสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองประกอบด้วยชนชาติพูดภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลี่ยน โดยแยกออกเป็นแขวงๆ ( Canton ) ซึ่งแต่ละแขวงมีสิทธิการปกครองตนเอง ใช้ภาษาของตนเอง แล้วรวมกันเป็นสมาพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางเดียวกันก็ไม่ปรากฎว่ามีชนชาติใดในสวิสเซอร์แลนด์ดิ้นรนปลีกตนออกมาตั้งเป็นชาติเอกเทศต่างหาก

4.4 วิธีประชาธิปไตยที่ประธานาธิบดีลินคอนน์ให้ไว้คือ การปกครองโดย "รัฐบาลของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" ถ้าทำตามนี้ได้จริงเอกภาพของชาติก็เป็น "เอกภาพของราษฎรโดยราษฎรเพื่อราษฎร" เป็นความเต็มใจของราษฎรเองที่รักษาเอกภาพของชาติ จึงเป็นการรักษาเอกภาพของชาติให้มั่นคงได้ วิธีประชาธิปไตยดังกล่าวนี้เป็นการนำไปสู่รากฐานจิตสำนึกของมนุษย์ ที่จะให้มีความรู้สึกในการต้องการเอกภาพของชาติ แม้จะตั้งต้นจากโครงร่างเบื้องบนของสังคมก่อน คือมีระบอบการเมืองดังกล่าวนั้นแล้ว รัฐบาลแห่งระบอบนั้นก็ดำเนินการแก้ไขสมมุติฐานของสังคมคือสภาพเศรษฐกิจ ให้ราษฎรทั่วหน้ามีความกินดีอยู่ดีทั่วกัน ราษฎรก็ย่อมเห็นคุณประโยชน์ที่ตนได้รับในการรักษาเอกภาพกับชนชาติต่างๆ ที่รวมกันเข้าเป็นชาติอันหนึ่งอันเดียวกัน

การรักษาเอกภาพของชาติโดยอาศัยทางจิตที่ปราศจากรากฐานทางเศรษฐกิจและการเมืองประชาธิปไตยของราษฎรก็เท่ากับอาศัยการลอยไปลอยมาในอากาศ ซึ่งอาจหล่นลงหรือไปส่อวกาศนอกพิภพ มนุษย์อยู่ได้ด้วยการมีปัจจัยดำรงชีพและมีระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ให้สิทธิมนุษยชน ผู้ที่อาศัยสภาพทางจิต โดยไม่กังวลถึงสภาพทางเศรษฐกิจ ก็เพราะเขาเองมีความสมบูรณ์หรือมีพอกินพอใช้ในทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว แต่คนส่วนมากที่ยังขาดปัจจัยดำรงชีพอยู่นั้นย่อมมีจิตใจในทางค้นคว้าหาชีวปัจจัยในทางที่ชอบพร้อมด้วยสิทธิมนุษยชน พวกเขาอาจถือสภาพทางจิตอย่างเดียวตามการโฆษณาไปได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อรอคอยผลแห่งวิธีนั้นชั่วกาละหนึ่งแล้ว ไม่เห็นผลว่าได้ช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยนชนของเขาแล้ว เขาก็อาจไปถือสภาพทางจิตชนิดอื่นที่เขาเห็นว่า อาจช่วยความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนของเขาที่ดีกว่าก็เป็นได้ นักปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวว่า ความคิดของเจ้าของคฤหาสน์ต่างกับคนที่อยู่กระท่อม


วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ ตอนที่ 2

ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรม ยกเลิกภาษีรัชชูประการ ( ภาษีส่วย ) อากรค่านา สถาปนาประมวลรัษฎากรเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2481 และดำรงตำแหน่งนี้จนถึง 16 ธันวาคม พ.ศ.2484

ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังนั้นได้ปฎิบัติภารกิจเกี่ยวกับความเป็นธรรมทางสังคมหลายประการ อาทิ

( 1 ) ยกเลิกเงินภาษีรัชชูปการซึ่งเป็นซากตกค้างจาก "เงินส่วย" ซึ่งราษฎรที่เป็นไพร่ของเจ้าศักดินาต้องเสียให้เจ้าศักดินา
( 2 ) ยกเลิกอากรค่านาที่เป็นซากของการบรรณาการซึ่งราษฎรที่ทำนาต้องส่งบรรณาการให้แก่เจ้าศักดินาสูงสุดที่ถือว่าที่ดินทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรเป็นของประมุขของสังคม
( 3 ) ปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมแก่สังคม คือ ผู้ใดมีรายได้ก็เสียภาษีมาก ผู้ใดบริโภคฟุ่มเฟือยมากก็เสียภาษีทางอ้อมมาก และถ้าผู้ใดบริโภคเครื่องบริโภคที่ไม่จำเป็นแก่การดำรงชีพก็ต้องเสียภาษีอากรมากตามลำดับ
( 4 ) สถาปนา "ประมวลรัษฎากร" เป็นแบบฉบับครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งรวมบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีอากรทางตรงที่เป็นธรรมแก่สังคม
( 5 ) เมื่อสงครามใหญ่ได้เริ่มขึ้นในยุโรปก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลกนั้น ปรีดีได้จัดการปกป้องทรัพย์สินของชาติไทยซึ่งมีอยู่ในต่างประเทศนั้นได้ทันท่วงที คือ

เมื่อครั้งระบบสมบูรณาฯ ได้ใช้วิธีมีเงินปอนด์สเตอร์ริงค์เป็นทุนสำรองเงินตราฝากธนาคารอังกฤษไว้ในประเทศอังกฤษ ปรีดีคาดคะเนว่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงค์จะต้องลดค่าลงตามลำดับ ฉะนั้นจึงได้จัดการเอาเงินปอนด์ที่เป็นเงินลงทุนสำรองเงินตราจำนวนหนึ่ง ซื้อทองคำเป็นจำนวนน้ำหนักประมาณ 1 ล้าน ออนซ์ (35 ล้านกรัม ) ในราคาออนซ์ละประมาณ 35 เหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำทองคำนั้นมาเก็บไว้ในห้องนิรภัยกระทรวงการคลัง ซึ่งยังคงรักษาไว้เป็นเงินทุนสำรองเงินบาทอยู่จนทุกวันนี้

บัดนี้ทองคำในตลาดโลกมีราคาประมาณออนซ์ละ 350 เหรียญสหรัฐฯ ฉะนั้นต้นทุนที่ปรีดีในฐานะรัฐมนตรีคลัง ได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อทองคำเข้ามาเก็บในห้องริรภัยของกระทรงการคลังเป็นราคา 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั้น บัดนี้ทองคำดังกล่าวของชาติไทยมีค่า 350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ( นอกจากนี้ยังมีทองคำที่ปรีดีได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นนำทองคำมาแลกกับเงินตราไทยจำนวนหนึ่งที่ปรีดีในฐานะหัวหน้าเสรีไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาล ควง อภัยวงศ์ ที่จะให้เงินญี่ปุ่นกู้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต้องเอาทองคำของญี่ปุ่นที่ธนาคารชาติของญี่ปุ่นกันไว้ว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ซึ่งสัมพันธมิตรได้มอบให้รัฐบาลไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 )

โอนวิสาหกิจยาสูบของบริษัทอังกฤษ อเมริกัน มาเป็นของรัฐบาลไทยสำเร็จก่อนญี่ปุ่นยึด
ตามสนธิสัญญาไม่เสมอภาคของอังกฤษ และอเมริกันนั้น บริษัทอังกฤษ-อเมริกัน ใช้สิทธิพิเศษทำการผูกขาดการทำบุหรีซิกกาแรตจำหน่ายในประเทศไทย

เมื่อปรีดีทำสนธิสัญญาใหม่กับนานาประเทศ ยกเลิกสิทธิพิเศษต่างๆแล้ว ปรีดีได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ได้จัดการปรับปรุงภาษีอากรให้เป็นธรรมและประกาศประมวลรัษฎากรแล้ว ปรีดีได้เสนอรัฐบาลให้เสนอ พรบ.ยาสูบ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พรบ.นั้นได้ประกาศใช้แล้ว ปรีดีได้จัดการโอนกิจการของบริษัทอังกฤษ-อเมริกัน เข้ามาเป็นของรัฐบาลไทย การนั้นได้ทำเสร็จลงเมื่อประมาณ 6 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นรุกรานประเทศไทย ถ้าสมมุติกิจการนั้นบริษัทอังกฤษอเมริกันเป็นเจ้าของอยู่ ญี่ปุ่นผู้รุกรานก็คงยึดเอาไปเป็นทรัพย์สินเชลยของญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นจะผลิตยาสูบจำหน่ายในประเทศไทยตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็จะได้เงินกำไรหลายพันล้านบาท

เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อต้านเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
( 1 ) ทางการทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้ติดต่อขอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดการให้ ปรีดี พนมยงค์ พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเพราะเป็นผู้นิยมสัมพันธมิตร แต่เนื่องจากยังมีราษฎรนิยมนายปรีดีอยู่มาก ฉะนั้นขอให้จัดการให้ปรีดีดำรงตำแหน่งสูงสุดที่มิใช่อำนาจทางการเมือง ( หมายถึงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ในคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างอยู่ 1 ตำแหน่ง ) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรีนำความแจ้งแก่นายปรีดี ปรีดีจึงตกลงลาออกจากรัฐบาล วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2484 สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้ปรีดี เป็นผู้สำเร็จาชการฯ คนหนึ่ง ในตำแหน่งคณะผู้สำเร็จฯ ที่ว่างนั้น

( 2 ) ปรีดีเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ฉบับ 10 ธันวาม 2475 นั้น พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจคัดค้านระบบเผด็จการและปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ฉะนั้นในการที่ปรีดีรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติแทนองค์พระมหากษัตริย์ดังต่อไปนี้

ประการที่ 1 หน้าที่ต่อต้านเผด็จการ
( ก ) ระหว่าง พ.ศ.2485-2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกฤษฎีกามายังคณะผู้สำเร็จราชการฯ ให้อำนาจผู้บัญชาการทหารสูงสุด ( จอมพล ป. ) มีอำนาจสั่งการทุกกระทรวงทบวงกรมได้ ปรีดีจึงทำเป็นบันทึกเสนอพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ ว่าสมควรที่คณะผู้สำเร็จฯ ( ซึ่งรวมทั้งนายปรีดีด้วยนั้น ) จะต้องยับยั้ง ( Veto ) พระราชกฤษฎีกานั้น เพราะเท่ากับให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (จอมพล ป. ) มีอำนาจเผด็จการ ซึ่งขัดต่อระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2475 พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ เห็นชอบด้วย คณะผู้สำเร็จฯ จึง "ยับยั้ง" ( Veto ) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พร้อมกันนั้นปรีดี ได้ทำจดหมายถึง พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุที่ "ยับยั้ง" (Veto) พระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น พล.ต.ต.อดุล เฟ็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จฯ และยังมีรัฐมนตรีที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรอีกหลายคนเห็นชอบด้วยกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ( ดูคำให้การ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัส พยานคณะกรรมการอาชญากรสงคราม ซึ่งโจทย์อ้างเป็นพยานที่ศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 ซึ่งผู้เขียนบทความบางคนย่อมทราบหรือควรทราบแล้ว แต่จงใจเขียนหมิ่นประมาทใส่ความสมาชิกคณะราษฎรทุกคนว่าสนับสนุนให้จอมพล ป. เป็นเผด็จการ )

( ข ) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2487 สภาฯได้ลงมติด้วยคะแนนลับ ไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ที่รัฐบาล จอมพล ป. เสนอ และต่อมาวันที่ 22 เดือนนั้น สภาฯลงมติไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรีจึงเสนอใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะผู้สำเร็จฯได้เชิญประธานสภาฯ มาปรึกษาเพื่อให้หยั่งเสียงผู้แทนราษฎรว่าผู้ใดควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในชั้นแรกผู้แทนราษฎรเห็นควรเชิญ พระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกครั้งหนึ่ง แต่พระพหลฯ ปฎิเสธ คณะผู้สำเร็จฯ จึงขอให้ประธานสภาฯ หยั่งเสียงสภาผู้แทนราษฎรถึงบุคคลอื่นที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ผู้แทนราษฎรเห็นว่า นายควง อภัยวงศ์ สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ประธานผู้สำเร็จฯ ไม่ยอมลงพระนามแต่งตั้ง นาย ควง เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคพวกของ จอมพล ป. ก็ได้เรียกร้องให้คณะผู้สำเร็จฯ แต่งตั้ง จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ปรีดีเห็นควรปฎิบัติตามมติของผู้แทนราษฎรส่วนมากที่ประธานสภาฯ ได้หยั่งเสียงแล้วนำมาเสนอคณะผู้สำเร็จฯ นั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯ จึงลาออกจากตำแหน่ง ครั้นแล้วสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 ตั้งปรีดี พนมยงศ์ เป็นผู้สำเร็จฯแต่ผู้เดียว ปรีดี ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงตั้งให้นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น

ประการที่ 2 หน้าที่ปฎิบัติการเพื่อให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน
ปรีดีเห็นว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรรลุนิติภาวะและบริหารราชการแผ่่นดินด้วยพระองค์เองตามรัฐธรรมนูญ พระองค์ก็จะไม่ทรงนิ่งเฉย หากจะทรงปฎิบัติให้ชาติไทยได้เอกราชและอธิปไตยสมบูรณ์กลับคืน ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะปฎิบัติตามหน้าที่แทนพระมหากษัตริย์ดังกล่าวนั้น

ปรีดีจึงดำเนินงานของขบวนการต่อสู้ญี่ปุ่นในประเทศไทยซึ่งต่อมาได้ร่วมกับเสรีไทยใน ส.ร.อ. และในอังกฤษเป็นขบวนการเสรีไทยอันเดียวกัน ในการปฎิบัติรับใช้ชาติไทย 2 ด้านประกอบกันคือ
( ก ) ด้านหนึ่งต่อสู่ญี่ปุ่นผู้รุกราน
( ข ) ปฎิบัติการเพื่อให้สัมพันธมิตรยอมรับรองว่าประเทศไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม และการผ่อนหนักเป็นเบา ( ดูหนังสือชื่อ "จดหมายของนายปรีดี พนมยงศ์ ถึงพระพิศาลสุขุมวิท เรื่อง จดหมายเหตุของเสรีไทยเกี่ยวกับปฎิบัติการใน แคนดี นิวเดลฮี และสหรัฐอเมริกา" และหนังสือ "อนุสรณ์นายปราโมทย์ พึ่งสุนทร นักอภิวัฒน์,เสรีไทย,นายสนามมวยเวทีราชดำเนินคนแรก" และ บทความนายป๋วย อึ้งภากรณ์ เกี่ยวกับเสรีไทย และบทความเกี่ยวกับเสรีไทยอีกหลายท่านที่พิมพ์ลงในหนังสือของนายดิเรก ชัยนาม เรื่อง ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ฯลฯ )

ประการที่ 3 ปรารภให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนุญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
ท่านที่ได้อ่านสุนทรพจน์ฉบับ 24 มิถุนายน พ.ศ.2525 ของปรีดี ซึ่งลงพิมพ์เป็นเล่มและได้กระจายเสียงแล้ว ก็คงระลึกไ้ด้ว่า ปรีดีได้คัดความในพระราชปรารภของรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยฉบับ 2489 ซึ่งมีความดังต่อไปนี้

"ต่อมานายปรีดี พนมยงศ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทยนี้พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปรกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับเป็นเอนกประการ ทั้งประชาชนจะได้รับซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นอย่างดีแล้วก็จริง แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่จะได้เลิกบทเฉพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อได้ปรึกษาตกลงกันแล้ว รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2488 ขอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง...."

ครั้นแล้วการดำเนินเพื่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ก็ได้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรตามลำดับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ให้ใช้เป็นกฎหมายได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2489

หลักฐานของสัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทยและรับรองคุณูปการของเสรีไทย และรับรองว่าปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทย
แม้ว่ารัฐบาลไทยซึ่งมีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศสงครามต่อ ส.ร.อ. ( สหราชอาณาจักร ) และบริเตนใหญ่ และก่อสงครามกับประเทศจีนก็ตาม แต่ด้วยการปฎิบัติของขบวนการเสรีไทยเปนส่วนรวมที่เป็นคุณูปการแก่สัมพันธมิตร จึงเป็นผลให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชอธิปไตยของชาติไทย และรับรองว่านายปรีดีเป็นตัวแทนของชาติไทยตามหลักฐานดังต่อไปนี้

( 1 ) ในระหว่างที่อังกฤษรีรอการรับรองว่าประกาศสงครามของรัฐบาลไทยเป็นโมฆะนั้น ส.ร.อ.ได้มีนโยบายเกี่ยวกับประเทศไทยที่แจ้งต่อรองผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานบริการยุทธศาสตร์โดยจดหมายของ มร.คอร์เดลล์ ฮัลล์ ฉบับเลขที่ 832/32 ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1943 ( พ.ศ.2486 ) ซึ่งกล่าวถึงนโยบายของอเมริกันไว้ดังต่อไปนี้

จากหนังสือชีวประวัติย่อ ปรีดี พนมยงศ์ หน้า 32
แปลเป็นภาษาไทย

ที่ 892.01/32
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถึงรองผู้อำนวยการสำนักงานยุทธศาสตร์ ( กูดเฟลโลว์ )

วอชิงตัน 26 สิงหาคม 1943

พันเอกกูดเฟลโลว์ที่รัก ในการแถลงตอบข้อถามของท่านด้วยวาจาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม เกี่ยวกับปฎิบัติการอันพึงเป็นไปได้ของฝ่ายอเมริกันกับขบวนการเสรีไทยนั้น กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงท่าทีของตนดังต่อไปนี้

สหรัฐอเมริกาถือว่าไทยเป็นรัฐเอกราชที่บัดนี้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองด้วยกำลังทหารญี่ปุ่น รัฐบาลนี้ (สหรัฐอเมริกา) ไม่รับรองรัฐบาลไทยที่ประกอบอยู่ในปัจจุบัน ( รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) แต่รัฐบาลนี้ ( สหรัฐอเมริกา ) ยับยั้งการประกาศสงครามต่อประเทศไทยไว้ และคงรับรอง "อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอลิงตัน" เป็น "อัครราชทูตของประเทศไทย" ต่อไป อัครราชทูตผู้นี้ ( ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ) ได้ประฌามความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น และ ( สหรัฐ ) ได้นับถือด้วยความเห็นอกเห็นใจต่อขบวนการเสรีไทยซึ่งอัครราชทูตคนนั้น ( ม.ร.ว.เสีย์ ปราโมช ) เป็นบุคคลสำคัญ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกามองไปข้างหน้าถึงการที่จะสถาปนาเอกราชของประเทศไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จากข่าวสารต่างๆ ที่ได้รับ แสดงให้เห็นว่าในรัฐบาลไทยปัจจุบันก็ยังมีข้าราชการส่วนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยยอมจำนนต่อการกดดันของฝ่ายญี่ปุ่น เป็นที่ทราบกันดีว่าในบรรดาข้าราชการดังกล่าวนี้มี หลวงประดิษฐ์ มนูญธรรม ( หรือที่รู้จักกันในนาม ปรีดี พนมยงค์ ) ผู้สำเร็จในคณะสำเร็จราชการแทนพระองค์รวมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง และยังได้ทราบต่อไปอีกว่าผู้นี้ได้มีส่วนอย่างสำคัญร่วมมือในบวนการลับที่มีจุดประสงค์เพื่อฟื้นขึ้นซึ่งรัฐบาลไทยที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้าการรุนรานของญี่ปุ่น

ด้วยความกระจ่างแจ้งเช่นนี้ รัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาจึงถือว่า หลวงประดิษฐ์มนูญธรรม เป็นตัวแทนแห่งการสืบต่อของรัฐบาลประเทศไทยตามที่เปนอยู่ก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีไทยสมัยนั้น ( จอมพล ป. พิบูลสงคราม ) จะไปเข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นในตอนที่ญี่ปุ่นบุก และยอมรับว่า ( หลวงประดิษฐ์ ) เป็นผู้นำคนสำคัญในขบวนการเพื่อเอกราชของชาติไทย ด้วยเหตุนี้ตราบเท่าที่รัฐบาลสหรัฐมิได้รับแจ้งการตรงข้ามจากประชาชนไทย จึงเป็นประกันได้โดยไม่ผูกมัดรัฐบาล ส.ร.อ. ในอนาคต ในการถือว่าหลวงประดิษฐ์เป็นผู้แทนชั้นนำคนหนึ่งของประชาชนไทยในประเทศไทย

ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ เป็นท่าทีชั่วคราวระหว่างการแสดงออกอย่างเสรีแห่งความปรารถนาของประชาชนไทย ภายหลังจากกองกำลังแห่งสหประชาชาติได้ทำการปลดแอกประเทศไทยแล้ว ความพยายามของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ และพึงเป็นจะจำกัดเพียงแค่การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนไทยในการสถาปนารัฐบาลของประเทศตนที่สามารถดำเนินความรับผิดชอบของตนและเป็นอิสระจากการควบคุมของต่างชาติ ส่วนการคัดเลือกผู้นำของรัฐบาลในบั้นปลายนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนไทยเท่านั้นจะเป็นผู้วินิจฉัย

เป็นที่เชื่อได้ว่าคำชี้แจงนี้คงจะให้ความกระจ่างแก่ท่านได้ตามที่ต้องการ

ด้วยความซื่อสัตย์ต่อท่าน
( ลงนาม ) คอร์เดลล์ฮัลล์
( ร.ม.ต.ว่าการต่างประเทศ )

( 2 ) บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้เพื่อประธานาธิบดี


หนังสือของรัฐบาลอเมริกันชื่อ Foreign Relations of The Unitedtes ค.ศ.1945 เล่ม 6 หน้า 1242-1244
แปลเป็นภาษไทย
เลขที่ 892.01/1-1345


บันทึกจัดทำโดยกรมกิจการแปซิฟิคตะวันตกเฉียงใต้
วอชิงตัน,13มกราคม 1945
บันทึกเพื่อประธานาธิบดี
( เพื่ออาจใช้ในการสนทนากับ มร.เชิชชิชล์ และจอมพลสตาลิน )
เรื่อง : สถานภาพภายหน้าของประเทศไทย

นโยบายบริติชเกี่ยวกับประเทศไทยนั้นต่างกับของเรา บริติชถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู นั่นเป็นทรรศนะของเขา คือ

1.ความเป็นเอกราชของไทยภายหลังสงครามจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ ( ประเทศไทย ) จะยอมรับให้มี "ข้อตกลงพิเศษเพื่อความปลอดภัยมั่นคงหรือการร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในระบบระหว่างประเทศ"

2.แหลมไทยเหนือมาลายาตั้งแต่เส้นขนานที่ 12 จะต้องถือว่าเป็นบริเวณยุทธศาสตร์ที่จำเป็น และการป้องกันภายใต้ข้อตกลงความปลอดภัยมั่นคงระหว่างประเทศจะต้องดำเนินโดยมหาอำนาจอารักขา หรือโดยองค์กรร่วมระหว่างประเทศ เรื่องนี้มีรายงานว่าเป็นความเห็นของเชิชชิลด์ การปฎิบัติดังนี้ขัดขวางต่อสิทธิของระบบปกครองไทยในบริเวณนั้น

3.รัฐบาลทหารปัจจุบันนี้ไม่ีมีความจำเป็น ยหเว้นบางที่ในเขตการรบ อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่าคณะกรรมาธิการควบคุมของสัมพันธมิตรจะตั้งขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินต่อไประยะเวลาหนึ่ง

4.พวกเขาจะไม่ติดต่อขณะนี้กับรัฐบาลไทยใดๆ

ในทางตรงกันข้ามเรามิได้ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่เป็นประเทศที่ถูกยึดครองโดยศัตรู เรารับรองอัครราชทูตประเทศไทยฝนวอชิงตันเป็น "อัครราชทูตแห่งประเทศไทย" ฐานะเหมือนกับอัครรราชทูตเดนมารก์ 

เราใคร่ให้มีประเทศไทยที่เป็นเอกราชและมีเสรีภาพ พร้อมด้วยอธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอน และปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกโดยตนเอง ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเอกราชอยู่ก่อนสงคราม เราเชื่อว่าผลประโยชน์ของอเมริกาจะเสียหายทั่วเอเชียถ้าผลแห่งสงครามจะอุบัติ ซึ่งเราจะมีภาระส่วนใหญ่ในการทำให้การรุกรายของญี่ปุ่นพ่ายแพ้ ( ถ้า ) ประเทศไทยไม่มีดินแดนส่วนใดส่วนหนึ่งของตนที่มีไว้เมื่อก่อนสงคราม

หรือฐานะของประเทศไทยจะถูกบั่นทอน ประวัติศาสตร์แห่งการที่ชาวยุโรป บีบบังคับประเทศไทยและชาวยุโรปได้ยึดเอาดินแดนแห่งเอเชียอาคเนย์นั้นยังอยู่ในความทรงจำของชาวเอเชีย รัฐบาลนี้ ( สหรัฐ ) ไม่อาจมีส่วนรับผิดชอบด้วย ไม่ว่าทางใดๆ ที่จะดำเนินต่อประเทศไทยโดยระบบจักรวรรดินิยมในรูปแฝงอย่างใดๆทั้งสิ้น

ภายในประเทศไทยระบบปกครอง ( รัฐบาล พิบูลฯ ) ซึ่งเดิมยอมจำนนญี่ปุ่นและต่อมาร่วมมือ ( กับญี่ปุ่น ) อันเป็นที่รู้กันกระฉ่อนทั่วไปนั้น ได้ถูกเปลี่ยนโดยระบบปกครอง ( รัฐบาล ควงฯ ) ซึ่งส่วนใหญ่คุมโดยประดิษฐ์ ฯ ผู้สำเร็จราชการปัจจุบันที่ได้รับการนับถือที่สุดของบรรดาผู้นำไทย และเป็นผู้ต่อต้านญี่ปุ่นมาตั้งแต่ต้น อเมริกาได้ติดต่อกับประดิษฐ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ช่วยสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในงานข่าว และเป็นผู้ที่แสดงความปรารถนาให้ประเทศไทยเข้าสงครามต่อสู้ญี่ปุ่น และให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร

เป็นทรรศนะของกระทรวงการต่างประเทศ ( สหรัฐ ) ที่ต้องใช้ความอุตสาหะพยามจูงใจให้บริติชเปลี่ยนแผนการของพวกเขาเพื่อไม่ให้ขัดต่อเรา เป็นที่เชื่อว่าถ้าประเทศไทยเข้าร่วมสงครามต่อสู่ญี่ปุ่นประเทศไทยก็จะได้รับการปฎิบัติอย่างประเทศที่ได้รับการกู้อิสรภาพ และรัฐบาลของเขาก็จะได้รับการรับรองอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว แม้ว่าจะเป็นการเสียประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการมีกองทหารอเมริกัน นอกจากจำเป็นทางทหารในการร่วมยึดบริเวณอาณานิคมของชาวยุโรปกลับคืน แต่จะเป็นประโยชน์จากทรรศนะการเมืองในการที่มีกองทหารอเมริกันภายใต้การบัญชาการอิสระของอเมริกัน รับผิดชอบในการกู้อิสรภาพของประเทศไทยยิ่งกว่าที่จะให้ประเทศไทยถูกยึดครองดินแดนโดยกำลังทหารบริติช อย่างไรก็ตามการจะใช้กำลังทหารอเมริกันหรือไม่ในประเทศไทยนั้น เป็นปัญหาที่อนุมานว่าจะชี้ขาดความกระจ่างแจ้งแห่งการพิจารณาทางยุทธศาสตร์ทั้งปวง

ได้แนบบันทึกย่อเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการมาด้วย

3.โทรเลขลับระหว่างผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ กับ "รูธ" ( นามแฝงปรีดี )

โดยที่กำลังพลพรรคของเสรีไทยได้รับความช่วยเหลือทางอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ฝ่ายญี่ปุ่นจึงเกิดความระแวงสงสัยมากขึ้นว่าในประเทศไทยมีการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยอย่างกว้างขวาง กองบัญชาการเสรีไทยเกรงว่าญี่ปุ่นอาจลงมือโจมตีก่อน ดังนั้น "รูธ" จึงส่งโทรเลขลับด่วนมากถึงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์มีความตรงกัน และได้รับคำตอบจากผู้รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันรับรองความเป็นเอกราชของไทยดังต่อไปนี้
แปลเป็นภาษาไทย
เลขที่ 740.0011 พี.ดับบลิว / 5-2948
บันทึกจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา
วอชิงตัน,28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 ( พ.ศ.2488 )
ต่อไปนี้เป็นสาส์นสำหรับรัฐมนตรีต่างประเทศจากรูธ ( ปรีดี พนมยงศ์ ) กระทรวงต่างประเทศได้รับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ.1945

"ขบวนการต่อต้านของไทยในการดำเนินกิจกรรมทั้งหลายนั้น ได้ปฎิบัติตามเสมอมาซึ่งคำแนะนำของผู้แทนอเมริกันที่มิให้ปฎิบัติการใดๆในการต่อสู้ศัตรูล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควร แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่ากำลังใจรบของญี่ปุ่นจะลดน้อยลงไป ถ้าขบวนต่อต้านไม่คงอยู่ภายในฉากกำบังอีกต่อไป ญี่ปุ่นจะถูกบีบให้ยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขต่อสัมพันธมิตรเร็วขึ้น เพราะความสลายของสิ่งที่เรียกว่าไพบูลย์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามเราได้ถือตามคำแนะนำว่าขบวนต่อต้านจะต้องพยามขัดขวางความช่วยเหลือที่ญี่ปุ่นจะได้จากประเทศไทย 

เราได้ดำเนินแนวทางนี้อย่างใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่ท่านย่อมเห็นได้ว่าญี่ปุ่นเริ่มมีความสงสัย (ขบวนต่อต้าน) มากยิ่งขึ้นตลอดมา เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) ไม่ยอมทำตามคำขอของญี่ปุ่นที่ขอเครดิจเพิ่มเติมอีก 100,000,000 บาท ข้าพเจ้าได้รับแจ้งจากรัฐบาลปัจจุบันว่าจะไม่อยู่ในตำแหน่งต่อไป ถ้าญี่ปุ่นยืนยันเช่นนั้น รัฐบาลใหม่ก็จะตั้งขึ้นและจะปฎิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่น โดยประการแรกประกาศโมฆะกรรมซึ่งหนี้สินและข้อตกลงที่รัฐบาลพิบูลกับญี่ปุ่นได้ทำกันไว้ รวมทั้งสนธิสัญญาที่ผนวก 4 รัฐมาลายาและรัฐไทยใหญ่ไว้กับประเทศไทย อีกทั้งการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา พื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาตินี้ กับประเทศไทยจะสถาปนาขึ้นดังที่เป็นอยู่ก่อนเพิรล์ ฮาเบอร์ (ก่อนญี่ปุ่นรุกราน) 

ก่อนที่จะดำเนินแผนการนี้ข้าพเจ้าปรารถนาแจ้งให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ แม้ว่าข้าพเจ้าตระหนักว่าสหรัฐมีเจตนาดีเกี่ยวกับเอกราชของประเทศไทยและมีความนับถือประชาชนไทยอย่างสุดซึ้ง ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฎิบัติการนั้น สหรัฐจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งของสหประชาชาติและไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทยซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ ข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผ๔้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (ลอรด์ หลุยส์ เมาส์ แบทเตน) แล้ว"

คำตอบของสหรัฐส่งเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ.1945 มีความต่อไปนี้

"ขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสาส์นของท่านถึงรัฐมนตรีการต่างประเทศ เราเข้าใจความปรารถนาของท่านที่จะให้ประเทศไทยต่อสู้ศัตรูทางปฎิบัติการโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ เราเชื่อแน่ว่าอย่างไรก็ตามท่านย่อมตระหนักว่า การต่อสู้ศัตรูร่วมกันของเรานั้นต้องสมานกับยุทธศาสตร์ทั้งปวงในการต่อสู่ญี่ปุ่น และไม่เป็นผลดีหากไทยทำล้ำหน้าก่อนเวลาอันสมควรและก่อนที่จะมีเหตุผลประกันว่าจะได้ชัยชนะ ถ้าลงมือปฎิบัติการอย่างเปิดเผยที่มิได้อยู่ในแผนของผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ฉะนั้นเราหวังว่าท่านจะใช้ความพยามต่อไปที่จะป้องกันมิให้เกิดขึ้นโดยการกรำทำล้ำหน้าก่อนถึงเวลาอันควรโดยขบวนต่อต้าน หรือการปฎิบัติอันเร่งให้ญี่ปุ่นรีบยึดรัฐบาลไทย ( รัฐบาล ควงฯ ) เราเชื่อมั่นว่าท่านจะแจ้งให้เราและบริติชทราบโดยบริบูรณ์ ถ้าการขยายตัว ( ของสถานการณ์ ) จะเกิิดขึ้นได้ในไม่ช้า โดยฝืนต่อความพยามของท่าน

ความปรารถนาจริงใจของท่านต่อมวลราษฎรไทยในการบอกปัดการประกาศสงครามกับข้อตกลง (กับญี่ปุ่น) ของพิบูล ฯ นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจแจ่มแจ้งและมีคุณค่า แต่ยังไม่แจ้งชัดว่าเหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน (รัฐบาล ควงฯ) จะลาออกขณะนี้ หรือมีการบังคับอย่างใดที่รัฐบาลต่อไปจะถือเอาการบอกปัด (ประกาศสงครามและข้อตกลงกับญี่ปุ่น) เป็นการกระทำแรก ย่อมจะเห็นได้ว่าขบวนการต่อต้านจะบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ได้ดีกว่าเมื่อแสดงตนออกจากกำบังแล้ว คือ โดยการสมานจู่โจมฉับพลันต่อการลำเลียง ต่อคมนาคม ต่อกองกำลัง ต่อยุทโธปกรณ์ของศัตรู และยึดตัวนายทหาร พนักงาน เอกสาร จุดสำคัญของศัตรู การปฎิบัติการทางการเมืองเรื่องการบอกปัด (ประกาศสงคราม) และการเข้าอยู่ในแถวเดียวกันกับสัมพันธมิตรก็ตามมาภายหลัง

เราถือเป็นความสำคัญอย่างใหญ่ที่จะมีรัฐบาลไทยตามรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพตั้งอยู่บนดินแดนไทย ทำการร่วมมือกัยสัมพันธมิตร เราหวังว่าการเตรียมการทุกอย่างที่จะเป็นไปได้จะต้องทำขึ้นในอันที่จะป้องกันการยึดตัวบุคคลสำคัญที่นิยมสัมพันธมิตรหรือกระจายบุคคลสำคัญเหล่านี้ เพื่อว่ารัฐบาลดังกล่าวนั้นจะปฎิบัติหน้าที่ได้ทันทีในบริเวณที่เป็นอิสระจากญี่ปุ่นและสามารถสั่งทหารไทยปฎิบัติการร่วมมือกับสัมพันธมิตร และฟื้นการสถาปนากลไกกิจการพลเรือนของรัฐบาลในบริเวณที่กู้อิสรภาพแล้ว

สหรัฐไม่อาจประกาศโดยลำพังได้ว่าชาติอื่นชาติใดเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่จะมีความยินดีประกาศซ้ำอีกโดยเปิดเผยในโอกาสเหมาะสมถึงการเคารพความเป็นเอกราชของชาติไทย และประกาศว่าไม่มีเวลาใดที่สหรัฐถือว่าไทยเป็นศัตรู เรามองไปข้างหน้าถึงวันที่ประเทศของเราทั้งสองจะแสดงเปิดเผยต่อมหาชนถึงจุดหมายร่วมกันของเราในการต่อสู่ศัตรูร่วมกันของเรา"

( ลงนาม ) กรูว์
รักษาการแทน รมต.ต่างประเทศ

4.คำเปิดเผยของลอรด์ หลุยส์ เมาน์ท แบทเตน
แปลเป็นภาษไทย

ไทมส์ 18/12/1946
อาคันตุกะผู้หนึ่งจากสยาม
การณรงค์ของหลวงประดิษฐ์ ฯ
คำเปิดเผยของ ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน

ลอรด์ เมาน์ท แบทเตน แห่งพม่า ผู้ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เป็นผู้บัญชาการสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ ได้รับการต้อนรับเลี้ยงอาหารกลางวันโดย ซิตี้ โลเวรี่คลับ ณ.ไซออน คอลเลจ เมื่อวานนี้ ได้บรรยายไว้ในสุนทรกถาของท่านถึงบทบาทอันยิ่งใหญ่ของหลวงประดิษฐ์ฯ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามในการกำจัดกองทัพญี่ปุ่นซึ่งยึดครองประเทศนั้น ท่านลอรด์ได้สาธยายเกี่ยวกับรายละเอียดซึ่งหนังสือพิมพ์ไทมส์ ได้เคยลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 22 ธันวาคม คือประมาณหนึ่งปีมาแล้ว และได้ประกาศแถลงว่า ประดิษฐ์ บุคคลที่มีบทบาทที่น่าตื่นเต้นคนหนึ่งแห่งสงครามเอเชียอาคเนย์นั้นกำหนดจะมาถึงประเทศอังกฤษโดยเรือ ควีนอลิซาเบธพรุ่งนี้เช้า

ลอรด์ เมาน์ท แบตเทนกล่าวว่า ปรีดี พนมยงศ์ รัฐบุรุษอาวุโสแห่งสยามได้เป็นที่รู้จักของโลกในนาม "หลวงประดิษฐ์" มากกว่า และพวกเราหลายคนแห่งกองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์รู้จักเขาตามชื่อรหัสว่า "รู้ธ" เขามาเยี่ยมประเทศนี้ (อังกฤษ) ด้วยสันถวไมตรีในระยะสั้นๆ ในฐานะแขกของรัฐบาลอังกฤษ และข้าพเจ้าหวังว่าเราจะใช้โอกาสนี้ให้การรับรองเขาอย่างอบอุ่น เพราะเหตุที่ประดิษฐ์เป็นบุรุษผู้มีบทบาทอันน่าตื่นเต้นคนหนึ่ง แห่งสงครามเอเชียอาคเนย์ ในระหว่างกาละแห่งสงครามนั้น เป็นการแน่นอนทีเดียวว่าชื่อของเขาจะมีการระบุถึงได้ก็แต่โดยการกระซิบกระซาบกันเท่านั้น และเรื่องราวทั้งปวงเกี่ยวกับเขาก็ถูกถือว่าเป็น "ความลับสุดยอด" ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันมหาชนบริติชส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยทราบเท่าไรนักถึงพฤติกรรมอันอาจหาญที่เขาได้เคยกระทำสำเร็จมาแล้ว

ในตอนที่ญี่ปุ่นรุกรานยึดครองสยาม ประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งในรัฐบาลแต่เขาได้ปฎิเสธที่จะลงนามในการประกาศสงครามกับเรา พิบูลรู้ว่าประดิษฐ์เป็นคนหนึ่งที่ทรงอำนาจอย่างยิ่งและได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศ และก็หวังที่จะทำให้เขาเป็นตัวหุ่นโดยยกเขาขึ้นไปสู่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายอมรับ พิบูลหรือญี่ปุ่นมิได้ตระหนักแม้แต่น้อยว่าขณะที่ประดิษฐ์ยอมรับตำแหน่งหน้าที่นั้นเขาก็ได้เริ่ทต้นดำเนินการจัดตั้งและอำนวยการขบวนการต่อต้านของชาวสยามขึ้น

คณะผู้แทนหายสาปสูญไป

เราได้รับรู้จากข่าวแหล่งต่างๆว่า พิบูลมิได้ประสบผลทุกอย่างตามวิถีทางของเขาในประเทศสยาม แต่การจะติดต่อ (กับขบวนการต่อต้านภายในสยาม) นั้นก็ลำบากมาก และทั้งเป็นการยากที่จะล่วงรู้ได้ด้วยว่าอะไรได้ดำเนินไปโดยแท้จริงอย่างไร คณะผู้แทนของประดิษฐ์ 2 คณะได้หายไประหว่างการเดินทางด้วยภยันอันตรายเพื่อไปยังประเทศจีนและไม่เห็นอีกเลย แต่ในที่สุดจุดนัดพบอันหนึ่งก็ได้สถาปนาขึ้น

วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การฟื้นคืนของกลุ่มรอยัลลิสต์ และต้นกำเนิดพรรคประชาธิปัตย์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อสงครามสงครามโลก ครั้งที่ 2 จบสิ้นลง สหรัฐฯ เป็นประเทศฝ่ายชนะสงครามที่ได้รับความเสียหายจากภัยสงครามน้อย ในขณะที่อังกฤษเสียหายจากสงครามอย่างหนัก อีกทั้งสหรัฐฯมีศักยภาพทางการทหาร มีเศรษฐกิจที่ดีและมีความมั่งคั่ง ส่งผลให้สหรัฐฯมีศักยภาพที่จะผงาดขึ้นมีอิทธิพลต่อโลกภายหลังสงครามอย่างไม่ ยาก 

ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคม 2488 ก่อนสงครามโลกจะจบสิ้นลงในเอเชียไม่นาน สหรัฐฯได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันการจัดระเบียบโลกเพื่อให้เกิดการขยายตัว ทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผ่านข้อตกลงเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods System) และการจัดระเบียบการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่สหรัฐฯมีความต้องการส่งเสริมการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุน นิยมของโลกภายหลังสงครามโลกคร้งที่ 2 ทำให้ในเวลาต่อมา สหรัฐฯไม่ต้องการให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ขยายตัวซึ่งจะกลายมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจโลก 

เนื่องจากขณะนั้นผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นว่าการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์และชาตินิยมสุดขั้วที่เบ่งบานในประเทศ ยากจนและประเทศอาณานิคมในขณะนั้นเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาข้อตกลงต่างๆและความต้องการของสหรัฐฯได้กลายเป็นระเบียบโลกที่มี ผลกระทบกับส่วนต่างๆ ของโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ควรบันทึกด้วยว่าในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจักวรรดินิยมอังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมที่มีดินแดนในอาณัติอย่างกว้างขวางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินเดีย พม่า และมาลายู โดยอังกฤษมีอิทธิพลทางการเงินและการค้าต่อไทยในขณะนั้นอย่างมาก 

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น และในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 นโยบายของสหรัฐฯภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออินโดจีนนั้น เขาให้ความเห็นใจขบวนการชาตินิยมต่อต้านอาณานิคมของเหล่าขบวนการกู้ชาติของ เวียดมินห์ ลาว และกัมพูชา เป็นอย่างมาก 

สหรัฐฯ ในขณะนั้นมีความต้องการให้ภูมิภาคอินโดจีนอยู่ภายใต้ภาวะทรัสตีของสหประชา ชาติ โดยสหรัฐฯสนับสนุนให้โอเอสเอส (The US Office Of Strategic Services: OSS)ให้ความช่วยเหลือขบวนการกู้ชาติเหล่านั้นในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม อย่างฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวได้ยุติลงพร้อมกับการอสัญกรรมของประธานาธิบดีรู สเวลท์

เมื่อแฮรี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) รองประธานาธิบดีได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนประธานาธิบดี รูสเวลท์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมอย่างฉับพลันในเดือนเมษายน 2488 และต่อมาเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี (12 เมษายน 2488 – 20 มกราคม 2496) นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีทรูแมนนั้นได้เปลี่ยนแปลง นโยบายจากการต่อต้านอาณานิคมไปสู่การพยายามแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ อุปสรรคทางการค้า และการด้อยความเจริญของโลกที่ประธานาธิบดีทรูแมนเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อ สันติภาพ เขาได้แถลงให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของรัฐบาลของ เขาต่อสภาคองเกรสในต้นเดือนพฤษภาคม 2489 และ 2490 โดยเขามีนโยบายรักษาสันติภาพให้กับโลก 

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2490 เขาได้ประกาศนโยบายว่า สหรัฐฯต้องการแสวงหา “สันติภาพและความมั่งคั่ง” ด้วยการป้องกันการปฏิวัติมิให้เกิดขึ้นในโลก ดังนั้นสหรัฐฯจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีบทบาทจัดระเบียบเศรษฐกิจของ โลก ดังนั้นนโยบายต่างประเทศสำคัญของสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีทรูแมน คือ การผลักดันนโยบายการเปิดเสรีการค้าเพื่อขยายขอบเขตการค้าและโอกาสในการลงทุน ด้วยการขจัดอุปสรรคทางการค้า

คำประกาศของประธานาธิบดีทรูแมนนั้นมีสอดคล้องกับเนื้อหาสาระในเอกสารวางแผน ระดับสูงของสหรัฐฯ ที่มีร่องรอยของความวิตกถึงความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจในโลกที่จะทำให้การ ดำรงอยู่ของประชาชนในสหรัฐฯเกิดความวุ่นวายจากพวกคอมมิวนิสต์และพวกชาตินิยม สุดขั้วในประเทศยากจน 

เอกสารดังกล่าวเห็นว่าพวกชาตินิยมสุดขั้วนั้นมีความมุ่งหมายให้มีการปรับปรุง มาตรฐานชีวิตของมวลชนอย่างทันทีและทำการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการภายใน ประเทศ ดังนั้นนสายตาของผู้กำหนดนโยบายระดับสูงของสหรัฐฯขณะนั้นเห็นว่า พวกชาตินิยมสุดขั้วและลัทธิคอมมิวนิสต์ คือภัยคุกคามต่อระเบียบโลกของสหรัฐฯ  จากนั้นต้นทศวรรษที่ 2490 โวหารการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของสหรัฐฯได้เริ่มขยายตัวทำให้คอมมิวนิสต์กลายเป็นภัยต่อสันติภาพของโลก

ในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่สงครามจะจบสิ้นลงในภูมิภาคเอเชีย สหรัฐฯได้เริ่มมองเห็นความสำคัญของไทย โดยในต้นปี 2488 เจ้าหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เริ่มรายงานความเห็นที่เกี่ยวกับไทยว่า ไทย จะมีความสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยสามารถเป็นตลาดสินค้า และผู้ขายวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี เช่น ยางและดีบุกให้กับสหรัฐฯโดยตรง แทนที่สหรัฐฯจะต้องซื้อวัตถุดิบผ่านตลาดผูกขาดในดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ อีกทั้งการค้าระหว่างสหรัฐฯกับไทยซึ่งเป็นประเทศที่เป็นเอกราชจะทำให้สหรัฐฯ ไม่ถูกมองว่าเป็นจักวรรดินิยม


ต่อมาปลายปี 2488 สหรัฐฯได้เริ่มก่อตัวนโยบายต่างประเทศต่อไทย โดยสหรัฐฯยอมรับอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระของไทย แต่สหรัฐฯมีความต้องการให้ไทยเปิดประตูให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในไทย สหรัฐฯต้องการให้ไทยผลิตข้าวป้อนให้กับตลาดโลก และต้องการสนับสนุนให้ไทยมีการปรับปรุงเศรษฐกิจและดำเนินการค้าระหว่าง ประเทศบนกรอบพหุภาคี กล่าวโดยสรุป นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อไทยนั้น สหรัฐฯมีความต้องการให้ไทยมีฐานะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเป็นตลาดรอง รับสินค้า ตลอดจนสหรัฐฯต้องการเข้ามามีอิทธิพลเหนือไทย

ภายหลังสงครามสิ้นสุด ความสัมพันธ์ไทยและสหรัฐฯได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลทรูแมนได้ส่ง ชาร์ล ดับบลิว. โยสต์ (Charles W. Yost) อัคราชทูต และเคนเนท พี. แลนดอน (Kenneth P. Landon) เจ้าหน้าที่มาเปิดสถานกงสุลสหรัฐฯ ขึ้นในไทยในเดือนสิงหาคม 2488 

ในช่วงเวลาหลังสงคราม อดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสหลายคนที่เคยร่วมงานกับขบวนการเสรีไทยในช่วงสงคราม ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในไทย เช่น เจมส์ ทอมสัน (James Thomson) อเล็กซานเดอร์ แมคโดนัล (Alexander MacDonald) วิลลิส เบิร์ด (Willis Bird) วิลเลี่ยม ปาล์มเมอร์ (William Palmer) และ โฮวาร์ด ปาล์มเมอร์ (Howard Palmer) เป็นต้น ต่อมาเอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน (Edwin F. Stanton) ถูกส่งมารับตำแหน่งอัคราชทูตและเอกอัคราชทูตในเวลาต่อมา

หมายเหตุ 
เจมส์ ทอมสัน อดีตโอเอสเอสเคยช่วยงานสถานกงสุลสหรัฐฯ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลงในตำแหน่ง general attaché ต่อมาเขาได้เปิดธุรกิจผ้าไหมขึ้นในไทย เคนแนท พี. แลนดอน-อดีตมิสชันนารี ช่วยให้เขามีความใกล้ชิดกับพวกเชื้อพระวงศ์ (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” p. 47.).

อเล็กซานเดอร์ แมคโดนัล อดีตโอเอสเอส ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ร่วมทุนกับอดีตเสรีไทยตั้งหนังสือพิมพ์ บางกอก โพสต์ (Bangkok Post) โดยความคิดในการตั้งหนังสือพิมพ์มาจากการสนทนากับ ปรีดี พนมยงค์ โดยเขาให้สนับสนุนปรีดี และเขาเป็นแกนนำของกลุ่มชาวอเมริกันที่สนิทสนมกับอดีตเสรีไทย เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามพยายามจะกลับมาสู่การเมือง บางกอก โพสต์ ได้โจมตีจอมพล ป. เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2490 แล้ว กระแสการวิจารณ์ จอมพล ป.ก็ได้ลดลง(Ibid.,pp. 47-49.)และโปรดดูประวัติการจัดตั้งบางกอก โพสต์ในประสิทธิ์ ลุลิตานนท์, จดหมายเหตุแห่งอดีต(อนุสรณ์ในงานพระราชทานดินฝังศพ), (กรุงเทพฯ: โพสต์ พับลิชชิ่ง, 2542).

วิลลิส เบิร์ด อดีตโอเอสเอส เคยปฏิบัติงานในจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับนายพลวี เดอร์แมร์ เขาจบการศึกษาด้านการเงินจากวาร์ตัน (Wharton School of Finance) เข้ามาไทยทันทีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาทำธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้า เช่น ยาฆ่าแมลง เครื่องแก้ว วัสดุก่อสร้าง กระดาษ อุปกรณ์สำนักงาน และเครื่องจักร ต่อมาเขาทำธุรกิจส่งออกดีบุกและยาง (ต่อมาเขาทำธุรกิจค้าอาวุธ) ในช่วงแรกๆ ภายหลังสงครามโลกนั้น เขาให้การสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ จากนั้น เขาได้ให้การสนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาทำงานให้กับซีไอเอและมีความสนิทสนมกับ พล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ในปี 2502 เขาได้ตั้งบริษัทยูนิเวอร์แซลก่อสร้าง (Universal Construction Company) เพื่อรับงานก่อสร้างตามโครงการของยูเซด (USAID) เพื่อการสร้างถนนในลาวและไทย รวมทั้งได้ตั้งบริษัทเบิร์ดแอร์ (Bird Air) รับจ้างขนอาวุธของสหรัฐฯให้กับลาวและกัมพูชา (Ibid.,p. 49-51.) ต่อมาแต่งงานกับน้องสาวของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา อดีตโอเอสเอส (พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ, ใครว่า อตร.เผ่าไม่ดี,[กรุงเทพฯ: บริษัท วงการ จำกัด, 2526],หน้า 74-75.) เขามีน้องชายชื่อวิลเลี่ยม เอช. เบิร์ด (William H. Bird) อดีตโอเอสเอส เป็นผู้แทนของ บริษัทแคท แอร์ (Civil Air Transport:CAT หรือ Air America) รับจ้างขนอาวุธของซีไอเอให้กับกองพล 93 ของก็กหมินตั๋งในจีนตอนใต้ (Peter Dale Scott, The War Conspiracy: The Secret Road to the Second Indochina War, [New York: The Bobbs-Merrill, 1972], p. 208.)

วิลเลี่ยม ปาล์มเมอร์ อดีตโอเอส เคยปฏิบัติงานในไทย เขาจบกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เคยร่วมงานกับวิลเลี่ยม เจ. โดโนแวน (William J. Donovan) เขาเคยเป็นกงสุลไทยในสหรัฐฯระหว่างปี 2488 - 2493 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ (Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 51-52).

โฮวาร์ด ปาล์มเมอร์ อดีตโอเอสเอส น้องชายของวิลเลี่ยม เขามีความสนิทสนมกับอดีตเสรีไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนต์ โดยเป็นตัวแทนให้กับบริษัท อาร์.เค.โอ.ฟิลม์ (R.K.O Film) ในการนำภาพยนต์เข้ามาเผยแพร่วิถีชีวิตแบบอเมริกัน(Ibid., pp. 51-52.).

สหรัฐฯ ได้แต่งตั้ง เอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน มาเป็นอัคราชทูต ต่อมา เขาดำรงตำแหน่งเอกอัคราชทูตสหรัฐฯประจำไทยคนแรก เขาทำการถวายสาส์นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2490 และดำรงตำแหน่งจนถึงมิถุนายน 2496 เขามีภูมิหลังเป็นมิสชันนารีมาก่อน เคยทำงานในจีน 20 ปี เขามีลักษณะการทำงานทางทูตแบบเก่า ไม่สันทัดเรื่องไทยมากนัก เขาไม่ชอบรัฐบาลทหารและไม่นิยมจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขามีความสนใจปัญหาในจีน เมื่อจีนเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเห็นว่า สหรัฐฯควรให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ไทยในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ เขาเห็นว่า ความช่วยเหลือของสหรัฐฯจะสร้างมิตรภาพให้กับไทย ซึ่งสหรัฐฯจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว (กองสารบรรณ กระทรวงการต่างประเทศ I 0402-344-202-511-0004 ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายจอร์จ ฮัตเชสัน เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำประเทศไทย, Yost to Direk Chaiyanam รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 26 มีนาคม 2489.; Neher, “Prelude to Alliance: The Expansion of American Economic Interest in Thailand During The 1940s,” pp. 25-29.).

สแตนตันได้บันทึกว่า เจ้าหน้าที่ของสถานทูตสหรัฐฯในไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเพียง 5 คน แต่ในปี 2489 ที่เขามารับตำแหน่งผู้แทนสหรัฐฯ ประจำไทยนั้น สถานทูตฯมีเจ้าหน้าที่ 12 คน ต่อมาปี 2496 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เขาปฏิบัติหน้าที่นั้น เขามีเจ้าหน้าที่สังกัดสถานทูตฯภายใต้ความดูแลถึงเกือบ 200 คน

การเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ควรบันทึกด้วยว่าโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎร ในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพเข้าไทยนั้นหรือในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ในช่วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทหารหรือ “กลุ่มจอมพล ป.” ในขณะที่กลุ่มพลเรือนหรือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งมีปรีดี พนมยงค์ คู่แข่งขันทางการเมืองคนสำคัญของจอมพล ป. เป็นผู้นำได้ถูกกันออกจากอำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. 

เนื่องจากเขาไม่เห็นด้วยกับการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของรัฐบาล ต่อมาช่วงปลายสงครามโลกนั้น ปรีดีและกลุ่มของเขาให้การสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร จากนั้น “กลุ่มปรีดี” จึงได้แยกตัวออกรัฐบาลจอมพล ป. มาดำเนินการต่อต้านรัฐบาลและกองทัพญี่ปุ่น และต่อมาเขาและกลุ่มได้สร้างพันธมิตรเชื่อมต่อกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่อยู่ ในประเทศและพวกที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศเกิดเป็น“ขบวนการเสรีไทย”จนสามารถทำ ให้รัฐบาลหมดอำนาจลงได้สำเร็จส่งผลให้ “กลุ่มจอมพล ป.” ที่เคยมีอำนาจในช่วงสงครามโลกถูกลดบทบาทหายไปในช่วงปลายสงครามโลกนั้นเอง

นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในกลางเดือนสิงหาคม 2488 จนถึงการรัฐประหาร 2490 นั้น ไทยมีรัฐบาลที่เข้าบริหารประเทศขณะนั้นถึง 8 คณะ ดังนี้ 

ควง อภัยวงศ์ (1 สิงหาคม 2487 - 17 กรกฎาคม 2488 ) 
ทวี บุณยเกตุ (31 สิงหาคม - 16 กันยายน 2488) 
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (17 กันยายน 2488 – 24 มกราคม 2489) 
ควง อภัยวงศ์ (31 มกราคม - 18 มีนาคม 2489) 
ปรีดี พนมยงค์ (24 มีนาคม - 8 มิถุนายน 2489, 11 มิถุนายน - 29 สิงหาคม 2489) 
พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (23 สิงหาคม 2489 – 30 พฤษภาคม 2490, 30 พฤษภาคม–8 พฤศจิกายน 2490) 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเมืองในช่วงภายหลังสงครามโลกจนถึงการรัฐประหารนั้นเป็นเวลา ไม่ถึง 2 ปีครึ่ง แต่มีความผันผวนอย่างมากจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปถึง 8 ชุด

ไม่นานหลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สัมพันธมิตรเมื่อ 14 สิงหาคม 2488 ไทยได้มีการประกาศสันติภาพ (16 สิงหาคม 2488) ซึ่งมีสาระสำคัญที่ทำให้คำประกาศสงครามระหว่างไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็น โมฆะ 

ในขณะนั้นไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพอังกฤษ ซึ่งมีลอร์ด หลุย เม้าท์แบตแต้นท์ (Louis Mountbatten) เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมารัฐบาล ทวี บุญยเกตุ ได้ส่งผู้แทนเดินทางไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกา เพื่อยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน แต่อังกฤษมีความประสงค์ที่จะลงโทษไทย เนื่องจากไทยเคยประกาศสงครามกับอังกฤษ และทำให้อังกฤษได้รับเสียหายด้วยข้อตกลงสมบูรณ์แบบ (Formal Agreement) ที่มีข้อบังคับจำนวน 21 ข้อ ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมด้านกิจการทหาร การจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และการควบคุมการค้าข้าว ดีบุก และยางพารา ข้อตกลงของอังกฤษเหล่านี้ทำให้ไทยตกอยู่ในฐานะผู้แพ้สงครามและเสียเปรียบ อังกฤษเป็นอย่างมาก ความวิตกที่อังกฤษจะลงโทษไทยทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตทูตไทยประจำสหรัฐฯ ในระหว่างการเดินทางกลับมาไทยเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เขาได้เสนอให้ข้าวให้อังกฤษโดยไม่คิดมูลค่า จำนวน 1,500,000 ตันเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับอังกฤษเพิ่มเติมขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯในฐานะแกนนำในฝ่ายสัมพันธมิตรมีความต้องการที่จะเข้ามามี อิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนอังกฤษ จึงได้ให้ความช่วยเหลือไทยให้พ้นจากฐานะของผู้แพ้สงคราม โดยสหรัฐฯเห็นว่าไทยมีฐานะเพียงรัฐที่ศัตรูยึดครอง(an enemy-occupied state)เท่านั้น และไทยมิได้เป็นศัตรูกับสหรัฐฯในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังนั้น สหรัฐฯจึงไม่ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากไทย นอกจากนี้สหรัฐฯยังได้เข้ามาแทรกแซงความตกลงระหว่างไทยกับอังกฤษซึ่งทำให้ ข้อตกลงสมบูรณ์แบบที่อังกฤษเสนอแก่ไทยถูกลดทอนความแข็งกร้าวลง เนื่องจากสหรัฐฯไม่ต้องการให้อังกฤษกลับเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและ เศรษฐกิจต่อไทยอีกครั้ง ในช่วงปลายสงครามโลกนั้นเอง สหรัฐฯได้เริ่มเห็นถึงความสำคัญของไทยในฐานะแหล่งทรัพยากรอันมีความอุดม สมบูรณ์ที่จะสามารถฟื้นฟูความอดอยากและฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกภายหลังสงคราม ได้

ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทยหลายชุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ความขาดแคลนสินค้า และเงินตราต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหา เรื่องการส่งข้าวจำนวนมหาศาลให้อังกฤษในราคาที่ตายตัวและทันเวลา ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าราคาที่ต้องส่งมอบให้อังกฤษ ยิ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการกักตุนข้าวและลักลอบส่งออกนอก ประเทศโดยผิดกฎหมาย อันก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าวภายในประเทศ และการเกิดตลาดมืดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งปัญหาโจรผู้ร้ายมีความชุกชุมในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ปัญหาต่างๆเหล่านี้สร้างความปั่นป่วนให้แก่ไทยภายหลังสงครามโลกเป็นอย่าง ยิ่ง

ความร่วมมือและแตกสลายของพันธมิตรช่วงสงครามระหว่าง“กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”

เมื่อความร่วมมือระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในนาม “ขบวนการเสรีไทย” บรรลุเป้าหมายในการกดดันให้รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก้าวลงจากอำนาจและต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นสำเร็จ ต่อมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบสิ้นลง การเป็นพันธมิตรระหว่างกันก็แตกสลายลงด้วยเช่นกัน 

เนื่องจากทั้งสองกลุ่มต่างมีเป้าหมายทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดย “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษ มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยพระราชวงศ์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 และได้เคยถูกคณะราษฎรเนรเทศออกไปไปนอกประเทศ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”บางส่วนที่ถูกจองจำไว้ในเรือนจำให้ได้รับอิสรภาพให้ กลับมาเป็นผู้นำในการเมืองไทยอีกครั้ง 

ในรายงานของนายทหาร ไทยผู้หนึ่งเสนอต่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ เขาได้รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เป็นเสรีไทยในอังกฤษมีแผนการทวงทรัพย์สินของของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่รัฐบาลยึดไปกลับคืนโดยแกนนำของกลุ่มดังกล่าว คือ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อดีตสมเด็จพระราชินีของพระปกเกล้าฯ และกลุ่มพระราชวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชสกุลสวัสดิวัตน์ ( NARA, RG 59 Central Decimal file 1945-1949 Box 7250, Major Arkadej Bijayendrayodhin to Gentleman of the Foreign Relations Washington D.C., 16 September 1945 ในรายงานเชื่อว่า กลุ่มดังกล่าวขอการสนับสนุนจากอังกฤษ และโปรดดู การฟ้องร้องคดีระหว่างรัฐบาลและพระปกเกล้าฯใน สุพจน์ แจ้งเร็ว, “คดียึดพระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,” ศิลปวัฒนธรรม 23, 8 (มิถุนายน, 2545): 63-80. )

ในรายงานจากนายทหารไทยถึงกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯฉบับดังกล่าวได้รายงานอีกว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษ มีเป้าหมายในการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เกิดขึ้นใหม่ พวกเขาได้เคยเคลื่อนไหวเจรจาขอการสนับสนุนจากอังกฤษและสหรัฐฯ ผ่านลอร์ด หลุยส์ เม้าท์แบตแตนและน.อ.มิลตัน ไมล์ แห่งโอเอสเอส เพื่อให้ทั้ง 2 ประเทศให้สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในไทยอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับดังกล่าว รายงานว่า “กลุ่มรอยัลลิสต์”ในอังกฤษมีความต้องการเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์จากสาย สมเด็จพระพันวษาอัยยิกาเจ้า หรือราชสกุลมหิดล กลับมาสู่สายของสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชินี หรือราชสกุลจักรพงษ์ ด้วยการกดดันให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงสละราชย์สมบัติ และผลักดันให้พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ขึ้นครองราชย์แทน

อย่างไรก็ตาม การกดดันรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ลงจากอำนาจในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับ “กลุ่มจอมพล ป.” โดยเฉพาะอย่างกลุ่มทหารเป็นอันมาก 

เนื่องจากรัฐบาลพลเรือน หลังสงครามที่ “กลุ่มปรีดี” ให้การสนับสนุนได้ทอดทิ้งกองทัพไทยไว้ในสมรภูมิที่เชียงตุง ทำให้กองทัพต้องหาหนทางเดินทางกลับกรุงเทพฯเอง โดยมิได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐบาล พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลไม่เคารพเกียรติภูมิของกองทัพ อีกทั้งรัฐบาลได้ปลดทหารประจำการลงจำนวนมากและมีการประนามว่ารัฐบาล จอมพล ป.และกองทัพ เป็นผู้นำพาไทยเข้าร่วมสงครามโลกจนเกิดความเสียหายแก่ประเทศ ทั้งหมดนี้ ล้วนสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เสรีไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ถือครองอาวุธทัดเทียมกองทัพ ในขณะที่ภาพลักษณ์ของกองทัพถูกเหยียดหยามจากเสรีไทยและนักการเมืองที่เคย เป็นเสรีไทย

เมื่อ ควง อภัยวงศ์ สมาชิกที่เป็นกลุ่มพลเรือนในคณะราษฎรได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมความผิดในปี 2488 ให้กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ผู้เคยต่อต้านการปฏิวัติ 2475 ตามข้อตกลงต่างตอบแทนที่ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน แกนนำของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในอังกฤษได้ทรงร่วมมือกับขบวนการเสรีไทยในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2  

ส่งผลให้ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับคณะราษฎร์สามารถเดินทางกลับยังประเทศและ เข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองได้อีกครั้ง ซีไอเอรายงานว่า การนิรโทษกรรมครั้งนี้ทำให้ความขัดแย้งในการควบคุมการเมืองไทยระหว่างคณะ ราษฎรกับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกนับแต่การปฏิวัติ 2475 นั้นได้กลับมาปะทุอีกครั้งภายหลังสงครามโลก 

ด้วยเหตุที่การปลดปล่อยนักโทษ “กลุ่มรอยัลลิสต์” กระทำในสภาพการเมืองแบบเปิดกว้างและพวกเขายังคงมีความเจ็บแค้นคณะราษฎรอย่างลึกซึ้ง ทำ ให้การปลดปล่อยดังกล่าวแทนที่จะกลายเป็นการปลดปล่อยพลังของความร่วมมือแต่ กลับกลายเป็นพลังของการต่อต้าน และพวกเขาได้ร่วมกันบ่อนทำลาย“กลุ่มปรีดี”ลงในที่สุด เนื่องจากพวกเขาต้องการกำจัดคณะราษฎรทั้งหมด 

ทั้งนี้ในรายงานของอดีตเจ้าหน้าที่โอเอสเอสคนหนึ่งได้รายงานว่า ในช่วงสงครามไม่มี “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผู้ใดที่จะกล้าต่อกรทางการเมืองกับ จอมพล ป.ในขณะที่พวกเขาได้แต่เรียกร้องให้ ปรีดี พนมยงค์ ช่วย เหลือพวกเขาเท่านั้น แต่ในช่วงหลังสงครามนั้น พวกเขารวมตัวกันมีอำนาจมากพอที่ท้าทายอำนาจทางการเมืองของ ปรีดี ผู้ที่เคยช่วยปลดปล่อยพวกเขาแล้ว

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความเป็นพันธมิตรระหว่าง “กลุ่มปรีดี” และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพียงความร่วมมือชั่วคราวที่ทั้งสองต่างได้รับประโยชน์ ทั้งนี้การหมดอำนาจลงของ”กลุ่มจอมพล ป.” ทำให้ “กลุ่มปรีดี” สามารถกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ส่วน“กลุ่มรอยัลลิสต์” ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากความร่วมมือมากกว่า 

เนื่องจากไม่ใช่แค่พวกเขาสามารถทำลายอำนาจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ“กลุ่มจอมพล ป.” ซึ่งเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่งในคณะราษฎร์และได้เคยมีบทบาทในการปราบปรามการต่อ ต้านของพวกเขาอย่างรุนแรงลงได้เท่านั้น แต่พวกเขายังได้รับ เกียรติยศ บรรดาศักดิ์ต่างๆที่เคยถูกถอดลงจากการทำความผิดฐานก่อการกบฎในอดีตกลับคืน เท่านั้น แต่พวกเขารับสิทธิในการต่อสู้ทางการเมืองกลับคืนมา พร้อมกับการได้ประโยชน์จากการที่รัฐบาลนิรโทษกรรมและปลดปล่อยสมาชิก ของ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ที่เคยพลาดพลั้งถูกจับกุมตกเป็นนักโทษการเมืองให้กลับ มาเป็นกำลังหนุนให้กับกลุ่มของตนในการต่อสู้กับคณะราษฎรภายหลังสงครามโลกอีก ด้วย ดังนั้นการต่อสู้ระหว่าง “กลุ่มรอยัลลิสต์” กับคณะราษฎรครั้งนี้ คณะราษฎรเหลือแต่เพียง “กลุ่มปรีดี” เท่านั้น

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีกลุ่มการเมืองสำคัญ 2 กลุ่ม คือ “กลุ่มปรีดี” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกบางส่วนในคณะราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนฯ จากภาคอีสาน อดีตเสรีไทย และนักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ซึ่งประกอบด้วย พระราชวงศ์ บุคคลผู้จงรักภักดี อดีตนักโทษการเมือง และอดีตเสรีไทย 

ทั้งสองกลุ่มนี้มีเป้าหมายทางการเมืองที่แตก ต่างกัน โดยกลุ่มแรกให้ความสำคัญกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎรจนถึงมีความคิดที่โน้มเอียงไปในทางสังคมนิยม และพวกเขาสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย 

ส่วนกลุ่มหลังนั้นมีกลุ่มย่อยภายในหลายกลุ่มและขาดเอกภาพทางความคิดและการนำ เนื่องจากพวกเขามีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน นับตั้งแต่การสนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การเปลี่ยนแปลงการสืบสันตติวงศ์ การต่อต้านคณะราษฎร การทวงทรัพย์สินกลับคืน การฟื้นฟูเกียรติยศและเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้กับสถาบันกษัตริย์ และการต้องกลับมาสู่การต่อสู้ทางการเมือง 

อีกทั้งภายใน“กลุ่มรอยัลลิสต์”เองนั้นยังคงอยู่ในระหว่างการช่วงชิงความเป็นผู้นำ กลุ่มระหว่าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ผู้ทรงสนับสนุนราชสกุลจักรพงษ์ กับ สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้สนับสนุนราชสกุลมหิดล จนกระทั่ง กรมพระยาชัยนาทนเรนทรได้รับการสนับสนุนจาก พระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” จำนวนหนึ่งให้ทรงเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

หลังการปลดปล่อยนักโทษการเมืองได้ไม่นาน ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นแกนนำในการรวบรวมอดีตนักโทษการเมืองที่เป็น “กลุ่มรอยัลลิสต์” เช่น ม.ร.ว นิมิตรมงคล นวรัตน์ ,ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ และ สอ เสถบุตร มาร่วมจัดตั้งพรรคก้าวหน้าในปลายปี 2488 เพื่อการเคลื่อนไหวต่อ ต้านคณะราษฎรในช่วงที่ปรีดี พนมยงค์เป็นผู้นำ โดยม.ร.ว.คึก ฤทธิ์ แกนนำคนหนึ่งของ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ประกาศตัวตนในบทความเรื่อง “ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์” ที่เรียกร้องการเพิ่มอำนาจการเมืองให้พระมหากษัตริย์และรื้อฟื้นเกียรติยศ ของราชวงศ์กลับคืน

ทั้งนี้สมาชิกของพรรคก้าวหน้าเป็นพระราชวงศ์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” โดยพรรคการเมืองนี้มีนโยบายสำคัญ คือต่อต้านคณะราษฎร ในการต่อสู้ทางการเมืองกับรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” นั้น “กลุ่มรอยัลลิสต์”ได้ใช้แผนการสกปรกเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยการสร้าง ความเสื่อมเสียให้กับผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเช่น 

แผนการต่อสู้ทางเมืองของโชติ คุ้มพันธ์ จากพรรคก้าวหน้า กับทองเปลว ชลภูมิ จากพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ในการเลือกตั้งซ่อมในปี 2488 พรรคก้าวหน้าใช้แผนสร้างความเสื่อมเสียให้กับ ทองเปลว ด้วยการให้สมาชิกพรรคฯ นำสีไปขีดเขียนตามที่สาธารณะ วัด เรียกร้องให้ประชาชนเลือกทองเปลวเลอะเทอะไปทั่วที่สาธารณะ อีกทั้งได้ให้พวกเขาไปตะโกนให้ประชาชนเลือกหมายเลขคู่แข่งที่ก่อความรำราญ อันทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกรังเกลียดทองเปลวอย่างมาก และหันมาเลือกโชติซึ่งเป็นคู่แข่งขันแทน นอกจากนี้ ในเช้าตรู่วันเลือกตั้ง พรรคก้าวหน้าได้ใช้ให้สมาชิกพรรคฯ ไปตบประตูและตะโกนเรียกให้ประชาชนตามบ้านเลือก ทองเปลว พฤติกรรมเหล่านี้สร้างความโกรธให้กับประชาชนมาก ประชาชนจึงลงคะแนนให้กับ โชติ พรรคตรงกันข้ามแทน (“นายประชาธิปัตย์”, กลวิธีหาเสียงเลือกตั้ง [พระนคร: มิตรนราการพิมพ์, 2511],หน้า 124.; ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์, ศิลปการเลือกตั้ง [พระนคร: สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2517],หน้า 124-128.; ปรีดี พนมยงค์, “คำนิยม” ใน ร.ท.สุภัทร สุคนธาภิรมย์, พุทธปรัชญาประยุกต์ [กรุงเทพฯ: ประจักษ์การพิมพ์, 2517],หน้า (6)-(7).)

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นล้วนได้รับการสนับสนุนจาก ปรีดี พนมยงค์ เนื่องจากปรีดีมีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ให้การสนับสนุนเขามาก ทำให้เขามีอิทธิพลที่สามารถให้การสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไม่ยากนัก 

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ปรีดี ได้ตัดสินใจยุบ “ขบวนการเสรีไทย” ที่เป็นฐานให้การสนับสนุนอำนาจทางการเมืองของเขาส่งผลให้อำนาจของเขาถูก ท้าทายจาก ควง อภัยวงศ์ อันมีเหตุมาจากการที่เขาไม่สนับสนุนให้ ควง กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เนื่องจากเขาเห็นว่า ควง มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจสูง ไม่ยอมทำตามคำแนะนำของเขา แต่สุดท้ายแล้ว ควงได้รับการสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ

ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ควงแยกตัวออกจากคณะราษฎรไปแสวงหาการสนับ สนุนทางการเมืองจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” และควงสามารถจัดตั้งรัฐบาลของเขาที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก “กลุ่มปรีดี” ได้สำเร็จเมื่อต้นปี 2489 โดยควงได้รับความช่วยเหลือจาก “กลุ่มรอยัลลิสต์” หลายคนเข้าร่วมรัฐบาล เช่น พระยาศรีวิสารวาจา อดีตข้าราชการในระบอบเก่าที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมอย่างมาก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ พระยาอัศวราชทรงศิริ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น

ด้วยเหตุที่ ปรีดี ตัดสินใจยุบเลิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งถือว่าเป็นกองกำลังที่มีส่วนในการปกป้องรัฐบาล “กลุ่มปรีดี” ลงในขณะที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์”กลับมีพลังทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เขาตระหนักว่า กลุ่มการเมืองของตนปราศจากฐานสนับสนุนอำนาจ เวลาต่อมา ปรีดี และ“กลุ่มปรีดี” ได้จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น 2 พรรคที่สำคัญ คือ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันสมาชิกคณะราษฎรทั้งส่วนพลเรือนและทหารที่ยึดถือหลัก 6 ประการของคณะราษฎร

หลัก 6 ประการสามารถประมวลได้ดังนี้

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถจะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

ส่วนพรรคสหชีพ เป็นการรวมตัวกันของสมาชิกสภาผู้แทนฯจากภาคอีสาน และอดีตเสรีไทย ยึดถือนโยบายสังคมนิยมและต่อต้าน จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อใช้พรรคการเมืองทั้งสองพรรคต่อสู้ทางการเมืองกับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่เคลื่อนไหวรวมตัวกันทางการเมืองอย่างเข้มข้นภายหลังสงครามโลก

ในขณะเดียวกัน ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2489 ก่อนที่จะมีการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ไม่นาน สถานทูตสหรัฐฯได้รายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่าง ควง อภัยวงศ์กับ พระราชวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์” ที่มีการพัฒนาความสัมพันธ์อันแนบแน่นมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้กลุ่มดัง กล่าวประกอบด้วย พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ฯ ,เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ,ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช,ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช ,สมบูรณ์ ศิริธร ,เทียม ชัยนันท์ ,เลียง ไชยกาล และใหญ่ ศวิตชาติ เป็นต้น ในเวลาต่อมา พวกเขาได้จัดประชุมทางการเมืองเพื่อเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นที่บ้านของพระพินิจชนคดีเพื่อร่วมมือกันต่อต้านคณะราษฎร โดยได้รับเงินทุนก้อนแรกในจัดตั้งพรรคการเมืองจากพระพินิจชนคดี

ในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้นเอง โดยปราศจากนโยบายพรรคฯที่มีความชัดเจน เนื่องจากสมาชิกในพรรคฯ มีความต้องการที่หลากหลาย เช่น สมาชิกบางส่วนมีความต้องการกลับสู่ระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ บางส่วนต้องการรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ บ้างก็ต้องการมีผู้นำที่เข้มแข็งอย่างเช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่บางส่วนก็ไม่ต้องการ จอมพล ป. อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ คือเพื่อค้านเท่านั้น



จากรายงานของอดีตโอเอสเอสคนหนึ่งรายงานว่ารัฐบาล ควง อภัยวงศ์ เป็นรัฐบาลอนุรักษ์นิยม และมีความพยายามทำลายฐานทางการ เมืองของ ปรีดี พนมยงค์ ที่มาจากอดีตเสรีไทย และนักการเมืองฝ่ายซ้าย จากนั้น “กลุ่มปรีดี” นำโดยพรรคสหชีพและ สงวน ตุลารักษ์ ได้เริ่มดำเนินการตอบโต้รัฐบาลควง โดยได้สนับสนุนให้กรรมกรจีนและคนชั้นล่างในกรุงเทพฯ ลุกฮือขึ้นก่อความไม่สงบต่อต้านรัฐบาลควงเพื่อเป็นการโต้ตอบ ไม่นานจากนั้น ความขัดแย้งดังกล่าวนำไปสู่การที่รัฐบาลควงพ่ายแพ้เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ ทำให้ควงต้องลาออกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่ถึงสองเดือนนี้สร้างความไม่พอใจให้ควงเป็นอย่างมาก

จากนั้น ปรีดี พนมยงค์ ได้ก้าวมามีบทบาททางการเมืองโดยตรง ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนถัดมา ด้วยเหตุความพ่ายแพ้ในสภาผู้แทนฯ ได้สร้างความไม่พอใจ ของควง อภัยวงศ์ และ“กลุ่มรอยัลลิสต์”มาก ทำให้พวกเขาตัดสินใจจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นในต้นเดือนเมษายน 2489 โดยผลงานทางการเมืองในช่วงแรกเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์ คือการตอบโต้รัฐบาลปรีดีทันที

โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้กล่าวหารัฐบาลปรีดีและเหล่าเสรีไทยว่า ร่วมกันยักยอกเงินจากงบสันติภาพของเสรีไทย แต่ผลการสอบสวนโดยคณะกรรมธิการของสภาผู้แทนฯ ปรากฏว่า ข้อกล่าวหาจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลปรีดีเป็นอย่างมาก และได้กลายเป็นชนวนของความขัดแย้งระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ“กลุ่มรอยัลลิสต์”ในเวลาต่อมา ผนวกกับเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 ได้ถูกประกาศใช้นำไปสู่การเลือกตั้งนั้นยิ่งก่อให้เกิดการเผชิญหน้ากันโดยตรงระหว่าง “กลุ่มปรีดี” กับ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ผ่านพรรคการเมืองที่แต่ละฝ่ายสนับสนุนมากยิ่งขึ้น

สำหรับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงแรกเริ่มของการก่อตัวนั้น พวกเขาพยายามโฆษณาชวนเชื่อในการหาเสียงการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2489 ว่า การเสด็จนิวัตรพระนครในเดือนธันวาคม 2488 และการเสด็จเยาวราชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์เพื่อช่วงชิงผลงานจากรัฐบาลปรีดี พนมยงค์นอกจากนี้ พวกเขายังได้พยายามอ้างว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนพรรคฯของตน

แต่ผลการเลือกตั้งปรากฎว่า พรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลปรีดียังคงได้รับชัยชนะ จากนั้นพวกเขาจึงได้เริ่มรณรงค์ต่อไปว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พร้อมๆกับการโจมตี ปรีดี ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และการเริ่มต้นแผนการโกงการเลือกพฤติสภา ม.จ.ศุภสวัสดิ์ฯทรงบันทึกว่าควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ที่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ( A Memorandum on a Certain Aspect of the Siamese Politics for His Majesty The King, 20 June 1947,” ใน ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท, 1 ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์, หน้า 547-549 )

ขอบคุณข้อมูลตัดมาจากบางส่วนของวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500) โดย ณัฐพลจริงใจ